มงคล อ่วมเรืองศรี
ทำไม Turntable ถึงคงกระพัน! …ผมจะนำพาท่านไปพบคำตอบ
พูดถึง Turntable สะท้อนให้เห็นอะไรหลายอย่าง ทั้งๆ ที่เป็นเทคโนโลยีเก่าแก่ เก็บก็ยาก ต้องหมั่นดูแล-ถนอมรักษา เล่นก็ลำบาก ทั้งยังต้องวุ่นวายกับอุปกรณ์ใช้งานต่างๆ แต่ทำไม Turntable ถึง (กลับมา) ได้รับความนิยม (อีกครั้ง) ทั้งๆ ที่เคยถึงกับสูญหายตายจากไปจากวงการเครื่องเสียง เมื่อครั้งโดนชิงบัลลังก์จากการเข้ามาของซีดี หรือ Compact Disc ในช่วงต้นปี’80 กระทั่งไร้ซึ่งบริษัทใดๆ ที่ผลิตอุปกรณ์อันเกี่ยวข้องกับการเล่นแผ่นเสียง ทั้งในส่วนของ Hardware และ Software รวมถึงหัวเข็ม และโทนอาร์มในเวลาต่อมา …ไม่เหลือแม้แต่เครื่องแอมปลิฟายด์ที่ผนวกวงจรภาคขยายสัญญาณหัวเข็มไว้ในตัว (built-in phono) ทั้งๆ ที่เคยได้รับความนิยมแพร่หลาย และถือเป็นหน้าเป็นตาอย่างสำคัญของการออกแบบเครื่องแอมปลิฟายด์ ด้วยความที่วงจรภาคขยายสัญญาณหัวเข็มที่ผนวกในตัวนั้น เครื่องแอมปลิฟายด์แบรนด์ดังชั้นดีจะใช้งบประมาณร่วมๆ หนึ่งในสามของราคาตัวเครื่องแอมปลิฟายด์นั้นเลยทีเดียว เรียกได้ว่า แข่งขันกันในฝีมือการออกแบบภาค phono
…ผมจะพาคุณไปทำความรู้จักกับ Turntable ให้ลึกซึ้งกันดีไหมครับ แต่เนื่องจาก Turntable เป็นเรื่องละเอียดอ่อน และมีเรื่องราวเกี่ยวข้องมากมาย จึงต้องขออนุญาตนำมาบอกเล่ากันเป็นตอนๆ เริ่มจากที่มาที่ไปของ Turntable, เทคโนโลยีอะไรที่ก่อกำเนิด Turntable, ระบบการทำงานของ Turntable มีกี่รูปแบบ, อุปกรณ์เกี่ยวข้องมีอะไรบ้าง, คู่แข่งของ Turntable และสุดท้าย – การเล่น Turntable ให้คุณภาพเสียงที่ดีจริงรึไม่
แต่ก่อนอื่น …อะไรนะหรือคือ Turntable?
Turntable ก็คืออุปกรณ์แหล่งกำเนิดสัญญาณ (source) ประเภทหนึ่ง ที่ภาษานักเล่นเครื่องเสียงบ้านเรา เรียกขานกันว่า เครื่องเล่นแผ่นเสียง ซึ่งนับได้ว่า ประวัติศาสตร์นั้นมีมาช้านานมากๆ เกินกว่า 160 ปีเลยทีเดียว ทว่าก่อนที่จะมี “เครื่องเล่นแผ่นเสียง” บังเกิดขึ้นมานั้น โลกของเรารู้จักกับ “เครื่องเล่นจานเสียง” หรือ phonograph หรือ gramophone มาแต่เก่าก่อนย้อนอดีตไปได้ถึงรุ่นคุณปู่คุณย่าโน่น…
ที่มาที่ไปของ Turntable
อันว่า “เครื่องเล่นจานเสียง” นั้น บ้านเรามักจะหมายถึง เครื่องเล่นแผ่นครั่ง ที่ใช้หลักการทำงานเป็นแบบไขลาน ใช้เล่นกับจานเสียง หรือ แผ่นครั่งที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางขนาด 10 นิ้ว (ระยะหลังมีทำขนาด 12 นิ้ว ออกมาด้วย) ซึ่งค่อนข้างหนา และแข็งโป๊ก ทว่ามีความเปราะ แตกหักง่าย (ราวจานกระเบื้อง จึงถูกเรียกว่า จานเสียง) “แผ่นครั่ง” จะถูกหมุนวนรอบด้วยความเร็วคงที่ 78 รอบต่อนาที หรือ 78 round per minute (RPM) โดยจะมีเข็มโลหะ (ซึ่งภาษาอังกฤษเรียกว่า needle) เป็นตัวกลาง วางในร่องแผ่น (groove) ทำหน้าที่รับแรงสั่นสะเทือนขณะเคลื่อนตัวไปบนร่องแผ่น แล้วส่งต่อแรงสั่นสะเทือนนั้นไปสู่แผ่นไดอะแฟรม (diaphragm) แปลงเป็นคลื่นเสียงให้คุณปู่คุณย่าท่านได้รับฟัง บางครั้งอาจจำเป็นต้องมีโทรโข่ง หรือส่วนปากแตร (horn) มาสวมต่อจากแผ่นไดอะแฟรมเพื่อรวมรวมคลื่นเสียงนั้นให้ดังขึ้นกว่าปกติ (ทำนองคล้ายๆ เอามือป้องปากเวลาตะโกน) ในเวลาที่ต้องการฟังเสียงดังๆ ในห้องกว้างๆ
ปัจจุบัน “เครื่องเล่นจานเสียง” กลายเป็นเครื่องประดับบ้านระดับหรูที่ไม่มีใครนิยมนำมาใช้เปิดฟังกันอีกแล้ว เนื่องเพราะคุณภาพเสียงที่อู้อี้ๆ ออกทางแหลมแตกพร่า รวมถึงเสียงรบกวนจากหัวเข็มโลหะที่ต้องคอยเปลี่ยนบ่อย ฟังไม่ไพเราะระรื่นหู ไม่มีความเป็นไฮ-ไฟเดลิตี้ (Hi-Fi)
แผ่นครั่ง/จานเสียง (ที่มา วิกีพีเดีย)
แรกสุดเป็นกระบอกอัดเสียงเคลือบขี้ผึ้งแบบเอดิสัน ซึ่งในเมืองไทย (สยาม) ใช้บันทึกเพลงไทยเดิม ตั้งแต่ราวปลายรัชกาลที่ 4 ต่อมาเริ่มมีการบันทึกเสียงลง ‘แผ่นครั่ง’ ในสมัยรัชกาลที่ 5 ส่วนใหญ่เป็นเพลงเรื่องบรรเลงด้วยวงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ ที่กำลังได้รับความนิยมในสมัยนั้น ซึ่งมักไม่จบในหน้าเดียว จึงต้องบันทึกต่อกันเป็นชุดๆละหลายแผ่น
โดยทั่วไปมีขนาด 10-12 นิ้ว สปีด 78 รอบ/นาที บันทึกและเล่นกลับได้หน้าละไม่เกิน 3-5 นาที เนื่องจากมีลักษณะค่อนข้างหนาและหนัก ตกแตกง่ายอย่างจานกระเบื้อง บางทีจึงเรียกว่า ‘จานเสียง’ คุณภาพเสียงออกทางแหลมแตกพร่ารวมทั้งเสียงรบกวนจากหัวเข็มโลหะที่ต้องคอยเปลี่ยนบ่อย
แผ่นครั่งในเมืองไทย ได้แก่ ปาเต๊ะ ,อาร์ซีเอ วิคเตอร์ (ที่เรียกติดปากว่า ตราหมาหน้าเขียว,แดง,เหลือง ฯลฯ ) ,พาร์โลโฟน ,โคลัมเบีย ,เดคก้า ,บรันซวิค ,แคปิตอล ,ฟิลิปส์ ,เอ็มจีเอ็ม ,เทพดุริยางค์ ,โอเดียน (ช้างคู่ ) ,ศรีกรุง (พระปรางค์วัดอรุณ) ,กระต่าย ,อัศวิน ,สุนทราภรณ์ ,มงกุฏ ,เทพนคร ,นางกวัก ,วัวกระทิง ,ค้างคาว ,ลิง ,หมี ,นาคราช ,หงษ์ (คู่ ) ,บางกอก ,กามเทพ ,เพชรสุพรรณ ,กรมศิลปากร แผ่นที่ใช้เฉพาะในสถานี เช่น กรมโฆษณาการ (แผ่นดิบ) หรือจำหน่ายบางโอกาส เช่น เนรมิตภาพยนตร์ ฯลฯ
การผลิตจำหน่าย มีทั้งทำแผ่นเองในประเทศ และอีกส่วนหนึ่งส่งมาสเตอร์ไปทำแผ่นที่เมืองนอก โดยเฉพาะที่เมืองดัม ดัม ประเทศอินเดีย (Dum Dum, India) ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันทั้งในยุโรปและอเมริกาว่ามีมาตรฐานสูง คูณภาพเนื้อแผ่นดีที่สุด (และผู้ผลิตในเมืองไทยยังคงนิยมสั่งทำแผ่นจากที่นี่จนถึงยุคแผ่นลองเพลย์กับซิงเกิลในช่วงแรก) แต่จานเสียงครั่งที่สั่งทำจากต่างประเทศดังกล่าว บางชุดมาไม่ถึงเมืองไทยเนื่องจากประสบอุบัติเหตุในการขนส่งขณะเดินทางจมน้ำเสียหายหมด
เทคโนโลยีอะไรที่ก่อกำเนิด Turntable
ทว่าในความเป็นจริงนั้น ก่อนที่โลกจะรู้จักกับการเล่นแผ่นครั่ง แรกเริ่มเดิมทีในปีคศ. 1857 นักประดิษฐ์ชาวฝรั่งเศส Édouard-Léon Scott de Martinville ได้จัดแสดงเครื่องบันทึกเสียงของเขา ซึ่งใช้ไดอะแฟรมแบบสั่น (vibrating diaphragm) และสไตลัส (stylus) เพื่อบันทึกคลื่นเสียง โดยกาเคลื่อนตามไปบนแผ่นกระดาษ แต่นั่นแค่สามารถเห็นภาพคลื่นเสียงเท่านั้น และไม่สามารถเล่นกลับมาเป็นคลื่นเสียงได้ ทว่าด้วยแนวคิดนี้นำไปสู่การประดิษฐ์ ‘กระบอกเสียง’ (cylinder) ของโธมัส แอลวา เอดิสัน (Thomas Alva Edison) นักประดิษฐ์ชาวอเมริกัน ในปีคศ. 1877 (พศ.2420) ซึ่งกล่าวได้ว่านั่นคือ บรรพบุรุษของเครื่องเล่นแผ่นเสียง
(ซ้าย) เครื่องบันทึกเสียงของ Édouard-Léon Scott de Martinville, (ขวา) กระบอกเสียงของ Thomas Alva Edison
ทั้งนี้ ‘กระบอกเสียง’ ของเอดิสัน ในขั้นต้นนั้นประกอบด้วยกระบอกมีร่อง (grooved cylinder) ที่หุ้มอยู่บนแผ่นดีบุกบางๆ (tin foil) ทำหน้าที่เป็นส่วนพื้นผิวการบันทึก ซึ่งกระบอกมีร่องนี้จะถูกขับเคลื่อนให้หมุนรอบโดยใช้มือหมุน (hand crank) เมื่อกระบอกมีร่องหมุนรอบก็จะทำให้เข็มที่ติดอยู่สั่นเกิดเป็นแรงสั่นสะเทือน ส่งผลให้ไดอะแฟรมที่ติดอยู่กับเข็มสั่นไปด้วย กลายเป็นคลื่นเสียงขึ้นมา ในไม่ช้าเอดิสันก็เปลี่ยนแผ่นดีบุกเป็นขี้ผึ้งเพื่อให้เสียงดีขึ้น และความทนทานที่ดีขึ้น
เครื่องเล่นแผ่นเสียง หรือ Turntable เยี่ยงในทุกวันนี้ ประวัติศาสตร์ได้บันทึกไว้ว่า เริ่มมีพัฒนาขึ้นมาในช่วงทศวรรษที่ 1930 … ผันผ่านพัฒนาการต่างๆ ทั้งระบบการทำงาน, กลไก ไปจนถึงวัสดุที่เลือกใช้ นับจากถือกำเนิดหลักการจนกระทั่งสืบทอดมาจนปัจจุบัน ทว่าก็พูดได้ว่า “เครื่องเล่นแผ่นเสียง” นั้นยังคงไว้ซึ่งหลักการเดิมๆ ในเรื่องการเคลื่อนที่แบบหมุนวน (spiral) ของร่องเสียง จากแนวคิดเริ่มต้นเมื่อกว่าร้อยปีมาแล้ว แม้ว่าเครื่องเล่นแผ่นระบบไขลาน (wind-up players) ได้ถูกแทนที่โดยระบบขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า (electric-powered) ซึ่งต่อมาหลังจากที่ระบบเครื่องเล่นแผ่นเสียงขนาดใหญ่ที่มีเครื่องขยายเสียงและลำโพงในตัวในรูปแบบของตู้คอนโซล (console) ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น เครื่องเล่นแผ่นเสียงไฮ-ไฟโดยเฉพาะก็เริ่มต้นขึ้น
to be continued…