รีวิว Marantz NA6006 เน็ตเวิร์คออดิโอเพลเยอร์พร้อม HEOS built-in

0

Dawn Nathong

NA6006 เป็นเน็ตเวิร์คออดิโอเพลเยอร์รุ่นเล็กของทางมาร้านทซ์ที่วางจำหน่ายอยู่ในปัจจุบัน และเป็นรุ่นน้องของ ND8006 ที่มีภาคซีดีเพลเยอร์และภาค USB DAC ในตัว รูปลักษณ์ของทั้งสองรุ่นมีลักษณะคล้ายคลึงกัน เป็นดีไซน์ของมาร้านทซ์ที่หลายคนคุ้นเคย

โดยในตัวของ NA6006 จะมีเพลตฟอร์ม HEOS หรือก็คือระบบมัลติโซน-มัลติรูมที่ควบคุมการฟังเพลงผ่านระบบเน็ตเวิร์กภายในบ้านมาให้เพื่อใช้เป็นศูนย์กลางของการสั่งงานและเล่นมิวสิคสตรีมมิ่งทั้งหมด สามารถสั่งงานจากแอป HEOS บนมือถือหรือแท็บเล็ต ไม่ว่าจะเป็นการเล่น TIDAL, Spotify, Deezer, Amazon Music, Internet Radio หรือดึงเพลงจากมิวสิคเซิฟเวอร์มาเล่นด้วยมาตรฐาน DLNA รวมถึงรองรับการสตรีมผ่าน AirPlay 2 และ Bluetooth

แม้ NA6006 จะวางตลาดมาพักใหญ่แล้ว แต่ก็มีความน่าสนใจในแง่ที่เป็นเน็ตเวิร์คออดิโอเพลเยอร์แบบสแตนด์อโลนในปัจจุบันที่มีราคาจำหน่ายประมาณ 2 หมื่นบาทนิดๆ และก็มีเทคโนโลยีด้านเสียงเฉพาะตัวอย่างเช่น Marantz Musical Digital Filtering (MMDF) ดิจิทัลฟิลเตอร์ที่วิศวกรของมาร้านทซ์ออกแบบอัลกอริธึ่มเอง สามารถปรับเลือกได้ 2 แบบ ให้บุคลิกเสียงแบบเดียวกับ SACD เพลเยอร์รุ่นใหญ่อย่าง Marantz SA-10

ภาคถอดรหัสใช้ชิปแด็ค Sabre ES9016K2M เบอร์ยอดนิยม ซึ่งยังคงมีใช้อยู่ในเครื่องหลายรุ่นตอนนี้ ยังไม่ต้องกลัวตกรุ่น พร้อม crystal clock คู่แยกสำหรับสัญญาณความถี่ 44.1 kHz และ 48 kHz สามารถถอดรหัสไฟล์ DSD แบบ DoP  ได้ถึง 2.8 / 5.6 MHz (สตรีมผ่าน Ethernet หรือเล่นด้วย USB Flash Drive) และไฟล์ PCM 24bit / 192 kHz มีการออกแบบภาควงจรแอนะล็อกเอาต์พุต เพื่อให้ได้บุคลิกเสียงแบบฉบับมาร้านทซ์ (เสียงแบบฟูลบอดี้) โดยใช้ HDAM วงจรขยายสัญญาณแบบดีสครีต ที่ให้ค่า slew rate สูง ทำงานได้ไวกว่าการใช้ออปแอมป์แบบปกติ สวิงสัญญาณได้ทันกับอินพุตที่ป้อนเข้ามา และมีระดับของสัญญาณรบกวนที่ต่ำ

ช่องเชื่อมต่อด้านหลังนั้น จะมีช่องดิจิทัลทั้งอินพุตและเอาต์พุตแบบ optical มาให้อย่างละ 1 ช่อง ส่วนช่องแอนะล็อกเอาต์พุตจะมีทั้งแบบ fixed ปล่อยความแรงสัญญาณคงที่ และ variable ปรับระดับความดังของสัญญาณได้ ผ่านดิจิทัลโวลุ่มในตัว NA6006 ในกรณีที่ต้องการต่อ NA6006 เข้ากับลำโพงแอคทีฟหรือเพาเวอร์แอมป์

ข่าวดีสำหรับผู้ใช้ Roon คือ NA6006 นั้นผ่านการรับรองมาตรฐาน Roon Tested การันตีว่าออดิโอฮาร์ดแวร์ในเครื่องสามารถใช้งานเป็น endpoint ร่วมกับแอพลิเคชั่น Roon ได้อย่างราบรื่น แต่ในกรณีของ NA6006 คือการสตรีมผ่าน AirPlay ด้วย Apple Lossless Codec (16-bit / 44.1 kHz) เท่านั้น แม้ว่าตัว NA6006 จะรองรับการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์อื่นด้วย AirPlay 2 ก็ตาม (Roon ไม่รองรับ AirPlay 2) ซึ่งก็ให้ความนิ่งในการเชื่อมต่อสัญาณที่ดีมากเนื่องจากมีเสารับ-ส่ง Wi-Fi / Bluetooth ถึง 2 ต้น ส่วนที่น่าเสียดายก็คือไม่มีในส่วนของ MQA decoder ติดตั้งมาให้

การเซ็ตอัพ

การใช้งานครั้งแรกนั้นจำเป็นต้องลงแอพ HEOS บนมือถือหรือแทปเล็ตแล้วทำการเชื่อมต่อ NA6006 กับวง LAN ในบ้านให้เรียบร้อยเสียก่อน แนะนำว่าให้เชื่อมต่อทาง Ethernet ไปเลยจะสะดวกและได้คุณภาพดีกว่าเชื่อมต่อด้วย Wi-Fi ทำตามขั้นตอนบนแอปพลิเคชั่น HEOS ไปเรื่อย ๆ ไม่กี่นาทีก็เป็นอันเสร็จ สำคัญคือการเชื่อมต่อต้องอยู่ในวง LAN เดียวกันทั้ง Wi-Fi และ Ethernet

ผู้เขียนจะทำการอัพเดตเฟิร์มแวร์ของเครื่องให้เป็นเวอร์ชั่นล่าสุดเสมอ ซึ่งเครื่องที่นำมาทดสอบตั้ง Auto Update เอาไว้หลังจากเชื่อมต่อกับวง LAN เสร็จก็จะทำการอัพเดตเฟิร์มแวร์ให้โดยอัตโนมัติ เมื่อเข้าไปดูบนแอป HEOS ก็มีการอัพเดตด้วยเช่นกัน ที่เห็นได้ชัดคือมีการเปลี่ยนหน้าตาของอินเตอร์เฟสให้มีความน่าใช้ สวยงามมากขึ้นกว่าเวอร์ชั่นเดิมด้วย

ฟิเจอร์ต่าง ๆ ที่ NA6006 ให้มานั้น “เยอะมาก” และมีหลายส่วนที่ส่งผลต่อคุณภาพเสียง แนะนำว่าให้เข้าเมนู setting ทั้งในเครื่องและบนแอป และทำการปรับแต่งตามนี้เพื่อให้ได้คุณภาพเสียงที่ดีที่สุด ซึ่งผู้เขียนจะแยกออกเป็นหัวข้อต่าง ๆ เฉพาะที่เกี่ยวข้องให้ดังนี้

เข้าไปที่เมนู Setup –> Audio บนเครื่อง NA6006

  • Filter: Filter 1
  • Lock Range: Narrow
  • Variable Out: Off
  • Volume Limit: Off
  • Phones: Off

เข้าไปที่เมนู Setup –> Network บนเครื่อง NA6006

  • Wi-Fi: Disabled
  • Bluetooth: Disabled

หมายเหตุ หากท่านต้องการจะใช้ฟังก์ชั่น Wi-Fi หรือ Bluetooth ก็ไม่จำเป็นต้องปิดการใช้งานฟีเจอร์นี้

บนรีโมท

  • กดปุ่ม DIG. OUT: Off
  • กดปุ่ม DIMMER: Off

เข้าไปที่เมนู Settings ของแอป HEOS (คลิกที่ไอค่อนรูปฟันเฟืองซ้ายบนเมนู Music) –> My Devices –> Marantz NA6006

  • Quality: High
  • Volume Limit: Off
  • Line Out Level: Fixed

หมายเหตุ ในส่วนของการปรับแต่งดิจิทัลฟิลเตอร์ที่มีให้เลือก 2 รูปแบบ กับ Lock Range จะส่งผลต่อน้ำเสียงดังนี้

Filter 1 เป็นค่าเริ่มต้นของเครื่อง ให้ค่า impulse response ของสัญญาณช่วง pre-echo และ post-echo ที่สั้น ทำให้อิมเมจของเสียงมีความกระจ่างชัดเจน

Filter 2 จะให้ค่า impulse response ของสัญญาณช่วง post-echo ยาวกว่า pre-echo เล็กน้อย หัวโน้ตจะมีความหนานุ่มขึ้น ช่วยเติมสีสันของเสียงให้ฟังดูเป็นแอนะล็อก

Lock Range: Narrow จะคล้ายกับการลดบัฟเฟอร์พักข้อมูลลง โดย Narrow คือน้อยที่สุด ผลคือเสียงมีความสะอาด โฟกัสชัดเจนขึ้น

อุปกรณ์หลักที่ใช้ทดสอบ

  • RPi 4 + Volumio 3, NuPrime Omnia A300
  • D/A Converter: Chord Mojo
  • Pre | Power: Bryston B-60 | NAD 216 THX
  • Loudspeaker: NHT 1.5

อัลบั้มบางส่วนที่ใช้ทดสอบ

  • Dominique Fils-Aime – Nameless
  • Youn Sun Nah – Light for the People
  • Rage Against The Machine – XX
  • Hans Zimmer – The Dark Knight (Original Motion Picture Soundtrack)
  • Eric Clapton – Unplugged
  • Henk Van Twillert – Bach: Cello Suites (Arranged for Baritone-Saxophone)

เสียง

หลัก ๆ ของการทดสอบจะเป็นการสตรีมด้วย TIDAL และการดึงไฟล์จาก NAS มาเล่นเป็นหลัก NA6006 ให้น้ำเสียงที่มีความฟูลบอดี้แต่ไม่ถึงกับอิ่มหนา ในทุกย่านเสียง มีความต่อเนื่องลื่นไหลในระดับที่จะทำให้การรับฟังไฟล์เพลงดิจิทัลมีความนุ่มนวลสบายหู ไดนามิกเปิดกว้างไม่รู้สึกว่าถูก compress แตกต่างจากการใช้คอมพิวเตอร์มาเป็น source เล่นเพลงแบบสังเกตได้ ส่วนหนึ่งก็มาจากการใช้ภาคจ่ายไฟที่ออกแบบมาสำหรับงานออดิโอโดยตรง ปลอดสัญญาณรบกวนจากการทำงานของวงจรส่วนอื่น เสียงจึงสะอาดกว่า

รายละเอียดย่านเสียงกลางนี่ต้องยกนิ้วโป้งให้ มีความอิ่มเอิบและลอยเด่นเป็นสามมิติ โดยเฉพาะกับเสียงคนร้องนั้นมีความฉอเลาะและมีลีลาที่น่าฟังมาก รวมถึงพวกเครื่องสายและเครื่องเป่า ซึ่งเป็นแนวเสียงที่ทางมาร้านทซ์ถนัด และจูนเสียงให้เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวมาช้านาน รายละเอียดครบชัดไม่มีตกหล่น สอดรับกับย่านปลายแหลมที่มีความกังวานทอดหางเสียงไปได้ไกล มีประกายระยิบระยับ ฟังแล้วมีชีวิตชีวา และย่านต่ำที่มีความกระชับ โน้ตเบสชัดเจน รักษาปริมาณความเข้มเสียงของทั้งสามย่านได้สมดุลใกล้เคียงกัน มีความกลมกล่อม แอมเบียนซ์หรือบรรยากาศภายในเวทีเสียงก็ถ่ายทอดออกมาอย่างเต็มอิ่มไม่แห้งแล้ง

แม้จะเป็นเน็ตเวิร์คเพลเยอร์ NA6006 ก็ให้โทนเสียงที่เจือความอบอุ่นนุ่มนวลอยู่ไม่น้อย ทำให้ไปกับแนวเพลงได้หลากหลาย ไล่มาตั้งแต่แนวเพลงคลาสสิคไปจนถึงอิเล็กทรอนิกส์ ฟังแนวไหนก็เพลิดเพลิน ถ่ายทอดจังหวะดนตรีที่ถูกต้องแม่นยำ ไม่มีความจัดจ้านหรือแข็งกระด้างสำแดงออกมาเลยตลอดการรับฟัง น้ำหนักแรงปะทะต้นโน้ตมีความผ่อนปรนเล็กน้อย ไม่ถึงกับจะแจ้งแบบสุด ๆ เมื่อฟังกับดนตรีที่เน้นจังหวะกระชับหรือเฉียบคมดุดัน แต่ก็แลกกับภาพรวมที่มีความฟังสบายผ่อนคลายไม่ล้าหู รวมถึงความเข้มเสียงของย่านทุ้มต่ำ ๆ ที่เบาบางไปบ้างเมื่อเทียบย่านทุ้มต้นถึงกลาง

ตรงนี้ลองหาสายสัญญาณที่เด่นด้านน้ำหนักเสียง มาเสริมก็จะช่วยให้มีความลงตัวมากขึ้น ผู้เขียนทดลองใช้สายประเภทโซลิดคอร์หรือแกนเดี่ยวมาเสริม เช่น Kimber Kable หรือ Audioquest ก็ไปกันได้ดีทีเดียว

โฟกัสของเสียงมีความชัดเจนดี ไม่มีเงาเสียงฟุ้ง ๆ รอบตัวเสียง เวทีเสียงมีความกว้างลึกพอประมาณ ซึ่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์เฉลี่ยของเครื่องระดับราคานี้ ที่โดดเด่นคือพื้นเสียงมีความสงัดที่ดีมาก ทำให้อิมเมจตัวเสียงมีความลอยเด่น กลมกลึงไม่แบนราบ แยกแยะเลเยอร์ของดนตรีได้เด็ดขาดและมีขอบเขตของตัวเองอยู่ในพื้นที่เวทีเสียงชัดเจน โดยตรงกลางจะมีความชัดเจนสูงสุด และผ่อนความชัดเจนลงไปเมื่ออยู่บริเวณขอบเวทีเสียง

ช่วงท้ายทดลองฟังเสียงจากช่องหูฟัง ปรากฏว่าทำได้ประทับใจเกินคาด ขับหูฟังฟูลไซส์หลายตัวได้สบาย เนื่องจาก NA6006 ใช้วงจร HDAM SA2 ในส่วนของภาคขยายหูฟังแทนการใช้ออปแอมป์ด้วย เสียงจึงมีพละกำลังอัดฉีดที่ดี ไม่แบนและแข็งกระด้าง และไม่มีสัญาณรบกวนให้ได้ยินเลย แทบไม่ต่างจากการใช้เฮดโฟนแอมป์แยกชิ้นมาขับ ผู้เขียนทดลองปรับเกนขยายหูฟังไปที่ Mid ก็ขับหูฟังใหญ่ ๆ หลายตัวได้ดังลั่นแล้ว

สรุป

ถ้าวัดกันที่ตัวเลือกในพิกัดราคาช่วง 2 หมื่นบาท ของเน็ตเวิร์คออดิโอเพลเยอร์ในบ้านเราตอนนี้ แทบไม่มีตัวเลือกมากนัก NA6006 จึงเหมือนเป็นการคืนกำไรให้กับนักเล่นที่ชื่นชอบความเป็นดนตรีในแบบฉบับของมาร้านทซ์ เพราะถ่ายทอดดีเอ็นเอของตัวเองลงในการเล่นไฟล์ดิจิทัลยุคนี้ได้อย่างน่าชื่นชม ใครที่อยากเล่นไฟล์ดิจิทัล แต่เกลียดความคมหรือบอบบางจัดจ้าน นี่คือตัวเลือก ที่ช่วยตอบโจทย์ของคุณได้ในราคาที่ไม่เดือนร้อนกระเป๋าสตางค์มากจนเกินไป


ราคา 22,900 บาท

ขอขอบคุณ M.I. Engineering Co. LTD. โทร. 0-2254-3316-9 ที่เอื้อเฟื้อสินค้าเพื่อการทดสอบ