Electrocompaniet EC4.8 MKII / AW250 R ไฮเอ็นด์ตัวจริงจากถิ่นแสงเหนือ

0

Dawn Nathong

เครื่องเสียงไฮเอ็นด์ที่ได้เครดิตบนปกสตูดิโออัลบั้มระดับโลก

แบรนด์เครื่องเสียงไฮเอ็นด์บนโลกนี้นั้นมีมากมาย แต่โอกาสที่จะถูกพิสูจน์คุณภาพจนกลายเป็นที่ยอมรับทั้งในวงการเครื่องเสียงบ้านและวงการระดับมืออาชีพไปพร้อมกันนั้นหาได้ไม่ง่ายนัก บรูช์ สวีเดียน (Bruce Swedien) วิศวกรบันทึกเสียง, มิกซ์เอนจิเนียร์และโปรดิวเซอร์บันทึกเสียงชาวอเมริกันระดับรางวัลแกรมมีสาขาบันทึกเสียงยอดเยี่ยม มีผลงานร่วมกับศิลปินชื่อดังระดับโลกมากมาย หนึ่งในนั้นก็คือราชาเพลงป็อป ไมเคิล แจ็คสัน เกือบทุกอัลบั้ม ตั้งแต่ Thriller หนึ่งในสตูดิโออัลบั้มยอดเยี่ยมที่สุดตลอดกาลเมื่อปี 1984, Bad, Dangerous, HIStory เรื่อยมาจนถึง Invincible ในปี 2001

ไมเคิล แจ็คสัน, บรูช์ สวีเดียน, ควินซี่ โจนส์

ช่วงปี 1993 บรูช์กำลังง่วนอยู่กับการทำไฟนอลมิกซ์สตูดิโออัลบั้ม Dangerous ของ ไมเคิล แจ็คสัน เขาต้องการอุปกรณ์ที่ดีพอที่จะทำให้โปรเจ็กต์นี้ออกมาอย่างสมบูรณ์แบบที่สุดตามที่เขาตั้งใจ ซึ่งระบบลำโพงที่เขาใช้เป็นมอนิเตอร์ตอนนั้นคือ Westlake Audios Lc3W-12 เป็นลำโพงแบบสามทางขนาดเขื่องที่มีวูฟเฟอร์เสียงต่ำ 12 นิ้ว เพื่อนสนิทของเขา ทรอนด์ บราเตน (Trond Braaten) โปรดิวเซอร์ชาวนอร์เวย์ นำแอมปลิฟายเออร์ตัวนึงมาให้บรูช์ลองใช้ ปรากฏว่าบรูช์ชอบมากจนเก็บความตื่นเต้นไว้ไม่ไหว ด้วยน้ำเสียงที่ดีเหมือนแอมป์หลอดทั้งที่เป็นโซลิดสเตท จนถึงกับกล่าวว่าแอมป์ตัวนี้เปลี่ยนชีวิตของเขาไปเลยทีเดียว แอมป์ตัวนั้นก็คือ Electrocompaniet รุ่น Ampliwire AW 250

ซึ่งในที่สุด บรูช์ ตัดสินใจนำแอมป์ตัวนี้ไปใช้เป็นอุปกรณ์หลักในโปรเจ็คทั้งหมดของเขาตั้งแต่นั้น และด้วยแรงสนับสนุนของทั้ง บรูช์ และ ไมเคิล แจ็คสัน ชื่อของ Electrocompaniet AS และทีมงาน จึงได้มีเครดิตด้าน Technical support อยู่บนปกสตูดิโออัลบั้มของ ไมเคิล แจ็คสัน หลายอัลบั้ม นอกจากนี้ แอมป์ของ Electrocompanient ยังถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายในสตูดิโอบันทึกเสียงระดับโลกอีกหลายแห่งรวมถึง แอบบี โรด สตูดิโอ

รายละเอียดที่น่าสนใจ

จุดเด่นของแอมป์ Electrocompaniet คือเป็นแอมป์โซลิดสเตทที่น้ำเสียงไร้ความแข็งกระด้างโดยสิ้นเชิง โดยนำแนวคิดจากงานวิจัยของ ดร. มัตติ โอตาลา (Matti Otala) ที่นำเสนอเมื่อปี 1973 เกี่ยวกับเรื่องของ Transient Intermodulation Distortion (TIM) หรือความเพี้ยนจากการสวิงเสียงฉับพลัน ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของอาการเสียงจัด เสียงแข็ง ในแอมป์โซลิดสเตท มาเป็นหัวใจหลักในการออกแบบ กระบวนการผลิตทั้งหมดตั้งแต่เริ่มต้น จะอยู่ภายในโรงงานที่ทันสมัยซึ่งตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งตะวันตกของนอร์เวย์ ไม่ใช่แค่งานออกแบบหรือประกอบ แต่รวมถึงชิ้นส่วนอุปกรณ์ทั้งหมดด้วย ไม่มีการสั่ง OEM จากแหล่งอื่น นั่นหมายความว่าผู้ผลิตสามารถควบคุมตัวแปรต่าง ๆ ให้ตรงสเปคความต้องการได้เต็มที่ร้อยเปอร์เซ็นต์

EC 4.8 MKII Reference Preamplifier

นี่คือปรีแอมป์รุ่นท็อปหนึ่งเดียวของไลน์การผลิต Classic ซีรียส์และเป็นไลน์ปรีแอมป์รุ่นเดียวของบริษัท ไม่ผลิตรุ่นรองให้เสียเวลา สเปคจัดเต็มแบบสุด ๆ ระดับของสัญญาณรบกวนต่ำกว่า 130dB ตอบสนองความถี่ 1-200 Hz การแยกแชนแนลทำได้ยอดเยี่ยมมากกว่า 120dB ค่าความเพี้ยน THD น้อยกว่า 0.002% (1V in, 1V out) เรียกว่าปรีไฮเอ็นด์บางตัวมองค้อนได้เลย วงจรเป็นฟูลลี่บาล้านซ์แท้แบบเพียวแอนะล็อกไม่มีภาค DAC มากวน ใช้อุปกรณแบบดีสครีตแยกเป็นตัว ๆ บอร์ดวงจรแชนแนลซ้าย-ขวาแยกอิสระจากกัน สังเกตุว่าแม้แต่ช่องเชื่อมต่อด้านหลังทั้งหมดก็ยังแยกฝั่งซ้ายขวาด้วย มีภาคจ่ายไฟหม้อแปลงเทอรอยด์อย่างละชุดในลักษณะของ Dual Mono

ชุดภาคคอนโทรลก็จะมีภาคจ่ายไฟแยกต่างหาก โวลุ่มคอนโทรลและอินพุตซีเล็คเตอร์จะอยู่ฝั่งขวาเป็นแบบปุ่มกด มีหน้าจอแสดงแสดงผลอยู่ทางซ้ายมือบอกระดับความดังด้วยแถบบาร์ เวลาเปิดเครื่องจะมีการหน่วงเวลาเพื่อวอร์มอัพก่อนเล็กน้อยประมาณ 30 วินาที นอกจากนี้ยังให้อินพุต AN5 สามารถปรับการทำงานในโหมด HT หรือโฮมเธียเตอร์บายพาสได้ (ตัดการทำงานภาคโวลุ่มของปรีออก)

สเปก EC 4.8 MKII

  • Input impedance 47 Kohm
  • Output impedance 100 ohm
  • Max input +-15 Vp-p ( +- 30Vp-p Bal)
  • Max output +-30 Vp-p ( +- 30Vp-p Bal)
  • Minimum gain -111dB
  • Maximum gain 6dB
  • Noise Floor(0 dB gain) < -130 dB
  • Frequency responce 1 – 200 kHz
  • Channel Seperation > 120dB
  • THD (1V in, 1V out) <0.002%

AW250 R Stereo Amplifier

ผู้เขียนขอเรียก AW250 R ว่าเป็น ‘ทายาท’ ของ Ampliwire AW 250 ที่เกริ่นนำไปก่อนหน้า เพราะมีดีเอ็นเอเดียวกัน โครงสร้างภายในออกแบบการทำงานในลักษณะของ Dual Mono แยกภาคจ่ายไฟสองชุดเช่นเดียวกับปรีแอมป์ ภาคขยายเป็น Class AB ให้กำลังขับ 2 x 250W ที่โหลดความต้านทาน 8 โอห์ม เรียกว่ากำลังสวยสำหรับการนำไปใช้ร่วมกับลำโพงหลากหลาย ที่น่าทึ่งคือสามารถขับลำโพงที่โหลดต่ำเพียง 1 โอห์มได้ โดยอัดฉีดกำลังขับจะขึ้นไปถึง 2 x 1,100W แบบต่อเนื่อง ไม่ใช่ตัวเลขสวิงชั่วครู่ ซึ่งเป็นสเปคที่หาได้ไม่ง่ายนักแม้แต่ในแอมป์ที่มีระดับราคาสูงกว่า อานิสงค์จากการใช้เทคโนโลยี Floating Transfomer (FTT) ทำให้สามารถจ่ายกระแส Peak Current ได้เกิน 100 A เมื่อเจอโหลดความต้านทานต่ำสุด ๆ

ที่ช่องเชื่อมต่อด้านหลังจะมีช่องเชื่อมต่อสัญญาณที่เรียกว่า Balance Link เพื่อเอาไว้ใช้ในการปรับเปลี่ยนฟังก์ชั่นการทำงานของแอมป์ในโหมด Bridged (ดูรูปประกอบ) ซึ่งจะทำให้ AW250R จ่ายกำลังเพิ่มได้อีกสี่เท่า หรือใช้งานแบบ Bi-amp (แชนแนลนึงขับทุ้ม แชนแนลนึงขับแหลม) ก็ได้

เพาเวอร์แอมป์ตัวนี้ไม่มีช่องอินพุตแบบซิงเกิ้ลเอ็นด์ RCA มาให้เนื่องจากเป็นแอมป์ระบบบาล้านซ์แท้ หากนำไปใช้งานกับปรีที่มีเอาต์พุตแบบซิงเกิ้ลเอ็นด์จะต้องใช้อะแดปเตอร์แปลงหัว RCA to XLR และมีขั้วต่อลำโพงไบดิ้งโพสต์มาให้สองชุดสำหรับต่อลำโพงที่มีขั้วต่อแบบ Bi-wire ส่วนตัวขารองเครื่องทั้งสี่จะมีลักษณะให้ตัวได้เล็กน้อย นัยว่าช่วยในเรื่องของการลดแรงสั่นสะเทือน

สเปก AW250 R

  • Output Impedance (20 Hz – 20 kHz) < 0,008 ohm
  • XLR (balanced) input impedance 110 kohm
  • Input sensitivity for rated output 1 V
  • Max. peak current   > 100 A
  • THD (measured at 1 kHz half power, 8 W) < 0,001 %
  • THD (measured at 1 kHz -1 dB, 8 W) < 0,001 %
  • Noise (measured with both inputs shorted) 400 Hz – 30 kHz : 90 µV 10 Hz – 30 kHz : 100 µV

Rated output power        

  • 8 ohms        2 x 250 W
  • 4 ohms        2 x 380 W
  • 2 ohms        2 x 625 W
  • 1 ohms        2 x 1100 W

ซิสเต็มที่ใช้ทดสอบ

ฟร้อนต์เอ็นที่เลือกใช้มีเครื่องเล่นซีดี Audia FL CD Three S สำหรับแหล่งโปรแกรมซีดี ส่วนของสตรีมมิ่งเป็น NuPrime Omnia A300 ต่อแบบแอนะล็อคเอาต์พุตสลับกับการต่อดิจิทัลเอาต์พุต Coaxial เข้า DAC ในตัว FL CD Three S ด้วยสาย QED Reference 75 ส่วนของลำโพงเลือกใช้ลำโพงตั้งพื้น Dynaudio Contour 1.8 MkII สลับกับ Roger LS3/5a รุ่นซิงเกิ้ลไวร์ 11 โอห์มและลำโพงตั้งพื้น Polk Reserve R700 ที่มีอยู่ในขณะนั้นเพื่อประเมินผลในภาพรวม ส่วนสายสัญญาณเชื่อมต่อระหว่างปรีและเพาเวอร์เป็นสายบาล้านซ์ XLR ของ HarmonicTech รุ่น Link III สายลำโพง Wunder Edit One L ต่อแบบซิงเกิ้ลไวร์ ส่วนสายไฟเอซีเป็น Shunyata Alpha เครื่องทั้งหมดจัดวางบนชั้นของ Solid Tech รุ่น Hybrid

เมื่อแกะกล่องมาใหม่ ทั้ง EC 4.8 MkII และ AW250 R ต้องการการเบิร์นอินต่ำ ๆ สัก 72 ชั่วโมง และหากปิดสวิตช์ AW250 R เมื่อเปิดใช้งานอีกครั้งควรอุ่นเครื่องทิ้งไว้ก่อนสัก 2 ชั่วโมงจึงจะเข้าสู่ประสิทธิภาพสูงสุด แต่ระหว่างนั้นถ้าคุณจะฟังเพลงไปตามปกติก็ไม่ผิดกติกาแต่อย่างไร เมื่อเครื่องร้อนได้ที่ จากเสียงที่น่าฟังอยู่แล้วจะยิ่งเปิดเผยตัวตนที่แท้จริงออกมา เชื่อเถอะว่าคุ้มค่ากับการรอคอยจริง ๆ นั่นทำให้ปรี-เพาเวอร์แอมป์คู่นี้อาจไม่เหมาะกับนักเล่นที่ใจร้อน หรือไม่มีเวลาให้การฟังเพลงมากนัก แต่สำหรับนักเล่นที่เล่นแอมป์หลอดหรือแอมป์ Class A อยู่แล้วจะเข้าใจดี บางคนฟังเพลงวันละหลายชั่วโมง บ้างยอมเปิดแอมป์ทิ้งไว้ไม่ปิดเลยก็มี

เสียง

ต้องเกริ่นก่อนว่า คนที่ชอบบุคลิกเสียงของ Electrocompaniet มักจะเป็นนักเล่นที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาในระดับหนึ่ง สำหรับมือใหม่ อาจจะมองข้ามน้ำเสียงของแบรนด์นี้ไปอย่างน่าเสียดาย เพราะปรี-เพาเวอร์คู่นี้ มีพฤติกรรมคล้ายกับแอมป์หลอดสูญญากาศหรือแอมป์โซลิดสเตทเพียวคลาสเอ ที่ต้องการระยะเวลาวอร์มอัพหลังจากกดสวิตช์เปิดเครื่องไปซักระยะ ช่วงแรกน้ำเสียงจะออกไปทางนุ่มนวล ละเมียด พอเล่นเพลงไปสักพักสุ้มเสียงจะดีขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงจุดที่เครื่องร้อนได้ที่สักหนึ่งชั่วโมง ก็ได้เรื่องแล้ว ทั้งความใส ไดนามิกที่เปิดเผยจะแจ้งและปลายหางเสียงที่พลิ้วไหวมีลีลา ซึ่งอาจจะไม่ทันใจวัยรุ่นเท่าไรนัก

น้ำเสียงจากชุดปรีแอมป์ EC 4.8 MkII และ AW250 R ชวนให้นึกถึง Pass Labs อยู่ไม่น้อย ในแง่ของความสะอาดบริสุทธิ์ของเนื้อเสียง รายละเอียดและการควบคุมชิ้นดนตรีที่นิ่งและโฟกัสที่ขึ้นรูปเป็นสามมิติ ไร้อาการเสียงขึ้นขอบคมแข็งโดยสิ้นเชิง ย่านเสียงกลางแหลมมีความเป็นธรรมชาติสูงมาก อุดมด้วยรายละเอียด มีมวลบรรยากาศรอบตัวเสียงที่อบอวล อีกทั้งเจือความอบอุ่นของเสียงเอาไว้ได้อย่างน่าฟัง

ฟังเสียงนักร้องหญิงนี่เคลิ้มเอาได้ง่าย ๆ เพราะถ่ายทอดอารมณ์การร้องออกมาได้ฉอเลาะเหลือเกินจนนึกว่าฟังแอมป์หลอดดี ๆ อยู่ ที่ดีเยี่ยมคือเมื่อฟังเสียงนักร้องชายก็แสดงโทนเสียงทุ้มต่ำที่อิ่มหนักแน่นออกมาได้อย่างชัดเจนด้วย ตรงนี้สำหรับแอมป์หลอดบางตัวนั้นอาจจะได้อย่างเสียอย่าง แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการควบคุมไดนามิกและถ่ายทอดความสมบูรณ์ของเนื้อเสียงของ Electrocompaniet ได้เป็นอย่างดี ย่านเสียงกลางนี่ถือว่าเข้าข่ายใกล้ระดับที่เรียกว่า ‘สมจริง’ มากที่สุดตัวหนึ่งเท่าที่ผู้เขียนเคยทดสอบมา

 นี่เป็นปรี-เพาเวอร์อีกรุ่นที่ดึงเอาศักยภาพของลำโพง Roger LS3/5a ออกมาได้ในระดับมหัศจรรย์ ใครที่เคยดูแคลนลำโพงตระกูล LS3/5a หรือไม่เคยฟังจริงจังมาก่อน คุณอาจเปลี่ยนความคิดและหันมาหลงรักลำโพงคู่นี้แบบสุดลิ่มทิ่มประตูก็เป็นได้ เพราะสามารถทำให้ลำโพงคู่นี้เปล่งเสียงออกมาได้ใหญ่เกินตัว เวทีเสียงขยายออกไปรอบด้าน

ย่านเสียงกลางที่เที่ยงตรงอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของลำโพงตระกูล LS3/5a ถ่ายทอดออกมาได้อย่างยอดเยี่ยม เสียงคนร้องมีความกลม รู้สึกเหมือนฟังจากปากคนจริง ๆ สด มีชีวิตชีวา มีรายละเอียดที่ครบทุกมิติ รวมถึงตรึงตำแหน่งอิมเมจเสียงได้อย่างแม่นยำ ชี้ตำแหน่งได้เป๊ะ ๆ ย่านต่ำมีน้ำหนักและกระชับแน่น ปริมาณของย่านทุ้มต้นถึงกลางนั้นเพียงพอกับการฟังดนตรีทั่วไป ฟังแล้วไม่รู้สึกว่าทุ้มบางหรือขาดแคลนย่านต่ำเลย น่าทึ่งมากเมื่อเทียบกับปริมาตรตู้ของ Rogers  เรียกว่ารีดคุณภาพเนื้อ ๆ จากลำโพงคลาสสิคคู่นี้ได้เกินคาดเลยทีเดียว

ตัวเลขกำลังขับ 250 วัตต์ที่ 8 โอห์มของ AW250 R ไม่ได้เป็นอุปสรรคในการเลือกลำโพงเลย ไม่ว่าจะเป็นลำโพงวางหิ้งตัวเล็ก ๆ ไปจนถึงลำโพงตั้งพื้นขนาดใหญ่ เพราะสามารถถ่ายทอดพละกำลังอัดฉีดได้อย่างมีชั้นเชิง คุมเสียงย่านทุ้มต่ำ ๆ ได้อย่างมั่นคง ให้ทั้งความต่อเนื่องลื่นไหลและทรงพลัง จังหวะดนตรีแม่นยำ เวลาเล่นกับลำโพงเล็ก ก็จะช่วยเสริมความนิ่ง สงบเยือกเย็น ไม่พลุ่งพล่าน ซึ่งจะช่วยขับเน้นเสน่ห์ซึ่งเป็นจุดเด่นของลำโพงนั้น ๆ มีความชัดเจนยิ่งขึ้น

ในขณะที่การจับคู่กับลำโพงตั้งพื้น ในที่นี้คือ Dynaudio Contour 1.8 MkII เป็นลำโพงที่ต้องการแอมป์กำลังสำรองดี ๆ ถึง ๆ สักหน่อย ก็สามารถปรับเปลี่ยนบุคลิกไปตามลำโพงที่นำมาใช้ได้อย่างชัดเจน มีสเกลของไดนามิกเสียงตลอดย่านแหลมจรดย่านทุ้มที่ถ่างกว้างเป็นอิสระมากยิ่งขึ้น น้ำเสียงเปิดเผยติดหวาน ปลายแหลมพลิ้วทอดตัวเป็นประกาย ทุ้มหนักแน่นกระชับเก็บตัวดีไม่รุ่มร่าม เวทีเสียงกว้างและขยายลึกไปด้านหลังเป็นชั้น ๆ มีขอบเขตที่ชัดเจนไม่พร่าเบลอ แต่ที่ประทับใจคือเสริมในเรื่องของเกรนเสียงที่เนียนละเอียดลออขึ้นไปอีกระดับ

หลังจากที่ได้ฟังเสียงปรี-เพาเวอร์คู่นี้ มีลำโพงในใจอีกหลายคู่นำลำโพงคู่ที่อยากนำมาทดลองขับดูว่าจะค้นพบอะไรต่อไป แค่คิดก็สนุกแล้ว

อัลบั้มบางส่วนที่ใช้ทดสอบ

  • Duets – Rob Wasserman
  • Asian Roots – Take’ Dake’ with Neptune
  • Same Girl – Youn Sun Nah
  • ฺBody and Soul – Joe Jackson
  • Discovered Again! Plus! – Dave Grusin
  • Into the Labyrinth – Dead Can Dance
  • Thriller – Michael Jackson

สรุป

Electrocompaniet EC 4.8 MkII และ AW250 R เป็นการรวมองค์ความรู้ ทั้งในมุมของผู้ผลิตเครื่องเสียงโฮมยูสและสตูดิโอระดับมืออาชีพ มาไว้ในบริบทของ “เครื่องเสียงชั้นดี” ได้อย่างลงตัว สามารถใช้เป็นมาตรฐานอ้างอิงสำหรับชุดปรี-เพาเวอร์แอมป์ในพิกัดราคาประมาณ 3-4 แสนบาทได้ หากคุณมีงบประมาณราว ๆ นี้ ก่อนจะตัดสินใจเลือกซื้อเครื่องเสียงแบรนด์ใด ขอให้มาลองฟังปรีเพาเวอร์คู่นี้แล้วทดเอาไว้ในใจเสียก่อนไม่เสียหลาย เพราะข้ามจากชุดนี้ไปแล้ว ต้องการจะให้เห็นหน้าเห็นหลังกันชัด ๆ อาจจะต้องเตรียมงบประมาณให้สูงกว่านี้สักสองสามเท่าตัว

หากคุณเป็นนักฟังเพลงที่ละเมียดในการเล่นเครื่องเสียงและชื่นชอบการฟังเพลงที่เข้าถึงอารมณ์ ให้เวลากับการฟังเพลงวันละหลายชั่วโมง อยากเล่นแอมป์หลอดแต่ใจรักโซลิดสเตท หรือมีลำโพงเอาไว้สลับฟังหลาย ๆ คู่ นี่ละใช่เลย


ขอขอบคุณ Bulldog Audio โทร. 081-454-007 ที่เอื้อเฟื้อสินค้าในการทดสอบครั้งนี้