Denon DCD-520AE/PMA-600NE ซิสเต็มเครื่องเสียงระดับเริ่มต้น (ที่ไม่ธรรมดา)

0

Dawn Nathong

ชุดนี้เป็นการจับคู่ชุดเครื่องเสียงจากทางบริษัทมหาจักร โดยเลือกจับคู่ซีดีเพลเยอร์ Denon DCD-520AE กับอินทิเกรตแอมป์ Denon PMA-600NE ทั้งชุดรวมกันราคาไม่เกินสี่หมื่นบาท ถือว่าเป็นซิสเต็มระดับเริ่มต้นที่น่าสนใจไม่น้อย สำหรับการเริ่มต้นเล่นเครื่องเสียงแบบแยกชิ้น เพราะหากได้ลองเล่นและมีการปรับแต่งที่เหมาะสมนั้น คุณภาพแบบเนื้อ ๆ ตามสไตล์เดนอนก็จะถ่ายทอดออกมาให้สัมผัสได้เช่นเดียวกับเครื่องรุ่นสูง

ตัวของซีดีเพลเยอร์ DCD-520AE แม้จะเป็นเครื่องระดับเริ่มต้นของเดนอน แต่ก็ใช้ความพิถีพิถันในการผลิตและเทคโนโลยีหลายส่วนจากรุ่นสูงกว่าซึ่งเดนอนสั่งสมมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของโครงสร้างแผงวงจร ตำแหน่งการจัดวางเพื่อลดระยะทางเดินสัญญาณให้สั้น ความเข้ากันได้ของอุปกรณ์ต่าง ๆ การคัดเกรดอุปกรณ์ ภาคดีทูเอคอนเวอร์เตอร์ 24bit/192 kHz ใช้ชิปเสียง Burr-Brown PCM 5102 เน้นเรื่องคล็อคที่มีความแม่นยำสูงเพื่อลดจิตเตอร์ให้น้อยที่สุด ภายในมีการวางเลย์เอาท์แผงวงจรแต่ละส่วนรวมถึงหม้อแปลงที่ติดตั้งแบบลอยตัวแยกจากกัน โดยคำนึงถึงเรื่องของสัญญาณรบกวนและแรงสั่นสะเทือนเป็นหลัก มีฟังก์ชั่น Pure Direct Mode กดที่รีโมทสำหรับเลือกปิดหน้าจอแสดงผล/ดิจิทัลเอาต์พุต (ดูรายละเอียดจากคู่มือ)

สเปก Denon DCD-520AE

  • อ่านแผ่น CD/CD-R/CD-RW
  • ไดนามิกเรนจ์ 100 dB
  • อัตราส่วนสัญญาณต่อเสียงรบกวน 110 dB
  • ความเพี้ยนฮาร์โมนิกรวม 0.003% (1 kHz)
  • กินไฟ 13W

ส่วนของอินทิเกรตแอมป์ PMA-600NE เป็นอินทิเกรตแอมป์ Class AB กำลังขับ 2x45W ต่อเนื่องที่โหลด 8 โอห์ม และ 2x70W ต่อเนื่องที่โหลด 4 โอห์ม จุดเด่นคือวงจร Advance Hight Current (AHC) single-push-pull ซึ่งย่อส่วนเทคโนโลยีมาจากรุ่นใหญ่ ใช้ MOSFET ที่ทนกระแสสูงกว่าปกติ 2-3 เท่าจำนวนหนึ่งคู่ในภาคเอาท์พุตสเตจเพื่อขยายสัญญาณ ภาคจ่ายไฟใช้ชุดตัวเก็บประจุขนาด 8,200 ไมโครฟารัด แยกขดลวดจากหม้อแปลงสำหรับภาคออดิโอและภาคคอนโทรลจากกันเพื่อลดการกวน โครงสร้างตัวถังออกแบบมาเพื่อแยกเลย์เอาท์วงจรแต่ละส่วน SLDC (Signal Level Divided Construction) มีฟังก์ชั่น Micro-Processor Stop Mode ปิดการทำงานภาคไมโครโปรเซสเซอร์ที่ไม่ใช้งานขณะเล่นโดยอัตโนมัติเพื่อป้องกันสัญญาณรบกวน

ติดตั้งภาคดีทูเอคอนเวอร์เตอร์ 24bit/192kHz ชิป Burr-Brown PCM5141 มาให้ในตัว, ภาคโฟโนสเตจสำหรับหัวเข็ม MM, ภาครับสัญญาณ Bluetooth 4.2, ช่อง Sub-out สำหรับต่อซับวูฟเฟอร์ ที่สำคัญเดนอนยังให้ความสำคัญเรื่องของคุณภาพเสียง โดยให้ปุ่มฟังก์ชั่น Analog Mode ที่จะปิดวงจรภาคดิจิทัลในกรณีไม่ได้ใช้งาน รวมถึงปุ่ม Source Direct ตัดการทำงานภาคคอนโทรล (ปุ่มทุ้ม-แหลม/บาล้านซ์) มาด้วย เรียกว่าใส่ใจในทุกรายละเอียด

สเปก Denon PMA-600NE

  • กำลังขับ 45W + 45W (8ohm, 20Hz-20kHz, THD 0.07%),  70W + 70W (4ohm, 1kHz., THD 0.7%)
  • ความเพี้ยนฮาร์โมนิกรวม 0.01% (Rated Output –3dB) 8ohm 1kHz
  • อัตราส่วนสัญญาณต่อเสียงรบกวน 105 dB
  • ความไวอินพุตโฟโน MM 2.5 mV / 47 kohm
  • อัตราส่วนสัญญาณต่อเสียงรบกวนโฟโน MM 84 dB (5mV inputs signal)
  • กินไฟ 185W

การเซ็ตอัพ

เนื่องจากเครื่องทั้งสองใช้สายไฟเอซีแบบ 2 ขา (ไม่มีกราวด์) ติดตายมากับเครื่อง สิ่งแรกที่ต้องทำก่อนเป็นอันดับแรก คือการเช็คเฟสไฟให้ถูกต้อง โดยการนำเครื่องเปล่า ๆ ทดลองเสียบปลั๊กที่เต้ารับโดยไม่ต้องเปิดสวิตช์เครื่อง แล้วใช้ไขขวงวัดไฟแตะส่วนที่เป็นโลหะของตัวถัง ลองสลับด้านปลั๊กเครื่องที่เสียบเต้ารับดู ด้านไหนไฟที่ไขควงวัดไฟไม่สว่างเป็นอันถูกต้อง ก็ให้ทำสัญลักษณ์เอาไว้ กรณีที่ไม่มีอุปกรณ์ใดเลยในซิสเต็มที่มีกราวด์ เมื่อเชื่อมต่อกับ PMA-600NE แนะนำให้ทดลองหาสายกราวด์สักเส้นเกาะที่ตัวถังของแอมป์แล้วนำไปเกาะที่ขั้วกราวด์ของปลั๊กลอยหรือปลั๊กผนังดู (ปลั๊กไฟชุดเครื่องเสียงต้องลงกราวด์)

ในการทดสอบผู้เขียนจะทำการเซ็ตอัพเป็น 2 รูปแบบ แบบที่ 1 คือเชื่อมต่อระหว่าง DCD-520AE และ PMA-600NE ด้วยสายนำสัญญาณแอนะล็อก Tchernov Special XS แบบที่ 2 คือเชื่อมต่อด้วยสายออปติคอลยี่ห้อ Ultralink ซึ่งแบบหลังเป็นการใช้ DCD-520AE เป็นภาคทรานสปอร์ตส่งสัญญาณแสงดิจิทัลมายังภาคดีทูเอคอนเวอร์เตอร์ในตัว PMA-600NE โดยผู้เขียนจะทำการปรับแต่งต่างกันดังนี้

แบบที่ 1

  • Pure Direct “MODE 2”
  • Analog Mode “ON”
  • Source Direct “ON”

แบบที่ 2

  • Pure Direct Mode “MODE 1”
  • Analog Mode “OFF”
  • Source Direct “ON”

การปรับแต่งเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้นี้ช่วยให้เสียงมีความนิ่งขึ้น โฟกัสเป็นตัวตนขึ้น ท่านสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ตามความเหมาะสม ยกตัวอย่างเช่น ในกรณีที่ท่านต้องการใช้งานปุ่มปรับทุ้ม-แหลม/บาล้านซ์ ให้ปิด Source Direct หรือใช้งานภาครับบลูทูธ ให้ปิด Analog Mode

อัลบั้มบางส่วนที่ใช้ทดสอบ

  • Amber Rubarth – Sessions from the 17th Ward
  • James Taylor – Sweet Baby James
  • Jennifer Warnes – Famous Blue Raincoat
  • Anri – Heaven Beach

เสียง

ก่อนอื่นขอเปรียบเทียบแนวเสียงระหว่างการเซ็ตอัพทั้ง 2 รูปแบบก่อน ผู้เขียนพบว่าการต่อแบบที่ 1 คือ ใช้สายนำสัญญาณแอนะล็อกเชื่อมต่อให้เสียงที่มีความ “น่าฟัง” มากกว่าในแง่ความอิ่มเอิบมีเนื้อหนังของเสียง รวมถึงมีความนุ่มนวลลื่นไหลมากกว่าเล็กน้อย การต่อแบบที่ 2 นั้นแม้จะให้ความชัดเจนของเสียงและความสะอาดมากกว่า แต่ความน่าฟังยังเป็นรองแบบที่ 1 ดังนั้นผู้เขียนจะยืนพื้นด้วยการฟังแบบที่ 1 เป็นหลักตลอดการทดสอบ

สำหรับ DCD-520AE กลไกอ่านแผ่นทำได้รวดเร็ว ราบรื่นดี ไม่มีเสียงดังรบกวน น้ำเสียงโดยรวมยังคงเอกลักษณ์ของเดนอนที่คุ้นเคย มีความโปร่งสะอาดของเสียง ติดหวาน รายละเอียดหยุมหยิมชัดเจน มีความสดของเสียง ไดนามิกจะแจ้งฟังแล้วมีชีวิตชีวา ถ่ายทอดจังหวะจะโคนของดนตรีได้ดี มีเนื้อหนังไม่ติดบาง ช่วงแรกแกะกล่องใหม่ยังไม่พ้นเบิร์นเสียงอาจจะจัดเล็กน้อยหลังใช้งานไปแล้วสัก 50 ชั่วโมงขึ้นไปจะลงตัวพอดี แม้จะเป็นเครื่องเล่นซีดีระดับเริ่มต้นแต่ให้ความชัดเจนของเวทีเสียงได้ไม่เลวเลย เวทีกว้างไม่แคบเป็นกระจุก ให้ความใสในเวทีเสียงที่ดี แยกชิ้นดนตรีชัดเจนไม่มั่ว ถ่ายทอดบรรยากาศในเวทีเสียงออกมาได้ดี ทำให้ฟังแล้วรู้สึกถึงความเป็นรูปวงที่ชัดเจน

ส่วน PMA-600NE นั้นถ่ายทอดรายละเอียดการย้ำเน้นของเสียงออกมาได้อย่างโดดเด่น มีพละกำลังแฝงในตัว มีรายละเอียดหยุมหยิมของเสียงที่ดี ตัวเลขกำลังขับ 45 วัตต์ไม่ใช่เรื่องที่ต้องกังวลในการจับคู่กับลำโพงทั่วไป เวลาฟังรู้สึกเลยว่าแอมป์มีพลังอัดฉีดที่ดี สามารถคุมลำโพงได้อยู่หมัด ตอบสนองฉับไว เสียงทุ้มชัดคมไม่บวมเบลอ มีความควบแน่นและทิ้งตัวได้ดีเกินราคา เอาเป็นว่าลำโพงบุ๊คเชลฟ์ในราคาไม่เกินสองหมื่นแอมป์ตัวนี้เอาอยู่สบาย โวลุ่มสามารถเร่งความดังได้ละเอียดราบรื่น เกนของภาคปรีอาจจะขยายสูงเพราะตอนจำคู่กับลำโพงตู้ปิด NHT1.5 ความไว 86 dB เร่งโวลุ่มแค่ 8-9 นาฬิกานี่ก็ดังลั่นแล้ว แต่ภาพรวมทั้งหมดก็ยังสามารถควบคุมเนื้อเสียงได้ดี ไม่สากหรือหยาบกร้าน รวม ๆ น้ำเสียงฟังสนุก คึกคักมีชีวิตชีวา มีความสดจริงจังในน้ำเสียง ไม่เอื่อยเฉื่อย ให้เสียงกลางที่มีความฉอเลาะมีลีลาพริ้วไหวได้ดีไม่เลว รวมถึงย่านแหลมที่ทอดปลายได้สุด ให้บรรยากาศของเสียงที่ดีไม่แห้ง

ทดสอบภาครับบูลทูธของ PMA-600NE ตัวเครื่องจะไม่มีเสายื่นออกมาเหมือนหลาย ๆ รุ่น หลังจากทำการ Pairing กับสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์ ลองสตรีมเพลงด้วยแอป Apple Music (Lossless) ขอบอกว่าเกินคาดไปเหมือนกัน เพราะให้ความชัดเจนน่าทึ่งทีเดียว มีทั้งความนิ่ง ไม่วูบวาบ น้ำหนักเสียงดีมาก มีความใสไม่รู้สึกว่าเสียงขุ่นหรือทึบเลย ทั้ง ๆ ที่รองรับเพียง Codec AAC, SBC ธรรมดา ไม่ได้รองรับ aptX หรือ aptX HD แต่อย่างใด คาดว่าภาครับสัญญาณบลูทูธภายในน่าจะใช้อุปกรณ์เกรดสูงทั้งหมดรวมถึงการออกแบบที่ดี เรียกว่าหากท่านฟังบูลทูธอยู่แล้ว ถือว่าคุ้มมาก ไม่ต้องไปเสียเวลาหาตัวบลูทูธรีซีฟเวอร์แยกเลย เผลอๆ สู้ PMA-600NE ไม่ได้ด้วยซ้ำ

สรุป

ชุดเครื่องเล่นซีดี Denon DCD-520AE กับอินทิเกรตแอมป์ Denon PMA-600NE นี้ ทางมหาจักรจัดโปรโมชั่นแพ็คคู่เอาไว้ถึงสิ้นเดือนสิงหาคม 64 จากราคา 39,900 บาทเหลือแค่ 19,900 บาทเท่านั้น ราคานี้บางทีซื้อสายไฟเอซีออดิโอเกรดสักเส้นยังไม่ได้เลย หาจับคู่กับลำโพงเสียงกลางดี ๆ สักคู่ (ลำโพงฝั่งอังกฤษก็ไม่เลว) จะส่งเสริมกันลงตัว เล่นกับเครื่องเล่นแผ่นเสียงได้ ฟังสตรีมมิ่งได้ เล่นซีดีได้อีกต่างหาก แนะนำว่าถ้าอยากอัพเกรดไม่กลัวหมดประกัน ลองหาร้านโมดิฟายด์ใส่เบ้า IEC แบบสามขาแล้วอัพเกรดสายไฟเอซีออดิโอเกรดเข้าไปสักหน่อย ชุดนี้จะไปได้อีกพอสมควรทีเดียว


ขอขอบคุณ บริษัท มหาจักร-ดีเวลอปเมนท์ จำกัด โทร. 02-256-0020-9 ที่เอื้อเฟื้อสินค้าเพื่อการทดสอบในครั้งนี้