จ้อ ชีวาส
ธุรกิจบันเทิงในสหรัฐอเมริกาไม่ได้เริ่มต้นขึ้นในต้นศตวรรษที่ 20 มันเริ่มมาก่อนหน้านั้นนานแล้ว แต่เมื่อก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 20 นั้นโลกได้รู้จักกับวิทยาการใหม่ๆที่นักประดิษฐ์คิดค้นมากมายสามารถคิดค้นเครื่องมือในการสื่อสารทางความบันเทิงได้หลากหลายและมีความสมบูรณ์มากขึ้น เมื่อ Thomas Alva Edison สามารถคิดค้นอุปกรณ์ในการเล่นภาพเคลื่อนไหว และกระบอกบันทึกเสียงออกมาใช้การอย่างได้ผล นั่นคือการประกาศศักราชแห่งโลกบันเทิงยุคใหม่ กลุ่มทุนธุรกิจต่างๆก็ต่างเล็งเป้าหมายมาโฟกัสลงที่ตลาดใหม่แห่งนี้กันอย่างแพร่หลาย
ธุรกิจการสร้างภาพยนตร์และธุรกิจแผ่นเสียงจึงเป็นสองหัวใจหลักของการเติบโตทางด้านธุรกิจบันเทิง ที่ใครๆก็อยากเข้ามาลงทุนบ้าง และอาชีพที่ผู้คนฝันถึงว่าอยากเป็นที่สุดในสองสาขานี้ก็คือ “ดารานักแสดง” และ “ดารานักร้อง” แต่นั้นมาอาชีพที่เกิดขึ้นใหม่จึงต่างแตกแขนงออกมาจากสายทางทั้งสองสายนี้จนเติบโตขึ้นมหาศาลอย่างรวดเร็ว
Uptown Blues เพลง บลูส์ เริ่มเดินทางเข้าเมือง
ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง “งาน” เป็นสิ่งหายาก ภาวะเศรษฐกิจก็ฝืดเคือง ดนตรีบลูส์แบบดั้งเดิมที่เคยเล่นร้องกันมาแต่แรกเริ่มโดยนักร้องนักดนตรีตามหมู่บ้านตามถิ่นที่อยู่ ก็เริ่มเดินทางกระจายตัวออกไปตามที่ต่างถิ่นกันบ้าง เนื่องจากการเล่นดนตรีการเล่นเพลงเริ่มยึดถือเป็นอาชีพได้ ตามบาร์เหล้าและร้านกาแฟต่างก็มีนักดนตรี “คนจร” เดินเข้าหางานเล่นดนตรีให้กับลูกค้าของร้านฟัง แต่ก็ไม่น้อยที่ถูกปิดประตูใส่หน้าเพราะเป็นนักร้องที่ไม่มีใครรู้จัก ตามร้านรวงใหญ่ๆมักต้องการนักดนตรีที่มีผลงานมาแล้ว ก็มีเพียงร้านเล็กๆเท่านั้นที่คงเปิดประตูรับพวกนักดนตรี “โนเนม”
ในช่วงนี้เองที่พัฒนาการของเพลงบลูส์เริ่มเดินมาถึงจุดการก้าวกระโดด นักดนตรีบลูส์เริ่มคิดรูปแบบคิดวิธีการในการนำเสนอเพลงของเขาออกมาในแนวทางใหม่ๆมากขึ้น นักร้องบลูส์รุ่นใหม่ๆถึงแม้จะได้รับช่วงการถ่ายทอดรูปแบบต่อๆกันมา แต่ก็มีการประยุกต์ไปจากเดิมอย่างมาก เส้นทางเดินของเพลงบลูส์ในช่วงนี้จึงดูเหมือนคนบ้านนอกที่เริ่มเดินทางออกจากชนบทสู่เมืองใหญ่เพื่อสัมผัสกับผู้คนได้กว้างขวางขึ้น
การเดินทางออกจากอู่ข้าวอู่น้ำเดิมของนักดนตรีบลูส์นั้นมีเส้นทางเดินจากแผ่นดินทางใต้ขึ้นไปสู่แผ่นดินทางเหนือของสหรัฐอเมริกา มุ่งสู่อิลลินอยส์ กระทั่งไปหยุดอยู่ที่ชิคาโก ซึ่งต่อไปก็คือศูนย์กลางของดนตรี “คนเมือง” และเป็นแหล่งรวมของศิลปินบลูส์ผู้โด่งดังที่เริ่มต้นชื่อเสียงกันขึ้นที่นี่อย่างมากมาย
ทางด้านตลาดของธุรกิจดนตรีนั้น ก็ยังคงอยู่ภายใต้บริษัทแผ่นเสียงยักษ์ใหญ่ทั้งสามคือ RCA Victor, Columbia และ Decca ผู้ซึ่งยึดครองธุรกิจทั้งหมดทางด้านเพลง ทั้งแผ่นเสียง สถานีวิทยุ ธุรกิจการแสดง หรือแม้แต่ธุรกิจสถานบันเทิง เมื่อเพลงบลูส์เดินเข้าสู่เมือง มันจึงต้องเข้าสู่แวดวงธุรกิจบันเทิงไปโดยปริยาย
ซึ่งนักดนตรีบลูส์เองก็เริ่มต้องปรับ ตัวเองให้เข้ากับยุคสมัยของธุรกิจ พวกเขาเริ่มจับกลุ่มก่อตั้งเป็นคณะดนตรีกันขึ้นแตกต่างไปจากเดิมที่เคยร้องเล่นกันเพียง 1 หรือ 2 คน วงส่วนใหญ่ในขณะนั้นจะออกมาในลักษณะของกลุ่มคณะ เพลงบลูส์ยังคงมีสำเนียงการร้องเช่นเดิมแต่จะเป็นการร้องโดยมีวงแบ็คอัพกลุ่มเล็กๆคอยวางจังหวะและท่วงทำนองประสานให้ วงดนตรีแบบนี้ส่วนใหญ่จะมีเครื่องดนตรีพื้นฐานคือ เปียโน กีตาร์ เบสส์ และกลอง อาจมี ฮาร์ป หรือ ฮาร์โมนิกา ฮอร์น หรือพวกเครื่องเป่าเข้ามาช่วยด้วยแล้วแต่บางคณะที่ต้องการให้เพลงของพวกเขาออกมาฟังดูแน่นหนาขึ้น
ในยุคนี้เป็นช่วงเวลาที่สร้างศิลปินบลูส์ที่มีรูปแบบเฉพาะของตนเองซึ่งเป็นการบุกเบิกแนวทางสู่ดนตรีบลูส์ที่ใช้ฝีมือและเทคนิคใหม่ในการแสดงมากขึ้น และถือเป็นการเริ่มต้นกำหนดรูปแบบมาตรฐานให้กับนักดนตรีบลูส์ในสมัยต่อๆมา ศิลปินเพลงบลูส์ที่เริ่มมีชื่อเสียงเป็นวงกว้างขึ้นในระหว่างนั้นมี เช่น Leroy Carr ผู้เล่นเพลง Blues Before Sunrise, Mean Mistreater Mama หรืออย่าง Johnnie Temple กับเพลง Louise Louise Blues หรือ Roosevelt Sykes กับเพลง The Night Time Is the Right Time และ Jazz Gillum กับเพลง Key to the Highway ซึ่งผลงานทั้งสิ้นเป็นเพลงบลูส์คลาสสิคที่ยังคงถูกนำมาร้องเล่นโดยศิลปินบลูส์ในยุคต่อๆมาจนทุกวันนี้
รูปแบบของบลูส์แบบใหม่นี้ดูมีความเป็นมาตรฐานที่มั่นคงและเป็นที่ยอมรับกันมากขึ้นก็จากการรวมตัวขึ้นของกลุ่มนักดนตรีบลูส์มากมายที่ไปรวมตัวอัดแน่นกันอยู่ในเมืองใหญ่อย่างชิคาโกนั่นเอง และการรวมกลุ่มใหญ่ของศิลปินเพลงบลูส์ที่นี่เองที่ต่อมาได้เรียกกลุ่มดนตรีที่กำเนิดจากถิ่นแห่งนี้หรือที่กระจายออกไปจากที่นี่กันว่า “Chicago Blues”
แต่กว่าที่ดนตรีบลูส์จะเดินทางมาสู่จุดนี้ได้ ย้อนไปสู่ช่วงทศวรรษที่ 30 Blind Boy Fuller เริ่มดนตรีบลูส์ของเขาด้วยการเป็นศิลปินเดี่ยว เขามักเดินทางกับอะคูสติคกีตาร์ของเขาเพื่อเล่นเพลงบลูส์ให้กับคนงานในโรงบุหรี่ที่นอร์ธ คาโรไลนาฟัง ในขณะนั้นเขามีผลงานบันทึกเป็นแผ่นเสียงที่ได้รับความนิยมอยู่ด้วย อย่างเช่นเพลง Step It Up and Go ที่ไปติดอยู่ในอันดับเพลงยอดนิยมของเพลงประเภทคันทรีย์ และร็อคอะบิลลีในเวลาต่อมาอีกด้วย
ในทศวรรษเดียวกันนั้น นักร้องนักดนตรีบลูส์ที่โด่งดังอีกคนจากมิสซิสซิปปีคือ Robert Johnson ผู้ซึ่งถูกกล่าวขวัญและจารึกไว้ในความเป็นศิลปินรากแก้วของเพลงบลูส์ที่ไม่มีใครลืมจนทุกวันนี้ เขาเป็นศิลปินบลูส์รุ่นแรกๆที่พยายามนำเพลงบลูส์จากถิ่นที่เขาอยู่ออกไปถ่ายทอดให้กับผู้คนในเมืองใหญ่ได้รับฟัง แต่เป็นที่น่าเสียดายที่งานซึ่งถูกบันทึกไว้ของ โรเบิร์ต จอห์นสัน มีไม่มากนักและยังหาได้ยากในปัจจุบัน เพราะช่วงเวลาการสร้างสรรค์ผลงานของเขานั้นมีน้อยมาก เขาเสียชีวิตลงหลังจากที่มีผลงานออกมาเป็นที่รู้จักเพียงไม่กี่ปี งานของเขาส่วนมากคงถูกจารึกไว้โดยการถ่ายทอดจาก ศิลปินบลูส์คนอื่นในรุ่นต่อๆมา
เพลงของ โรเบิร์ต จอห์นสัน ยังคงเป็นการเริ่มยุคสมัยของเพลงบลูส์ที่เป็นที่สนใจต่อคนฟังในวงกว้างที่นอกเหนือไปจากชาวอเมริกันเอง เป็นยุคเริ่มต้นของการเปิดตลาดเพลงบลูส์ที่ข้ามฝั่งแอตแลนติคไปสู่ตลาดเพลงใหญ่อีกแห่งที่ประเทศอังกฤษ รูปแบบเพลงของ โรเบิร์ต จอห์นสัน เป็นการพัฒนาบลูส์มาสู่ยุคใหม่อย่างแท้จริง ทั้งยังเป็นแม่แบบของบูลส์ที่พัฒนามาสู่กลุ่มชิคาโก บลูส์ ตลอดจนกระทั่งนักดนตรีบลูส์ในอังกฤษของทุกวันนี้มากมาย เช่น Eric Clapton และ Alexis Korner ก็ยังนำแบบอย่างของ โรเบิร์ต จอห์นสัน มาเป็นแม่แบบในการประยุกต์ดนตรีที่วิวัฒน์มาจนกลายสู่ดนตรี ริธึมแอนด์ บลูส์ และร็อคในยุคต่อมาอีกด้วย
ในช่วงปลายทศวรรษที่ 30 ยังมีนักดนตรีบลูส์ที่มีชื่อเสียงอีกคนหนึ่งคือ Louis Jordan ลูอิส จอร์แดน เป็นนักร้องและนักเป่าอัลโต แซ็กโซโฟน เขามีคณะ Tympany Five อยู่ในความควบคุม เขาเล่นเพลงที่เป็นรูปแบบมาตรฐานของเขาไว้ให้กับศิลปินในรุ่นหลังๆมากมายเช่นกัน เช่นเพลง Saturday Night Fish Fly, Ain’t Nobody Here But Us Chickens, Choo Choo Ch’ Boogie, What’s the Use of Getting Sober (When You Gonna Get Drunk Again)?
มิสซิสซิปปี เป็นถิ่นกำเนิดของศิลปินบลูส์ที่ยิ่งใหญ่มากมายในทศวรรษที่ 40 หลังสงครามโลกครั้งที่สอง นักร้องนักดนตรีหลายต่อหลายคนเดินทางจากมิสซิสซิปปีเข้าสู่ชิคาโกเพื่อหาโอกาสทำเงินจากเพลงบลูส์ที่พวกเขาเล่น ที่ชิคาโกเป็นตลาดเมืองซึ่งเป็นเส้นเลือดทางธุรกิจต่างๆมากมาย มีเรื่องเล่ากันในกลุ่มคนชนบทว่าโอกาสจะตกใส่ได้ทุกนาทีในชิคาโกสำหรับคนที่ตื่นตัวอยู่เสมอ นักดนตรีบลูส์จากมิสซิสซิปปีอย่าง Muddy Waters, Howlin’ Wolf, Sonny Boy Williamson, Jimmy Reed ก็เริ่มอพยพตัวเองออกจากมิสซิสซิปปีมุ่งหน้าสู่ชิคาโกเพื่อหาโอกาสเช่นนั้นบ้าง อีกเมืองใหญ่ที่เป็นตลาดใหญ่นั้นอยู่ในดีทรอยต์ ที่นี่ก็เป็นอีกแห่งที่เป็นจุดหมายของนักไขว่คว้าหาโอกาส
ในช่วงยุคสมัยของชิคาโก บลูส์ โฉมหน้าของเพลงบลูส์ในขณะนั้นได้พลิกรูปโฉมไปอีกครั้งหนึ่ง มีการหันไปใช้เครื่องดนตรี“ไฟฟ้า”มากขึ้น และการใช้ระบบขยายเสียงก็เริ่มขึ้นกับดนตรีบลูส์ด้วย มีการปรับปรุงการใช้เทคนิคของเสียงแบบใหม่ๆขึ้น เทคนิคการเล่นกีตาร์ก็ถูกปรับปรุงให้มีวิธีการต่างๆที่หลากหลายขึ้น เทคนิคหนึ่งที่เกิดขึ้นในระหว่างนั้นและเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆจนแพร่หลายมาสู่ปัจจุบันอันกลายเป็นเสน่ห์เฉพาะของเพลงบลูส์ ก็คือการใช้คอขวดเหล้าตัดช่วงขนาดให้พอสวมนิ้วได้มาช่วยในการลื่นสไลด์กับคอกีตาร์ให้ได้เสียงสำเนียงออกมาแปลกหู รูปแบบของจังหวะดนตรีก็ถูกปรับให้ฟังร่วมสมัยขึ้น
ทางฟากฝั่งอังกฤษเมื่อเพลงบลูส์ข้ามฝั่งไปสู่ความนิยมแล้ว ทางศิลปินเพลงชาวอังกฤษก็เริ่มต้นก่อตั้งคณะกันขึ้นเพื่อเล่นดนตรีบลูส์กันบ้าง จนเมื่อถึงยุคสมัยของดนตรี ริธึม แอนด์ บลูส์ ได้ถือกำเนิดขึ้นนั้น ก็ดูทีทางฝั่งอังกฤษจะเห่อกับ ดนตรีแบบนี้กันไปทั่วจนกระทั่งเกิดยุคสมัยของ “British Rhythm and Blues” ขึ้นในฉากต่อมาของกลางศตวรรษที่ 20
เมื่อเพลงบลูส์ได้ถูกปรับรูปแบบอีกครั้งในช่วงของกลางทศวรรษที่ 40 เมื่อศิลปินบลูส์ส่วนใหญ่หันมาจับกีตาร์ไฟฟ้า ดนตรีบลูส์ก็เดินเข้าสู่ยุคสมัยของเครื่องไฟฟ้ากันไปหมด บลูส์ในยุคนี้ต่อมาจึงถูกเรียกกันรวมๆว่า “Electric Blues” ศิลปินที่มีบทบาทสูงในการผลักดันให้รูปแบบ อิเล็คทริค บลูส์ แพร่ขจรขจายอย่างกว้างขวางก็คือ Muddy Waters
มัดดี วอร์เตอร์ส เป็นชาวเมืองโรลลิง ฟอร์ค ปากแม่นํ้ามิสซิสซิปปี มัดดี วอร์เตอร์ส หันหลังให้กับการเรียนและการทำงานในไร่ฝ้ายของครอบครัวเพื่องานดนตรีที่เขารัก ในปี 1943 มัดดี วอร์เตอร์ส ย้ายตัวเองออกจากบ้านเกิดในมิสซิสซิปปีมุ่งหน้าเข้าชิคาโกเพื่อมองหาโอกาสอย่างเช่นที่หนุ่มนักดนตรีจากมิสซิสซิปปีในยุคนั้นต่างคิดเหมือนกัน เขาอยู่ในกลุ่มนักดนตรีบลูส์หัวก้าวหน้า มัดดี วอเตอร์ มองเห็นว่าการใช้กีตาร์ไฟฟ้าเหมาะกับการพยายามนำเสนอสิ่งที่เขาคิดออกมาได้กว้างกว่าการใช้อะคูสติค กีตาร์แบบดั้งเดิมสำหรับเพลงบลูส์ เขาจึงได้นำรูปแบบของการเล่นเพลงบลูส์ด้วยกีตาร์ไฟฟ้าเข้ามาสร้างชื่อเสียงอยู่ในชิคาโกในปี1950
มัดดี วอร์เตอร์ส มีซิงเกิลฮิตที่อัดไว้กับบริษัท Chess Records ชื่อ Rolling Stone เป็นชุดแรก ดนตรีอิเล็คทริค บลูส์ของ มัดดี วอร์เตอร์ส กลายเป็นที่กล่าวขวัญกันอย่างกว้างขวาง เท็คนิคการเล่นสไลด์กีตาร์ของเขาเป็นรูปแบบมาตรฐานของพัฒนาการเชิงเทคนิคกีตาร์ต่อนักดนตรีรุ่นต่อๆมาที่ไม่เฉพาะเพียงนักดนตรีบลูส์เท่านั้นที่ยึดเอารูปแบบการเล่นดนตรีของ มัดดี วอเตอร์ส ไว้เป็นแม่แบบ เพลง Hoochie Coochie Man, Just Make Love to Me, Louisiana Blues, Long Distance Call และ She Moves Me ของ มัดดี วอร์เตอร์ส เป็นเพลง ฮิตลำดับต่อมาที่ส่งให้เขาข้ามไปมีชื่อเสียงถึงฝั่งอังกฤษ กระทั่งกลายเป็นแม่แบบสำคัญให้กับน้กร้องนักดนตรีบลูส์ และริธึม แอนด์ บลูส์ชื่อดังในอังกฤษที่โด่งดังในยุคต่อมามากมายหลายคณะ
ดนตรีบลูส์ได้เดินทางออกเป็นสองเส้นทางในทศวรรษที่ 40 โดยเส้นหนึ่งขึ้นเหนือผ่านเทนเนสซีสู่ชิคาโก ส่วนอีก เส้นหนึ่งมุ่งตะวันตกผ่านเท็กซัสและจบลงที่แคลิฟอร์เนีย เส้นทางที่ไปสู่แคลิฟอร์เนียนี้เองที่ทำให้เกิดดนตรีบลส์ที่มีบุคลิกที่แตกต่างออกไปอีก บลูส์ที่เกิดขึ้นที่นี่เรียกกันว่า “Southwestern Blues” ทั้งสองแบบมีความแตกต่างไปจากกันด้วยลักษณะการเปล่งเสียงร้องและจังหวะยืนของดนตรี สำเนียงการร้องตลอดจนบุคลิกลักษณะจะขึ้นอยู่กับถิ่นฐานของตนเป็นส่วนใหญ่
Mississippi Blues สืบสายบลูส์มาแบบดั้งเดิม เป็นบลูส์มาตรฐานที่ยืนจังหวะกระแทกแทร็บ-แทร็บไปเรื่อยๆพร้อมกับเสียงร้องที่แหบกระด้างแบบคนอมทุกข์ รูปแบบบลูส์ที่ไปสู่ชิคาโกมีความใกล้เคียงกับมิสซิสซิปปีและของทางอาร์คันซอร์สอย่างมาก ส่วน Texas Blues กลับมีจังหวะกระแทกที่เร็วกว่าและร้องในระดับเสียงที่สูงแบบใกล้เคียงกับคันทรีของคนผิวขาว พร้อมกันกับมีการพูดจาแทรกอยู่เป็นช่วงๆ Southwestern Blues ของทางแคลิฟอร์เนียจะมีรูปแบบการเล่นที่แพรวพราวไม่ตายตัว มีสไตล์การใช้กีตาร์ที่แปลกไป นิยมใช้การกรีดสายทีละสายและการกระโดดข้ามคอร์ดแบบการเล่นแจซซ์คอร์ด กลองตีด้วยแส้กระชับจังหวะอยู่ตลอดเวลา ในยุคนี้ T-Bone Walker คือแม่บทแห่งการเล่นกีตาร์แนวนี้ Charles Brown นักร้องนักเปียโนและ Amos Milburn คือศิลปินที่รู้จักกันดีในดนตรีแบบ เซาท์เวสเทิร์น บลูส์ ของแคลิฟอร์เนีย
นับจากช่วงปลายของทศวรรษที่ 40 ต่อเนื่องสู่ทศวรรษที่ 50 ได้มีการนำเอาดนตรีเวสท์โคสท์มาสร้างบุคลิกใหม่ให้กับบลูส์ B.B. King ทำเพลงบลูส์แบบของเขาให้ฟังสมัยใหม่ขึ้นจนเป็นที่รู้จักกันในแนวของ Modern Blues ที่ได้รับความนิยมต่อมาจนถึงช่วงยุคสมัยใหม่นี้ บี.บี.คิง ได้รับเอาอิทธิพลสไตล์การเล่นกีตาร์ของ ที โบน วอล์คเกอร์ มาใช้ เขาเป็นคนพื้นเพทางมิสซิสซิปปี-เม็มฟิส และโยกย้ายตัวเองสู่ชิคาโกดังเช่นศิลปินคนอื่นๆ
Gospel เสียงเพลงแห่งศรัทธา
ดนตรี Gospel ของคนผิวดำก็เช่นเดียวกันกับดนตรีบลูส์ในสายอื่นๆที่ได้พัฒนารูปแบบมาจากรากฐานบลูส์แบบดั้งเดิม แต่ดนตรีกอสเปลมีการลงลึกในความสำนึกต่อถิ่นฐานที่เกิดและเติบโตแบบสังคมของคนผิวดำมากกว่า กอสเปลยังทำหน้าที่เชื่อมต่อจิตวิญญาณและความนึกคิดของพวกตนที่มีต่อความเชื่อความศรัทธาในศาสนาคริสต์ ของกลุ่มคนผิวดำที่เคร่งต่อศาสนา มันจึงถูกถ่ายทอดออกมาเป็นการร้องรำทำเพลงที่มีเนื้อหาในการบูชาพระเจ้าเป็นด้านหลัก อาจเรียกได้ว่ากอสเปลนั้นก็คือดนตรีบลูส์ของกลุ่มคนดำที่เคร่งศาสนา
เดิมทีเพลงแบบกอสเปลไม่ได้รับความเอาใจใส่มากนัก เนื่องจากมันอยู่แค่วงจำกัดของกลุ่มสังคมครอบครัวเคร่งศาสนาชาวผิวดำกลุ่มเล็กๆในชนบท นักร้องเพลงกอสเปลมักร้องกันในโบสถ์ของคนผิวดำกับคณะนักร้องประสานเสียงของโบสถ์ต่างๆหรือกลุ่มนักร้องกอสเปลเพื่อสาธารณะกุศลในเมือง เนื่องจากการร้องเพลงกอสเปลนั้นเป็นไปเพื่อจิตกุศลเสียส่วนใหญ่ พวกเขาเชื่อในการเดินตามรอยพระเจ้าเช่นคริสเตียนทั่วไป เพลงแบบกอสเปลจึงเสมือนดนตรีทางศาสนาของคนผิวดำโดยเฉพาะ เพลงแบบนี้จึงรับใช้เพียงสังคมของกลุ่มพวกเขาเท่านั้น
แต่ต่อมาเมื่อเพลงแบบนี้ถูกเผยแพร่ออกสู่วงกว้าง ซึ่งอันที่จริงนั้นมันติดไปกับการเผยแพร่ศาสนาที่เป็นภารกิจหนึ่งของชาวคริสต์ทั่วๆไปที่กระทำกันอย่างสม่ำเสมออยู่แล้ว เมื่อเพลงแบบนี้ถูกนำติดไปเล่นไปร้องพร้อมกับภารกิจทางศาสนาเป็นวงกว้างมากขึ้น ผู้คนก็เริ่มติดในสำเนียงการเล่นการร้องที่ฟังเต็มไปด้วยเลือดเนื้อและจิตวิญาณของกอสเปล เพลงกอสเปลจึงกลายเป็นที่แพร่หลายต่อมาสู่วงกว้างด้วยเช่นกันไม่เพียงแค่กลุ่มของคนผิวดำเท่านั้น แม้แต่คนผิวขาวก็ยอมรับต่อเพลงประเภทนี้ในที่สุด กระทั่งกอสเปลก็ได้กลายเป็นแขนงของดนตรีอีกประเภทหนึ่งซึ่งเป็นที่นิยมไม่แพ้เพลงบลูส์ยุคใหม่ที่แตกสายมาจากบลูส์ในแบบดั้งเดิมมากมาย นักร้องนักดนตรีผิวดำที่โด่งดังหลายคนซึ่งเริ่มอาชีพด้วยการร้องเพลงกอสเปลก็มี เช่น Little Richard, Sam Cooke, Clyde McPhatter (วง The Drifters ในเวลาต่อมา) Aretha Franklin และอีกมากมาย
ไม่เพียงคนผิวดำเท่านั้นที่ร้องเพลงกอสเปล คนผิวขาวก็ยังมีนักร้องเพลงแบบกอสเปลด้วยเช่นกัน กอสเปลของคนผิวขาวจะมีรูปแบบที่แปลกแตกต่างออกไป จะเป็นการร้องประสานเสียงในคีย์เสียงต่างระดับกัน มีการจัดระดับเสียงและออกสำเนียงที่ค่อนข้างเป็นระเบียบกว่า ซึ่งหากสังเกตพื้นฐานทางสังคมของคนผิวขาวแล้วแตกต่างจากรูปแบบของคนผิวดำเป็นอย่างมาก กอสเปลของคนผิวขาวจึงไม่ได้แฝงอารมณ์อัดอั้นอย่างเช่นคนผิวดำที่พัฒนามาจากบลูส์ และโซล ซึ่งถ้าจะนำเพลงใน 2 แบบมาเปรียบเทียบกันก็อาจเห็นได้ว่ากอสเปลคนขาวได้พัฒนามาจากดนตรีคันทรีของพวกเขาเองมากกว่า คณะดนตรีกอสเปลผิวขาวในระหว่างนั้นที่มีชื่อเสียงก็คือคณะ The Brown’s Ferry Four, The Blackwood Brothers และวง The Statesmen
ในฉบับหน้าจะมาเล่าต่อถึงแขนงดนตรีที่แตกออกไปอีกหลายสายหลายแนวมากมายกว่าที่จะมาเป็นร็อค แอนด์ โรลล์อย่างที่เราได้ยินได้ฟังกัน