Wilson Audio : The Pedestal

0

Garoonchart Bukkavesa

ตลาดอุปกรณ์เสริมในปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงจากอดีตไปมากจริง ๆ สมัยก่อนสายสัญญาณหลัก 3-4 หมื่นก็หรูแล้ว เดี๋ยวนี้ต้องมีหลายแสน สายไฟเส้นนึงแสนกว่าเดี๋ยวนี้ถือว่าไม่แพงเพราะอัพเป็น 3-4 แสนไปแล้ว ทิปโท / ตัวรองต่าง ๆ สมัยนั้นหมื่นกว่านี้ก็แพงแล้ว เดี๋ยวนี้คือถูก เพราะตัวแพงเซ็ทนึงทะลุแสนกันแล้ว!!

ได้ยินราคาแล้วแทบเป็นลม และครั้งนี้เกือบเป็นลมจริง ๆ เมื่อผมได้รับ Wilson Audio : The Pedestal ใส่มือ!! เพราะก่อนหน้าไม่คาดหวังว่าจะได้ฟังแม้อยากจะลองใจจะขาด… ไหน ๆ เมื่อได้มาแล้ว ลองกันสักตั้ง

คุณสมบัติพิเศษ Wilson Audio : The Pedestal

  • เป็นส่วนหนึ่งของ Wilson Audio’s Special Application Engineering (WASAE)
  • วัสดุดูดซับแรงสั่นด้านในเป็น “V-Material”
  • ใช้วัสดุสแตนเลสสตีลแบบไม่เหนี่ยวนำสนามแม่เหล็ก
  • Made In USA
  • ห้ามใช้วางใต้ลำโพง

ลักษณะทั่วไป Wilson Audio : The Pedestal

Wilson Audio : The Pedestal ดีไซน์ทรงกลม ผิวนอกวัสดุสแตนเลสสตีลแบบไม่เหนี่ยวนำสนามแม่เหล็ก ลดการรบกวนตัวเครื่อง แกนกลางยุบตัวได้บ้างเพื่อแสดงค่าการรับน้ำหนัก “สูงสุด” ด้วยการดูแถบสีขาว (จะจมลงเรื่อย ถ้ามองไม่เห็นแสดงว่าเครื่องหนักเกินไป)

ด้านล่างจะค่อย ๆ สอบลงแต่ไม่แหลมเพราะทำเป็นแถบวงแหวนทำจากยาง ด้านบนเป็นแถบยางเช่นกัน พร้อมเซาะร่อง Made In USA / The Pedestal / สิทธิบัตร / น้ำหนักที่รับได้

ลองฟัง Wilson Audio : The Pedestal

ก่อนจะเล่าผลการลองเล่น ไปดูสักนิดครับ คือ Wilson Audio : The Pedestal มี 2 รุ่นให้เลือกซื้อ โดยที่ขนาด และน้ำหนักตัวของทั้ง 2 รุ่นนั้นเท่ากันเลย แต่สิ่งที่ต่างไปคือ รุ่นใหญ่ Standard จะรองรับน้ำหนักได้เฉลี่ยมากกว่านั่นเอง ตรงนี้จะต้องเลือกให้เหมาะกับน้ำหนักเครื่องเพื่อประสิทธิภาพสูงสุดในการใช้งานนะครับ

 LightStandard
MaterialsV-Material, Austenitic Stainless-Steel, Damping MaterialsV-Material, Austenitic Stainless-Steel, Damping Materials
Dimension1 5/16″H x 2 1/4″ W1 5/16″H x 2 1/4″ W
Weight Per Unit8 oz (0.24 kg)8 oz (0.24 kg)
Weight Rating Per Unit [Min – Max]3 – 9 lb (1.36 – 4.08 kg)8 – 25 lb (3.63 – 11.34 kg)
จำนวน3 Per Box3 Per Box

จากตาราง รุ่น Light ลองคำนวณดู ควรใช้กับเครื่องที่ใช้มีน้ำหนักระหว่าง 4.08-12.24 กิโลกรัม  ส่วนรุ่น Standard คำนวณดู ควรใช้กับเครื่องที่ใช้มีน้ำหนักระหว่าง 10.89-34.02 กิโลกรัม โดยใช้งานได้กับเครื่องหลายประเภท ไม่จำกัดใด ๆ เช่น เทิร์นเทเบิ้ล, เครื่องกรองไฟ, แอมป์ ฯลฯ

ทำให้โอกาส Wilson Audio : Pedestal เปิดกว้างกว่าไม่จำกัด เพราะบางชิ้นออกแบบสำหรับเครื่องเล่นซีดีเท่านั้น ไปใช้รองปรีแอมป์ก็ได้ผลไม่ดีนัก หรือบางชิ้นแยกสำหรับเครื่องหลอด / เครื่องทรานซิสเตอร์ แม้ว่าทั้งหมดจะมีจุดมุ่งหมายในการใช้งานคือ ลดแรงสั่นสะเทือนต่าง ๆ จากภายนอกหรือภายในให้น้อยที่สุด เพื่อให้เครื่องนั้นมีความเสถียรที่สุดก็ตาม   

สำหรับท่านที่เล่นมาบ้างแล้วย่อมจะทราบดีว่า วัสดุต่าง ๆ ที่ทำมา “รอง” นี้มีผลต่อเสียง ถ้าใช้ไม้ มักจะได้ความนุ่มนวลทว่าขาดไดนามิค ถ้าใช้สแตนเลสจะได้ความชัด ความสด แต่บางตัวก็ต้องเสียความกลมกล่อมความหวานไป ทั้งหมดล้วนเป็นไปตามคาแรคเตอร์ของวัสดุที่ทำ ตอนหลังจะเห็นว่ามีการผสมผสานของวัสดุ 2-3 ชนิดในตัวรอง / ทิปโท เพื่อดึงเอาข้อดีของแต่ละวัสดุมาเป็นตัวนำโดยไม่สูญเสียคุณงามความดีที่มีไป จุดนี้ถือว่าไม่ใช่ทำได้ง่าย ๆ นะครับ

ครั้งนี้ผมได้รับรุ่นใหญ่ Standard จำนวน 1 กล่อง 3 ชิ้นมาลองเล่นดู แต่คิดอยู่นานว่าจะลองเล่นอย่างไรดี เนื่องจาก จะลองแอมป์ก็ไม่พอเพราะผมใช้แอมป์โมโนบล็อกต้องใช้ 6 ชิ้น ส่วนแอมป์สเตอริโออีกตัวยกใส่ตัวรองได้ยาก

ยิ่งตัว Wilson Audio : Pedestal ออกแบบให้มีค่าน้ำหนักเครื่องมาประกอบด้วย การจะหาเครื่องที่มีน้ำหนักอยู่ในเกณฑ์มาลองในจังหวะนั้นเป็นเรื่องไม่ง่ายละครับ

จึงลองเล่นแบบง่าย ๆ แต่ท้าทาย (ย้ำว่าทดลอง ไม่แนะนำให้ทำตาม) คือ ใส่กับ Sony Playstation 1 แน่นอนว่าน้ำหนักไม่ได้ อาจจะทำให้ Wilson Audio : Pedestal ไม่แสดงประสิทธิภาพได้เต็มที่เลย แต่ลองฟังแล้วช่วยให้เสียงมีรายละเอียดที่ดีขึ้น ช่องว่างช่องไฟดีขึ้น ฯลฯ ถือว่ามีความต่างเล็กน้อย อันเนื่องจากน้ำหนักเครื่องนั้นน้อยเกินไปนั่นเอง

ถ้าได้รุ่น Light มา ผลลัพธ์อาจชัดเจนกว่านี้

แต่กระนั้นยังมีปัจจัยที่ต้องคำนึงคือ ค่าตัว Wilson Audio : Pedestal แพงกว่าตัว Sony Playstation 1 มาก คงไม่มีใครเล่นแบบนี้นะครับ แถมผลลัพธ์รวมระหว่าง Sony Playstation 1+Wilson Audio : Pedestal ยังอั้นที่ Sony Playstation 1 อีกด้วย สู้เอางบจำนวนนี้ไปปรับซื้อเครื่องเล่นซีดีคุณภาพสูง ๆ ก่อนจะดีกว่าครับ

จากนั้นหาทางลองกับเครื่องอื่น ๆ เช่น Parasound JC-2 BP (หนัก 11 กิโลกรัม) ฉิวเฉียดพอดี ไม่งั้นลองไม่ได้ละครับ และช่วงท้ายมีอินทิเกรตแอมป์ Karan KA I 180 MK II (หนัก 20 กิโลกรัม) เข้ามาพอดี ถือว่าเหมาะสมในเรื่องน้ำหนัก นอกจากนี้ยังเทียบกับขาของ Karan KA I 180 MK II เองที่ออกแบบมาค่อนข้างดี มี 3 จุด

เพลงหลัก ๆ ใช้ฟังประจำ เช่น Rain Forest Dream (Saydisc CD-SDL 384), The Wonderful Sound of Three Blind Mice (Golden String – GSCD 004) ฯลฯ

ผลรวมที่ลองฟัง ถือว่าน้ำเสียงเครื่องนั้น ๆ ยังคงเดิมแต่เพิ่มเติมความสดใส ความกระจ่างขึ้นมา (มากน้อยก็แล้วแต่เครื่อง) โดยไม่ “แปรเปลี่ยน” บุคลิกเสียง ได้ยินรายละเอียดที่แผ่วเบาง่ายขึ้นจากเดิมที่ได้ยินยาก และช่วงโหมมีไดนามิคที่เด็ดขาดชัดเจนขึ้นอีก ฯลฯ เรียกว่า 2-3 คุณสมบัติที่ได้รับนี้ถือว่าดีมาก หาไม่ได้ง่ายในตัวรองอื่น ๆ ขอชื่นชมการคิดค้นของทีมวิศวกร  Wilson Audio’s Special Application Engineering (WASAE) ที่สามารถทำได้แบบนี้

สรุปผลการฟัง Wilson Audio : Pedestal

ถ้าไม่นับเรื่องราคา (เกือบแสน) ต้องบอกว่า Wilson Audio : Pedestal ช่วยแสดงความต่างของเสียงในทางบวก โดยเฉพาะไดนามิค จะมาเต็มขึ้น ขณะที่พื้นเสียงเบา ๆ ยังคงระดับเท่าเดิมไม่ยกขึ้นมาด้วย ยากที่จะจูนเสียงให้ได้แบบนี้ (ส่วนมากจะยกขึ้นตามไปด้วย) ทำให้ฟังสนุกยิ่งขึ้น พาคุณเข้าถึงเนื้อหาดนตรีได้ดีจริง ๆ ครับ

มาจุดนี้ ถ้าคุณใช้เครื่องระดับไฮเอนด์หลายแสนบาท เล่นได้เลยครับ คิดส่วนต่างราคาแล้วไม่มากอะไร แต่ถ้าเล่นมิดเอนด์อาจจะต้องชั่งใจเพราะราคาอาจจะเกินมูลค่าของเครื่องนั่นเอง ทำให้บางเคสไม่เหมาะที่จะลงทุนละครับ  


ขอขอบคุณ บริษัท Deco2000 จำกัด โทร. 089 870 8987 ที่เอื้อเฟื้อสินค้าสำหรับการทดสอบในครั้งนี้