ช.ชิดชล
สวัสดีครับทุกท่าน มิตรรักแฟนเครื่องเสียงหรือเหล่าคอเพลงทั้งหลาย ช่วงนี้ทุกท่านอยู่บ้านสบายใจกว่านะครับ ถือว่าเป็นการพักผ่อนจิตใจและดูแลร่างกาย การฟังเพลงด้วยชุดเครื่องเสียงก็สามารถสร้างความผ่อนคลายทางอารมณ์ได้ เมื่อท่านอยู่บ้าน มีโอกาสอยู่กับชุดเครื่องเสียงมากขึ้น เพื่อเป็นการเสริมความไพเราะ เสริมความสุขในการฟังเพลง เรามาหาเรื่องทำอะไรกับชุดเครื่องเสียง หรือในระหว่างฟังเพลงจากเครื่องเสียงกันนะครับ
1. สายต่างๆจัดให้เป็นระเบียบ สายทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นสายไฟ สายสัญญาณ สายลำโพง สายสัญญาณอินเตอร์เน็ต ควรแยกให้ห่างจากกัน ไม่ทับกัน หรือเรียงยาวๆขนานกัน และควรยกลอยขึ้นจากพื้น เพื่อป้องกันการบกวนทั้งจากคลื่นต่างๆที่มากับสาย หรือแม้แต่แรงสั่นสะเทือนที่อยู่ตามพื้น หากทำได้ตามนั้น เสียงจะมีช่องว่างช่องไฟที่สงัด โน้ตเสียงลอยเด่นชัดขึ้น น้ำหนักเสียงต่างๆอ่อนแก่ชัดเจนขึ้น รายละเอียดปลายแหลมสั้นยาวแยกแยะดีขึ้น
2. ขันให้แน่น วางให้มั่นคง ขั้วต่อสายลำโพง ขั้วต่อสายสัญญาณ ความแน่นหนาของการเสียบปลั๊กไฟ รวมถึงการเชื่อมต่อสายทั้งระบบ นานไปหรือมีแรงสั่นสะเทือน หรือมีการขยับปรับเลื่อน มักจะหลวม หรือคลายความแน่นลง ให้ลองเช็คในแต่ละจุด ตรงไหนไม่แน่นแก้ไขปรับขันให้แน่นหนา เพื่อการเดินของสัญญาณที่เรียบลื่นไม่สะดุด ไม่เกิดเป็นความต้านทาน อันส่งผลต่อรายละเอียดเสียงแหลมและบรรยากาศ หากเป็นสายไฟไม่แน่น จะส่งผลต่อพละกำลัง น้ำหนักเสียง เนื้อเสียง ต่อมาที่การจัดวางเครื่องเสียงและอุปกรณ์ต่างๆ ลองตรวจเช็คว่าได้สมดุลหรือไม่ โยกคลอนหรือเปล่า จัดการให้ได้ระนาบ เพื่อการทำงานของอุปกรณ์ต่างๆมีเสถียรภาพ โดยเฉพาะชั้นวางและขาตั้ง หรือสไปรท์ยึดลำโพง ทั้งหมดส่งผลต่อเสียงที่สงัดนิ่ง และโฟกัสเสียงที่มีความชัดเจน
3. จัดห้องให้เป็นระเบียบ ลดเสียงรบกวน เครื่องและอุปกรณ์ต่างๆจัดวางให้เหมาะสม เลี่ยงตำแหน่งที่ได้รับแรงสั่นสะเทือน โดยเฉพาะอุปกรณ์ที่อ่อนไหวต่อแรงสั่นสะเทือน เช่น ไม่ควรวางเครื่องเล่นแผ่นเสียงหน้าดอกลำโพงขนาดใหญ่หรือใกล้กัน เพราะส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพเสียงอย่างแน่นอน ห้องฟังเพลงไม่ควรเอาอุปกรณ์ที่ไม่จำเป็น โดยเฉพาะอุปกรณ์ที่สะท้อนเสียง มาจัดวางตามพื้น เช่น โต๊ะที่ทำจากกระจก ควรจัดเก็บแผ่นซีดีให้เป็นระเบียบเรียบร้อย โดยไม่เอามาไว้ในตำแหน่งสะท้อนเสียง เพราะอาจเกิดเสียงระบบกวนจากแรงสั่นสะเทือนได้ โดยเฉพาะห้องฟังขนาดเล็ก หรือมีลำโพงขนาดใหญ่ที่สร้างเสียงทุ้มปริมาณมาก
4. ปลั๊กไฟ ความสำคัญที่ถูกมองข้าม ควรใช้สายไฟที่มีคุณภาพดี ขนาดที่เหมาะสม เดินจากสะพานไฟมาที่ชุดเครื่องเสียงโดยตรง ไม่ควรใช้ปลั๊กพ่วง ผสมกับอุปกรณ์อื่นๆ ไม่ควรใช้ปลั๊กรางราคาไม่แพงคุณภาพไม่ดีทำปลั๊กสำหรับชุดเครื่องเสียง เพราะคุณภาพของไฟส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพและพลังเสียง เสียบให้ดี มุมให้เหมาะ ให้แน่นหนา เมื่อได้ปลั๊กออดิโอเกรดแล้ว เลือกจากวางในมุมที่เหมาะสม ไม่กีดขวางทางเดิน ไม่โดนแรงสั่นสะเทือนรบกวน หาตำแหน่งที่มั่นคงแข็งแรง หรือจะหาชั้นวางมาจัดวางปลั๊ก ก็จะส่งผลดีต่อคุณภาพเสียง อย่าลืมว่า ไฟคือต้นทางของระบบเสียง ควรให้ความสำคัญ
5. ทำความสะอาด พวกขั้วต่อต่างๆเมื่อใช้ไปนานๆอาจมีฝุ่นเกาะ มีคราบสกปรก หรืออาจถึงขั้นเกิดอ็อคไซค์ ทำความสะอาดด้วยการใช้ผ้าชุบน้ำยาทำความสะอาดแบบออดิโอเกรดต่างๆที่มีให้เลือกใช้ หรือแค่ผ้าไมโครไฟเบอร์ก็เพียงพอ เมื่อทำความสะอาดเสร็จใหม่ๆ เสียงแหลมจะเด่นหรือติดไปทางแข็งบ้าง เพราะอาจมีไฟฟ้าสถิต ให้ใช้ไปสักระยะ เสียงจะกลับมาเหมือนเดิม การทำความสะอาดชุดเครื่องเสียง คลื่นรบกวนต่างๆ อีกวิธีที่นิยมทำกันคือ ใช้แผ่นเบิร์นอิน ที่สามารถล้างคลื่นแม่เหล็กที่สะสมในระบบเครื่องเสียงได้ หรือจะเป็นอุปกรณ์ที่ออกแบบมาเฉพาะ ในการลดคลื่นรบกวนจำพวกนี้ อันนี้สุดแล้วแต่นักเล่นแต่ละท่านจะมีวิธี หรือของเล่นมาใช้งาน ทั้งหมดล้วนส่งผลต่อรายละเอียด โดยเฉพาะเสียงแหลม และน้ำหนักเสียง ที่กระชับสดใสขึ้น
6. ปรับการนั่ง การปรับนี้เพื่อความเหมาะสม หากนั่งไม่สบาย การฟังเพลงนานๆอาจทำให้กล้ามเนื้อหรือกระดูกมีปัญหาได้ เก้าอี้ที่นั่งฟังหรือตำแหน่งนั่งฟังต้องไม่คับแคบหรืออึดอัด อยู่ในท่านั่งที่เหมาะสม ท่านั่งฟังเพลงกึ่งนอนอาจสบายแต่จะทำให้การฟังเสียงแหลมลดความคมชัดลง น้ำหนักแรงปะทะเสียงทุ้มก็ลดลงด้วย ตำแหน่งนั่งฟัง ต้องไม่ซับหรือสะท้อนเสียงมากเกินไป ไม่นั่งฟังเพลงติดผนังห้องหรือกระจก เพราะจะทำให้มิติเสียงสูญเสียความชัดเจนลงไปมาก ความสูงต่ำของตำแหน่งนั่งฟัง ควรให้ระดับหูใกล้เคียงกับดอกลำโพงเสียงแหลม หรือสอดรับมุมกระจายของเสียงแหลม เพื่อโฟกัสรายละเอียดที่ชัดเจน
7. ปรับปรุงคุณภาพต้นทาง หากท่านฟังเพลงด้วยการ Streaming สัญญาณอินเตอร์เน็ต ไม่ว่ามาจาก Wi-Fi หรือจากสาย Lan ควรให้มีความแรงและเสถียร เพื่อคุณภาพการฟังเพลงที่ชัดเจน ปัจจุบันผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตต่างเปลี่ยนสายเป็น Fiber optic กันเกือบหมดแล้ว เพราะให้ความเร็วที่สูง สัญญาณรบกวนต่ำ ค่าสัญญาณมีความนิ่ง ปัจจุบันมีอุปกรณ์ Network เกรดออดิโอให้เลือกใช้งาน และก็ส่งผลที่ดีขึ้นของคุณภาพเสียง
8. บรรยากาศห้องฟัง ความสะอาด แสงไฟ ความสว่างที่เหมาะสม กลิ่นหอมอ่อนๆที่สดชื่น แอร์ที่เย็นสบายไร้กลิ่นหรือเสียงรบกวน สิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อการฟังเพลงทั้งสิ้น แม้จะไม่ได้ส่งผลต่อเสียงชัดเจนนัก แต่ส่งผลต่ออารมณ์ในการที่จะนั่งฟังเพลงในระยะยาวๆ หากฟังเพลงแบบไม่เครียด กล้ามเนื้อมีความผ่อนคลาย การรับรู้เสียงต่างๆก็จะดีขึ้น ซึ่งแตกต่างจากการมีความเครียดสะสมแล้วมาฟังเพลง จะรู้สึกถึงความกังวานสั้นยาวที่ลดลง เพราะกล้ามเนื้อ ประสาทสัมผัสต่างๆไม่ผ่อนคลายนั้นเอง
9. สุขภาพร่างกายที่ดี เพื่อการฟังเพลงได้อย่างไพเราะและยาวนาน การนั่งฟังเพลงนานๆนั้น เลือดจะไหลเวียนไม่ดี ร่างกายไม่ได้ขยับ ส่งผลต่อความแข็งแรง เพื่อคุณภาพร่างกายที่ดีนั้น ควรออกกำลังกาย ขยับเขยือนร่างกาย บริหารกล้ามเนื้อ ให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น อาหารที่ทานก็มีส่วนสำคัญ เลือกอาหารที่ดีและมีประโยชน์ เพื่อร่างกายมีความแข็งแรง สุขภาพดี เมื่อทุกส่วนของร่างกายดีแล้ว สามารถฟังเพลงได้อย่างไพเราะ ไร้โรคภัยมารบกวน ฟังเพลงไปได้อีกนานแสนนาน
10. ฟังเพลงกับครอบครัว เป็นความสุขของการได้มอบให้ การได้ถ่ายทอดความสุขให้ผู้อื่น โดยเฉพาะคนในครอบครัวนั้น เราจะมีความสุขยิ่งกว่า การฟังเพลงในบางครั้ง ลดความซีเรียสเรื่อง รายละเอียด มิติเสียง ความคมชัดลงไปบ้าง แต่เพิ่มมาด้วยการฟังกับคนในครอบครัว อธิบายให้เขาได้ฟัง ให้เข้าใจถึงเสียงต่างๆที่ได้ยิน เล่าเรื่องราวของบทเพลงต่างๆก่อนเปิดให้ฟัง สิ่งเหล่านี้ล้วนสร้างความสัมพันธ์ที่ดี เมื่อใดที่เราได้มอบให้ เมื่อนั้นเราจะมีความสุขยิ่งกว่า
หากมีเวลาในช่วงที่อยู่บ้านนั้น สามารถปรับปรุงชุดเครื่องเสียงได้ด้วยวิธีการที่หลากหลายมาก แต่ที่กล่าวมานั้น เป็นวิธีพื้นฐาน ไม่ต้องเสียงสตางค์ และให้ผลคุ้มค่าต้องชุดเครื่องเสียง ความไพเราะของเสียงเพลงที่ถ่ายทอดออกมา รวมถึงสุขภาพกายและสุขภาพใจ อันส่งผลให้ฟังเพลงได้ต่อเนื่องยาวนาน และมีความสุขไปกับการฟังเพลงครับผม