JBL L82 Classic

0

DAWN NATHONG

ลำโพงยุคใหม่ในคราบเรโทรสไตล์

ลำโพง JBL L82 Classic เกิดขึ้นจากความสำเร็จของรุ่น L100 Classic ทำให้ทางบริษัท Harman คิดจะผลิตลำโพงสไตล์ย้อนยุคที่ใช้เทคโนโลยีเดียวกันกับรุ่น L100 Classic แต่มีขนาดที่กะทัดรัดกว่าขึ้นมา จะเรียกว่าเป็นลำโพง “น้องสาว” ก็ว่าได้

จุดที่ต่างกันคือ L82 Classic ไม่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากลำโพงสตูดิโอมอนิเตอร์ในอดีตของ JBL แต่อย่างใด แต่มากจากกระแสความนิยมของ L100 Classic ล้วน ๆ ถ้าหากดูว่าลำโพงวินเทจรุ่นใหนของ JBL ที่พอจะใกล้เคียงที่สุดก็คงเป็นลำโพงคอนโทรลมอนิเตอร์รุ่น 4301B ซึ่งออกมาในช่วงยุค 70 นั่นเอง

JBL L82 Classic เป็นลำโพงแบบสองทางไซส์คอมแพ็ค ใช้เทคโนโลยีการออกแบบด้านอคูสติกส์เดียวกันกับรุ่น L100 Classic ภายนอกยังคงรูปลักษณ์แบบลำโพงวินเทจด้วยวิเนียร์ Walnut Satin Wood และหน้ากาก Quadrex foam อันเป็นเอกลักษณ์ มีให้เลือกสามสี น้ำเงิน, ส้ม, ดำ

มีท่อเบสรีเฟลกด้านหน้าเทคโนโลยี Slipstream™ Port ช่วยลดเสียงลมกวน พร้อม HF Level attenuator สำหรับปรับแต่งย่านเสียงแหลม ขั้วต่อไบดิ้งโพสต์ด้านหลังเป็นแบบซิงเกิ้ลไวร์

จัดวางไดร์เวอร์ในลักษณะ Mirror-Image ลำโพงแต่ละข้างเป็นเงาของกันและกัน ทวีตเตอร์ไทเทเนียมโดมขนาด 1 นิ้ว รุ่นเดียวกับ L100 Classic ตอบสนองความถี่สูงได้ถึง 40kHz เพื่อรองรับไฮเรส พร้อมเวฟไกด์ช่วยเรื่องมุมกระจายเสียง ส่วนเบส / มิดเรนจ์ Pure Pulp Cone ขนาด 8 นิ้ว โครงเหล็กหล่อ แม่เหล็กทรงพลัง ออกแบบให้ตอบสนองไดนามิกของเสียงได้อย่างยอดเยี่ยม จุดตัดครอสโอเวอร์อยู่ที่ 1.7kHz

มีออพชั่นเสริม (ขายแยก) เป็นขาตั้งรุ่น JS-80 ที่ออกแบบมาเข้าคู่กันสามารถจัดวางลำโพงโดยไม่เกะกะสายตาและทำมุมเอียงเพื่องยิงเสียงเข้าหูของผู้ฟัง

ลำโพง JBL L82 Classic ราคาโปรโมชั่น 89,900.- / คู่ แถม JBL JS80 Floor Stands มูลค่า 20,000.- (รายละเอียดอาจมีการเปลี่ยนแปลง กรุณาสอบถามตัวแทนจำหน่ายอีกครั้ง)

ซิสเต็มและการเซ็ตอัพ

ครั้งนี้ย้ายมาทดลองฟังที่บริษัท มหาจักรดีเวลอปเมนท์ (นานา) ซึ่งบริเวณโชว์รูมชั้นสองที่จัดวางซิสเต็มนั้นเป็นพื้นที่เปิดโล่ง ด้านหลังมีแผงอคูสติกส์ Wall-One ของไฮไฟคลับติดตั้งอยู่ ถือว่าเป็นการรับฟังในลักษณะแบบลำลองที่คล้ายกับการฟังตามที่พักอาศัยทั่วไปซึ่งไม่ได้มีห้องฟังเพลงแบบเป็นสัดส่วน ดังนั้นจะขอเขียนถึงเรื่องเสียงแบบพอสังเขปเฉพาะในบางแง่มุม ซิสเต็มที่ทางโชวรูมเซ็ตอัพไว้แบบเรียบง่าย ประกอบด้วยเครื่องเล่น SACD ของ Denon อินทิเกรตแอมป์ Marl Levinson No.5805 ส่วนสายสัญญาณแบบบาล้านซ์ สายไฟและสายลำโพงเป็น Chord

ในคู่มือไม่ได้ระบุว่าตำแหน่งทวีตเตอร์ของลำโพงแต่ละข้างควรจะหันออกจากกันหรือชิดเข้าหากัน แต่จากการลองฟังทั้งสองรูปแบบ ผู้เขียนเลือกที่จะจัดวางลำโพงแบบเอาทวีตเตอร์ชิดเข้าหากัน จะได้โฟกัสของเสียงร้องที่ขึ้นรูปชัดเจนเป็นตัวตนมากกว่า ตรงนี้ท่านอาจเลือกพิจารณาจัดวางตามความเหมาะสม

ลำโพงวางห่างจากกันประเมินด้วยสายตาราว 180 เซนติเมตร เอียงหน้าโทอินเข้าหากันอีกเล็กน้อย และวางลำโพงบนขาตั้ง JS-80 ระยะห่างจากแผง Wall-One ด้านหลังออกมาประมาณราว ๆ หนึ่งเมตร จุดนั่งฟังห่างออกมาจากระยะระหว่างลำโพงในลักษณะสามเหลี่ยมด้านเท่า

เวลาฟังถ้าชอบเสียงติดไปทางอบอุ่นให้ใส่หน้ากากไว้ แต่ถ้าอยากให้เปิดสว่างขึ้นอีกนิดให้ถอดหน้ากากออก (ตอนทดสอบถอดหน้ากาก) ส่วนตัว HF Level attenuator ตั้งไว้ที่ 0dB

เสียง

L82 Classic เป็นลำโพงที่ไม่เกี่ยงเรื่องห้องและการเซ็ตอัพมากนัก ถือว่าเป็นลำโพงที่ “เล่นง่าย” คู่หนึ่ง เพราะมีน้ำเสียงและรายละเอียดที่ชัดเจนเลยทีเดียวแม้จะรับฟังในพื้นที่ค่อนข้างเปิดโล่ง

บุคลิกเสียงมีความคล้าย L100 Classic อยู่ในบางส่วน เนื้อเสียงมีความอิ่มและมีรายละเอียดที่ดี แม้จะเป็นลำโพงไซส์เล็กแต่ถ่ายทอดไดนามิกได้น่าพอใจ เวลาฟังเพลงคลาสสิคที่มีรายละเอียดของไดนามิกซับซ้อนก็ยังสามาถถ่ายทอดบรรยากาศของความถี่ต่ำที่กระหึ่มลุ่มลึกออกมาให้รับรู้ได้ ส่วนนึงมาจากการใช้เบส/มิดเรนจ์ที่มีหน้าตัด 8 นิ้วที่ผ่านการออกแบบมาอย่างดี ตอบสนองได้อย่างฉับไว สามารถรองรับการสวิงเสียงได้กว้าง เรียกว่าได้ทั้งความดังและความชัดเจนของเสียงไปพร้อมกัน

เห็นใช้ทวีตเตอร์โดมไทเทเนียมอย่างเพิ่งตัดสินไปว่าย่านกลางแหลมจะสดสว่างเกินไป ปรากฏว่า L82 Classic ให้เสียงกลางและแหลมที่เจือความนุ่มนวลติดปลายนวมมาได้อย่างพอเหมาะ เนื้อเสียงมีความสมบูรณ์ มีความสดกำลังดีและเก็บปลายหางเสียงได้ไม่ฟุ้ง ทำให้เปิดดังเสียงไม่จัดจ้านระคายหู

ดูเหมือนทาง JBL ไม่ได้พยายามที่จะจูนเสียง L82 Classic ให้ได้กลิ่นอายของลำโพงสไตล์ West Coast Sound เหมือนกับผู้พี่อย่าง L100 Classic แต่เน้นไปที่ความสมดุลราบเรียบของย่าน ทุ้ม-กลาง-แหลม มากขึ้น ทำให้ฟังแนวเพลงร้องหรือแนวออดิโอไฟล์ได้ดีเกินคาด แต่ก็ยังไม่ทิ้งลายเวลาฟังแนวเพลงที่คึกคัก เน้นจังหวะจะโคนอย่างร็อค แจ็ส บลูส์ หรือไลฟ์คอนเสิร์ตก็ได้อารมณ์ความสดอยู่

ส่วนย่านทุ้มนั้นกระชับเก็บตัวดี ขนาดอยู่ในพื้นที่เปิดโล่งทั้งสามด้าน ก็ยังรับรู้ได้ว่าเบสนั้นมีน้ำหนัก หัวโน้ตชัด คิดว่าถ้าไปอยู่ในห้องฟังจริง ทุ้มน่าจะได้น้ำได้เนื้อชัดเจนกว่านี้อีกพอควร แต่ก็พอประเมินได้ว่า L82 Classic นั้นแทบไม่เกี่ยงพื้นที่การจัดวาง

เวทีเสียงค่อนข้างกว้าง แม้จะวางบนขาตั้งที่ไม่สูงนักแต่ด้วยการออกแบบที่ทำมุมอียงเชิดหน้าขึ้นทำให้เวลานั่งฟังเวที่เสียงจะอยุ่ในระดับปกติ เสียงคนร้องยังคงลอยสูงเหนือลำโพงได้อยู่ แนะนำว่าถ้าเป็นไปได้ ควรนำขาตั้งลำโพง JS-80 ไปใช้งานร่วมกัน เพราะได้ทั้งความสวยและเสียงที่ตรงกับที่ผู้ผลิตตั้งใจออกแบบมา

สรุป

เป็นการย่อส่วนจากรุ่น L100 Classic ลงมาได้อย่างน่าประทับใจ มีบุคลิกเสียงที่ค่อนไปทางสมดุลกลมกล่อม ไม่เกี่ยงเรื่องการจัดวางหรือสภาพห้องเท่าไรนัก แต่แนะนำว่าควรใช้งานร่วมกับขาตั้งที่ออกแบบมาคู่กันด้วยจะได้น้ำเสียงลงตัวที่สุด ถ้าใครฟัง L100 Classic แล้วชอบในน้ำเสียงแต่ไม่มีพื้นที่จัดวางมากนัก ต้องลองไปฟัง L82 Classic ดูสักครั้งท่านอาจจะถูกใจมากกว่าที่คาดก็เป็นได้

L82 Classic Specifications

Speaker Type2-way bookshelf loudspeaker
Low Frequency Driver Size and Material8″ (200mm) Pure Pulp cone woofer (JW200PW-6)
High Frequency Driver Size and Material1″ (25mm) Titanium dome tweeter (JT025TI1-4)
Recommended Amplifier Power25 – 150 WRMS
Impedance8 Ohm
Loudspeaker Sensitivity88 dB (2.83V/1m)
Frequency Response44 Hz-40 kHz (-6 dB)
Crossover Frequency1.7 kHz
Enclosure TypeFront-ported bookshelf
Enclosure FinishGenuine walnut veneer
Dimensions with grille (H x W x D)18.61″ x 11.06″ x 12.42″ (472.8mm x 281mm x 315.5mm)
ControlsHF level control
Input TypeFive-way gold-plated binding posts
Product Weight27.9 lb (12.7 kg)
Shipping Weight64 lb (29 kg)

ขอขอบคุณ บริษัท มหาจักร-ดีเวลอปเมนท์ จำกัด โทร. 02-256-0020-9 ที่เอื้อเฟื้อสินค้าและสถานที่ทดสอบในครั้งนี้