DAWN NATHONG
เปลี่ยนสมาร์ทโฟนเป็นเพลเยอร์ชั้นเยี่ยม
สมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ในปัจจุบันนั้น แทบทุกรุ่นจะตัดช่องเสียบหูฟังแบบ 3.5 มม. ออกเหลือแค่ช่อง USB Type-C หมดแล้ว เพราะตอนนี้ เราเลือกที่จะใช้งานหูฟังทรูไวร์เลสแทนกันเป็นเรื่องปกติ แต่สำหรับนักฟังเพลงตัวจริงที่เน้นเรื่องของคุณภาพเสียงแล้ว การใช้หูฟังแบบมีสายดี ๆ สักคู่ยังเป็นทางเลือกที่น่าอภิรมย์สำหรับการฟังเพลงแบบเน้นคุณภาพอยู่ไม่น้อย
การจะเล่นหูฟังแบบมีสายกับสมาร์ทโฟนที่มีเฉพาะช่องต่อ USB Type-C นั้น อุปกรณ์ประเภท DAC/AMP พกพา (เรียกเล่น ๆ ว่าแด็คหางหนู) ก็เป็นอีกปัจจัยที่สำคัญไม่แพ้กัน สำหรับต่อพ่วงสมาร์ทโฟนกับหูฟังผ่านแจ็ค ก็จะได้ข้อดีในเรื่องของแรงขับรวมถึงคุณภาพการถอดรหัสเสียงก็ได้ประสิทธิภาพสูงกว่าชิปแด็คมาตรฐานที่อยู่ในสมาร์ทโฟนทั่วไป
ซึ่งหากมองไปในท้องตลาดชั่วโมงนี้ จะพบว่า DAC/AMP พกพานั้นมีให้เลือกซื้อหามากมายหลายแบรนด์ คุณภาพเสียงและประสิทธิภาพก็แตกต่างกันไปตามระดับราคา ถือเป็นทางเลือกของการอัพเกรดคุณภาพการฟังเพลงผ่านสมาร์ทโฟนที่สะดวกง่ายดาย โดยไม่ต้องไปหาเครื่องเล่น DAP เพิ่มอีกให้วุ่นวาย
Astell&Kern เป็นแบรนด์ผู้ผลิตเครื่องเสียงชั้นนำของเกาหลีที่นักเล่นหลายคนรู้จักกันดี สินค้าของบริษัทนั้นมีทั้งเครื่องเสียงบ้านและเครื่องเล่นพกพาซึ่งก็จัดอยู่ในกลุ่มของสินค้าไฮเอ็นด์ อย่าง AK500 ซิสเต็มเน็ตเวิร์คเพลเยอร์รุ่นเรือธง หรือเครื่องเล่นเพลงพกพาตระกูล A&ultima ที่คว้ารางวัลมาหลายสำนักทั้ง VGP 2021, Stereophile Recommend, What Hi-Fi? Award และอีกมากมาย แถมยังมีความเชี่ยวชาญระดับสร้างออดิโอแพลตฟอร์มของตัวเองที่เรียกว่า “TERATON” โมดูลขนาดจิ๋วที่อัดแน่นด้วยเทคโนโลยีฮาร์ดแวร์ระดับสูงแต่ไม่ลดทอนประสิทธิภาพ ดังนั้นเมื่อทาง Astell&Kern ลงมาเล่นในตลาด DAC/AMP พกพาเป็นครั้งแรกแบบนี้ก็ย่อมต้องไม่ธรรมดา แถมด้วยราคาเปิดตัวที่ทราบคร่าว ๆ มาว่าไม่เกินห้าพันบาท
หมายเหตุ อัพเดตราคาพรีออเดอร์จากร้านมั่นคง 4,390 บาท สินค้าเข้าไม่เกินวันที่ 15 พฤษภาคม 2564
แสงและเงา
ดีไซน์คอนเซปต์ภายนอกของ PEE51 คือ “Light and Shadow” เช่นเดียวกับสินค้าของ Astell&Kern ทุกรุ่น เน้นเฉดของแสงและเงาที่เปลี่ยนไปตามมุมตกกระทบของแสงบนเหลี่ยมสัน
ตัวบอดี้ทำจาก Zinc Alloy ผ่านกระบวนการ CNC และทำสีหลายขั้นตอน จนได้ทั้งความสวยงาม ดูพรีเมียม ทนทาน พิเศษคือจะมีการลบคมเหลี่ยมสันมากกว่าสินค้ารุ่นอื่นของ Astell&Kern เพื่อให้ฟีลลิ่งในการจับถือที่ดี บริเวณตัวบอดี้จะมีแค่ไฟ LED ระบุการทำงานปิด-เปิดอย่างเดียว
ตัวสายก็มีความพรีเมี่ยมไม่แพ้กัน เห็นสายช่วงสั้น ๆ แบบนี้แต่ส่งผลต่อคุณภาพเสียงมหาศาล ทางผู้ผลิตเลือกใช้สายคัสต้อมเมดถัก 4 เส้น ตัวนำทองแดงขนาด 0.5 มิลลิเมตรเคลือบเงินหนาถึง 0.3 ไมครอน (ปกติจะเคลือบหนาแค่ 0.1 – 0.15 ไมครอน) พันรอบแกน Technora Aramid fiber แล้วหุ้มด้วนฉนวนและชิลด์ทองแดงอีกชั้นเพื่อป้องกันสัญญาณรบกวน ฉนวนชั้นนอกสุดจะเป็น TPE
ตัวสายมีความอ่อนตัวสูงแต่สามารถทนทานต่อแรงดึงได้ถึง 200 นิวตัน เนื่องจากมีการเสริมความแข็งแรงด้วย Aramid fiber ทำให้หมดปัญหาการใช้งานไปนาน ๆ แล้วเกิดสายหักหรือขาดใน
วงจรภายใน ส่วนของชิปเสียงถอดรหัสเลือกใช้ Cirrus Logic CS43198 แบบคู่ (เหมือน DAP รุ่น A&norma SR25 และ SR15) แยกการทำงานสำหรับแชนแนลซ้ายและขวาอย่างละหนึ่งตัว เพื่อให้ได้ค่าการแยกแชนแนล รวมถึงค่า S/N Ratio และไดนามิกเรนจ์ที่ดีขึ้น
รองรับการเล่นไฟล์ไฮเรสได้สูงสุด PCM 32bit/384kHz และ Native DSD 11.2MHz ติดตั้งบน PCB บอร์ดแบบ 6 เลเยอร์ ร่วมกับอุปกรณ์ขนาดเล็ก เช่น ไมโครรีซีสเตอร์, คาปาซิเตอร์แทนทาลัมสั่งผลิตพิเศษ แบบเดียวกับที่ใช้ใน DAP ของ Astell&Kern เอง รวมถึงมีการปรับแต่งวงจรออดิโอให้มีการใช้พลังงานอย่างเหมาะสม มีสเปคคร่าว ๆ ดังนี้
- ตอบสนองความถี่ + 0.03 (20 Hz-20 kHz)
- ค่า Signal to Noise Ratio 118dB @ 1kHz, Unbalanced
- ค่าความเพี้ยน THD+N 0.0004% @ 1kHz, Unbalanced
- IMD SMPTE 0.0003% 800Hz 10kHz(4:1) Unbalanced
- ค่าความต้านทานขาออก 2 Ohm
- ค่าความแรงเอาท์พุต 2Vrms (No Load)
การเชื่อมต่อและการใช้งาน
PEE51 ใช้ขั้วต่ออินพุต USB Type-C รองรับการใช้งานกับระบบปฎิบัติการ Window 10, Android และ macOS (ยังไม่รองรับการใช้งาน iOS)
เมื่อเสียบใช้งาน ตัวอุปปกรณ์จะมองเห็น PEE51 โดยอัตโนมัติและใช้ไฟเลี้ยงจากตัวอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อโดยตรง กรณีที่นำไปใช้งานกับคอมพิวเตอร์ที่ไม่มีช่อง USB Type-C แนะนำให้หาหัวแปลง USB Male to Type-C Female มาใช้ซึ่งผู้เขียนลองเอามาต่อแล้วก็ใช้งานได้ปกติ
เนื่องจากตัว PEE51 เองไม่มีโวลุ่มปรับระดับความดังเสียง ดังนั้นในการใช้งานทุกครั้งให้ลดระดับเสียงจากตัวอุปกรณให้ต่ำสุดเอาไว้ก่อนเพื่อความปลอดภัยต่อหูของคุณเอง
ทางผู้ผลิตก็ไม่แนะนำให้ใช้ PEE51 ร่วมกับ DAP ของ Astell&Kern ในลักษณะเป็น External DAC ด้วยเหตุผลเดียวกันเพราะระดับโวลุ่มจะถูกตั้งค่าไว้ที่สูงสุดและไม่สามารถปรับระดับเสียงผ่าน DAP ได้ แต่หากต้องการจะใช้งาน PEE51 ร่วมกับ DAP แบรนด์อื่น ก็ควรตรวจสอบก่อนว่าเมื่อเชื่อมต่อกันแล้วสามารถปรับระดับเสียงได้หรือไม่
สำหรับการใช้งานทั่วไปหากเสียบ PEE51 เข้ากับสมาร์ทโฟนหรือคอมพิวเตอร์ก็สามารถใช้งานได้ทันที ไม่ว่าจะชม YouTube ดู Netflix หรือฟังสตรีมมิ่งมิวสิค
แต่เซ็ตอัพที่ผู้เขียนทดลอง แล้วได้ประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อการเล่นไฟล์เพลงไฮเรส แนะนำให้เชื่อมต่อ PEE51 เข้ากับสมาร์ทโฟนระบบ Android แล้วเล่นผ่านแอปพลิเคชัน USB Audio Player PRO (มี TIDAL ในตัว) ซึ่งดาวน์โหลดได้จาก Google Play Store ในราคาประมาณสามร้อยกว่าบาท โดยผู้เขียนสตรีมไฟล์ไฮเรสจากคลังเพลงผ่าน UPnP/DLNA เซิฟเวอร์ ตรงนี้จะสามารถเล่นไฟล์ Native DSD ตามสเปกได้ถึง 5.6MHz ส่วน DSD 11.2MHz นั้นเล่นได้ แต่จะมีเสียงป็อบเบา ๆ แทรกมาเป็นระยะ คิดว่าคงต้องรอดูเฟิร์มแวร์อัปเดตจากทางผู้ผลิตแล้วมาลองอีกครั้ง (PEE51 อัปเดตเฟิร์มแวร์ได้) ซึ่งหากคุณไม่ได้ซีเรียสกับการเล่นไฟล์ DSD ระดับ 11.2MHz ก็ไม่ใช่เรื่องที่ต้องกังวล
เนื่องจาก PEE51 ไม่รองรับการถอดรหัส MQA ดังนั้นการเล่นไฟล์ MQA จาก Tidal จะต้องอาศัย Core Decoder บนแอปพลิเคชันในการคลี่ (Unfold) ขั้นแรกเป็นไฟล์ 24bit/88.2kHz หรือ 24bit/96KHz ก่อนส่งมายังภาคแด็คของ PEE51 เพื่อแปลงสัญาณเป็นอนาล็อค และตัวช่องเสียบหูฟัง 3.5 มม. เป็นแบบ TRS ไม่รองรับการใช้งานร่วมกับสายหูฟังที่มี Microphone และ Control-Talk
เสียง
ต้องบอกว่าหลังแกะกล่องออกมาครั้งแรกนั้นยังไม่ทราบราคาแต่ประเมินด้วยสายตาไปแล้วว่ามีเฉียดหลักหมื่นแน่นอน ยิ่งได้ฟังน้ำเสียงแล้วยิ่งไม่แปลกใจ เพราะมันดูแพงตามหน้าตาจริง ๆ และมีจุดเด่นเด่นด้านน้ำเสียงที่แตกต่างต่างจากแด็คหางหนูทั่วไปในท้องตลาดอย่างเห็นได้ชัด
อันดับแรกเลยคือความสงัดของพื้นเสียงสูงมาก เนื้อเสียงที่อิ่ม เกรนเสียงละเอียด ละเมียดละมัยไร้สากเสี้ยน ฟิลลิ่งเหมือนได้ฟังเครื่องเล่นรุ่นสูงของทางค่ายนี้ยังไงยังงั้น ระดับความสงัดของเสียงนั้นทำได้น่าประทับใจ ได้ยินน้ำเสียงที่เคลียร์สะอาด ฟังแล้วไม่น่ารำคาญหรือรู้สึกว่ารกหู จากเนื้อเสียงที่ปลอดจากสัญญาณรบกวน มีการแยกแยะรายละเอียดของเสียงที่เป็นธรรมชาติและรายละเอียดหยุมหยิมที่ละเอียดชัดเจนดีมาก เก็บรายละเอียดเบา ๆ ที่ถูกบันทึกมาได้หมดจด ขนาดบางอัลบั้มที่เล่นกับหูฟังชุดใหญ่แบบตั้งโต๊ะได้ยินอย่างไร PEE51 ก็ขุดรายละเอียดออกมาให้ได้ยินได้แบบเทียบเคียงกันได้อย่างน่าชื่นชม
ผู้เขียนทดลองฟังกับทั้งหูฟังแนวมอนิเตอร์ที่มีกราฟตอบสนองความถี่ค่อนไปทางแฟลต และหูฟังที่มีกราฟแบบ V-Shape (ยกย่านทุ้ม-แหลม) PEE51 เป็น DAC/AMP ที่ให้โทนเสียงค่อนข้างออกไปทางราบเรียบ ได้สมดุลของทุ้มกลางแหลมแบบสมานเสมอกัน กลมกล่อม ติดไปทางอบอุ่นนิด ๆ ทำให้ฟังสบาย แต่ก็ยังให้ความโปร่งใสสะอาด ปลายเสียงแหลมเปิดชัดเจน มีประกายระยิบระยับไม่ขุ่นทึบ พอรวมกับเกรนเสียงที่ละเมียดละไมแล้ว เลยกลายเป็นความลงตัวที่น่าฟัง
ทุ้มนุ่มแน่นเป็นลูกกลมสวย สะอาดและลงได้ลึกอีกต่างหาก เสียงคนร้องอิ่มแน่นกลมกลึงเป็นตัวตน อักขระชัดเจนแต่ไม่คมจนขึ้นขอบ มีไดนามิกของเสียงหนัก-เบาติดตามได้ตลอด แล้วยังสวิงได้อย่างอิสระทำให้เวลาฟังเพลงที่มีได้นามิกเรนจ์กว้าง ๆ แล้วไม่อึดอัด หรือแม้แต่เพลงที่บันทึกมาบีบอัด (Compress) การสวิงเสียงค่อนข้างเยอะอย่างเพลงไทยหรือสากลบางอัลบั้ม หรือไฟล์ประเภท Lossy ก็รับฟังได้อารมณ์ไพเราะมากขึ้นอีกพอสมควร
เวทีเสียงอยูในระดับปานกลาง แต่ภายในเวทีเสียงนั้นสามารถวางตำแหน่งชิ้นดนตรีได้เป็นสามมิติดีทีเดียว ช่องว่างช่องไฟมีความโปร่งใส เวลาฟังจะรับรู้ระยะห่างของชิ้นดนตรีได้ชัดเจน โดยเฉพาะด้านลึก สูง-ต่ำ นี่แยกเลเยอร์ในหัวชัดมาก (ช่วงจากปลายจมูกไปถึงท้ายทอย และจากใต้คางขึ้นไปถึงเหนือศรีษะ) เฉพาะเรื่องความชัดเจนของการแยกมิตินี่ DAP หลายตัวมีมองค้อนก็แล้วกัน ถ้าคุณไม่ได้ชอบเวทีเสียงที่กว้างใหญ่เกินตัวแต่เป็นนักฟังที่ชอบความเป็นสามมิติแบบติดตามรายละเอียดได้ตลอด นี่แหละใช่เลย
สรุป
เป็น DAC/AMP พกพาที่สร้างมาตรฐานใหม่ในระดับราคาไม่เกินห้าพันบาท ให้น้ำเสียงเกินราคาค่าตัว เหมาะสำหรับใครที่ต้องการยกระดับคุณภาพการฟังเพลงผ่านสมาร์ทโฟนไปอีกระดับแบบเห็นผลต่างชัดเจน คุณภาพนั้นเทียบชั้นและทดแทนการเล่นผ่าน DAP ราคาหมื่นต้นได้สบาย
ยิ่งถ้าคุณชอบแนวเสียงของค่ายนี้เป็นทุนเดิมด้วยแล้ว หากไม่ซีเรียสกับการเล่นไฟล์ MQA แบบ Fully Unfold หรือใช้งานกับ iOS ไม่ได้แล้วละก็ ผู้เขียนขอแนะนำ Astell & Kern PEE51 เป็น DAC/AMP พกพาในพิกัดราคาไม่เกินห้าพันบาทแบบ Highly Recommend
PROS
- งานผลิตระดับพรีเมี่ยม สวยงามแช็งแรง
- น้ำเสียงมีความเป็นไฮเอ็นด์ ไปทางเดียวกับ DAP รุ่นสูงของค่ายนี้
- แรงขับสูง สัญญาณรบกวนต่ำ ขับหูฟังทั่วไปทั้งฟูลไซส์และอินเอียร์ได้
CONS
- การเล่น DSD แบบเนทีฟที่ 11.2MHz ยังมีปัญหา
- ไม่มี MQA Renderer ในตัว
- ยังไม่รองรับระบบปฏิบัติการ iOS
รายละเอียดด้านเทคนิค
- Model : PEE51
- Body Material : Zinc Alloy
- Body Color : Titan
- DAC : Cirrus Logic CS43198 x 2
- Sample Rate PCM: Support up to 32bit/384kHz / DSD Native: DSD64(1bit 2.8MHz), Stereo / DSD128(1bit 5.6MHz), Stereo / DSD256(1bit 11.2MHz), Stereo
- Input : USB Type-C Input(for Windows 10, Android Smartphone & Tablet PC, macOS)
- Output : 3.5 mm Headphone
- Dimensions : USB Plug: 17mm[W] x 50mm[H] x 10.3mm[D] / 3.5 mm Headphone: 12mm[W] x 20mm[H] x 8.2mm[D]
- Weight : about 25g
ขอขอบคุณร้าน มั่นคง แกดเจ็ต โทร. 097 050 3420 ที่เอื้อเฟื้อสินค้าสำหรับการทดสอบในครั้งนี้