Emotiva : RMC-1 16 Channel Dolby Atmos & DTS:X Cinema Processor

0

Garoonchart Bukkavesa

สำหรับนักเล่นโฮมเธียเตอร์แล้ว แน่นอนว่าการจะไปให้สุดทาง หลังจากที่เล่นด้วยเอ / วี รีซีฟเวอร์มายาวนานแล้ว นั่นคือการขยับสเตปด้วยการซื้ออุปกรณ์ที่เรียกว่า ปรีโปรเซสเซอร์ หรือเรียกสั้น ๆ ว่า ปรีโปรฯ นั่นเอง

วันนี้มีปรีโปรฯ แบรนด์หนึ่งมาแนะนำ นั่นคือ Emotiva

Emotiva นั้นโด่งดังจากการผลิตเพาเวอร์แอมป์นั่นเอง โดยเป็นซีรีส์ XPA หรือซีรีส์ใหม่อย่าง DR ล้วนเป็นเครื่องพิสูจน์ได้ดี ผมเองเคยทดสอบบางรุ่นไปแล้วด้วยเช่นกัน

ปรีโปรฯ Emotiva เอง มี 2 รุ่นให้เลือก คือ ตัวท๊อป RMC-1 ตัวรอง XMC-2….

ครั้งนี้ผมจะพรีวิวปรีโปรตัว RMC-1 ซึ่งเป็น 16 แชนแนล (9.1.6) รองรับฟีเจอร์ล่าสุดครบถ้วน เช่น dts-x,Dolby Vision ติดตามกันเลยครับว่า การขยับสเตปจ่ายเงินเป็นแสนเพื่อไปเล่นปรีโปรฯ จะคุ้มค่าเพียงใด ได้หรือเสียมากกว่ากันครับ?

คุณสมบัติพิเศษ Emotiva : RMC-1

  • ออกแบบเป็นระบบ 9.1.6 แชนแนล
  • แผงหน้าอลูมิเนียมขึ้นรูปทั้งแผง เพื่อความแข็งแกร่ง
  • มีอีคิวให้ปรับอิสระถึง 11 แบนด์ ทำให้ช่วยแก้ปัญหากรณีห้องหรือลำโพงไม่ดีได้
  • มีระบบเซ็ทอัพอัตโนมัติ Dirac Live
  • ชิพถอดรหัสเป็น Audiophile grade เบอร์ AKM4490 ทั้ง 16 แชนแนลเลย
  • วงจรภายในเป็น Fully Balanced
  • ขั้วต่อปรีเอ้าท์มีเฉพาะขั้ว XLR เท่านั้น
  • มีรีโมทคอนโทรลบอดี้เป็นอลูมิเนียม
  • มี Remote control app

ลักษณะทั่วไป Emotiva : RMC-1

Emotiva : RMC-1 ตัวเครื่องมีขนาดใหญ่ ดูดุดัน พ่นสีดำ แผงหน้าอลูมิเนียมกลึงขึ้นรูปที่ขอบซ้าย และขวาปิดด้วยแท่งสันแนวตั้ง บนสุดสกรีนยี่ห้อ Emotiva ออกแบบเป็นสมมาตรโดยมีหน้าจอแสดงผลที่ด้านซ้าย และด้านขวา ตัวอักษรเป็นสีฟ้า กึ่งกลางเป็นปุ่มโวลุ่ม และเซ็ทอัพในตัว ล่างสุดมุมซ้ายเป็นช่องเสียบหูฟัง ช่อง USB กึ่งกลางเป็นปุ่มเปิดปิดเครื่อง ขวาสุดเป็นสกรีนชื่อรุ่น RMC-1

ด้านหลังแถวบนไล่จากซ้ายไปขวา และจากบนลงล่าง เป็นชุดภาครับสัญญาณวิทยุ ชุด HDMI เข้า 8 ช่อง ออก 2 ช่อง ถัดลงมาเป็นฝาปิดสำหรับอัพเกรดโมดูลต่าง ๆ ได้ถึง 3 โมดูล ถัดลงมาเป็นช่องรับสัญญาณเข้าอนาลอก RCA 3 ชุด ช่องรับสัญญาณเข้าอนาลอก XLR 1 ชุด ช่องรับสัญญาณ Digital Out แบบ Coaxial 1 ช่อง / Optical 1 ช่อง ช่องรับสัญญาณ Digital In แบบ Coaxial 4 ช่อง / Optical 4 ช่อง ช่องรับสัญญาณ Digital In แบบ AES/EBU 1 ช่อง ช่อง Lan ช่อง USB กลุ่มช่อง Trigger ภาคปรีเอ้าท์ของสัญญาณเสียง Zone 2 ล่างสุดเป็นกลุ่มปรีเอ้าท์ 16 แชนแนล เรียงแนวนอน โดยมีขั้วต่อเฉพาะ XLR เท่านั้น ไม่มี RCA ตรงนี้ต้องเตรียมสายให้ดี เนื่องจากวงจรเป็น Fully Balanced ด้วย สัญญาณจะบริสุทธิ์จริง ๆ ขวาสุดเป็นเบ้าเสียบสายไฟเอซี IEC 15 แอมป์พร้อมเมนสวิตช์

รีโมทคอนโทรลขนาดใหญ่เป็นอลูมิเนียม ให้น้ำหนักการถือที่ดี สั่งการได้ทุกหน้าที่ ใช้งานง่าย

สเปคของ Emotiva : RMC-1

  • ตัวเครื่องกว้าง 17 สูง 7.525 ลึก 15.5 นิ้ว
  • หนัก 24 ปอนด์

อุปกรณ์ร่วมพรีวิว Emotiva : RMC-1

  • แหล่งโปรแกรม ; Panasonic : DMP-BDT330 (โมดิฟาย)
  • เล่นปรีโปรฯ ; Emotiva : RMC-1
  • เพาเวอร์แอมป์ ; Q-7250
  • ลำโพง ; Sonus Faber : Concerto Home / Concertino Home / Solo Home
  • แอคทีฟซับวูฟเฟอร์ ; Definitive Technology : SuperCube 6000
  • โปรเจคเตอร์ ; JVC : DLA-RS10
  • จอรับภาพ ; Stewart : Grayhawk RS (Reference Screen) 92 นิ้ว
  • สายสัญญาณ ; MIT : Shotgun S1 (XLR / RCA), Cardas : Golden Cross
  • สายลำโพง ; Kimber Kable 8TC ขั้วต่อบานาน่าเป็น Monster : Power Connect 2
  • สาย HDMI (เสียง) ; BetterCable
  • สาย HDMI (ภาพ) ; Monster Cable : MC1000   
  • สายสัญญาณซับวูฟเฟอร์ ; Monster Cable : M1000SW
  • สายไฟเอซี ; Shunyata Research : Anaconda Zitron, Hovland : Mainline (Marinco / Furutech), Life Audio : Pro Cinema, Supra : Lorad, Halu Cable (Pass & Semour / Shurter : 4781), MIT : In Wall (หัว / ท้าย Marinco), Elrod : Statement, PS Audio : Statement SC, Acoustic Zen : CL-3 (หัว / ท้าย Marinco)
  • ระบบไฟ ; ตัวกรองไฟ Perfect Power : HD-X one Super DC (2016) ปลั๊ก Wattgate : 381 (2 ตัว), Oyaide : R1 (3 ตัว), PS Audio : Power Port (2 ตัว), ฝาครอบเต้ารับ FIM : 308-1
  • อุปกรณ์เสริม ; ตัวดูดคลื่น Perfect Power : RFITrap RT-1 (4 ตัว) ชั้นวาง Audio Arts : Classic II, ชั้นหินแกรนิตเทียม ขาตั้ง Target Audio : ST50, JM Labs : Utopia, ที่รองสาย Acoustic Revive : RCI-3, Cable Elevator, Shunyata : Dark Field, Cardas : Multi Blocks, Cardas : Notched Myrtlewood Blocks ที่รองเครื่อง / ทิปโท Auralex : SubDude HD, Michael Tender Feet, JJ : Screw Cone  ที่ทับเครื่อง ก้อนอิทธิเจ (8 ก้อน), VPI : HW dB-5 (4 ก้อน), XAV : EMX-9 (2 อัน) อื่น ๆ Cardas : RCA Cap / S-Video Cap, Omni Mount : PMD2, อแดปเตอร์ IEC 15A>C7 Voo Doo Cable
  • อุปกรณ์ควบคุมสภาพอคูสติก ; ASC Tube Trap 9”x4’, แผ่นซับเสียงสูตร RPG, XAV : G-Sap เบอร์ 1, เบอร์ 2, XAV : Trap + XAV : Base Trap, จิ๊กซอว์ PRS, Room Tune : Michael Green Audio + Echo Tune

ผลการลองฟัง Emotiva : RMC-1

ตัวเครื่อง Emotiva : RMC-1 เป็นเครื่องเดโมผ่านการใช้งานมาแล้ว พร้อมทำพรีวิวทันที หลังจากต่อเข้าระบบต้องเซ็ทอัพก่อน และพบว่ารีโมทคอนโทรลของ Emotiva : RMC-1 บอดี้อลูมิเนียมจึงมีน้ำหนักดีไม่บอบบาง ใช้ถ่านพิเศษ รหัส UX,LR,N หาซื้อยากหน่อย อาจต้องซื้อเผื่อไว้ หรือโหลดแอปฯ เผื่อไว้ถ้าสะดวกใช้

หน้าจอแสดงเป็น OLED ซะด้วย การตั้งค่า เข้าใจง่าย ด้านซ้ายโชว์พารามิเตอร์ระบบภาพ / เสียง ส่วนด้านขวาเป็นระดับเสียง

ตัว Emotiva : RMC-1 นอกจากค่าพื้นฐานที่ปรับเซ็ททั่วไปแล้ว ยังมีค่าอื่น ๆ ที่ปรับได้ละเอียดมาก เลือกความชันจุดตัวความถี่ได้อีก เลือกจำกัดการทำงานของย่านความถี่ ฯลฯ

นอกจากนี้มีอีคิวให้ปรับอิสระถึง 11 แบนด์ ทำให้ช่วยแก้ปัญหากรณีห้องหรือลำโพงไม่ดีได้ ปรีโปรบางตัวปรับได้น้อย ก็ทำอะไรไม่ได้หรือไม่แยกอิสระจะยกหรือลดก็เหมือนกันทุกลำโพงซึ่งจะไม่ช่วยอะไรเลย

รวมทั้งสำหรับการเซ็ทอัพอัตโนมัติ Dirac Live ซึ่งขึ้นชื่ออยู่แล้ว คุณจะได้คุณภาพเสียงที่ดีแบบง่าย ๆ

นักเล่นหลาย ๆ คนที่เล่นเอ / วี รีซีฟเวอร์ยังคาใจว่า การจ่ายเงินแพง ๆ ระดับแสนบาทขึ้นไปเพื่อเล่นปรีโปรฯ จะคุ้มไหม ได้มากกว่าเสียหรือเปล่า?

ผมมีคำตอบให้ครับ ผมต่อระบบ 5.1 แชนแนลบ้าน ๆ สายลำโพงเมตรละ 6xx สายสัญญาณบาลานซ์ถูกสุด ชุดละ 4พัน (สายประจำจะแพงกว่านี้) ลองดูหนังเรื่องโปรดเช่น Kungfu Panda (Blu-ray แผ่นอเมริกา, Dolby True HD 5.1) ฉากพูดหรืออื่น ๆ ถือว่าเป็นไปแบบปกติ ไม่ได้แสดงความโดดเด่นใด ๆ ออกมา แต่พอฉากสู้กัน ไดนามิคถ่ายทอดมาเต็ม ๆ ระดับ “ความดัง” นั้น พีคหรือพุ่งแบบดังมาก ๆ สะใจครับ ถ้าลำโพง/เพาเวอร์แอมป์ไม่ดีมีสิทธิ์ได้ยินเสียงเพี้ยนได้ง่าย ๆ

Need For Speed (Blu-ray แผ่นไทย, dts MSTR 5.1) เสียงเครื่องรถนั้น ดังสนั่นเต็มห้อง มีความรู้สึกสั่นสะเทือนปกคลุมไปทั่ว สนามเสียงแสดงความโอบล้อมแบบ Immersive Sound หรือตัวเราอยู่ในสนามเสียงได้ง่าย ๆ

Spiderman 3 (Blu-ray แผ่นญี่ปุ่น, LPCM 5.1) ฉากกระจกแตก จากเดิมถ้าฟังจากเอ / วี รีซีฟเวอร์แล้วจะเหมือนเป็นก้อน ๆ ติดกัน แต่ Emotiva : RMC-1 ฉากนี้โชว์ศักยภาพได้เหนือชั้นจนผมประทับใจมากคือ สามารถแยกเสียงของกลุ่มกระจกชิ้นเล็กชิ้นน้อยให้ได้ยินเป็น “ชิ้น ๆ” ได้เลย ต้องขอบคุณที่ใส่ชิพถอดรหัสแยกอิสระทุกแชนแนล จึงจำลองเสียงได้เด็ดขาด ไม่ดึงสัญญาณกัน

Fast & Furious : Tokyo Drift (Blu-ray แผ่นอังกฤษ, dts MSTR 5.1) แพนทิศทางชัดเจนราวจับวาง มีบรรยากาศโอบล้อมดีมากราวกับอยู่ในเหตุการณ์ ไดนามิครุนแรง ไม่มีการตื้ออั้น มิติสุดยอดมาก

ดูหนังได้ประทับใจ ลองมาฟังคอนเสิร์ตบ้าง เริ่มที่ Hitman Davis Foster and Friend (Blu-ray แผ่นอเมริกา, dts MSTR 5.1) เสียงร้องมีความน่าฟัง ไม่แข็งกระด้างหรือบ้าพลังซึ่งฟังนาน ๆ อาจจะล้าได้ง่าย ขณะที่เสียงกลอง / เสียงโน๊ตเบสของแต่ละเพลงต่างกัน มีสั้นมียาว สปีดฉับไว ไม่ช้า ไม่อืดหรือบวม มีความหนักแน่น อิ่มเอิบ ทำให้ฟังได้สนุก

Han Zimmer : Live at Prague (Blu-ray แผ่นอเมริกา, dts MSTR 5.1) ไล่โน๊ตเบสที่ต่างกันไปได้ดี ช่วงที่ไดนามิคถาโถมอย่างรุนแรงก็ไม่มีพร่ามัว นิ่งสนิท ไม่มีวูบวาบ ถ่ายทอดมิติอย่างแม่นยำถูกต้องตามการเกิดเสียง

บทสรุป Emotiva : RMC-1

Emotiva : RMC-1 ออกแบบมาดุดัน ขนาดใหญ่ และหนัก แม้เป็นปรีโปรฯ แต่ใช้งานง่าย เซ็ทอัพง่าย ยกเว้นจะรีดสมรรถนะในแต่ละค่าพารามิเตอร์ เช่น ปรับอีคิว ฯลฯ อาจต้องปรึกษาผู้นำเข้าฯ วงจรเป็น Fully Balanced แท้มีช่องปรีเอ้าท์เฉพาะขั้ว XLR เท่านั้น เวลาดูหนังจึงให้ไดนามิคเสียงสุดติ่ง มาเต็มที่ เสียงนั้นชัดเจน รับรู้โดยง่ายเนื่องจากมีชิพถอดรหัสอิสระ 16 แชนแนล ไม่ตีรวนหรือมัว และเหนือกว่าคู่แข่งด้วยการถ่ายทอดการฟังเพลงได้น่าประทับใจ ไม่แข็งกระด้าง บ้าพลังหรือเร่งให้จบเพลง คุณจึงได้อารม์สุนทรีย์อย่างเต็มที่ คุณจึงฟังได้ยาวนาน 5-6 ชั่วโมงสบาย ๆ

สำหรับผมแล้วบอกได้ว่า Emotiva : RMC-1 คู่ควรที่จะ “ก้าวขึ้นมาเล่น” ครับสำหรับนักเล่นโฮมเธียเตอร์ที่ต้องการความเป็นที่สุด!!

——————————

หมายเหตุ :  ขอขอบคุณ บริษัท อินเวนทีฟ เอวี จำกัด โทร. 0-2238-4078-9  ผู้แทนจำหน่ายที่ได้อนุเคราะห์ให้ยืมเครื่องมาทดสอบ