Test Report: High Fidelity Cables CT-1

0

Test Report: High Fidelity Cables CT-1

ไมตรี ทรัพย์เอนกสันติ

 hfc-ur-ic-1024

สาย CT-1 จาก High Fidelity Cables เป็นสายที่ใช้ได้กับทั้งเชื่อมต่อเสียงอะนาลอก หรือสัญญาณดิจิตอล (หัว RCA เช่น จากช่องออก COAXIAL) จากข้อมูลที่แนบมากลับสาย บอกว่าเป็นสายที่มีการหล่อลื่นเคลือบปลายหัวเสียบด้วยสารที่บริษัทเรียกว่า Stabilant 22 ซึ่งเป็นของเหลวหล่อลื่นที่ไม่ทำให้ลัดวงจรไม่ทำปฏิกิริยากับออกซิเจนในอากาศอันจะทำให้เกิดสนิมผุกร่อน เป็นตัวช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการสัมผัส เมื่อเสียบหัว RCA ตัวผู้ของสาย เข้าไปที่หัวรับ RCA ตัวเมีย จึงห้ามเอามือไปสัมผัสปลายหัวเสียบ หรือหาอะไรมาเช็ดออก ห้ามทำความสะอาดขั้วหัวเสียบของ CT-1

เวลาจะใช้ ก่อนอื่นทำความสะอาดขั้ว RCA ตัวเมียของเครื่องก่อนที่จะเอาหัว CT-1 เสียบเข้าไป (ด้วยอัลกอฮอลล์บริสุทธิ์ เป็นต้น) คือใช้สารที่ไม่ก่อให้เกิดอะไรเคลือบตกค้างอยู่)

สายของ CT-1 เรียก Magnetic Conduction Cable ทำมาอย่างมีทิศทางให้ดูที่ตัวหนังสือ และลูกศรที่สกรีนบนสาย โดยให้ลูกศรชี้ไปหาอุปกรณ์ที่สายจะปล่อยสัญญาณไปให้ ถ้าเสียบผิด เสียงจะทะแม่งๆ (จากผลของ PHASE)

ตัวหัวเสียบเป็นแบบ Pin-Lok กราวด์แบบวงแหวนยึด เวลาเสียบให้ดันแบบหมุนนิดๆ เข้าไป อย่าไปจับหัวหมุนปลอกแบบชนิดหัวล็อค มันไม่ใช้แบบนั้น

(หมายเหตุ เท่าที่ใช้หัว CT-1 จะค่อนข้างฟิตมากๆ และฟังทิศทางสายดูแล้ว ก็เป็นไปตามที่บริษัทระบุมา (ตามทิศทาง)

ตัวสายขนาดไม่ใหญ่นัก เหมือนเป็นสายเงิน หัวเสียบค่อนข้างยาว (ประมาณ 2 นิ้ว)

IMG_6131

 

การทดสอบ

จากเครื่องเล่น CD T+A 1260R ต่อสายออก CT-1 (ตามทิศทาง) เข้าช่อง INPUT 5 ของอินทีเกรทแอมป์ Mark Levinson No.383 (บาลานซ์แอมป์แท้เข้าถึงออก) กำลังขับ 100 W.RMS/CH ที่ 8 โอห์มและ 200 W.RMS/CH ที่ 4 โอห์ม) ออกสายลำโพง FURUKAWA S-2 ตามทิศ (2 ชุด ชุดเข้าแหลม, ชุดเข้าทุ้ม) หัวสายหางปลา (โลหะเงิน) ของ WBT ด้านแอมป์ และหัวเสียบล็อคได้ (WBT) ด้านลำโพง

ที่เครื่องเล่น CD T+A เลือกชนิดกรองสัญญาณดิจิตอลชุด 3 (ที่ใช้ประจำ) โยกสวิตช์หลัง T+A ไปทีกรองความถี่สูงยิ่งทิ้ง (มิติจะดีกว่า)

ระวังมิให้สาย CT-1 ซ้ายและขวาแตะต้องกัน พูดง่ายๆ ว่า ทุกสายไม่ว่าสายไฟ AC, สายลำโพง, สายเสียง ไม่ให้แตะต้องกันหรือแตะต้องตัวเอง

สายลำโพงชุดเสียงสูงกับชุดเสียงต่ำจะถูกแยกไม่ให้แตะกัน หรือแตะพื้นห้อง (พรมบนปูน) โดยยกสายสูงหนีพื้นห้องด้วยตั้งกระดาษพิมพ์ดีดสูง 1 คืบ และสอดอีกตั้งแยกสายแหลม, สายทุ้มไม่ให้แตะกัน อีก 3 ตั้งทับสายตั้งที่แตะสายจะเอากระดาษสีแดงที่ห่อมาออก (สีมีตะกั่ว มีผลต่อเสียงได้)

ลำโพงเป็น MONITOR AUDIO BR-5 (3 ทางวางพื้น) เอียงลำโพงเข้ามา (TOE IN) ให้ได้ดีที่สุดทั้งสุ้มเสียงครบ และทรวดทรงเป็น 3 มิติ (เอาหน้ากากออก)

สายไฟ AC ของ No.383 เสียบที่เต้าเสียบตัวเมียฮับเบล สีส้มที่กำแพง มีหัวปลั๊กไฟกรองไฟของ PHS 2 เสียบเคียงคู่อยู่ (ผ่านตัวแปลง 1 ออก 2 ของ WONPRO เพื่อยกขาดินของ PHD 2 ลอยไม่ต่อเชื่อม) ที่สายไฟ AC ของ T+A ก็ทำเหมือนกัน มี PHD 2 เสียบเคียงคู่อีกตัว (กับ WONPRO) หัวเสียบกรองไฟนี้ดีมาก ยิ่งใช้ยิ่งขาดไม่ได้เลย ดีทั้งภาพและเสียง (ราคาแค่ตัวละ 2,900 บาท)

ห้องฟังขนาด 3.85 x 9 x 2.2 เมตร บุฟองน้ำเก็บเสียง SONEX (สีขาว จากเยอรมัน) นั่งฟังห่างประมาณ 3.6 เมตร ลำโพงซ้าย-ขวา ห่างกันประมาณ 2.2 เมตร ห้องไม่ก้อง ไม่มีมือถือ, PC, LCD/PLASMA, WiFi, นาฬิกาควอตซ์, รีโมท, กล้องดิจิตอลใดๆ ในห้อง เปิดเพลงเบิร์นอินสาย CT-1เกือบ 20 ชั่วโมง เมื่อจะเริ่มทดสอบก็ปิดเครื่องหมดแล้วเปิดใหม่      แผ่นระนาดเอก (ไทลำภู) เพลง 3 เสียงตีระนาดแยกแยะได้ดีแต่ยังไม่โฟกัสเป็นเม็ดๆ หลุดลอยกระเด็นออกมาจากฉากหลังมาหาเรา อย่างไรก็ตาม มันก็ให้เสียงผิว (Texture) กระทบที่ดีเยี่ยมทุกๆ เสียง อย่างเสียงฉิ่งซึ่งคงจะสังเกตเสียงผิวของฝาฉิ่งได้ยาก หรือแทบเป็นไปไม่ได้ มันก็ยังขุดคุ้ยออกมาให้ฟังได้ เพลง 4 ขึ้นต้นอาจไม่สงัดสุดอย่างที่เคย แต่เสียงตีระนาดที่ตามมาช่างให้เสียงได้ลงตัว ไม่กลมไป ไม่แข็งกร้าวไป เสียงฉิ่งสะบัด ระริก ฟังได้ชัดมากกว่าครั้งใด ที่น่าทึ่งคือ แม้แต่กลองแขกที่เป็นฉากหลังก็ยังรับรู้ได้ถึงเสียงผิว (รวมทั้งเสียงฉาบของเพลง 3 ด้วย) เสียงโดยรวมออกเป็นกลาง, ตื่นตัว แต่สุภาพพอ เพลง 5 เช่นกัน ปกติขึ้นต้นจะเงียบสงัดมากกว่าเพลง 4 อีก แต่นี่ฟังพอๆ กัน อย่างไรก็ตาม เสียงระนาดก็ยังเต็มไปด้วยรายละเอียดเสียงผิว เสียงกรับล้อเสียงอื่นๆ อย่างได้อารมณ์เหมือนคนเต้นโขน ย่ำเท้าซ้ายที, ขวาที พูดง่ายๆ ว่า ฟังสนุกเพลิน เพลง 6 เสียงตีระนาดเป็นตัวๆ อยู่ลึกไปหลังเวที อย่างเต็มไปด้วยรายละเอียด แม้ยังไม่เป็นเม็ดๆ โฟกัสชัดๆ แต่มันให้เสียงระนาดได้ลึกซึ้งที่สุดเท่าที่เคยฟังมา เหมือนคุณมองเข้าไปเห็นภายใน (LOOK IN SIDE หรือ LOOK THROUGH) เช่นเดียวกับตอนเริ่มต้นของเพลง 7 ต่อมา (ปกติจะฟังตื่นตัวกว่า, ดังเข้มกว่าเพลง 3, 4, 5, 6 แต่นี่ตื่นตัวพอๆ กันหมด) ฟังมาถึงตอนนี้ พอจับประเด็นได้ว่า สายนี้ให้เสียงผิวได้ดีเลิศ เสียงเป็นกลาง ตื่นตัว จังหวะจะโคนดี การสวิงเสียงโอเค ไม่ส่ออาการอั้น แต่อยากให้แยกแยะอ่อน-ดังได้ ละเอียดกว่าอีกหน่อย (ดูเหมือนอาจไม่ใช่เรื่องของ “ความดัง” แต่เป็นเรื่องของความถี่คู่ควบด้านต่ำ ที่อาจจะหดหายไปบ้าง ทำให้มวล, เนื้อของเสียงไม่ครบพอที่จะแจกแจงความแตกต่างของระดับเสียงได้อย่างเต็มที่ (DYNAMIC CONTRAST)         อาการนี้ฟังชัดขึ้นกับเสียงตะโพนตอนขึ้นต้นเพลง 8 ที่ออกจะขาดความอิ่มอวบ อลังการไปหน่อย รวมทั้งตอนไล่ตบกลองจากขวาไปซ้ายจะเหมือนตัวกลองมีรูปลักษณ์เป็น “กล่องแบนไม่ใหญ่นัก” ไม่ใช่กลองที่มีปริมาตร กลมใหญ่ลึกอย่างทุกที (เพราะความถี่คู่ควบด้านต่ำตกหล่นหายไป) อย่างไรก็ตาม เสียงฉาบเบาๆ ก็ให้เสียงผิวได้ อย่างไม่เคยพบมาก่อน เพลง 9 ปกติตอนขึ้นต้นจะสงัดมาก ซึ่งกับเพลงนี้ก็ดีขึ้น เสียงตีรัวระนาด ไล่จากซ้ายไปกลางเวที เสียงหัวโน้ตดี แต่ตัวโน้ต (BODY) หดหายไป ทำให้ขาดรูปลักษณ์อันเป็นกลุ่มก้อน เพลง 10 เสียงตีระนาดคีย์สูง คีย์ต่ำจากตัวระนาดทุ้ม, ระนาดเอก ฟังใกล้เคียงกัน ซึ่งปกติควรฟังอิ่มน้อยอิ่มมากต่างกัน (เรื่องของความถี่คู่ควบด้านต่ำดังกล่าวแล้ว)

HighFidelityCables-1

แผ่น RYTHEM BASKET, A Tisket, A Tasket, A Child ของ Brent Lewis เสียงตีกลองท่อกับเพลงเด็กๆ เพลง 2 เสียงตีกลองท่อเป็นไปดังคาด ออกจะขาดรูปลักษณ์ความเป็นท่อ (เป็นทรงท่อ) แต่ก็ให้เสียงผิวได้ดี โดยเฉพาะกับเสียงเล็กๆ น้อยๆ อื่นๆ อย่างที่ไม่เคยพบ เพลง 4 เสียพายเรือวักน้ำให้เสียงขณะพายลากไปบนผิวน้ำได้อย่างชัด, เข้มกว่าทุกครั้ง แม้เสียงคลื่นที่ผิวน้ำจะไม่หลากหลายขนาดเต็มไปทั้งผิวน้ำ แต่ก็รับรู้ได้ไม่น้อย โดยเฉพาะเสียงน้ำกระเซ็น CT-1 จะโปรยปรายมากกว่าทุกครั้ง แน่นอน ทุกๆ เสียงในเพลง ไม่ว่าเสียงเขย่าเม็ดทรายในกระบอก, เสียงเครื่องเคาะ (แหลม), ฯลฯ มันช่างอุดมไปด้วยรายละเอียดไปหมด อีกทั้งเวทีเสียงที่กว้าง เพลง 5 เสียงรถจักรไอน้ำวิ่งมาจากไกล เข้ามาหาเรา ทำได้ดีมาก (PERSPECTIVE) เสียงตีรัวระฆังก็ชัดดี (แม้จะขาดทรงไปบ้าง) เพลง 6 เสียงไก่ขันอยู่ลึกไปหลังเวทียังไม่ตรงกลางเปะ (เอียงไปขวานิดหนึ่ง) ยังไม่โฟกัสนัก ควรเข้าใจก่อนว่า แผ่นนี้ผู้บันทึกจัดวาง แต่ละเสียงแบบจงใจ โชว์ที่ทาง ตำแหน่งเป็นพิเศษ ด้วยวงจรเล่น PHASE เยอะมาก จึงใช้ทดสอบเรื่อง PHASE ได้ดีมาก (เฟสไม่แน่จริง มิติ, ทรวดทรง, ตำแหน่ง เวทีเสียงจะบิดเบี้ยวไปหมด ออกมาทะแม่งๆ) นาทีที่ 4 ของเพลง 4 นี้ CT-1 ให้สารพัดเสียงสัตว์ห้อมล้อมตัวเราเต็มไปหมด แม้ว่าจะแยกแยะไม่ค่อยชัดว่าอะไรเป็นอะไรนัก แต่ก็มีบางตัว ขนาดว่าแทบมาส่งเสียงอยู่หน้าเราห่างออกไปแค่ศอกกว่าอย่างไม่เคยพบ เพลง 7 เสียงม้าวิ่งหอบมาแต่ไกล แจ๋วมาก ได้ยินเสียงหายใจรด 2 ครั้ง ก่อน (ปกติไม่สังเกต) ตามด้วยเสียงหอบแฮกๆ ครบ 6 ครั้ง (อย่างค่อนข้างชัด) เสียงตีกลองท่อวนรอบลำโพงซ้าย และขวา ยังไม่โฟกัสเป็นทรวดทรงชัด (ดูวอกแวก) และไม่ลอยสูงถึงเพดานห้องได้ แค่เรี่ยๆ ระดับลำโพง เพลง 10 ขึ้นต้นสารพัดเสียงในฟาร์มตอนเช้า ซึ่ง CT-1 ก็ถ่ายทอดออกมาได้แบบเก็บทุกเม็ด ไม่มีเสียงจากอะไรจะตกหล่นได้ แม้ว่าแต่ละเสียงดอกจะฟังคล้ายๆ กันไปหมด แต่ก็ยังคงความน่าสนใจ เพลงนี้ฟังไปๆ หลายๆ เสียงจะเริ่มอยู่สูงจนถึงเพดานห้องได้ ซึ่ง CT-1 ทำได้บ้าง 1 – 2 ครั้งกับบางเสียง ไม่สามารถทำได้บ่อยๆ เท่าที่ควร หลายๆ เสียงยังขาดมวล (BODY) ที่จะมาช่วยความเป็นตัวตน, ทรวดทรง, โฟกัส แต่ความดีเลิศเรื่องเสียงผิว, เสียงกระทบ, อากัปกิริยา ทำให้มันเอาตัวรอดได้สบาย ยิ่งกว่าชดเชยได้ ด้านปลายแหลม CT-1 ก็ทำได้ดีหายห่วงจริงๆ

แผ่น THE ALTO FEMALE VOL 1 (TOP MUSIC) เสียงร้องเพลงจีนเย็นๆ ของสุภาพสตรี เพลง 1 เสียงร้องของเธอออกบางไปหน่อย (ขาดมวล) แต่ก็ถ่ายทอดอากัปกิริยาได้อย่างเหลือๆ จีบปากจีบคอ เสียงลมหายใจ เสียงลมรอดไรฟัน เสียงริมฝีปาก แปลกมาก เพลงนี้ทรวดทรงของเสียงต่างๆ หายหมด และไม่โฟกัสเอาเสียเลย เพลง 2 (อารีรังเพลงเกาหลี) เสียงชาย-หญิงร้องหมู่ขึ้นต้นที่แยกแยะได้ดี ตามด้วยเสียงตีกลองใหญ่ที่ใหญ่แน่แต่ไม่ขนาดมหึมาแต่ก็อลังการ (แปลกที่เสียงกลองเอียงไปด้านขวา ปกติจะอยู่ตรงกลาง ฟังชัดว่าเสียงร้องมีมวล, ทรวด, โฟกัสดีกว่าเพลง 1 มาก ที่ชอบคือ เสียงตีกระทบกลองชัดดี เพลง 3 ขึ้นต้นเสียงดีดกีตาร์โปร่งเป็นเส้นสายดี เพลงนี้เช่นกัน เหมือนด้านขวาชัดเจนเป็นตัวตนกว่าในบางครั้ง) แม้เสียงร้องจะยังคงตรึงนิ่งตรงกลางตามปกติ (รวมทั้งเสียงกีตาร์ตอนท้ายๆ ก็ตรงกลางดี และลอยออกมาได้ดีตอนจนเพลง) เพลง 4 เสียงกีตาร์โปร่งอยู่ตรงกลางเปะ เสียงร้องโฟกัสมีทรวดทรงพอๆ กับเพลง 3 ลอยออกมาหาเราได้ดี สอดใส่อารมณ์ได้ดีกว่าเพลง 1, 2, 3 นิด (จริงๆ ควรมากกว่าเพลง 1 พอควรเลย) เสียงเขย่าลูกกระพรวนเป็นเม็ดๆ พอควร แต่ออกลูกเล็กไปนิด เสียงเดินดับเบิ้ลเบสกระพรวนเป็นเม็ดๆ พอควรแต่ออกลูกเล็กไปนิด เสียงเดินดับเบิ้ลเบส ชัด เข้นทิ้งตัวลงพื้นใช้ได้ เพลง 5 ขึ้นต้นเสียงกรุ้งกริ้งหลากหลายที่ขึ้นต้นทำได้ดีมาก (AIRY ดี) เสียงดีดสีเครื่องสายจีนน่าฟังมาก จากเพลงนี้สรุปได้เลยว่าเรื่องปลายแหลมของ CT-1 ชั้นหนึ่งเลย การถ่ายทอดอากัปกิริยา อารมณ์ดีมาก (เสียงสีเครื่องสายจีน ให้อารมณ์ดีที่สุดเท่าที่เคยฟังจากแผ่นนี้) เสียงเดินดับเบิ้ลเบสแน่, ลึก, กระชับ, เข้มข้นตลอด

แผ่น WOOD ของ Brian Bromburg เพลง 1 เสียงดีดดับเบิ้ลเบส ซึ่ง CT-1 ให้เส้นสายที่ดีมาก โฟกัส, ชัด, นิ่ง ควบแน่นเปรี๊ยะโฟกัสได้ตลอดเวลา ทุ้มลึกอาจไม่มหึมาแต่ก็พอทีเดียว พูดง่ายๆ ว่ามันค่อนข้างสมจริงเป็นอย่างมากๆ ครั้นดนตรีชิ้นอื่นๆ ขึ้น เสียงฉาบชัดดี (อาจดูว่าฉาบบางไปนิด), เสียงกลองชุด สังเกตได้ชัดกว่าทุกครั้ง (โดยเฉพาะการลากแฉหรือหางม้าไปบนผิวกลอง) ปกติไม่สังเกตดีๆ เสียงกลองชุดจะถูกกลบ เสียงเปียโนน่าฟังแต่ยังไม่โฟกัสเท่าที่ควร เพลง 2 บอกได้ว่า CT-1 ให้เสียงดับเบิ้ลเบสได้มหึมาไม่เบา แถมลงลึกกระชับ เสียงเคาะฉาบดี, ทุกอย่างดีขึ้น แม้โฟกัสแต่ละตำแหน่งชิ้นดนตรียังไม่เปะๆ แต่โดยรวมก็น่าฟังมากๆ ฟังเพลินจริงๆ กับแผ่น AYA ค่าย StockFish ปกติแผ่นนี้จะเป็น SACD แต่ปัจจุบันหาไม่ได้แล้ว เห็นมีแต่ที่ก๊อปปี้ของจีนเป็น CD ปกติ (ซึ่งก็หายากมากเช่นกัน)

HighFidelityCables-3

แผ่น AYA เป็นแผ่นที่ร้านขายเครื่องเสียงชอบใช้ทดสอบ เนื่องจากบันทึกเสียงทุ้มมาอย่าง “เหลือจนล้น” ทั้งเป็นลูกและลงลึก กลางจะไม่ค่อยเปิดโปร่งเท่าไรนัก แหลมโอเค แต่ยังไม่ขนาดสุดๆ (ยังไม่ AIRY นัก) ที่เด่นอีกข้อคือ ให้เวทีเสียงกว้างมาก บางครั้งสูงถึงเกือบเพดานห้อง แต่ความกังวานยังไม่เปิดโปร่ง (TRANSPARENT เต็มที่) เสียงร้อง, พูด ชัดถ้อยชัดคำดีมากใน 2 – 3 เพลง แต่ก็ยังไม่ขนาดทะลุถึงขุมขน

กับแผ่นนี้ CT-1 จะช่วยเรื่องความเปิดโปร่งได้บ้าง (เท่าที่จะมีอยู่กับที่บันทึกมา) แต่น่าแปลกที่ช่วงเสียงทุ้มหายไปเยอะทีเดียว โอเคอาจมาจากบุคลิกของ CT-1 เองที่ไม่ได้เอาใจ “หูเบส” สักเท่าไร แต่ในแง่มุมอื่น CT-1 ก็ให้ได้ดีมากกับแผ่นนี้

โดยรวมๆ สาย CT-1 น่าจะเหมาะกับชุดที่เสียงออกไปทางอวบอิ่มเป็นทุนเดิมอย่างลำโพง DYNAUDIO, เครื่องเสียง MARANTZ, MCINTOSH (ไม่ใช่รุ่นหลังๆ นี้) เครื่องหลอด หรือยิ่งถ้าชุดมีระบบซับวูฟเฟอร์ช่วยด้วยจะยิ่งเข้าเป้าเลย

ct1u-used001_1024x1024

 

สรุป

ยิ่งฟัง ยิ่งยอมรับว่า CT-1 ไม่ใช่สายตลาดๆ ที่จะมองข้ามได้เลย ผู้ออกแบบได้พยายามนำเสนอรายละเอียดของเสียงผิวกระทบออกมาได้อย่างดีเลิศน่าทึ่งจริงๆ (แบบว่าไม่ใช้วิธีสร้างหัวโน้ตให้สวิงกระฉูดเพื่อหลอกหูว่า รายละเอียดดี) CT-1 จึงให้รายละเอียดได้อย่าง “สบายหู” ที่สุด มันไม่เคย “กระชาก” หูให้คุณต้องหันไปฟังมัน มันจะออกมาแบบง่ายๆ และผ่อนคลาย รอให้คุณเข้าไปหาขณะเดียวกันมันก็ถ่ายทอดความเป็นดนตรี สอดใส่อารมณ์ได้อย่งชวนติดตาม ฟังเพลินได้อารมณ์ ดูเหมือนผู้ออกแบบ และทำ CT-1 จะเน้น “เอาความจริง, เสียงจริง” เข้าสู้มากกว่าการ “แต้มสีสัน” เพื่อรักแรกพบ

อย่างไรก็ตาม พวกเขาก็คงหนีไม่พ้นกับคำว่า “คล้องจองกัน” ตราบเท่าที่การบันทึกเสียง, การผสมเสียง (MIX) ในห้องบันทึกเกือบทั้งหมด ไม่มีใครใส่ใจที่จะเหลียวมาให้ความสำคัญกับ คุณภาพสาย อย่างพวกเรานักเล่นระดับหูทอง ไม่มีวันที่สายระดับนี้ (หรือพูดให้ถูก เครื่องเสียง, อุปกรณ์เสริมข้างเคียง ที่พวกเราพิถีพิถันแสวงหากัน) จะได้เล็ดลอดไปสถิตในวงการบันทึกเสียง พวกเขาจึง “จูน” เสียงสำหรับอุปกรณ์สายพื้นๆ ที่พวกเขาใช้กันเป็นอาจินต์

ผลคือ อย่างดีที่สุดที่สายระดับสุดยอดอย่าง CT-1 หรือยี่ห้ออื่นใด (รวมทั้งเครื่องเสียงในส่วนอื่นๆ ที่นักเล่นใช้) จะทำได้ ก็คือ ถ่ายทอด, คาย การชดเชยโน่นี่ต่ออุปกรณ์, สายต่างๆ ที่วงการบันทึกเสียงดักดานใช้กันอยู่ ออกมาอย่างซื่อสัตย์ เราจึงได้สัมผัสความหลากหลายแห่งฝีมือและคุณภาพการบันทึก และแน่นอนรวมทั้งความทะแม่งต่างๆ ที่อาจเหลือล้น และก็อาจบกพร่องอย่งไม่น่าเชื่อ ด้วยการทำตนอย่างซื่อสัตย์ที่สุดของอุปกรณ์เครื่องเสียงที่แวดวงนักเล่นพวกเราใช้กันอยู่

 

ขอขอบคุณ ร้านนิค สตูดิโอ โทร. 0-2642-1224 ที่เอื้อเฟื้อสายมาให้ทดสอบในครั้งนี้