คุยด้วยเพลง สุเทพ วงศ์กำแหง นักร้องเพาะช่าง (3)

0

พงษ์ชัย ไทยวรรณศรี

อีกเรื่องหนึ่ง ในหนังสือ “สุเทพโชว์ คอนเสิร์ตรอบโลกแห่งความรัก” ที่นำมาบทความเก่าซึ่งตีพิมพ์เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๘  ซึ่งขณะ สุเทพ วงศ์กำแหงกำลังเริ่มเป็นที่รู้จักในวงการเพลง  ไม่ปรากฏชื่อผู้เขียน ตอน

“สุภาพบุรุษเสียงทุ้ม สุเทพ วงศ์กำแหง”

            ดาวนักร้องกลุ่มหนุ่มในฟากฟ้าศิลปินนักร้องไทย ขณะที่เขียนเรื่องนี้ มีอยู่ไม่กี่ดวงที่รุ่งโรจน์จรัสแสงอย่างรวดเร็ว ประชาชนคนฟังดนตรีและการขับร้องไม่เลือกว่าจะโดยทางแผ่นเสียง ทางวิทยุกระจายเสียงหรือการแสดงบนเวทีในรายการแสดงพิเศษตามโรงภาพยนตร์ ซึ่งกำลังนิยมจัดทำกันอยู่ หากได้ปรากฏน้ำเสียงหรือร่างของนักร้องกลุ่มนี้ก็พากันนิยมชมชื่นตั้งอกตั้งใจฟังกันอย่างจริงจังทุกครั้งทุกคราว…. บางทีคุณคงรู้จักศิลปินหรือดาวนักร้องกลุ่มนี้เป็นอย่างดีแล้ว พ้นจากชรินทร์  งามเมือง นริศ  อารีย์ และปรีชา  บุณยเกียรติ  เขาอีกคนก็คงไม่ใช่ใครอื่น ที่แท้ก็คือ สุเทพ  “รักคุณเข้าแล้วเป็นไร” วงศ์กำแหง นั่นเอง…

            ดวงชะตาของสุเทพ  วงศ์กำแหง ก็ดูจะคล้ายๆกับศิลปินนักร้องอีกหลายๆ คน ซึ่งไม่ค่อยสมหวังในความมุ่งหมายที่ตั้งปณิธานไว้แต่เดิมๆ กล่าวคือเมื่อเรียนหนังสืออยู่ ตั้งใจไว้อย่างหนึ่งสำหรับการดำเนินชีวิตในอนาคต แต่เมื่อถึงคราวจริงจังเข้า กลับไพล่ๆ เผลๆ ไปอีกทางหนึ่งจะทึกทักเอาว่าวันชาตะของเขาคือวันศุกร์ ที่ ๗ สิงหาคม ๒๔๗๖ แล้วถิ่นกำเนิด นครราชสีมา เป็นมูลฐานก่อให้เกิดความผันแปรไปเช่นนั้นก็ไม่มีใครกล้ายืนยัน เพราะเรื่องเกี่ยวแก่ชะตาชีวิตหรือโชควาสนานั้น เราๆ ท่านๆ มักจะเบี่ยงบ่ายไป ให้เป็นภารกิจของ “พระพรหม” กันเสียร่ำไป ตกลงว่า อดีตก็ดี ปัจจุบันก็ดี และอนาคตก็ดี ของใครๆ จะเป็นอย่างไร ย่อมขึ้นอยู่แก่ “พระพรหม” ทั้งสิ้น

            สุเทพมีพี่สาวคนหนึ่ง แต่เขาไม่มีน้อง ไม่เลือกว่าจะเป็นหญิงหรือเป็นชาย พออายุเข้าขีดที่จะเรียนหนังสือ สุเทพก็เข้ารับการศึกษาจากโรงเรียน ที่ทำการสอนโดยคณะบาทหลวงในคริสต์ศาสนา เริ่มตั้งแต่อยู่ในชั้นอนุบาลไปจนจบประถมปีที่ ๔ ขณะนั้นอายุยังน้อยอยู่ จึงเข้าศึกษาต่อชั้นมัธยม ณ โรงเรียนราชวิทยาลัยอีก และสอบได้ชั้นมัธยมปีที่ ๖ อายุครบ ๑๗ พอดี

            ระหว่างการศึกษา สุเทพมีจิตใจฝักใฝ่ในทางวาดเขียน เคยคิดเคยฝันที่จะได้เป็นจิตกร ซึ่งมีฝีไม้ลายมือชื่อเสียงดีเด่นสักคนหนึ่ง อาศัยจากมีมัธยม ๖ “เป็นทุน” อยู่แล้วอย่างหนึ่ง กับอีกอย่างหนึ่ง เพราะมีความรักใคร่สนใจกับเรื่องขีดๆ เขียนๆ อยู่แล้ว สุเทพจึงเดินทางเข้าสู่กรุงเทพพระมหานคร และสมัครเข้าศึกษาในโรงเรียนเพาะช่าง อันเป็นสถาบันการศึกษาที่ได้สร้างสรรค์ศิลปินสาขาต่างๆ ออกไปแล้วเป็นจำนวนมาก

            ในระยะการศึกษาของสุเทพที่ “เพาะช่าง” นี้ เข้าใจว่า “พระพรหม” ท่านก็คงจะทรงประสิทธิ์ประสาทพระพรให้ เพราะสุเทพเรียนได้เป็นอย่างดี กระทั่งจบเมื่อ พ.ศ.๒๔๙๓ ประกาศนียบัตรแสดงคุณวุฒิ ถูกสุเทพนำอย่างถะนุถนอมไปแสดงขอสมัครเข้าทำงาน ณ ร้านทำแม่พิมพ์ “แสงนภาบล็อก” และก็ได้ประสบการต้อนรับจากร้านนี้ด้วยดี

การเริ่มสร้างงานละครวิทยุ

            ขณะทำงานอยู่ ณ “แสงนภาบล็อก” นี่เอง จากเสียงที่เย้ายวนทางวิทยุอยู่เนืองๆ ทำให้สุเทพเกิดมีอารมณ์ฝันขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง แล้วก็เริ่มงานตามอารมณ์ฝันนั้นโดยไม่ชักช้า นั่นคือ การเริ่มสร้างงานละครวิทยุด้วยการร่วมมือร่วมใจกับเพื่อนรักสนิทคนหนึ่งชื่อ บุญสร้าง เอกสุภาพรรณ

            งาน “ละครวิทยุ” ของสุเทพ ทำท่าจะเป็นรูปเป็นร่างขึ้น ทั้งนี้เพราะเขากับเพื่อนได้มีโอกาสนำละครวิทยุไปออกอากาศได้บ่อยๆ ตัวของเขาเองก็ร่วมแสดงด้วยในบทต่างๆ ตามท้องเรื่องที่ผูกขึ้น และในบางเรื่อง บางครั้ง สุเทพจะต้องร้องเพลงประกอบเรื่องในการออกอากาศนั้นด้วย สุเทพพยายามฝึกการร้องเพลงด้วยตนเอง อยู่เกือบตลอดเวลาที่ง่วนอยู่กับงานเขียนของเขา จนกระทั่งเพื่อนๆ ของเขาพากันกระเซ้าแกมถากถางว่า

            “โธ่เอ๊ย น้ำหน้าอย่างลื้อน่ะรึ จะป็นนักร้อง ? อย่าเลยว้า…สุ้มเสียงยังกะฆ้องแตก ไส้จะเป็นน้ำเหลืองเสียเปล่าๆ”

            แทนที่สุเทพจะฉุนเฉียวต่อคำกระซ้าเย้ายวนแกมเหยียดหยามเขากลับมุมานะ ต้อนรับคำสบประมาทเหล่านี้ด้วยอารมณ์เย็น สุเทพถือว่ามันเป็นยาเสริมกำลังน้ำใจขนานเอก ทำให้เกิดความพากเพียรยิ่งขึ้นกว่าวันก่อนๆ ..ต่อจากนั้นไม่ช้านัก บุญสร้างเพื่อนคู่หูคู่ใจของเขาก็ต้องจากไปศึกษาวิชาต่อ ณ ประเทศอังกฤษ ก่อนจะจากไป สหายคู่นี้ต่างให้คำมั่นสัญญากันไว้ว่า ต่างคนต่างจะพยายามสร้างชื่อเสียงของตนให้ดียิ่งขึ้นไปกว่าที่กำลังจะดีอยู่แล้วในทุกวันนี้

            แม้คำสัญญาที่ให้ไว้ต่อกัน อาจเป็นคำสัญญาที่เกิดขึ้นด้วยอารมณ์ชั่วแล่นของเด็กหนุ่มก็ตาม ทว่าความซาบซึ้งในมิตรภาพของกันและกัน มีมากเกินกว่าที่ใครจะคาดคิดถึง “คำมั่นสัญญา” ครั้งสุดท้ายก่อนจากกันไปคนละทวีป คงกึกก้องอยู่ในสมองและความทรงจำของสุเทพไม่มีวันลืมเลือน เขาก้มหน้าก้มตาดำเนินงานที่กำลังดำเนินอยู่ด้วยความเข้มแข็งทะมัดทะแมง ซึ่งต่อมาไม่นาน สุเทพก็ได้พบกับไศล ไกรเลิศ นักสร้างเพลงที่มีชื่อเสียงกึกก้องผู้หนึ่ง ไศลได้ให้ความเอ็นดูฝึกสุเทพอยู่ปีเศษ เห็นว่าพอจะปล่อยให้ “บินเดี่ยว” ได้แล้ว ก็จัดส่งให้เข้าร่วมเป็นนักร้องอยู่ในคณะ เพลงแรกที่สุเทพร้องในคณะไศล ไกรเลิศ คือเพลง “ชมละเวง” ซึ่งจัดเข้าร้อง สลับรายการละคร เรื่อง “เลือดนรสิงห์” ณ ศาลาเฉลิมไทย

            เป็นเรื่องที่ไม่น่าเชื่อ หาก “แปลกแต่จริง” น้ำเสียง ทำนอง และเนื้อร้องที่ผ่านริมฝีปากของสุเทพออกไป แม้จะเป็นครั้งแรกนั้น… ขลังและศักดิ์สิทธิ์ราวกับมนต์สะกด ..บรรดาผู้ฟังนับพันเงียบกริบ แล้วจึงเกรียวกราวขึ้นด้วยเสียงปรบมือก้องไปทั่วเฉลิมไทยเมื่อเสียงเพลงท่อนสุดท้ายจางไปในอากาศ

            สุเทพตื้นตันใจจนน้ำตาคลอ เขาก้มศีรษะรับเกียรติจากประชาชนด้วยความอ่อนน้อมคาราวะ เดินเข้ากลับไปโดยที่เกือบจะไม่รู้สึกตัวเพราะเสียงปรบมือยังก้องกังวานอยู่หนาแน่น… จากการร้องเพลงโดยปรากฏตัวครั้งนี้เอง ชื่อเสียงของสุเทพก็ผลุดพุ่งขึ้นราวกับจรวด..

ความมีชื่อเสียงรวดเร็วราวกับสายฟ้า

            อยู่ร่วมงานในคณะของไศลไม่ช้านานนัก ไศลก็เพลามือในงานของเขาลง สุเทพจึงอำลาไปอยู่ในวงดนตรี “กาญจนศิลป” ซึ่งสมาน  กาญจนะผลิน ได้จัดตั้งขึ้น

            ความมีชื่อเสียงรวดเร็วราวกับสายฟ้า ทำให้สุเทพมี “แฟนสนใจในตัวเขามากขึ้น จนปรากฏว่าในขณะนี้ ถ้ามีสุเทพคนนี้ไปร้องออกอากาศ ณ สถานีใด เจ้าหน้าที่โทรศัพท์ของสถานีนั้น ก็มีงานมากขึ้นเป็นพิเศษ โดยต้องคอยติดตามตัวสุเทพมาให้พูดโทรศัพท์กับบุคคลภายนอกที่ติดต่อมา บางรายขอให้สุเทพร้องเพลงนั้น เพลงนี้ บางทีก็หาเรื่องชวนพูดชวนสนทนาทางโทรศัพท์ และบางรายขอให้สุเทพร้องเพลงให้เธอฟังเป็นพิเศษโดยเฉพาะทางโทรศัพท์ก็มี

            เกี่ยวกับ “นางในฝัน” สุเทพออกตัวว่าเขาจนและเจียมตัว ไม่อยากจะรักใครให้เป็นการทรมานจิตใจของคนรักของเขาเปล่าๆ

            “ไอ้ชอบน่ะชอบเหมือนกันแหละ” สุเทพว่า  “แต่ชอบชนิดที่สวยเรียบๆ ไม่ใช่สวยด้วยวิทยาศาสตร์ ข้อสำคัญควรจะเป็นบ้างในเรื่องการเรียนอันเป็นหน้าที่ของแม่บ้านหรือลูกผู้หญิง แต่ชนิดที่หึงๆ ขวางๆ นั้นไม่อยากรับประทานนะครับ”

            วันที่เขียนเรื่องนี้ ( ๑ มิถุนายน ๒๔๙๘) สุเทพอยู่ในระหว่างเกณฑ์เข้ารับราชการทหาร ประจำอยู่ในกองดุริยางค์ทหารอากาศ ทุ่งมหาเมฆส่วนบ้านพักอยู่ ณ บ้านเลขที่ 159 หลังวัดสังเวชวิทศยาราม (วัดบางลำพู) จังหวัดพระนคร …”

          ครูสง่า อารัมภีร  ศิลปินแห่งชาติ  เล่าถึงเหตุการณ์ที่ทำให้ สุเทพ วงศ์กำแหง  เข้ามาเป็นนักร้องว่า ในหนังสือ “๔๐ ปี คอนเสิร์ตชีวิต สุเทพ วงศ์กำแหง”  ว่า

          “สุเทพ  วงศ์กำแหง เรียกข้าพเจ้าว่า…พี่แจ๋ว…มิใช่ลุงแจ๋ว

เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๔-๙๕ คณะละครศิวารมณ์ซ้อมอยู่ที่ชั้นบนของห้องถ่ายรูป ชาติพงค์ ติดๆ กับ วาย.เอ็ม.ซี.เอ. วรจักร… บ่ายวันศุกร์ประดานักประพันธ์ชื่อดังทั้งหลาย อาทิ…ยาขอบ…เวทางค์..อาษา..หม่อมหลวงต้อย ชุมสาย..ครูเหม  เวชกร..นายรำคาญ..จำนง  หิรัญรัชต์ และ ฯลฯ ก็มาชุมนุมดื่มเหล้า..เบียร์และอาหารกันอยู่ที่บริเวณด้านหน้าของบ้านชาติพงศ์ ซึ่งเจ้าของบ้านชื่อคุณประชุม ชาติบุตรทั้งหญิงชายเป็นผู้ต้อนรับขับสู้ คณะนักเขียนกลุ่มนี้รับสุราอาหารกันตั้งแต่เย็นศุกร์ไปจนเย็นเสาร์จึงแยกย้ายกลับบ้าน บางคนอยู่ต่อไปจนเย็นอาทิตย์ก็มี ส่วนข้าพเจ้าและเวทางค์ ร.ต.ทองอิน บุญยเสนา หรือ ลุงผี ของเด็กๆ หลับนอนอยู่ที่บ้านนี้จนวันจันทร์ก็ทำงานแต่งเพลงและซ้อมละครไป ถึงเย็นวันศุกร์ก็เวียนมาเช่นนี้จนครบปี ๒๔๙๔-๒๕๙๕…..

…เอก สุภาพันธ์ นำหนังสือนี้มาให้ข้าพเจ้า ๑ เล่ม พร้อมกับนำหนุ่มน้อยหน้าตาคมคายมาแนะนำให้รู้จัก เขาคือ “สุเทพ วงศ์กำแหง” นักร้องและพระเอกละครเพลงวิทยุซึ่งเอกเป็นเจ้าของคณะเขาบอกว่า “อิงอร” ให้พามารู้จักกับนักแต่งเพลงละครศิวารมณ์ สุเทพไหว้แล้วเรียกผมตามเอกว่า “พี่แจ๋ว” มาแต่วาระโน้น เขาบอกว่า เรียนจบจาก “เพาะช่าง” เขียนรูปทำบล็อกอยู่กับร้านเจ๊กแถวๆ วงเวียน ๒๒ กรกฎาคม รายได้น้อยเหลือเกินจึงหันมาหัดร้องเพลงกับ “พี่ไศล ไกรเลิศ” ที่อยู่กับสุทิน เทศารักษ์ แถวๆ ที่แยกพญาไท…

            “เอก” เค้าทำละครวิทยุแสดงที่ ๑ ป.ณ. เชิงสะพานพุทธยอดฟ้า จะเล่นแล้วยังหาโฆษณาไม่ได้เลย

            “อดทนต่อไปเถิด ทั้งเอกทั้งสุเทพ…เราเวลานี้มีรายได้ทางเดียวคือแต่งเพลงให้ละครเวที อัตคัตเต็มทีเย็นลงต้องล่อแต่ “ยองดา” แปลว่า “เหล้ายาดอง” …พูดปลอบใจ

            จากนั้นก็ได้พบกับสุเทพบ่อยๆ เพราะตามพี่ไหลของเขาไปร้องเพลงหมู่ เพลงรำวง ที่ห้องอัดเสียง อี.เอ็ม.ไอ. ซึ่งอยู่ที่หน้าศาลาเฉลิมไทยบ่อยๆ กระทั่งโอกาสหนึ่งที่ผมจัดเพลงบันทึกเสียงให้ ลุงเตียง โอศิริ แห่งแผนกแผ่นเสียงของ บริษัท กมลสุโกศล จำกัด ครั้งนั้นตกลงจะให้ “ปรีชา บุณยเกียรติ” ร้อง ๖ เพลง ถึงเวลา ๑๐.๓๐ น.แล้ว ปรีชาก็ยังไม่มา ห้องอัดเสียงพร้อม ไม่ว่าไปร้องเพลงต่างจังหวัดหรือเปล่า เจ้าออดคนนี้เขาโด่งดัง เสียงก็ดีแสดงละครเป็นพระเอก รูปก็หล่อ แม่ยกติดกันเกรียวกราว

            “ไศล” หนีบแฟ้มเพลงมาหาลุงเตียง สุเทพเดินตามมา ผมก็เลยเสนอลุงเตียงว่า “เอาสุเทพนี่แหละร้องแทนปรีชา ๒ เพลง”…

            “ไหวเร้อ”..ลุงเตียงค้านแล้วไอโขลกๆ

            “ไหวซีลุง เพราะสุเทพกำลังถูกคุณเทวมิตร์ กุญชร นายทุนจะให้แสดงเป็นพระเอกหนังเรื่อง สวรรค์มือ คู่กับนางสาวเชียงใหม่ “สืบเนื่อง กันภัย” หนังเข้าฉายเมื่อไหร่แผ่นเสียงของเราออกจำหน่ายเป็นขายดีเมื่อนั้น

            “แล้วสองเพลงที่จะให้อัดนี่ จะเข้าอยู่ในหนังหรือเปล่า” นายทุนลุงเตียงมองเห็นสายเงินไหลเข้าบริษัท

            “ถ้าเป็นเพลงในหนัง ราคาค่าเพลงจะ ๓๕๐ บาท ทั้งค่าบรรเลง ค่าขับร้อง ค่าแต่ง ค่าประสานเสียงก็ต้องพูดกันใหม่ซีลุง ราคาเก่ามันจะยุติธรรมหรือ?…

            เอาเป็นว่า…เป็นอันตกลง.. ไปต่อเพลงได้ ๒ เพลงให้เสร็จในเที่ยงนี้นา ลุงเตียงว่าแล้วก็หันไปทางพี่ไศล ผมก็คว้ามือสุเทพเข้าไปที่เปียโน ต่อเพลงทันทีแล้ว ๒ เพลงก็เสร็จทันเที่ยง..และสุเทพได้ค่าร้องเพลงละ ๑ ชั่ง ๘๐ บาท เท่านั้น สมัยโน้นเงิน ๑ ชั่ง ซื้อสร้อยทองรูปพรรณหนัก 1 บาทได้สบายแล้วสมัยนี้ทำไมทองมันถึงขึ้นไปบาทละตั้ง ๔ พัน ๕ พัน…ทำไมถึงเป็นเช่นนี้ไปได้ขอรับกระผม…”

สุเทพ วงศ์กำแหง เขียนถึงความรู้สึก

          “จากใจสุเทพ  วงศ์กำแหง

           ท่านที่เคารพ

            …พระคุณของครูที่ผมเอ่ยนามมาทั้งหมดนั้นเป็นพระคุณที่ผมไม่สามารถลืมได้ในชีวิต ท่านเป็นผู้ที่ทำให้ชีวิตของผมเปลี่ยนไป จากเด็กบ้านนอกคนหนึ่งมาเป็นคนของประชาชนคนไทยร้อยเปอร์เซ็นต์จริงๆรับใช้ประชาชนอย่างคุ้มค่าที่ได้เกิดมาในผืนแผ่นดินอันยิ่งใหญ่แห่งนี้ ทำให้ผมมีความภาคภูมใจและซาบซึ้งในความเป็นคนไทยของผมจนไม่สามารถว่าจะหาคำบรรยายใดมาบรรยายให้ท่านเห็นพ้องไปกับผมได้

            วันเวลาที่เหลืออีกไม่มากนัก นับแต่นี้ไป ผมก็จักพยายามทำแต่ประโยชน์ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้และจะกระทำในทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะด้านดนตรีหรือการขับร้องซึ่งจะต้องน้อยลงไปตามอายุและสังขารแต่สิ่งหนึ่งซึ่งยังเป็นประโยชน์ต่อมวลชนก็คือร่างกาย หากร่างกายของผมยังอยู่ ผมก็จะทำงานเพื่อประชาชนของผมต่อไป และเมื่อชีวิตผมสิ้นไป

            ขอบคุณเพื่อนพี่น้องชาววัฒนธรรมแห่งชาติที่ได้ยื่นมือเข้ามาทำให้ความฝันเป็นความจริง

            ขอบคุณผู้รักความจริงและความเป็นธรรมทั้งมวล

            และ..ขอบพระคุณอย่างสูงยิ่ง   แด่.. “ชาติ ศาสน์  กษัตริย์”

นี่คือ เรื่องราวของ สุเทพ วงศ์กำแหง ศิษย์เพาะช่าง ศิลปินแห่งชาติผู้อยู่ในหัวใจของนักฟังเพลง ปูชนียบุคคลซึ่งเป็นเสาหลักของวงการเพลงไทยสากลของไทยมา…”