Test Report: YBA IA350 Stereo Integrated Amplifier

0

Test Report: YBA IA350 Stereo Integrated Amplifier

มงคล อ่วมเรืองศรี

 ia350front

YBA นับเป็นแบรนด์ชื่อเสียงโด่งดังของฝรั่งเศส ก่อตั้งขึ้นในปีค.ศ.1981 โดย Yves Bernard André, ศาสตราจารย์ทางด้านอิเล็กทรอนิกส์ (เคยร่วมงานกับทาง Goldmund และ Audax) ภายใต้ชื่อบริษัท “Phlox Electronique” ของ Ariane ผู้เป็นภรรยา “YBA” ได้รับการยอมรับอย่างดียิ่งในช่วงเวลาอันสั้น ด้วยความเป็นผลิตภัณฑ์อันไม่ธรรมดา ที่ได้รับการมุ่งเน้นไปที่การมีทางเดินวงจรสัญญาณที่ตรงและสั้นอย่างที่สุด, ใช้อุปกรณ์ประเภท passive components เพียงน้อยชิ้นเท่าที่จะทำได้จัดวางอยู่ในทางเดินสัญญาณ, ระบบการทำงานแบบ fully symmetrical – complementary circuit topology พร้อมด้วยการใช้ global negative feedback ในอัตราเท่าที่จำเป็น และที่สำคัญวัสดุทุกชิ้นที่เลือกใช้จะต้องมิใช่ magnetic materials ที่อาจส่งผลต่อ eddy current และ microphony ไหลย้อนกลับเข้ามา

 

YBA ถือได้ว่าเป็น traditional ทางด้าน solid-state ของฝรั่งเศส เฉกเช่น JADIS ที่นับเป็น traditional ทางด้าน vacuum tube ของฝรั่งเศส ในขณะที่ Cabasse, JM LAB-FOCAL และ Davis Acoustics ก็โดดเด่นมากทางด้านลำโพงของฝรั่งเศส กระทั่ง John Atkinson แห่งสำนัก Stereophile ก็เคยให้การยกย่อง “Recommended” คุณภาพเสียงของ YBA อย่างมากๆ มาแล้วในอดีต

 

YBA เติบโตขึ้นตลอดมา จากช่วงปี’80, ’90 กระทั่งก้าวสู่ปี 2000 ยืนยันได้ในหลักปรัชญาของ Yves Bernard André ที่มุ่งมั่นในการสรรสร้างผลิตภัณฑ์อันให้เสียงดนตรีที่ถูกต้องสมจริงดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ จึงไม่ค่อยจะมีการออกผลิตภัณฑ์ใหม่มาแทนที่รุ่นเก่าบ่อยครั้งนัก กระทั่งในปีค.ศ.2009, บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์ไฮเอนด์ชั้นนำ “Shanling” ได้เข้ามาถือหุ้นใหญ่ใน YBA และได้ใช้ช่วงเวลาระยะหนึ่งในการศึกษาถึงความเป็น YBA ที่ยั่งยืนยาวนานมาถึงร่วม 3 ทศวรรษ ก่อนที่จะเปิดตัวใหม่อีกครั้งอย่างเป็นสากล

 

ภายใต้ CEO คนใหม่ “Jacki Pugh” ผู้มีประสบการณ์อันเชี่ยวกรำในวงการ (เคยทำงานร่วมกับ Creek Audio ในตำแหน่ง International Sales & Marketing อยู่ยาวนานทีเดียว ตั้งแต่ช่วงปีค.ศ. 2002 จนถึง 12 มกราคม ปีค.ศ. 2011 จากนั้นจึงหันมาทำงานให้กับ YBA) เธอได้ร่วมงานอย่างใกล้ชิดกับ Yves-Bernard Andre มาตลอดช่วงปีกว่าๆ ที่หายไปจากวงการ เพื่อการกลับคืนสู่ความเป็นผู้นำในแวดวงเครื่องเสียงอีกครั้งของ YBA ซึ่งได้ทำการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ออกสู่สาธารณะเป็นครั้งแรกในงาน High End Show ณ นครมิวนิก ประเทศเยอรมัน เมื่อช่วงต้นเดือนพฤษภาคม ปีค.ศ. 2012 ที่ผ่านมา

 

YBA ‘ยุคใหม่’

YBA ในปัจจุบันแบ่งไลน์การผลิตออกเป็น 5 ระดับ – Design Range (ผลิตภัณฑ์ในระดับ entry-level) ; Heritage Range ; Passion Range และ Signature Range (ผลิตภัณฑ์ในระดับ Reference Class) เพิ่งจะมี ‘Genesis’ Range เข้ามาแทรกคั่นอยู่ระหว่าง Heritage Range กับ Passion Range เป็นไลน์การผลิตล่าสุด เมื่อช่วงใกล้ปลายปีที่ผ่านมานี่เอง

 

รูปลักษณ์ของ YBA – ใหม่ – ยังคงแฝงไว้ซึ่ง “กลิ่นอาย” ความเป็น YBA เช่นในอดีต อย่างเช่นการมีรูปแบบวงจรการทำงานแบบสมมาตร symmetrical circuitry (มีช่องเสียบต่อแบบ Balanced Connection ติดตั้งมาให้พร้อมสรรพ) และเอกลักษณ์การใช้ toggle switch แบบย้อนยุค รวมทั้งการมีฐานแท่นเครื่องแบบ 3 ขา ที่นัยว่าส่งผลต่อสภาพทางอะคูสติก !

 

Yves Bernard André ยึดถือหลักการ symmetrical operation เสมอมา อันถือเป็น -แก่นหลัก- แห่งพื้นฐานการออกแบบ balance operation ตามแนวทางของตัวเขา ซึ่งเรา-ท่านสามารถพบช่องเสียบต่อแบบ XLR ได้ในหลายต่อหลายผลิตภัณฑ์ และ ‘balance operation’ นั้นโดยตัวของมันสามารถช่วยลด noise ลงไปได้มาก และยังเหมาะกับความจำเป็นที่จะต้องใช้สายสัญญาณยาวๆ ในการเชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์ที่อยู่ไกลกัน โดยส่งผลต่อการลดทอน หรือสูญหายของรายละเอียดสัญญาณที่น้อยมาก

 

แต่กระนั้นก็ใช่ว่า… ถ้าไม่มี หรือ มีแล้วแต่ไม่ได้ใช้ มันจะเป็นเรื่องเลวร้าย ทำให้เสียงแย่ลงกว่ากันมาก หากเทียบกันระหว่าง RCA กับ XLR เพียงแต่ว่า “ถ้ามี” ก็สมควรที่จะใช้ซะ จะได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่ …มันก็เท่านั้น อีกทั้ง YBA นั้นมีขาตั้งตัวเครื่อง 3-ขาแค่นั้น (หน้า-1, หลัง-2) เพื่อให้เกิดสภาพความสมดุลของจุดศูนย์ถ่วงมาตั้งแต่แรกเริ่ม มิใช่มาปรับลดจาก 4-ขามาเหลือแค่ 3-ขากันภายหลัง สะท้อนได้ถึงแนวคิดอันลึกซึ้งของ Yves Bernard André ทั้งยังมี ‘vision’ ที่ยาวไกล และรอบคอบรัดกุม อย่างเครื่องในซีรี่ส์ “Signature” ดั้งเดิมนั้น แม้กระทั่งเวอร์ชั่นในปี 2008 ก็ยังแทบไม่มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปจากรูปแบบวงจรที่ได้ออกแบบไว้ในปี 1988 โน่น… (It was designed in 1988 and that same design was still in production in 2008.)

 

ผมชอบที่ครั้งหนึ่ง Yves Bernard André เคยตอบคำถามสัมภาษณ์เอาไว้ (ที่ผมขออนุญาตไม่แปล) อย่างลึกซึ้งว่า “Tubes are sounding very good, but it is like cream always on your cake. Transistors are very difficult to master, but if you succeed, it is the best.”

bigimage1-0004031

รูปลักษณ์

IA350 เป็น integrated amplifiers ที่อยู่ในกลุ่ม Passion range ซึ่งรองลงมาจากกลุ่ม Signature range แต่ด้วยความที่ “Signature range” มีแต่ผลิตภัณฑ์ปรีแอมป์, เพาเวอร์แอมป์ และเครื่องเล่นซีดี ดังนั้นจึงถือได้ว่า “IA350” นับเป็น -flagship- ในกลุ่ม integrated amplifiers ของ YBA นั่นเอง

‘IA350’ มีขนาดตัวเครื่อง 430x410x108 มม. (กว้างxลึกxสูง) น้ำหนัก 15.4 กก. ตัวเครื่องเป็นวัสดุอะลูมิเนียมเกรด A ล้วนๆ หนาปึ๊ก เพื่อให้ไร้ซึ่งการเหนี่ยวนำสภาพแม่เหล็ก การออกแบบรูปร่างหน้าตาก็ดูละม้ายคล้ายกับเครื่องในซีรี่ส์ Signature range ที่มีศักดิ์ศรีในระดับอ้างอิง – เรียบๆ ง่ายๆ ให้มีปุ่มใช้งานเท่าที่จำเป็นบนอยู่แผงหน้าเครื่อง ซึ่งมีอยู่แค่ 2 ปุ่มด้วยกัน ปุ่มทางซ้ายนั้นทำหน้าที่เป็น source selector ส่วนปุ่มขวาทำหน้าที่เป็น volume control ….เอกลักษณ์อย่างนึงของ YBA ก็คือ การ “ซ่อน” สวิตช์เปิด / ปิดการทำงานเครื่อง (Power On / Off ) ของทุกๆ ผลิตภัณฑ์เอาไว้ที่บริเวณใต้แผงหน้าเครื่องด้านซ้ายมือ ซึ่งสำหรับ “IA350” ก็ยังคงเป็นเช่นนั้น ทำเอาผู้ที่ไม่เคยคุ้นกับเครื่องของ YBA เป็น ‘งง’ (เช่นผม เมื่อครั้งแรกที่ได้เทสต์ CD100 +A100) ไม่รู้จะ ‘on’ อย่างไง จนต้องหยิบคู่มือมาเปิดดู

‘IA350’ เป็นอินทีเกรทแอมป์ที่มีกำลังขับ 115 วัตต์ต่อข้างที่ 8 โอห์ม (160 วัตต์/ข้าง/4 โอห์ม) ซึ่งพร้อมรองรับกับทั้งแหล่งสัญญาณอะนาลอกและดิจิตอล สำหรับอะนาลอกจะมีช่องเสียบต่อแบบ RCA (Unbalanced) ติดตั้งมา 2 ชุด (CD และ VIDEO) กับแบบ XLR (Balanced) อีก 1 ชุด ในขณะที่ช่องเสียบต่อรับข้อมูลดิจิตอลนั้น เรียกได้ว่า ติดตั้งให้มาแทบจะครบสมบูรณ์เลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็น I2S / AES/ COAXIAL / USB / iPod ซึ่งจะสามารถ “ตอบรับ” กับระดับอัตราแซมปลิ้งของข้อมูลที่รับเข้ามาโดยอัตโนมัติ (32, 44.1, 48, 88.2, 96, 176.4, 192 kHz/24 Bit)

ด้วยการใช้ชิปถอดรหัสข้อมูลดิจิตอลของ CIRRUS LOGIC “CS4398” ที่มีสมรรถนะสูง สามารถ -ครอบคลุม- ไปถึงการถอดรหัสข้อมูล DSD (2.8224 MHz) ได้ด้วย (หมายเหตุ : SA8004 ของ marantz ก็ใช้ชิปตัวนี้อยู่เช่นกัน) ในส่วนของช่องจ่ายสัญญาณขาออกนั้น ‘IA350’ มี Digital Output แบบ COAXIAL ติดตั้งมาให้ด้วย 1 ชุด พร้อมทั้งช่องจ่ายสัญญาณอะนาลอกสำหรับ Pre-Out เพื่อเอื้ออำนวยความสะดวกของการเสียบต่อ-ใช้งานร่วมกับ active subwoofer หรือ active loudspeakers หรือจะเป็นการต่อพ่วงร่วมกับเพาเวอร์แอมป์ภายนอกสำหรับการขับขานลำโพงในแบบไบแอมป์ก็ย่อมได้ ส่วนขั้วเสียบต่อสายลำโพงนั้นเป็นแบบ Binding Posts จำนวน 1 ชุด

‘IA350’ สามารถครอบคลุมช่วงความถี่ตอบสนองตั้งแต่ 20 Hz – 20 kHz (-0.5 dB) ด้วยค่าสัดส่วนสัญญาณต่อเสียงรบกวนสูงกว่า 95 dB ที่ค่าความผิดเพี้ยนโดยรวม (20 Hz – 20 kHz) น้อยกว่า 0.04% ทั้งนี้ในส่วนของภาคจ่ายไฟนั้นเป็นแบบ Linear power supply สมรรถนะสูงที่ใช้ Ul-core transformer ขนาดใหญ่ถึง 320VA โดดเด่นด้วยจอแสดงผล บ่งบอกระดับความดังเสียงที่รับฟัง และ แหล่งสัญญาณขาเข้าที่เลือกเล่น ด้วย OLED display สีส้มอ่อน ที่สามารถปรับระดับความสว่างให้เหมาะเจาะกับรสนิยม หรือว่าจะหรี่แสงลงจนปิดไปก็ทำได้โดยตรงจากรีโมทคอนโทรล (ตัวถังเป็นโลหะล้วน – full metal chassis)

ia350rear

ผลการรับฟัง

…กาลครั้งหนึ่ง นานมาแล้วที่ผมเคยได้รับฟังคุณภาพเสียงของ YBA เป็นครั้งแรกในชีวิต จากปรีแอมป์-เพาเวอร์ แอมป์ที่เพื่อนต่างชาติชาวฝรั่งเศสสู้อุตส่าห์ยกขนทั้งชุดมาเมืองไทยเมื่อครั้งที่ตัวเขาและครอบครัวโยกย้ายมาประจำทำงานเป็นอาจารย์สอนวิศวฯที่ AIT ในประเทศไทย 4-5 ปี สุ้มเสียงนั้นดีมากๆ ไหลลื่นและเนียนนุ่ม เปี่ยมในความเป็นอะนาลอก จนผมเก็บไว้ในความทรงจำ ทว่าในตอนนั้น ซึ่งย้อนหลังไปสัก 30 ปี ‘YBA’ ยังไม่เป็นที่รู้จักในบ้านเรา และไม่มีใครสนใจนำเข้า ผมเอ่ยชื่อ YBA ให้ผู้นำเข้าบางรายฟัง อยากให้เขานำเข้ามาจำหน่าย ก็ได้แต่ส่ายหัวไม่มีใครทราบกิตติศัพท์ ทั้งๆ ที่ให้คุณภาพเสียงน่าประทับใจมาก

 

ผมได้รับ “IA350” ยกใส่ท้ายรถมาในสภาพยังไม่แกะกล่อง !! ซึ่งหมายถึงว่า ผมต้องเริ่มต้นทำการเบิร์น-อินไปอีกอย่างน้อยราวๆ 100 ชั่วโมง ซึ่งหลังจากใช้เวลาวันๆ ละ 5-6 ชั่วโมงตลอดช่วงเวลาร่วมเดือนในการเบิร์น-อิน ผมจึงได้เริ่มรับฟัง “IA350” อย่างจริงจังในช่วงวันหยุดปีใหม่ที่ผ่านมา บอกได้เลยว่า “ไม่ธรรมดา” จริงๆ ครับสำหรับระดับราคาประมาณนี้

 

….สุ้มเสียงที่รับฟังออกไปทางราบเรียบ ไหลลื่น และเนียนนุ่ม ละมุนละไม ในขณะเดียวกันก็สดใส โปร่งกระจ่าง ไม่มีความโฉงฉ่าง ก้าวร้าวใดๆ มาปรากฏ ฟังแล้วได้ความปลอดโปร่ง สบายใจ “IA350” ให้ความรื่นรมย์ยิ่งนักจากคุณลักษณ์ทางเสียงที่มีความกลมกลืนกันของเสียงทุ้ม-กลาง-แหลมอย่างเป็นเนื้อเดียวกัน จนทำให้เรารู้สึกเคลิบเคลิ้มเพลิดเพลินจำเริญใจตลอดเวลาของการรับฟัง

 

หยิบจับซีดีแผ่นนี้แผ่นนั้นแผ่นโน้น… มาเปิดฟังติดต่อกันไปได้เรื่อยๆ นานเท่านาน โดยไม่รู้สึกเบื่อล้า ช่วงย่านเสียงต่ำให้พลังกระแทกกระทั้น ควบคู่ความฉับพลันทันใด แม้จะไม่ถึงขนาดตูมตาม อัดดันอวัยวะภายในให้รู้สึกอึดอัด แต่ก็มี “มัดกล้าม” เพียงพอที่จะให้แรงปะทะอันเด็ดขาดและกระชับ ฉับไว ไม่รุ่มร่าม-ยานครางในจังหวะจะโคน พร้อมด้วยน้ำหนักของเบสที่อิ่มใหญ่ หนักแน่น และไหลลื่น ทั้งยังทอดตัวลงไปได้ลึกมาก อย่างน่าทึ่งในระดับราคาเยี่ยงนี้

 

“IA350” สามารถให้รายละเอียดเสียงในช่วงย่านเสียงกลาง-สูงที่ต้องขอบอกว่า “เยี่ยมยอด” สรรพเสียงในช่วงย่านความถี่กลาง-สูงนี้มีความละเมียด ละเอียดอ่อน พร้อมด้วยหางเสียงที่พละพลิ้ว และกังวานทอดยาวไกล ให้ความมีชีวิตชีวาอย่างสมจริง ราวกับมีตัวตนมีลมหายใจ เฉพาะอย่างยิ่งกับชิ้นดนตรีที่เป็นอะคูสติก และเสียงนักร้องทั้งหญิง-ชาย “ความนวลเนียน-ละมุนละไม” ในช่วงย่านเสียงกลาง และ “คุณลักษณ์ทางเสียงที่เปี่ยมด้วยความเป็นดนตรีที่แท้จริง” นับเป็นจุดเด่นอันน่าประทับใจ

 

“IA350” สามารถบ่งบอกลักษณะ “น้ำเสียงจำเพาะ” เฉพาะตัว (timbre) ของสรรพเสียงนั้นๆ ได้อย่างถูกต้องสมจริง ไม่ว่าจะเป็นเครื่องดนตรีดีด-สี-ตี-เป่า-เขย่า-เคาะ ล้วนถ่ายทอดบุคลิกเสียงของเครื่องดนตรีชิ้นนั้นๆ ได้อย่างแม่นยำ การรับฟังจึงเปี่ยมด้วยความแช่มชื่น ระรื่นหัวจิตหัวใจ ในขณะที่ลักษณะเสียงเป็นละอองโปร่งลอย ไม่ได้เป็นหมอกเมฆหนาทึบ พร้อมด้วยช่วงการตอบสนองความถี่เสียงอันกว้างขวาง ไร้อาการบีบรัดการแผ่ขยายของเสียงตลอดทั้งช่วงย่าน ทำให้รับรู้ได้ถึงอิมเมจและซาวด์สเตจที่ทั้งแผ่กว้างอย่างโอฬาร ควบคู่กับความลึกที่แยกเป็นแถวเป็นชั้นในระดับที่น่าทึ่ง…จริงๆ ครับ

 

เราสามารถแยกแยะเสียงดนตรีชิ้นนั้น-ชิ้นนี้-ชิ้นโน้นได้อย่างแจ่มชัด และนิ่งสนิท ไม่มั่วฟุ้งหรือเบลอ อีกทั้งเสียงร้องและชิ้นดนตรีทุกชิ้นจะเป็นลักษณะ laid-back นิดๆ ไม่มีอาการเด่นล้ำ นำหน้า แนวตำแหน่งตั้งวางระบบลำโพงออกมา โดยจะไปแผ่กว้างอยู่ด้านหลังตำแหน่งตั้งวางระบบลำโพง พร้อมทั้งความลึกที่ราวกับว่าผนังด้านหลังระบบลำโพงนั้น เขยิบห่างออกไปไกลขึ้นกว่าที่เป็นจริง สิ่งสำคัญที่ทำเอาผมถึงกับทึ่งก็คือ ความสูง-ต่ำของตำแหน่งชิ้นดนตรีที่ไล่ระดับ มิได้จำกัดอยู่เพียงแค่ระหว่างกลางของตู้ลำโพงเท่านั้น

 

การรับฟังแม้ในระดับความดังไม่มากนัก (ยามดึกสงัด) “IA350” บ่งบอกตำแหน่ง-แห่งที่ของเสียงได้แน่ชัด สัมผัสได้ถึงสภาพความแผ่กว้างของเสียงเต็มพื้นที่ห้อง ถอยลึกเลยผนังหลังห้องฟัง แยกเป็นแถว/ชั้นของเสียง พร้อมด้วยละอองอณูของมวลเสียง ควบคู่กับความสดใส โปร่งกระจ่าง และฉับไว ไร้อาการเสียงเดินหน้า (forward) หรือว่า จัดจ้า เมื่อรับฟังในระดับความดังที่มากกว่าปกติ (ขณะมันส์ในอารมณ์) “IA350” ก็จะสามารถสนองความสะใจได้อย่างน่าทึ่ง ไร้ซึ่งความเบลอ หรือ สับสน-ตีรวนกัน เสียงทุกเสียงจะยังคงปรากฏเป็นแถวเป็นชั้นถอยลึกเข้าไปหลังแนวตั้งวางระบบลำโพง ไม่มีเสียงใดที่โผล่ล้ำหน้าเลยตำแหน่งตั้งวางลำโพงออกมา

 

ในด้านความฉับพลัน ทันใด ไหลลื่น หรือ ไดนามิกเสียงนั้น “IA350” ก็ทำได้น่าประทับใจ ให้ความกังวานของหางเสียงแต่ละเสียงที่ยาวไกล สามารถจำแนกแยกแยะลักษณะเสียงดนตรีชิ้นนั้นๆ ได้แม่นยำ ทั้งยังสามารถถ่ายทอดความก้องสะท้อนแผ่วเบาของลักษณะอะคูสติก รวมถึงสภาพมวลอากาศภายในบรรยากาศคอนเสิร์ต ฮอลล์ได้อย่างสมจริงมาก เสียงก้องสะท้อนเล็กๆ น้อยๆ ถูกบ่งบอกออกมาหมดจด เสียงขยับปรับเลื่อนเก้าอี้ เสียงพลิกกระดาษ เสียงสูดลมหายใจ-ถอนใจก็รับฟังได้ถนัดชัดเจน ซึ่งมิใช่เป็นแค่เสียงแต่มันเหมือนเป็นละอองลมพ่นออกมากระนั้นทีเดียว

 

เริ่มแรกการรับฟังจากเพลงสุดโปรดของผม “Dance with me” ในชุด Finger Painting ฝีมือดีดกีตาร์อะคูสติกของ Earl Klugh (Toshiba/EMI CP28-1014) ถูกถ่ายทอดออกมาให้รับฟังได้อย่างซาบซึ้ง ด้วยเวทีเสียงที่แผ่กว้าง โอ่อ่า โปร่งโล่ง และลึก หมู่ไวโอลินถูกผลักตำแหน่งเสียงออกไปไกลหลังตำแหน่งเวทีเสียงของชิ้นดนตรีอื่นๆ (ทะลุเลยผนังหลังลำโพง) เสียงเครื่องเคาะจังหวะให้น้ำหนักเสียงที่คงที่ มีความกังวานและอิ่มฉ่ำ ไม่ถูกกลบ หรือ ลดระดับความดังลง แม้จะมีเสียงดนตรีอื่นประดังขึ้นมา เสียงเคาะเหล็กสามเหลี่ยมในเพลงนี้แจ่มชัดมาก มีน้ำหนักในทุกๆ ครั้งของการตี

 

จากแผ่น Winelight (Elektra 7559-60338-2) เพลงที่ 6 เสียงเคาะเหล็กสามเหลี่ยมเบาๆ แผ่วๆ ก็ยังให้พลังแรงกระทบแผ่เป็นระลอกๆ ออกมาอย่างสมจริง แหวกจากเสียงเครื่องดนตรีชิ้นอื่นๆ ได้ชัดเจน เสียงเคาะกระป๋องทางด้านขวาของเวทีเสียงก็เช่นกัน ให้น้ำหนักไม้กระทบกับตัวกระป๋องเปล่งหางเสียงกังวาน….. เฉกเช่นกับเสียงเครื่องเคาะจังหวะ-สารพัดเพอร์คัสชั่นจากแผ่น The Kroumata Percussion Ensemble ของ BIS (CD-232) ที่รับฟังอย่างได้อรรถรส สดสว่าง กระจ่างชัด มีน้ำหนัก (มวลเสียง) ขณะถูกเคาะ และให้ความกังวานติดตามมาเป็นหางทอดยาวไกลไม่หดห้วน “IA350” ให้ความสมจริงดีมากๆ เพราะเสียงทุกเสียงนั้นล้วนมี “ความกังวาน” แทรกอยู่เสมอ ซึ่งเป็นธรรมชาติของเสียงที่เราได้ยินได้ฟังกัน ใช่ว่าเสียงทุกเสียงนั้นจะชัดจนขาดซึ่งความกังวานของเสียงไป

 

กับแผ่น DOTOU BANRI ONDEKOZA (ที่บันทึกเสียง KODO แสดงสดมาดีมากๆ ) เสียงกลองใหญ่ญี่ปุ่น (KODO) 3-4 ใบที่ถูกระดมตีประชันกันอย่างรุนแรงนั้น สามารถควบคุมจังหวะจะโคนได้อย่างน่าทึ่ง พร้อมด้วยแรงกระพือสั่นของหนังหน้ากลองที่รับรู้เป็นระลอกคลื่นชัดเจน และจากแผ่นซีดีของ Bob James ชุด Star Box (CBS/SONY 25DP5604) ในเพลง “Feel Like Makin’ Love” เสียงเบสนั้นทั้งอิ่ม-ใหญ่และแผ่กว้าง สดและโปร่งกระจ่างมากทีเดียว สามารถจับตำแหน่ง-แห่งที่ของเสียงดนตรีได้ชัดเจน ยิ่งรับฟังในเพลง “Marco Polo” ยิ่งรับรู้ได้ถึงความฉับพลันทันใด (ไดนามิก) ในเครื่องเคาะสารพัดที่ประดังประเดกัน ตรงโน้น-ตรงนี้-ตรงนั้น

 

และเมื่อหยิบจับแผ่น DIGITAL TEST ของสังกัด PIERRE VERANY มารับฟัง ซึ่งบันทึกเสียงพลุ-ดอกไม้เพลิงแบบสดๆ ในบรรยากาศงานเฉลิมฉลองจริงๆ ทันทีที่เปิดฟังประสาทหูจะสัมผัสเข้ากับสภาพอณูมวลบรรยากาศรายรอบ, เสียงเด็กร้องตะโกนเสียงผู้คนที่จับกลุ่มห้อมล้อมส่งเสียงพูดคุยกัน, เสียงดอกไม้เพลิงที่พุ่งสูงขึ้นไปจนแตกปะทุส่งแรงกระแทกต่อผิวสัมผัส อีกทั้งยังรับรู้ถึงมวลอากาศโล่งแจ้งรายล้อมตัวเรา …โอ้ ! ช่างสมจริงอย่างยิ่งครับ

 

แล้วผมก็ได้ทึ่งกับ “IA350” เมื่อรับฟังจากแผ่นซีดีชุด JAZZ SAMPLER & AUDIOPHILE TEST Vol.1 (Chesky Records JD37) ทั้งจากความแจ่มชัดในบรรยากาศเสียง, สมรรถนะการแยกแยะตำแหน่งชิ้นดนตรีที่ไม่ซ้อนทับกัน กระทั่งความสมจริงของเสียงทดสอบต่างๆ กระทั่งการบ่งบอกระยะถอยห่างจากไมโครโฟนของ David Chesky ที่ให้สภาพความลึกอันสมจริง และจากแผ่นของ ALR-JORDAN ชุด The music – VOICES ของ ALR/JORDAN (inak 79010) เสียงร้องของใครต่อใครล้วนให้ความมีตัวตน มีชีวิตชีวา มีวิญญาณราวกับกำลังยืนร้องให้เราฟังกันสดๆ อยู่ต่อหน้าเลยทีเดียว

 Passion-IA350-Integrated-Amplifier

สรุปส่งท้าย

“IA350” เป็นอินทีเกรทแอมป์ยุคใหม่ ที่ให้ทั้งความทันสมัยและเปี่ยมประสิทธิภาพในการใช้งาน ทังยังส่งมอบสมรรถนะและคุณภาพเสียงได้ในระดับที่นับว่า ‘เยี่ยมยอด’ อย่างแท้จริง การมี Digital Inputs มากถึง 5 ชุด 5 รูปแบบของการเสียบต่อได้อย่างหลายหลาก ทำให้ผู้ใช้มั่นใจได้ว่า สามารถใช้งานได้ชนิด-ก้าวข้ามกาลเวลา-ไม่ต้องกลัวว่าจะ “ตกยุค” ที่สำคัญ “IA350” แม้จะรองรับได้กับแหล่งข้อมูลดิจิตอลประเภทต่างๆ ได้โดยตรง กระนั้น “ลักษณะเสียง” ที่ได้รับฟังก็ยังคงโดดเด่นอย่างคงเส้นคงวาในความเป็นอะนาลอก ที่ให้ความอบอุ่น อิ่มเอิบใจ ละเมียด ละมุน ละไม ละม้าย-คล้ายๆ กำลังฟังเสียงจากแอมป์หลอดฯอยู่กระนั้น

 

ขอขอบคุณ SOUNDBOX โทร. 02-539-0090, 089-920-8297 ที่เอื้อเฟือ YBA IA350 มาให้ได้ทดสอบกันในครั้งนี้