รีวิว Mission QX-2 Bookshelf Speakers

0

พัฒนาการอีกขั้นของตำนานลำโพงอังกฤษ

DAWN NATHONG

Mission QX-2

ลำโพง Mission กับผู้เขียน หากเปรียบเปรยก็คล้ายกับเพื่อนร่วมรุ่น แม้ไม่ใช่เพื่อนสนิทที่พบหน้าค่าตากันบ่อย แต่ก็รับรู้ถึงความเปลี่ยนแปลงไปตามวันเวลาทุกครั้งที่มีโอกาสได้พบเจอกัน อย่างที่เคยได้เขียนบทความทดสอบรุ่น LX-2 ไปก่อนหน้านี้ ลำโพง Mission มีพัฒนาการที่น่าสนใจอยู่ตลอดเวลาทุกครั้งที่มีการเปิดตัวรุ่นใหม่ ๆ

อย่าง QX ซีรี่ยส์ซึ่งออกมาในช่วงแห่งการเฉลิมฉลองครบรอบ 40 ปีของบริษัท ก็เรียกได้ว่ามีความเปลี่ยนแปลงในหลายภาคส่วนเลยทีเดียว แต่ถึงอย่างไรก็ตามเอกลักษณ์ซึ่งเป็นภาพจำของลำโพง Mission อย่างเช่นการจัดเรียงไดร์เวอร์ไว้เหนือทวีตเตอร์ ก็ยังเป็นสิ่งที่หลายคนเห็นและรับรู้ได้ทันทีว่านี่คือลำโพง Mission อย่างแน่นอน

Mission QX Series

สำหรับ QX-2 เป็นลำโพงวางหิ้งรุ่นใหญ่สุดในซีรี่ยส์ซึ่งประกอบไปด้วย QX-1 และ QX-2 ส่วนรุ่นตั้งพื้นจะเป็นรุ่น QX-3, QX-4 และ QX-5 นอกจากนี้ยังมีลำโพงไดโพลเซอร์ราวด์ QX-S, ลำโพงเซ็นเตอร์ QX-C และแอ็คทีฟซับวูฟเฟอร์รุ่น QX-12 เพื่อใช้งานในระบบโฮมซีเนม่า ซึ่งถ้าดูกันตามระดับชั้นและราคา ก็จะน่าเป็นซีรี่ยส์รองจากรุ่นเรือธง SX ซีรี่ยส์ของ Mission ในขณะนี้ และอยู่สูงกว่า LX ซีรี่ยส์ที่เปิดตัวมาก่อน

รายละเอียดที่น่าสนใจ

DiaDrive Cone System

เทคโนโลยีที่ผู้ผลิตใส่มาใน QX ซีรี่ยส์นั้นถือว่าค่อนข้างแหวกขนบจาก Mission ซีรี่ยส์ก่อนไม่น้อย อันดับแรกในส่วนของไดร์เวอร์แม้จะใช้ IDG กรวยไดร์เวอร์โดมเว้าที่ทำจากวัสดุเส้นใยไฟเบอร์ผสม และติดตั้งไว้เหนือตำแหน่งทวีตเตอร์เพื่อผลด้านลดการเหลื่อมเวลาของเสียงของวูฟเฟอร์กับทวีตเตอร์เหมือนเช่นเดิม

แต่สิ่งที่สะดุดตาทันทีนั่นคือครีบเหมือนฟันหวีที่อยู่รอบวูฟเฟอร์ ซึ่งทำหน้าที่ช่วยรีดอากาศและลดเสียงลมกวนจากทำงานของไดร์เวอร์ในระบบเบสรีเฟล็ก รวมถึงขอบยางแบบเว้าเข้า พร้อมระบบ DiaDrive Cone System เพิ่มหน้าสัมผัสตรงแกนของว๊อยส์คอล์ยช่วยเพิ่มแรงขับเคลื่อนไปยังไดร์เวอร์ให้มีความฉับพลันขึ้น รวมทั้งใช้ระบบมอเตอร์แม่เหล็กขนาดใหญ่รองรับกำลังขับได้สูงและให้แรงปะทะหัวเสียงที่ดี

Ring Dome Tweeter

ในส่วนของทวีตเตอร์ก็มีความโดดเด่นไม่แพ้กัน นาน ๆ จะเห็นลำโพงระดับราคานี้ใช้ทวีตเตอร์ที่ติดตั้งโดมแหลมตรงกลาง (คล้ายกับกับทวีตเตอร์รุ่นใหญ่ของ Scan-Speak) หรือเรียกอีกอย่างว่า Ring Dome ทวีตเตอร์ ขอบเซอราวด์สองชั้นเสริมความนิ่งและให้มุมกระจายเสียงที่กว้าง ด้านหลังไดอะเฟรมติดตั้งช่องอากาศคู่ช่วยลดเรโซแนนท์จากการทำงานของทวีตเตอร์ ทำให้ได้เสียงแหลมที่มีรายละเอียดและความเพี้ยนต่ำ

Aluminium Top Panel

โครงสร้างตัวตู้ MDF นั้นมีด้านกว้างที่มากกว่าลำโพงทั่วไปที่มักจะออกแบบเป็นทรงหน้าแคบแต่ลึกอยุ่สักหน่อย บริเวนขอบตู้แนวตั้งปาดมุมเอียงนัยว่าเพื่อช่วยลดเสียงสะท้อนกวนจากเหลี่ยมมุมของตู้

บริเวณด้านบน-ล่างมีแผ่นอลูมิเนียมประกบเพื่อจูนเรโซแนนท์ของตัวตู้อีกทางหนึ่ง ท่อพอร์ตด้านหลังตู้ลำโพงเป็นทรงรีแนวตั้งตรงปากท่อทำเป็นครีบเพื่อลดเสียงลมกวน ครอสโอเวอร์ใช้ขดลวดแกนเหล็กเคลือบ ตัวเก็บประจุโพลีโพรไพลีนแบบออดิโอเกรด ติดตั้งบนแผง PCB ห่างกันเพื่อลดการกวนจากสนามแม่เหล็ก ขั้วต่อลำโพงไบดิ้งโพสต์ห้าทางแบบซิงเกิ้ลไวร์

ติดตั้งเข้าระบบ

ด้วยขนาดของตู้ที่ค่อนข้างใหญ่ผู้เขียนเชื่อว่าหลายคนคงจะเจอปัญหาเพลตขาตั้งมีพื้นที่เล็กกว่าลำโพงแน่นอน ในกรณีของ QX2 ผู้เขียนทดลองขยับหาตำแหน่งของลำโพงที่เหมาะสมบนเพลตขาตั้งพบว่าควรจัดวางให้แผงหน้าลำโพงยื่นล้ำออกมาเลยเพลตขาตั้งเพียงเล็กน้อยโดยส่วนท้ายของลำโพงยื่นเลยออกไปมากกว่า

สาเหตุมีสองประการ หนึ่งด้วยสมดุลน้ำหนักของลำโพงจะค่อนมาทางด้านหน้าเนื่องจากมีไดร์เวอร์ติดตั้งอยู่หากขยับลำโพงมาทางด้านหน้าเพลตมากเกินไปจะทำให้การถ่ายเทน้ำหนักไม่สมดุลและอาจทำให้ลำโพงไม่มั่นคง สองคือในด้านคุณภาพเสียงการวางลำโพงให้ชิดเพลตขาตั้งด้านหน้าจะให้ย่านเสียงทุ้มที่กระชับและได้สมดุลดีกว่า

อีกสิ่งที่น่าสังเกตคือลำโพงคู่นี้จะใช้ระยะเวลาการเบิร์นอินที่นานกว่าลำโพงระดับราคานี้สักหน่อย หลังจากแกะกล่องแล้วฟังทันทีเสียงจะค่อนข้างทึบ รวมถึงย่านเสียงทุ้มที่ยังขาดความฉับไวและเก็บตัวได้ไม่ดีนัก จำเป็นต้องผ่านการใช้งานอย่างน้อยประมาณ 100 ชั่วโมงขึ้นไปอาการดังกล่าวจึงจะหายไปและมีความโปร่งกระจ่างขึ้นตามลำดับ

นอกจากนี้หากเป็นไปได้ควรเลือกจับคู่แอมป์ทรานซิสเตอร์ที่มีกำลังขับสูงสัก 80 – 100 วัตต์ขึ้นไปจะขับลำโพงคู่นี้ได้คุณภาพที่เต็มเม็ดเต็มหน่วยมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นแอมป์คลาสดี ดูจะเข้าขากันได้ดีเป็นพิเศษ

สำหรับซิสเต็มที่ใช้ทดสอบหลังจากลองปรับจูนจนเป็นที่พอใจแล้วมาลงตัวที่ปรีแอมป์ Bryston 60B กับเพาเวอร์แอมป์ NAD 216THX เชื่อมต่อด้วยสายสัญญาณ Kimber Hero และ Taralabs TL-101 สายลำโพง Eagle รุ่น Monitor Cobra Silver 3 Mix ถอดหน้ากากลำโพงออกตลอดการรับฟังเสียงจะเปิดโปร่งและมีรายละเอียดหยุมหยิมที่ดีกว่าการใส่หน้ากาก วางบนขาตั้งสูง 24 นิ้ว ลำโพงวางห่างกันโดยประมาณ 189 เซนติเมตร เอียงหน้าลำโพงเข้าหากันเล็กน้อยไม่เกิน 5 องศา

ผลการลองฟัง

ถ้าใครที่เคยได้ฟังลำโพงรุ่น LX-2 มาก่อนจะรับรู้ได้ทันที่ว่า QX-2 จะโทนเสียงที่มาแนวทางเดียวกันคือให้ย่านเสียงกลางทุ้มที่อบอุ่นและลื่นไหล มีย่านปลายแหลมที่มีความราบเรียบกลมกลืน แต่สิ่งที่ QX-2 สามารถทำได้เหนือชั้นกว่าคือปลายแหลมที่มีทั้งน้ำหนัก รายละเอียดและความใสเป็นประกายมากขึ้น

มีการทอดหางเสียงที่เป็นระลอกแสดงออกมาได้ละเอียดอ่อนมากยิ่งขึ้น อานิสงค์ส่วนหนึ่งก็มาจากการเปลี่ยนมาใช้ทวีตเตอร์แบบริงโดมด้วยนั่นเอง เสียงเครื่องเคาะโลหะจำพวกไตรแองเกิ้ล แทมโบลิน มีความสดใสกังวานน่าฟังพริ้วเป็นระลอกและมีหน้ำหนักหัวเสียงที่ดี เนื้อเสียงกระชับแน่น ขณะเดียวกัยก็ยังรักษาความกลมกลืนไปกับย่านกลางได้ยอดเยี่ยม Canon in D – Audiophile Reference, Vol. 4 [WAV 44.1 kHz / 16 bit]

ปลายแหลมของ QX-2 จะค่อนไปทางสว่างเล็กน้อยแต่แฝงความนุ่มนวลเอาไว้อย่างสมดุล เนื้อเสียงแหลมสะอาดเกลี้ยงเกลา มีความปรานีตไม่โฉ่งฉ่าง ทำให้สามารถรับฟังต่อเนื่องได้ยาวนานโดยไม่รู้สึกระคายหู เสียงเปียโนจาก Misty – The Famous Sound of Three Blind Mice [TBM XR 9001] ที่ฟังแล้วหวานพลิ้วกังวานลื่นไหลคือคำตอบที่ชัดเจน ในจุดนี้ถือว่าเหนือกว่า LX-2 ไปอีกระดับ

ย่านเสียงกลางยังคงเอกลักษณ์ของ Mission เอาไว้ครบถ้วนทั้งความสะอาด อบอุ่นนุ่มนวล ติดหวาน เสียงคนร้องมีความชัดเจนแบบธรรมชาติ คือสามารถรับรู้ทรวดทรงของนักร้องที่เป็นสามมิติ ตำแหน่งของนักร้องลอยเด่นออกมาจากพื้นหลัง ได้ยินเสียงอักขระการเปล่งเสียงต่าง ๆ ชัดเจนแต่ไม่พุ่งเข้าหาคนฟัง ในขณะเดียวกันก็ไม่จมหายไปกับย่านเสียงอื่นแต่รักษาสมดุลเอาไว้ได้อย่างพอเหมาะพอเจาะ มีบรรยากาศห้อมล้อมตัวเสียงให้ได้ยิน

เสียงนักร้องทั้งชายและหญิงมีสมดุลเสียงทั้งย่านกลางสูงถึงกลางต่ำที่อุดมสมบูรณ์ เสียงจากปอดและช่องท้องที่เปล่งออกมามีพลังและไล่ระดับอย่างต่อเนื่องลื่นไหล ด้วยสเกลเสียงที่สมส่วนและมีเนื้อหนังแรกฟังคล้ายจะขาดความใส แต่ฟังไปสักพักจะรับรู้ได้ว่าช่องว่างช่องไฟยังทำได้ดีและเก็บรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ได้ครบถ้วนชัดเจน Baby, It’s Cold Outside – Emilie Claire Barlow / Winter Wonderland [FLAC 48 kHz / 24 bit]

จุดเด่นอีกอย่างของ QX-2 คือย่านทุ้ม เรียกว่าใครที่ชอบเสียงทุ้มเนื้อ ๆ เน้น ๆ ฟังสนุกจากลำโพงวางหิ้งละก็ต้องมาฟังกับคู่นี้ ส่วนนึงน่าจะมาจากระบบ DiaDrive Cone System ที่ช่วยพลักดันเสียงทุ้มให้มีปริมาณและความหนักหน่วงออกมาได้เกินตัว หลักการคล้าย ๆ กับการใช้วูฟเฟอร์สองตัวซ้อนกันแบบระบบไอโซบาริคเพื่อเพิ่มปริมาณเสียงทุ้มโดยไม่ต้องใช้ปริมาตรตู้มากมายแต่อย่างใด

หัวเสียงทุ้มมีความนุ่มและแน่นทอดปลายเสียงอย่างราบรื่นไม่แข็งกระด้าง ช่วงเบสต้นและมิดเบสมีน้ำหนักเสียงดีมาก ดีดเด้งตัวดีและให้ความนุ่มนวลในคราเดียวกัน ส่วนย่านเบสลึกจะค่อยๆ ทอดตัวและจางหายไปอย่างรวดเร็ว รายละเอียดในย่านทุ้มต่ำมีให้สัมผัสได้พอประมาณ ให้ความกระชับของเสียงทุ้มอย่างพอเหมาะ Poem of Chinese Drums – Yim Hok Man / Burmester Reference CD III [FLAC 44.1 kHz / 16 bit] หากได้จับคู่กับแอมป์ที่มีค่าแดมปิ้งแฟ็คเตอร์สูง ๆ อย่างแอมป์คลาสดีก็น่าจะช่วยเสริมในจุดนี้ได้อย่างลงตัวขึ้นไปอีก

สมดุลเสียงจะค่อนมาทางกลางต่ำเล็กน้อย ให้ความกลมกลืนระหว่างจุดตัดครอสโอเวอร์ที่แนบเนียน เสียงดนตรีที่คาบเกี่ยวระหว่างไดร์เวอร์ทั้งสองตัวกลมกลืนแบบไร้รอยขยัก ถ้าถามว่า QX-2 เหมาะกับเพลงแบบไหนมากที่สุด ต้องขอบอกว่ากับแนวเพลงขับร้อง ดนตรีอคูสติกส์น้อยชิ้น เพลงป็อป อาร์แอนด์บี ร็อค หรือแม้แต่เพลงแนวอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหลายก็ไปกันได้ดีมากทีเดียว มีทั้งความกลมกล่อมลงตัวและฟังสนุกได้อารมณ์ Eagles – Hell Freezes Over [K2HD, GEFFEN 5331147]

และดูเหมือนว่า QX-2 จะชอบให้ฟังในระดับความดังสูงกว่าปกตินิดหน่อย จะช่วยทำให้เปิดเผยศักยภาพออกมาได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น กับแนวอื่น ๆ เช่นเพลงแจ็สหรือคลาสสิคก็ทำคะแนนได้อย่างน่าพอใจเช่นเดียวกัน เพียงแต่จะไม่โดดเด่นอย่างถึงที่สุดเท่ากับแนวเพลงที่กล่าวมาข้างต้น นอกจากนี้แม้จะไม่ได้มีแนวเสียงที่เป็นกลางแบบลำโพงมอร์นิเตอร์เสียทีเดียว แต่ QX-2 ก็ยังบ่งบอกถึงการเปลี่ยนแปลงของเสียงเมื่อมีการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ต่าง ๆ ลงในซิสเต็มได้ดีทีเดียว

จุดขายอีกอย่างที่ต้องถือเป็นไฮไลท์ของ QX-2 คือมิติเวทีเสียง ใครจะคิดว่าลำโพงตู้ไซส์นี้จะให้มิติเสียงที่เป็นตัวตนและหลุดลอยออกจากตู้ได้ดีมาก ไม่มีความรู้สึกว่าเสียงออกมามาจากกล่องทรงสี่เหลี่ยมข้างหน้าเลย ผลจากการออกแบบทวีตเตอร์และเวฟไกด์ช่วยกระจายเสียงอย่างได้ผลทำให้มีมุมกระจายเสียงได้กว้างมาก สามารถฉีกเวทีเสียงออกไปรอบตัวลำโพงได้มากโดยด้านกว้างจะมีความโดดเด่นมากที่สุด ให้รูปวงในลักษณะคล้ายวงรีค่อนไปทางด้านหลังลำโพง ด้านลึกและด้านสูงก็ถือว่าทำได้ดีมากเมื่อเทียบกับคู่แข่งในระดับเดียวกัน

ชิ้นดนตรีต่าง ๆ มีตำแหน่งเป็นที่เป็นทาง มีช่องไฟอย่างอิสระต่อกัน ไม่มั่วหรือสับสนแม้ในช่วงที่ดนตรีมีความสลับซับซ้อน สามารถติดตามรายละเอียดได้อย่างครบถ้วนไม่ตกหล่น ไดนามิกของเสียงที่ถ่ายทอดออกมามีความละเอียดอ่อนมากพอสมควร เหนือกว่ารุ่น LX-2 ไปอีกระดับ มีชั้นเชิงในการนำเสนออย่างไม่รุกเร้ามากแต่จะออกไปทางผ่อนปรนฟังแล้วไม่รู้สึกเหนื่อย ผ่อนหนัก-เบาได้อย่างลื่นไหล มีความโปร่งใสของเวทีเสียงและความสงัดของพื้นเสียงอยู่ในระดับที่น่าพอใจ

สรุป

Mission QX-2 ถือเป็นลำโพงที่หากใครเคยฟังหรือชื่นชอบน้ำเสียงของรุ่น LX-2 มาอยู่แล้ว น่าจะถูกใจกับน้ำเสียงได้ไม่ยาก ด้วยคุณภาพเสียงโดยรวมที่ให้ความกลมกล่อม ปลายแหลมมีทั้งความชัดเจนและความนุ่มนวล เสียงกลางอิ่มเอิบติดหวาน มีเบสต้นที่ฟังสนุกให้น้ำหนักเสียงที่โดดเด่น

สามารถรับฟังต่อเนื่องได้ยาวนานโดยไม่รู้สึกเครียดหรือล้าหู ออกไปทางผ่อนคลาย แต่ถ่ายทอดรายละเอียดครบถ้วนไม่ตกหล่น ฟังแล้วไม่รู้สึกว่าอะไรขาดหรือเกิน ที่สำคัญให้มิติเวทีเสียงที่โอ่อ่าอลังการไม่ใช่เล่นเลยทีเดียวโดยเฉพาะด้านกว้าง เหมาะสมทั้งการนำไปใช้ฟังเพลงสองแชนแนลและชมภาพยนตร์

อุปกรณ์ร่วมทดสอบ

  • แหล่งโปรแกรม – PC, แด็ค Chord: Mojo, เครื่องเล่นไฟล์พกพา iBasso: DX80, เครื่องเล่นซีดี Micromega Stage 2
  • แอมปลิฟายเออร์อินทิเกรทแอมป์ Bryston: B-60, เพาเวอร์แอมป์ NAD: 216THX
  • ลำโพงลำโพงวางหิ้ง NHT: 1.5
  • สายเชื่อมต่อสายดิจิทัล USB Furutech: Formula 2, สายดิจิทัลโคแอ็คเชี่ยล QED: Qunex SR75, สายสัญญาณอนาล็อก Kimber Hero, สายสัญญาณอนาล็อกTaralabs: TL-101, สายไฟเอซี Shunyata: Python VX, Cardas: Crosslink 1s, Kimber: Powerkord, Audience AU 24 SX, สายลำโพงSupra: Ply 3.4, Eagle: Monitor Cobra silver 3 Mix, PAD: Aqueous Aureus
  • อุปกรณ์เสริมปลั๊กผนัง PS Audio: Power Port Premiere (Audiophile Grade), ปลั๊กกรองไฟ Clef: Power Bridge 8 (เปลี่ยนปลั๊กเป็น Wattgate 381), ตัวกรองไฟ X-filter, ตัวกรองน้อยส์ Audio Prism: Quite Line mkIII, ตัวกรองน้อยส์ Audio Quest: Jitter Bug, ผลึกควอตซ์ Acoustic Revive: QR-8, ตัวอุดปลั๊ก Isoclean, ขาตั้งลำโพง Atacama: HMS 1, ชั้นวางเครื่องเสียง Audio Arts

รายละเอียดด้านเทคนิค

Enclosure Type Bass Reflex
Transducer Compliment 2-Way
Bass Driver 6.5″ (150MM) Long Fibre Composite Cone
Treble Driver 1.5″ (38mm) Textile Ring Dome
AV Sheild No
Sensitivity (2.0V@1m) 88db
Recommended Amplifier Power 25-120W
Peak Power Handling Peak SPL 95dB
Nominal Impedence 8Ω Compatible
Minimum Impedance 3.6Ω
Freq Response (Hz) 44 – 24kHz
Bass Extension(-6dB) 38Hz
Crossover Frequency 2.2kHz
Cabinet Volume (in litres) 13.5L
Dimensions h x w x d 320mm x 220mm x 300+5mm (with Terminations)
Colour Rosewood
Net Weight 8.8Kg/pcs
Carton Dimensions 560mm x 410mm x 430mm

ขอขอบคุณ บริษัท ไฮ – ไฟ ทาวเวอร์ จำกัด โทร. 02 881 7273 ที่เอื้อเฟื้อสินค้าสำหรับการทดสอบ