Test Report: ชุดลำโพงโฮมเธียเตอร์ JBL Stage

0

“ดูหนัง ฟังเพลง ในสไตล์ชัดเจน และหนักแน่น”

ฐานิสร์ มหาคุณ

ถ้าเราเกิดอยากจะซื้อลำโพงสักคู่หนึ่งขึ้นมา ไม่ว่าจะนำมาดูหนังหรือฟังเพลง สิ่งที่เราย่อมนำมาพิจารณาร่วมด้วยในการซื้อ หนึ่งในนั้นก็คงเป็นเรื่องยี่ห้อของลำโพง ผู้เขียนคิดว่ามีลำโพงยี่ห้อหนึ่งที่ค่อนข้างจะได้เปรียบยี่ห้ออื่นอยู่พอสมควร ในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ซื้อที่จะมาซื้อลำโพงของตน ยี่ห้อนั้นก็คือยี่ห้อ JBL ที่ผู้เขียนคิดว่า JBL ได้เปรียบยี่ห้ออื่นอยู่ก็เพราะว่า นอกจากการผลิตลำโพงที่ใช้ในบ้านแล้ว ทาง JBL ยังมีชื่อในการผลิตลำโพงที่ใช้งานในระดับมืออาชีพด้วย ทั้งลำโพงในโรงหนัง หรือลำโพงที่ใช้บนเวทีคอนเสิร์ต ทำให้ผู้เขียนคิดว่า JBL น่าจะนำความรู้และประสบการณ์ที่มีมาจากการทำลำโพงมืออาชีพ มาเป็นตัวช่วยในการผลิตลำโพงที่ใช้ในบ้าน ซึ่งน่าจะได้เปรียบมากกว่ายี่ห้ออื่น

หากกล่าวถึงลำโพง JBL นักเล่นบ้านเราก็คงจะรู้จักและคุ้นเคยเป็นอย่างดี ภาพลักษณ์ของตัวยี่ห้อ JBL ที่มีบริษัท มหาจักร-ดีเวลอปเมนท์ เป็นผู้นำเข้าในบ้านเรา ก็ถือว่ามีภาพลักษณ์ที่ดี โดยมีการนำเข้าสินค้าที่มีคุณภาพและให้บริการที่ดีมาโดยตลอด หากได้พูดคุยกับนักเล่นรุ่นเก๋าในวงการ ก็จะได้ยินอยู่บ่อยครั้งที่มีการชื่นชมหรือแนะนำลำโพงรุ่นดังๆ ของ JBL ให้เราได้ฟัง

ส่วนตัวผู้เขียนเองก็มีความประทับใจในลำโพงของ JBL อยู่เหมือนกัน ต้องเล่าย้อนกันไปถึงสมัยที่ผู้เขียนยังเรียนหนังสืออยู่นั่นเลย สมัยนั้นเป็นสมัยที่แผ่น DVD พึ่งเริ่มจะแพร่หลาย ระบบเสียงที่กำลังมาแรงตอนนั้นก็คือ Dolby Digital 5.1 และ DTS 5.1 เพื่อนของผู้เขียนอยากได้ชุดโฮมเธียเตอร์สักชุดหนึ่ง ผู้เขียนก็ได้ไปช่วยเพื่อนเลือกซื้อ พอเลือก AVR กับเครื่องเล่น DVD ได้แล้ว ทีนี้ยังไม่รู้จะเลือกลำโพงอะไรดี ผู้เขียนก็หันไปเห็นลำโพงของ JBL เข้าพอดี ซึ่งเป็นรุ่น HLS810 เป็นลำโพงวางหิ้ง ที่มีเวฟไกด์ของทวีตเตอร์เป็นรูปทรงฮอร์น และมีวูฟเฟอร์ขนาดใหญ่ถึง 8 นิ้ว ผู้เขียนคิดว่าน่าสนใจดีที่จะนำมาดูหนัง จึงได้แนะนำให้เพื่อนซื้อมา และเมื่อได้ฟังเสียงแล้ว ผู้เขียนบอกกับตัวเองเลยว่า คิดไม่ผิดจริงๆ ที่ได้แนะนำให้เพื่อนซื้อลำโพงรุ่นนี้ เสียงดูหนังจากลำโพง HLS810 สร้างความประทับใจให้ผมกับเพื่อนเป็นอย่างมาก เสียงที่ออกมานั้นมีรายละเอียด รวดเร็วฉับไว และหนักแน่น ดูหนังแอ็คชั่นได้สนุกจริงๆ และที่สำคัญราคาของมันก็ไม่ได้สูงอีกด้วย

JBL Stage ชื่อที่บ่งบอกถึงคอนเซ็ปต์

สินค้าที่นำมาทดสอบในวันนี้ เป็นลำโพง Home Audio รุ่นใหม่จากทาง JBL ชื่อรุ่น Stage ที่มีคอนเซ็ปต์ในการใช้งานคือ ยกการแสดงคอนเสิร์ตหรือโรงหนังมาไว้ในบ้านคุณ จากชื่อรุ่น Stage ก็คงจะสื่อความหมายของคอนเซ็ปต์ลำโพงได้เป็นอย่างดี ลำโพง JBL Stage มีจุดเด่นในการออกแบบก็คือ เป็นลำโพงที่ใช้งานได้ทั้งดูหนังฟังเพลง มีการใช้ตัวทวีตเตอร์แบบโดมอลูมิเนียม ที่มาพร้อมกับเวฟไกด์รูปทรงปากฮอร์น ที่ทาง JBL เรียกเวฟไกด์ชนิดนี้ว่า HDI (High Definition Imaging)

ส่วนทางวูฟเฟอร์นั้นใช้เป็นวูฟเฟอร์ที่ทำมาจากวัสดุโพลีเซลลูโลส ที่มีน้ำหนักเบาและแข็งแกร่ง ช่วยให้เสียงที่ออกมานั้นมีความสะอาดและความเพี้ยนต่ำ นอกจากจะถูกออกแบบให้ใช้งานได้ดีทั้งการดูหนังและฟังเพลงแล้ว JBL Stage ยังสามารถรองรับเสียงความละเอียดสูงที่ได้รับความนิยมอยู่ในขณะนี้ได้ เพราะตัวลำโพงตอบสนองความถี่ได้สูงถึง 40kHz ส่วนในด้านความสวยงามนั้น JBL Stage ได้มีการตกแต่งตัวตู้ลำโพงแบบทูโทน โดยมีสีดำด้านที่ตู้ลำโพงส่วนบน และลายไม้สีโอ็คแดงที่ตู้ลำโพงส่วนล่าง หน้าตาของ JBL Stage ผู้เขียนคิดว่ามันให้อารมณ์ที่ดูคลาสิกและอบอุ่นดี ตัวเวฟไกด์รูปฮอร์นนั้นดูคลาสิกเห็นแล้วนึกถึงลำโพงรุ่นเก่าๆ ของ JBL ส่วนสีไม้โอ๊คแดงก็ดูเหมือนพวกเฟอร์นิเจอร์โบราณที่ให้ความรู้สึกอบอุ่น

-จัดเข้าชุดเพื่อทดสอบ-

สินค้าในไลน์อัพ JBL Stage จะมีอยู่หลายรุ่นหลายขนาดด้วยกัน มีทั้งลำโพงตั้งพื้น ลำโพงวางหิ้ง ลำโพงเซ็นเตอร์ และซับวูฟเฟอร์ ส่วนรุ่นที่จะนำมาทดสอบในวันนี้ เป็นการจัดชุดแบบโฮมเธียเตอร์ 5 ลำโพง ซึ่งประกอบไปด้วย

– JBL Stage A170 เป็นลำโพงคู่หน้า

– JBL Stage A120 เป็นลำโพงเซอราวด์

– JBL Stage A135C เป็นลำโพงเซ็นเตอร์

JBL Stage A170 ที่ถูกนำมาใช้เป็นลำโพงคู่หน้าในการทดสอบนี้ จัดว่าเป็นลำโพงตั้งพื้นขนาดกลางๆ ที่มีรูปทรงค่อนข้างกะทัดรัดดีทีเดียว ใครที่มีห้องไม่ใหญ่มากนัก หน้ากว้างประมาณ 3 ถึง 3.5 เมตร JBL Stage A170 ก็ดูน่าจะกำลังเหมาะสมดี ขาตั้งที่ยื่นออกมาทั้ง 4 มุม ออกแบบได้สวยงาม แข็งแรง และมีประโยชน์ในการปรับตั้งได้อย่างมั่นคง JBL Stage A170 มีการใช้วูฟเฟอร์ขนาด 5.25 ถึง 2 ตัว และสามารถตอบสนองความถี่ได้ลึกถึง 44Hz ฉะนั้นจึงหมดห่วงในเรื่องการทำหน้าที่เป็นลำโพงคู่หน้าเพราะคงจะสามารถตอบสนองความถี่ต่ำได้ดี และที่สำคัญ JBL Stage A170 ยังมีความไวถึง 89dB จึงไม่น่าเป็นห่วงเรื่องการกินกำลังขับมากนัก AVR รุ่นทั่วๆ ไปก็น่าจะขับได้อย่างไม่ยาก

JBL Stage A120 ที่รับหน้าที่ลำโพงเซอราวด์ในชุดการทดสอบนี้ เป็นลำโพงที่ออกแบบมาให้ใช้งานได้หลากหลาย มันสามารถใช้เป็นลำโพงคู่หน้าในการดูหนังหรือฟังเพลงก็ได้ เพราะถึงแม้มันจะมีขนาดตัวที่ไม่ใหญ่นัก แต่มันก็สามารถตอบสนองความถี่ต่ำได้ถึง 60Hz ซึ่งเพียงพอต่อการใช้งานทั่วๆ ไปในการดูหนังและฟังเพลง (การดูหนังอาจจะต้องใช้ซับวูฟเฟอร์ช่วย) ส่วนในการใช้เป็นลำโพงเซอราวด์นั้น JBL Stage A120 ก็ดูเหมาะสมอย่างยิ่งเพราะด้วยขนาดที่กะทัดรัดของมัน จะช่วยให้การติดตั้งลำโพงเซอราวด์นั้นสะดวกยิ่งขึ้น และเมื่อติดตั้งเสร็จแล้วก็จะดูเรียบร้อยสวยงาม ไม่ทำให้เกะกะมากนักในกรณีที่ห้องมีขนาดเล็ก นอกจากนี้แล้ว JBL Stage A120 ยังถูกออกแบบมาให้ใช้งานด้วยการแขวนผนังได้อีกด้วย ซึ่งในกล่องจะมีขาแขวนพร้อมน็อตยึดมาให้ติดตั้ง มีอยู่หนึ่งจุดที่ผู้เขียนชอบเกี่ยวกับ JBL Stage A120 ซึ่งผู้เขียนคิดว่าเป็นความใส่ใจในการผลิตของทาง JBL นั่นก็คือการมีปลั๊กโฟมแถมมาให้ในกล่อง เพื่อที่จะนำมาอุดช่องระบายเสียงเบสของ JBL Stage A120 ที่อยู่ทางด้านหลัง ในกรณีที่ใช้งานแบบแขวนผนัง ลำโพงวางหิ้งโดยทั่วไปที่มีช่องระบายเสียงเบสออกทางด้านหลัง เมื่อนำมาแขวนผนังก็จะเกิดการปิดบังช่องระบายเบสขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหากับเสียงเบสได้ การใช้ปลั๊กโฟมมาอุดช่องระบายเบสก็จะทำให้ลำโพงเปลี่ยนจากระบบตู้เปิดมาเป็นระบบกึ่งตู้ปิด ทำให้ปัญหาของเสียงเบสในการแขวนผนังนั้นลดน้อยลง

ส่วนลำโพงเซ็นเตอร์ในชุดทดสอบนี้คือรุ่น JBL Stage A135C เป็นลำโพงเซ็นเตอร์ที่มีลักษณะแบนยาว และมีการใช้วูฟเฟอร์ขนาดเล็กจำนวนหลายตัวเข้ามาแทนที่การใช้วูฟเฟอร์ขนาดใหญ่ 2 ตัว การออกแบบลักษณะนี้เราจะพบได้มากขึ้นในลำโพงเซ็นเตอร์รุ่นใหม่ๆ ซึ่งมีจุดประสงค์ให้ลำโพงเซ็นเตอร์หาตำแหน่งที่วางได้ง่ายขึ้น และไม่ขึ้นไปบดบังจอทีวี JBL Stage A135C มีการใช้วูฟเฟอร์ขนาด 3 นิ้ว มากถึง 6 ตัว ซึ่งการใช้วูฟเฟอร์ลักษณะนี้จะเป็นการชดเชยเรื่องขนาดของตัวตู้ที่มีขนาดเล็กลงไป ทำให้น้ำเสียงที่ได้มีน้ำหนักและอิ่มหนาเหมือนเดิม JBL Stage A135C ถูกออกแบบมาให้ใช้งานได้ด้วยการแขวนเช่นเดียวกับ JBL Stage A120 โดย JBL Stage A135C มีการติดตั้งช่องระบายเบสอยู่ด้านข้างของตัวลำโพงแทนด้านหลัง และมีขาแขวนติดตั้งมาให้ในตัว

-เสปกที่น่าสนใจ-

JBL Stage A170

-ลำโพงตั้งพื้นแบบ 2 ทางครึ่ง ตู้เปิด ท่อระบายเบสออกด้านหลัง

-ทวีตเตอร์อะลูมิเนียมโดมขนาด 1 นิ้ว พร้อมด้วยเวฟไกด์ HDI

-วูฟเฟอร์โพลีเซลลูโลสขนาด 5.25 นิ้ว X 2

-กำลังขับที่แนะนำ 20 – 200 W

-ตอบสนองความถี่ 44Hz – 40kHz

-ความไว 89 dB

-ความต้านทาน 6 โอห์ม

-ขนาด กว้าง 190 มม. ลึก 255 มม. สูง 930 มม.

-น้ำหนัก 14.34 กิโลกรัม

JBL Stage A120

-ลำโพงวางหิ้งแบบ 2 ทาง ตู้เปิด ท่อระบายเบสออกด้านหลัง

-ทวีตเตอร์อะลูมิเนียมโดมขนาด 1 นิ้ว พร้อมด้วยเวฟไกด์ HDI

-วูฟเฟอร์โพลีเซลลูโลสขนาด 4.5 นิ้ว

-กำลังขับที่แนะนำ 20 – 125 W

-ตอบสนองความถี่ 60Hz – 40kHz

-ความไว 86 dB

-ความต้านทาน 6 โอห์ม

-ขนาด กว้าง 170 มม. ลึก 170 มม. สูง 285 มม.

-น้ำหนัก 3.81 กิโลกรัม

JBL Stage A135C

-ลำโพงเซ็นเตอร์แบบ 2 ทาง ตู้เปิด ท่อระบายเบสออกด้านข้าง

-ทวีตเตอร์อะลูมิเนียมโดมขนาด 1 นิ้ว พร้อมด้วยเวฟไกด์ HDI

-วูฟเฟอร์โพลีเซลลูโลสขนาด 3 นิ้ว X 6

-กำลังขับที่แนะนำ 20 – 150 W

-ตอบสนองความถี่ 75Hz – 40kHz

-ความไว 90 dB

-ความต้านทาน 6 โอห์ม

-ขนาด กว้าง 745 มม. ลึก 166 มม. สูง 104 มม.

-น้ำหนัก 7.45 กิโลกรัม

-การติดตั้งและเซ็ตอัพ-

การทดสอบในครั้งนี้เป็นการมาทดสอบที่โชว์รูมของทาง บริษัท มหาจักรฯ โดยชุดลำโพง JBL Stage ได้ติดตั้งไว้เรียบร้อยอยู่แล้วที่บริเวณห้องโถงชั้น 2 ของโชว์รูม บริเวณที่ทดสอบนั้นเป็นพื้นที่โล่ง จุดที่ลำโพงตั้งอยู่น่าจะกินพื้นที่ประมาณ 12 ตารางเมตร การเซ็ตอัพตำแหน่งลำโพงต่างๆ ก็จะเป็นไปตามที่ทาง บริษัท มหาจักรฯ ได้เซ็ตอัพเอาไว้ โดยตัวผู้เขียนอาจจะมีการปรับแต่งเพิ่มนิดหน่อย เช่น การโทนอินลำโพงเพิ่ม ส่วนการเซ็ทอัพในตัว AVR ก็จะเป็นไปตามนี้ ลำโพงคู่หน้าตั้งค่าไว้ที่ Large ลำโพงเซ็นเตอร์และเซอราวด์ตั้งค่าไว้ที่ Small และจุดตัดของซับวูฟเฟอร์ตั้งค่าไว้ที่ 80Hz (ในการทดสอบนี้มีอุปกรณ์ร่วมทดสอบคือ AVR Denon และซับวูฟเฟอร์ Q Acoustic)

-ผลการรับฟัง-

 ลำโพง JBL Stage ได้แสดงความเป็นลำโพงสัญชาติอเมริกาออกมาอย่างชัดเจน โดยมีน้ำเสียงที่ชัดเจน จริงจัง และหนักแน่น ท่านไหนที่ชอบเสียงที่ฟังแล้วมีความสนุก ตื่นเต้น ฟังแล้วรู้สึกมีชีวิตชีวา JBL Stage ไม่ทำให้คุณผิดหวังอย่างแน่นอน JBL Stage จะถ่ายทอดเสียงจากฉากหนังแอ็คชั่นออกมาได้ราวกับว่าเสียงเหล่านั้นเกิดขึ้นตรงหน้าเราจริงๆ หรือไม่ว่าจะเป็นเสียงจากเวทีร็อคคอเสิร์ต JBL Stage ก็จะทำให้คุณรู้สึกเหมือนว่าคุณได้อยู่ในคอนเสิร์ตนั้นจริงๆ

ลำโพงส่วนใหญ่ที่มีแนวเสียงชัดเจนแบบนี้ ถ้าฟังดูดีๆ แล้ว เราอาจจะพบว่ามีการแต่งแต้มสร้างสีสันในน้ำเสียงอยู่บ้าง แต่กับลำโพง JBL Stage ผู้เขียนกลับไม่รู้สึกว่าเป็นอย่างนั้นเลย เสียงของ JBL Stage มีความเที่ยงตรงและความสะอาดค่อนข้างสูงทีเดียว ส่วนการคุมความสมดุลของย่านเสียงต่างๆ ก็ทำได้ดีมาก เสียงแหลม กลาง ทุ้ม ลำโพง JBL Stage จะทำให้เรารู้สึกว่าเสียงทั้งหมดนั้นมีออกมาให้เราได้ยินในสัดส่วนที่เท่าๆ กันพอดี ทำให้เกิดความกลมกล่อมในน้ำเสียงเกิดขึ้น

ลำโพงที่มีการคุมความสมดุลของย่านเสียงได้ดีนั้น ผู้เขียนคิดว่าเป็นลำโพงที่นำมาดูหนังได้ค่อนข้างดีทีเดียว เพราะปัจจัยในการดูหนังให้สนุกนั้นส่วนหนึ่งต้องมาจากเสียงที่มีความดังและรุนแรง หากลำโพงไม่สามารถควบคุมความสมดุลของย่านเสียงได้ดี เมื่อเราเร่งเสียงขึ้นไปดังๆ แล้ว ก็จะมีเสียงย่านใดย่านหนึ่งที่ดังเด่นขึ้นมาแค่ย่านเดียว ทำให้เสียงที่ออกมาขาดความสมบูรณ์ได้ ในหนังเรื่อง Mad Max : Fury Road จากแผ่น Dolby Atmos Demo Disc 2016 แทรคนี้เป็นแทรคที่มีรายละเอียดของเสียงอยู่มากและมีไดนามิกสูง ลำโพงที่มีการคุมความสมดุลของย่านเสียงได้ไม่ดี ก็อาจจะให้เสียงแหลมที่เด่นออกมาแค่ย่านเดียว ทำให้เกิดอาการเสียงบาดหู หรือในทางกลับกันถ้าให้เสียงเบสที่เด่นออกมาแค่ย่านเดียว ก็อาจจะทำให้เกิดอาการเสียงเบสครางอื้ออึงได้ ลำโพง JBL Stage ให้ความสมดุลของย่านเสียงในฉากนี้ออกมาได้ดีมากๆ เสียงของเครื่องยนต์ที่แผดออกมาก็มีทั้งเสียงแหลมที่สดชัดและเสียงเบสที่ต่ำลึกผสมผสานกันออกมา ทำให้เกิดเสียงที่สมจริง ตื่นเต้น เร้าใจ และที่สำคัญลำโพง JBL Stage ยังสามารถเปิดได้ที่ระดับความดังมากๆ โดยไม่มีอาการเสียงกัดหูเกิดขึ้น

จุดเด่นของลำโพงฮอร์นนั้นก็คือการให้เสียงแหลมที่มีไดนามิกและฉับไว เวฟไกด์ทรงปากฮอร์นที่ทาง JBL เรียกว่า HDI มีส่วนช่วยมากทีเดียว ที่ทำให้เสียงของ JBL Stage มีความสนุก ตื่นเต้น เสียงแหลมของ JBL Stage นั้นถ่ายทอดออกมาได้อย่างรวดเร็วและมีไดนามิกที่ฉับพลันดีมาก เสียงที่มีความรวดเร็ว เช่นเสียงปืน เสียงกระจกแตก หรือว่าเสียงเอฟเฟคในการต่อสู้ต่างๆ เสียงเหล่านี้ต้องถือว่าเข้าทางลำโพง JBL Stage ได้อย่างเหมาะเจาะ เสียงเอฟเฟคที่เกิดขึ้นเราจะรู้สึกได้เลยว่ามันมีการสวิงของเสียงที่ดีมาก ทำให้เสียงเหล่านั้นมีความหลุดลอย พุ่งเข้าหาตัวเราอย่างสมจริง ในแทรค Shattered จากแผ่น Dolby Atmos Demo Disc 2016 แทรคนี้เป็นการให้เสียงของลูกเบสบอลที่ทะลุกระจกเข้ามา ลำโพง JBL Stage ให้เสียงกระจกแตกที่มีไดนามิกสมจริงมากๆ ฟังแล้วดูหลุดลอย พุ่งเข้าหาตัว จากเสียงที่เงียบๆ อยู่ แล้วมีเสียงกระจกแตกขึ้นมา เสียงที่ดังขึ้นมานั้นมีการสวิงของเสียงที่รุนแรงและฉับพลัน จนทำให้ผู้เขียนรู้สึกตกใจนิดๆ ขึ้นมาทีเดียว หลังจากนั้นเสียงของเศษกระจกที่ตกลงพื้นก็มีความชัดเจนและให้ความรู้สึกของเศษกระจกเป็นร้อยๆ ชิ้นได้เป็นอย่างดี

นอกจากจะให้เสียงที่ชัดเจนและหนักแน่นแล้ว เรื่องมิติและการโฟกัสของเสียงลำโพง JBL Stage ก็ทำได้อย่างยอดเยี่ยมเช่นกัน เสียงต่างๆ ที่เกิดขึ้นในหนัง ลำโพง JBL Stage ถ่ายทอดเสียงเหล่านั้นออกมาได้อย่างมีความเป็นตัวตนสูงมาก จนเราสามารถรับรู้ได้เลยว่าตำแหน่งของเสียงต่างๆ นั้นมาจากตรงไหนบ้าง ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งจากลำโพงด้านหน้าหรือลำโพงเซอราวด์ ถ้าฉากไหนที่มีเสียงเซอราวด์แบบวิ่งผ่านตัวเราไปมา เราจะรู้สึกได้เลยว่าเสียงเหล่านั้นผ่านตัวเราไปจริงๆ หรือเกิดขึ้นข้างๆ ตัวเรา อย่างเช่นแทรค Leaf จากแผ่น Dolby Atmos Demo Disc 2016 แทรคนี้เป็นฉากที่จำลองเสียงในป่า เสียงต้นไม้ใบหญ้า เสียงสัตว์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัวเรา ลำโพง JBL Stage ถ่ายทอดมิติ และแสดงตัวตนของเสียงเหล่านั้นออกมาได้สมจริงมากๆ เหมือนกับว่าเสียงต่างๆ นั้นเกิดขึ้นจริง และในตอนท้ายฉากที่มีใบไม้ปลิวไปมา เสียงใบไม้ก็เหมือนผ่านตัวเราไปจริงๆ ที่ลำโพง JBL Stage สามารถให้เสียงที่มีมิติและโฟกัสที่ดีขนาดนี้ได้ ก็น่าจะเป็นผลมาจากเวฟไกด์แบบ HDI ของทาง JBL

เสียงสนทนาจากลำโพงเซ็นเตอร์ JBL Stage A135C จุดเด่นคงเป็นเรื่องเสียงที่มีความเปิด กระจ่างและคมชัด ตัวเนื้อเสียงอาจจะไม่ได้หนาหรืออิ่มมากนัก เพราะเป็นลำโพงเซ็นเตอร์ที่ออกแบบให้มีตัวตู้ที่มีลักษณะแบนยาว และมีวูฟเฟอร์ขนาดเล็ก JBL Stage A135C จะมีข้อดีในเรื่องความกว้างใหญ่ของเสียงซะมากกว่า ตามลักษณะตัวตู้ที่ยาวของมัน เสียงสนทนาจาก JBL Stage A135C โดยรวมจึงมีความเปิดกระจ่างและกว้าง และด้วยความที่ใช้เวฟไกด์แบบ HDI ทำให้ JBL Stage A135C เป็นลำโพงเซ็นเตอร์ที่ให้เสียงเอฟเฟคต่างๆ ได้ดี จากฉากแอ็คชั่นที่มีเสียงเอฟเฟคออกมาตรงกลางจอ เราจะรู้สึกได้เลยว่าเสียงนั้นมีความชัดเจนและฉับไว

ในด้านเสียงเบสต้องบอกเลยว่าเป็นไฮไลท์ที่สุดของลำโพง JBL Stage เลยก็ว่าได้ โดยเฉพาะเสียงเบสต้น ลำโพง JBL Stage ให้เสียงเบสต้นออกมาได้มีความโดดเด่นมากๆ คือทั้งมีพลังและหนักแน่น ผู้เขียนเชื่อว่าถ้าใครได้ฟังลำโพง JBL Stage ก็คงจะสะดุดหูกับเสียงเบสต้นของมันก่อนเป็นอันดับแรก ลำโพงที่ให้เสียงเบสต้นได้ดีจะทำให้ฟังแล้วรู้สึกว่ามีความกระฉับกระเฉง สนุก และตื่นเต้น ส่วนเรื่องของเบสย่านต่ำนั้นอาจจะทำได้ไม่โดดเด่นเท่าเบสต้น แต่ก็อาจจะเป็นเพราะว่าลำโพงคู่หน้าที่ใช้ในการทดสอบครั้งนี้เป็นลำโพงตั้งพื้นรุ่นเล็กที่สุดในตระกูล JBL Stage ซึ่งถ้าได้เปลี่ยนเป็นรุ่นที่ใหญ่กว่านี้ เสียงเบสย่านลึกก็อาจจะทำได้โดดเด่นขึ้นมาเช่นกัน ในหนังเรื่อง Unbroken จากแผ่น Dolby Atmos Demo Disc 2016 ฉากนี้จะเป็นฉากสงครามที่มีการยิงต่อสู้กันของเครื่องบินรบ และเสียงระเบิดที่อยู่รอบตัวเรา ลำโพง JBL Stage ให้เสียงปืนที่ยิงออกมามีความกระแทกกระทั้นที่ดีมากๆ ส่วนเสียงระเบิดที่อยู่รอบตัวเรานั้น ก็ให้ความรู้สึกว่ามันอยู่รอบตัวจริงๆ คือเวลาที่มันระเบิดออกมาเราจะรู้สึกได้เลยว่ามันมีแรงปะทะจับตัวกันเป็นลูกๆ ชัดเจนมาก

ในเรื่องของความแมทชิ่งนั้น ผู้เขียนคิดว่าด้วยความที่ลำโพง JBL Stage มีเอกลักษณ์ของความเป็นลำโพงฮอร์นอยู่แล้ว คือมีเสียงที่สด พุ่ง เปิด การจะหาแอมป์มาจับคู่กับมันนั้น ก็ควรจะเป็นแอมป์ที่ไม่มีเสียงที่สด พุ่ง เปิด มากนัก เพราะอาจจะทำให้เสียงที่ออกมานั้นมีความสดมากจนเกินไป จนทำให้ฟังแล้วไม่สบายหูได้ หรืออีกทางหนึ่งก็อาจจะหาแอมป์ที่มีเสียงสะอาดและแฟลตเข้ามา เพื่อที่จะช่วยเสริมความเที่ยงตรงของลำโพงให้ดีมากขึ้นไปอีก ส่วนเรื่องกำลังขับของแอมป์ที่จะนำมาใช้ด้วยนั้น ก็อาจจะไม่ต้องเลือกแอมป์ที่มีกำลังขับมากนัก เพราะเท่าที่ฟังดูแล้ว ลำโพง JBL Stage ค่อนข้างที่จะขับง่ายทีเดียว ในการทดสอบแอมป์ที่ใช้เป็น AVR รุ่นกลางๆ ของ Denon ก็สามารถขับลำโพง JBL Stage ออกมาได้ดีแล้ว

-สรุป-

ลำโพง JBL Stage ให้เสียงที่เป็นเอกลักษณ์ได้อย่างดีทั้งความเป็นลำโพงสัญชาติอเมริกาและลำโพงที่มีเวฟไกด์แบบฮอร์น เสียงโดยรวมฟังง่าย ฟังแล้วเตะหู ให้เสียงที่มีความสนุกตื่นเต้น ส่วนเรื่องราคานั้นผู้เขียนได้แอบไปสืบทราบมาแล้วว่าไม่ได้มีราคาสูงเลย ลำโพง JBL Stage จึงมีความน่าใช้มากทีเดียว หากท่านกำลังมองหาลำโพงสักชุด เพื่อมาเป็นสิ่งเอ็นเตอร์เทนในบ้าน ผู้เขียนขอแนะนำให้ท่านไปลองฟังลำโพง JBL Stage ดูครับ

-ข้อดี-

-น้ำเสียงมีรายละเอียด มีความเป็นตัวตนสูง

-เสียงเบสต้นที่มีพลัง ชัดเจน หนักแน่น

-ขับง่าย ไม่กินวัตต์

-ข้อสังเกต-

-แอมป์ที่นำมาใช้งานด้วย เสียงไม่ควรสด พุ่ง เปิด จนเกินไป

-ในกรณีที่นำ A120 มาใช้งานเป็นลำโพงเซอราวด์ ควรใช้โฟมปลั๊กที่ให้มาในกล่อง

อุดท่อระบายเบสเอาไว้

หมายเหตุ : ตัวลำโพงมีจำหน่ายแค่สีไม้เท่านั้น

ขอขอบคุณ บริษัท มหาจักร-ดีเวลอปเมนท์ จำกัด โทร. 02-256-0020-9 ที่ให้เข้าไปทดสอบสินค้าลำโพง JBL Stage ในครั้งนี้