ฟังให้เป็นก่อนเล่นเครื่องเสียง (1)

0

ฟังให้เป็นก่อนเล่นเครื่องเสียง (1)

อ. ธนากร (ชูเกียรติ) จันทรานี

 

 

รูปที่ 1

 

 

เนื้อหา

1.เสียงยังไงเรียกว่าเสียงดี?
2.เสียงถูกต้องกับเสียงถูกใจ
3.ปล่อยใจให้ว่างเมื่อฟังเครื่อเสียง
4.ระบบเสียงเพื่อการฟังเพลง
5.ระบบเสียงสเตอริโอ
6.วิธีบันทึกเสียงระบบสเตอริโอ
7.วิธีเล่นกลับระบบเสียงสเตอริโอ
8.ทำไมต้องฟังเพลง?
9.อรรถรสที่ได้จากการฟังเพลง
10.ซิสเต็มเสียงกับอรรถรสของเพลง
11.ฟังเสียงสเตอริโอฟังอะไร?

 

 

 

image004

 

  1. เสียงยังไงเรียกว่าเสียงดี?

นักเล่นเครื่องเสียงทุกคนมีความปรารถนาตรงกันคือต้องการซิสเต็มเสียงที่สร้างเสียงได้คุณภาพดีที่สุดเท่าที่กำลังงบประมาณสามารถซื้อหาได้ แต่คำว่าเสียงดีนั้นดีอย่างไร?

คำจำกัดความของซิสเต็มเสียงดีก็คือ “สร้างเสียงที่เล่นจากสื่อกลับคืนมาได้ถูกต้องสมจริงเหมือนเสียงต้นแบบที่บันทึกลงสื่อ”

  1. เสียงถูกต้องกับเสียงถูกใจ

มีนักเล่นจำนวนไม่น้อยที่ใช้คำว่าเสียงดีกับซิสเต็มที่สร้างเสียงออกมาได้ถูกใจตรงตามรสนิยมการฟังเพลงที่ชื่นชอบ อาทิเช่น บางท่านว่าชอบเสียงสไตล์หลอดสุญญากาศที่สร้างโทนเสียงออกมาแนวอบอุ่น หวานนุ่มนวล บางท่านชอบสไตล์เสียงเบสที่หนักๆ เพราะรักเพลงฮาร์ดร็อคและเฮฟวี่เมทตอลที่ทำให้รู้สึกปลดปล่อย คึกคักสนุกสนาน บางท่านชอบเสียงแหลมกรุ๊งกริ๊ง หวานสดใส เพราะชอบสไตล์เพลงแจ๊สที่ทำให้รู้สึกสดชื่น กระฉับกระเฉง มีชีวิตวีวา ทำให้เกิดความต้องการแนวเสียงที่หลากหลายเพื่อความถูกใจมากกว่าความถูกต้อง บางครั้งถึงขนาดลงทุนทำการโมดิฟายเพื่อให้ซิสเต็มสร้างแนวเสียงออกมาได้ตรงตามต้องการ นักเล่นบางคนหลงใหลชื่นชมกับเสียงเบส เช่น เบสกีตาร์ หรือดับเบิ้ลเบสที่ถูกยกระดับสูงกว่าปกติของแผ่นซีดีเพลงที่หวังเจาะตลาดกลุ่มวัยรุ่น เกิดจากค่ารูมโหมดเมื่อเปิดฟังในห้องฟังขนาดเล็ก หรือความผิดปกติในการตอบสนองเสียงทุ้มช่วงกลางและทุ้มช่วงบนของซิสเต็มเสียง ที่สร้างเสียงเบสออกมาในลักษณะบวมเบลอร์ และกระแทกกระทั้น กดดัน เพราะคิดว่าได้เสียงที่ดังหนักแน่นมันสะใจดี ว่าเข้าไปโน่น ถ้ามีนักเล่นกลุ่มนี้เยอะๆ ผู้ผลิตคิดค้นอุปกรณ์เครื่องเสียงระดับไฮเอนด์คงต้องพากันไปกระโดดตึกตายจนหมดโลกแน่เพราะเครื่องที่อุตส่าห์ทุ่มเทค้นคว้าพัฒนานั้นขายไม่ออก

ความเป็นจริงแล้วซิสเต็มเสียงถ้ามีคุณภาพสูงจะสร้างเสียงออกมาได้เที่ยงตรง แบบตรงไปตรงมา ป้อนสัญญาณเข้ายังไงก็ได้เสียงออกมายังงั้น ได้รูปร่างหน้าตาของคลื่นสัญญาณเหมือนหรือใกล้เคียงกับรูปคลื่นเสียงต้นแบบมากที่สุด จะแตกต่างกันก็แต่เพียงขนาดที่ถูกขยายใหญ่ขึ้นเพื่อให้มีพละกำลังขับลำโพงสร้างเสียงออกมาได้ความดังตามต้องการเท่านั้น หาได้มีหน้าที่ต้องคอยเอาอกเอาใจตอบสนองความต้องการของนักเล่นเครื่องเสียงทั้งหลายสร้างเสียงที่ถูกใจต่างๆ นานาออกมาให้ได้ยินเช่นนั้นไม่ เมื่อนำสื่อเสียงคุณภาพสูงที่บันทึกเสียงเพลงสไตล์ที่ชื่นชอบดังกล่าวทั้งหมดข้างต้นมาเล่น ก็สามารถสร้างแนวเสียงออกมาได้โดนใจ ตรงกับรสนิยมการฟังเพลงของนักเล่นแต่ละคน เพราะสิ่งกำหนดแนวเสียงที่ถูกใจอยู่ที่สไตล์เพลงที่บันทึกอยู่ในสื่อเสียงต่างหาก เราคงไม่สามารถเอาแผ่นเพลงฮาร์ดร็อคไปเล่นให้ได้แนวเสียงออกมาเป็นสไตล์เพลงแจ๊สหรือไม่สามารถนำแผ่นเพลงแจ๊สไปเล่นให้ได้แนวเสียงออกมาเป็นสไตล์เพลงคลาสสิก จริงไหมครับ? ถ้าซิสเต็มเสียงคุณภาพดีถึงจะเล่นสื่อเสียงเพลงสไตล์ไหนก็สร้างอรรถรสของเพลงสไตล์ นั้นออกมาให้สัมผัสได้อย่างสะใจ ถ้าไม่ได้เช่นนั้นคงต้องพิจารณาหาจุดบกพร่องในซิสเต็มที่ใช้ว่าสาเหตุเกิดจากสิ่งใดแล้วแก้ไขซะก็จะโอเค

การโมดิฟายหรือจูนด์ซิสเต็มเสียงให้ได้เสียงหนึ่งเสียงใดที่ชื่นชอบออกมาได้ดังกว่าระดับความดังปกติที่บันทึกไว้ในสื่อ จะด้วยวิธีเปลี่ยนอุปกรณ์ภายในเครื่อง, เลือกใช้สายเชื่อมต่อเสียงอะนาลอก, สายลำโพงหรือเพาเวอร์คอร์ด (สายไฟเอซี) หรือลำโพง ที่ให้การตอบสนองต่อเสียงที่ชื่นชอบมากกว่าปกติ ใช้อิควอไลเซอร์ (หรือที่ปรับเสียงทุ้มแหลมที่อยู่ในเครื่องถ้ามี) ปรับยกระดับความดังเสียงที่ชอบให้ดังมากกว่าปกติ ทั้งหมดนี้ไม่ใช่ความคิดที่ถูกต้องในการเล่นเครื่องเสียง เพราะถ้าเล่นแผ่นที่บันทึกเครื่องดนตรีชิ้นนั้นที่ระดับความดังมากๆ จะทำให้เสียงที่เล่นออกมาเกิดความเพี้ยนขึ้นเป็นอย่างมากและอาจรุนแรงถึงขนาดทำให้ลำโพงพังหรือทำให้หูต้องพิการไปเลยก็ย่อมได้เพราะหูเรามีความไวต่อความถี่เสียงระหว่างราว 1, 000 – 4, 000 เฮิรตซ์ ความถี่ที่สูงหรือต่ำกว่านี้ที่บันทึกไว้ระดับต่ำถ้าเราปรับยกระดับให้สูงขึ้นจนเราได้ยินนั่นหมายความเรายกระดับความดังของเสียงนั้นสูงเกินปกติมากถ้าเล่นถึงช่วงที่เสียงความถี่นั้นบันทึกไว้เกินระดับพีคสูงเกินขอบเขตที่แอมป์รองรับได้จะเกิดความเพี้ยนสูงจนทำให้แอมป์พัง ลำโพงพัง หรือหูพังได้นะครับ

 

  1. ปล่อยใจให้ว่างเมื่อฟังเครื่องเสียง

อุปสรรคที่ทำให้การประเมินคุณภาพเสียงของอุปกรณ์ซิสเต็มเสียงผิดพลาดมักเป็นความรู้สึกที่เอนเอียงไปตามแบรนด์เนม, ราคา, รูปลักษณ์ และทัศนะคติส่วนตัวที่มีต่ออุปกรณ์นั้นๆ ที่กดดันความรู้สึกรับรู้เสียงจากหูของสมองให้คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง วิธีประเมินคุณภาพเสียงให้ได้ใกล้เคียงความจริงมากที่สุดต้องทำใจให้ว่าง ปล่อยวาง ตัดความรู้สึกนึกคิดที่ได้จากการรับรู้ต่างๆ ทางสายตาและทัศนะคติออกให้หมด หลับตาปล่อยให้หูทำหน้าที่ของตนอย่างเต็มที่เพ่งสมาธิไปที่ความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับหูที่กำลังรายงานส่งสัญญาณผ่านทางเส้นประสาทไปให้สมองรับรู้ถึงเสียงแท้จริงที่กำลังได้ยิน โดยปลอดจากอิทธิพลโน้มน้าวที่เกิดจากความรู้สึกนึกคิดด้านอื่นมากดดันให้รู้สึกคล้อยตาม ทำให้เราสามารถรับอรรถรสจากเสียงที่ซิสเต็มถ่ายทอดออกมาได้อย่างเต็มๆ ถ้าซิสเต็มมีคุณภาพดีพอควรจะถ่ายทอดเสียงดนตรีออกมาโน้มน้าวให้เกิดความรู้สึกผ่อนคลาย สบายและมีความสุข ไม่ว่าจะฟังเป็นระยะเวลานานเพียงใดก็ตาม ในปัจจุบันคุณสมบัติเช่นนี้สามารถหาพบได้ในอุปกรณ์ซิสเต็มเสียงระดับราคาปานกลาง หลายๆ แบรนด์ ที่มีราคาถูกกว่าเครื่องไฮเอนด์

  1. ระบบเสียงเพื่อการฟังเพลง

ในปัจจุบันระบบเสียงเพื่อการฟังเพลงที่บันทึกในสื่อมีอยู่สองรูปแบบได้แก่

  1. ระบบเสียงทูแชนแนลหรือระบบเสียงสเตอริโอ
  2. ระบบเสียงมัลติแชนแนล
  3. ระบบเสียงสเตอริโอ

ระบบเสียงสเตอริโอเป็นระบบเสียงแบบใช้สองแชนแนลเสียง (สองร่องเสียง) แยกอิสระจากกันหรือจะเรียกให้เท่ห์หน่อยก็เรียกว่าระบบเสียงทูแชนแนล ระบบเสียงนี้ทำให้มีความสิ้นเปลืองต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายมากกว่าระบบเสียงโมโนที่มีใช้อยู่ก่อนถึงสองเท่า อีกทั้งพื้นที่บันทึกเสียงในสื่อก็ใช้มากกว่าสองเท่าด้วย แต่มีจุดเด่นที่เห็นได้ชัดคือสามารถจำลองตำแหน่งเสียงเครื่องดนตรีและเสียงร้องจัดวางเรียงรายไปตามแนวกว้างและแนวลึกสร้างเป็นขอบเขตสนามเสียงให้สัมผัสได้เสมือนฟังจากวงดนตรีจริง ที่ระบบเสียงโมโนทำไม่ได้

        5. วิธีบันทึกเสียงระบบสเตอริโอ

เทคนิคการบันทึกระบบเสียงสเตอริโอมีหลายแบบขึ้นอยู่กับเทคนิคการจัดวางไมโครโฟนและจุดประสงค์ใช้งาน ใช้ไมโครโฟนสองชิ้นแยกแปลงเสียงบริเวณซีกซ้ายและบริเวณซีกขวาของวงดนตรีเป็นสัญญาณไฟฟ้า (สัญญาณออดิโอ) ที่แยกอิสระสองสัญญาณ สัญญาณเสียง ที่ได้จากการแปลงเสียงด้านซ้ายของเวที (เสียงแชนแนลซ้าย) และเสียงด้านขวาของเวที (เสียงแชนแนลขวา ถูกนำไปบันทึกลงสื่อเป็นร่องเสียงอิสระจำนวนสองร่องเสียงคือเสียงแชนแนลซ้าย (L) กับเสียงแชนแนลขวา (R) ขณะเครื่องดนตรีที่อยู่ทางด้านซ้ายของวงดนตรีสร้างเสียงออกมาไมโครโฟนที่อยู่ด้านซ้ายแปลงเสียงเป็นสัญญาณไฟฟ้าได้ขนาดใหญ่กว่าไมโครโฟนที่อยู่ทางด้านขวานั่นหมายความว่าสัญญาณเสียงแชนแนลซ้ายมีขนาดใหญ่กว่าสัญญาณเสียงแชนแนลขวา แต่สัญญาณทั้งสอง จะมีรูปร่างเหมือนกัน มีค่าความถี่เท่ากันและช่วงเวลา (เฟส) ตรงกัน เมื่อเครื่องดนตรีที่อยู่ทางด้านขวาของวงสร้างเสียงออกมาไมโครโฟนที่อยู่ด้านขวาจะแปลงเสียงเป็นสัญญาณไฟฟ้าได้ขนาดใหญ่กว่าไมโครโฟนที่อยู่ทางด้านซ้าย จึงได้สัญญาณเสียงแชนแนลขวามีขนาดใหญ่กว่าสัญญาณเสียงแชนแนลซ้ายแต่สัญญาณทั้งสอง จะมีรูปร่างเหมือนกัน มีค่าความถี่เท่ากันและช่วงเวลา (เฟส) ตรงกัน เช่นกัน เมื่อที่เครื่องดนตรีชิ้นที่อยู่ตรงกึ่งกลางวงพอดีสร้างเสียงออกมา ทั้งไมโครโฟนซ้ายและไมโครโฟนขวาจะรับความดังเสียงได้เท่ากันจึงสร้างเสียงที่มี รูปร่างเหมือนกัน มีค่าความถี่เท่ากัน ช่วงเวลา (เฟส) ตรงกัน และขนาดเท่ากันบันทึกลงแชนแนลเสียงซ้ายและขวาในสื่อ สำหรับเครื่องดนตรีชิ้นที่อยู่ตำแหน่งอื่นๆ นอกเหลือจากที่อธิบายไปแล้วจะได้สัญญาณสองแชนแนลที่สัดส่วนขนาดแตกต่างกันไปตามตำแหน่งที่อยู่ในแนวระนาบระหว่างตรงกลางกับด้านซ้ายหรือด้านขวาของวงดนตรี สำหรับเครื่องดนตรีที่จัดวางเรียงรายอยู่ทางแนวลึกระหว่างด้านหน้ากับด้านหลังของวงดนตรี เสียงที่สร้างจะมีความดังเแตกต่างกันเช่นเสียงของเครื่องดนตรีชิ้นที่อยู่ตรงกลางเวทีด้านหน้าสุดจะดังมาก ถ้าเครื่องดนตรีชิ้นเดียวกันนี้ถอยไปอยู่ตรงกลางเสียงจะเบาลงและถ้าอยู่ตรงกลางด้านหลังสุดเสียงจะเบามากเช่นนี้เป็นต้น ด้วยเหตุนี้สัญญาณ เสียงแชนแนลซ้ายและขวาที่บันทึกลงสื่อนอกจากมี รูปร่าง ความถี่และเฟสเหมือนกันแล้วจะเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่เล็กอย่างเป็นสัดส่วนต่อกันคือเมื่อบันทึกเสียงเครื่องดนตรีที่อยู่ในสุดจะได้สัญญาณที่มีขนาดเล็กมากเท่ากันทั้งสองแชนแนลและเมื่อบันทึกเสียงเครื่องดนตรีชิ้นที่อยู่ด้านหน้าสุดจะได้สัญญาณที่มีขนาดใหญ่มากเท่ากันทั้งสองแชนแนล

 

        6.วิธีเล่นกลับระบบเสียงสเตอริโอ

            การฟังเพลงระบบเสียงสเตอริโอหรือทูแชนแนลคือการนำสื่อเสียงที่บันทึกเป็นระบบเสียงสเตอริโอมาเล่นกลับด้วยซิสเต็มเสียงสเตอริโอเพื่อสร้างเสียงเครื่องดนตรีและ เสียงร้องจัดวางเรียงรายอยู่ภายในแนวกว้างลึกของเวทีเสียงได้อย่างถูกต้อง การบรรลุถึงจุดประสงค์เช่นนี้ได้อย่างสมบูรณ์ ต้องเริ่มตั้งแต่ที่สตูดิโอบันทึกเสียงที่พวกเราไม่มีสิทธิ์เข้าไปยุ่งเกี่ยวได้จึงต้องมอบความไว้วางใจให้กับสตูดิโอผู้ผลิตโดยเลือกซื้อสื่อเสียงที่ผลิตโดยสตูดิโอระดับออดิโอไฟล์ที่ได้รับความเชื่อถือและยอมรับในวงการมาใช้ เมื่อตัดปัญหาด้วยการใช้สื่อเสียงที่มั่นใจว่าบันทึกเสียงได้คุณภาพระดับอ้างอิงแล้วส่วนที่เหลือเป็นหน้าที่ของนักเล่นที่จะต้องพิถีพิถันตั้งแต่การเลือกใช้อุปกรณ์ซิสเต็มเสียงที่มีคุณภาพเชื่อถือได้และท้ายที่สุดคือปรับสภาวะเสียงในห้องฟัง ซึ่งคงไม่ต้องถึงขนาดดีไซน์สร้างห้องฟังใหม่เพียงแต่ทำให้ห้องอยู่ในสภาพไม่ดูดซับหรือสะท้อนเสียงหนึ่งเสียงใดมากเกินไปก็โอเค หลังจากนั้นก็จัดวางตำแหน่งลำโพงและจัดระยะนั่งฟังให้เหมาะสมก็น่าจะโอเค มั๊ง!!!!! (เรื่องนี้มีโอกาสที่จะต้องคุยกันอีกยาว)

ซิสเต็มเสียงสเตอริโอประกอบด้วยเครื่องเล่นสื่อเสียงสเตอริโอทำหน้าที่อ่านข้อมูลเสียงแชนแนลขวากับแชนแนลซ้ายที่แยกบันทึกอยู่ในสื่อรูปแบบต่างเช่นบันทึกเป็นสนามแม่เหล็กถาวร (เทปคาสเซ็ต/เทปรีล/ฮาร์ดดิสก์ไดร้พ์) บันทึกเป็นความขรุขระของผนังร่องเสียงด้านซ้ายขวา (แผ่นไวนีล) หรือบันทึกเป็นหลุมข้อมูล (แผ่นแสง) เป็นต้น โดยวิธีแปลงข้อมูลที่บันทึกอยู่ในสื่อกลับคืนเป็นสัญญาณไฟฟ้าสองสัญญาณคือสัญญาณเสียงแชนแนลซ้ายและเสียงแชนแนลขวา ถ้าเป็นสื่อเสียงดิจิตอลต้องแปลงข้อมูลเสียงดิจิตอลกลับเป็นเสียงอะนาลอกก่อนแต่ถ้าเป็นสื่อเสียงอะนาลอกจะขยายให้ได้ขนาดสัญญาณระดับไลน์แล้วส่งให้แอมป์ขยายขับลำโพงสร้างเสียงแชนแนลซ้ายและขวาออกมาได้เลย

จากคุณสมบัติทางลักษณะรูปร่าง ความถี่ เฟส และขนาดที่มีความสัมพันธ์ต่อกันระหว่างสัญญาณแชนแนลซ้ายและขวา ตามตำแหน่งเสียงเครื่องดนตรีต่างๆ เมื่อนำสัญญาณทั้งสองมาแปลงกลับสร้างเป็นเสียงส่งออกมาจากลำโพงซ้ายและขวา สมมุติว่าสัญญาณซ้ายขวามีขนาดเล็กมากเท่ากันจะได้ยินดังออกมาจากด้านหลังสุดตรงกึ่งกลางระหว่างลำโพงทั้งสอง ถ้าสัญญาณทั้งสองมีขนาดใหญ่มากเท่ากันจะได้ยินดังออกมาตรงกลางระหว่างลำโพงทั้งสอง หรือถ้าสัญญาณแชนแนลซ้ายมีขนาดใหญ่กว่าเล็กน้อยตำแหน่งเสียงเครื่องดนตรีชิ้นนั้นก็จะได้ยินเยื้องจากตำแหน่งกึ่งกลางไปทางด้านซ้ายเล็กน้อยเช่นนี้เป็นต้น (รายละเอียดมากกว่านี้มีอธิบายอยู่ในบทความ “ฟังให้เป็นก่อนเล่นเครื่องเสียง (2) ”

เมื่อพอเข้าใจหลักการเบื้องต้นของระบบเสียงสเตอริโอกันบ้างแล้ว ต่อไปเราก็มาหาความสุขจากการฟังเพลงกันครับ

         7.ทำไมต้องฟังเพลง?

ปกติผู้คนทั่วไปมักฟังเพลงเมื่อต้องการพักผ่อนแต่บางคนก็ฟังเพลงขณะทำงานเพื่อสร้างบรรยากาศให้ผ่อนคลายความตึงเครียดหรือลดความเหน็ดเหนื่อยที่ได้รับขณะทำงาน บางคนฟังเพลงเพื่อโน้มน้าวให้เกิดจินตนาการหรือความคิดสร้างสรรใหม่ๆ บางคนใช้เพลงสร้างบรรยากาศให้เกิดอารมณ์โรแมนติกขณะจู๋จี๋อยู่กับแฟน ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นผลที่ได้จากเพลงเชิงบวก มีบางคนที่ใช้ผลเชิงลบจากการฟังเพลงเศร้าที่ตอกย้ำให้หวนนึกถึงอดีตหรือสิ่งทำให้เกิดความทุกข์ระทม อกหัก ผิดหวัง ปวดร้าว แต่บางคนก็ใช้เพลงประเภทนี้ปลอบใจให้ลืมอดีตที่ปวดร้าว สร้างกำลังใจให้เข้มแข็งเพื่อต่อสู้กับชีวิตได้ต่อไป เป็นต้น

         8.อรรถรสที่ได้จากการฟังเพลง

เพลงหรือดนตรีมีคุณสมบัติในการโน้มน้าวจิตใจให้เกิดอารมณ์ร่วมคล้อยตามความหมายของเนื้อร้อง จังหวะและท่วงทำนองที่สร้างจากเครื่องดนตรีด้วยโทนเสียงสูงต่ำระดับความดังต่างๆ ทำให้ผู้ฟังเกิดความรู้สึกมีความสุข ผ่อนคลาย สบายใจ คึกคักสนุกสนานหรือโศกเศร้ารันทดใจ ไปตามสไตล์เพลงที่สร้างสรรค์จากเจตนารมณ์ของผู้ประพันธ์เนื้อร้อง ท่วงทำนอง และเรียบเรียงเสียงประสาน ซึ่งเป็นอรรถรสที่ได้จากการฟังเพลงนั่นเอง

         9.ซิสเต็มเสียงกับอรรถรสของเพลง

ซิสเต็มเสียงที่ใช้ฟังเพลงเปรียบเสมือนสะพานสำคัญของการเชื่อมโยงนำพาผู้ฟังเข้าไปสัมผัสอรรถรสของเพลง ตัวแปรที่จะทำให้ได้รับอรรถรสจากเพลงมากน้อยเพียงใดหรือไม่ อยู่ที่คุณภาพของสื่อ, สไตล์เพลง , คุณภาพของซิสเต็ม และสภาวะทางเสียงของห้องฟัง

การโน้มน้าวให้เกิดอารมณ์ร่วมตามเนื้อร้องของเพลงทำได้ง่ายเมื่อเป็นภาษาที่เราเข้าใจความหมายจึงไม่จำเป็นต้องใช้ซิสเต็มเสียงที่มีคุณภาพสูงส่งมากนัก ในยุคสื่อเสียงอะนาลอกแบบอะคูสติกใช้เครื่องเล่นแผ่นเสียงแบบมือหมุนหรือไขลานสร้างเพียงเครื่องเดียวสร้างเสียงร้องช่วงความถี่แคบๆ ออกมาให้ได้ยินก็สามารถสร้างความสุขให้กับผู้ฟังในยุคนั้นได้แล้ว และถ้าเป็นยุคดิจิตอลเช่นปัจจุบันนี้ ใช้เพียงเครื่องเล่น MP3 ฟังเพลงป๊อป ร๊อคผ่านทางหูฟังก็สามารถสร้างความสุขให้กับกลุ่มวัยรุ่นได้เช่นกัน

ถ้าเป็นเพลงที่ใช้เนื้อร้องภาษาต่างประเทศที่เราไม่รู้จัก นักร้องระดับคุณภาพยังคงสามารถถ่ายทอดอารมณ์ผ่านเสียงร้องออกมาโน้มน้าวให้เกิดอารมณ์ร่วมตามไปได้แม้ ไม่เข้าใจความหมายของเนื้อร้องก็ตาม นักร้องที่มีความสามารถสูงสามารถถ่ายทอดอารมณ์และความเป็นดนตรีผ่านเสียงร้องที่อ่อนพลิ้ว ลื่นไหลโดยไม่ต้องใช้จังหวะและท่วงทำนองเพลงเป็นตัวช่วยเลย การรับอรรถรสจากเพลงที่ไม่เข้าใจความหมายเนื้อร้องได้มากน้อยเพียงใดคงต้องอาศัยคุณภาพของซิสเต็มที่สูงขึ้นกว่าเดิม อย่างน้อยที่สุดต้องมีการตอบสนองความถี่, ไดนามิกและบุคลิกเสียง ได้ครอบคลุมช่วงเสียงร้องทั้งหมด

และถ้าเป็นเพลงบรรเลงไม่มีเสียงร้อง ที่สร้างจังหวะท่วงทำนองโดยเครื่องดนตรีล้วนๆ ล่ะ คราวนี้คงต้องอาศัยความสามารถของผู้ประพันธ์ท่วงทำนองและเรียบเรียงเสียงประสานแล้วละครับที่จะคัดสรรเครื่องดนตรีแต่ละชนิดมาบรรเลงสร้างจังหวะและท่วงทำนองโน้มน้าวความรู้สึกผู้ฟังให้เคลิบเคลิ้มคล้อยตามเจตนารมณ์ของผู้ประพันธ์เพลงแต่ละท่านไปอย่างมีความสุข สบาย ผ่อนคลายหรือคึกคักสนุกสนานได้มากน้อยเพียงใด? ซิสเต็มเสียงที่ใช้ถ่ายทอดเพลงลักษณะนี้ก็ต้องมีคุณภาพสูงขึ้นไปอีกระดับหนึ่งคือ ต้องสามารถตอบสนองแถบความถี่, ไดนามิก และบุคลิกเสียงของเครื่องดนตรีได้ครอบคลุมทุกชนิด

 

 

image006

        10.ฟังเสียงสเตอริโอฟังอะไร?

ที่ถามเช่นนี้มิได้มีเจตนาจะกวนโอ๊ยกับท่านผู้อ่านเพียงแต่สำนวนพาไปสู่คำอธิบายสิ่งที่ได้จากการฟังเสียงระบบสเตอริโอว่าเราได้อะไรบ้างจากการฟังเพลงระบบเสียงสเตอริโอครับผม

ซิสเต็มเสียงสเตอริโอที่ดีต้องทำให้เราสามารถสัมผัสได้กับสิ่งต่างๆ เหล่านี้

  1. ได้ยินเสียงเครื่องดนตรีแต่ละชิ้นดังจากตำแหน่งต่างๆ ครอบคลุมเลยบริเวณที่ตั้งลำโพงเลยออกไปทางด้านข้างและด้านหลัง
  2. สร้างขอบเขตสนามเสียงให้สัมผัสได้ทั้งทางแนวกว้าง แนวลึกและแนวสูง ได้บรรยากาศเสียงที่สมจริงเหมือนฟังอยู่ในคอนเสิร์ตฮอลล์
  3. ตำแหน่งเสียงทุกตำแหน่งนิ่งสนิทอยู่ภายในขอบเขตที่จำกัดเฉพาะตัว
  4. บุคลิกเสียงร้องและเสียงเครื่องดนตรีทุกชิ้น ถูกต้อง
  5. เสียงร้องและเสียงเครื่องดนตรีทุกชิ้นโดดเด่น ชัดเจน และมีระดับความดังสมดุล
  6. ปลดปล่อยเสียงดังมากได้เต็มพลัง ปราศจากความเพี้ยน ไม่กดดัน ไม่กลบเสียงเครื่องดนตรีเบามากที่สร้างพร้อมกัน
  7. นุ่มนวลอ่อนพลิ้วลื่นไหลฟังได้นาน โน้มน้าวให้เกิดอารมณ์ร่วม ทำให้รู้สึกสบาย ผ่อนคลายมีความสุข

จาก 7 หัวข้อข้างต้น ข้อที่ 4 ถึงข้อที่ 7 มีความสำคัญเท่าเทียมกันและสำคัญมากกว่าสามข้อแรกเพราะเป็นสิ่งที่กำหนดให้เราได้รับอรรถรส จากการฟังเพลงได้มากน้อยเพียงใด ส่วนข้อที่ 1 และ 3 เป็นผลที่ได้จากซิสเต็มเสียงสเตอริโอที่สร้างประสบการณ์รับรู้ตำแหน่งเสียง มิติเสียงและบรรยากาศเสียงได้สมจริงเหมือนฟังจากวงดนตรี แต่ก็เห็นมีนักเล่นหรือนักวิจารณ์บางท่านให้ความสำคัญกับสามข้อแรกมากกว่าและไม่ค่อยกล่าวถึงข้อท้ายๆ มากนัก

ตัวแปรต่างๆ ที่จะทำให้ผู้ฟังได้สัมผัสคุณสมบัติของซิสเต็มเสียงสเตอริโอทั้ง 7 ข้อนี้ได้มากน้อยเพียงใดจะกล่าวถึงในบทความตอนต่อไป “ฟังให้เป็นก่อนเล่นเครื่องเสียง (2) ” ครับผม