What HI-FI? Thailand

เทคนิค 5 ขั้นตอน เริ่มเล่นเครื่องเสียงพร้อมการฟังเพลง อย่างมีศิลปะ

ช.ชิดชล

     บทความนี้ขอนำเสนอแนวทางการเล่นเครื่องเสียง โดยภาพรวม อย่างคร่าวๆ แต่มีเนื้อหาสาระครบ เพียงพอต่อการเล่นเครื่องเสียง เพื่อการฟังเพลง อย่างมีความไพเราะ มีความสุข และสนุกไปกับการเล่นเรื่อง เป็นการลงทุนกับเรื่องเสียง โดยไม่หลงทางออกไปไกลนัก โดยสอดแทรกความเป็นศิลปะในการเล่นลงไป ด้วยการลงรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ อันส่งผลต่อการเล่นเครื่องเสียงนะครับ ส่วนบทความแยกย่อยในแต่ละประเด็น ไม่ว่าจะเป็นการเลือกอุปกรณ์หลัก อุปกรณ์เสริม หรือการจัดแต่งสภาพอคูสติกนั้น ขอนำเสนอในโอกาสต่อไปครับ

1. สำรวจความต้องการก่อน

     พิจารณาแนวทางการเล่นและการฟังเพลงเสียก่อน ประเด็นนี้สำคัญมาก เพราะส่งผลต่อการเลือกชุดและอุปกรณ์ใช้งาน รวมถึงงบประมาณที่จะใส่ลงไปทั้งในปัจจุบันและอนาคต แนวทางการเล่นเครื่องเสียงนั้น มีหลากหลายมาก ทั้งการเล่นด้วยแผ่นซีดี แผ่นเสียง หรือจะเล่นด้วยไฟล์เพลงดิจิตอลซึ่งก็แบ่งได้อีกว่าจะแบบมีสายหรือไร้สาย ทั้งนี้ให้พิจารณาที่ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต ขณะเล่นเครื่องเสียงเป็นสำคัญครับ แต่ความคิดเห็นส่วนตัวของผมนั้น แบ่งการเล่นออกเป็น 2 รูปแบบใหญ่ๆคือ

     รูปแบบแรก เล่นง่ายๆ ไม่ถึงกับพิถีพิถันมากนัก ขอให้มีเพลงฟัง อุปกรณ์ที่น้อยชิ้นเรียบง่าย ไม่ต้องยุ่งยากอะไรมากมาย การเล่นแบบนี้ เพียงเลือกอุปกรณ์ที่ชื่นชอบ ด้วยระบบและงบประมาณที่วางไว้อย่างเหมาะ จะถูกหรือแพงขนาดไหน ขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละท่าน การเล่นแบบนี้จัดวางอุปกรณ์แบบเรียบง่าย ไม่มีห้องฟังเป็นตัว เน้นการฟังเพลงแบบ ขับกล่อมในการใช้ชีวิต หรือการทำงานเป็นหลัก

     รูปแบบหลัง คือเล่นเครื่องเสียงแบบจริงจังสักหน่อย พิถีพิถันในการเล่น การจัดวาง การคัดสรรอุปกรณ์ รวมถึงการจัดการกับสภาพห้องฟังอย่างเหมาะสม รูปแบบการฟังเพลงนี้นั่งฟังตรงตำแหน่งที่เหมาะสมเป็นหลัก โฟกัสสมาธิไปกับบทเพลงต่างๆที่ถ่ายทอดออกมา หากเป็นการฟังรูปแบบนี้แล้ว การเลือกอุปกรณ์แต่ละชิ้น ให้มองถึงความเหมาะสม เข้ากันได้โดยองค์รวมของชุด ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์หลัก อุปกรณ์เสริม ค่อยๆเลือกอย่างพิถีพิถัน ลองฟังในสิ่งที่มี แล้วลองปรับแต่งลองฟังกับสิ่งที่เพิ่มขึ้นมา ฟังถึงความเปลี่ยนในแต่ละบทเพลง ห้องที่ใช้ฟังเป็นการส่วนตัวนั้น ก็จัดที่ทางวางอุปกรณ์รวมถึงการปรับแต่งอคูสติกอย่างเหมาะสม

     ขอให้ท่านผู้อ่าน เลือกรูปแบบการฟังเพลงให้เหมาะสมกับการใช้ชีวิตเป็นหลัก แล้วหลังจากนั้นชุดที่เหมาะสมจะตามมาครับ

2. วางงบประมาณและอุปกรณ์ให้ตรงความต้องการ

     งบประมาณนี่มีความสำคัญมากนะครับ ในการกำหนดชุดและอุปกรณ์เครื่องเสียง แม้ชุดฟังเพลงเรียบง่าย งบประมาณก็สูงหลักแสนไปถึงหลักล้านได้ ในขณะชุดที่ใช้ในห้องฟังเพลง ระดับหมื่นกลางถึงหมื่นปลายก็มีเช่นกันนะครับ ฉะนั้น การใส่งบประมาณลงไปนั้น ขอให้เลือกอย่างเหมาะสมกับคุณภาพของอุปกรณ์และการฟังเพลง เพื่อให้เกิดความคุ้มค่า เพราะเลือกอุปกรณ์ที่ราคาสูง แต่จัดวางไม่เหมาะสม ไม่พิถีพิถันในการเล่น ก็จะไปลดทอนค่าภาพอุปกรณ์นั้นๆ หากเราเลือกอุปกรณ์ราคาไม่สูงและพิถีพิถันในการเล่น จัดวางในห้องฟังอย่างลงตัว คุณภาพเสียงเพลงที่ฟังได้นั้น ก็จะคุ้มค่าทวีคูณขึ้นไปครับผม

     งบประมาณนั้น ไม่จำเป็นต้องจ่ายในวันแรกที่ซื้อชุดเครื่องเสียง อนาคตอาจจะเพิ่มอุปกรณ์เพื่อปรับแต่งการใช้งานให้ตรงความต้องการที่เพิ่มขึ้น เสริมการฟังเพลงให้มีคุณภาพดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์หลักอย่างเช่น เครื่องเล่น ปรีแอมป์ เพาเวอร์แอมป์ ลำโพง หรืออุปกรณ์เสริมจำพวกสาย ปลั๊กไฟ หรืออุปกรณ์เครื่องเคียงที่มีมากมายให้ลองเล่นในสมัยนี้ ฉะนั้น การวางงบประมาณให้เหมาะสม จึงเป็นแนวทางการวางแผนที่ทำให้การเล่นเครื่องเสียง ถูกทาง หรือไม่ผิดทางจนเสียงบประมาณไปโดยไม่จำเป็นมากนัก และที่สำคัญ ได้ชุดที่ชอบและใช้งานฟังเพลงได้อย่างคุ้มราคาครับ

     ชุดเครื่องเสียงที่แพงคือชุดที่ซื้อมาแล้วเสียงไม่ได้คุณภาพตามราคานั้น ชุดเครื่องเสียงที่ถูก คือชุดที่รีดเค้นประสิทธิภาพของอุปกรณ์ออกมาได้อย่างเกินราคา ฉะนั้น ราคาไม่ได้กำหนดความแพงหรือถูกเพียงอย่างเดียว

3. จัดองค์ประกอบอย่างลงตัว

     เมื่องบประมาณได้แล้ว หากชุดเครื่องเสียงที่ชอบ พิจารณาอย่างถ้วนถี่แล้ว ประการต่อมาคือ จุดเริ่มต้นของการฟังเพลง รวมถึงศิลปะในการเล่นเครื่องเสียงอย่างแท้จริง เพราะความละเอียดอ่อนที่จะกล่าวถึงเหล่านี้ เป็นเครื่องชี้วัดคุณภาพการเล่นเครื่องเสียง ความคุ้มค่าเกินราคา และเป็นปลายทางของความสุขในการฟังเพลงอย่างแท้จริง

     ไม่ว่าจะเล่นเครื่องเสียงด้วยงบประมาณที่น้อย หรือเล่นด้วยงบประมาณที่มากในชุดใหญ่อลังกาฬ ให้มีศิลปะในการเล่นเครื่องเสียงเหมือนกัน อย่าละเลยรายละเอียดเล็กน้อยในการเล่นเครื่องเสียง เพราะจะไปลดทอนคุณภาพของชุดและอุปกรณ์ลงไป เรียกว่าจ่ายแพงก็แพงขึ้นอีก จ่ายถูกก็ไม่คุ้มราคา

     ทุกท่านสามารถมีเครื่องเสียงได้ หากมีเงิน แต่ไม่ใช่ทุกคนที่มีเงิน จะเข้าถึงศิลปะในการเล่นเครื่องเสียงได้ ฉะนั้น จำนวนเงินไม่ใช้คำตอบของ ศิลปะในการเล่นเครื่องเสียง

4. เสริมศิลปะลงไปในเครื่องเสียง

     นักวาดรูปมักใช้อุปกรณ์คุณภาพสูงและสีคุณภาพดีไว้ก่อนในการวาด ศิลปินจะเลือกใช้อุปกรณ์ที่มีคุณภาพตามความถนัดและสีที่มีเฉดอันเหมาะสมกับชิ้นงาน อย่างมีความคุ้มราคา โดยไม่มองถึงความถูกหรือแพงเพียงอย่างเดียว

     การใส่ศิลปะลงไปในการเล่นเครื่องเสียงนั้น ก็คือการเล่นเครื่องเสียงอย่างพิถีพิถัน ใส่ใจในรายละเอียดเล็กๆน้อย เพราะทุกอย่างมีผลต่อเสียงทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์หลักในการจัดวาง ตำแหน่ง ทิศทาง อุปกรณ์เสริมเลือกวัสดุ เลือกคุณภาพใช้งานอย่างเหมาะสม สภาพห้องห้องฟังหรือตำแหน่งที่ฟังเพลง มีความก้องและสะท้อนอย่างพอดี ไม่ทึบเกินไป หรือไม่ก้องเกินไป

      ศิลปะในการเล่นนั้น ยกตัวอย่างง่ายๆ ให้พอเข้าใจและไปเปรียบเทียบใช้งานคร่าวๆได้ การเสียบปลั๊ก ขั้ว L และ N ต้องไม่สลับกัน และมีขั้ว GROUND อย่างถูกต้อง เพื่อให้เครื่องเสียงทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ใช่แค่เสียบปลั๊กยังไม่แน่นเลย หรือขั้วไฟสลับกัน แบบนี้เครื่องเสียงทำงานที่กระแสไฟไม่มีความนิ่ง การทำงานก็ไม่มีประสิทธิภาพ

     การจัดวางเครื่องอย่างเหมาะสม ไว้ว่างจะมีชั้นวางหรือขาตั้งหรือไม่ก็ตาม เครื่องที่เป็นอุปกรณ์หลัก ควรวางอยู่ในแนวระนาบ ฐานเครื่องติดพื้นทุกด้าน เพื่อการรับน้ำหนักอย่างเหมาะสม ไม่ใช่แค่วางเครื่อง ก็อียงหรือโครงไปมา แบบนี้ทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพ เพราะตัวเครื่องไม่มีความนิ่ง การวางให้ได้ระนาบนี้ สำคัญมากไม่เว้นแม้แต่ลำโพง การวางเครื่อง หากมีอุปกรณ์เสริมมารองรับ หรือมีชั้นวาง ขาตั้ง อย่างเหมาะสม ก็จะเชิดชูประสิทธิภาพของตัวเครื่องมากขึ้นไปอีก

     การจัดห้องหรือตำแหน่งนั่งฟังอย่างเหมาะสมนั้น สำคัญมาก หากไม่มีห้องฟัง การจัดวางอุปกรณ์โดยเฉพาะลำโพง ที่ชิดพนังห้องเกินไป เสียงจากลำโพงอาจไปสะท้อนกับพนังนั้นอย่างรวดเร็ว และไม่ได้เสียงอย่างที่ผู้ผลิตต้องการ โดยเฉพาะการวางลำโพงตรงมุมห้อนั้น ถือเป็นเรื่องไม่สมควร(ยกเว้นลำโพงที่ออกแบบมาเฉพาะจากผู้ผลิต) ตำแหน่งนั่งฟังก็สำคัญ แม้ไม่ได้อยู่ในห้องฟัง ตำแหน่งนั่งฟังที่ใกล้กับกระจก หรือวัสดุที่สะท้อนเสียงมากเกินไป ก็ไปลดทอนรายละเอียดของชุดเครื่องเสียงนั้นได้ หากมีห้องฟังเป็นการส่วนตัว ก็ต้องพิถีพิถันการจัดวาง ตำแหน่ง และอุปกรณ์ปรับอคูสติกให้มากขึ้นไปอีกระดับ เหล่านี้ล้วนเป็นศิลปะที่ละเอียดอ่อนในการเล่นเครื่องเสียงทั้งนั้น

     เชื่อไหมครับว่า นักเล่นเครื่องเสียงบางท่าน แม้สายไฟ สายลำโพง สายสัญญาณที่ราคาแสนแพง ยังจัดวางไม่เป็นระเบียบ พันกัน ทับกัน มั่วไปหมดเลย อย่าคิดว่าสายเหล่านั้นออกแบบมาดี ป้องกันการรบกวนแล้วนะครับ หากคิดแบบนั้น ท่านไม่ได้เล่นเครื่องเสียงด้วยศิลปะเลย กลับกันหากท่านฟังเพลงจากลำโพงพกพาราคาหลักร้อย แต่จัดมุมเลี่ยงการสะท้อน วางบนไม้ MDF อย่างมั่นคง แบบนี้ท่านก็มีศิลปะในการเล่นเครื่องเสียงครับ

5. เล่นอย่างเข้าใจ เข้าถึง ลงลึก ไม่ตามกระแส

     บทความนี้เป็นบทความที่แนะนำในการเล่นเครื่องเสียงแบบเริ่มต้น เสนอเป็นอีกทางเลือกให้นักเล่นได้พิจารณาก่อนการเล่นเครื่องเสียง ยังไม่ได้ลงลึกในรายละเอียดทุกขั้นตอน เพื่อให้นักเล่นได้พอเข้าใจ เห็นภาพในการเล่นเครื่องเสียง ไม่ใช่ว่าชอบเครื่องเสียง สวยงามดี อยากได้ก็ซื้อหามาก่อน โดยขาดการพิจารณาวางแผน หรือซื้อมาแล้ว วางและเสียบปลั๊กใช้งานโดยไร้ความพิถีพิถัน

     การเล่นเครื่องเสียงนั้น ขอให้เข้าใจและเข้าถึงการใช้งานอุปกรณ์นั้นๆ ตามการใช้งาน หรือตามที่ผู้ผลิตเข้าต้องการหรือประสงค์จะให้เป็น เข้าใจถึงความเหมาะสมลงตัวของการเลือกอุปกรณ์มาใช้งานร่วมกัน พิจารณาถึงอุปกรณ์ปรับแต่งที่ใช้งานได้จริง หรือมีความสวยงาม อยากให้ลองใช้งาน ลองฟังด้วยตนเองอย่างถ้วนถี่ก่อนการตัดสินใจเลือกหามาใช้งาน ความคิดที่ตกผลึกจะทำให้การเลือกสรรมีคุณภาพครับ อย่าเลือกหรือชอบตามที่เขาว่ามา ตามที่เขาว่าดี ตามที่เห็นเขาทำๆกัน นั่นมันเป็นความเห็นส่วนตัวของเขา ไม่ใช่ของเรา ความชอบของเขา เงินของเขา ไม่ใช่ของเรา ของของเรา ต้องเลือกเอง พิจารณา ลองฟัง ลองเล่นด้วยตนเองครับผม

     การเล่นเครื่องเสียงด้วยศิลปะ ด้วยความพิถีพิถัน จะได้การฟังบทเพลงที่แตกต่างกันออกไป คุณภาพ คุณค่า รวมถึงทักษะในการฟังเสียง ก็จะเพิ่มพูนแตกต่างกันออกไปเช่นกัน การเล่นเครื่องเสียงนั้น วัดได้รวมไปถึงการใช้ชีวิตในด้านอื่นๆ ว่ามีศิลปะ มีความพิถีพิถัน และมีสติหรือไม่ หากท่านมีองค์ประกอบที่ดีเหล่านั้นครบถ้วน ไม่ใช่เพียงแค่การฟังเพลงที่มีความสุขนะครับ การใช้ชีวิตก็จะมีความสุข สงบเช่นกันครับผม ฝากไว้ให้พิจารณานะครับ


Exit mobile version