ครั้งแรกในประเทศไทยกับงานประชุมเครื่องเสียงระดับโลก Thailand Triode Meeting 2019

0

SPECIAL REPORT

ครั้งแรกในประเทศไทยกับงานประชุมเครื่องเสียงระดับโลก

Thailand Triode Meeting 2019

DAWN NATHONG

ก่อนจะเล่าถึงงานนี้ ขอเท้าความไปถึงงานซึ่งเป็นต้นกำเนิดก่อนสักหน่อย นั่นคืองาน Lenco Heaven Meeting เกิดจากการรวมกลุ่มกันของเหล่าผู้หลงใหลเครื่องเสียงทางฝั่งยุโรปและอเมริกา จัดขึ้นเป็นประจำต่อเนื่องมาหลายปีที่ Beauvechain ประเทศเบลเยี่ยม จุดมุ่งหมายหลักคือการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์กันโดยไม่แสวงผลกำไร เป็นบรรยากาศแห่งการสังสรรค์ระหว่างผู้มีใจรักเครื่องเสียงด้วยกันอย่างแท้จริง สมาชิกทุกคนล้วนเป็นทั้งนักเล่นและนักออกแบบมากประสพการณ์ โดยมีคุณ Jean Hiraga ปรมาจารย์แห่งวงการเครื่องเสียงโลก ผู้เผยแพร่วัฒนธรรมไตรโอดของญี่ปุ่นไปสู่ชาวตะวันตก เป็นประธานกลุ่ม

ในปี 2017 ได้มีการจัดงาน Lenco Heaven นอกสถานที่ขึ้นเป็นครั้งแรก ณ ประเทศญี่ปุ่น ที่เมืองฟุกุโอกะ โดยใช้ชื่องานว่า “Japan Triode Meeting” นำโดยคุณ Jean Hiraga และกลุ่มเพื่อนนักเล่นชาวญี่ปุ่น เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศ และยังเป็นการแลกเปลี่ยนเรื่องราวและวัฒนธรรมของคนในท้องถิ่นผ่านเครื่องเสียงอีกทางหนึ่ง และในปีนี้เองก็มีกลุ่มนักเล่นชาวไทยเข้าร่วมด้วย หนึ่งในนั้นคือคุณ กฤตภาส คูสมิทธิ์  ซึ่งภายหลังได้ถูกเชิญเข้าร่วมเป็นหนึ่งในสมาชิกของ Lenco Heaven Team อย่างเป็นทางการ และนั่นเอง ก็กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการจัดงาน Lenco Heaven Meeting ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทยอีกสองปีถัดมา โดยใช้ชื่อของงานว่า “Thailand Triode Meeting 2019”

สถานที่สำหรับจัดงานจะอยู่ที่โรงแรมยุ้งข้าว ล้านนา โฮมสเตย์ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นเวลาสี่วัน ตั้งแต่วันที่ 16-19 มกราคมที่ผ่านมา โดยแขกผู้มาร่วมงานเกือบทั้งหมดจะพักอยู่ที่นี่ ผู้เขียนเองเดินทางมาถึงจังหวัดเชียงใหม่ในวันที่สามของงาน และถึงตัวโรงแรมในช่วงเช้า ขอบอกว่าบรรยากาศของสถานดูร่มรื่น เงียบสงบ เป็นกันเอง และแฝงกลิ่นอายของความเป็นล้านนาอย่างเต็มเปี่ยม เหมาะสำหรับการเป็นสถานที่รับรองและพบปะสังสรรค์ของเหล่ากลุ่มคนรักเครื่องทั้งชาวไทยและต่างประเทศเป็นอย่างดี

บรรยากาศภายในงาน

งานในครั้งนี้ เรียกได้ว่าเป็นการรวมตัวจริงเสียงจริงของวงการเครื่องเสียงเอาไว้มากมายจริง ๆ (ขออภัยหากกล่าวถึงได้ไม่หมด) ทั้งคุณ Jean Hiraga และเหล่าสมาชิกทีม Japan Triode รวมถึง สมาชิก Lenco Heaven Team อาทิ คุณ Shinichi Suzuki เจ้าของ G.I.P Laboratory หนึ่งในสุดยอดของลำโพงฮอร์นญี่ปุ่น, คุณ Martina Schoener เอ็นจิเนียร์ที่เคยร่วมงานกับ Thoren ปัจจุบันเป็นเจ้าของบริษัท Loricraft Audio รับซ่อมบำรุงและจัดจำหน่ายเทิร์น Garrard ฝั่งยุโรป, คุณ Benny Glass จาก Aquablue diyparadiso และอีกหลายท่าน รวมถึงกลุ่มนักออกแบบชาวไทยอีกหลายท่านที่ล้วนมีประสพการณ์และฝีมือยอดเยี่ยมไม่แพ้กัน โดยห้องจัดแสดงจะแบ่งออกเป็นสองห้อง อยู่ห่างกันคนละโซนของโรงแรมทำให้ไม่มีเสียงดังเล็ดรอดมารบกวนกัน

บรรยากาศโดยรวมของงานเป็นไปอย่างเรียบง่ายและเป็นกันเอง มีกำหนดการอย่างคร่าว ๆ ในแต่ละช่วงเวลาสำหรับกิจกรรมต่าง ๆ ได้เห็นซิสเต็มของแต่ละทีมที่นำมาแล้วไม่ธรรมดาเลย เรียกว่าขนกันมาแบบจัดเต็ม รวมถึงการเซ็ตอัพที่พิถีพิถันในรายละเอียดทุกขั้นตอน ซึ่งทุกคนต่างช่วยกันฟังและทดสอบ หนึ่งในนั้นที่ผู้เขียนยกให้เป็นไฮไลท์ของงาน ประกอบด้วยลำโพง Altec A5 รุ่นโมดิฟายด์พิเศษ มีการใส่วัสดุแดมป์ภายในตัวตู้เพื่อลดแรงสั่นสะเทือน แดมป์บริเวณปากฮอร์นเพื่อจูนเรโซแนนท์ ออกแบบครอส์โอเวอร์เน็ตเวิร์คใหม่และจูนเสียงโดยคุณ Jean Hiraga ประกอบครอสโอเวอร์เน็ตเวิร์คโดยร้าน Soundaries ของคนไทย ขับด้วยอินทิเกรตแอมป์หลอดซิงเกิ้ลเอ็นด์ Aquablue กำลังขับ 39 วัตต์ ใช้ภาคจ่ายไฟสวิตชิ่งซึ่งคุณ Benny ออกแบบเองทั้งหมด ส่วนฟร้อนต์เอ็นด์มีอย่างเทิร์นวินเทจ Thoren และเครื่องเล่นซีดี Moon 230D, สายลำโพง Western Electric และสายสัญญาณทำมือของไทย สายไฟธรรมดาๆ แต่เสียงที่ออกมานั้นไม่ธรรมดาเอาเสียเลย ที่น่าตกใจคือความเงียบของพื้นเสียงที่ต่างจากซิสเต็มวินเทจทั่วไป และยังคงมีบรรยากาศแอมเบี้ยนต์ที่เข้มข้นอบอวลอยู่อย่างสมบูรณ์ นับเป็นซิสเต็มที่สามารถดึงเอาอารมณ์ของดนตรี ศิลปิน ออกมาได้อย่างลึกซึ้ง งดงาม จนทำให้ผู้ฟังถูกดึงให้ดำดิ่งไปกับบทเพลงได้อย่างง่ายดายในเวลาอันรวดเร็ว นับเป็นประสบการณ์น่าประทับใจซึ่งยากที่จะหาฟังกันได้บ่อย ๆ

พอหันหลังกลับมาจะพบซิสเต็มระบบโมโนแท้ ๆ หาชมได้ยากจากทีมฝั่งญี่ปุ่น ประกอบด้วยลำโพงฮอร์น Western Electric 13A ของคุณ Yasutoshi Sasamoto แห่ง WE13A Studio ที่ใช้คอมเพรสชั่นไดร์เวอร์ WE555 สลับกับ Replica ของ GIP ตรงกลางด้านในปากฮอร์นติดตั้งฮอร์นทวีตเตอร์ GIP 597-A ส่วนของแอมป์เป็นปรี Cello, เพาเวอร์แอมป์โมโนบล็อก DIY ใช้หลอดไตรโอด Western Electric 241B ขนาดยักษ์จากเครื่องส่งสัญญาณ, แอมป์หลอด Grommes Custom เสียงที่ได้ยินจากแหล่งโปรแกรมโมโนแท้ ๆ นั้น อิ่ม ใหญ่ น่าฟัง ยิ่งฟังเพลงร้องหรือแจ๊สยุคเก่าจะให้อารมณ์ร่วมในแบบที่ลำโพงยุคใหม่ยากจะเลียนแบบ กับบางแผ่นโมโนที่บันทึกเสียงมาดีสามารถรับรู้มิติตื้นลึกของเสียงได้อย่างเหลือเชื่อ ส่วนของห้องจัดแสดงอีกโซน จะเป็นห้องของกลุ่มนักออกแบบชาวไทย ไฮไลท์ก็คือลำโพงตั้งพื้นโอเพ่นแบพเฟิ่ลขนาดใหญ่ ติดตั้งไดร์เวอร์ที่ใช้แม่เหล็ก Field coil ข้างละสามตัว ในส่วนของฮอร์ทวีตเตอร์ขึ้นรูปด้วยกรรมวิธี 3D Printing ขับด้วยแอมป์หลอดวินเทจแบบ Replica และฟร้อนต์เอ็นด์เครื่องเล่นซีดีแบบ DIY เช่นเดียวกัน รายละเอียดและสุ้มเสียง มีความเป็นดนตรีน่าฟัง ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าอีกห้องเลยทีเดียว เอาเป็นว่าหลังได้ฟังความสุดยอดของซิสเต็มในงานนี้แล้ว ผู้เขียนเกิดอาการ “หูเสีย” ไปพักใหญ่

ในระหว่างวัน ก็จะมีกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการประชันระหว่างปรีหลอดโฟโนที่แต่ละคนออกแบบทั้งของคนไทยและชาวต่างชาติ นำมาร่วมสนุกกันให้เหล่าผู้ร่วมงานช่วยกันฟังและทำการยกมือโหวตเพื่อตัดสิน ซึ่งผู้ที่ชนะเป็นเอกฉันนท์ก็คือนักเล่นชาวไทย คุณ ประดิชญา สิงหราช และนอกจากนี้ในแต่ละวัน ก็จะมีชั่วโมงบรรยายให้ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญหลายท่าน อาทิ ปรมาจารย์ Jean Hiraga และคุณ Shinichi Suzuki จาก G.I.P.Laboratory (ซึ่งน่าเสียดายมาก ไม่ใช่วันที่ผู้เขียนมา) ก่อนที่จะปิดท้ายงานกิจกรรมครั้งนี้ด้วยโชว์ชุดพิเศษในช่วงกลางคืน ทั้งนาฏศิลป์ภาคเหนือที่หาชมยาก และดนตรีสดที่ผสานความเป็นล้านนาเข้ากับดนตรีแจ๊สได้อย่างกลมกล่อม พร้อมกันนี้ยังได้มีการทดลองบันทึกเสียงดนตรีสดด้วยเครื่องเล่นเทป Nagra IV-S รุ่นเดียวกับที่ใช้บันทึกอัลบั้ม Jazz at the Pawnshop โดยมีคุณ Shinya Matushita ซาวด์เอ็นจิเนียร์มืออาชีพจาก Studio Dede เป็นผู้ดูแลอยู่เบื้องหลัง ซึ่งหลังบันทึกเสร็จแล้ว จะมีการร่วมฟังทดสอบคุณภาพของมาสเตอร์ เตรียมนำไปตัดทำแผ่นเสียงเพื่อแจกเป็นที่ระลึกสำหรับผู้ร่วมงานต่อไป เรียกได้ว่าเป็นงานมีทติ้งเครื่องเสียงที่ครบถ้วนกระบวนความทุกรสชาติจริง ๆ

ส่งท้าย

สำหรับผู้เขียน การได้มีโอกาสได้เข้าร่วมงาน Thailand Triode Meeting ในครั้งนี้ ทำให้ความรู้สึกเก่า ๆ ของการเล่นเครื่องเสียงหวนกลับมาอีกครั้ง ความสุข ความสนุก ของการได้สัมผัส ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความรู้ ระหว่างนักเล่นอย่างมีคุณภาพ ไม่มีเรื่องของการค้าแฝง หรือการเล่นเกมแบ่งฝักแบ่งฝ่ายเข้ามาเกี่ยวข้อง เป็นสิ่งที่วงการเครื่องเสียงในบ้านเราตอนนี้กำลังขาดแคลน งาน Thailand Triode Meeting คือแก่นสารและเสน่ห์ของการเล่นเครื่องเสียงที่ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นนักเล่นมือเก่าหรือมือใหม่ ล้วนเข้าถึงและสัมผัสได้ ในฐานะผู้ทำสื่ออย่างผู้เขียน ก็อยากประชาสัมพันธ์ให้งานดี ๆ แบบนี้ เป็นที่รู้จัก เป็นตัวอย่าง และเผยแพร่ออกไปในวงกว้างมากขึ้นเรื่อย ๆ สำหรับประเทศไทย ก่อนที่วงการเครื่องเสียง จะกลายเป็นเพียงสนามห้ำหั่นระหว่างคนบางกลุ่มเพื่อแย่งชิ้นปลามัน และครอบงำด้วยผลประโยชน์แอบแฝงแต่เพียงอย่างเดียว เพราะหากวันนั้นมาถึง เราคงใช้คำว่า “เล่น” กับเครื่องเสียงไม่ได้เต็มปากอีกแล้ว

ทางผู้เขียนและทีมงานนิตยสาร What Hi-Fi? Thailand ต้องขอขอบคุณ คุณกฤตภาส คูสมิทธิ์และผู้มีส่วนร่วมทุกท่าน ที่จัดงาน Thailand Triode Meeting 2019 ขึ้น และให้โอกาสได้เข้าร่วมงานกิจกรรมดี ๆ มา ณ โอกาสนี้อีกครั้ง