Dawn Nathong
Marantz model 7 (1958)
ปรีแอมป์ที่แหวกขนบการออกแบบปรีแอมป์ในยุคนั้น ผลงานชิ้นเอกของ Saul B. Marantz ใช้หลอด 6 x ECC83/12AX7 ถูกจำหน่ายไปมากกว่า 130,000 เครื่องตลอดระยะเวลากว่า 12 ปี แต่ด้วยจำนวนการผลิตที่มาก ทำให้เครื่องแต่ละล็อตมีคุณภาพเสียงที่ไม่เท่ากัน บางล็อตเสียงดีมาก ๆ แต่บางล็อตอาจจะฟังสงสัยว่ามันดีอย่างไร ปัจจุบันค่าตัวของ Model 7 พุ่งสูงกว่าตอนเปิดตัวเกือบ 10 เท่า หากเลขซีรีย์ต่ำมากๆ ราคาจะพุ่งไปแตะหลักล้านบาทเลยทีเดียว
Harman kardon Citation 1 (1959)
นี่คือปรีแอมป์ที่ถูกออกแบบมาคู่กับเพาเวอร์แอมป์ Citation II ออกแบบโดย สจ๊วต เฮเกแมน พ่อมดวงการเครื่องเสียง ออกแบบไร้ซึ่งการประนีประนอม ซึ่งถือว่าสเปคเหนือระดับคู่แข่งในยุคนั้น ให้การตอบสนองความถี่กว้าง 5Hz – 80kHz และมีความเพี้ยนต่ำ ภาคโทนคอนโทรลเมื่อปรับเป็น Flat จะถูดตัดการทำงานแยกจากวงจรส่วนอื่นอย่างสิ้นเชิงเพื่อขจัดปัญหา phase shift และ transient distortion ใช้หลอด 9 x ECC83/12AX7 และ 5 x ECC81/12AT7
Dynaco PAS-3 (1960)
หนึ่งในปรีแอมป์ที่ถูกยกย่องว่าให้คุณภาพเสียงเกินราคาตลอดกาล ด้วยพื้นฐานวงจรที่ยอดเยี่ยมเมื่อนำไปโมดิฟายด์เปลี่ยนอุปกรณ์อย่างถูกต้อง จะให้น้ำเสียงที่ขยับไปเทียบชั้นปรีแอมป์ราคาแพงกว่าแบบหายใจรดต้นคอ ใช้หลอด 4 x 12AX7 (ECC-83) และ 1 x 12X4 มีเวอร์ชั่นหายากที่เป็น Factory Wired เช่นเดียวกับเพาเวอร์แอมป์รุ่น ST-70 โดยตรงเบ้าเสียบปลั๊กไฟ, ชุดขั้วต่อ RCA, ซ็อกเก็ตของหลอด จะมีการยึดอุปกรณ์ลงแท่นด้วยการย้ำรีเว็ตไม่ใช้สกรูยึดตามปกติ และมีสติกเกอร์ Factory Wired กำกับไว้ด้านหลังเครื่อง
Quad 33 (1967)
ปรีแอมป์สุดคลาสสิคจากยุค 60s ยุคสมัยที่ไฮเพาเวอร์ PNP ทรานซิสเตอร์ยังเป็นของหายาก จึงมีการสร้างวงจรโดยใช้ NPN ทรานซิสเตอร์เข้ามาทดแทน และออกแบบให้เป็นระบบโมดูลล่าร์ ทุกอย่างที่อยู่ภายในถูกคิดคำนวนตามหลักเหตุผลและง่ายต่อการบำรุงรักษา โดยมีการผลิตอย่างต่อเนื่องจนถึงปี 1982 รวม 120,000 ยูนิต ออกแบบมาให้ใช้งานเป็นเซ็ต 3 ชิ้น เข้าคู่กับเพาเวอร์แอมป์ Quad 303 และจูนเนอร์ Quad FM 3 เพื่อใช้ขับลำโพงอิเล็กโตรสแตติก Quad ESL 57 โดยเฉพาะ
Audio Research SP-3 (1972)
นี่คือปรีแอมป์ที่นักวิจารณ์ในยุคนั้นต่างยกย่องว่า ถ่ายทอดความสมบูรณ์แบบของเสียงได้ในราคาที่ไม่ไกลเกินเอื้อม (ราคาเปิดตัว $595) ใช้หลอด 6 x 12AX7s และ 2 x 12AX7 ให้ความเงียบสงัดของพื้นเสียงได้อย่างโดดเด่นและเบสที่ยอดเยี่ยมแตกต่างจากปรีแอมป์หลอดอื่น ๆ ในยุคนั้น จนกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างชื่อให้กับ ARC เป็นอย่างมาก มียอดจำหน่ายหลายพันเครื่องจนถึงช่วงปี 1976 ใช้รหัสรุ่นว่า SP-3A ก่อนจะมีเวอร์ชั่น SP-3A-1, SP-3B, SP-3C ตามมา และยังคงมีการเซอร์วิสด้านอะไหล่และการซ่อมบำรุงจากผู้ผลิตจนถึงในปัจจุบัน
Mark levinson JC-2 (1974)
ปรีแอมป์โซลิดสเตท Class-A ที่ดีที่สุดตัวหนึ่งของโลก ผ่านการกลั่นกรองทั้งด้านงานวิจัยวิทยาศาสตร์และการทดสอบการฟังด้วยหูนับแรมปี เลือกใช้อุปกรณ์เกรดระดับสูง ค่าความคลาดเคลื่อนต่ำสุด มีการแมตช์แพร์ด้วยมือทุกชิ้น สายวายริ่งเกรดทหาร รวมถึงช่อง RCA อินพุตที่ใช้คอนเน็คเตอร์ Camac ขั้วต่อระดับ laboratory grade ราคาแพงลิบซึ่งผลิตโดย Fischer วงจรอินพุตและเอาต์พุตสเตจเป็นระบบกล่องโมดูล แยกภาคจ่ายไฟต่างหากอีกหนึ่งตัวถัง งานออกแบบทิ้งทวนของพ่อมด จอห์น เคิร์ล ก่อนออกจาก MLAS ซึ่งกลายเป็นที่หมายปองของเหล่านักเล่นมากมายจนถึงปัจจุบัน
Burmester 808 Mk 5 (1980)
ปรีแอมป์ที่อยู่ในสายการผลิตของ Burmester มากว่า 30 ปี งานวิศวกรรมที่สร้างขึ้นเพื่อการใช้งานข้ามทศวรรษจากโรงงานในกรุงเบอร์ลิน วงจรฟูลลี่บาล้านซ์ เอาต์พุตสเตจใช้โมดูลภาคขยาย X-Amp2 technology (Class A) ออกแบบเป็นระบบโมดูลล่าร์ โมดูลแต่ละชิ้นผลิตด้วยความแม่นยำสูงสุด ทำให้มีความยืดหยุ่นต่อการใช้งานอันยอดเยี่ยมไม่ว่าจะเป็นการใช้กับชุดฟังเพลงแบบโฮมยูสหรือใช้ในสตูดิโอ ให้น้ำเสียงที่เปลี่ยนไปตามแหล่งโปรแกรมที่ป้อน มีความละเอียดอ่อนลื่นไหล ให้รายละเอียดหยุมหยิมอันน่าทึ่ง
Conrad-Johnson Premier III (1983)
คือหนึ่งในปรีแอมป์ที่โด่งดังที่สุดช่วงยุค 80s มีการนำตัวเก็บประจุฟิลม์โพลีสไตรีน CJD เอกสิทธ์ของ CJ มาใช้ตลอดทั้งวงจรและภาคจ่ายไฟเป็นครั้งแรก ใช้หลอด 2 x 12AX7, 5 x 5751 GE, และ 2 x 5965 GE ให้เสียงแบบ ‘Super warm’ อิ่มหวาน เนื้อเสียงและบรรยากาศเข้มข้น จนนิตยสาร ดิ แอบ โซลูท ซาวด์ ให้ฉายาว่า “ปรีแอมป์ที่เสียงดีที่สุดของทศวรรษ” ช่วงปี 1986 มีการปรับปรุงใหม่ (revision) โดยการอัพเกรดสายวายริ่งภายในวงจรเป็นตัวนำ mono-crystal silver พร้อมทั้งเปลี่ยนปุ่มบาล้านซ์คอนโทรลเป็นแบบ stepped attenuator
Cello Palette (1992)
งานศิลป์ด้านเสียงที่โดดเด่นที่สุดของมิสเตอร์ มาร์ค เลวินสัน ปรีแอมป์ระดับไฮเอ็นด์ที่มาพร้อมภาคโทนคอนโทรลและอีควอไลเซอร์ 6 แบนด์อันยอดเยี่ยมระดับมืออาชีพ พร้อมภาคเพาเวอร์ซัพพลายแยกอีกหนึ่งตัวถัง เนื่องจาก Richard S. Burwen ผู้ออกแบบ พบว่าการปรับโทนคอนโทรลเพื่อแก้โทนัลบาล้านซ์ของเสียงมีความจำเป็น เพื่อให้ได้เสียงที่เป็นธรรมชาติและสมจริงที่สุดจากแต่ละอัลบั้ม โดยเฉพาะอัลบั้มวินเทจยุคเก่า ซึ่งการปรับแต่งภาคโทนคอนโทรลด้วย Palette จะไม่บั่นทอนคุณภาพเสียงเลยแม้แต่น้อย และสามารถถ่ายทอดเลเยอร์ของดนตรี มิติเสียงออกมาได้อย่างน่าทึ่ง
Audible illusions modulus 3a (1996)
นี่คือปรีแอมป์ระดับ giant killer ที่นักเขียนชื่อดังต่างยกย่อง ด้วยคุณภาพเสียงระดับอ้างอิงได้ในราคาที่เหมาะสมมากที่สุดตัวหนึ่งเท่าที่เคยมีมา โดยแทบไม่ต้องอาศัยการโปรโมทผ่านสื่อในยุคนั้นมากมายเกินความจำเป็นแต่อย่างใด ออกแบบด้วยแนวคิดที่ว่า “simpler is better” วงจรแบบดูอัลโมโนแท้ แยกอิสระจนถึงตัวโวลุ่มคอนโทรล พร้อมภาคเพาเวอร์ซัพพลายแยก ใช้หลอด 4 x E88CC/6922 ให้เสียงที่หวาน โปร่งใสตลอดย่านความถี่ พร้อมทีเด็ดคือภาคออพชั่นเสริม MC โฟโนสเตจที่ออกแบบโดยพ่อมด จอห์น เคิร์ล
Nagra PL-P (1998)
งานแฮนด์เมดระดับไฮเอ็นด์จากผู้ผลิตระดับมืออาชีพในวงการสตูดิโอของสวิส ออกแบบโดย Jean-Claude Schlup ภาคโฟโนใช้หลอด 12AT7/ECC81 และ 12AX7/ECC83 อย่างละหนึ่งหลอด ส่วนภาคไลน์ใช้หลอด 2 x 12AT7, 4 x 12AX7 มีตัวจับเวลาอายุการใช้งานของหลอดอยู่ภายใน แตกต่างไม่เหมือนใครด้วยชุดภาคจ่ายไฟแบตเตอรี่ Nickel-Cadmium พร้อมวงจร Dual DC-to-DC converters ขจัดสัญญาณรบกวน มีดีไซน์ที่ไม่เคยตกยุค อยู่ในสายการผลิตกว่าสองทศวรรษและยังคงประสิทธิภาพเหนือชั้นแม้ในปัจจุบัน