ในขณะที่ความต้องการยังมีสูงขึ้นอยู่ตลอด ส่งผลภาวะ “ตลาด” สั่นคลอนในวงกว้าง
ในความเป็นจริงนั้น ไม่จำเพาะตลาดเครื่องเสียงเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ หากแต่แวดวงเทคโนโลยีก้าวหน้าใหม่ๆ ก็ได้รับผลกระทบนี้เช่นกัน ‘Praseodymium’ (เพรซีโอดิเมียม) และ ‘Neodymium’ (นีโอไดเมียม) คือสองแร่ธาตุสำคัญที่จัดอยู่ในหมวดหมู่ของโลหะธาตุหายาก (rare earths) และมีบทบาทอย่างมากๆ ต่ออุปกรณ์เทคโนโลยีระดับสูงทุกประเภทตั้งแต่ลำโพง สมาร์ทโฟน ทีวี มอเตอร์รถยนต์ไฟฟ้า ไปจนถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์ ดาวเทียม และอาวุธยุทโธปกรณ์ (ซึ่งสามารถนำไปใช้ในโดรนและขีปนาวุธของทหารได้)
บริษัทผู้ผลิตฮาร์ดแวร์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ล้วนตกอยู่ในภาวะคับขัน หลังจากราคาแร่หายากทั้ง 2 ชนิดพุ่งสูงขึ้นไปอีก ท่ามกลางความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นของตลาด หลังจากที่โลกประสบกับเหตุการณ์โควิด-19 ก็ได้ผลักดันให้อุตสาหกรรมเทคโนโลยีและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เฟื่องฟูอย่างมหาศาล โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าที่อาศัยแร่ธาตุสำคัญกลุ่มนี้ในการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ และแบตเตอรี่
…ยิ่งไปกว่านั้น ความตึงเครียดทางการเมืองโลกก็ส่งผลต่อสถานการณ์แร่หายากให้ย่ำแย่ลง เนื่องจากสหรัฐกับจีนคือ ผู้กุมบังเหียนแหล่งทรัพยากรแร่ธาตุหายากสำคัญระดับโลก และด้วยความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสองประเทศที่นับวันจะรุนแรง ตลาดโลกจึงได้รับผลกระทบนี้อย่างจัง…
ทั้งนี้ประเทศจีนเป็นเพียงประเทศเดียวที่มีเทคโนโลยีกระบวนการผลิตแร่หายากอยู่ในครอบครองแบบครบวงจร ตั้งแต่การขุด การทำให้บริสุทธิ์ ไปจนถึงการแปรรูป ซึ่ง ณ เวลานี้จีนครอบครองกำลังการผลิตแร่หายากทั่วโลกไว้ถึงกว่า 55% (จีนเป็นแหล่งกำเนิดของแร่หายากถึง 60% ของโลก) และแร่ธาตุหายากดังกล่าวก็ได้รับการถลุงสินแร่ออกมาแล้ว 85% ที่สำคัญรัฐบาลจีนได้บอกเป็นนัยว่า อาจควบคุมการส่งออกอย่างเข้มงวด ส่งผลให้ราคาแร่ธาตุหายากสูงขึ้นไปอีก
ข้อมูลจาก Shanghai Metals Markets พบว่า ราคาแร่ธาตุหายาก อาทิ นีโอไดเมียมออกไซด์ (ส่วนประกอบหลักสำหรับมอเตอร์และกังหันลม) พุ่งขึ้น 21.1% ตั้งแต่ต้นปี 2021 ขณะที่โฮลเมียมที่ใช้ในแม่เหล็ก และโลหะผสมแม่เหล็กสำหรับเซ็นเซอร์และตัวกระตุ้นให้มอเตอร์ทำงานนั้นก็สูงขึ้นกว่า 50% จนถึงปัจจุบัน ยิ่งกว่านั้นแม้แต่ราคาโลหะที่รู้จักกันทั่วไปอย่าง ดีบุก ทองแดง อลูมิเนียม และเหล็กกล้าก็ปรับขึ้น ซึ่งก็ได้รับแรงปัจจัยจากการควบคุมของจีน
สถาบัน Industry, Science and Technology International Strategy (ISTI) ระบุว่า การควบคุมครั้งนี้ช่วยเปิดทางให้จีนต่อต้านแรงกดดันจากสหรัฐได้ และจะเป็นตัวต่อรองที่สำคัญในการเจรจาทางการค้า และยิ่งความตึงเครียดระหว่างทั้งสองประเทศมากขึ้นเท่าไร ก็ยิ่งผลักดันราคาแร่ธาตุหายากในสูงขึ้นในระยะยาวมากเท่านั้น
แน่นอนว่า ผู้ที่ได้รับผลกระทบย่อมไม่พ้นผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ทั้งขนาดเล็กและขนาดกลาง เนื่องจากมีแนวโน้มสูงมากกว่าต้นทุนในการผลิตจะกลายเป็นภาระค่าใช้จ่ายต่อไปยังลูกค้าทั่วโลก ตัวอย่างผู้ที่ได้รับผลกระทบ อาทิ HP, Dell, Apple, Samsung รวมถึงบริษัทยานยนต์ขนาดใหญ่
แต่กระนั้น, แม้จะไม่มีปัจจัยด้านการเมืองโลกก็ตาม ด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ ที่อาศัยเทคโนโลยีขั้นสูงมาทำการผลิต เช่น ยานยนต์อัจฉริยะ และอุปกรณ์ 5G ก็จะเป็นตัวดึงราคาแร่หายากให้สูงขึ้นอยู่ดี…..
อ้างอิง Nikkei Asia