แผ่นเสียง-เคียงเครื่อง (Vinyl MUST on the shelf !)7
มงคล อ่วมเรืองศรี
[ลำนำแห่งขุนเขา รำลึก จรัล มโนเพ็ชร] – ดนู ฮันตระกูล – บ.เฮละโล จำกัด (Heylalo)
…ในอดีตนั้นท่าน อ.ดนู ฮันตระกูล เคยออกผลงานร่วมกับท่านจรัล มโนเพ็ชร เมื่อราวปี พ.ศ. 2531 ชื่อชุดว่า “จรัล/ไหมไทย – ลำนำแห่งขุนเขา” ด้วยการนำบทเพลงไพเราะที่ท่านจรัล มโนเพ็ชรได้ประพันธ์ไว้มาเล่น-บรรเลง-ร้องโดยวงไหมไทย จำนวน 10 เพลงด้วยกัน (ภายใต้ลิขสิทธิ์สังกัด : Cecilia/Peacock อำนวยการผลิต/อำนวยเพลง : ดนู ฮันตระกูล ควบคุมการบันทึกเสียง : แกรี่ เอ็ดเวิร์ดส์ ธุรกิจ : มานิด อัชวงศ์)
ส่วน “ลำนำแห่งขุนเขา รำลึก จรัล มโนเพ็ชร” ที่ผมหยิบจับมาแนะนำในครั้งนี้ ถือเป็นอีกชิ้นงานดนตรีที่ท่าน อ.ดนู ได้จัดทำขึ้นมาภายหลัง โดยจงใจให้เป็นอัลบั้มรับลมหนาวปลายปี ’55 เพื่อรำลึกถึงความสนุก-ความหลัง ครั้งที่ทั้งท่านอ.ดนูและท่านจรัลฯ ได้เคยทำงานและบันทึกเสียงร่วมกันเมื่อครา 25-26 ปีที่ผ่านมา อีกทั้งท่าน อ.ดนูยังได้ตั้งใจทำงานชิ้นนี้เพื่อให้เป็นที่ระลึกถึงการจากไปในวาระครบ 12 ปีของท่านจรัลฯ
ท่านอ.ดนู ได้เขียนเล่าถึงท่านจรัลฯ ซึ่งนับเป็น ‘เกลอ’ กัน ว่า “คุณจรัล มโนเพ็ชร เป็นคนเชียงใหม่ เมื่อสามสิบกว่าปีที่แล้วชื่อของเขาดังเป็นพลุแตกด้วยดนตรีแนวใหม่สด ผู้คนกล่าวขวัญถึงกันทั่วบ้านทั่วเมือง บทเพลงของเขาเล่าเรื่องราวหลากรสของคนในละแวกเดียวกัน บ้างเข้ม คม บ้างขำ เสียงที่ทุ้มต่ำกังวานไพเราะของเขาขับลำนำเหล่านี้ด้วยสำเนียงเหนือชนิดข้นเป็นข้น ไม่ผสมน้ำ และคลอเองด้วยกีตาร์คู่ใจตามแบบฉบับเพลงพื้นบ้านของฝรั่งที่ได้ลอยลมมาถึงถิ่นล้านนาในยุคนั้น นี่คือเพลงฟอร์มใหม่สุดที่ทุกคนตื่นเต้น และเรียกกันว่า “โฟล์คซ็องคำเมือง”
คุณจรัล ไม่ได้สร้างเสียงเพลงเพื่อป้อนอุตสาหกรรม แต่เพื่อขับกล่อมแฟนเพลงที่มาฟังเขาในบรรยากาศที่ใกล้ชิด เป็นกันเอง บทเพลงอย่าง “สาวมอเตอร์ไซค์” “บ้านบนดอย” และ “ลูกข้าวนึ่ง” บอกให้เรารู้ว่าคุณจรัล ไม่สนใจที่จะโกอินเตอร์ แต่ดูเหมือนเขากำลังพูดว่าเราจะโลกาภิวัฒน์กันไปทำไม มาถิ่นฐานาภิรักษ์ไม่ดีกว่าหรือ
เส้นทางของคุณจรัล แม้จะสั้นไปนัก แต่สิ่งที่เขาได้ฝากไว้ข้างหลังกลับมีผลทางใจต่อคนรักเพลงอย่างแนบแน่น ยาวนาน เป็นคุณูปการโดยเฉพาะต่อคลื่นลูกใหม่อย่างเอนกอนันต์ วันนี้คุณจรัล ได้กลายเป็นสมบัติทางวัฒนธรรมของเชียงใหม่ไปแล้วอย่างเต็มภาคภูมิ จะหย่อนอยู่ก็เพียงคำตอบที่คุณจรัลไม่ได้ฝากไว้ต่อคำถามที่ว่า สมบัติทางวัฒนธรรมมันคืออะไรกันหว่า….???”
ท่านอ.ดนู ฮันตระกูล เกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2493 เริ่มสนใจและเรียนดนตรีตั้งแต่อายุยังน้อย เป็นนักดนตรีของโรงเรียนอัสสัมชัญ ศรีราชา เป่าทรัมเปต, ยูโฟเนียม, คราริเนต และเรียนเปียโนในภายหลัง ต่อมาเข้าศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และได้ลาออกไปเรียนดนตรีที่สหรัฐอเมริกา รวมทั้งที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ เมื่อกลับมาเมืองไทยแล้ว ได้ก่อตั้งวงดนตรี ‘ภาคีวัดอรุณ’, โรงเรียนดนตรี ‘ศศิลิยะ’ รวมทั้งบริษัท ‘บัตเตอร์ฟลาย’ (เขียนเพลงโฆษณาและเพลงสมัยนิยมจำนวนมาก) ปัจจุบันท่านอ.ดนูเป็นทั้งนักดนตรีระดับอาจารย์, นักประพันธ์เพลง และ ผู้อำนวยเพลงชาวไทยที่มีชื่อเสียงขจรขจาย
นอกจากนี้ท่านอ.ดนูยังได้รับมอบรางวัล ศิลปาธร (ครั้งแรกสุด) ปี พ.ศ. 2547 สาขาคีตศิลป์ จากสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม (อ.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ สาขาทัศนศิลป์, ชาติ กอบจิตติ สาขาวรรณศิลป์, เป็นเอก รัตนเรือง สาขาภาพยนตร์ และประดิษฐ ปราสาททอง สาขาศิลปะการแสดง) อีกด้วย ทั้งยังเป็นผู้ก่อตั้ง บ. สองสมิต จำกัด (บริษัทของ อ.ดนู และครอบครัว) ในปี พ.ศ. 2529 (สร้างและจำหน่ายผลงานบันทึกเสียง) รวมทั้ง บ. โหมโรง จำกัด ในปี พ.ศ. 2546 (จัดสร้างและนำเสนอศิลปะการแสดง-ผลงานเพลง)
ส่วนวงไหมไทย หรือ ไหมไทยออร์เคสตร้า เป็นวงดนตรีที่ท่าน อ.ดนู ฮันตระกูล ได้ก่อตั้งขึ้นมาในปี พ.ศ. 2530 ด้วยแนวทางการนำเพลงไทยเดิม เพลงลูกกรุง และเพลงที่แต่งขึ้นใหม่ มาเรียบเรียงเพื่อเล่นกับวงออร์เคสตร้า โดยผลงานในช่วงแรกคือ ‘ชีพจรลงเท้า/เขมรไทรโยค’ ‘ทุ่งแสงทอง’ ‘ใต้แสงเทียน’ และ ‘ลำนำแห่งขุนเขา’ ซึ่งนับเป็นผลงานชุดพิเศษที่ทำร่วมกับท่านจรัล มโนเพ็ชร ต่อมาด้วยผลงานในช่วงที่สอง ได้แก่ ‘เงาไม้’ ‘รังสรรค์วันสวย’ และ ‘ผลิใบ’ ที่เริ่มมีเพลงร้องเข้ามาสร้างสีสัน เพิ่มความสวยงามในบทเพลงของ “ไหมไทย” ในอีกมิติหนึ่ง ซึ่งเพลงร้องส่วนใหญ่เป็นน้ำเสียงของคุณ สุภัทรา (อินทรภักดี) โกราษฎร์
สำหรับ บ.เฮละโล จำกัดเป็นบริษัทที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2556 โดยมี “คุณธีรพจน์ โกราษฎร์” เป็นผู้บริหาร ด้วยจุดมุ่งหมายทำธุรกิจผลิตแผ่นเสียงและ CD เพื่อจำหน่ายสู่สาธารณะ รวมทั้งออกแบบโฆษณาด้วยเช่นกัน ซึ่งที่มาของชื่อ “เฮละโล” นี้ คุณธีรพจน์ (โจ) โกราษฎร์ -สามีของคุณ สุภัทรา (อินทรภักดี) โกราษฎร์ หรือคุณแป๋ม ได้กรุณาเล่าให้ผมฟังว่า “คุณแป๋ม” เป็นคนคิดชื่อนี้ขึ้นมา ซึ่งจริง ๆ แล้วเป็นคำที่คนไทยเรามักใช้กันติดปากจนกร่อนเหลือแค่ ‘เฮ’ เท่านั้น อย่างเช่น เฮไหนเฮกัน หรือว่า เฮโลสาระพา เป็นที่ถูกใจ เราสองคนจึงใช้ชื่อนี้ครับ
คุณธีรพจน์ ยังบอกเพิ่มเติมด้วยว่า บ.เฮละโล จำกัด เกิดขึ้นจาก “ความรัก” ในเสียงดนตรี ด้วยหัวใจของเราสองคน (คุณโจและคุณแป๋ม) ไม่ได้ตั้งใจจะสร้างรายได้เป็นอาชีพหลักด้วยหนทางนี้ เราสองคนรู้จักกับ อ.ดนู มากว่า 30 ปี รักและเคารพในตัวท่าน รู้จักเพลงทุกเพลง นักดนตรีทุกคน งานทุกงานที่ “เรา” ร่วมผลิต เราสองคนมีความสุขที่จะได้ผลิตงานออกมาให้ผู้อื่นได้มีความสุขร่วมกับเรา ผ่านเสียงดนตรี
ถึง ณ วันนี้ บ. เฮละโล จำกัดได้มีงานออกมาแล้ว 4 ชุดด้วยกัน :- แผ่นเสียงชุด “ภาพรัก -สุภัทรา โกราษฎร์” (ออกจำหน่ายมกราคม 2556 ผลิตแผ่นเสียงออกมา 2 แบบ คือ ‘Vinyl’ สีดำ 180g จำนวน 500 แผ่น กับ ‘Picture Vinyl’ 210g จำนวน 500 แผ่น ผลิตจาก Schallplattenfabrik Pallas GmbH สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี) / Vinyl CD ชุด “ภาพรัก – สุภัทรา โกราษฎร์” (ออกจำหน่ายมีนาคม 2556 ใช้ต้นฉบับเดียวกับที่ใช้ผลิตแผ่นเสียง โดยให้ P+O Compact Disc GmbH & Co. KG สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี จัดการ Mastering ให้ ได้คุณภาพเสียงที่ดีกว่า CD ที่ผลิตในประเทศไทย ผลิตจำนวน 1,000 แผ่น) / แผ่นเสียงชุด “ลำนำแห่งขุนเขา รำลึก จรัล มโนเพ็ชร” (ออกจำหน่ายกันยายน 2556 ผลิตจาก Schallplattenfabrik Pallas GmbH สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี Vinyl สีดำ 180g จำนวน 200 แผ่น – สร้างสถิติจำหน่ายหมดในอีก 1 เดือนถัดมา …!! ทว่าจะได้สั่งผลิตเพิ่มอีก 150 แผ่นในช่วงกลางปีนี้) / แผ่นเสียงชุด “ดนู ฮันตระกูล – เพลงบางกอก” (เพิ่งเริ่มจำหน่ายสัปดาห์แรกของเดือนมกราคม 2557 ผลิตจาก Schallplattenfabrik Pallas GmbH สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี Vinyl สีดำ 180g จำนวน 300 แผ่น)
สำหรับการจัดทำแผ่นเสียงชุด “ลำนำแห่งขุนเขา รำลึก จรัล มโนเพ็ชร” นี้ คุณโจ โกราษฎร์ ได้กรุณาแจ้งรายละเอียดว่า ใช้ต้นฉบับไฟล์ Hi-Res ระดับ 24 bit/48 kHz ซึ่งเป็นต้นฉบับที่ -คุณประทีป เจตนากูล- (Sound Engineer ซึ่งร่วมงานกับ ‘อ.ดนู’ และ ‘สองสมิต’ ตั้งแต่ชุด “เมื่อดอกซากุระบาน” ปี พ.ศ. 2545 จนถึงปัจจุบัน) ได้ปรับแต่งเสียงเล็ก ๆ น้อย ๆ จากต้นฉบับเดิมที่คุณประทีป เจตนากูลจัดทำไว้เพื่อใช้ผลิต CD และได้จัดส่งไฟล์มาสเตอร์นั้นไปให้ทาง Pallas (Schallplattenfabrik Pallas GmbH สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี) ทำการผลิตแผ่นเสียง โดยไม่มีการแก้ไขอะไรอีกและใช้กระบวนการ DMM (Direct Metal Mastering) ในการตัดแผ่นครับ
โดยมีเพลงบรรจุอยู่ทั้งสิ้น 10 เพลงด้วยกัน ในแผ่นเสียงชุด “ลำนำแห่งขุนเขา รำลึก จรัล มโนเพ็ชร” นี้ ด้าน A : บ้านบนดอย, สาวมอเตอร์ไซค์, เดือนดวงเดียว, รางวัลแด่คนช่างฝัน, หนุ่มเจียงใหม่ ด้าน B : ลูกข้าวนึ่ง, ล่องแม่ปิง, ซื้อฝัน, ปั่นฝ้าย และ ลำนำแห่งขุนเขา ซึ่งจะมีอยู่บางเพลงที่-แตกต่าง-ไปจากในอัลบั้ม “จรัล/ไหมไทย – ลำนำแห่งขุนเขา” เมื่อปี พ.ศ. 2531 (เรามาร้องเพลงกัน, ลำนำแห่งขุนเขา, ซื้อฝัน, ปั่นฝ้าย, ขลุ่ยผิว, อุ๊ยคำ, ล่องแม่ปิง, ไม้กลางกรุง, ป่าลั่น และ รางวัลแด่คนช่างฝัน) ส่วนสถานที่ที่ใช้ในการบันทึกเสียงนั้น ณ หอประชุมชั้น 2 อาคารจุฬาภรณ์พิศาลศิลป์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยสลัยเกษตรศาสตร์ และ ไดนามิคส์ เรคคอร์ดดิ้ง สตูดิโอ โดยคุณประทีป เจตนากูล – บันทึกเสียง/แต่งเสียง
จากการรับฟังแผ่นเสียงชุด “ลำนำแห่งขุนเขา รำลึก จรัล มโนเพ็ชร” บอกได้ทันทีว่า อะคูสติกนั้นดีมาก มีทั้งความกังวานและบรรยากาศ ความเปิดโปร่ง-ใสกระจ่าง พร้อมด้วยความสด-สะอาดของสรรพเสียง รับรู้ได้ถึงอิมเมจที่มิเพียงแผ่กว้างเท่านั้น ยังให้ระดับความลึกที่ลดหลั่น-เหลื่อมล้ำกัน ไวโอลินอยู่ฝั่งซ้าย วิโอล่า-เชลโล่อยู่ฝั่งขวา เครื่องเคาะจังหวะนั้นถอยหลังเข้าไปอยู่หลังสุดในวงเวทีเสียง รวมทั้งสเกลชิ้นดนตรีอันสมจริง เสียงเบสนั้นอวบใหญ่-หนักแน่น สำแดงแรงกระตุกสายอะคูสติก เบสสั่นรัวราวกับเบสยืนของจริงอยู่ต่อหน้า
การออกเสียงอักขระนั้นแจ่มชัดมาก ไร้ความคลุมเครือใดๆ ให้ลักษณะเสียงที่เปล่งออกมาจากการขยับปากมนุษย์จริง ๆ เสียงร้องประสาน (คอรัส) ของ ‘เรโซแนนซ์’ แยกแยะตำแหน่งแทบจะเป็นคน ๆ ไป แยกหญิงแยกชาย-ซ้าย/ขวา ให้แถว-แนวที่ยักเยื้อง ไม่ซ้อนทับกัน ในเพลง “ล่องแม่ปิง” เสียงของคุณแป๋ม นุ่มนวลน่าฟัง ฉ่ำเย็น ให้ทั้งพลัง-ความมีตัวตน และความก้องกังวานในน้ำเสียง ไล่โทนเสียงสูง ๆ ได้อย่างน่าทึ่ง ราวเสียงจากสวรรค์ ต้องขอนับถือในฝีมือการบันทึกเสียงของคุณประทีป เจตนากูล สำหรับความ ”ยอดเยี่ยม” เหล่านี้ ที่เป็นระดับสากล ทว่าหาได้ยากจากแผ่นเพลงไทยทั่วไป ซึ่งมักไม่ใส่ใจในประเด็นเช่นนี้กัน
…บังเอิญผมได้ฟังอัลบั้ม “ภาพรัก” ของคุณแป๋ม – ที่คุณโจ โกราษฎร์ ได้กรุณาส่งตามหลังมา แผ่นนี้ผมยืนยันว่า สามารถใช้เป็น ‘แผ่นอ้างอิง’ ได้เลยจริงๆ ฝีมือของคุณประทีป เจตนากูล – สุดยอดมากครับในแผ่นเสียงชุด “ภาพรัก” นี้ ที่ผมจะขอหยิบจับมาสาธยายในเดือนหน้านี้แหละครับ …ได้ฟังแล้วตื่นเต้นจริงๆ ครับ ขอบอกไว้สั้นๆ เท่านี้ก่อนละกัน สำหรับงานต่างๆ ของท่าน อ.ดนู จะติดตามได้ที่ ‘บจก. สองสมิต’ ซึ่งจะเข้าไปดูใน FB ได้โดยใช้ “Songsmith Dnunet” และ “www.dnunet.com” ครับ ส่วนทาง ‘บจก.เฮละโล’ นั้นถือว่าเป็นตัวแทนนำเสนองาน และจัดจำหน่ายหน่วยหนึ่งเท่านั้นครับ โดยสามารถใช้ช่องทางติดต่อ FB ได้ทาง “Heylalo” และ “Joe Korad” รวมถึง “www.heylalo.com” ด้วยเช่นกัน