แผ่นเสียง- เคียงเครื่อง (Vinyl MUST on the shelf !)8

0

แผ่นเสียง- เคียงเครื่อง (Vinyl MUST on the shelf !)8…มงคล อ่วมเรืองศรี

OldDesignShop_1908TalkingMachine1

– มิใช่เพราะเกาะกระแส (in-trend) หรือเห็นเป็นแค่แฟชั่น-มาแล้วก็ไป จึงต้องรีบฉกฉวยโอกาสไว้ ทว่านี้-คือความตั้งใจจริงในการนำเสนอ …นี่เป็นครั้งแรก สำหรับการบังเกิดคอลัมน์นี้ขึ้นมาในหน้าหนังสือนี้ ด้วยจุดประสงค์หลักก็คือ การหยิบจับอัลบั้มเพลง (โดยเฉพาะของบ้านเรา) ในเวอร์ชั่นแผ่นเสียงของสังกัด หรือค่ายเพลงต่างๆ ที่มีคุณภาพระดับออดิโอไฟล์-จริงๆ – มานำเสนอ เน้นๆ เนื้อๆ ที่มีความโดดเด่น-มีความน่าสนใจ สมดั่งการเสียสละเงินตราเกินกว่าพันบาทเพื่อซื้อหามาสะสม เปิดฟังได้อย่างรื่นรมย์สมอุรา ‘เทียบเคียง’ หรือว่า ‘ใกล้เคียง’ กับแผ่นเสียงระดับ recommended ของต่างประเทศ –โดยไม่มีการลำเอียง เลือกที่รักมักที่ชัง หรือเชียร์กันตะพึดตะพือ… บางครั้งอาจมี “ที่ด้อย” บางอย่าง ทว่าเห็นถึงความตั้งใจทำ อันนี้ก็จะ “ติเพื่อก่อ” กันไป

 

2014328_53316

 

[รอยคำรณ] – แอ๊ด คาราบาว – V Love Vinyl

นี่คือ อัลบั้มเพลงแห่งแรงบันดาลใจของน้าแอ๊ด คาราบาวโดยแท้ เพื่อรำลึกนึกถึงครูคำรณ สัมบุณณานนท์ ที่เรียกได้ว่าเป็น “รุ่นพี่” น้าแอ๊ด เพราะจบการศึกษาที่ ‘อุเทนถวาย’ เหมือนกัน (แต่เป็นรุ่นพี่-กว่า-น้าแอ๊ดอยู่หลายปี น้าแอ๊ดจึงเรียกว่า “รุ่นอา”) เพลงทั้งหมดในอัลบั้มชุดนี้จึงเป็นเพลงเก่าในแบบฉบับลูกทุ่งของครูคำรณที่ ‘น้าแอ๊ด’ นำมาร้องใหม่ ซึ่งได้ทำการบันทึกเสียงไว้ในปีพ.ศ.2537 อย่างตั้งใจให้ยิ่งใหญ่ตั้งแต่เริ่มแรกวางแผนงาน ทั้งนี้เพราะหากจะเรียกว่า ครูคำรณ ก็คือ IDOL ของพี่แอ็ด คาราบาว นั่นเองก็คงไม่ผิดนัก น้าแอ๊ดจึงทุ่มเทให้กับอัลบั้ม “รอยคำรณ” นี้เป็นอย่างมาก-มากที่สุด

สังเกตได้จากงานชุดนี้ได้นักดนตรีคุณภาพมากมายชนิดคับแก้วที่น่าจะเรียกได้ว่า เป็นเกจิทางดนตรีหลายท่านเลยก็ว่าได้ ไม่ว่าจะเป็น :- ลือชัย งามสม – รัศมี เทพกิจ – คำภีร์ นอสูงเนิน – ชูชาติ หนูด้วง – ขจรศักดิ์ หุตะวัฒนะ – สุทิน ศรีณรงค์ – ฯลฯ จึงมิใช่เรื่องน่าแปลกอันใด ที่อัลบั้มชุดนี้มีงานภาคดนตรีที่กล้ารับรองได้ว่า คุณภาพสมบูรณ์แบบมากๆ และต้องขอยกย่องฝีมือการบันทึกเสียงของคุณ อนุพงษ์ ประถมปัทมะ (แห่งสตูดิโอ เซ็นเตอร์ สเตท ตามที่ปรากฏอยู่บนปกแผ่นเสียงชุดนี้ : หมายเหตุจากผู้เขียน – น่าจะเป็นห้องอัดเสียง “เซ็นเตอร์ สเตจ สตูดิโอ” (มองโกล สตูดิโอ) ซึ่งเป็นห้องบันทึกเสียงที่บ้านของน้าแอ๊ดเอง และได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในสตูดิโอระดับชั้นแถวหน้าของเมืองไทย)

อย่างไรก็ตาม ผลงานชุด “รอยคำรณ” (ทำการบันทึกเสียงไว้ในปีพ.ศ.2537) ก็ได้ออกจำหน่ายมาเป็นแผ่นซีดีเพลง (Audio-CD) เท่านั้น ยังมิเคยได้รับการจัดทำในเวอร์ชั่นแผ่นเสียงมาก่อน แผ่นเสียงอัลบั้ม “รอยคำรณ” ของ V Love Vinyl นี้จึงเป็นปรากฏการณ์ครั้งแรกจริงๆ และ ได้นำมาจัดทำไว้ได้อย่างไร้ข้อตำหนิติติงจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นในด้านการผลิตแผ่นเสียงที่ส่งมาสเตอร์ไปให้ทาง Pauler Acoustics จัดทำในแบบ virgin vinyl 180 gram ตามมาตรฐานแผ่นระดับออดิโอไฟล์ในปัจจุบัน ซึ่งขอบอกไว้ ณ ตรงนี้เลยว่า คุณภาพเสียงที่รับฟังนั้นดีมากๆ จนต้องขอให้เครดิตอย่างมากเป็นพิเศษต่อ คุณอนุพงษ์ ประถมปัทมะ ที่ทำให้เราๆ ท่านๆ ได้รับฟังทุกเพลงในอัลบั้มนี้ ทั้งเสียงร้องและดนตรีอย่างมีคุณภาพตั้งแต่ต้นทาง

ทางด้านบรรจุภัณฑ์อย่างปกบรรจุอัลบั้มทาง V Love Vinyl ก็สั่งทำอย่างดี มีความพิถีพิถันสูงมาก ใช้เนื้อกระดาษอย่างดีมีความหนามาจัดทำในลักษณะปกพับ อย่างที่เรียกกันว่า gatefold ทั้งยังมี “ซองใน” ใส่แผ่น (inner sleeve) ชั้นนอกที่เป็นกระดาษอย่างหนาอีกเช่นกัน (นอกเหนือจากซองชั้นในที่เป็นพลาสติก) ซึ่งได้นำเนื้อเพลงทั้งหมดในอัลบั้มนี้มาพิมพ์ประทับไว้ พร้อมสกรีนรูปน้าแอ๊ดในยุคสมัยนั้นเอาไว้ด้วย

อัลบั้ม “รอยคำรณ” เกิดขึ้นจากไอเดียของคุณพยัพ คำพันธุ์ – เซียนพระและเพื่อนสนิทรุ่นใหญ่ของน้าแอ๊ด จนได้มาชักชวนให้น้าแอ๊ดจัดทำอัลบั้มชุดนี้ขึ้นมา ซึ่งนี่คือความในใจของน้าแอ๊ดต่อผลงานชุดนี้ :-

การนำผลงานเพลงของครูคำรณ มาขับร้องใหม่ไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ยาก แต่ทำแล้วจะทำได้หรือไม่ต่างหากที่น่าพิจารณา สำหรับผลงานของผมชุดนี้ คือความพยายามบนพื้นฐาน ความเคารพ ศรัทธา ครูคำรณเป็นที่ตั้ง หาได้เทียบเทียมผลงานเดิมได้เลย จึงเป็นการรำลึกความทรงจำเก่าๆ ที่ยังสอดคล้อง กับสภาพสังคมในปัจจุบันได้ดี แม้ว่ากาลเวลาจะผ่านมาก กว่า 40 ปี การเป็นนักเพลงที่ต่อสู้ เช่น ครูคำรณ ควรจารึกให้ลูกหลาน ได้รับรู้ผลงานในหลากหลายอารมณ์ รวมทั้งชีวิตที่ลุ่มดอน เด็ดเดี่ยว ตราบจนสิ้นลมหายใจ

ขอให้ดวงวิญญาณของครูคำรณ จงได้รับการคาราวะจากผมและทีมงานคาราบาวด้วย

ขอขอบพระคุณ พี่พยับ คำพันธุ์ ผู้จุดประกายการทำผลงานชุดนี้ และยังให้เกียรติขับร้องเพลง “ คนนอกสังคม ” และขอขอบพระคุณผู้ร่วมงานทุกๆ ท่าน ทั้งเพื่อนๆ ผู้ให้กำลังใจรวมทั้งผู้อุปการะมา ณ โอกาสนี้ด้วย

เคารพ เทิดทูน

( แอ๊ด คาราบาว )

Yuenyong_Opakul

…………………………………………………………………………………………….

“รอยคำรณ” นับเป็นผลงาน “เดี่ยว” ของน้าแอ๊ดในลำดับที่ 6 ถัดจากชุด เวิลด์ โฟล์คเซน (2534), โนพลอมแพลม (2533), ก้นบึ้ง (2533), ทำมือ (2532) และกัมพูชา (2527) โดยมีเพลงทั้งสิ้น 14 เพลง ซึ่งทุกเพลงล้วนถูกนำมาบรรจุไว้ในแผ่นเสียงชุดนี้ ครบถ้วนเหมือนเมื่อครั้งที่อัลบั้มนี้ออกจำหน่ายในรูปแบบ Audio-CD ดังมีรายชื่อดังต่อไปนี้ :- หมอลำร็อค, ชีวิตคำรณ, กระท่อมกัญชา, บ้านยายหอม, คนแก่โลก, ชีวิตบ้านนา, น้ำตาทรพี, คนนอกสังคม, หวยใต้ดิน, รักสาวเมืองสิงห์, ชีวิตช่างตัดผม, เศรษฐีเงินถัง, มนต์การเมือง และ ขวานทองของไทย

‘น้าแอ๊ด’ หรือ “แอ๊ด คาราบาว” -ยืนยง โอภากุล- คือชื่อจริง-นามสกุลจริงของเขาผู้นี้ที่คนทั่วไป ไม่ว่าวัยไหนมักเรียกเขาผู้นี้ว่า ‘น้าแอ๊ด’ จนติดปาก ส่วนฉายาที่ถูกเรียกขานก็คือ -ราชาสามช่า- “น้าแอ๊ด” ได้ชื่อว่าเป็นศิลปินเพลงเพื่อชีวิตชั้นครู เขาเป็นคนไทยเชื้อสายจีน พื้นเพเดิมอยู่ที่จังหวัดสุพรรณบุรี และมีชื่อเป็นภาษาจีนกลางว่า “หูฉุนฉาง” แปลว่า “คนแซ่หูผู้มีฐานะมั่นคงชีวิตยืนยง” ‘น้าแอ๊ด’ ดำรงตำแหน่งหัวหน้าวง มาตลอดตั้งแต่เริ่มก่อตั้งวงคาราบาว – วงดนตรีเพื่อชีวิตและมีฐานะเป็น “ตำนานเพลงเพื่อชีวิต” ที่มีลมหายใจและมีชื่อเสียงโด่งดังตราบจนปัจจุบัน โดยมีพี่น้องฝาแฝดอีก 1 คนคือ ยิ่งยง โอภากุล ชื่อเล่น “อี๊ด” ซึ่งเคยออกผลงานร่วมกัน 1 อัลบั้ม :- ‘พฤษภา’ ในปีพ.ศ. 2535 หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ

“คาราบาว” ก่อตั้งขึ้นโดย ยืนยง โอภากุล (แอ๊ด), กีรติ พรหมสาขา ณ สกลนคร (เขียว) และ สานิตย์ ลิ่มศิลา (ไข่) ในปีพ.ศ.2523 ขณะที่พวกเขายังเป็นนักเรียนไทยที่เดินทางไปศึกษาอยู่ในประเทศฟิลิปปินส์ โดยใช้ชื่อวงว่า “คาราบาว” ซึ่งเป็นภาษาตากาล็อก หรือภาษาพื้นเมืองของฟิลิปปินส์เอง มีความหมายแปลว่า -ควาย- ซึ่งทางฟิลิปปินส์ถือเป็นสัญลักษณ์ของชนชั้นเกษตร โดยหมายจะให้เป็นวงดนตรีที่มีเนื้อหาเพื่อชีวิต

‘น้าแอ๊ด’ นับเป็นสมาชิกคนแรกในวงคาราบาวที่ได้มีผลงาน “เดี่ยว” ก่อนสมาชิกคนอื่นๆ ปัจจุบันอายุย่าง 60 ปี ล่าสุด “ยืนยง โอภากุล” ได้รับยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นักร้อง-นักประพันธ์เพลงไทยสากล) ประจำปีพ.ศ.2556 ทั้งนี้ทั้งนั้นในปีพ.ศ.2555 ถือเป็นปีที่ยิ่งใหญ่ของ “แอ๊ด คาราบาว” โดยได้ประพันธ์เพลง “ผู้ปิดทองหลังพระ” ซึ่งเป็นครั้งแรกสุดของการเอ่ยพระนามเต็มขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไว้ในบทเพลง (คุณวินิจ เลิศรัตนชัย ได้เคยเล่าให้ผมฟังว่า พระองค์ท่านถึงกับชื่นชม ‘น้าแอ๊ด’ ว่า -เก่ง- สามารถนำชื่อของพระองค์ท่านมาแต่งเป็นเพลงได้) โดยได้ร้องถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ เมื่อคราวได้เสด็จพระราชดำเนิน ณ ทุ่งมะขามหย่อง (โครงการผันน้ำเข้าที่ส่วนพระองค์ บริเวณพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัย บริเวณทุ่งมะขามหย่อง จ.พระนครศรีอยุธยา)

“คำรณ  สัมบุณณานนท์”  ตามประวัติที่สืบค้นได้จาก “บ้านใบไม้” ทำให้ทราบว่า ท่านเป็นนักร้องที่โด่งดังอยู่ในยุคสมัย จอมพล ป. พิบูลย์สงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งในยุคนั้นเมืองไทยเพิ่งเริ่มต้นการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ชาวไร่ชาวนา หรือ คนยากคนจน ยังรู้สึกว่าถูกกดขี่ ถูกเอารัดเอาเปรียบจากชนชั้นปกครอง “คำรณ  สัมบุณณานนท์” ถือว่าเป็นตัวแทนของคนจนที่กล้าชนกับอำนาจรัฐทุกรูปแบบ ด้วยการนำเสียงเพลงมาเป็นสื่อเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับคนในระดับล่าง

หลายบทเพลงมีเนื้อหาด่ารัฐบาลในสมัยนั้นตรงๆ เช่น อสูรกินเมือง, ศาลเตี้ย, ใครค้านท่านฆ่า, เทวดาขี้โกง ฯลฯ ทั้งยังมีเพลงที่เป็นตัวแทนให้กับชาวนา เช่น ตาสีกำสรวล, หลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน, ชาวนากำสรวล, ชีวิตชาวนา, น้ำตาชาวนา, สวรรค์ชาวนา เป็นต้น สมัยที่คำรณโด่งดัง เพลงไทยยังไม่ถูกแบ่งเป็นแนว “ลูกทุ่ง” หรือ “ลูกกรุง” เหมือนในสมัยนี้  เพลงในยุคนั้นเรียกเหมารวมว่าเพลง “ไทยสากล” ซึ่งหลังจากที่ ‘เพลงไทย’ ได้ถูกแบ่งเป็นแนวเพลง “ลูกทุ่ง” และ “ลูกกรุง” ในปีพ.ศ. 2507 ‘ครูคำรณ’ จึงถูกจัดให้เป็น “ต้นฉบับของนักร้องเพลง ลูกทุ่ง”

ซึ่งในวิกิพีเดียได้ระบุว่า ครูคำรณ สัมบุญณานนท์ ชาตะเมื่อ 7 มกราคม พ.ศ. 2463 และถึงแก่มรณกรรมลงเมื่อ 30 กันยายน พ.ศ. 2512 (เวลา 02.00 น. ด้วยโรคปอด  ที่โรงพยาบาลโรคปอด จังหวัดนนทบุรี อายุเพียง  49 ปี) จบการศึกษาจากโรงเรียน ช่างก่อสร้างอุเทนถวาย ถือเป็นนักร้อง แนวเสียดสีการเมือง รวมทั้งเนื้อหาเพลงที่บอกเล่าถึงชีวิตชนชั้นล่าง ซึ่งถือเป็นยุคแรกๆ ของเพลงเพื่อชีวิต รวมทั้งเป็นแรงจูงใจให้กับวงดนตรีเพื่อชีวิตหลายๆ วงในปัจจุบัน มีเพลงที่เป็นที่รู้จัก กันดีเช่น มนต์การเมือง, ตาศรีกำสรวล, คนบ้ากัญชา, ตามน้องกลับนา, ชีวิตครู, คนขายยา, คำสั่งพ่อ, คนพเนจร, ชายใจพระ, กรรมกรรถราง, คนแก่โลก, คนไม่รักดี, ชีวิตคนเครื่องไฟ, ชีวิตช่างตัดผม, ชีวิตบ้านนา เป็นต้น โดยแนวการร้องเพลงของครูคำรณนั้น ได้รับอิทธิพลมาจาก ‘ครูแสงนภา บุญญราศรี’ เริ่มเข้าสู่วงการจากการประกวดร้องเพลงในงานวัด

สืบเนื่องมาจากการจัดงาน “กึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่ง” ครั้งที่ 1 เมื่อปีพ.ศ.2532 ซึ่งได้มีการสืบค้นกันว่า เพลงใดน่าจะเป็นเพลงลูกทุ่งเพลงแรกของไทย พบว่าเพลง “เจ้าสาวชาวไร่” น่าจะเป็นรากฐานเพลงลูกทุ่งเพลงแรก โดยครูใหญ่  นภายน ได้ เล่าให้ฟังว่า เพลง “เจ้าสาวชาวไร่” นี้ขับร้องโดย “คำรณ  สัมบุณณานนท์” ประพันธ์โดย “เหม  เวชชกร” เป็นเพลงที่ขับร้องประกอบละครวิทยุเรื่อง “สาวชาวไร่” ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุของ “กรมโฆษณาการ”  เมื่อปีพ.ศ.2481 แต่ไม่ได้บันทึกแผ่นเสียง  เป็นเพลงจังหวะรุมบ้า  มีเนื้อหาเกี่ยวกับท้องไร่ท้องนา  จึงน่าจะเป็นต้นตำหรับของ “เพลงลูกทุ่ง”

ครูคำรณจึงได้รับยกย่องให้เป็น “บิดาของวงการลูกทุ่งไทย” เป็นนักร้องลูกทุ่งสมัยต้นๆ ของวงการ รุ่นเดียวกับ ชาญ เย็นแข, ปรีชา บุญยเกียรติ ก่อนรุ่นนักร้องลูกทุ่งดังๆ อย่าง สุรพล สมบัติเจริญ, ชัยชนะ บุญนะโชติ. ก้าน แก้วสุพรรณ, กุศล กมลสิงห์ ฯลฯ บันทึกเสียงทำอัลบั้มแผ่นเสียงเพลงแรก จากผลงานเพลงของครูไพบูลย์ บุตรขัน ชื่อเพลง “ชมหมู่ไม้” และมีเพลงที่โด่งดังมากอย่างเช่น ชายสามโบสถ์, น้ำตาเสือตก, ตาสีกำสรวล, หนุ่มสุพรรณฝันเพ้อ, บ้านนาป่าร้าง, หวยใต้ดิน, มนต์การเมือง, ชายใจพระ เป็นต้น

น้าแอ๊ดได้เขียน “คำนำ” (ใหม่) ไว้ในปกแผ่นเสียงชุดรี-มาสเตอร์ใหม่โดย V Love Vinyl นี้ (ลงวันที่ 9 กย. 56) ที่ผมขอคัด-ตัดทอนมาบางส่วนว่า :- “….เมื่อผมคิดจะทำ รอยคำรณ ผมคิดอย่างเดียวคือ อยากเป็น คำรณ แบบ 100 % ไม่อยากให้เป็น แอ๊ด คำรณ จึงออกมาแบบนั้น แต่ถ้าเวลานี้ผมก็อยากจะทำแบบ แอ๊ด คำรณ อีกซักชุด ผมว่า คำรณ, แสงนภา, เสน่ห์หรือกระทั่งครูไพบูลย์ บุตรขัน เป็นประวัติศาสตร์เพลงเพื่อชีวิต ที่น่าบันทึกไว้ ต่างหากจริงครับ” (แต่น่าแปลกที่ ‘น้าแอ๊ด’ ได้เขียนชื่อครูคำรณด้วยลายมือตัวเองไว้เป็น “คำรณ สัมบูรณานนท์” ! แตกต่างจากชื่อ-นามสกุลตามที่ปรากฏทั่วไป)

แม้บทเพลงจะเป็นไปในลักษณะแนวเพลงลูกทุ่ง แต่ด้วยคุณภาพเสียงของแผ่นเสียงชุดนี้ ทำให้ผมขอให้คำว่า “อัลบั้มนี้-ดี-เกินกว่า แค่ฟังเอาเพลิน” เพราะเสียงต่างๆ ล้วนมีน้ำหนัก แจ่มชัด สดกระจ่าง และมีตัวมีตน ในขณะเดียวกันก็ฟังดูอิ่มฉ่ำ มีน้ำนวลน่าฟังทั้งเสียงนักร้องและชิ้นดนตรีที่ขนกันมาเล่น-บรรเลงมากมายหลายชิ้น ครบเครื่องทั้งประเภทดีด-สี-ตี-เป่า-เขย่า-เคาะ ฯลฯ เสียงต่างๆ ที่รับฟังรับรู้ได้ถึงน้ำหนักของเสียงแต่ละเสียง แม้แต่ในช่วงปลายเสียงสูงๆ ทั้งยังเปี่ยมด้วยไดนามิค-ความฉับพลัน-ไหลลื่น เรียกได้ว่ากระทำการบันทึกเสียงได้สมบูรณ์มากๆ ให้บรรยากาศแบบการบันทึกสด ที่นักร้องและดนตรีเล่น-ร้องพร้อมกันในขณะบันทึก ลักษณะเดียวกับการบันทึกเสียงเพลงลูกทุ่ง (สมัยก่อน)

wba_113673307521

เสียงของน้าแอ๊ดอาจฟังดูแตกต่างจากน้ำเสียง ณ ปัจจุบัน แต่ก็ได้ฟังการเปล่งเสียงครบชัดทุกอักขระ ราวกับมองเห็นปากขยับในขณะออกเสียง เป็นเสียงที่มีชีวิตมีวิญญาณ กลมมน ไม่ต่างจากเวลาฟังน้ำเสียงของคนเราในธรรมชาติ ที่สำคัญที่ผมถือว่าเป็นจุดเด่นมากๆ ของแผ่นเสียงชุดนี้ ก็คือว่า สามารถให้เสียงก้องกังวาน (reverb) ที่ช่างบันทึกเสียงเขา-จงใจ-ใส่เข้าไปให้เป็นหางเสียงเอคโค่ลางๆ ในเสียงร้องของน้าแอ๊ดได้ชัดแจ้งมาก ราวกับเป็นเสียงของแอมเบียนส์แผ่วๆ เป็นระลอกตามหลังเสียงร้องของน้าแอ๊ดกระนั้น (โดยเฉพาะในเพลง 3 หน้า 1 จะฟังได้ชัดเจนมาก) รับฟังแล้วเหมือนเป็นเสน่ห์จางๆ โดยมิได้ก้องกังวานยาวนานจนน่ารำคาญ หรือ มากมายจนบดบังทักษะการออกเสียงอักขระของนักร้องไป

หลายเพลงอาจมีท่วงทำนองที่มักคุ้นกันดีกับเพลงลูกทุ่งที่คุ้นหูกันมา อย่างเช่น “กระท่อมกัญชา” นี่ก็น่าจะเป็นที่มาของเพลง ‘กระท่อมไพรวัลย์’, “บ้านยายหอม” ซึ่งก็น่าจะเป็นที่มาของเพลง ‘ท่าฉลอม’ เป็นต้น ลองหามาฟังดูเอาละกัน …รับรองจะติดใจ ต้องยอมรับครับว่า นับจากอัลบั้ม “บ้าหอบฟาง” ที่ V Love Vinyl นำมาทำรี-มาสเตอร์ใหม่ ออกจำหน่ายเป็นแผ่นเสียงอีกครั้งเมื่อช่วงต้นปีที่แล้ว “รอยคำรณ” ให้คุณภาพเสียงที่ต้องพูดว่า “ดีกว่ามาก” นับเป็นการพัฒนาของการจัดทำที่น่าสนับสนุน เพราะคำนึงถึงคุณภาพเสียงเป็นประเด็นสำคัญ รวมทั้งคุณภาพบรรจุภัณฑ์ชั้นดีที่ผู้ซื้อจะได้รับ มากกว่าผลประโยชน์ที่ต้นสังกัดจักได้รับกลับคืนไป สำหรับผมขอฟันธง 5 ดาวยังน้อยไปครับกับ “รอยคำรณ” แผ่นนี้