แผ่นเสียง- เคียงเครื่อง (Vinyl MUST on the shelf !) 16 …มงคล อ่วมเรืองศรี
Jazz Reminiscence – Classy Records
หากผมจะบอกว่า นี่คือผลงานชิ้นโบว์แดงที่สำแดงถึงฝีมือของคุณโจ้ – นรินทร์พันธุ์ บัณฑรวงศ์ หนุ่มสจ๊วตการบินไทยหนึ่งในผู้บริหารระดับ “มันสมอง” ของ Classy Records อย่างเต็มขีดขั้น (ตั้งแต่เมื่อครั้งยังใช้ชื่อ “วัชรินทร์ บัณฑรวงศ์”) …ก็คงไม่ผิดหรอกครับ ซึ่งทั้งหมดใน ‘Jazz Reminiscence’ นั้นล้วนเป็นผลงานที่ “คุณโจ้” ได้เคยจัดทำไว้ตั้งแต่เมื่อครั้งยังไม่ได้ก่อตั้งเป็นสังกัด Classy Records นะครับ (Classy Records เปิดตัวด้วยอัลบั้มแรก “love in the light lines” …ความรัก ปากกา กีตาร์โปร่ง ของชีพชนก ศรียามาตย์ เมื่อปีพ.ศ.2555)
…ใช่ครับก็อย่างที่บางท่านอาจจะพอทราบว่า ก่อนที่จะมาเป็น ‘Classy Records’ ของคุณป็อก – ทวิษย์ชญะ ตั้งสหะรังสี มีอะไรที่เป็นเบื้องหลัง-เบื้องลึกมากพอสมควรทีเดียว “คุณป็อก” นั้นได้เคยตั้งค่ายเพลงมาแล้วหลายครั้ง แต่ละครั้งล้มลุกคลุกคลาน อีกทั้งแต่ละครั้งยังนับว่า เจ็บตัวทุกครั้งก็ว่าได้ (อาจจะเป็นที่พอจำกันได้กับค่ายเพลง Until Jazz) ทว่า “คุณป็อก” ก็ไม่เคยท้อแท้-ท้อถอย โดยมี “คุณโจ้” เพื่อนรักนี่แหละครับที่ร่วมกันต่อสู้ฝ่าฟันอุปสรรคทั้งหลายทั้งปวง จนก้าวล่วงมาเป็น Classy Records ได้อย่างมั่นคงจน ณ ทุกวันนี้
“Classy Records” นี่จริงๆ แล้ว “คุณโจ้” ก็เป็นผู้ที่คิดชื่อขึ้นมานะครับ ด้วยเหตุว่า ดนตรีแจ๊สนั้นเป็น “แนวถนัด” ของคุณโจ้ ซึ่ง “คุณโจ้” ก็ได้เคยทำดนตรีแนวนี้มาแล้ว 3 อัลบั้ม แต่ครั้นจะใช้ชื่อสังกัดบอกกันไปตรงๆ เลยว่า ’Jazzy’ ก็ดูจะเป็นการตีกรอบแบบ-เฉพาะทาง-จนเกินไป จึงได้เลี่ยงไปใช้เป็น “Classy” ซึ่งจะให้ความหมายที่กว้างกว่า และยังฟังดูดีกว่าด้วย…. ซึ่งทั้งนี้ทั้งนั้น ‘3 อัลบั้ม’ ที่บอกว่า คุณโจ้เป็นผู้จัดทำมาก่อนหน้าการก่อตั้งสังกัด “Classy Records” ก็คือ ทั้งหมดใน ‘Jazz Reminiscence’ นี่แหละครับ
‘Jazz Reminiscence’ เป็นการหยิบจับเอาบทเพลง ‘Jazz Thai’ ที่ดีที่สุดจากทั้ง ‘3 อัลบั้ม’ ในอดีตที่เกิดขึ้นต่างกรรมต่างวาระกันโดยฝีมือการเป็นโปรดิวเซอร์เต็มขั้นของ “คุณโจ้” :- Event of Love (2548), Event of Love II (2549) และ Jazz After Hours (2550) ที่มีเบื้องหลังการทำงานร่วมกันของ 3 หนุ่มมองไม่ต่างมุม – โจ้ – ป๊อก และ ปิ๊ก (ร่มวงศ์ ศรีไชยยันต์) มารวมไว้ด้วยกัน ซึ่งหากใครก็ตามที่ถือตัวเองว่าเป็น “คอแจ๊ส” บ้านเรา จะทราบดีว่า ‘3 อัลบั้ม’ ดังกล่าวนั้น ได้เคยสร้างปรากฏการณ์สำคัญฝากไว้ในวงการเพลงแจ๊สบ้านเรามาแล้วทั้งนั้น ด้วยยอดขายรวมกันสูงถึง 20,000 ก็อบปี้มาแล้วนะครับ !!! นอกจากนี้ทั้ง Event of Love, Event of Love II และ Jazz After Hours ยังเคยได้ถูกส่งเข้าชิงรางวัลบทเพลงยอดเยี่ยมของ ‘คม ชัด ลึก อวอร์ด’ และ ‘สีสัน อวอร์ด’ มาแล้วด้วยซ้ำ …ที่สำคัญ ยอดขายส่วนหนึ่งนั้นมาจากการสั่งซื้อตรงจากทางญี่ปุ่น-ดินแดนที่ได้ชื่อว่า มีพัฒนาการทางด้านดนตรีแจ๊สในระดับผู้นำ ยังให้การยอมรับ (จึงทำให้เป็นที่มาว่า ทำไม ? รายชื่อเพลงของค่าย Classy Records จึงต้องมีภาษาญี่ปุ่นกำกับไว้ด้วย อ๊ะครับ)
‘Jazz Reminiscence’ จะทำให้คุณได้ฟังน้ำเสียงของศิลปินดังมากถึง 16 ท่าน และจะทำให้เรา-ท่านรักในน้ำเสียงของพวกเขา ทั้งที่รู้จักกันดีมาตั้งแต่ครั้งกระนั้น และเริ่มจะเป็นที่มีชื่อโด่งดัง ณ ปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น เศกพล อุ่นสำราญ Koh Mr.Saxman, สบชัย ไกรยูรเสน Ford, พิมพ์เพชร กุญชร ณ อยุธยา, สุเมธ องอาจ, สัญลักษณ์ โฆษจันทร, เบญญาภา สุขีนุ, ธิติ พฤกษ์ชะอุ่ม, คณาคำ อภิรดี, สุขวิทย์ อุดมศรีลาภ, และอีกมากมาย รวมทั้งคุณ บรรณ สุวรรณโณชิน แห่งสำนักใบชาsongs
…ขออนุญาตหยิบจับเอามาเล่าไว้เป็น “เกร็ด” สำหรับเบื้องหลังของ ‘Jazz Reminiscence’ ตั้งแต่แรกเริ่มก็ละกัน ต้นปี 2548 อัลบั้ม “Event of Love 1 แจ๊ส 12 เสียง” ก็ออกมาวางจำหน่ายด้วยความรู้สึก “กลัวๆ กล้าๆ ” แต่ที่สุดผลที่ออกมากลับผิดคาด อัลบั้ม “Event of Love 1 แจ๊ส 12 เสียง” ขายดี (ถึงขั้นดีมาก) มียอดสั่งเพิ่มทุกเดือน ผิดปกติของเพลงแจ๊สไทยที่ไม่มีลีลาให้ “ติดหู” ในแบบเพลงป๊อปทั่วไป แถมหลายๆ เพลงยังเข้าขั้น “ฟังยาก” เสียด้วย ทำให้เชื่อมั่นได้ว่า ..หาก “ของดี” และ มีคุณภาพย่อมที่จะมีโอกาสไปรอด ขอแค่ตั้งใจทำกันอย่างจริงจัง จริงใจกับผลงานที่ได้ทำ… “โจ้” ผู้เป็นโปรดิวเซอร์ของอัลบั้มชุดนี้ ถึงกับออกปากว่า …เราจะทำ ‘Event of Love 2’ กันต่อเลย และจะทำให้ดีกว่าเก่า เนียนกว่าเก่า ทำให้สมบูรณ์ที่สุด เท่าที่เราจะทำกันได้
15 เดือนให้หลังจากอัลบั้มชุดแรก “Event of Love 2” ก็ออกวางตลาด โดยมีนักดนตรีมากฝีมือ ผู้เอกอุทางด้านแจ๊สทั้งไทยทั้งฝรั่ง มาร่วมเล่นกันหลายคน เช่น โก้ แซกแมน, เทอดศักดิ์ วงค์วิเชียร และ Rustem Galiullin …ทางฝั่งนักร้องก็ไม่ใช่ย่อย เพราะทุกคนที่ถูกรับเชิญมาร่วมร้อง ล้วนแล้วแต่คุณภาพคับไมค์กันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นรุ่นเก่าอย่าง บี๋ – คณาคำ อภิรดี หรือรุ่นกลางเก่า-กลางใหม่อย่าง บรรณ สุวรรณโณชิน และ โอ๋ วง “ลำดวน”
ในอัลบั้มชุดนี้ “โจ้” ยังคงรับหน้าที่เป็นโปรดิวเซอร์เอง เล่นกีตาร์เอง และเรียบเรียงดนตรีเองทั้งหมด รวมทั้งเขียนเนื้อร้องและทำนองในเกือบทุกเพลงเอง …ทางภาคดนตรีแทบปฏิเสธไม่ได้เลยว่า นี่คือเพลงไทยที่มีเนื้อหาของดนตรีทีมีความเป็นแจ๊สที่เข้มข้นอีกชุดหนึ่ง เท่าที่เพลงไทยในแบบแจ๊สเคยมีมา เป็นเพลงร้อง 12 เพลง โดยนักร้อง 12 คน ส่วนอีกเพลงเป็นเพลงบรรเลงกีตาร์ตัวเดียว โดยฝีมือของ “โจ้” เอง ที่เล่นในแบบ Fingerstyle หรือ Chord Melody …เนื้อร้องในอัลบั้มชุดนี้ใช้ภาษาแบบง่ายๆ แต่อาศัยการใส่ทำนองที่ค่อนข้างแจ๊สจ๋า ก็เลยทำให้เพลงน่าฟังขึ้นมามากทีเดียว
เพลงส่วนใหญ่ในอัลบั้ม “Event of Love 2” จะเป็นแจ๊ส สแตนดาร์ดในแบบสวิง แจ๊ส (Swing Jazz) ให้ความรู้สึกที่กระชับ สนุกสนาน ร่าเริง บันทึกเสียงกันในแบบ Live Studio Recording คือจะบันทึกเสียงในขณะที่ชิ้นดนตรีทุกชิ้นจะบรรเลงพร้อมๆ กันหมด สิ่งที่ได้คืออารมณ์ที่เป็นธรรมชาติ การส่ง-รับที่เหมาะเจาะพอดี และการเก็บเกี่ยว “บรรยากาศ” มาได้หมด…ซึ่งในชุดนี้ก็ทำออกมาได้น่าพอใจ คุณภาพในการบันทึกเสียงนั้นทำออกมาได้ดีทีเดียว
อีก 18 เดือนต่อมา อัลบั้ม “Jazz After Hours” (ซึ่งบางท่านเรียกว่า Event of Love 3) ก็ได้ฤกษ์วางจำหน่าย ด้วยความสำเร็จจากอัลบั้ม “Event oF Love 1 แจ๊ส 12 เสียง” (ในปี 2548) และอัลบั้ม “Event of Love 2” (ในปี 2549) ทำให้ทีมงานหลักทั้ง 3 คน นำโดย โจ้, ป๊อก และ ปิ๊ก – ร่มวงศ์ ศรีไชยยันต์ มีความมุ่งมั่นที่จะไปต่อในแนวทางเดิม นั่นคือ..ตั้งใจจะผลิตอัลบั้มที่เป็นเพลงแจ๊สไทย ที่มีเนื้อร้องภาษาไทย ออกมาให้ได้ในตลาดบ้านเรา
…ความมุ่งมั่นตั้งใจดังกล่าว เกิดไปเข้าหู “โอ” – ชัชวาลย์ สุรเดช เจ้าของร้านขายซีดีเพลงแจ๊สชื่อ “เลบง” (ที่ตลาด บองมาเช่) และ “โอ” ยังเป็นนักฟังเพลงแจ๊สที่มีฝัน อยากเห็นอัลบั้มเพลงแจ๊สไทยๆที่มีคุณภาพทัดเทียมต่างประเทศ เกิดขึ้นในบ้านเราโดยฝีมือคนไทยบ้าง
วันหนึ่ง โจ้ และ ป๊อก จึงชักชวน “โอ” ให้มาร่วม ลงขัน ลงสมอง สร้างสรรค์งานอัลบั้มเพลงแจ๊สไทยอัลบั้มใหม่ โดยมีความคิดที่อยากให้อัลบั้มชุดใหม่นี้ เกิดในค่ายที่เป็นค่ายเพลงแจ๊สจริงๆ และ 16 เดือนถัดมา อัลบั้ม “Jazz After Hours” จึงได้เวลาคลอดออกวางจำหน่าย (ช่วงกลางเดือน ธันวาคม 2550) ภายใต้ชื่อสังกัด “Until Jazz” สังกัดที่ทั้ง โอ , โจ้ และ ป๊อก ร่วมก่อตั้งขึ้นมา จึงอาจเรียกได้ว่า “Until Jazz” เป็นค่ายเพลงแจ๊สแท้ๆ ค่ายแรกของบ้านเรา…!
การทำงานใน อัลบั้ม “Jazz After Hours” โจ้ – นอกจากเป็น โปรดิวเซอร์ แล้ว ยังรับหน้าที่สร้างทำนอง , เรียบเรียงดนตรี , เล่นกีตาร์ทุกเพลง , เขียนคำร้อง (บางเพลงก็เขียนร่วมกับ ป๊อก – ทวิษย์ชญะ ตั้งสหะรังษี ซึ่งมารับหน้าที่หลักในการเขียนและดูแลคำร้องเหมือนเดิม) สำหรับ “ปิ๊ก” – ร่มวงศ์ ศรีไชยยันต์ รับหน้าที่ Co-Producer – ดูแลจัดเตรียมภาคดนตรีก่อนการบันทึกเสียงจริง และ เล่นเพอร์คัสชั่นในบางเพลง …ส่วน “โอ” – ชัชวาลย์ สุรเดช คอยดูแลอย่างเข้มข้นในทุกขั้นตอนการผลิต โดยเฉพาะในเรื่องการบันทึกเสียงจะใส่ใจมากเป็นพิเศษ เพื่อให้ได้เสียงที่ออกมาสมบูรณ์มากที่สุด
อัลบั้ม “Jazz After Hours” เน้นการบันทึกเสียงสดหมดทุกชิ้นดนตรี และบันทึกเสียงไปพร้อมๆ กัน เฉกเช่นเดียวกับอัลบั้ม “Event of Love 2” …ปล่อยทุกอย่างให้ไหลลื่นไปตามอารมณ์ของนักดนตรี บางเพลงเล่นกินเวลาไปเกิน 7 นาที ก็ยังจบไม่ลง… และ หนึ่งเพลงในอัลบั้ม ยังบันทึกเสียงร้องไปพร้อมกับการบันทึกเสียงดนตรีอีกด้วย นั่นคือเพลง “อยู่อย่างพอเพียง” ที่ขับร้องโดย “บอมบ์” – คเณศ พักตระเกษตริน อดีตนักร้องนำ วง “เออ”
ทีมงานนักดนตรีที่มารับหน้าที่ในการบันทึกเสียงอัลบั้ม “Jazz After Hours” ส่วนใหญ่เป็นทีมงานชุดเดิม ตั้งแต่อัลบั้ม “Event of Love” ทั้ง 2 ชุด แต่ละท่านแต่ละตำแหน่ง เป็นระดับสุดยอดนักดนตรีในวงการเพลงแจ๊สบ้านเราทั้งสิ้น อาทิ – ป่อง – เทิดศักดิ์ วงศ์วิเชียร มือดับเบิลเบส ผู้คร่ำหวอดในวงการเพลงแจ๊ส เป็นมือปืนรับจ้างในสตูดิโอที่งานชุกมากที่สุดคนหนึ่ง / ก้อง – ณภัทร พิริยกิตติ์ศรัณย์ มือกลอง มีฝีไม้ลายมือในการตีกลองที่คนในวงการเพลงแจ๊สทึ่งในความสามารถ / บั๊ม – ธีรพจน์ ผลิตากุล มือเปียโน / โก้ – เศกพล อุ่นสำราญ มือแซ็กโซโฟน / ปิ๊ก – ร่มวงศ์ ศรีไชยยันต์ อดีตโปรดิวเซอร์ วง “ลำดวน” ร่วมผลิตงานเพลงแจ๊สร่วมกับโจ้ และ ป๊อก ตั้งแต่อัลบั้ม “Event of Love” ทั้ง 2 ชุด ในอัลบั้ม “Jazz After Hours” เข้ามารับหน้าที่เพอร์คัสชั่น ส่วน “โจ้” นั้นรับหน้าที่โปรดิวเซอร์เต็มขั้น
ยืนยันได้เลยว่า ‘Jazz Reminiscence’ นั้น มีคุณภาพคับแก้วแท้ๆ ที่สามารถหยิบออกอวด คอเพลงแจ๊สได้ในระดับสากล และทางต้นสังกัด “Classy Records” ยังได้นำเอามาสเตอร์ดั้งเดิมของทั้งอัลบั้ม Event of Love, Event of Love II และ Jazz After Hours มาทำการรี-มาสเตอร์ใหม่จัดทำมาสเตอร์ไฟล์ไว้ในระดับ 24 bit/96 kHz โดยฝีมือของ ธนณัฏฐ์ พีรญากังวานไกล (ปิ๊ก) แห่ง DBS Studio …แล้วก็ยัง ‘แถมท้าย’ ไว้ด้วย “เพลงรัก..เพลงนี้” ที่ร้องโดย Koh Mr.Saxman ไว้ให้เป็น Special Bonus Track
ทางด้านคุณภาพเสียงจากแผ่นเสียงชุด Jazz Reminiscence บอกได้เลยว่า นับว่าใกล้เคียงกับอัลบั้ม “love in the light lines” …ความรัก ปากกา กีตาร์โปร่ง ของชีพชนก ศรียามาตย์ (ซึ่งเป็นอัลบั้มแรกสุดของค่าย Classy Records) สุ้มเสียงสะอาด กระจ่างชัด สดใส ถึงขั้นละเอียดยิบยับก็ว่าได้ บ่งบอกไปถึงเรื่องของต้นฉบับการบันทึกเสียงที่ทำไว้ได้ดีมาก เสียงเบสนั้นหนักแน่นดีมีพลัง เสียงกลางอาจจะไม่ถึงขั้นฉ่ำชุ่ม เนียนนุ่ม แต่ก็มีมวลมีตัวตน ให้น้ำหนักเสียงที่ดี ส่วนเสียงสูงๆ อย่างเสียงฉาบ (Cymbol) นี่เป็นอะไรที่น่าฟังมาก พละพลิ้ว กระจายตัว และทอดยาวไกลไปสุดๆ (เสียงแฉ่ยามถูกแส้กวาดนี่แทบจะเห็นเป็นเส้นๆเลยจริงๆ) นับเป็นอัลบั้ม ‘Jazz Thai’ ขนานแท้ ที่ชวนให้ฟังกันไหลลื่นทั้งอัลบั้ม ปกก็มีสีสันสวยงาม ผ่านการจัดทำอย่างดีด้วยกระดาษเนื้อหนา …แม้ว่า ‘ราคา’ อาจจะดูสูงกว่าธรรมดาไปสักหน่อย ก็ด้วยเหตุที่ Classy Records เลือกที่จะใช้ TOYOKASEI (โตโยคาเซอิ) ในญี่ปุ่นเป็นแหล่งผลิตแผ่นเสียงชุดนี้ จากเดิมที่เคยวางแผนไว้ว่า จะสั่งผลิตที่’เมกาเช่นดังเดิม
Jazz Reminiscence – Classy Records
เสียง : ดี รายละเอียด : ดี อิมเมจ & ซาวด์สเตจ : พอใช้ ห้วงอารมณ์ : พอใช้