พงษ์ชัย ไทยวรรณศรี
ในจำนวนเพลงไทยสากล ที่ยังอยู่ในความทรงจำ ซึ่งอาจจะเรียกได้ว่า เป็นเพลง อมตะ นั้นเพลงสายทิพย์ เป็นเพลงหนึ่งที่ติดอยู่ในทำเนียบ …และทุกวันนี้ยังคงมีผู้นิยมนำมาขับร้องกันอยู่เสมอ
เพลงนี้เป็นเพลงรักซึ่งมิใช่เพลงรักระหว่างหนุ่มสาว แต่เป็นเพลงรัก ระหว่าง “พี่กับน้อง” ซึ่งสะท้อนออกมาในรูปของท้วงทำนองและบทเพลงไพเราะ
ผมรู้จักเพลงสายทิพย์มาตั้งแต่สมัยเป็นเด็ก เคยได้ยินแว่วๆ มาจากวิทยุจำได้ว่าเป็นเสียงของนักร้องหญิง แต่มารู้จักมากขึ้นเมื่อเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๙ เพราะเพื่อนสายศิลปิน มักจะนำเอาเพลงนี้มาหัดเล่นกีตาร์
เพลงซึ่งถือว่าเป็นเพลงครูของนักกีตาร์น้องใหม่ในกลุ่มเพื่อนของผมสมัยนั้น มี ๓ เพลง คือ เหมือนไม่เคย ชาวดง และ สายทิพย์ เล่นสามเพลงนี้ได้ จึงจะถือว่าสอบผ่าน ไปหาเพลงอื่นมาเล่นต่อไปได้
ฟังเพื่อนเล่นทุกวัน จนคุ้นกับทำนองและคำร้อง เปิดหนังสือเพลงจำได้ว่าผู้แต่งเพลงนี้ ชื่อ สายสุรี จุติกุล
ชื่อ สายสุรี ติดอยู่ในความทรงจำของผมมาตั้งแต่บัดนั้น จากอาจารย์มหาวิทยาลัย ผมทราบต่อมาว่าท่านได้เป็นผู้บริหารระดับอธิบดี และรัฐมนตรีตามลำดับ จากนั้นก็มีข่าวที่ท่านได้ปฏิบัติงานให้องค์กรระดับนานาชาติ อยู่ตลอดเวลา
ผมประทับใจกับเพลงสายทิพย์ มีความรู้สึกว่าเพลงนี้เป็นเพลง พิเศษ จึงอยากจะทราบถึงที่มาของเพลง ในสมัยซึ่งการหาข้อมูลใด ๆ นั่นจะต้องหาจากเอกสาร หรือหนังสือเพียงอย่างเดียว ผมพยายามหาเท่าใดก็หาไม่พบ
โชคดีเมื่อได้รับเชิญให้เป็นผู้แทนหน่วยงานข้าฝึกอบรมโครงการสร้างความตระหนักในการป้องกันภัยการค้ามนุษย์ จัดโดย สำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพ และพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส คนพิการ และผู้สูงอายุ ซึ่งหน่วยงานนี้เป็นหน่วยงานระดับกรม ของกระทรวงการพัฒนาสั่งคมและความมั่งคงของมนุษย์ (พ.ม.) ระหว่างวันที่ ๑๘-๑๙ พฤษภาคม ๒๕๔๙ ที่โรงแรมพิษณุโลกธานี จังหวัดพิษณุโลก
เห็นรายชื่อวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิที่ชื่อ ดร.สายสุรี จุติกุล แล้วผมดีใจที่จะได้มีโอกาสพบกับผู้แต่งเพลง สายทิพย์
ท่านอาจารย์สายสุรี ในวัยเจ็ดสิบปีเศษแต่ก็ยังสง่างาม และยังคงมุ่งมั่นทำงานหนักในเรื่องของการดูแลสตรี เยาวชน คนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาสทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งเป็นงานที่ท่านทุ่มเทมาตลอด
ผมได้รับฟังแนวความคิด และการทำงานของท่านตลอดเวลา ๒ วันที่ทำมาเป็นวิทยากรพิเศษด้วยความประทับใจในอุดมการณ์และแนวทางการทำงานของท่าน
ด้วยความเมตตา ผมได้มีโอกาสรับประทานอาหารเย็นกับท่านและคณะ
เกือบหนึ่งชั่วโมง ที่ได้สนทนากับท่านทำให้ได้ทราบถึงประวัติ และผลงานรวมทั้งที่มาของเพลง สายทิพย์ และอนุญาตให้นำไปเผยแพร่ได้
คืนนั้น ผมเข้านอนด้วยความอิ่มใจ ที่ผู้ใหญ่ระดับนี้ ท่านให้ความเมตตาต่อคนเล็กๆ อย่างผม
ท่านอาจารย์ ดร.สายสุรี จุติกุล เป็นผู้แต่งทำนองเพลงสายทิพย์
หลังจากนั้นอีกเดือนเศษหนังสือพิมพ์หลายฉบับก็ได้ลงข่าวเกี่ยวกับท่าน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันอังคารที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๔๙ คอลัมน์คนตามข่าว โดยดุษฎี สนเทศ ได้นำเอาประวัติ และผลงานของท่านมาเผย
“สายสุรี จุติกุล กรรมการพิทักษ์สิทธิสตรีแห่งยูเอ็น…
ดร.สายสุรี จุติกุล เพิ่งได้รับเลือกหมาดๆ ให้เป็น ๑ ใน ๑๒ สมาชิกคณะกรรมการว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีแห่งสหประชาชาติ (CEDAW) จากที่ประชุมรัฐภาคีอนุสัญญา…
… เธอเกิดเมื่อวันที่ ๒ มีนา คม ๒๔๗๗ นามสกุลเดิม วัชรเกียรติ สมรสกับดร.กวี จุติกุล มีบุตรชายหญิงอย่างละคน
จบปริญญาตรีทางดนตรี จากวิทยาลัยวิทเวิร์ธ และคัมลาวด์ กรุงวอชิงตันดีซี. ปริญญาโทบริหารการศึกษาและการแนะแนว ปริญญาเอกทางการศึกษาและแนะแนว จากมหาวิทยาลัยอินเดียนา สหรัฐอเมริกา
เริ่มงานครั้งแรกเป็นอาจารย์ที่คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจากนั้นย้ายไปเป็น คณะบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นอยู่นาน ๖ ปี กลับมาเป็น รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ พ่วงรองโฆษกรัฐบาลหญิงคนแรกของไทย ในสมัยรัฐบาล เปรม ๑ พอปี ๒๕๒๖ เป็นเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานเยาวชนแห่งชาติ(สยช.) ปี ๒๕๓๒ เป็นผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี ตามลำดับ ปี ๒๕๓๔-๒๕๓๕ สมัยรัฐบาลอานันท์ ๑-๒ เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มีผลงานชิ้นสำคัญคือเสนอให้ออกกฎระเบียบให้ผู้หญิงลาคลอดได้ ๙๐ วัน โดยได้รับเงินเดือนแทนที่จะเป็น ๔๕ วัน แม้เพิ่งมาสำเร็จในไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่ถือว่าดร.สายสุรี เป็นผู้ผลักดันคนแรก ปี ๒๕๓๙ เป็นสมาชิกวุฒิสภา ปี ๒๕๔๓ เป็นประธานคณะอนุกรรมการประสานงานแก้ไขปัญหาการค้าเด็กและสตรีข้ามชาติปี ๒๕๔๔-๒๕๔๘ เป็นรองประธานกรรมการสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ ปี ๒๕๔๗ ได้รับรางวัล Global Women Leader จาก Vital Voices Global Partnership องค์กรอิสระมีชื่อเสียงของสหรัฐ
ถือเป็นผู้หญิงแถหนคนสำคัญอีกคนหนึ่งของวงการสตรีไทย”
หนังสือพิมพ์ไทโพสต์ x-cite ฉบับวันที่ ๒๗-๒๘ มิถุนายน ๒๕๔๙ ลงข่าวว่า
“สายสุรี ได้รับคัดเลือกสู่เวทีโลก กก. ขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรี”
คอลัมน์ ผู้หญิงคนรุ่นใหม่ จากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๔๙ พาดหัวว่า
“สายสุรี จุติกุล ใช้สองมืออุ้ม สังคม อวดเวทีโลก”
เมื่อเอ่ยถึง นักต่อสู้ เพื่อเด็ก สตรี ผู้สูงอายุ ตลอดจนผู้พิการ คงมีชื่อของ ดร.สายสุรี จุติกุล ประธานคณะอนุกรรมการประสานการแก้ไขปัญหาเด็กและสตรีอยู่ในลำดับต้นๆ ของรายชื่อเป็นแน่แท้ เพระระยะเวลากว่า ๕๐ ปี ดร.สายสุรี ลุยเรื่องปัญหาเด็กสตรีอย่าง จริงจัง และ จริงจัง….
….ในขณะที่ ผู้สูงอายุวัยย่างเข้าสู่ ๗ อาจจะจำเป็นต้องลดปริมาณงานลงแต่ ครูสายสุรีกลับตรงกันข้าม เพราะแม้ว่าจะมีปัญหาเรื่องสายตาและหัวเข่า ก็ยังคงไม่ได้หยุดทำงานเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ด้อยโอกาส…”
นี่คือประวัติ ผลงาน และเกียรติภูมิของ ดร.สายสวี จุติกุล ไม่น่าเชื่อว่า ผู้หญิงที่เข้มแข็ง และมุ่งมั่นในการทำงานเพื่อสังคมอย่างนี้จะมีพื้นฐานการศึกษามาทางด้านการดนตรี และสามารถสร้างเพลงไพเราะ อมตะฝากไว้กับวงการเพลงไทยได้ไม่แพ้นักแต่งเพลงอาชีพ
ท่านอาจารย์ ดร. สายสุรี จุติกุล เล่าให้ผมฟังถึงที่มาของเพลง “สายทิพย์” สรุปความได้ว่า
สมัยที่เป็นนักเรียน เรียนหนังสืออยู่ชั้น ม.๔ . (หลักสูตรสมัยนั้น พอจบประถมศึกษาปีที่ ๔ จะต่อระดับมัธยมศึกษา คือ ม.๑ ถ้าจบ ม.๘ ถือว่าสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย) ที่โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัยซึ่งเป็นโรงเรียนประจำ โรงเรียนมีระบบพี่ระบบน้อง คือ พี่จับคู่กับน้อง คอยเอาใจใส่ดูแลและสอนน้อง พี่กับน้องจะรักกันเป็นพิเศษ อาจารย์สายสุรี มีเพื่อนอยู่ชั้นเดียวกันชื่อ ชื่นสุข ลูกสาพระช่วงเกษตร อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร ชื่นสุข มีพี่สาวชื่อว่า ปานทิพย์ โลจายะ (วิริยะพานิช) ภายหลังคือ แพทย์หญิงปานทิพย์
อาจารย์สายสุรี ซึ่งขณะนั้นมีอายุประมาณ ๑๒ ปี (พ.ศ. ๒๔๘๙-๙๐) ใช้เวลาครึ่งชั่วโมงแต่งทำนองเพลงโดยใช้เปียโนเล่น และมอบทำนองให้ปานทิพย์เพลงหนึ่ง จากนั้นอีกสองวันขณะเข้าแถวคารพธงชาติ ปานทิพย์ได้นำเนื้อเพลงใส่มือให้อาจารย์สายสุรีก่อนจะเดินไปเข้าแถว
เพลงนั้นเป็นเพลงที่มอบให้แก่อาจารย์สายสุรี เพราะปานทิพย์กำลังจะสำเร็จการศึกษาต้องออกจากโรงเรียนไป
โดยเนื้อเพลงตอนหนึ่งเขียนว่า
“จากเธอไปแล้วใจหาย ดวงใจยังคิดถึงสายสัมพันธ์ (สายสุรี)…”
ประมาณเดือนพฤศจิกายน โรงเรียนจัดให้มีงานฉลองคริสต์มาส ซึ่งเป็นธรรมเนียมจะต้องมีการแสดงของนักเรียนด้วย
ปานทิพย์แต่งชุดยาวสีเขียวออกไปร้องเพลงซึ่งยังไม่ได้ตั้งชื่อนี้โดยอาจารย์สายสุรีเล่นเปียโน ปรากฏว่าได้รับความสนใจจากนักเรียนโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัยเป็นอย่างมาก เพลงจึงเผยแพร่อยู่ในหมู่นักเรียน และเพื่อนๆก็ช่วยกันตั้งซื่อเพลงว่า “สายทิพย์” โดยการนำเอาคำว่า “สาย” จากคำหน้าของ สายสุรี ผู้แต่งทำนอง มารวมกับคำ “ทิพย์” จากคำท้ายของ ปานทิพย์
เพลงสายทิพย์แพร่หลายออกไปนอกรั้วโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย ซึ่งท่านอาจารย์สายสุรี
เล่าต่อว่า
“คุณแมนรัตน์ ศรีกรานนท์ ขอเพลงนี้ไปเผยแพร่ ตอนหลังเพื่อน คือคุณไพบูลย์ ลีสุวัฒน์ ขอไปเล่น ซึ่งดิฉันก็ให้ไม่ได้คิดเงินคิดทองแต่ประการใด ถือว่าช่วยกันเผยแพร่…พออายุ ๑๗ ดิฉันต้องเดินทางไปเรียนที่ต่างประเทศ จึงไม่ทราบว่าเพลงนี้มีชื่อเสียง และมีการนำมาขับร้องบันทึกเสียงแต่วันนี้ยังดีใจที่มีคนจำเพลงนี้ได้ ในดาราโอเกะก็มี…”
เพลงสายทิพย์
แสงดาวสวยพราวดูเด่น เพ่งเห็นเหมือนตาของเธอ
เฝ้าเฟ้อหัวใจละเมอ รำพัน
แสงเดือนเหมือนเตือนใจเศร้า โอ้เรารักเร้าดวงใจ
คอยไปถึงตัวแสนไกล รักมั่น
จากเธอไปแล้วใจหาย ดวงใจยังคิดถึงสายสัมพันธ์
รักมั่นมิวาย คลายจาง
ขอเดือนช่วยเตือนใจมั่น ใฝ่ฝันถึงเธอทุกวัน
มองจันทร์ นึกความสัมพันธ์ ครั้งก่อน
เพลงสายทิพย์มีท่วงทำนองหวาน ผสานกับภาษาร้อยกรองที่ใช้คำง่าย แต่มีความหมายอย่างหมดจดสละสลวย ไม่น่าเชื่อว่าเพลงไพเราะระดับนี้จะเกิดจากความสามารถของนักเรียนมัธยมศึกษา ใครที่ไม่ทราบความเป็นมาของเพลงย่อมเข้าใจว่า เป็นเพลงรักระหว่างหนุ่มสาว เพราะดูสำนวน ดูการเปรียบเทียบที่ใช้ฉาก ยามค่ำคืนที่มีแสงดาวและแสงเดือน ชวนให้คิดเช่นนั้นจริงๆ
เพลงสายทิพย์ เผยแพร่เป็นที่รู้จักของคนไทย เมื่อนำมาบันทึกแผ่นเสียง กับแผ่นเสียงของวงดนตรีคีตะวัฒน์ ของ ไพบูลย์ ลีสุวัฒน์
ไพบูลย์ ลีสุวัฒน์ เจ้าของและหัวหน้าวงดนตรีเขียนไว้ในคอลัมน์ เขียนก่อนตาย ลงในหนังสือพิมพ์ เสรีชัย รายสัปดาห์ ลอสแองเจลีส เมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๒๕ (ข้อมูลจากเว็บไซต์ของวงดนตรี) สรุปได้ว่า
เมื่อไพบูลย์ ลีสุวัฒน์ ทำงานร่วมกับเพื่อนที่ซื่อว่า แมนรัตน์ ศรีกรานนท์ (เรมอนด์ ซีแกร่า) อยู่ที่บริษัทเชลล์แห่งประเทศไทย ในตอนเย็นๆ เพื่อนๆ จะไปซ้อมดนตรีกันที่บ้านของแมนรัตน์ ศรีกรานนท์ ซึ่งอยู่ในซอยถนนสุรวงศ์ใกล้ๆ กับบริษัทเซลล์ เมื่อเห็นว่าพอจะออกงานได้จึงเริ่มตั้งเป็นวงดนตรีเล็กๆ ใช้ชื่อ “เรมอนด์และสหาย เล่นเพลงสากลและมีเพลงไทยที่แต่งกันเองซึ่งโดยมากจะเป็นทำนองของ แมนรัตน์ ศรีกรานนท์ ต่อมาเปลี่ยนซื่อเป็นวงดนตรี คีตะเสวี มีรายการประจำสัปดาห์ละสามสี่รายการ เช่น การแสดงสดทางสถานีวิทยุ จ.ส. สถานีวิทยุ ๑ ปณ. นักร้องประจำวง ได้แก่ เฉลา ประสพศาสตร์, เพ็ญแข กัลจาฤก, มาโนช ศรีวิภา,อดิเรก จันทร์เรือง โดยมี ครูแก้ว อัจฉริยะกุล เป็นโฆษกและเขียนบรรยายเพลง นอกจากนั้นยังมีนักร้องของวงดนตรีสุนทราภรณ์มาร่วมขับร้องโดยใช้นามแฝง อย่าง วิทยา คีตะเสวี (วินัย จุลบุษปะ) วรนุช คีตะเสวี (ชวลี ช่วงวิทย์) พรทิพย์ คีตะเสวี (เพ็ญศรี พุ่มชูศรี)
วงดนตรีคีตะเสวีมักจะมีเพลงสากลใหม่ๆ จากภาพยนตร์มาบรรเลงอยู่เสมอๆ จึงได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นทำให้ต้องขยายเป็นวงดนตรีวงใหญ่
ภายหลังวงดนตรีคีตะเสวี ได้เปลี่ยนมาเป็นวงดนตรีคีตะวัฒน์
โดยไพบูลย์ ลีสุวัฒน์ เป็นผู้ดำเนินการ ซึ่ง ไพบูลย์ ลีสุวัฒน์ได้เล่าว่า
“…เมื่อผมตั้งวงคีตะวัฒน์ ขึ้นเมื่อปี ๒๕๐๖ โดยแยกจากวง กรรณเกษม ซึ่งมี คุณเฑียร กรรณสูต และคุณหลวงสุขุมนัย ประดิษฐ์ เป็นผู้อุปถัมภ์อยู่ และตั้งวงซึ่งผมเองเป็นผู้ดำเนินการแต่ผู้เดียว ในการออกวงครั้งแรกทางสถานีโทรทัศน์ช่อง ๔ บางขุนพรหม ครูเอื้อ (เอื้อ สุนทรสนาน) ยังได้มอบเพลงซึ่งแต่งร่วมกับครูแก้ว อัจฉริยะกุล ชื่อเพลง “สูงเกินใจ ให้เป็นของขวัญของวงบรรเลงในคืนนั้น….”
วงดนตรีคีตะวัฒน์มีผลงานการบรรเลงเพลงประกอบภาพยนตร์หลายเรื่องโดยเฉพาะเรื่องจุฬาตรีคูณเพลงเจ้าไม่มีศาล ทำให้ได้วงดนตรีคีตะวัฒน์ได้รับพระราชทานแผ่นเสียงทองคำ
ภายหลัง ไพบูลย์ ลีสุวัฒน์ ได้เดินทางไปประกอบอาชีพที่สหรัฐอมริกา วงดนตรีคีตะวัฒน์จึงเหลือเพียงตำนานที่ฝากผลงานไว้ในวงการเพลง
ครูเอื้อ สุนทรสนาน หรือ สุนทราภรณ์ เขียนไว้ ในหนังสือ ที่ระลึก ๓๐ ปี คีตะเสวี ๒๐ ปี คีตะวัฒน์ ว่า
“เด็ก…ที่ข้าพเจ้ามองมา 30 ปี
เมื่อ ๓๐ ปี ที่ผ่านมานี้ในขณะที่ข้าพเจ้าคุมวงดนตรีซึ่งเรียกว่าวงดนตรีกรมโฆษณาการในประมาณปี พ.ศ.๒๔๙๒ และทำการซ้อม ณ ห้องส่งกระจายเสียงของกรมฯ เชิงสะพานเสี้ยว จะมีเด็กหนุ่มในเครื่องแบบของนักเรียนอัสสัมชัญพาณิชย์ไปเฝ้าดูอยู่เป็นประจำเกือบทุกครั้งที่มีการซ้อม เด็กคนนั้นจะมาพร้อมกับคุณแก้ว อัจฉริยะกุล
ทราบภายหลังว่าเด็กหนุ่มผู้นั้นไปรับคุณแก้ว ซึ่งขณะนั้นยังรับราชการอยู่ ณ กรมไปรษณีย์ ทุกวันในตอนบ่ายหลักจากเลิกเรียนแล้วก็มาขลุกอยู่กับวงดนตรี และนักดนตรีของกรมฯ เป็นประจำ ข้าพเจ้าเห็นเขาสนิทสนมกับนักดนตรีและนักร้องในวงโดยเฉพาะกับวินัย จุลบุษปะเป็นพิเศษ ภายหลังสมาชิกในวงของข้าพเจ้าก็ได้ชักชวนให้เข้ามาร่วมวงในบางครั้งในฐานะมือกลองผู้ช่วยซึ่งในขณะนั้นมีสาลี่ กล่อมอาภา เป็นมือหนึ่ง ซึ่งเมื่อสาลีชักจะมึนๆ ก็มีเลิศ ประสมทรัพย์ เป็นมือสำรอง ครั้งเมื่อทั้งครูสาลี่และลูกศิษย์ชักจะมึนไปด้วยกัน ก็ได้อาศัยเด็กหนุ่มผู้นี้แหละเข้าแทน ข้าพเจ้าจำได้ว่าเขาสามารถจำเพลงสากล ซึ่งเรียกกันในสมัยนั้นว่าเพลงเซ็ตได้ทุกเพลงสามารถตีกลองเข้ากับวงใหญ่โดยอ่านโน้ตไม่ออกแม้แต่ตัวเดียว ในขณะนั้นวงดนตรีกรมโฆษณาการยังบรรเลงทั้งสากลและเพลงไทยสลับกันอยู่ เขาสนใจในการบรรเลงและเฝ้าติดตามวงดนตรีไปในงานลีลาศต่างๆทุกหนทุกแห่ง ต่อมาได้ทราบว่าเขาได้ฝึกหัดเป้าแซกจากนักดนตรีของกรมฯ ชื่ออุทัยหรือชาลี ฤทธิ์มาก ซึ่งเป็นผู้ที่เขาคุ้นเคยมาก่อนที่บ้านและได้ขอยืมโซปราโนแซกจากที่วงไปฝึกซ้อมที่บ้านซึ่งข้าพเจ้าก็อนุญาต
อีกไม่นานนักประมาณปี ๒๔๙๓ ข้าพเจ้าก็ได้ยินว่าเขาร่วมกับเพื่อนสนิทของเขาชื่อ เรมอนต์ ซีแกร่า (แมน-รัตน์ ศรีกรานนท์ ในปัจจุบัน) ตั้งวงดนตรีซื่อ คีตะเสวี ขึ้นโดยบรรเลงตามสถานีวิทยุต่างๆ เป็นประจำ รวมทั้งรับงานลีลาศทั่วไป เซ่นวงดนตรีสุนทราภรณ์ของข้าพเจ้า
วงดนตรีคีตะเสวี ซึ่งอยู่ในความควบคุมของ เรมอนต์ซีแกร่า หรือแมนรัตน์ฯ โดยมีเด็กหนุ่มที่ข้าพเจ้ากล่าวถึงนั้นเป็นวงดนตรีที่รุ่งโรจน์วงหนึ่งที่บรรเลงคู่กับวงดนตรีสุนทราภรณ์ในงานลีลาศใหญ่ๆ ในสังคมทั่วไปอยู่เสมอ วงดนตรีสุนทราภรณ์จะบรรเลงหนักไปในทางเพลงไทยสากล ส่วน
คีตะเสวีจะบรรเลงหนักไปในทางเพลงสากลเพราะฉะนั้นผู้จัดงานบอลล์ทั้งหลายจึงชอบใจและนิยมที่จะจัดให้ทั้งสองวงนี้บรรเลงคู่กันมาอยู่เสมอ
ข้าพเจ้ายังมองเขามาด้วยความรักและนิยมในการทำงานของเขามาโดยตลอดจนถึงทุกวันนี้ นับตั้งแต่เขาดำเนินงานจากวงดนตรีคีตะเสวี แล้วก็กรรณเกษมและกลายมาเป็นคีตะวัฒน์ จนถึงทุกวันนี้ เป็นเวลา ๓๐ ปี แล้วข้าพเจ้าเข้าใจได้เป็นอย่างดี เพราะได้แก่ตนเองว่าการควบคุมวงดนตรีซึ่งมีทั้งนักดนตรี และนักร้องเป็นวงใหญ่มีสมาชิกมากมายหลายคนต่างจิตต่างใจต้องอาศัยความอดทนความเห็นอกเห็นใจนักดนตรีนักร้องซึ่งมีอารมณ์อ่อนไหวยากแก่การควบคุมและปกครอง โดยเฉพาะวงดนตรีเอกชนที่ไม่มีการสนับสนุนจากด้านอื่น แต่เขาก็สามารถดำเนินมาด้วยดีตลอดเวลา ในด้านส่วนรวมของวงการดนตรี เมื่อข้าพเจ้าร่วมกับผู้ใหญ่ อาทิเช่น คุณหลวงสุขุม นัยประดิษฐ์ตั้งชมรมดนตรีแห่งประเทศไทยมาแต่ต้นนั้น เขาก็เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญที่รวบรวมนักดนตรีในการก่อตั้งจนเป็นสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์จนเป็นปีกแผ่นอยู่ทุกวันนี้
ข้าพเจ้าได้เห็นเขาเป็นนักสะสมมาตั้งแต่ต้นไม่ว่าจะเป็นโน้ตเพลงทุกสมัย แผ่นเสียงเพลงแจ๊สซึ่งเมื่อครั้งสงครามเลิกใหม่ๆ ทางสถานีวิทยุแห่งประเทศไทยยังต้องใช้แผ่นเสียงเพลงสากลทั้งป๊อปปูล่าและแจ๊สที่เขาสะสมไว้มาออกอากศอยู่เสมอ อีกสิ่งหนึ่งที่เขาสะสมไว้จนเต็มบ้านคือเครื่องดนตรีวงใหญ่ทั้งวงและเครื่องดนตรีจิปาถะเต็มไปหมด เหล่านี้ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ข้าพเจ้ามองเขามาด้วยความชื่นชม ข้าพเจ้าเคยได้ยินว่า วงดนตรีสุนทราภรณ์ของข้าพเจ้าสร้างนักร้องให้โด่งดัง เริ่มต้นจากดาวรุ่งของสุนทราภรณ์มาหลายคน แต่ข้าพเจ้าก็ขอพูดได้เต็มปากว่านักดนตรีระดับหัวหน้าวงหลายคนก็ได้รับประสบการณ์และเริ่มต้นมาจากวงดนตรีคีตะวัฒน์ของเขาเช่นกัน
ขณะนี้เป็นเวลาถึง ๓๐ ปีแล้วที่เขาดำเนินชีวิตมากับดนตรีที่เขารักและก็ยังมีอารมณ์ที่จะดำเนินต่อไปอีกข้าพเจ้าดีใจที่เด็กที่ข้าพจ้ามองมาเมื่อ ๓๐ ปีที่แล้วโดยตลอดถึงทุกวันนี้ยังเป็นผู้ที่เสมอต้นเสมอปลายมีอารมณ์ของนักดนตรีที่จะช่วยกันเชิดซวงการดนตรีของเราให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น และขอให้วงดนตรีคีตะวัฒน์ของเขาซึ่งครบ ๒๐ ปีจงได้ฉลอง ๓๐ ปี และ ๕๐ ปี เรื่อยๆ ไปชั่วกาลนาน”
ครูเอื้อ สุนทรสนาน บรมครูซึ่งเป็นที่ยอมรับนับถือในวงการเพลงไทย ได้ยกย่องและชื่นชม
ไพบูลย์ ลีสุวัฒน์ และวงดนตรีคีตะวัฒน์ของเขาไว้อย่างน่าชื่นใจ
อาจารย์แมนรัตน์ ศรีกรานนท์ เขียนไว้ในปกแผ่นเสียงชุด “๓๐ ปีคีตะเสวี ๒๐ ปี คีตะวัฒน์” ว่า
“ข้าพเจ้าและไพบูลย์ ลีสุวัฒน์ ได้เคยร่วมงานกันมาตั้งแต่ เรมอนด์และเพื่อน จากสถานีวิทยุ
กรมโฆษณาการ มาเป็นคีตะเสวี ที่ ๑ ปณ และ จ.ส เมื่อ ๒๐ ปีเศษมาแล้ว แต่มาระยะหลังข้าพเจ้าถูกงานอาชีพและการศึกษา เพิ่มเติมรัดตัวมากขึ้น จึงจำเป็นต้องหยุดการแสดงของวงดนตรี คีตะเสวี โดยสิ้นเชิง เพื่อนข้าพเจ้าจึงได้ปลีกตัวไปร่วมงานกับวงดนตรี กรรณเกษม และมาตั้งวงดนตรี คีตะวัฒน์ ขึ้นในเวลาต่อมาจนถึงปัจจุบันก็เท่ากับมีอายุถึง ๒๐ ปีแล้ว ข้าพเจ้ากับไพบูลย์ ยังได้คบหาสมาคมกันอยู่ตลอดเวลา และข้าพเจ้าเองก็ยังเขียนเพลงให้กับวงดนตรีคีตะวัฒน์ ตลอดเช่นเพลง รักเอย ซึ่งไพบูลย์ก็ขอร้องให้ข้าพเจ้าแต่งร่วมกับ เกษม ชื่นประดิษฐ์ จนได้รับพระราชทานรางวัลแผ่นเสียงทองคำประเภท ข. ในปี ๒๕o๗ เป็นรางวัลยอดเยี่ยมในด้านทำนองและเพลงนี้ก็ยังได้รับรางวัลยอดเยี่ยมทางด้านการแยกและเรียบเรียงเสียงประสานอีกด้วย และเมื่อตอนที่ข้าพเจ้าไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกา ก็ยังได้แต่งเพลง … ซึ่งแต่งขึ้นที่นั่นมาถึงไพบูลย์ ซึ่งก็ได้มอบให้ อ. กวี สัตโกวิท แต่งคำร้องและให้ชื่อในกาษาไทยว่า สวรรค์อำพราง
ไพบูลย์ ถึงแม้จะไม่ได้ร่ำเรียนวิชาดนตรีมาโดยตรงก็ตาม แต่ก็ด้วยความรักดนตรีและมีประสบการณ์มากจึงสามารถควบคุมวงดนตรีใหญ่ซึ่งรักษามาตรฐานการบรรเลงมาได้ด้วยดีตลอด นักดนตรีระดับ เช่น ประสิทธิ์ พยอมยงค์, ปรีชา เมตไตรย์, ชัยยุทธ เวชสวรรค์,นริสร์ ทรัพยะประภา, พิมพ์ปฏิภาณ พึ่งธรรมจิตรและ ชอบจิตต์ บุนนาค เป็นต้น ก็ได้เคยร่วมงานมากับวงดีตะวัฒน์มาแล้วทั้งนั้นข้าพเจ้าและไพบูลย์ยังได้เคยแต่งเพลงร่วมกันอีกหลายเพลงเมื่อสมัย คีตะเสวี เช่นเพลง … ซึ่งก็ยังเป็นที่นิยมกันจนมาถึงปัจจุบันนี้ ในชุด ๓๐ ปีของคีตะเสวีจนถึง ๒๐ ปีของคีตะวัฒน์ เขาขอให้ข้าพเจ้านำเพลงคะนึง และ กลิ่นดอกรัก ซึ่งเป็นเพลงตั้งแต่ครั้งวงดนตรีของบิดาข้าพเจ้า บรรเลงมาเมื่อ ๔๐ ปีกว่านักร้องสมัยนั้นมี ประหยัด ไทรศิริ, เสลา ประสพศาสตร์ และเพ็ญศรี พุ่มชูศรี เป็นต้น ต่อมาก็ได้นำเพลงเหล่านี้มาบรรเลงอีกในวง คีตะเสวี ยุคของข้าพเจ้าเอง นอกจากนั้นไพบูลย์ ยังขอให้ข้าพเจ้าแต่งทำนองร่วมกับเขาในเพลง อยู่กับลูก ซึ่งทนจะเห็นว่าเขาได้ทุ่มเทการแต่งคำร้องด้วยชีวิตจิตใจที่เดียว และข้าพเจ้าจึงหวังว่าเพลงในชุดนี้คงจะประสบความสำเร็จเช่นเดียวกับวงดนตรี คีะวัฒน์ ซึ่งได้ยื่นหยัดอยู่ในโลกของดนตรีมาเป็นเวลา 20 ปีแล้ว
แมนรัตน์ ศรีกรานนท์
๒๓/๑๐/๒๓ “
ทั้งหมดคือเรื่องของวงดนตรี คีตะวัฒน์ ซึ่งเป็นผู้นำเพลงสายทิพย์มาทำเป็นแผ่นเสียง จนเพลงเป็นที่รู้จัก