แผ่นเสียงเคียงเครื่อง : BOYdPOD อัลบั้ม Bitter Sweet 

0

BOYdPOD อัลบั้ม Bitter Sweet 

ศิลปิน : บอย-ป๊อด

สังกัด : LOVEiS

     BOYdPOD อัลบั้ม Bitter Sweet เป็น 2 ปี กับการทำงานของบอย โกสิยพงษ์ โดยคัดสรรบทเพลงมากมายถึง 45 เพลง ก่อนที่จะถูกเลือกออกมาใส่ในอัลบั้มเพียง 13 เพลงที่ดีที่สุดเท่านั้น จนต่อมาได้รับรางวัล :-

• ท็อปอวอร์ด 2008 นักร้องกลุ่มยอดเยี่ยม จากอัลบั้ม Bitter Sweet

• ไนน์เอ็นเตอร์เทน อวอร์ด 2009  รางวัลนักร้องชายแห่งปี จากอัลบั้ม Boyd-Pod Bitter Sweet

      แผ่นเสียงปั๊มแรก วางจำหน่ายปี 2010 (2553) โดย LOVE IS / 13 เพลง / 33RPM / 1 LP (2 Sides) / 150g / 1,000 ชุด / Rainbow Records / ราคา 1,500 บาท

     แผ่นเสียงปั๊มสอง วางจำหน่ายปี 2018 (พ.ศ.2561) รหัส BMS-005 โดย Brilliance Music & Studios Co.,Ltd. / 16 เพลง / Remastered by Burnie Grundman / 33RPM / 2 LP (4 Sides) / 200g / 600 ชุด / QRP Records / ราคา 5,000 บาท

*** แผ่นเสียงปั้มสาม วางจำหน่ายปี 2024 (พ.ศ.2567) รหัส BMS-005-45CC โดย Brilliance Music & Studios Co.,Ltd. / 16 เพลง / Remastered by Burnie Grundman / 45RPM / 6 LP (6 Sides) / Single-Sided / Crystal Clear Supreme Vinyl (CSV) / 111 ชุด / ราคา 19,800 บาท

# CSV : Japanese Chemical Technology for Purest PVC with Untinted Vinyl for Ultra Quiet Grooves and Incredibly Precise Definition (เทคโนโลยีเคมีของญี่ปุ่นสำหรับ PVC บริสุทธิ์ที่สุด พร้อมไวนิลที่ไม่ย้อมสี สำหรับร่องที่เงียบสงบเป็นพิเศษ และให้คำจำกัดความที่แม่นยำอย่างเหลือเชื่อ)

     ทั้งนี้แผ่น BOYdPOD เพรสแรกเป็นแบบ 1 แผ่น 2 หน้า สปีด 33 ด้วยความยาวของทั้งหมด 13 เพลง รวมกันเป็นเวลาเกือบ 53 นาที จึงจำเป็นจะต้องทำ Mastering / EQ และก็ตัดแผ่น Lacquer ต้นฉบับ ในลักษณะที่ร่องเสียงในแต่ละหน้านั้น ถูกบีบอัดมากจนเกินไป (เฉลี่ยหน้าละ 26.5 นาที เกินมาตรฐานไป 8-10 นาทีต่อหน้า ในขณะที่แผ่นเสียงขนาด 12 นิ้วที่ทำมาในสปีด 33 1/3 rpm ควรจะมีความยาวของดนตรี ระหว่าง 16-18 นาทีในแต่ละหน้า เพื่อให้เสียงดีที่สุด และเต็มที่ได้ไม่เกิน 24 นาที แต่เสียงก็จะด้อยคุณภาพลงมา) แต่หากจะทำแผ่นเสียงระดับ High Quality น้ำหนัก 180g ก็ควรจะใช้แม่พิมพ์ หรือ Stampers ที่กล่าวมาข้างต้น ในสัดส่วนการพิมพ์ไม่เกิน 500 Copies ต่อ 1 Stamper เพื่อให้คงสภาพความคมของร่องเสียงในแผ่นท้ายๆ ที่ถูกปั๊มออกมา

…นอกจากนั้น Original Issue ที่ผลิตมาในจำนวน 1,000 ชุด โดย Rainbo Records Co.,Ltd. ก็น่าจะเป็นเพียง Grade Commercial ทั่วไป ซึ่งมีน้ำหนักน้อยกว่าแบบ HQ180g เลยทำให้เกิดปัญหาบิดงอได้ง่าย ปัญหาความเสียหายของแผ่นเสียง จึงอาจจะเกิดได้ (ถึงแม้จะผลิตด้วยเนื้อแผ่นที่มีน้ำหนัก 180g ขึ้นไปก็ตาม) ทำให้แผ่นเสียงในเพรสแรกนั้น มีที่สวยสมบูรณ์อยู่น้อยมากและเป็นที่ต้องการมากในท้องตลาด ต่อมาในส่วนของการ Re-issue อัลบั้ม BOYdPOD : Bitter Sweet ในเพรสที่สองนั้น (รหัสแผ่น BMS-005) ทาง Brilliance Music & Studios Co.,Ltd. และคุณบอย โกสิยพงษ์ได้เพิ่มจำนวนเป็น 16 เพลง (จากเดิม 13 เพลง) แล้วจัดส่งไปให้ Bernie Grundman Mastering ทำการรีมาสเตอร์ให้ และผลิตออกมาเพียง 600 Copies แบบ 200g โดยโรงงาน QRP (Quality Records Pressing) ใน USA ทั้งยังใช้แม่พิมพ์หรือ Stampers ถึง 2 ชุด เพื่อให้ได้สัดส่วน 1:300 อย่างที่ทาง Brilliance Music & Studios Co.,Ltd. วางมาตรฐาน (ซึ่งดีกว่ามาตรฐานขั้นสูง 1:500 เสียอีก) นอกจากนั้น ยังทำเป็นแบบ 2LP ที่มี 4 Sides เพื่อให้เวลาของ Tracks ในแต่ละหน้านั้น อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานดังกล่าวข้างต้น

   สำหรับอัลบั้ม BOYdPOD : Bitter Sweet ในเพรสที่สาม ซึ่งจัดทำเป็นครั้งล่าสุดปี 2024 ทาง Brilliance Music & Studios Co.,Ltd. ได้จัดส่งไปให้ Bernie Grundman Mastering ทำการรีมาสเตอร์ในรูปแบบของสปีด 45/6 LP Single-Sided (6 Sides) และปั้มแผ่นด้วยไวนิลเนื้อขาวใสสุดพิเศษ “CSV” (Crystal Clear Supreme Vinyl) และผลิตออกมาเพียงแค่ 111 copies เท่านั้น โดยโรงงาน ResurRecในประเทศไทย 

     นอกจากนี้ ยังเป็นครั้งแรกที่ทาง Brilliance Music & Studios Co.,Ltd. ได้เปิด Pre-Order ในรูปแบบของ Cassette Tape – BOYdPOD อัลบั้ม Bitter Sweet ด้วยจำนวนจำกัดเพียง 550 ม้วนเท่านั้น ที่การันตีว่า เทปอัลบั้มนี้ คุณภาพเสียง! คับตลับเทป สำหรับท่านที่มีแผ่นเสียงและ CD แล้ว ไม่ควรพลาด Cassette Tape อัลบั้มนี้ด้วยประการทั้งปวง (Duplicated in real time from 15ips Analog Master Tape by Bernie Grundman Mastering Remastered for Cassette Tape; Made In USA; Limited 550 Copy with Running number)

16.เพลงในอัลบั้ม BOYdPOD / Bitter Sweet รหัส BMS-005-45CC จัดแบ่งไว้สำหรับแต่ละแผ่นดังนี้ครับ : –

DISC : 1

1. รักคุณเข้าอีกแล้ว 04:47

– หนึ่งเพลงรักสุดแสนโรแมนติก ด้วยเสียงร้องของป๊อด ผ่านเนื้อเพลงและท่วงทำนองจากบอย โกสิยพงษ์ เป็นเพลงที่เขา 2 คนตั้งใจทำขึ้นมา เพื่อเป็นเพลงสำหรับเปิดอัลบั้ม Bitter Sweet และเพื่อเป็นการหวนระลึกถึงคำสัญญาที่อยู่ในเพลง “รักคุณเข้าแล้ว” (Falling in Love) จากอัลบั้ม Rhythm & Boyd (พ.ศ.2538) ทำนองว่า จนถึงวันนี้คำสัญญาในเพลงนั้น ยังคงเหมือนเดิมอยู่เสมอไม่เปลี่ยนแปลง…“รักคุณเข้าอีกแล้ว” จึงเหมือนเป็นภาคสองของเพลง “รักคุณเข้าแล้ว”  

      ทั้งนี้ “รักคุณเข้าแล้ว” เป็นการนำเอาเพลงสมัยเก่าของศิลปินแห่งชาติ สุเทพ วงศ์กำแหง มาทำใหม่ในสไตล์อาร์แอนด์บี โดยการแนะนำของสมเกียรติ อริยะชัยพาณิชย์ (Z-Myx) เนื่องจากเพลงนี้เป็นเพลงเก่า ซึ่งผันผ่านการทำมาแล้วหลายเวอร์ชัน ชะชะช่า และ ควิก วอลซ์ แต่ยังไม่เคยมีแนวอาร์แอนด์บี โดยที่คุณบอยใส่เนื้อร้องเพิ่มได้อย่างละมุนละไม เพลงรักที่ไม่มีอินโทร ให้ป๊อด โมเดิร์นด็อก ร้องแบบโซล ลากยาวๆ ประสานเสียงงดงาม

2. ที่วันนี้ 03:39

3. ? 03:26

DISC : 2

4. ช่วงที่ดีที่สุด 05:17

– ได้แรงบันดาลใจจากความรักครั้งเก่าที่ยังตราตรึงในหัวใจ ไม่ว่าจะร้ายหรือดี เสียงร้องและดนตรีของเพลงนี้ จะพาให้คุณย้อนอดีตไปนึกถึงเรื่องราวในความทรงจำที่จดจำไว้ไม่รู้ลืม…อีกด้านของความรัก นอกเหนือจากความสมหวัง ย่อมหนีไม่พ้นความผิดหวัง การจากลา

5. น้องเอ๋ย 03:48

6. คำไม่กี่คำ 03:03

DISC : 3

7. เพื่อน 03:43

8. บทเรียน 04:37

9. เรื่องบ้าๆ 04:11

DISC : 4

10. Yoo Hoo 03:37

11. คอย 03:56

12. สิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยน 04:42

DIS : 5

13. หวานขม 04:11

– ช่วงชีวิตคนเรา มีหวานมีชื่น มีขื่นมีขม ปะปนกันไป ทุกคนมีทั้งสุข มีทั้งน้ำตา…จากนี้ เหลือเพียงอดีต ของกาลเวลา ที่จะไม่ย้อน คืนมา อีกแล้ว

14. เรื่องจริง 04:32 

– เพลงนี้คุณบอย โกสิยพงษ์ แต่งให้ลูกสาวโดยเฉพาะ

15. ชัยชนะ 04:17

DISC : 6

16. ช่วงที่ดีที่สุด (Acoustic) 07:56

…หลายคนยังคงจดจำเพลงเพราะๆ ซึ้งๆ อย่าง “รักคุณเข้าแล้ว” ผลงานการแต่งของเจ้าพ่อเพลงรักโรแมนติกอย่าง “บอยด์ โกสิยพงษ์” ที่ถูกถ่ายทอดออกมาด้วยน้ำเสียงไพเราะเป็นเอกลักษณ์ ของ “ป๊อด-ธนชัย อุชชิน” นักร้องนำของวงอินดี้ระดับแนวหน้าของวงการ ในอัลบั้ม Rhythm & Boyd ได้เป็นอย่างดี

…แต่ในช่วงเวลาการทำงาน ณ เวลานั้น เพลงนี้เกือบถูกทิ้งไปแล้ว…ซึ่งในขณะนั้น ป๊อดบ่นว่า จังหวะแบบนี้ก็ร้องยากจริงๆ แต่คุณบอยบอกกับป๊อดว่า “เพลง มันดีจริงๆ นะโว้ย” คือ ตอนนั้นเพลงนี้จังหวะมันแบบกระโดดๆ เหมือนมันเป็นเทรนด์การร้องตอนนั้น พอร้องไปก็รู้สึกว่า “มันใช่เหรอวะ” เลยคิดว่า ไม่เอาล่ะ แล้วคุณบอยก็มาย้ำอีก “ป๊อด คิดดีๆ นะโว้ย เพลงนี้มันดีจริงๆ นะ”  เรียกว่า เกือบถูกทิ้งไปแล้ว…คุณบอยมาเฉลยทีหลังว่า คือตอนนั้นเพิ่งฟัง Jack Johnson ใหม่ๆ ในช่วงก่อนทำชุดนี้ ก็เลยรู้สึกว่า Phasing การร้องเขาเท่ดีนะ

    ทั้งนี้หลังจากอัลบั้ม Rhythm & Boyd ทั้งสองคนนี้ ก็ไม่เคยได้ร่วมงานกันอย่างเป็นจริงเป็นจัง กระทั่งสิบสองปีผ่านไป เขาสองคนกลับมาอีกครั้ง พร้อมกับจับมือร่วมกันสร้างความทรงจำดีๆ บทใหม่ กับอัลบั้มใหม่ล่าสุด ซึ่งเป็นการร่วมงานกันอย่างเป็นทางการครั้งแรกของบอยกับป๊อด โดยใช้ชื่อ อัลบั้มว่า Bitter Sweet (หวานขม)…สองปีกับการทำงานสำหรับอัลบั้ม Bitter Sweet โดยป๊อดรับหน้าที่เป็น “ผู้ถ่ายทอดเพลง” ในขณะที่บทบาทคุณบอยอยู่ในฐานะ “ผู้สร้างเพลง” จึงเกิดเป็นบทเพลงที่มีให้คัดสรรมากมายถึง 45 เพลง ก่อนที่จะถูกเลือกออกมาใส่ในอัลบั้มเพียง 13 เพลงที่ดีที่สุดเท่านั้น

อัลบั้ม Bitter Sweet เริ่มต้นจากการที่คุณบอยเกริ่นไว้กับป๊อดมานานปี แต่ยังไม่มีโอกาสได้ลงมือทำเสียที จนถึงวันที่ ป๊อดเสร็จจากงานของวง และคิดอยากจะเปลี่ยนไปทำอะไรที่แตกต่างเป็นการหาประสบการณ์ใหม่ๆ ให้ตัวเองไปด้วย ก็เป็นจังหวะเดียวกับที่คุณบอยได้เข้ามาชักชวนเขาอีกครั้ง ซึ่งคุณบอยบอกไว้ว่า “ความตั้งใจแรกสำหรับงาน ‘BOYdPOD’     

      อัลบั้ม Bitter Sweet คือ ผมอยากให้แฟนๆ ได้ฟังเสียงร้องของป๊อดในรูปแบบต่างๆ กัน เพราะว่าป๊อด เขาร้องเพลงได้ดีมากๆ ในหลายๆ แบบ ผมเลยคิดต่อมาว่า ถ้าหากให้ป๊อดร้องเพลงของวง Wham ร้องเพลงของ John Lennon หรือ ‘Season Change’ จะออกมาเป็นอย่างไร? จากนั้นเราก็จะเอาความคิด ความรู้สึกที่เรามีต่อจอห์น เลนนอน มาโยกให้อยู่ในรูปแบบของเรา จนเกิดมาเป็นเพลงในชุดนี้”

   “ในแง่ของเนื้อหาจะพูดถึงเรื่องปรัชญาชีวิตในอัตราส่วนครึ่งๆ กับเพลงรักเลย คือผมอยากให้อัลบั้มชุดนี้จรรโลงใจคนฟัง เพราะถึงชุดนี้จะมีทั้งความหวาน และขม หรือ โทนเพลงหลายเพลงจะออกไปในทางหม่นๆ แต่ก็ยังรู้สึกได้ถึงกำลังใจในเวลาเดียวกัน เช่นเดียวกับชีวิตเราที่ถึงแม้ว่าจะอยู่ในช่วงหม่นสักเพียงใด เราก็ยังต้องมีความหวังเอาไว้ เพื่อรักษากำลังใจในตัวเราไม่ให้เลือนหายไป”
      Bitter Sweet-อัลบั้มระดับตำนานจาก 2 คู่หูดูโอ้ระดับพระกาฬ-บอย โกสิยพงษ์ ฉายาเจ้าพ่อเพลงรัก อภิมหาแรงบันดาลใจแห่ง LOVEiS กับ ป๊อด-ธนชัย อุชชิน ผู้สร้างประวัติศาสตร์ Alternative ครองเมืองทั่วทุกหัวระแหงของประเทศไทย ตัวพ่อของวงการเพลงทางเลือกเมืองไทย 

    “ป๊อด” เริ่มต้นจากความเป็นกลุ่มนักดนตรีแนวอัลเทอร์เนทีฟร็อกของไทย “โมเดิร์นด็อก” ซึ่งเป็นวงดนตรีแรกในค่ายเพลงเบเกอรี่ มิวสิค และเป็นหนึ่งในนักดนตรีกลุ่มแรกๆ ที่จุดประกายแนวดนตรีทางเลือก กระทั่งต่อมาแนวเพลงดังกล่าวได้รับความนิยมในประเทศไทย อย่างมาก นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2537 หลังเรียนจบคณะครุศาสตร์ เอกศิลปศึกษา จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี พ.ศ.2536

    “โมเดิร์นด็อก” เริ่มต้นจากวงดนตรีนิสิตที่ชนะเลิศการประกวดจากเวทีโค้กมิวสิกอวอร์ด ประจำปี พ.ศ. 2535 จากนั้นได้ออกอัลบัมชุดแรก โมเดิร์นด็อก-เสริมสุขภาพ ในปี พ.ศ. 2537 สังกัดค่าย เบเกอรี่ มิวสิค โดยมี กมล สุโกศล แคลปป์ (สุกี้) เป็นผู้อำนวยการผลิต ด้วยแนวดนตรีแบบ ฟังก์, โซล, โมเดิร์นร็อก ซึ่งอัลบั้มดังกล่าวประสบความสำเร็จอย่างมาก มีเพลงดังอย่าง “มานี”, “บางสิ่ง”, “บุษบา”, “หมดเวลา” ซึ่งเพลงที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในอัลบั้มชุดนี้เป็นเพลง “ก่อน” (เป็นซิงเกิลติดชาร์ตคลื่นวิทยุยาวนานถึง 1 ปี ถือได้ว่า เป็นเพลงแจ้งเกิดของวงก็ว่าได้) แต่เพลงที่โด่งดังอย่างมากๆ ก็คือ “บุษบา” ต่อมาเพลงนี้ได้ถือเป็นเพลงประจำวงโมเดิร์นด็อก และได้จุดประกายดนตรีทางเลือกแก่วงการดนตรีเมืองไทยนับแต่นั้น 

*** “…ก่อน” (Before) เป็นเพลงที่ ปฐมพร ปฐมพร แต่งเก็บเอาไว้ในปี พ.ศ.2534 โดยบางส่วนมีที่มาจากจดหมายของแฟนเพลง ที่เขียนถึงพี่สาวคนหนึ่งที่ชอบปฐมพรเป็นอย่างมาก แต่กลับต้องจากไปเสียก่อน ในปี พ.ศ.2536 “สุกี้” กมล สุโกศล แคลปป์ ได้นั่งคุยกับปฐมพรในห้องซ้อมแห่งหนึ่ง ปฐมพรได้เล่นเพลง “…ก่อน” ให้สุกี้ฟัง และสุกี้ชื่นชอบในเพลงนี้เป็นอย่างมาก สุกี้ได้ขอเพลงนี้เอาไปทำให้กับ “โมเดิร์นด็อก” เนื่องจากต้องการเพิ่มเพลงช้าในอัลบั้ม 

    วันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ.2537 ซิงเกิล “…ก่อน” (Collector’s Edition) วางจำหน่ายที่เทศกาลบันเทิงคดี 37 ศูนย์เยาวชนไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง จำนวนจำกัดเพียง 5,000 ชุด และหมดในเวลาอันรวดเร็ว จนในภายหลังเป็นของหายากและมีราคาสูงหลายเท่าตัวในตลาดมืด นอกจากเพลงของโมเดิร์นด็อกในแบบต่างๆ แล้ว ยังรวมต้นฉบับของ ปฐมพร และเสียงคำพูดของเจ้าของจดหมายใน…ก่อน (PRY Version) อีกด้วย ***

    จริงๆ แล้ว หากพูดไป วงโมเดิร์นด็อกคงจะจบอยู่ที่การประกวด ถ้าวันหนึ่ง ป๊อดไม่ได้ฟังเพลงแร็พของ TKO แร็พเปอร์วงแรกของประเทศไทย แล้วเปิดเจอบทสัมภาษณ์โปรดิวเซอร์ของวงนี้ที่ชื่อว่า สุกี้-กมล สุโกศล แคลปป์ หลังจากนั้นป๊อดก็หาโอกาสไปดักรอที่หลังเวทีวง TKO เพื่อบอกกับสุกี้ว่า “พี่ครับ ผมอยากทำงานด้วย” จนในที่สุดสุกี้ตกลงไปดูพวกเขาซ้อม และรับเป็นโปรดิวเซอร์ให้… 

    ซึ่งในช่วงนั้นสุกี้กำลังแฮงก์เอาต์อยู่กับบอย โกสิยพงษ์, สมเกียรติ อริยะชัยพาณิชย์) แล้วก็สาลินี ปันยารชุน (เอื้อง) ตอนนั้นยังเป็นบริษัทที่ยังไม่ใช่เบเกอรี่ มิวสิค แล้วป๊อดและพรรคพวกก็เข้าไปทำงานที่สตูดิโอ ซึ่งอยู่ตรงสยามสแควร์ (ตรงน้ำพุ ตรงข้ามกับ A&W) ทำให้ป๊อดได้มีโอกาสแฮงก์เอาต์กับบอย โกสิยพงษ์ ได้มีโอกาสนั่งอยู่ตอนที่แต่งเพลง “ลมหายใจ” (You are my everything)

    โดยไม่คาดฝัน จู่ๆ สมเกียรติก็ชวนให้ป๊อดร้องเพลงนี้ “ลมหายใจ ซึ่งเป็นเพลงแรกในชีวิตที่ป๊อดออกอากาศ” นี่คือ เพลงแรกที่คนไทยได้ยินเสียงของ ธนชัย อุชชิน ซึ่งต่อมาก็ได้ปล่อย “เสริมสุขภาพ ” เป็นอัลบั้มแรก ในปี พ.ศ.2537 เพลง “บุษบา” ได้ทำให้โมเดิร์นด็อกโด่งดังเป็นพลุแตก จนคนทั้งประเทศรู้จักเขาในชื่อ “ป๊อด โมเดิร์นด็อก”

    ทั้งนี้ บอย โกสิยพงษ์ ร่วมงานกับ ป๊อด โมเดิร์นด็อก มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2537 โดยคุณบอยทำหน้าที่เป็นโปรดิวเซอร์ให้กับวงโมเดิร์น ด็อก ในช่วงก่อนที่บอย โกสิยพงษ์จะทำอัลบั้มของตัวเอง (ในปี พ.ศ.2538) หลังจากนั้น ป๊อดก็เป็นนักร้องให้กับเพลงของบอย โกสิยพงษ์ อย่างเช่น 

    – เพลงเจ้าหญิง (Princess) อัลบั้ม Rhythm & Boyd (ปี พ.ศ.2538) 

    – เพลงรักคุณเข้าแล้ว อัลบั้ม Rhythm & Boyd (ปี พ.ศ.2538) 

    – เพลงข่าวของเธอ (Her News) อัลบั้ม Rhythm & Boyd (ปี พ.ศ.2538) 

    – เพลงห่างไกลเหลือเกิน อัลบั้ม Simplified (ปี พ.ศ.2539) 

    – เพลงใคร อัลบั้ม Million Ways To Love Part 1 (ปี พ.ศ.2547) 

   บ้านเกิดแท้ๆ ของป๊อดเป็นคน อ.สะเดา จ.สงขลา เกิด 24 พฤษภาคม พ.ศ.2514 ปัจจุบัน มีอายุครบ 53 ปี  ศึกษาในระดับประถมที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียล (SG 69) และระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย (SK 108) แล้วศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาจากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เอกศิลปศึกษา ทุกวันนี้ ป๊อดยังคงทำงานดนตรีอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ เพื่อการจัดแสดงในนิทรรศการผลงานเดี่ยว และจัดรายการวิทยุ Pod Talk อีกด้วย โดยมีผลงานร่วมกับวง โมเดิร์นด็อก 6 อัลบั้ม ตั้งแต่ปี ค.ศ.1994-2016 โมเดิร์นด็อก-เสริมสุขภาพ (พ.ศ. 2537), คาเฟ่ (พ.ศ.2540), เลิฟมีเลิฟมายไลฟ์ (พ.ศ.2544), แดดส่อง (พ.ศ.2547), ทิงนองนอย (พ.ศ.2551), ป๊อด โป้ง เมธี (พ.ศ.2559) สมาชิกปัจจุบันมี 3 คน ประกอบด้วย ธนชัย อุชชิน (ป๊อด) ร้องนำ, กีตาร ; เมธี น้อยจินดา (เมธี) กีตาร์ และ ปวิณ สุวรรณชีพ (โป้ง) กลอง

     ช่วงปี พ.ศ.2542 ป๊อดได้ขอลาวงที่อยู่กันมาแปดเดือน บินไปนิวยอร์ก เพราะรู้สึกตีบตันทางงานดนตรี เพื่อเรียนวิชาแต่งเพลง ป๊อดเคยบอกว่า “ไม่รู้ว่าที่แต่งเพลงบุษบา แต่งไปได้ยังไง”  ทำให้มีโอกาสได้พบกับ ‘อุดมศักดิ์ กฤษณมิษ’ ศิลปินไทยที่มีชื่อเสียงในอเมริกา โดยทำงานเป็น Artist Assistant ให้กับอุดมศักดิ์ ต่อมาป๊อดได้แสดงงานเดี่ยวครั้งแรกเป็นนิทรรศการภาพถ่ายที่ About Photography ปี พ.ศ.2540 ชื่องาน ‘Homonid’ ต่อมาป๊อดเริ่มต้นการทำงานจิตรกรรม Abstract สีอะคริลิกบนผ้าใบ ในปี พ.ศ.2556 งานจิตรกรรมชิ้นแรกของเขาคือ การวาดสีเทียนเป็นเส้นและรูปทรงนามธรรมบนฝากล่องกระดาษลัง จัดนิทรรศการ Happy Accidents ที่หอศิลป์ดีคุ้น ในปี พ.ศ.2556 นิทรรศการศิลปะแอ็บสแตรกต์ POD ART ที่เยโล เฮาส์ ในปี พ.ศ.2560 และยังคงฝึกฝนฝีแปรงฝีมือไปพร้อมๆ กับการพัฒนาทักษะด้านดนตรีอยู่ตลอด 

    ป๊อด บอกว่า เขาอยากเป็นจิตรกรตั้งแต่เด็กๆ สมัยเรียนก็ตั้งวงดนตรี แต่พอเรียนมหาวิทยาลัยก็เลือกเรียนศิลปะตามความฝัน แต่สุดท้ายได้ไปเป็นนักดนตรีเพราะความชอบความถนัด…แต่ความฝันตอนเป็นเด็กก็ยังอยู่ เขาเลยกลายเป็นคนที่มีทั้งภาพวาดและเพลงบาลานซ์กันอยู่ตลอดเวลา “พอเราว่างจากงานเพลงก็จะนึกถึงการวาดภาพ เพราะทำให้เราหลุดจากสิ่งเฉพาะตรงหน้า ศิลปะมักจะเป็นสิ่งที่ทำให้รู้สึกเหมือนเป็นพื้นที่ในการพักผ่อน”

      ในวัยที่กำลังโด่งดังอายุ 24-25 ปี ก็แน่นอนว่า เขาต้องเจอวิกฤติชีวิต เป็นวัยเบญจเพสที่ทุกคนก็จะเจอเหตุการณ์โน้นนี่นั่น ซึ่งก็เป็นวัยที่ต้องเผชิญหน้าความจริง ด้วยความที่ป๊อดสนใจธรรมะ นี่จึงเป็นทางออก…วันหนึ่ง ป๊อดพุ่งเป้าสนใจในพุทธศาสนาอย่างมาก แล้วก็พบว่า เรื่องธรรมะมันเป็นกระบวนการที่ทำให้เขาเข้าใจถึงสัจธรรมว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ที่ทำให้เราเข้าใจชีวิต แล้วตอนนี้ก็เอามาใช้กับการเขียนเพลง มันเหมือนกับเรากำลังเรียนรู้ชีวิตผ่านกระบวนการทำเพลง ทำงานจากความรู้สึก…หากฟังเพลงของป๊อดและดูภาพวาดของป๊อดไปด้วย อาจจะบอกออกมาว่า ‘ความคิดถูกร้องเป็นเพลง ความรู้สึกถูกวาดเป็นภาพ’ แล้วเรียกสิ่งนี้ว่า POD ART

     ป๊อดจึงมีความเชื่อเรื่องกรรม คือ ทำสิ่งใดก็ได้สิ่งนั้น You Get What You Give คุณจะได้ในสิ่งที่คุณทำ และสิ่งที่คุณได้รับอยู่ตอนนี้ก็คือสิ่งที่คุณเคยทำไว้…โมเดิร์นด๊อกขึ้นแท่นเป็นตำนานวงดนตรีคุณภาพที่ทุกคนยอมรับ ทว่าบทบาทของพุทธศาสนิกชนผู้สนับสนุนการเผยแผ่ธรรมะของป๊อดก็เด่นชัด เพราะเขาได้ลงไปปฏิบัติจริง คือ ไปเป็นพระป่าอยู่ประมาณ 4 เดือนครึ่งในพรรษานั้น สิ่งที่ได้จากตรงนั้นเขาเอามาใช้กับชีวิตประจำวันและเรื่องงานโดยตลอด อย่างเช่นหลักง่ายๆ “อาณาปานสติ” หรือการดูลมหายใจตัวเอง จนเจอสภาวะที่ค่อนข้างนิ่ง น้ำที่เคยขุ่นเริ่มตกตะกอนและเป็นผิวที่เรียบ เวลามีสิ่งกระทบอะไร เราจะเห็นคลื่นที่เกิดขึ้น เริ่มมองออกว่าอะไรที่เข้ามา ความรู้สึกของตัวเองเป็นอย่างไร

พอเราเห็นตัวเองเราจะเขียนเพลงให้ตัวเองร้องได้ดี เพราะเราจะเชื่อ เราไม่ได้หลอกตัวเองก่อน แล้วเราไม่ได้เอาเพลงหลอกๆ ออกไปให้คนอื่นฟัง จริงๆ แล้วนี่เป็นกระบวนการทำงานเพลงของเรา แต่มันก็มากไปกว่านั้น มันได้วิเคราะห์ตัวเองไปด้วย กว่าที่จะได้ประโยคๆ หนึ่งออกมา เราต้องคอนเฟิร์มกับตัวเองก่อนว่า เฮ้ย แน่ใจเหรอ จริงเหรอ หรือว่าเขียนไปเพราะว่าคำมันสวย หรือว่าเป็นคำฮิตใช้กันบ่อยๆ หรือแค่คำคล้องจองในประโยค มันใช่ความหมายที่แท้จริงในความรู้สึกเราหรือเปล่า และแล้วป๊อดก็บอกว่า เพลงของโมเดิร์นด็อกที่เขาแต่ง ไม่ได้มาจากทฤษฎี 1-2-3-4 บางครั้งมาจากความฝันด้วยซ้ำ 

      ป๊อดยังสนิทสนมกับ บอย โกสิยพงษ์ เป็นอันมาก เนื่องเพราะมีความชื่นชอบในแนวทางที่คล้ายกัน ทั้งวาดภาพ ถ่ายภาพ เล่นดนตรี แต่งเพลง และร้องเพลง แม้ว่าการนับถือศาสนาจะต่างกัน ทั้งนี้ บอย โกสิยพงษ์ (ชีวิน โกสิยพงษ์)  ร่วมงานกับ ธนชัย อุชชิน หรือ ป๊อด โมเดิร์นด็อก มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2537 โดยบอยทำหน้าที่เป็นโปรดิวเซอร์ให้กับวงโมเดิร์น ด็อก ในช่วงก่อนที่บอย โกสิยพงษ์จะมีอัลบั้มของตัวเอง (ในปี พ.ศ.2538) หลังจากนั้นธนชัย อุชชิน ก็เป็นนักร้องให้กับเพลงของบอย โกสิยพงษ์ อย่างเช่น 

      – เพลงเจ้าหญิง (Princess) อัลบั้ม Rhythm & Boyd (ปี พ.ศ.2538) 

      – เพลงรักคุณเข้าแล้ว อัลบั้ม Rhythm & Boyd (ปี พ.ศ. 2538) 

      – เพลงข่าวของเธอ (Her News) อัลบั้ม Rhythm & Boyd (ปี พ.ศ.2538) 

      – เพลงห่างไกลเหลือเกิน อัลบั้ม Simplified (ปี พ.ศ.2539) 

      – เพลงใคร อัลบั้ม Million Ways To Love Part 1 (ปี พ.ศ.2547) 

     นอกจากธนชัย อุชชินแล้ว บอย โกสิยพงษ์ ยังมีโครงการที่จะทำอัลบั้ม บอยนภ ร่วมกับนภ พรชำนิ นักร้องอีกคนหนึ่งที่ร่วมงานกับบอย โกสิยพงษ์มาตั้งแต่อัลบั้ม Rhythm & Boyd (ปี พ.ศ.2538) เช่นกัน…บอย โกสิยพงษ์ เกิดเมื่อวันที่ 5 กันยายน พ.ศ.2510 (อายุปัจจุบัน 57 ปี) เป็นลูกคนกลางในจำนวนพี่น้อง 5 คน ของชิงชัยและ อุไรวรรณ โกสิยพงษ์ ในวัยเด็กมีความสนใจทั้งในด้านดนตรีและการ์ตูนมาก เขาได้เริ่มเรียนเปียโนตั้งแต่อายุ 4 ขวบ และเริ่มแต่งเพลงประกอบการ์ตูนที่เขียนขึ้นเองตั้งแต่อยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนเซนต์ดอมินิก (รุ่นที่ 16) และจบการศึกษาระดับอุดมศึกษาด้านการแต่งเพลงและธุรกิจเพลงจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา

      เมื่อจบการศึกษา คุณบอยได้เริ่มทำงานเป็นนักแต่งเพลงอิสระที่ทำงานให้ทั้งศิลปินเพลงและเพลงประกอบโฆษณา จนกระทั่งได้ร่วมงานกับกมล สุโกศล แคลปป์ ที่ต่อมาเขาได้ร่วมก่อตั้งบริษัท เบเกอรี่ มิวสิค จำกัด ขึ้นมาในปี พ.ศ.2535 ร่วมกับกมล สุโกศล แคลปป์, สมเกียรติ อริยชัยพาณิชย์ และสาลินี ปันยารชุน โดยบอยมีหน้าที่หลักในด้านแต่งเพลงและทำดนตรี

      ในด้านชีวิตส่วนตัว บอย โกสิยพงษ์ ได้สมรสกับ วรกัญญา โกสิยพงษ์ และมีลูกสาวด้วยกันสองคน คือ ดีใจ โกสิยพงษ์ และ ใจดี โกสิยพงษ์ ในด้านการนับถือศาสนา บอยนับถือศาสนาคริสต์ โดยเมื่อต้นปี พ.ศ.2553 เขาตรวจพบว่า เป็นโรคเส้นเลือดในสมองตีบในระยะเริ่มต้น

      น่าจะกล่าวได้ว่า พื้นฐานทางครอบครัวมีอิทธิพลต่อแนวคิดในการแต่งเพลงของบอย โกสิยพงษ์ เป็นอย่างมาก นอกจากนั้นคุณบอย ยังมีโอกาสได้เรียนเกี่ยวกับดนตรี และเพลงที่ตนเองชอบและถนัด ทำให้บอย โกสิยพงษ์ทำงานเกี่ยวกับเพลงได้หลายบทบาท ไม่ว่าจะเป็นนักแต่งเพลง นักร้อง และผู้บริหารค่ายเพลง 

ทั้งนี้การทำงานเพลงของบอย โกสิยพงษ์ แบ่งออกเป็น 4 ช่วงด้วยกัน คือ

     – ช่วงก่อตั้งค่ายเพลง Bakery Music (พ.ศ.2535-2540) 

     – ช่วงมรสุมทางเศรษฐกิจ (พ.ศ.2541-2542) 

     – ช่วงร่วมทุนกับบริษัท BMG (พ.ศ.2543-2547) 

     – ช่วงค่ายเพลง Love is (พ.ศ.2548-2563)

     – ปัจจุบัน The Flying Tomato Music Co.,Ltd.

       การทำงานของบอย โกสิยพงษ์ในแต่ละช่วงมีปัจจัยที่ส่งผลต่อการสร้างผลงานเพลงแตกต่างกัน-ประเภทเพลงของบอย โกสิยพงษ์ที่แต่งขึ้นนั้น มีจุดสังเกตดังนี้ :

– แบ่งโดยใช้ลักษณะเนื้อหาเป็นเกณฑ์ สามารถแบ่ง เพลงได้ 5 ประเภทคือ เพลงรัก, เพลงการใช้ชีวิต, เพลงให้กำลังใจ, เพลงครอบครัว และเพลงเทิดพระเกียรติ

– แบ่งโดยใช้จุดประสงค์การแต่งเป็นเกณฑ์ได้ 5 ประเภทคือ เพลงที่แต่งเพื่อใช้ในอัลบั้มของบอย โกสิยพงษ์, เพลงที่แต่งเพื่อใช้ในอัลบั้มของนักร้องอื่น, เพลงที่แต่งเพื่อใช้ในอัลบั้มร่วมของบอย โกสิยพงษ์, เพลงที่แต่งเพื่อใช้ประกอบการโฆษณาสินค้า และเพลงที่แต่งเพื่อใช้ในโอกาสพิเศษ

* ผลงานอัลบั้ม

   – Rhythm & Boyd (12 มีนาคม พ.ศ.2538)

   – Simplified (12 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2539)

   – Million Ways to Love Part 1 (13 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2546)