What HI-FI? Thailand

แนะนำ Desktop DAC ที่น่าสนใจของปี 2022

Dawn Nathong

ขอหยิบเอา Desktop DAC หรือแด็คแบบตั้งโต๊ะที่น่าสนใจมาแนะนำกันตั้งแต่ระดับราคาเริ่มต้นไปจนถึงไฮเอ็นด์ โดย DAC ที่เลือกมาทั้งหมดจะพิจารณาจากสเปค น้ำเสียง และฟีเจอร์ที่รองรับรูปแบบการใช้งานและไลฟ์สไตล์นักเล่นยุคนี้ เน้นการใช้งานร่วมกับคอมพิวเตอร์, โน้ตบุ๊ค, หรือมิวสิคเซิฟเวอร์ โดยในกลุ่มนี้จะขอเลือกเป็น Pure DAC ที่ไม่มีภาคเน็ตเวิร์คเข้ามาเกี่ยวข้องมาให้พิจารณากัน

แต่ละรุ่นก็จะมีพิกัดราคาที่ห่างกันสักหน่อย เพราะในทัศนะของผู้เขียน การเลือกอัพเกรด DAC จากรุ่นหนึ่งไปอีกรุ่นหนึ่ง ระดับราคาถือว่าค่อนข้างเป็นตัวแปรที่สำคัญไม่น้อย ส่วนใหญ่เท่าที่เคยลองเล่นลองฟัง หากเป็น DAC ในพิกัดราคาใกล้เคียงกัน มักจะให้ความแตกต่างด้านคุณภาพเสียงไม่ชัดเจนนัก บางทีเปลี่ยนแล้วได้อย่างเสียอย่างก็มี เรียกว่าหากเลือกอัพเกรด DAC ตัวเดิม ควรมองหารุ่นที่มีระดับราคาสูงขึ้นในระดับหนึ่ง ส่วนใหญ่จะได้ผลลัพท์ทางเสียงที่ดีขึ้นแบบก้าวกระโดดและคุ้มค่าต่อการลงทุนมากขึ้น

Topping E50

ราคา 8,790.-

ผู้เขียนเคยเจอคำถามว่า DAC ราคาต่ำหมื่นมีตัวไหนที่น่าสนใจบ้าง แล้ว Topping E50 ก็ฝุดขึ้นมาในใจก่อนเป็นอันดับแรก เพราะฟีเจอร์ที่ให้มาต้องบอกว่าครบครันมากที่สุดรุ่นหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นวงจรฟูลลี่บาล้านซ์ การรองรับ MQA ใช้ชิปแด็ค ESS ES9068AS รองรับ PCM 32Bit/768kHz และ DSD512 ชิปประมวลผล XMOS XU216 มีช่องแอนะล็อกเอาต์พุต Balance TRS และ RCA แถมยังมีฟังก์ชั่น Pre-Amplifier ที่ปรับเสียงเอาต์พุตผ่านรีโมทได้ สำหรับต่อเข้าลำโพงแอคทีฟหรือเพาเวอร์แอมป์ เช่น Topping PA5 ได้เลย แถมเป็น Budget แด็คที่ได้คะแนน SINAD จากเวปไซต์ AudioSienceReview.com อยู่ในกลุ่มระดับยอดเยี่ยมเลยทีเดียว

เสียง

จุดเด่นของ E50 คือมี Noise ที่ต่ำมาก ค่า Distortion เพียง 0.00009% และให้ไดนามิคเรนจ์สูงถึง 126dB น้ำเสียงสะอาดไม่แข็งกระด้าง ออกโทน Natural รายละเอียดโดยรวมดี แต่ในช่วงดนตรีสลับซับซ้อนมาก ๆ อ่อนการควบคุมไปบ้าง เบสกระชับเก็บตัวดี


iFi ZEN One Signature

ราคา 14,900.-

แด็คอีกตัวที่น่าสนใจในงบประมาณหมื่นกลาง เพราะเป็น DAC ที่มาพร้อมภาค Bluetooth 5.1 ชิป Qualcomm QCC5100 ซึ่งรองรับ Codec ไฮเรสบลูทูธล่าสุดทั้งหมดในตอนนี้ทั้ง aptX HD, LDAC และ HWA รวมถึง LHDC

ด้วยความที่เป็นรุ่นพรีเมียม อุปกรณ์ภายในของแด็ครุ่นนี้ จึงถูกอัพเกรดให้ดีกว่ารุ่นมาตรฐาน อาทิ ตัวเก็บประจุ Panasonic OS-CON และ Elna Silmic II รวมถึงออกแบบเส้นทางเดินสัญญาณให้ลัดตรงที่สุด ภาคถอดรหัสใช้ชิป Burr Brown True Native DAC รองรับ PCM สูงสุด 32-bit/384kHz และ DSD256 แบบ Native รวมทั้ง MQA แบบ Full decodeing ส่วนชิปประมวลผลรับข้อมูลจาก USB เป็น XMOS 16 Core ใช้คล็อก GMT Femto-Precision ที่มีความแม่นยำสูง และอีกจุดที่น่าสนใจคือมีช่องดิจิทัลเอาต์พุต S/PDIF แบบ Optical และ Coaxial ที่ให้สัญญาณเอาต์พุต PCM และ MQA 32-bit / 192kHz มาให้อีกด้วย รวมถึงมีช่องแอนะลอกเอาต์พุตแบบ RCA และ 4.4

เสียง

เสียงของ ZEN One Signature โดยรวมเป็นโทน Natural ค่อนไปทางสว่างเล็กน้อย จุดเด่นคือความสะอาดและความใสชัดเจนของย่านกลางแหลม เบสกระชับเก็บตัวดี ไม่เน้นมวลหนา อิมแพ็คดี


Chord Mojo 2

ราคา 36,000.-

หากข้ามแด็คตัวนี้ไปคงจะไม่ได้ เพราะเป็นตัวตายตัวแทนของแด็คแอมป์พกพาตัวดังอย่าง Mojo ซึ่งที่หยิบมาแนะนำเนื่องจาก Mojo 2 มีการปรับปรุงในส่วนภาคจ่ายไฟให้ใช้งานเป็น Desktop mode ได้สมบูรณ์แบบโดยไม่ส่งผลกระทบต่ออายุการใช้งานแบตเตอรี่ ต่างจากรุ่นเดิมที่เน้นการพกพาเป็นหลัก หัวใจสำคัญของคุณภาพเสียงของ Mojo 2 ก็คืออัลกอริธึมโค้ดที่เขียนลงบน FPGA ซึ่งออกแบบโดยพ่อมดดิจิทัล Rob Watts รองรับข้อมูลความละเอียดสูงสุด 768kHz และ DSD256 (DoP) รวมถึง WTA คัสต้อมดิจิทัลฟิลเตอร์ประสิทธิภาพสูงลิบ ที่ใช้ TAP ในการทำงานมากกว่าชิปแด็คสำเร็จรูปทั่วไปมหาศาล ทำให้ได้รูปคลื่นที่ใกล้เคียงสัญญาณต้นฉบับมาก นอกจากนี้ยังมีฟังก์ชั่นสุดล้ำอย่าง Advance EQ ที่สามารถปรับแต่งโทนเสียงได้โดยไม่เกิดการสูญเสียของข้อมูล

ส่วนของฟังก์ชั่นการใช้งาน Rob Watts เคยให้เหตุผลในเรื่องของการไม่สนับสนุนการเล่น MQA เนื่องจากให้เสียงออกมาไม่ตรงกับมาตรฐานของเขา และไม่มีช่องบาล้านซ์เอาต์พุตมาให้เนื่องจากช่องอันบาล้านซ์แบบ 3.5 นั้นให้เอาต์พุตแรง (สามารถปรับเกนได้) และค่าความเพี้ยนต่ำมากเกินพออยู่แล้ว

เสียง

เสียงของ Chord Mojo 2 ให้ทรานต์เชี้ยนต์ของดนตรีได้อย่างแม่นยำ เวทีเสียงมีความเป็นสามมิติสูง แยกชิ้นดนตรีชัดเจน โดยรวมมีความเป็นกลางและใสสะอาดมากขึ้น ไม่ค่อนไปโทน Warm แบบรุ่นเก่า เพื่อรองรับการปรับแต่งด้วย Advance EQ ให้ตรงตามรสนิยมของผู้ใช้งานมากที่สุด


Mytek Liberty DAC II

ราคา 52,000.-

ขยับมาที่ DAC หลักห้าหมื่นบาท แด็ครุ่นนี้ก็ควรเข้าไปอยู่ในลิสต์ที่ต้องลองฟัง โดยเฉพาะท่านที่มีไฟล์เพลงไฮเรสเก็บเอาไว้จำนวนมาก DAC ตัวนี้รองรับการถอดรหัสไฟล์ไฮเรสออดิโอออกมาได้สมบูรณ์มากที่สุดรุ่นนึงในพิกัดราคานี้ และอัพเกรดอุปกรณ์จากรุ่นเก่าไปหลายช่วงตัว ใช้ชิปเสียง ESS ES9038 รองรับความละเอียดสูงสุด PCM 32-bit / 768kHz และ DSD512 รวมทั้ง MQA Full decoder อีกจุดที่น่าสนใจคือภาคจ่ายไฟภายใน เปลี่ยนมาเป็นแบบลิเนียร์ประสิทธิภาพสูงแทนสวิตชิ่งแบบรุ่นก่อน ใช้หม้อแปลงเทอรอยด์แบบโอเวอร์ไซส์ขนาด 60W และชุดตัวเก็บประจุขนาด 48000uF จ่ายไฟนิ่ง ปลอดสัญญาณรบกวน นอกจากนี้ภาคโวลุ่มเป็นแบบดิจิทัลที่ปรับระดับความดังได้ละเอียดยิบ (0.5dB) เอามาใช้แทนปรีแอมป์ได้จริง ขั้วต่อต่าง ๆ ใช้ของเกรดดีแข็งแรง พร้อมช่องเอาต์พุตบาล้านซ์ XLR

เสียง

น้ำเสียงให้ความใสสะอาดทะลุไปถึงรายละเอียดของชิ้นดนตรีได้ดีมาก อิมเมจของเสียงหลุดลอย เป็นความชัดเจนที่รู้สึกว่าไร้ม่านหมอกบดบัง ไดนามิกสวิงได้กว้าง เปิดเผยและเป็นอิสระ ไทม์มิ่งของดนตรีถูกต้องแม่นยำ และเผยศักยภาพของไฮเรสไฟล์ต่าง ๆ ออกมาได้เด่นชัด โดยเฉพาะการเล่นไฟล์ DSD


Denafrips Pontus II    

ราคา 75,600.-

เขาว่าจะเล่นแด็คยุคนี้มันต้อง R-2R DAC ถึงจะอินเทรนด์ แม้บางคนอาจบอกว่า ‘เหล้าเก่าในขวดใหม่’ ก็ตาม แต่ที่แน่ๆ เทคโนโลยียุคนี้มันช่วยต่อยอดประสิทธิภาพของ DAC ประเภทรีซีสเตอร์เลดเดอร์ไปได้ไกลกว่าที่คิด อย่างแด็ครุ่นนี้ที่ใช้ FPGA เข้ามาทำหน้าที่ส่วน DSP ทำให้ประมวลผลได้ทรงพลัง ใช้ FEMTO clock ความแม่นยำสูง รวมถึง FIFO buffer ส่วนวงจร R-2R ใช้รีซีสเตอร์คัดสเปกความเพี้ยน 0.01% จัดเรียงแบบ balance dual mono สำหรับช่อง USB อินพุตนั้นรองรับสเปกได้สูงถึง 24-bit/1536kHz และ DSD1024 กันเลย สามารถเลือกโหมดการทำงานได้ 2 รูปแบบ ได้แก่ Oversampling และ Non-Oversampling ส่วนของภาคจ่ายไฟขนาดใหญ่ แยกส่วนอยู่ด้านล่างของตัวถัง ใช้หม้อแปลง o-core คู่ขนาดใหญ่และวงจรเรกูเลเตอร์แยกจ่ายไฟอิสระให้กับวงจรดิจิทัลและแอนะล็อก ส่วนช่องเชื่อมต่อมีมาให้ครบ ๆ ทั้งดิจิทัลอินพุต USB, Coaxial, Optical, AES/EBU, I2S (LVDS) และแอนะล็อกเอาต์พุต RCA และ XLR

เสียง

ด้านเสียง ถือว่าเป็นแด็คที่มีความเป็นกลาง โทนเสียงไม่ติดอวบหนาแต่ขาดรายละเอียดแบบ R-2R แด็คราคาประหยัด ให้รายละเอียดหยุมหยิม ความชัดเจนของเสียงที่เป็นธรรมชาติแบบ ‘analog-like’ ไม่ชัดแบบขึ้นขอบ ทั้งยังคงความโปร่งใสสะอาดที่ดี แยกเลเยอร์ชิ้นดนตรีออกมาเป็นสามมิติ  


Audiobyte Hydra Vox / Zap

ราคา 180,000.-

นี่คือแด็คที่ให้เสียงเป็นเอกลักษณ์มากที่สุดตัวหนึ่ง ดีไซน์ให้เป็น 1-bit FPGA DAC แบบเพียว 100% โดย Nicolae Jitariu เขียนโค้ดขึ้นทั้งหมดตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ

Hydra.Vox ใช้การประมวลผลสัญญาณบนข้อมูลออดิโอที่มีความละเอียด 35 บิต สัญญาณดิจิทัลทุกแซมปลิ้งเรตที่เข้ามาจะถูกอัพแซมปลิ้งให้เป็น 705.6kHz หรือ 768kHz แล้วใช้ FIR ฟิลเตอร์ 32-tap กรองสัญญาณรบกวน จากนั้นส่งข้อมูล (512 fs x 35 bit) ไปยัง Delta-Sigma modulator มอดูเลตสัญญาณให้เป็น DSD512 ก่อนส่งแปลงเป็นสัญญาณแอนะล็อก ซึ่งขั้นตอนการแปลงสัญญาณ 1-bit เป็นระดับฮาร์ดแวร์ล้วน ๆ ไม่ใช่การแปลงด้วยซอฟท์แวร์ อาศัยชิป FPGA Xilinx 7-series ที่ใช้การประมวลผลแบบ 68-bit ด้วย DSP จำนวน 80 คอร์ทำงานที่ความเร็ว 200 MHz ซึ่งมีพลังเหลือเฟือจะรองรับคำสั่งโค้ดอัลกอริทึมที่ซับซ้อนและการทำงานที่อัตราสุ่มสัญญาณสูง ๆ เพื่อคงความโปร่งใสของเสียงเอาไว้ให้ได้มากที่สุด

มี Hydra.Zap ภาคเพาเวอร์ซัพพลายแยกออกมาต่างหากอีกหนึ่งตัวถัง (ต้องใช้คู่กัน) จ่ายไฟได้ทั้งหมดสี่ชุด ควบคุมการทำงานด้วยไมโครโปรเซสเซอร์ นอกจากหม้อแปลงเทอรอยด์ขนาดเขื่องสองลูกแล้ว ภาคจ่ายไฟของดิจิทัลนั้นยังใช้ชุดตัวเก็บประจุขนาด “มหึมา” ถึง 2 x 310 ฟารัด หรือเท่ากับ 2 x 310,000,000 ไมโครฟารัด

เสียง

โทนเสียงของ Vox ไม่เน้นการปรุงแต่ง มีความโปร่งใสแบบทะลุทะลวงจนได้ยินเลเยอร์ของดนตรีที่ซ้อนกันเป็นชั้น ๆ ในขณะเดียวกันก็ให้ความต่อเนื่องและกลมกลืนของเสียงในทุกย่านความถี่แบบไร้รอยต่อ ฟังแล้วรับรู้ถึงความเป็นเนื้อเดียวกันไม่สะดุดหู มวลเสียงอิ่มแน่นเข้มข้น ให้เฟสของเสียงแม่นยำ ไดนามิกของเสียงมีความสมจริงสูงระดับห้าดาว


Exit mobile version