What HI-FI? Thailand

แนวคิดวิธีจัดความสมดุลตำแหน่งฟังและลำโพง

อ. ธนากร (ชูเกียรติ) จันทรานี

แนวคิดเบื้องต้นเพื่อจัดตำแหน่งฟังและลำโพงให้สมดุลกับสัดส่วนห้องฟังนักเล่นที่รักเสียงต้องจำเทคนิคการสร้างสเตอริโออิมเมจของระบบเสียงสเตอริโอที่กล่าวถึงไว้ในบทความ ให้ขึ้นใจเพื่อใช้อ้างอิงในการวิเคราะห์ปัญหาด้านสเตอริโออิมเมจทุกครั้งเพื่อให้ซิสเต็มเสียงสร้างสเตอริโออิมเมจออกมาให้สัมผัสได้ถูกต้องและดีที่สุด

รูปที่นำมาแสดงให้เห็นตัวอย่างการจัดวางลำโพงและตำแหน่งฟังต่อไปนี้เป็นเพียงต้องการให้เห็นความสัมพันธ์กับสเตอริโออิมเมจเท่านั้นยังไม่ได้เป็นเทคนิคที่เป็นองค์รวมทั้งหมดที่ต้องคำนึงถึงความสมดุลโทนเสียงหรือโทนัลบาลานซ์ (Tonal Balance) ด้วยเพราะเรื่องนี้ต้องคุยกันต่ออีกยาวซึ่งเราจะคุยกันทีหลัง

รูปที่ 1 ตัวอย่างการจัดวางตำแหน่งลำโพงแบบสมดุลแบบที่ 1

รูปที่ 1 เป็นตัวอย่างการจัดวางตำแหน่งลำโพงแบบสมดุลแบบแรกที่แสดงให้เห็นว่า หลักพื้นฐานขั้นต้นของการวางลำโพงเพื่อให้ได้สเตอริโออิมเมจถูกต้องก็คือ

  1. ลำโพงทั้งสองต้องอยู่ในแนวระนาบเดียวกันที่มีระยะห่างจากผนังด้านหลังเป็นสัดส่วน 1:3 หรือ1:5 ของความยาวห้องโดยหันหน้าไปตามความยาวของห้อง
  2. ระยะห่างจากผนังด้านข้างและด้านหลังของลำโพงทั้งสองต้องเท่ากัน
  3. ระยะห่างระหว่างผนังด้านหลังและผนังด้านข้างต้องไม่เท่ากันควรห่างจากผนังด้านหลังมากกว่าผนังด้านข้างเป็นสัดส่วน 1.3:1

รูปที่ 2 ตัวอย่างการจัดวางตำแหน่งลำโพงแบบสมดุลแบบที่ 2

รูปที่ 2 ยังคงใช้หลักการเดียวกับรูปที่ 5 แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ของระยะห่างแต่ละจุดเมื่อทำการขยับเอียงด้านหน้าของลำโพงทั้งสองเข้ามาหาตำแหน่งฟังเล็กน้อยที่เรียกว่า โทอิน (toe-in) ซึ่งทำให้มุมขอบด้านข้างและมุมขอบด้านหลังของลำโพงจะห่างจากผนังด้านข้างและด้านหลังไม่เท่ากันอย่างไรก็ตามต้องรักษาระยะห่างระหว่างมุมขอบลำโพงกับผนังของลำโพงทั้งสองให้เท่ากันเช่นกัน

 รูปที่ 3 ตัวอย่างการจัดวางตำแหน่งลำโพงและตำแหน่งฟังแบบสมดุล

รูปที่ 3 แสดงการจัดความสมดุลระหว่างตำแหน่งลำโพงกับตำแหน่งฟัง จากพื้นฐานการจัดวางตำแหน่งลำโพงกับจุดฟังเป็นรูปสามเหลี่ยมด้านเท่าที่ใช้กันมาตั้งแต่ยุค 60s คือระยะห่างระหว่างลำโพง (C) จะมีค่าเท่ากับระยะห่างระหว่างลำโพงซ้ายกับตำแหน่งหูซ้าย (A) และระยะห่างระหว่างลำโพงขวากับตำแหน่งหูขวา (B) คือ A = B = C

ซึ่งมุมที่ตำแหน่งฟังจะมีค่าเท่ากัน 60 องศาพอดี เพื่อให้ได้อิมเมจโฟกัสที่คมชัดเจนมากที่สุดและได้สัดส่วนเวทีเสียงหรือซาวด์สเตจเป็นสามมิติ แต่ในปัจจุบันคุณสมบัติด้านการสร้างมุมกระจายคลื่นของทวีตเตอร์ทำได้กว้างมากขึ้น จึงสามารถขยับตำแหน่งฟังให้เข้าไปใกล้ตำแหน่งลำโพงได้มากขึ้นจนค่ามุมตรงตำแหน่งฟังกว้างได้ถึง 72 องศา

เมื่อจัดวางตำแหน่งลำโพง และจุดฟังได้สมดุลกับสัดส่วนห้องซิสเต็มเสียงก็สามารถสเตอริโออิมเมจออกมาได้ถูกต้อง ได้ซาวด์สเตจด้านกว้างลึกเป็นสามมิติ และได้อิมเมจโฟกัสคมชัดดังแสดงในรูปที่ 4

 รูปที่ 4 สเตอริโออิมเมจที่ถูกต้องเมื่อจัดวางตำแหน่งลำโพงและตำแหน่งฟังได้สมดุล

รูปที่ 5 สเตอริโออิมเมจที่ผิดปกติด้านเซ็นเตอร์เมื่อจัดวางตำแหน่งลำโพงและตำแหน่งฟังไม่สมดุล 1

รูปที่ 6 สเตอริโออิมเมจที่ผิดปกติด้านเซ็นเตอร์เมื่อจัดวางตำแหน่งลำโพงและตำแหน่งฟังไม่สมดุล 2

รูปที่ 7 สเตอริโออิมเมจที่ผิดปกติด้านความลึกเมื่อจัดวางตำแหน่งลำโพงและตำแหน่งฟังไม่สมดุล

รูปที่ 5-7 แสดงตัวอย่างปัญหาที่เกิดจากความไม่สมดุลของตำแหน่งลำโพงกับสัดส่วนห้องฟัง เช่น ถ้าลำโพงซ้ายอยู่ชิดผนังด้านข้างมากกว่าลำโพงขวา จนทำให้เสียงสะท้อนแรกของลำโพงซ้ายมาถึงช้ากว่าเสียงตรงที่สร้างจากลำโพงซ้ายไม่ถึง 5ms

จะเกิดผลกระทบที่เรียกว่าฮาสเอฟเฟกต์ (Hass Effect) ทำให้ตำแหน่งเสียงที่ได้ยินเคลื่อนห่างจากตำแหน่งลำโพงซ้ายไปทางตำแหน่งเสียงสะท้อนแรกของลำโพงซ้ายทำให้สเตอริโออิมเมจเกิดความไม่สมดุล ซาวด์สเตจจะเคลื่อนไปทางด้านซ้าย สังเกตจากตำแหน่งเสียงนักร้องที่ปกติต้องได้ยินดังจากตำแหน่งกึ่งกลางระหว่างลำโพงซ้ายกับลำโพงขวา จะเคลื่อนไปอยู่ใกล้ลำโพงซ้าย (ดูรูปที่ 5)

ในทางกลับกันถ้าลำโพงขวาอยู่ชิดผนังด้านข้างมากกว่าลำโพงซ้าย จนทำให้เสียงสะท้อนแรกของลำโพงซ้ายมาถึงช้ากว่าเสียงตรงที่สร้างจากลำโพงขวาไม่ถึง 5ms จะเกิดผลกระทบที่เรียกว่าฮาสเอฟเฟกต์ (Hass Effect) ทำให้ตำแหน่งเสียงที่ได้ยินเคลื่อนห่างจากตำแหน่งลำโพงขวาไปทางตำแหน่งเสียงสะท้อนแรกของลำโพงขวาทำให้สเตอริโออิมเมจไม่สมดุล ซาวด์สเตจจะเคลื่อนไปทางด้านขวา ตำแหน่งเสียงร้อง จะเคลื่อนไปอยู่ใกล้ลำโพงขวา (ดูรูปที่ 6)

รูปที่ 7 แสดงให้เห็นว่าถ้าลำโพงอยู่ชิดผนังด้านหลังมากเกินไปผลกระทบจากฮาสเอฟเฟกต์สามารถทำให้ความลึกของซาวด์สเตจลดน้อยลงได้ที่นักเล่นบางท่านชอบพูดว่าเสียงแบนซึ่งหมายความว่าสัดส่วนด้านความลึกน้อยกว่าความกว้างนั่นเอง

อ่านบทความตัวเต็มได้ที่นี่


Exit mobile version