What HI-FI? Thailand

เสียงคมชัด vs เสียงนุ่มนวล

A busy office desk with a sophisticated display of technological devices including computer, music players, speaker and a cup.. Original public domain image from Wikimedia Commons

Mongkol Oumroengsri

เรื่องของเสียงคมชัดกับเสียงนุ่มนวล คงเปรียบได้กับทางรถไฟที่ไม่มีวันจะบรรจบกันพูดไปก็คงเข้าทำนองสมัยก่อน ช่วงยุคที่ทางญี่ปุ่นกำลังขะมักเขม้นในการสร้างเครื่องเสียงออกจำหน่าย ด้วยแนวทางของค่าความผิดเพี้ยนเสียงโดยรวม หรือ THD  (Total Harmonic Distortion) ที่ต่ำมากๆ เครื่องเสียงทุกแบรนด์ของญี่ปุ่นต่างแข่งขันกันหาวิธีการลดค่าความผิดเพี้ยนเสียงโดยรวมนี้ให้น้อยแบบสุดๆ จนมีจุดทศนิยมตามหลังเลขศูนย์อยู่สี่-ห้าตัวกันเลยทีเดียว ซึ่งตามหลักการแล้วไซร้ค่าความผิดเพี้ยนเสียงโดยรวมนั้น ยิ่งน้อยเท่าไหร่ เสียงก็น่าจะยิ่งมีความเสมือนจริงมากขึ้นเพียงนั้น เนื่องเพราะค่าความผิดเพี้ยนเสียงโดยรวมยิ่งน้อย ความบิดเบือนไปจากต้นฉบับสัญญาณเสียงก็ต้องยิ่งน้อยลงตามไปด้วย

แต่สิ่งที่ได้รับจากการฟัง กลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะเครื่องเสียงของญี่ปุ่นในยุคนั้นให้สุ้มเสียงที่แจ่มชัด สดสะอาด ทว่าแห้งผาก สากกร้าน ขาดความฉ่ำชุ่ม ช่างไม่น่าฟังเอาเสียเลย ผิดกับเครื่องเสียงของทางยุโรป และอเมริกันที่มีน้ำเสียงที่น่าฟัง ละมุนละไมเสียนี่กระไร ความสดสะอาด กระจ่าง แจ่มชัดจึงมักสวนทางกับความฉ่ำชุ่ม ละมุนละไม …หลังจากนั้นแบรนด์เครื่องเสียงของญี่ปุ่นต่างพากันพัฒนาปรับปรุงแนวทางการออกแบบเครื่องเสียงกันยกใหญ่ เพื่อให้ได้มาซึ่งผลลัพธ์ของเสียงที่ประนีประนอมยอมความระหว่างความฉ่ำชุ่ม อิ่มอุดม กับความสดสะอาด กระจ่างชัด ฉับไว จนสามารถได้รับการยอมรับมากขึ้น กระทั่งมีหลายรุ่นที่กลายเป็นเครื่องเสียงขึ้นทำเนียบเป็นที่พูดถึงกันมาจนปัจจุบัน

กระนั้นบางทีก็มีแบรนด์เครื่องเสียงของฝั่งยุโรป และอเมริกันนี่แหละที่ออกแบบแอมป์หลอด ซึ่งเราๆ ท่านๆ ล้วนคุ้นเคยกับน้ำเสียงอันเป็นเอกลักษณ์กันดีอยู่แล้ว ให้กลับกลายเป็นได้สุ้มเสียงอย่างกับเครื่องโซลิด-สเตท หรือ ทรานซิสเตอร์ ที่ฟังแล้วมันขาดซึ่งความเป็นตัวตนในบุคลิกเฉพาะของแอมป์หลอด ทั้งๆ ที่ใช้หลอดสุญญากาศในการทำงาน …บางคนก็ชอบของแปลกก็ว่ากันไป แต่บุคลิกจำเพาะของสิ่งใด มันก็ควรจะให้ดำรงไว้ มิใช่ปล่อยให้กระแสการตลาดนำทางกันจนเป็นพันธุ์ทาง ไม่เหลือพันธุ์แท้ไว้เป็นแนวทาง

พูดอีกอย่างเรื่องของเสียงคมชัดกับเสียงนุ่มนวล เปรียบไปก็คล้ายการมีเมียสวยที่ต้องแต่งตัว หรูเริ่ด เฉิดฉาย เพราะถ้าคุณเมียไม่รักที่จะแต่ง (หรือว่าคุณสามีห้ามแต่ง)  ก็จะได้ความสวยแบบเรียบๆ ไม่โฉบเฉี่ยว สะดุดตา …บางทีบางท่านอาจเข้าใจกันว่า การปรับเปลี่ยนสายสัญญาณและ /หรือสายไฟเข้าเครื่องเป็นเรื่องของการเพิ่ม หรือ ยกระดับสมรรถนะ แต่สำหรับผมนั้น มองว่า นั่นเป็นการ “ปรุงเสียง” ครับ เพราะเดิมทีสมรรถนะ หรือ ขีดจำกัดของการทำงานจะขึ้นอยู่กับพื้นฐานการออกแบบเครื่องนั้นๆ ตามที่ผู้ออกแบบกำหนด หรือ สรรค์สร้างขึ้นมา ซึ่งเราท่านอาจไม่เคยได้รู้ว่า ผู้ออกแบบนั้นเขาใช้สายสัญญาณอะไร สายไฟเข้าเครื่องเป็นแบบไหน สายลำโพงเป็นอย่างไร สั้น-ยาวขนาดไหนในขณะทำการออกแบบ คิดๆ ไปล้วนเป็นปริศนาที่อาจไม่มีคำตอบแจ่มชัด ดังนั้นการใช้สายต่างๆ อย่างธรรมดาจึงถือเป็นเรื่องการได้มาซึ่งพื้นฐานของสมรรถนะการทำงานและคุณภาพเสียง ฉะนั้นการปรับเปลี่ยนสายต่างๆ ให้ดีขึ้นตามแต่ใจของผู้ใช้ จึงเป็นเรื่องของการปรุงเสียงให้ได้ซึ่งความถูกใจของผู้ใช้ มิใช่เป็นการยกระดับสมรรถนะการใช้งานของเครื่อง

ขอยกตัวอย่างปิดท้ายไว้สักนิด จากประสบการณ์การรับฟังแทบจะทั้งชีวิตจะพบว่า ถ้าหากเลือกใช้สายสัญญาณและ/หรือสายไฟเข้าเครื่องแบบดีเลิศประเสริฐศรี สายลำโพงที่ใช้ควรจะให้ไม่ต้องถึงขนาดนั้น มันเหมือนเป็นการผสมผสานระหว่างกัน สามีดุดันคู่กับภรรยาลุ่มลึกจะไปกันได้ดีกว่า สายโหดมาชนกัน มีแต่จะบวกจะไขว้กัน ทว่าในทางกลับกัน ไม่ควรเลือกใช้สายสัญญาณและ/หรือสายไฟเข้าเครื่องแบบนางงามตกรอบ แล้วไปคว้าระดับเทพีมาทำหน้าที่สายลำโพง เพราะความดีเลิศประเสริฐศรีที่มีอยู่ในสัญญาณเสียงนั้น จะถูกนางงามตกรอบกีดกั้นไปซะ เพื่อมิให้เทพีได้ฉายแวว

พูดไปพูดมาก็คล้ายกับศิลปะแห่งการผสมผสาน ประนีประนอมเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่งดงาม ดูได้นาน มิใช่ร้อนแรง แต่มองได้ไม่นาน ชั่วครู่ชั่วยามพอไหว แต่ถ้าจะให้อยู่กันยาวๆ คงทำใจลำบาก …นึกไปแล้ว ก็ย้อนไปถึงครั้งหนึ่งในวงการเครื่องเสียงบ้าน ที่ต้องมีการเอาอุปกรณ์อิควอไลเซอร์ (Equalizer) หรือที่เรียกขานกันคุ้นหูว่า EQ เข้ามาช่วยเสริมลักษณะเสียง บูสต์ (boost) ย่านเสียงความถี่ต่ำให้หนักหน่วง กระแทกกระทั้น-อัดดันอวัยวะภายใน และบูสต์ย่านเสียงความถี่สูงให้เฉียบชัด ซิบๆ แซ่บๆ กรีดโสตประสาท ในขณะที่คัท (cut) ย่านเสียงความถี่เสียงกลางให้หดหายไป กลายเป็นความเท่อย่างหนึ่งของการปรับตั้งปุ่ม EQ ให้เป็นลักษณะคล้ายปีกนกที่นิยมแพร่หลายกัน ฟังเสียงเยี่ยงนี้นานๆ จะพาลหูหนวกเอาก่อนวัยอันควร แต่แล้วความฉูดฉาดที่ไม่เป็นธรรมชาติของเสียงนี่แหละที่ทำให้อิควอไลเซอร์เสื่อมถอย กระทั่งหมดความนิยมลงไป …อะไรที่เป็นธรรมชาติมันจะยั่งยืนจีรังขอฝากทิ้งท้ายไว้ละกันครับ


Exit mobile version