What HI-FI? Thailand

เล่าสู่กันฟัง… แผ่นเสียง “พวงร้อย” – คุณค่าที่ผ่านกาลเวลา

เล่าสู่กันฟัง… แผ่นเสียง “พวงร้อย” คุณค่าที่ผ่านกาลเวลา

โดย มงคล อ่วมเรืองศรี / คณิต ภาวศุทธิพันธ์

 

 

 

…ในฐานะที่เป็นคนไทยคนหนึ่ง ซึ่งรักและชื่นชมความเป็นไทย ชื่นชอบอย่างยิ่งกับการฟังเพลงไทย คงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า “บัวขาว” เป็นเพลงไทยประจำชาติที่มีความอมตะและป็อบปูล่ามากที่สุด โด่งดังถึงขนาดคนต่างชาติต่างภาษานำเพลงนี้ไปร้องเพื่อเป็นตัวแทนแห่งสัญลักษณ์ความเป็นไทย และน้อยคนนักที่จะไม่รู้จักกับชื่อ “พวงร้อย” – หม่อมหลวงพวงร้อย สนิทวงศ์ ในฐานะผู้แต่งท่วงทำนองเพลง ที่สำคัญเพลง “บัวขาว” นี้ยังได้รับการคัดเลือกจากศูนย์วัฒนธรรมแห่งเอเชียของยูเนสโก ประเทศฟิลิปปินส์ ให้เป็น “เพลงแห่งเอเชีย”

ตามประวัติที่ได้มีการบันทึกไว้ระบุว่า เพลง “บัวขาว” เป็นเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง “ถ่านไฟ­เก่า” สร้างโดยบริษัทไทยฟิล์ม (บริษัทผลิตภาพยนตร์ของท่านพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล ทรงตั้งขึ้น) นิพนธ์คำร้องโดย พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล ประพันธ์ทำนองโดยหม่อมหลวงพวงร้อย สนิทวงศ์ เมื่อ พ.ศ. 2480 ขับร้องโดย นส.แนบ เนตรานนท์ และจากการ สืบค้น ในเว็บไซต์ของ “หอสมุดดนตรีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ และห้องสมุดดนตรีทูลกระหม่อมสิรินธร” ระบุถึง ‘ประวัติ’ ของท่านผู้หญิงพวงร้อยไว้ดังนี้ :

ท่านผู้หญิงพวงร้อย อภัยวงศ์ ป.ม., ท.จ.ว. (๒๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๗ – ๑๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๓) หรือหม่อมหลวงพวงร้อย สนิทวงศ์ เป็นสตรีไทยคนแรกที่เป็นนักประพันธ์เพลง เมื่อปีพ.ศ. ๒๔๘๐ หม่อมหลวงพวงร้อย เกิดเมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๗ เป็นบุตรีของหม่อมราชวงศ์สุวพรรณ สนิทวงศ์ และคุณยี่สุ่น สนิทวงศ์ (มังกรพันธ์) และเป็นพี่สาวต่างมารดากับหม่อมหลวงประพันธ์ สนิทวงศ์ เนื่องจากอยู่ในครอบครัวของนักดนตรีจึงชอบดนตรี และเล่นเปียโนมาตั้งแต่เด็ก มีพี่น้องร่วมบิดามารดา คือหม่อมหลวงสร้อยระย้า ยุคล (ญ), หม่อมหลวงซัง สนิทวงศ์ (ช), หม่อมหลวงพวงร้อย อภัยวงศ์ (ญ) และหม่อมหลวงคงคา สนิทวงศ์ (ช)หม่อมหลวงพวงร้อย สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมปีที่ ๘ จากโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๗ และปริญญาตรีด้านเปียโนจาก Tritity College of Music กรุงลอนดอน อังกฤษในปีพ.ศ. ๒๔๘๐ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล ได้สร้างภาพยนตร์เรื่อง “ถ่านไฟเก่า” และทรงนิพนธ์เพลงประกอบคือ เพลง ‘บัวขาว’ และ เพลง ‘ในฝัน’ ขึ้น และมอบหมายให้หม่อมหลวงพวงร้อย เป็นผู้ประพันธ์ทำนองเมื่อมีอายุได้ ๒๓ ปีเพลง “บัวขาว” กลายเป็นเพลงอมตะที่สร้างชื่อเสียงให้กับท่านเป็นอย่างมาก ในปีพ.ศ. ๒๕๒๒ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งเอเชียของยูเนสโก ประเทศฟิลิปปินส์ ได้คัดเลือก “เพลงบัวขาว” เป็น “เพลงแห่งเอเชีย” นักร้องยอดนิยมของฮ่องกง “ฟรานซิส ยิป” ได้นำเพลงนี้ไปขับร้องบันทึกแผ่นเสียง 

หม่อมหลวงพวงร้อย สมรสกับ นายเชียด อภัยวงศ์ น้องชายของอดีตนายกรัฐมนตรี ควง อภัยวงศ์ เมื่อปีพ.ศ. ๒๔๘๕ มีบุตรธิดา ๓ คน คือ นายกสก อภัยวงศ์, นางมัทนพันธุ์ ดุละลัมพะ และ นางพัชราภรณ์ บุนนาค

 

หม่อมหลวงพวงร้อยมีผลงานประพันธ์ทำนองและคำร้องเพลงมากมาย จำนวน ๑๒๔ เพลง รวมทั้งบทเพลงปลุกใจ เพื่อถวายสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เช่น เพลงดุจบิดามารดร, เพลงแด่ ต.ช.ด., เพลงชายชาญทหารไทย

ในปีพ.ศ. ๒๕๑๖ ท่านได้เปลี่ยนลักษณะการแต่งเพลง ที่มักจะใส่คำไม่ลงโน้ต มาใช้คำที่มีวรรณยุกต์ตรงกับโน้ตเพลงมากขึ้น บทเพลงที่ท่านแต่งจึงมีความไพเราะ สละสลวย มีการผสมผสานการร้องแบบดนตรีไทยเดิมกับดนตรีสากล

 

หม่อมหลวงพวงร้อย ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ จุลจอมเกล้าวิเศษ จึงใช้คำนำหน้าว่า “ท่านผู้หญิง” ถึงแก่กรรมเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๓

 

ผลงานเพลง (ส่วนหนึ่ง) :- บัวขาว พ.ศ. ๒๔๘๐ ภาพยนตร์เรื่อง “ถ่านไฟเก่า”; ในฝัน พ.ศ. ๒๔๘๐ ภาพยนตร์เรื่อง  “ถ่านไฟเก่า”; เพลิน พ.ศ. ๒๔๘๑ ภาพยนตร์เรื่อง “แม่สื่อสาว”; ลมหวน พ.ศ. ๒๔๘๑ ภาพยนตร์เรื่อง “แม่สื่อสาว”; วันเพ็ญ พ.ศ. ๒๔๘๑ ภาพยนตร์เรื่อง “วันเพ็ญ”; ดอกไม้ พ.ศ. ๒๔๘๑ ภาพยนตร์เรื่อง “วันเพ็ญ”; เงาไม้ พ.ศ. ๒๔๘๒ ภาพยนตร์เรื่อง “ลูกทุ่ง” และ “เรือนแพ”; สายัณห์ พ.ศ. ๒๔๘๒ ภาพยนตร์เรื่อง“ลูกทุ่ง”; เปลี่ยวใจ พ.ศ. ๒๔๘๒ ภาพยนตร์เรื่อง “ปิดทองหลังพระ”; แรกรัก พ.ศ. ๒๔๘๒ ภาพยนตร์เรื่อง “ปิดทองหลังพระ”; จันทร์เอ๋ย พ.ศ. ๒๔๘๒ ภาพยนตร์เรื่อง“ปิดทองหลังพระ”; ตาแสนกลม พ.ศ. ๒๔๘๒ ละครเรื่อง “จุดไต้ตำตอ”; เกี้ยวสาว พ.ศ. ๒๔๘๒ ละครเรื่อง“จุดไต้ตำตอ”; ชายในฝัน พ.ศ. ๒๔๘๒ ละครเรื่อง“จุดไต้ตำตอ”; แสนห่วง พ.ศ. ๒๔๘๒ ละครเรื่อง“จุดไต้ตำตอ”; โอ้ความรัก พ.ศ. ๒๔๘๒ ละครเรื่อง “จุดไต้ตำตอ”; หัวใจเดียว พ.ศ. ๒๔๘๒ ละครเรื่อง “จุดไต้ตำตอ”; รักเธอแต่แรกยล; มะลิเจ้าเอ๋ย พ.ศ. ๒๔๙๐; ดุจบิดามารดร พ.ศ. ๒๕๑๖; แด่ ต.ช.ด. พ.ศ. ๒๕๑๖; ชายชาญทหารไทย พ.ศ. ๒๕๑๖; ตำรวจตระเวนชายแดน; ทหารพระนเรศวร พ.ศ. ๒๕๑๖; รินเข้าริน; ฝากรักเอาไว้ในเพลง; สายทิพย์; สวนหลวง ร.๙; ฯลฯ

 

ทั้งนี้ท่านผู้หญิง พวงร้อย (สนิทวงศ์) อภัยวงศ์ (2457-2543) ได้รับยกย่องเป็น “ศิลปินแห่งชาติ” สาขาศิลปการแสดง (เพลงไทยสากล) ประจำปีพุทธศักราช 2529 ในฐานะนักดนตรีเอกและนักประพันธ์เพลงหญิงค­นแรกของไทย ซึ่งเมื่อพูดถึงเพลงของท่านผู้หญิงพวงร้อยฯ ก็อดที่จะพูดถึงเรื่องของแผ่นเสียงชุด “พวงร้อย ๑๐๐ ปี” ไม่ได้เป็นอันขาด เพราะเป็นที่ฮือฮาสนใจกันมากในแวดวงคนรักแผ่นเสียง ตั้งแต่ครั้งที่มีข่าวคราวว่า จะนำมาจัดทำใหม่ในแบบรี-มาสเตอร์ โดยฝีมือของ Mastering Engineer ระดับโลก ‘Mr. Bernie Grundman’ และทำการผลิตที่โรงงาน RTI (Record Technology, Inc., USA) จาก Analogue Master Tapes ต้นฉบับ (ดั้งเดิมจากทั้งชุด พวงร้อย และพวงร้อย ๒ เมื่อพ.ศ. 2518) และผลิตขึ้นด้วยจำนวนจำกัด เพียงแค่ 1,500 ชุดเท่านั้น (เป็นแผ่น Vinyl สีดำแบบ Long Play อัลบั้ม 2 แผ่น/ชุด น้ำหนัก 180 กรัม ความเร็วรอบหมุน 33 1/3 รอบต่อนาที) โดยทางบริษัท Brilliance Music จำกัดได้รับมอบสิทธิ์เป็นผู้จัดจำหน่ายแผ่นเสียงประวัติศาสตร์ชุดนี้

What Hi-Fi ? ได้มีโอกาสพูดคุยกับนักฟัง 2 ท่านที่ชื่นชอบเพลงไทย และมีความชื่นชมในแผ่นเสียงชุด “พวงร้อย ๑๐๐ ปี” เป็นอย่างมาก ซึ่งทั้ง 2 ท่านนั้นเป็นสมาชิกสำคัญของทางกลุ่ม Care & Share ที่เกิดขึ้นจากการรวมกลุ่มของผู้รักชอบในเสียงดนตรี ได้กรุณาสละเวลา “เล่า” เรื่องราวแผ่นเสียงชุด “พวงร้อย ๑๐๐ ปี” ในแง่มุมของท่านให้พวกเราได้รับรู้กัน ซึ่งในบางแง่มุมนั้นหลายท่านที่รักชอบเพลงไทย อาจไม่เคยได้รับรู้มาก่อน จึงต้องขอบพระคุณต่อทั้งคุณไพโรจน์ —– และคุณเสรี —- มา ณ ที่นี้เป็นอย่างสูงมาก ซึ่งนี่ถือเป็น ‘จุดกำเนิด’ ของคอลัมน์ “เล่าสู่กันฟัง” ที่จะได้นำเรื่องราวน่ารู้-น่าจดจำเกี่ยวกับแวดวงเพลงไทยอมตะในด้านต่างๆ จากการ ‘เล่าสู่’ ของท่านผู้รู้จริงในแวดวงมานำเสนอกันต่อๆ ไปครับ

คุณไพโรจน์ เฟื่องฤทธิ์

 

คุณเสรี กลั่นเทศ

 

คุณไพโรจน์ได้กรุณาเริ่มเล่าว่า โดยส่วนตัวชอบฟังเพลงไทยทุกประเภท แต่ถ้าเป็นประเภทเพลงเก่า-เพลงอมตะจะรักและโปรดปรานผลงานเพลง “พวงร้อย” เป็นพิเศษ ซึ่งทางกลุ่ม Care & Share นี่มีสมาชิกอยู่ราวๆ 20 กว่าคนก็ล้วนรักชอบและชื่นชมผลงานเพลงของท่านผู้หญิงพวงร้อยฯกันทุกคน กลุ่ม Care & Share ของเราซึ่งกระจายกันอยู่ในกทม.และต่างจังหวัดจะเน้นใช้การแลกเปลี่ยนกันเป็นหลัก ใครมีอะไร ใครยังหาอะไรไม่ได้ก็จะให้ความช่วยเหลือกัน โดยไม่ใช้วิธีซื้อ-ขายระหว่างกัน กลุ่ม Care & Share ของเรามีทั้งนักเล่นชุดเครื่องเสียงระดับเงินล้าน ลงมาจนถึงนักฟังด้วยชุดเครื่องเสียงระดับเงินหมื่น

สำหรับที่ว่าชื่นชอบและชื่นชมผลงานเพลง “พวงร้อย” เป็นพิเศษนั้น ก็ด้วยเหตุว่า ถ้าคิดกันเล่นๆ เพลงอะไรของไทยที่เป็นที่รู้จักกันในระดับชาติ ยกเว้นเพลงชาติ และเพลงลอยกระทง ก็คงจะหนีไม่พ้นเพลงบัวขาว ใช่ไหมล่ะครับ และมิได้เป็นที่รู้จักแต่เฉพาะในกลุ่มอาเชียนเท่านั้น ฝรั่งมังค่าส่วนใหญ่ก็รู้จักเพลงนี้กัน ดังนั้นผมจึงถือว่า ท่านผู้หญิงพวงร้อยฯเป็นศิลปินระดับนานาชาติด้วย ท่านจึงศิลปินสุดพิเศษสำหรับผม – คุณไพโรจน์กล่าว

จากนั้นคุณเสรีได้กรุณาเล่าจากความทรงจำอันประทับอยู่ในใจว่า ท่านผู้หญิง พวงร้อย (สนิทวงศ์) อภัยวงศ์เป็นนักแต่งเพลงในสมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งเป็นยุคสมัยที่เพลงสากลได้เริ่มเข้าซึมซับเข้ามามีอิทธิพลต่อเพลงไทย ที่คงต้องย้อนเท้าความไปถึงว่า หลวงสุขุม นัยประดิษฐ์* ท่านได้ไปศึกษาวิชาการดนตรีแนวแจ๊สจากประเทศอังกฤษ เมื่อจบมาท่านก็ได้นำเอาแนวดนตรีแจ๊สนี้เข้ามาเผยแพร่สู่ประเทศไทยเป็นคนแรก โดยได้ใส่เนื้อร้องที่เป็นภาษาไทยเข้าไปในท่วงทำนองแจ๊สนั้น และนำออกแสดง (เล่นดนตรี) ที่โรงแรมแถวๆ ถนนสุรวงศ์ กับอีกที่หนึ่งซึ่งเป็นวังพญาไท (ติดกับรพ.พระมงกุฎ) แต่ปัจจุบันกลายเป็นร้านกาแฟนรสิงห์

ส่วนท่านผู้หญิงพวงร้อยฯ ซึ่งร่วมสมัยเดียวกับหลวงสุขุม นัยประดิษฐ์ ทีนี้ท่านผู้หญิงพวงร้อยฯก็จบวิชาดนตรีจากทางอังกฤษเช่นกัน และประจำอยู่ในสำนักของท่านพระองค์ชายใหญ่ (พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล) เมื่อท่านพระองค์ชายใหญ่ได้ก่อตั้งบริษัทภาพยนตร์ขึ้นมาชื่อว่า “ไทยฟิล์ม” ท่านผู้หญิงพวงร้อยฯจึงนับเป็นเรี่ยวแรงสำคัญในการแต่งเพลงประกอบภาพยนตร์มอบให้แก่ท่านพระองค์ชายใหญ่

ท่านพระองค์ชายใหญ่ได้สร้างภาพยนตร์เรื่อง “ถ่านไฟเก่า” และทรงนิพนธ์เพลงประกอบคือ เพลง ‘บัวขาว’ และ เพลง ‘ในฝัน’ ขึ้น จึงมอบหมายให้ท่านผู้หญิงพวงร้อยฯ (หม่อมหลวงพวงร้อยฯ ในตอนนั้นประมาณปีพ.ศ. 2480) เป็นผู้ประพันธ์ทำนอง และให้นส.แนบ เนตรานนท์** เป็นผู้ร้องเพลงบัวขาว ส่วนเพลงในฝัน นั้นมอบให้นายเอื้อ สุนทรสนานเป็นผู้ร้อง ดังนั้นจึงถือได้ว่า “นส.แนบ เนตรานนท์” เป็นผู้ร้องเพลง ‘บัวขาว’ เป็นคนแรก

 

คุณเสรี-คุณไพโรจน์-และภรรยา

 

คุณไพโรจน์ได้กรุณาเล่าเสริมว่า คุณแนบ เนตรานนท์ เธอเป็นนักร้องสาวเสียงดีมากในยุคนั้น เป็นนักร้องในวังของพระสนมเอกในรัชกาลที่ 6 และถือว่า เป็นผู้ร้องอัดแผ่นเสียงเพลง ‘บัวขาว’ เป็นคนแรกด้วย ต่อมาก็มีผู้นำเพลง “บัวขาว” นี้ไปร้องอีกมากมายหลายท่าน แม้แต่นักร้องฮ่องกงอย่าง ฟรานซิส ยิป ก็ยังนำไปร้องเผยแพร่ออกไปทั่วโลก รวมถึงคุณพูนศรี เจริญพงศ์*** ซึ่งก็ร้องได้ดีมาก และที่นับว่า ร้องได้ดีและถือว่าได้ทำให้เพลงนี้โด่งดังเป็นที่สุดน่าจะเป็นคุณนภา หวังในธรรม (นักร้องหญิงดาวเด่นประจำวงดนตรีกรมศิลปากรยุคก่อน โด่งดังมากกับการร้องเพลง บัวขาว และ เงาไม้) แต่ทว่าเสียงร้องเพลงในต้นฉบับแผ่นเสียงชุด “พวงร้อย ๑๐๐ ปี” นั้นเป็นเสียงของคุณวิสุตา สาณะเสน (ภรรยาของคุณอวบ สาณะเสน)

จากนั้นคุณเสรีได้กรุณาเล่าต่อว่า ท่านผู้หญิงพวงร้อยฯ ท่านมีความสามารถมาก ได้แต่งทำนองเพลงไว้มากถึงเกือบสองร้อยเพลง ซึ่งต่อมาก็ได้ทยอยนำออกมาใส่เนื้อร้องในภายหลัง เนื่องเพราะท่านรับหน้าที่ในการแต่งเพลงประกอบภาพยนตร์และละครให้แก่ท่านพระองค์ชายใหญ่นั่นเอง

ในช่วงปีพ.ศ.2480-2483 นับเป็น “ยุคทอง” ของท่านผู้หญิงพวงร้อยฯ โดยในยุคสมัยนั้นยังมิได้มีนิยามของความเป็น ดนตรีลูกทุ่ง หรือ ดนตรีลูกกรุง เรียกรวมๆ กันว่า “เพลงไทยสากล” เนื่องเพราะท่วงทำนอง หรือ เมโลดี้นั้นจะออกไปทางสำเนียงฝรั่ง แต่เนื้อร้องจะเป็นไทย

ส่วนสาเหตุการเกิดอัลบั้ม “พวงร้อย”**** นั้นคุณเสรีได้เล่าว่า น่าจะประมาณช่วงปี 17-18 มีวงดนตรีเล็กๆ ที่เล่นกันเองในกลุ่ม มิได้รับเล่นเป็นอาชีพ โดยมีท่านผู้หญิงพวงร้อยฯ, อ.ประพันธ์ สนิทวงศ์ และ อ.อวบ สาณะเสน เป็นผู้ก่อตั้งกันขึ้นมา โดยเล่นกันในแบบวง แชมเบอร์ มิวสิค (ดนตรี 4-5 ชิ้น) ซึ่งวันหนึ่งหลังกลับจากการแสดง ก็ได้มานั่งพูดคุยปรึกษากัน ถึงเรื่องว่า หลังเพลงสุดท้ายจบลง ผู้คนที่ฟังมักจะ “อังกอร์” (encore) ขอให้มี “เพลงแถม” เล่นให้ฟังเพิ่มเติมอีก ซึ่งได้เห็นตรงกันว่า เพลงของท่านผู้หญิงพวงร้อยฯ นี่แหละที่เหมาะกับการนำมาใช้เล่นเป็นเพลงแถม จึงรวมกันคัดสรรมาได้ 20 กว่าเพลง

แล้วได้ทดลองนำไปเล่นกัน ปรากฏว่าได้รับความนิยมมาก ผู้คนชื่นชอบกันมาก ปรบมือกันเกรียวกราว ต่อมาจึงได้เกิดความคิดว่า น่าจะได้รวบรวมบทเพลงดังกล่าวของท่านผู้หญิงพวงร้อยฯมาจัดทำเป็นแผ่นเสียง (LP) กัน …นี่แหละคือ ที่มาของแผ่นเสียงชุด “พวงร้อย” โดยที่ตอนแรกก็จัดทำเป็น “พวงร้อย” – ชุดแรกก่อน ต่อมาจึงทำการจัดทำเป็น “พวงร้อย” – ชุดที่สอง ตามติดออกมา เพราะว่าเป็นที่นิยมกันมาก ทว่าปริมาณการจัดทำนั้นก็มิได้มากมายอะไรนัก มุ่งเฉพาะจำหน่ายแต่ในแวดวงคนรู้จักกันเท่านั้น มิได้หวังเผยแพร่ออกสู่สาธารณะโดยตรง ต่อมาผู้คนเริ่มรู้จักกับความไพเราะของบทเพลง และการบันทึกเสียงที่เรียบๆ ง่ายๆ ได้ทำให้กลายเป็น ”จุดเด่น” อันเป็นธรรมชาติของแผ่นเสียงชุดนี้ จนเป็นที่ต้องการหาซื้อกันในท้องตลาด

การบันทึกเสียงกระทำกันที่บ้านริมคลองแสนแสบของท่านอ.ประพันธ์ สนิทวงศ์ (ซึ่งเป็นน้องชายต่างมารดาของท่านผู้หญิงพวงร้อยฯ) เล่นกันสดๆ ร้องกันสดๆ ตั้งไมค์กันเอง และบันทึกเสียงกันเอง ในแบบ 2 แชนแนลตรงลงสู่มาสเตอร์เทป 2 แชนแนล โดยไม่มีการปรุงแต่งเสียงใดๆ เล่นกันในแบบฟังง่ายๆ สบายๆ (แชมเบอร์ มิวสิค) …มีเกร็ดที่เล่าสู่กันฟังเอาไว้ว่า การเล่นเพื่อบันทึกเสียงครั้งนี้ กระทำกันตอนหลังสองทุ่มไปแล้ว เพื่อรอให้เรือในคลองแสนแสบนั้นหยุดวิ่งเสียก่อน เสียงจะได้เงียบ สะดวกต่อการบันทึกเสียง เพราะบ้านนั้นอยู่ริมน้ำและบันทึกกันง่ายๆ ในบ้าน มิใช่ในสตูดิโอบันทึกเสียง โดยท่านผู้หญิงพวงร้อยฯจะมาช่วยแนะนำแนวการร้องให้ฟังแล้วไม่รู้สึกเคร่งครัดจนเกินไป

 

บรรยากาศขณะกำลัง “เสวนา” เล่าสู่กันฟัง ภายในร้านแผ่นเสียง ย่านถนนประดิพัทธ์

 

จากนั้นได้จัดส่งมาสเตอร์เทปนั้นไปทำการตัดแผ่นกันที่บริษัท EMI ในประเทศสิงคโปร์ เพราะว่าในช่วงบ้านเทคโนโลยีการทำแผ่นเสียงบ้านเรายังไม่ก้าวหน้า แต่เนื่องจากว่า เนื้อแผ่นเสียงที่ทางสิงคโปร์ใช้อยู่นั้น ยังเป็นเกรดธรรมดาสู้คุณภาพแผ่นของทางอเมริกาหรือยุโรปไม่ได้ คุณภาพเสียงของแผ่นเสียง “พวงร้อย” – ต้นฉบับจึงไม่โดดเด่นมากนัก ทว่าด้วยความที่บันทึกเสียงกันแบบสดๆ ตรงลงสู่มาสเตอร์เทป 2 แชนแนลโดยปราศจากการปรุงแต่งใดๆ ทั้งสิ้น ทำให้ได้เสียงที่เป็นธรรมชาติน่าฟัง จนเป็นที่นิยมกันอย่างมาก จำหน่ายหมดในเวลาอันรวดเร็ว ทั้งๆ ที่ราคาจำหน่ายของแผ่นเสียงชุดนี้ในเวลานั้น นับว่าแพงมากๆ ถึง 500 บาท เมื่อเทียบกับค่าครองชีพและราคาทองคำในยุคสมัยนั้น (ประมาณปีพ.ศ.2518-19) และราคาจำหน่ายของแผ่นเสียงฝรั่งที่สั่งกันเข้ามาขายในเวลานั้นก็ไม่เกิน 120 บาทเท่านั้น

ภาพปกและแผ่นชีดีชุด “พวงร้อย” ที่มูลนิธิ BSO และบรรดาลูกศิษย์ ช่วยกันจัดทำ

ภาพปกและแผ่นชีดีชุด “พวงร้อย” ที่มูลนิธิ BSO และบรรดาลูกศิษย์ ช่วยกันจัดทำ

 

ต่อมาในช่วงปีพ.ศ.2540 ทางลูกศิษย์ลูกหา รวมทั้งใครต่อใครที่รักชอบ และเล็งเห็นถึงคุณค่าในผลงานเพลงแผ่นเสียง “พวงร้อย” แต่ว่ามิได้มีแผ่นเสียงสะสม-เก็บรักษากันไว้ ได้ร่วมกันจัดทำกันขึ้นใหม่ โดยทางคุณเกล้า สาณะเสน (บุตรชายท่านอ.อวบ สาณะเสน) ผู้ถือลิขสิทธิ์แผ่นเสียง “พวงร้อย” ได้มอบสิทธิ์ให้ทางมูลนิธิ บางกอก ซิมโฟนี ออร์เคสตร้า หรือ BSO เป็นผู้จัดทำการผลิตในรูปแบบของแผ่น CD เนื่องเพราะในเวลานั้น นิยมการเล่นแผ่นซีดีกัน ส่วนแผ่นเสียงนั้นแทบจะหมดความนิยม “ตกยุคสมัย” ไปเลยทีเดียว

โดยได้คัดเลือกบทเพลงจากแผ่นเสียงทั้ง 2 อัลบั้ม (22 เพลง) มาได้ที่สมบูรณ์จริงๆ รวมแล้ว 18 เพลง ราคาจำหน่ายบนปกแผ่นซีดีระบุไว้ 390 บาท (ขณะที่แผ่นซีดีของไทยโดยทั่วไป ไม่เกิน 190 บาท) ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า แผ่นเสียง “พวงร้อย” นั้นมีความเป็นอมตะ และทรงคุณค่ายิ่งนัก ผันผ่านการจัดทำมาถึง 3 ยุคสมัย – ยุคแรกเลยที่เป็น “ต้นฉบับ” ในรูปแบบแผ่นเสียง 2 ชุดเมื่อปีพ.ศ.2518 ต่อมาก็ในปีพ.ศ.2540 ที่ทางมูลนิธิ BSO เป็นผู้ได้รับมอบลิขสิทธิ์การจัดทำ ในรูปแบบแผ่นซีดี แล้วก็มาเมื่อต้นปีพ.ศ.2547 ที่ทางบริษัท Brilliance Music จำกัด ได้รับมอบลิขสิทธิ์การจัดทำ (รวมทั้งการจัดจำหน่าย)ในรูปแบบแผ่นเสียงคุณภาพสูง เนื้อแผ่น 180 กรัม ซึ่งตรงกับวาระการเฉลิมฉลอง ๑๐๐ ปีชาตกาลท่านผู้หญิงพวงร้อยฯ และก็จะฉลองอัลบั้ม “พวงร้อย” และ “พวงร้อย ๒” จะมีอายุครบ 40 ปีด้วยครับในปีนี้ (ใช้ชื่ออัลบั้มว่า แผ่นเสียงชุด “พวงร้อย ๑๐๐ ปี”)

ทางคุณเกล้า สาณะเสนได้กล่าวยอมรับในคุณภาพเสียงของแผ่นเสียงชุด “พวงร้อย ๑๐๐ ปี” ว่า “โดยส่วนตัว ผมคิดว่าเสียง CD จาก Master Tape เดียวกันที่ทำไว้ 15-16 ปีก่อนในไทย สู้แผ่นเสียงชุดที่จะออกมาใหม่ ไม่ได้เลยจริง ๆ ครับ และหากเทียบกับแผ่นเสียง Original ที่ใช้เทปซึ่งสดใหม่กว่าเกือบ 40 ปีนั้น ผมว่า Balance ของเสียงดนตรีโดยรวม Bernie ทำได้ดีกว่า แต่เสียงของนักร้อง อาจจะไม่ชัด/สดเท่าของเก่าครับ”

 

ซ้าย – คุณเสรี – ภรรยาคุณไพโรจน์ – คุณไพโรจน์ – คุณคณิต และผม

 

หมายเหตุ :

* หลวงสุขุมนัยประดิษฐ หรือประดิษฐ์ สุขุม เป็นประธานชมรมดนตรีแห่งประเทศไทย ซึ่งต่อมาได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นสมาคม เป็นผู้ก่อตั้งวงดนตรีกรมโฆษณาการ และเป็นผู้ร่วมก่อตั้งวงสุนทราภรณ์ นอกจากนี้ยังมีผลงานประพันธ์ทำนองเพลงร่วมกับครูแก้ว อัจฉริยะกุล ซึ่งเป็นผู้ประพันธ์คำร้อง นำมาบรรเลงโดยวงสุนทราภรณ์ จำนวน 7 เพลง ได้แก่ คนึงครวญ, สิ้นรักสิ้นสุข, ไม่อยากจากเธอ, เกาะสวาท, เมื่อไหร่จะให้พบ, รักไม่ลืม และชายไร้เชิง

 

** คุณหมอพูนพิศ อมาตยกุล ได้เขียนบทความไว้ว่า “นางสาวแนบ เนตรานนท์ ซึ่งอดีตเป็นนักร้องไทยคนสำคัญของวงเครื่องสายผสมเปียโน วงของพระสุจริตสุดา พระสนมเอกในรัชกาลที่ ๖ นางสาวแนบได้ชื่อว่าเป็นผู้มีเสียงเพราะแห่งราชสำนักรัชกาลที่ ๖  ส่วนเพลงในฝันนั้นได้มอบหมายให้นายเอื้อ สุนทรสนาน (ต่อมาใช้ชื่อว่า สุนทราภรณ์) ซึ่งเป็นนักดนตรีเป่าแซกโซโฟนประจำวง ทำหน้าที่ขับร้องบันทึกลงจานเสียง ใช้ตราของบริษัทภาพยนตร์ไทย ส่วนเพลงในฝันนั้นได้มอบหมายให้นายเอื้อ สุนทรสนาน (ต่อมาใช้ชื่อว่า สุนทราภรณ์) ซึ่งเป็นนักดนตรีเป่าแซกโซโฟนประจำวง ทำหน้าที่ขับร้องบันทึกลงจานเสียง ใช้ตราของบริษัทภาพยนตร์ไทย นายเอื้อ สุนทรสาน ได้ออกจากวงไทยฟิล์ม ไปเป็นหัวหน้าวงหัสดนตรีกรมโฆษณาการ ซึ่งต่อมากลายรูปเป็นวงดนตรีสากลวงใหญ่ของกรมประชาสัมพันธ์ และเป็นวงดนตรีสทราภรณ์ในที่สุด”

 

*** คุณพูลศรี เจริญพงษ์ (11 กันยายน พ.ศ. 2477 ) นักร้องเพลงลูกกรุง นักเขียน นักแสดงละครโทรทัศน์ และ ละครวิทยุ อดีตนักร้องประจำ วงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ และวงดนตรีสุนทราภรณ์ ซึ่งมีผลงานอมตะหลายเพลง ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน จากเพลงประกอบภาพยนตร์ ชั่วฟ้าดินสลาย พ.ศ. 2498

 

**** อัลบั้มชื่อ “พวงร้อย” โดย คณะดนตรีอาจารย์ปิยะพันธ์และเพื่อน รู้จักกันในนาม “นวลนาง” บันทึกเสียงอัลบั้มชุดนี้เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๘ เป็นการบันทึกแบบเรียบง่ายที่สุด โดยใช้เครื่องเทปที่มีใช้กันตามบ้านทั่วไป ใช้เครื่องดนตรีน้อยชิ้น และเสียงร้องไม่ใช้เทคนิคปรุงแต่งให้ไพเรา­ะเกินจริง อัลบั้มชุดนี้นำเทปมารีมาสเตอร์ในปีพ.ศ. ๒๕๔๐ ออกจำหน่ายเนื่องในโอกาสที่ท่านผู้หญิงพวง­ร้อยมีอายุครบ ๘๔ ปี โดยคณะดนตรีอาจารย์ปิยะพันธ์ (อาจารย์เปีย) และเพื่อน ประกอบด้วย นักร้อง – วิสุตา สาณะเสน , พงษ์ศักดิ์ อารยางกรู , สุพล วิทยาเวช , ศิริสวัสดื์ พันธุมสุต นักดนตรี – ปิยะพันธ์ สนิทวงศ์ (เปียโน) , อวบ สาณะเสน (ไวโอลิน) , ไพโรจน์ ดุริยางค์เศรษฐ (เชลโล่) , ชัชวาล ทาสุคนธ์ (เชลโล่ และควบคุมบันทึกเสียงด้วย) , วิชัย โพธิทองคำ (กีตาร์) , ณัฐ รัชกุล (กีตาร์) , ฉัตรวิชัย พรหมทัตเวที (ฟลุ๊ต)

Exit mobile version