ขุดราก Rock & Roll (1) เจาะลึกสู่รากเหง้าของดนตรีที่คนคลั่งไคล้มากกว่าครึ่งโลก

0

จ้อ ชีวาส

ก้าวข้ามสหัศวรรษใหม่มานี้คำว่า Rock & Roll ก็ถูกใช้กันมาในวงการดนตรียุคใหม่มาเกินกว่า 50 ปีแล้ว Rock & Roll ไม่ใช่รูปแบบเฉพาะของดนตรี  แต่ Rock & Roll เป็นศัพท์เฉพาะในการเรียกแทนดนตรีหลายประเภทที่อยู่ในกลุ่มของดนตรีที่แตกสายกันมาจากรากเดียวกัน และมีลักษณะเฉพาะของดนตรีตะวันตกที่ถือกำเนิดจนกระทั่งพัฒนามาสู่ดนตรีที่หลากรูปแบบในทุกวันนี้ที่เราเรียกกันรวมๆว่า “Rock & Roll” 

ในคอลัมน์นี้ประสงค์ให้นักฟังเพลงทั้งรุ่นเก่ารุ่นใหม่จะสามารถเข้าใจประเภทของดนตรีให้แจ่มแจ้งขึ้นว่า ดนตรีไม่ใช่เพียงมีแต่เสียงให้ฟังเพราะเท่านั้น  แต่มันมีประวัติศาสตร์อีกมากมายที่น่าศึกษาทิ้งอยู่เบื้องหลัง  เพื่อให้การเสพดนตรีนั้นมีอรรถรสมากยิ่งขึ้น จะขอเล่าเรื่องราวต่อไปนี้ให้ผู้อ่านได้รับรู้รับทราบด้วยจิตกุศล  โดยจะเริ่มนำเสนอตอนนี้เป็นตอนแรก และคงจะต้องร่ายยาวต่อไปเพื่อจะอธิบายถึงที่มาที่ไปของดนตรีตะวันตกที่รียกว่า “Rock & Roll” ได้ชัดเจนขึ้นว่ากว่าที่จะมาสู่จุดนี้ได้นั้นมันผ่านร้อนผ่านหนาวอะไรมาเท่าใด

คำว่า “Rock & Roll”  นั้นเกิดขึ้นเมื่อใดไม่แจ้งชัด  แต่มีผู้คนมากมายเข้าใจกันว่ามันมาจากการเรียกขานของนักจัดรายการชาวอเมริกันในช่วงระหว่างกลางทศวรรษที่ 50 คนหนึ่งชื่อ Alan Freed  โดยเขาได้ใช้ศัพท์คำนี้ตอกย้ำจนขึ้นใจให้กับนักฟังเพลงทั่วไปจนติดหูติดปากกันทั่วทั้งอเมริกาอย่างรวดเร็ว  จนใครๆเรียกเพลงฮิตต่างๆที่เกิดขึ้นในระหว่างนั้นกันว่า Rock & Roll  และสืบทอดกันต่อๆมาจนทุกวันนี้

คำว่า Rock & Roll นั้นคนส่วนใหญ่ยังเข้าใจว่าน่าจะมาจากการใช้ศัพท์จากเพลง “Rolling Stone” ของ Muddy Waters นักดนตรี Blues ตำนานผู้หนึ่งที่ได้รับการยกย่องมากที่สุด  แต่บ้างก็ว่ามาจากการคิดของนาย อแลน ฟรีด เองที่ได้ความคิดมาจากเพลงที่ลักษณะแข็งกระด้างเหมือนหินซึ่งได้รับความนิยมกันอย่างสูงในช่วงกลางศตวรรษที่ 20  กอปรกับลีลาที่เต้นเล่าของนักร้องนักดนตรีที่สนุกสนานไปกับรูปแบบของดนตรีในจังหวะที่เร็วเหมือนการกลิ้งของหิน  จะอย่างไรก็ดี คำว่า Rock & Roll นี้  เป็นศัพท์ที่ลงตัวที่สุดแล้วสำหรับการใช้เรียกกับเพลงตะวันตกยุคใหม่ตั้งแต่วันที่คำๆนี้ถือกำเนิดขึ้น จนกระทั่งล่วงเข้าสู่ทุกวันนี้

กว่า Rock & Roll จะมาถึงวันนี้ มันเริ่มต้นจากจุดใด และพัฒนาการมาจากไหน เป็นเช่นไร เราจะมาตามดูกัน

Blues รากเหง้าของ Rock & Roll

ในช่วงทศวรรษที่ 20 ถึง 30 เป็นช่วงปีที่รากของ Rock & Roll เริ่มชอนไชลงสู่ผืนดินอเมริกา  ศิลปินดนตรีส่วนใหญ่มักปรากฏตัวในรูปของนักร้องหรือนักดนตรีเดี่ยวทั้งผิวดำและผิวขาว คนผิวขาวเล่นเพลง Folk และ Country เพลงแบบพื้นเมืองที่คนขาวเล่นกันมานานตั้งแต่คนอเมริกันผิวขาวเริ่มรู้จักสร้างวัฒนธรรมที่เป็นของตัวเองแท้ๆตั้งแต่ประกาศอิสรภาพ  แต่กลับมีเพลงอีกรูปแบบหนึ่งที่ร้องเล่นกันแต่เพียงในกลุ่มของคนอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งถูกดูถูกเหยียดหยามว่าเป็นคนชั้นต่ำนั่นคือกลุ่มคนผิวดำหรือ “นิโกร” นั่นคือเพลงที่รู้จักกันว่า “Blues” 

คนนิโกรคนกลุ่มนี้ก็คือกลุ่มคนที่ถูกลักพาตัวข้ามน้ำข้ามทะเลจากแผ่นดินเกิดในอาฟริกามาสู่แผ่นดินใหม่ที่พวกเขาไม่เคยรู้จักมาก่อน  พวกเขาถูกนำมาขายเป็น “ทาส” เพื่อนำมาทำงานหนักให้กับคนผิวขาว  คนเหล่านี้ส่วนใหญ่จะถูกซื้อให้ไปทำงานในไร่ฝ้ายทางตอนใต้ของสหรัฐอเมริกา ทำงานหนักอย่างที่ไม่มีคนผิวขาวคนใดต้องการทำ  พวกเขาจึงถูกกระทำเสมือนวัวควายในไร่  คนขาวน้อยรายที่ปราณีต่อทาสของเขา ส่วนใหญ่จะกดขี่แรงงานเนื่องจากคิดว่าพวกเขาถูกขายมา และเหล่าเจ้าของก็ซื้อพวกเขามาด้วยเงินจำนวนมากกว่าซื้อม้าหรือซื้อลา 

คนเหล่านี้เมื่อทำงานสืบลูกสืบหลานเข้านานวัน พวกเขาก็สามารถก่อเกิดสังคมที่เป็นแบบเฉพาะของพวกเขาเองโดยใช้รูปแบบจากถิ่นเกิดของพวกเขาในอาฟริกาเข้ามา แต่ได้ถูกประยุกต์กับสภาพแวดล้อมและพื้นที่ในดินแดนที่พวกเขาอาศัยในขณะนั้น 

วัฒนธรรมของพวกเขาที่ถูกเรียกว่า “อเมริกันนิโกร” จึงกลายเป็นวัฒนธรรมผสมผสานที่เป็นแบบเฉพาะซึ่งไม่ปรากฏในที่ใดมาก่อน  แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นเหมือนวัฒนธรรมสากลที่คนทั้งโลกยึดถือร่วมกันไม่ว่าชาติพันธุ์ใดก็คือ “ดนตรี”  คนอเมริกันนิโกรเหล่านี้สร้างรูปแบบดนตรีของตัวเองขึ้นโดยอาศัยอิทธิพลจากรูปแบบดนตรีของพวกเขาเองจากแผ่นดินแม่ในอาฟริกามาประยุกต์กับวิธีการร้องการเล่นแบบโฟล์คของชาวอเมริกันผิวขาว มันจึงเป็นดนตรีที่แปลกแปร่งอย่างที่คนขาวรู้สึกประหลาดใจทุกครั้งที่ได้ยิน 

แรกทีเดียวนั้นพวกทาสนิโกรในรุ่นแรกๆก็ยังคงนำดนตรีพื้นถิ่นของพวกเขามาร้องเล่นเต้นรำกัน  แต่ต่อมาก็ค่อยๆซึมซาบวัฒนธรรมของชาวผิวขาวมากขึ้นจึงนำดนตรีของพวกเขามาผสมผสานกับดนตรีแบบคนผิวขาว โดยใช้เครื่องดนตรีที่หาง่ายที่สุดในยุคนั้นคือกีตาร์ 

กีตาร์เป็นเครื่องดนตรีชนิดเดียวที่เรียนรู้ได้ง่ายและได้รับความนิยมกันอย่างแพร่หลาย การซื้อหากีตาร์สักตัวหนึ่งขณะนั้นซื้อหากันด้วยเงินเพียงไม่กี่ดอลลาร์ เครื่องดนตรีอีกประเภทที่นิยมใช้กันอย่างมากในขณะนั้นก็คือ “ฮาร์ป (Harp)” หรือเมาต์ออร์แกน  แต่เพลงประเภทที่นิโกรหรือคนดำเล่นนั้นมักจะมีสำเนียงเศร้าและระทมทุกข์อยู่ในน้ำเสียงของคนร้องคนเล่น สิ่งนี้ก็เนื่องมาจากพื้นฐานทางฐานะและความเป็นอยู่ของคนดำที่พวกเขาเป็นกลุ่มคนที่มี “ปมด้อย” ทางสังคม  การเล่นการร้องเพลงของพวกเขาจึงออกมาเป็นสำเนียงเช่นนั้น “บลูส์” ก็คือความเศร้าสร้อย  ใครๆจึงเรียกเพลงของพวกเขากันว่า “บลูส์”   และเมื่อเพลงบลูส์ถูกนำมาร้องกันอย่างแพร่หลายทั่วไปในสังคมของคนดำ ในที่สุดเพลงบลูส์จึงดูจะได้รับความสนใจเป็นพิเศษและสืบสานกันต่อๆมาจากรุ่นสู่รุ่น  เด็กๆผิวดำก็จะโตขึ้นท่ามกลางกลิ่นไอดนตรีของบลูส์

เพลงบลูส์กลายเป็นดนตรีพื้นบ้านของคนดำที่ได้ยินได้ฟังกันอย่างแพร่หลาย หรือแม้แต่เด็กๆก็แทบจะร้องกันได้ทุกคน เพลงอย่าง Matchbox Blues, Sitting on the Top of the World, Milk Cow Blues นั้น เกิดจากการถ่ายทอดของนักร้องผิวดำในระยะนั้น และแพร่หลายจากกลุ่มเล็กๆไปสู่เมืองใหญ่จนมีการเล่นและร้องกันอย่างเป็นล่ำเป็นสันมากขึ้น ดนตรียุคนี้จะมีบทเพลงบรรยายถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นทั่วๆไปในความทรงจำ ชีวิต และความเป็นอยู่  เพลงต่างๆถูกเขียนขึ้นภายใต้ทัศนะของคนดำที่มีต่อความขัดแย้งและสับสนในสภาพความเป็นไปของยุคสมัยที่สังคมกำลังถูกถาโถมเปลี่ยนแปลงจากสังคมเกษตรกรรมสู่สังคมอุตสาหกรรมอย่างไม่อาจตั้งตัว

ซึ่งไม่เพียงคนดำเท่านั้นที่ถูกกระทบ คนขาวที่มีความเป็นอยู่อย่างแร้นแค้นก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน ซึ่งไม่แปลกหากเพลงบลูส์เหล่านั้นจะโดนใจคนผิวขาวให้มาสนใจที่จะฟังและลองเล่นเพลงบลูส์แบบนี้กันบ้างในยุคสมัยนั้น เมื่อสภาพสังคมปรับตัวอย่างรุนแรงเช่นนี้ แน่นอนที่คนดำคือกลุ่มที่จะต้องถูกกระทบกระเทือนอย่างสูงกว่า เนื่องจากเป็นบุคคลชั้นต่ำของสังคมอเมริกันยุคนั้นอยู่แล้วที่ไม่สามารถกำหนดวิถีและบทบาทให้กับชีวิตของตนเองได้

เพลงบลูส์ที่เล่นร้องกันทั่วไปในยุคนี้ยังไม่มีการบันทึกไว้เป็นผลงานโดยแน่นอนว่าคนผิวดำคนใดเป็นผู้เล่น ผู้ร้องและผู้แต่ง  เนื่องจากยังไม่มีศิลปินคนดำคนใดที่มีชื่อเสียงอย่างชัดเจนในช่วงยุคต้นๆที่เพลงบลูส์ถือกำเนิดขึ้น คงรู้กันเพียงแต่เป็นศิลปินผิวดำที่เริ่มฝังรากของดนดรีแนวนี้ให้เกิดขึ้น และยังคงไม่รู้แน่นอนว่ามีคนผิวขาวหรือศิลปินผิวขาวสักกี่คนที่ให้ความสนใจในบทเพลงลักษณะเช่นนี้ในยุคสมัยนั้น 

แต่ต่อมา Jimmie Rodgers นักร้องอเมริกันผิวขาวจากมิสซิสซิปปี ก็เริ่มเปิดศักราชดนตรีให้กับคนผิวขาวได้มีโอกาสสัมผัสดนตรีบลูส์อย่างกว้างขวางขึ้น จากที่เคยปิดตลาดเล่นกันเพียงแค่กลุ่มคนผิวดำเท่านั้น  การที่คนขาวมาเล่นเพลงบลูส์จึงสามารถทำให้ดนตรีบลูส์นั้นกลายเป็นที่แพร่หลายขึ้นอย่างรวดเร็ว  จิมมี ร็อดเจอร์ส ได้สร้างรูปแบบเฉพาะให้กับเพลงบลูส์ของเขา และเรียกมันว่า”บลูส์ ขาว หรือ White Blues” เพลงที่ทำให้เขาได้รับการรู้จักในวงการเพลงขณะนั้นและเป็นครั้งแรกที่คนผิวขาวยอมรับเพลงบลูส์ได้อย่างเต็มที่ก็คือ  America’s Blue Yodeller, The Father of Country Music 

บลูส์ในรูปแบบของ ร็อดเจอร์ส เป็นการผสมผสานระหว่างดนตรีบลูส์พื้นบ้านของคนผิวดำกับรูปแบบคันทรีย์ของคนผิวขาว โดยเสริมด้วยการเล่นกีตาร์ในแบบฉบับเฉพาะตัวที่แปลกใหม่ของเขาเอง ร็อดเจอร์ส นำเอารูปแบบต่างๆเหล่านี้ออกตระเวนแสดงฝีมือจนเป็นที่รู้จักและยอมรับกันอย่างกว้างขวาง  เขาเป็นศิลปินบลูส์ผิวขาวคนแรกที่นำตัวเองออกจากรูปแบบของบลูส์ของคนดำที่ในระหว่างนั้นรู้จักกันว่า “Southern Blues” อย่างเชื่อมั่น และยังเป็นศิลปินบลูส์คนแรกที่มีเกียรติประวัติของฮอลลีวูดประทับให้กับความเป็นดาราของเขาด้วยเมื่อเขานำเอาเพลงแบบคันทรีย์บลูส์ของเขาเข้ามาใช้ในภาพยนตร์ในช่วงระหว่างนั้นด้วย

เป็นเวลานานทีเดียวคนขาวนั้นเริมใส่ใจต่อบลูส์ แต่ความที่ยังคงเป็นสังคมที่แบ่งชั้นของพวกเขาทำให้คนผิวขาวรับเพลงบลูส์เข้ามาอย่างค่อนข้างประดักประเดิด และแม้กระทั่งศิลปินเพลงผิวขาวมากมายในขณะนั้นก็ยังต้องใช้รูปแบบบลูส์ของคนผิวดำมาทำเพลงกันบ้าง แต่ก็ยังคงไม่มั่นใจในตลาดจะยอมรับกันหรือไม่  การกำหนดรูปแบบของบลูส์ขาวขึ้นมาใหม่ในแบบของ ร็อดเจอร์ส  จึงเสมือนการเปิดประตูให้กับคนผิวขาวได้ก้าวเข้ามาสู่วิถีของบลูส์ไดอย่างสมบูรณ์ ในตลาดแผ่นเสียงขณะนั้น ดนตรีคันทรีย์บลูส์ประเภทนี้ก็สามารถเข้าสู่ตลาดความสนใจของวงการดนตรีในอเมริกาจนสามารถช่วงชิงความสนใจไปจากบลูส์แบบดั้งเดิมของคนดำในที่สุด 

การได้รับความนิยมอย่างมากเช่นนี้จึงทำให้กระแสของเพลงบลูส์นั้นเริ่มเดินออกจากพื้นถิ่นเดิมที่ฝังตัวกันแถบตอนใต้ ข้ามสู่ฝั่งตะวันตกของสหรัฐอเมริกาจากมิสซิสซิปปีสู่เท็กซัส โอคลาโฮมา อาร์คันซอร์ส กระทั่งถึงหลุยเซียนา  และเริ่มลงหลักปักฐานกันที่จุดนี้จนได้ถูกพัฒนาโดยศิลปินผิวขาวในรุ่นต่อมาปรับสภาพของเพลงไปสู่อีกรูปแบบหนึ่งกลายเป๋นดนตรีที่เรียกกันว่า “Western Swing”

Western Swing, West Coast การแตกรากแก้วจากบลูส์สู่ดนตรีลูกผสม

จะว่ากันไปแล้ว ดนตรี “Western Swing” เป็นปรากฎการณ์ครั้งแรกที่มีการปล้นรูปแบบดนตรีในหลายๆแบบของวงการดนตรีในสหรัฐอเมริกาในช่วงต้นๆศตวรรษที่ 20  มีทั้งการคัดลอกเอา Blues, Jazz, Swing, Hawaiian music, และดนตรีแบบกลุ่มคณะดนตรีแบบ Mexican Mariachi Combos และ Polka Bands  โดยนำทั้งหมดมาใส่ไว้ในดนตรีลักษณะนี้  ดูๆไปแล้วเวสเทิร์น สวิงน่าจะเป็นรูปแบบที่ขัดแย้งกันอย่างยับเยิน 

รูปแบบคณะที่เกิดขึ้นก็คล้ายๆกับคณะดนตรีประเภทสตริง แบนด์ในแบบคันทรีย์ดั้งเดิมซึ่งมี ซอ แบนโจ กีตาร์ เครื่องเป่าก็มีทรัมเป็ต แซ็กโซโฟน คลาริเน็ต และเปียโน  อีกทั้งยังผนวกเอาเทคโนโลยีใหม่สุดในยุคกลางทศวรรษที่ 30 นั่นก็คือ “กีตาร์ไฟฟ้า”  ลักษณะการเล่นที่ออกมาไม่แตกต่างไปจากคันทรีย์เดิมมากนักแต่จะมีการวางแนวที่เป็นอิสระขึ้น โดยได้แบบอย่างที่ไม่จำกัดของดนตรีแจซซ์เข้ามาร่วม

ดนตรีแบบนี้นักร้องสำเนียงฟังไม่ค่อยได้ศัพท์อะไรนัก  ดนตรีเล่นสนุกสนานคนละทิศละทางเหมาะกับการเต้นรำเพียงอย่างเดียว  เวสเทิร์น สวิงจึงดูเหมือนเป็นแหล่งรวมของคนสนุกสนาที่บางครั้งมักถูกกระเซ้าว่าเป็นกลุ่มคนบ้าจากพวกหัวอนุรักษ์ในเวลากลุ่มดนตรีประเภทนี้รวมกลุ่มกันเล่นกันเฮฮาในยุคนั้น

กลางทศวรรษที่ 30  Bob Wills and His Texas Playboys, Milton Brown and His Brownies, Bill Boy’s Cowboy Ramblers, The Light Crust Doughboys, The Hi-Flyers, The Tune Wranglers และ The Modern Mountaineer เป็นวงแบบเวสเทิร์น สวิงที่เริ่มใช้สถานที่การแสดงดนตรีของพวกเขากันในโรงเต้นรำขนาดใหญ่ขึ้น คนฟังอดไม่ได้ที่จะต้องร้องรำและสนุกสนานไปกับดนตรีประเภทนี้ด้วย  อีกทั้งตามตู้เพลงต่างๆก็คงอัดแน่นด้วยเพลงแบบในแบบเวสเทิร์น สวิงตามสมัยนิยมอยู่เกลื่อนไปหมด และเป็นปรากฏการณ์ครั้งใหม่ที่ดนตรีชนิดนี้เริ่มมีอิทธิพลอย่างกว้างขวาง

สถานีวิทยุหลายต่อหลายแห่งในดัลลัส ฟอร์ทเวิร์ธ ฮิวสตัน ซานอันโตนิโอ และเมืองทัลซาในโอคลาโฮมา ต่างมีรายการบรรจุไว้เต็มเหยียดสำหรับเพลงประเภทนี้ จะเห็นได้ว่าเป็นการก้าวเข้าสู่ความนิยมอย่างกว้างขวางของดนตรี เวสเทิร์น สวิงในช่วงระยะเวลานั้น โดยเฉพาะเมื่อวง บ็อบ วิลล์ส เริ่มมีการตระเวนแสดงทัวร์ไปไกลสู่แผ่นดินทางเหนือของอเมริกา และการปรากฏตัวในงานดนตรีครั้งใหญ่ที่ Cain’s Dancing Academy  ทำให้เพลงประเภทนี้กลายเป็นที่นิยมไปอย่างกว้างขวางในทันที

แต่แล้วในขณะที่โลกกำลังเกิดวิกฤติการณ์กับสงครามโลกครั้งที่สองนั่นเอง วงดนตรีเวสเทิร์น สวิงหลายวงก็ถูกจำกัดการเจริญเติบโตไปด้วยสภาวะสงคราม นักดนตรีซึ่งอยู่ในรุ่นหนุ่มมากต่อมากถูกเกณฑ์เข้าทำงานและร่วมในราชการทหาร ในภาวะสงครามทุกคนถูกเกณฑ์เข้าทำงานเพื่อป้อนผลผลิตสู่การทำสงคราม ชาวไร่ชาวนาต้องทำงานหนักเพื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตเพิ่มเป็นสองเท่าของผลผลิตที่เคยได้ โรงงานอุตสาหกรรมหนัก โรงต่อเรือ และโรงงานผลิตอาวุธ ต่างเกณฑ์แรงงานคนหนุ่มสาวเข้าทำงานกันตลอดทั้ง 24 ชั่วโมง

ทุกคนถูกจำกัดอยู่ในภาวะควบคุม จำกัดอาหารและการใช้จ่าย ในภาวะเช่นนี้ไม่มีอะไรดีไปกว่าเสียงเพลงที่จะช่วยผ่อนคลายอารมณ์เครียดในการทำงาน  ดนตรีแบบเวสเทิร์น สวิงยังคงมีอยู่บ้างที่ถูกนำมาใช้ในช่วงนั้นหลังจากเหน็ดเหนื่อยอย่างเต็มที่จากการงาน ตามโรงเต้นรำต่างๆจะคราคร่ำไปด้วยผู้คนที่ออกหาความสำราญอย่างสนุกสนาน และดนตรีแบบนี้นี่เองที่ยังคงเป็นความต้องการของคนหนุ่มสาว

แต่อย่างไรก็ดี ด้วยเนื่องจากเหตุผลการบีบรัดดังกล่าว ดนตรีแบบเวสเทิร์น สวิงจึงไม่มีโอกาสได้รับการพัฒนาและค่อยๆลดความนิยมลง  ในขณะเดียวกันกลับมีการแทนที่ด้วยรูปแบบดนตรี “West Coast” ขึ้นมา   การเกิดขึ้นและเติบโตของดนตรีแบบเวสท์โคสท์มาจากครอบครัวชาวนาในบ้านนอก การร้องรำทำเพลงเป็นทางออกอย่างหนึ่งของพวกเขาในการหว่านไถ การรอฤดูเก็บเกี่ยว และตลอดจนการแสดงถึงความยินดีต่อผลผลิตที่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาวะสงครามและหลังสงครามนั้น ไม่มีอะไรจะดีไปกว่าการปลดเปลื้องความหดหู่ใจและสภาพบีบคั้นได้ดีไปกว่าดนตรี 

ด้วยเหตุนี้การร้องรำทำเพลงจึงเป็นที่นิยมกันแพร่หลายตลอดช่วงระยะเวลานั้น ดนตรีชนิดนี้เริ่มเกิดขึ้นที่ดินแดนตะวันตกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในไร่ผลไม้ที่แคลิฟอร์เนีย  ในช่วงนี้เองที่เกิดมีนักร้องนักแต่งเพลงจากโอคลาโฮมาผู้หนึ่งที่เป็นแม่เพลงของบทเพลงคันทรีย์โฟล์ค ที่มักแสดงเรื่องราวชีวิตในแง่มุมต่างๆของชนชั้นล่างและชนชั้นกลางเอาไว้มากมายชื่อ Woody Guthrie

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้สิ้นสุดลงนั้น  สภาวะทางเศรษฐกิจทั่วโลกทรุดหนัก ในสหรัฐอเมริกาเองรายได้บุคคลถูกควบคุมและเก็บภาษีอย่างแทบจะต้องอดตายกันเป็นระนาว แม้แต่ธุรกิจดนตรีในขณะนั้นก็ตาม  ในราวปีค.ศ. 1942-1944 ธุรกิจดนตรียังคงขึ้นอยู่กับองค์กรที่คอยควบคุมกิจการคือ American Federation of Musicians  ซึ่งบทบาทอันคลุมเคลือขององค์กรนี้สร้างความไม่พอใจต่อกลุ่มนักดนตรีและพ่อค้าผู้ผลิตแผ่นเสียงต่างๆเป็นอันมาก

ในช่วงระหว่างสงคราม  โรงงานผลิตแผ่นเสียงใหญ่ๆหลายแห่งอย่าง RCA Victor, Columbia และ Decca ต่างต้องประสบปัญหาที่บีบรัดตัวเอง  แต่ในภายหลังสงครามสิ้นสุดลงนั้นบริษัทต่างๆเหล่านี้ได้รวมตัวกันขึ้นใหม่เปิดโรงงานขึ้นผลิตแผ่นเสียงกันอีกครั้งจนเป็นผลสำเร็จ และต่อสู้เรียกร้องสิทธิการหากินของพวกตนคืนจากองค์กร  และยังเป็นช่วงที่ดนตรีแบบเวสเทิร์น สวิงซึ่งเป็นตลาดใหญ่ของธุรกิจแผ่นเสียงก่อนหน้านั้นได้เริ่มเสื่อมความนิยมลงพอดี  บริษัทผู้ผลิตจึงเริ่มมองหาแนวทางให้กับตลาดใหม่ของตน  และมาหยุดลงที่กลุ่มนักดนตรี  “เวสท์โคสท์” นี่เอง

ในฉบับหน้านั้น  จะได้นำรูปแบบของดนตรีอีกหลายประเภทมาลงเสนอต่อกันไปจากนี้  เพื่อจะเห็นว่ากว่าที่กระแสของดนตรีตะวันตกจะได้ดำเนินมายังจุดที่กำลังยืนอยู่ในทุกวันนี้นั้น มันได้ผ่านยุคสมัยของดนตรีที่พัฒนามาอย่างหลากหลายขนาดไหน