What HI-FI? Thailand

เทคนิคการประกอบสายไฟเอซีราคา 800 บาท อย่างละเอียด และทำไมสายหลักหมื่น(บางเส้น)มีหนาว

ช.ชิดชล

     สวัสดีครับทุกท่าน ก่อนไปถึงเทคนิคการประกอบสายไฟอย่างละเอียดนั้น ขออธิบายถึงคำที่ว่า “สายต่ำกว่าหมื่น มีหนาว” สักหน่อยครับ ของทุกสรรพสิ่งนั้น มีราคาที่สมดุลสมเหตุผลเสมอ หากของสิ่งนั้นถูกกำหนดราคาที่สูงเกินกว่าที่ควรจะเป็น อาจจะไม่คุ้มราคา และหากกำหนดราคาต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ก็จะดูว่าถูกคุ้มเกินราคา ทุกอย่างมีมาตรฐาน มีราคา และในราคานั้น มีมูลค่าสมเหตุผลเสมอครับ

     หากเราซื้อทองคำแท่ง 99.99% ที่ราคา 800 บาทที่เยาวราช เมื่อเทียบกับไปซื้อทองรูปพรรณราคาต่ำกว่าหมื่นแบรนด์ดังๆแต่ได้เนื้อทอง 50% ตามห้างหรูๆ มูลค่าที่แท้จริงนั้นทองราคา 800 บาทอาจจะสูงกว่าหรือทัดเทียบกับรูปพรรณต่ำกว่าหมื่นบาทก็ได้ เพราะเราจ่ายเงินและได้เนื้อทองเต็มๆ 99.99% แถมซื้อในแหล่งที่ไม่บวกกำไรเพิ่มมากมายนัก ผิดกับทองรูปพรรณที่เนื้อทองได้แค่ 50% แถมขายบนห้างหรู มีค่าที่ ค่าพนักงาน ค่าช่างทำให้เป็นรูปพรรณ ไหนจะค่าบวกกำไรหากส่งไปขายร้านอื่นๆอีก เงินที่จ่ายไปไม่ได้ที่เนื้อทองเต็มๆ แต่มีค่าการตลาดแฝงเต็มไปหมด ยกตัวอย่างทองคำมาเพื่อให้เข้าใจโดยง่ายนะครับ สายไฟเอซีก็เช่นกัน ด้วยเหตุดังกล่าว สายไฟที่หาตามแหล่งราคาถูก ประกอบเอง ไม่ต้องเสียค่าจ้าง ไม่ต้องบวกกำไร ไม่ต้องบวกค่าอื่นๆ อาจจะมีคุณภาพทัดเทียมสายที่ราคาต่ำกว่าหมื่นบาท บางเส้นได้นะครับ หากสายนั้นๆไม่คุ้มราคาหรือขายบวกราคาแพงไปมาก แต่ไม่ใช่ว่าทุกเส้น เพราะหากสายไฟเส้นนั้นมีคุณภาพที่คุ้มราคา ก็ไม่มีทางที่ของราคา 800 จะไปเทียบกับของหลักหมื่นได้ครับผม

     สรุปใจความได้ว่า ของราคา 800 บาทที่มีคุณภาพดีคุ้มเกินราคา อาจมีคุณภาพดีหรือทัดเทียมกับของราคาต่ำกว่าหมื่นบาทที่ไม่คุ้มราคาหรือบวกค่าการตลาดไว้มากได้”

    ลำดับถัดไป หากนำของที่มีคุณภาพเกินราคา มาจัดการใส่เทคนิคพิเศษเข้าไป ชนิดที่เข้าใจการทำงานอันส่งผลต่อเสียง ก็สามารถเพิ่มคุณค่าให้กับของสิ่งนั้นได้มากขึ้นอีก เช่น เครื่องเสียงที่จัดวางปกติ ไม่สามารถให้คุณภาพเสียงเทียบเท่ากับชุดเครื่องเสียงที่มีการจัดวาง จัดระเบียบ และจูนเสียงได้อย่างลงตัว

     การเชื่อมต่อสายไฟเข้ากับปลั๊กนั้น ขั้นตอนแรกคือการปอกฉนวนให้เห็นตัวนำภายใน สิ่งสำคัญคือ ควรวัดขนาด ความยาวของขั้วปลั๊ก และตัดสายให้ยาวพอดี ไม่สั้นเกินไป อันจะทำให้กระแสไฟไหลไม่สะดวก ไม่ยาวเกินไปอันจะทำให้สายเหลือและมีอันตรายได้ ที่สำคัญอีกประการคือ ไม่ปอกสายจนตัวนำขาดหรือหัก เพราะจะไปลดจำนวนสาย ทำให้เกิดความต้านทานที่จุดเชื่อมต่อ กระแสไฟไหลผ่านไม่สะดวกอีก

     การเลือกขนาดหน้าตัดตัวนำของสายที่จะมาทำสายไฟเอซีนั้น มีความสำคัญครับ สายที่มีขนาดเล็กตัวนำหน้าตัดเล็กๆ เหมาะสมกับเครื่องที่กินไฟไม่มาก หากเป็นเครื่องกินกำลังไฟมากๆก็เลือกตัวนำขนาดใหญ่สักหน่อยนะครับ เพื่อลดความต้านทานภายในสาย ทำให้กระแสไหลผ่านได้ดี โดยเฉพาะเวลาที่เครื่องเสียงต้องการกระแสไฟปริมาณสูง หากเราใช้สายตัวนำขนาดเล็กกับเครื่องกินกระแสไฟมาก เสียงก็จะอั้น น้ำหนักเสียงไม่ชัดเจนเด็ดขาด หากใช้สายตัวนำขนาดใหญ่กับเครื่องกินไฟไม่มาก เสียงก็จะติดหนาและขาดรายละเอียดได้ เพราะสายไฟก็มีคุณสมบัติเหมือนเป็นคาปาซิเตอร์ เพราะมีค่าคาปาซิแตนซ์ในแต่ละสายไม่เท่ากัน

     เลือกสายที่มีตัวนำภายในแบบ 4 เส้น เพื่อสามารถจูนเสียงได้ ตามปกติสายไฟเอซีจะมี 3 เส้นคือ L(Line) N(Neutral) และ G(GROUND) สายที่ภายในมีตัวนำ 4 เส้น สามารถเบิ้ลเส้นที่ 4 นั้นไปกับสายเส้นไหนก็ได้ โดยให้ผลทางเสียงที่แตกต่างกันไป

     เบิ้ลที่สาย L 2 เส้น ที่เหลือเป็น N และ G การต่อแบบนี้จะได้เนื้อเสียงที่ติดไปทางอิ่มหนา ทุ้มอิ่มใหญ่มีพลัง เสียงติดไปทางกว้าง ทุกโน้ตเสียงกระจายออกมาอย่างชัดเจน เหตุผลเพราะไปเพิ่มตัวนำให้กับสาย L ส่งผลให้ความต้านทานภายในสายลดลง กระแสไฟไหลผ่านดีขึ้น การทำงานของเครื่องได้กระแสไฟเต็มอิ่ม เห็นผลชัดหากไปใช้กับอุปกรณ์ภาคขยาย

     เบิ้ลไปที่สาย N 2 เส้น ปกติแบบนี้ไม่ทำกัน เพราะจะส่งผลต่อเสียงที่สั้น น้ำเสียงขาดพลัง เพราะเป็นการลดความต้านทานภายในสายให้กับกระแสไฟที่ไหลจากเครื่องกลับไปเมนไฟ ทำให้กระแสไฟไหลผ่านไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งกระแสที่ไหลผ่านรวดเร็วจะส่งผลดีต่อเครื่องเสียง ต่อเมื่อเป็นสาย L หรือ G

     เบิ้ลที่สาย G 2 เส้น ซึ่งในคลิปที่ทำ การลองฟัง และคำแนะนำ ก็ให้ทำรูปแบบนี้ เพราะเป็นการเพิ่มพื้นที่หน้าตัดให้กับ GROUND คลื่นรบกวนมักเป็นคลื่นความถี่สูงโดยวิ่งที่ผิวของตัวนำ การเพิ่มพื้นที่ผิวตัวนำ ก็ทำให้คลื่นรบกวนวิ่งไปได้ดี และยังส่งผลต่อความต้านทานภายในสายที่ลดลง การทิ้งคลื่นรบกวนจึงทำได้รวดเร็ว ว่องไวขึ้น เมื่อคลื่นรบกวนหายไป เสียงสงัดขึ้น ทุกโน้ตเสียงเด่นชัด เสียงไม่ไวรวดเร็วเกินไป รายละเอียดเล็กน้อยเผยออกมาอย่างชัดเจน มิติตื้นลึกและลำดับชั้นของดนตรีก็ดีขึ้นด้วย

     การใช้ท่อหดแบบมีกาวรัดสายนั้น ช่วยลดแรงสั่นสะเทือนที่ผิวสายได้ เพราะท่อหดที่เป็นยางนั้นจะทำการรัดสาย เหมือนเป็นการแดมป์ลดแรงสั่นสะเทือน กาวยางที่คล้ายเรซินนั้นก็ช่วยยืดเกาะตัวสายและเป็นการแดมป์อีกชั้นหนึ่ง แต่ท่อหดนี้จะใช้ไม่ยาวมาก เพราะด้วยคุณสมบัติในการแดมป์สายนี้ หากใช้มากไปจะกลายเป็นไปลดทอนความกังวานของเสียงได้ เปรียบเทียบกับระฆัง หากมีวัสดุไปแดมป์เพื่อเสียงกังวานที่เหมาะสม หากแดมป์มากไประฆังก็ลดความกังวาน เสียงจะสั้นลง

    การใช้ลวดทองแดงเคลือบน้ำยาพันสายนั้น เป็นเทคนิคการแดมป์สายอีกเช่นกัน แต่ไม่ได้แดมป์ทั้งหมด แดมป์เฉพาะเส้นเพื่อเป็นการจูนเสียง โดยปลั๊กตัวผู้ที่เสียบกับเต้ารับที่ผนังนั้น ใช้ลวดทองแดงพันที่สาย N เพื่อถ่วงน้ำหนักสาย ส่งผลในทางเสียงที่ได้ยินจากชุดเครื่องเสียงช้าลงได้ เพราะสาย N นี้เป็นกระแสไฟที่วิ่งกลับไปเมนไฟ เมื่อเรากระทำอะไรกับสายนี้จะส่งผลต่อเสียงที่เร็วหรือช้าได้(ภาพ 1) ในขณะที่ปลั้กตัวเมีย ที่เสียบด้านหลังเครื่องเสียง ต้องการให้สาย L ที่มีไฟเข้าเครื่องนั้น ได้มีการถ่วงน้ำหนักสักหน่อย โดยไม่ได้ไปยุ่งกับสาย N ที่ปลั๊กตัวเมียแต่อย่างใด เป็นเทคนิคการจูนเสียงเพื่อให้มีเนื้อเสียง โดยเมื่อทำอะไรกับสาย L ที่มีไฟเข้าเครื่อง จะส่งผลโดยตรงกับน้ำหนัก เนื้อเสียง(ภาพ 2) ขดลวดทองแดงทั้งหมดนี้ ไม่ได้เชื่อมต่อกับวงจรไฟฟ้า แค่พันไว้รอบสายเท่านั้น จำนวนรอบการพันหรือขนาด ก็เลือกเอาตามเหมาะสม หากมากไปเสียงอิ่มหนา หากน้อยไปก็ไม่ส่งผลต่อเนื้อเสียง พิจารณากันดูครับ

     การขันนอตเป็นการจูนสายได้อีกวิธีการหนึ่ง การขันนอตที่แน่นเกินไปมักจะเกิดแรงเครียดกับสาย การขันนอตที่หลวมเกินไปก็ส่งผลต่อกระแสไฟเดินไม่สะดวก เกิดเป็นความต้านทานภายในสายได้อีกรูปแบบหนึ่ง เทคนิคในการขันนอตนี้แบ่งเป็น ขันนอตยึดตัวนำสายกับปลั๊ก และขันนอตยึดตัวสายกับฝาครอบปลั๊ก มาที่ขันนอตยึดตัวนำสายกันก่อน เริ่มที่สาย L ต้องการให้กระแสไฟไหลเข้าเครื่องได้ดี สายเส้นนี้จึงควรขันยึดกับตัวปลั๊กให้แน่นเกินระดับพอตึงมือสักหน่อย ต่อมาที่สาย G ต้องการให้คลื่นรบกวนทิ้งไปกับสายเส้นนี้ได้สะดวก จึงขั้นสายนี้ให้แน่นเช่นกัน ในส่วนของสาย N นั้น ไม่ต้องการให้กระแสไฟในเส้นนี้ผ่านไปเร็วนัก เพราะมีผลต่อความกังวานของเสียง จึงขันแค่พอตึงมือ คือแน่นแต่ไม่ต้องมาก ใช้แรงแค่ข้อมือขันให้แน่น ไม่ต้องใช้แรงจากทั้งแขน หรือไม่ต้องใช้แรงจากกล้ามเนื้อหัวไหล่ สายนี้หากขันแน่นไปเสียงจะสั้น ขาดความกังวาน

    ขันนอตยึดตัวสายกับฝาครอบปลั๊ก เทคนิคนี้นำไปใช้ได้กับทุกการขันนอตเลยนะครับ ไม่ว่าจะเป็นขันนอตยึดเต้ารับที่ผนังหรือยึดดอกลำโพงกับตัวตู้ ให้ขันนอตทุกตัวไปพร้อมๆกันที่ละหน่อย ไม่ควรขันนอตตัวใดให้แน่นแบบทีละตัว เพราะอาจทำให้การยึดนั้นไม่ได้สมดุล เอียง หรือมีนอตตัวใดยึดแน่นเกินไป ทำให้เกิดแรงเค้นบริเวณนั้นมากกว่าที่อื่น ทำให้เสียสมดุลในการรับแรงสั่นสะเทือน ฉะนั้นให้ขันนอตทุกตัวไปทีละน้อย วนไปทุกตัวจนกว่าจะแน่นหรือยึดติดสนิท

     เทคนิคและการเชื่อมต่อสายที่นำเสนอในบทความนี้ เพื่อเสริมความเข้าใจให้กับคลิปวีดีโอ และอธิบายให้เข้าใจถึงทำไมสายราคาถูกแต่คุ้มเกินราคา ประกอบด้วยเทคนิคพิเศษอันส่งผลให้มีคุณภาพเสียงที่ดีขึ้น จึงทำให้สายที่ราคาสูงกว่าในระดับไม่เกินหมื่นที่ไม่คุ้มราคาและไม่มีเทคนิคพิเศษใดๆ มีหนาวได้ ฉะนั้น การเลือกอะไรมาใช้ โดยเฉพาะกับชุดเครื่องเสียง จึงต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วน ถึงวัสดุ ความคุ้มราคา อันส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพ และเมื่อมีเทคนิคพิเศษเข้าไปร่วมด้วย ก็ยิ่งเพิ่มคุณภาพให้กับสิ่งนั้นครับผม

รายละเอียดอุปกรณ์ที่ใช้

คำเตือน

การประกอบสายไฟเอซี ควรคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก และกระทำโดยผู้เชี่ยวชาญ เพราะมีอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน

บทความนี้ปราศจากหลักฐานอ้างอิงทางวิทยาศาสตร์ แต่อ้างอิงได้ตามหลักเหตุและผล โดยมีหลักการรองรับ โดยเน้นไปที่การทดลองจริงกับชุดเครื่องเสียง และรับฟังผลทางเสียงที่ได้เป็นหลัก


Exit mobile version