What HI-FI? Thailand

เครื่องกรองไฟหรือเครื่องกวนไฟ?

DAWN NATHONG

ทุกวันนี้อุปกรณ์เสริมอย่างเครื่องกรองไฟ ดูจะกลายเป็นอุปกรณ์เสริมสามัญประจำบ้านของนักเล่นเครื่องเสียงหลายคนไปเสียแล้ว เพราะขยะสัญญาณรบกวนทั้งจากไฟฟ้ากระแสสลับ หรือจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ เอง ล้วนเป็นศัตรูตัวฉกาจที่จะบั่นทอนคุณภาพเสียง

จริงอยู่ที่เครื่องเสียงดี ๆ อาจมีการป้องกันสัญญาณรบกวนเอาไว้ในระดับหนึ่งแล้ว แต่นั่นอาจจะยังไม่เพียงพอ เพราะไม่ใช่เครื่องเสียงทุกรุ่น จะลงทุนกับการป้องกันสัญญาณรบกวนได้อย่างมีประสิทธิภาพสุงสุด โดยเฉพาะเครื่องเสียงระดับเริ่มต้นถึงระดับกลาง เพราะนั่นหมายถึงต้นทุนที่สูงขึ้น

แต่การจะพิจารณาเลือกซื้อเครื่องกรองไฟสักตัวหนึ่ง จริง ๆ แล้วมีเรื่องให้ต้องศึกษามากมาย เนื่องจากเหรียญมีสองด้านเสมอ เครื่องกรองไฟก็เช่นเดียวกัน เรียกว่าจะเสียเงินแล้วทั้งทีก็ควรทำการบ้านด้วยสักนิด อย่างเพิ่งฟังร้านค้าเชียร์แขกแต่เพียงอย่างเดียว มิเช่นนั้นความสุข ก็อาจกลายเป็นความทุกข์แบบไม่รู้ตัว หรืออาจเข้าทำนอง “เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย”

หลักการสำคัญอันดับหนึ่งก่อนการจะเสียเงินซื้อเครื่องกรองไฟสักตัว ท่านควรทำพื้นฐานระบบไฟฟ้าเข้าชุดเครื่องเสียง ให้ถูกต้องตามมาตรฐานก่อนเป็นอันดับแรก ใช้สายไฟ ปลั๊กไฟรองรับที่ได้มาตรฐานสากล มีระบบกราวด์ลงดินถูกต้องให้เรียบร้อย เพราะเครื่องกรองไฟเทพแค่ไหน มาเจอระบบไฟฟ้าที่ต่อผิดเฟส หรือไม่มีกราวด์ลงดิน ก็ไปไม่เป็นเหมือนกัน

อันดับที่สองซึ่งต้องพิจารณาก็คือประเภทของเครื่องกรองไฟ ซึ่งมีหลายหลายในท้องตลาด ทั้งแบบธรรมดาที่ใช้กับอุปกรณ์ไฟฟ้าทั่วไปและแบบออดิโอเกรดซึ่งออกแบบมาใช้กับเครื่องเสียงโดยตรง หากท่านคิดจะเล่นเครื่องเสียงแบบเป็นเรื่องเป็นราวแล้ว ควรเลือกชนิดที่ออกแบบมาใช้กับเครื่องเสียงโดยตรงจะดีที่สุด เพราะเครื่องกรองไฟที่ไม่ได้ออกแบบสำหรับเครื่องเสียง มักจะ “กรอง” ความถี่ออกไปมากเกินงาม ไม่ใช้วัสดุเกรดดี ๆ ทำหน้าสัมผัส รวมถึงไม่สามารถป้องกันสัญญาณรบกวนต่าง ๆ จนทำให้เสียงหยาบ แห้ง ไม่น่าฟัง หนักสุดคือกลายเป็นตัวสร้างน้อยส์เข้าไปในระบบเสียเอง ถอดทิ้งแล้วต่อตรงเสียงยังจะดีเสียกว่า

อันดับสาม คือการเสียบใช้งานเครื่องกรองไฟ แม้ท่านจะมีเครื่องกรองไฟออดิโอเกรดแล้ว ใช่ว่าจะนำอุปกรณ์ทุกชิ้นเสียบรวมลงในเครื่องกรองไฟตัวเดียวจนหมดแล้วจะเสียงดี ต้องพิจารณาก่อนว่าเครื่องกรองไฟนั้น ๆ ออกแบบมาเพื่อการใช้งานกับอุปกรณ์ใดบ้าง เพราะเครื่องเสียงแต่ละรุ่น แต่ละประเภท ต้องการลักษณะการกรองที่แตกต่างกัน รวมถึงเครื่องกรองไฟนั้น ๆ สามารถรองรับโหลดสูงสุดได้เท่าไร (แนะนำให้เลือกสูงกว่าที่ต้องใช้ไว้ก่อน)

บางรุ่นที่ดี ๆ จะออกแบบแยกช่องเสียบสำหรับอุปกรณ์ดิจิทัล อนาล็อก รวมทั้งอุปกรณ์ที่กินกระแสสูง (High Current) และอุปกรณ์ด้านระบบภาพออกจากกัน ภายในมีวงจรฟิลเตอร์และสายไฟไวริ่งแยกอิสระแต่ละช่อง ก็จะช่วยลดการรบกวนระหว่างอุปกรณ์ลงได้ดี และส่งผ่านกระแสไฟให้กับอุปกรณ์แต่ละประเภทได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยกว่า แต่กระนั้น หากท่านใช้อุปกรณ์ที่กินกระแสมาก ๆ เช่น เพาเวอร์แอมป์ ควรทดลองต่อตรงกับปลั๊กที่ผนังเพื่อเปรียบเทียบกันด้วย

ข้อสุดท้าย ของถูกและดีไม่มีในโลก กับเครื่องเสียงก็เช่นกัน เครื่องกรองไฟออดิโอเกรดที่ออกแบบมาอย่างดี มักจะมีราคาแพง (เสียงดีไหมก็ว่ากันอีกที) เนื่องจากการใช้วัสดุคุณภาพสูง มีการออกแบบวงจรฟิลเตอร์ไม่ว่าจะเป็นแบบพาสซีฟหรือแอ็คทีฟ ที่สามารถกรองสัญญาณรบกวนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยส่งผลกระทบต่อคุณภาพเสียงน้อยที่สุด มีการป้องกันสัญญาณรบกวนทั้งภายนอกและภายใน รวมถึงระหว่างตัวอุปกรณ์ด้วยกันเอง รวมทั้งมีค่าความต้านทานรวมที่ต่ำเพื่อให้กระแสไฟวิ่งผ่านได้อย่างเต็มที่ ไม่อั้น อันส่งผลต่อการถ่ายทอดไดนามิกของเสียงที่แม่นยำถูกต้องอย่างที่ควรจะเป็น

ผู้เขียนขอสรุปถึงคุณสมบัติเบื้องต้นของเครื่องกรองไฟที่ดีควรส่งผลต่อเสียงอย่างไร แบบคร่าว ๆ ดังนี้

จำไว้ว่าอย่าเพิ่งตื่นเต้น หรือรีบฟันธงว่าเสียงที่เปลี่ยนหลังจากใช้เครื่องกรองไฟนั้นดีแล้ว ให้เวลากับมันสักพัก ฟังเพลงที่คุ้นเคยจนชินหูแล้วลองถอดออกดู ท่านจะตัดสินใจได้ง่ายขึ้น

เทคนิคในการใช้เครื่องกรองไฟให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด ยังมีรายละเอียดอีกมาก ซึ่งจะขอนำเสนอในโอกาสต่อ ๆ ไป

Exit mobile version