What HI-FI? Thailand

อุปกรณ์รองเครื่อง ศิลปะแห่งการจัดวาง

DAWN NATHONG

ถ้าจะพูดถึงอุปกรณ์เสริมที่เรียกได้ว่าคลาสสิค อยู่คู่กับวงการเครื่องเสียงมาช้านาน เห็นจะต้องมีอุปกรณ์รองเครื่องที่เรียกว่าทิปโทหรือฟุตเตอร์รวมเข้าไปด้วย เจ้าอุปกรณ์รูปทรงคล้ายสามเหลี่ยมหรือทรงกระบอกทำจากวัสดุโลหะหรืออโลหะนี้ สำหรับนักเล่นมือใหม่ มันคืออุปกรณ์เสริมอันดับแรก ๆ ที่จะช่วยฝึกฝนทักษะการปรับจูนเครื่องเสียงของท่านได้เป็นอย่างดี ซึ่งผู้เขียนขอเน้นเฉพาะที่ใช้ “รองเครื่อง” เท่านั้น ส่วนพวกแป้นรองสไปค์ขาลำโพงอะไรนี่ไม่นับนะครับ

ปัจจุบันอุปกรณ์เสริมประเภทรองเครื่องมีพัฒนาการไปตามยุคสมัย เทคโนโลยีด้านวัสดุในปัจจุบัน ทำให้เรามีอุปกรณ์รองเครื่องที่มีความซับซ้อนด้านการออกแบบมากขึ้น สลายแรงสั่นสะเทือนได้ดีขึ้น รวมทั้งมีสีสันหรือบุคลิกเฉพาะตัวน้อยลง (หรืออาจมีเพราะความตั้งใจ) ให้ท่านเลือกซื้อหามาลองใช้ตามงบประมาณ บางยี่ห้อเห็นราคาแล้วถึงกับขนลุกชูชัน แต่ก็แลกมาด้วยประสิทธิภาพที่น่าทึ่งเช่นกัน ส่วนเหมาะสมกับราคาหรือไม่ล้วนอยู่ที่รสนิยมและประสบการณ์ส่วนบุคล ท่านว่าเสียงเปลี่ยนนิดเดียวจ่ายแพงแค่ไหนก็ยอม ก็มีให้เห็นถมไป

แต่ไม่ว่าท่านจะใช้อุปกรณ์รองเครื่องราคาหลักพันหรือหลักหลายหมื่นบาท ทั้งแบบไม่มีกลไก หรือมีกลไกระบบซัสเพนชั่น (ยาง, สปริง, ลูกปืน, อื่น ๆ) ก็หนีกฎธรรมชาติของฟิสิกส์ไม่พ้น คือเรื่องของสมดุลแรงโน้มถ่วง หากท่านใช้ 4 ชิ้นปัญหานี้ก็แทบจะตกไปเพราะสามารถวางรองตรงตำแหน่งขารองเครื่องได้เลย แต่ถ้าใช้ 3 ชิ้น อันนี้ก็จะมีรายละเอียดในการจัดวางมากหน่อย และส่งผลต่อบุคลิกเสียงโดยตรงเหมือนกันทุกยี่ห้อ

ข้อสังเกตุในการวางอุปกรณ์รองเครื่องแบบ 3 ชิ้นอย่างคร่าว ๆ

1. พิจารณาน้ำหนักของเครื่องให้เหมาะสม

อันนี้ในเรื่องของความปลอดภัยมาก่อนเป็นอันดับแรก ต้องจัดสมดุลให้ดีไม่ให้น้ำหนักเทไปทิศทางใดทิศทางหนึ่งมากเกินไป โดยปกติตัวรองสมัยนี้ก็มักจะออกแบบโดยคำนึงถึงน้ำหนักตัวเครื่องเป็นหลักอยู่แล้ว ท่านเพียงแค่เลือกใช้ให้เหมาะสมตามสเปคที่ผู้ผลิตระบุมา บางยี่ห้อระบุมาเลยว่ารุ่นไหนใช้กับอุปกรณ์อะไร จะมีที่น่าจะต้องระวังคือพวกมีปลายแหลม เช่น ทิปโท หากวางรองกับเครื่องที่มีน้ำหนักมาก  อย่างเพาเวอร์ปลายแหลมอาจบิ่น ทู่ เสียหายได้ และลดประสิทธิภาพเรื่องของการลดหน้าสัมผัสกับพื้นผิวลง

2. หาจุดศูนย์ถ่วงของเครื่อง

ดูว่าเครื่องมีน้ำหนักที่เทไปทางด้านไหน ซึ่งส่วนมากจะเป็นบริเวณหม้อแปลง หรือหากเป็นเครื่องน้ำหนักเบา เช่น เครื่องเล่นบลูเรย์ หรือเน็ตเวิร์คเพลเยอร์ก็คือส่วนของภาคทรานสปอร์ตหรือภาคจ่ายไฟ ให้ใช้ตัวรอง 2 จุด สำหรับตำแหน่งนั้น และอีก 1 จุดวางไว้ตำแหน่งตรงข้ามกันในลักษณะของยอดสามเหลี่ยมด้านเท่า จากนั้นปรับระนาบของเครื่องให้ขนานกับพื้นโลก (เช็คระดับน้ำ) หลายรุ่นสามารถหมุนเกลียวปรับสูง-ต่ำได้ในตัวก็จะสะดวกขึ้น ถ้าไม่มีก็ปรับที่ตัวชั้นวางแทน

3. พื้นผิวใต้เครื่องที่สัมผัสตัวรองควรเป็นจุดที่เรียบสนิทที่สุด

เพื่อความมั่นคงในการจัดวาง เดี๋ยวเครื่องจะเล่นกายกรรมตีลังการ่วงลงมาเสียก่อน และควรเช็คระนาบของเครื่องที่วางไม่ให้เอียงจนเกินไป (โดยเฉพาะพวกมีระบบกลไกซัสเพนชั่น) เพื่อให้การถ่ายเทแรงสั่นสะเทือนเป็นไปอย่างสมดุลทั้ง 3 จุด หรือในกรณีที่เครื่องนั้น ๆ ไม่สามารถหาจุดวางรองที่เรียบสนิทมั่นคงได้ ลองหาแผ่นไม้ MDF มารองเครื่องก่อนแล้วค่อยรองอุปกรณ์อีกที

4. การจูนเสียงด้วยการขยับตำแหน่งตัวรองเครื่อง

การบีบตำแหน่งของตัวรองทั้งสามเข้าหากัน จะทำให้เนื้อเสียงเข้มขึ้น เวทีหุบตัวเข้ามา ตรงกันข้ามถ้าตำแหน่งตัวรองทั้งสามห่างออกจากกันมาเท่าไร เนื้อเสียงจะบางลงและเวทีเสียงถ่างกว้างขึ้นตามมาด้วย จินตนาการเหมือนกับการดึงหนังสติ๊กให้ยืด-หด ค่อย ๆ หาจุดที่ลงตัวพอดี

5. ไม่ควรมีอะไรคั่นตัวรองเครื่องกับชั้นวาง

การนำวัสดุอื่นใดมาคั่นระหว่างตัวรองกับชั้นวาง เป็นการลดทอนประสิทธิภาพลงอย่างมาก จุดสัมผัสของตัวรองควรจะสัมผัสกับตัวเครื่องและชั้นวางโดยตรง ไม่มีอะไรมาขวางกั้น ยกตัวอย่างตัวรองที่มีปลายแหลม เช่น ทิปโท ก็ควรให้ปลายแหลมกดลงบนพื้นของชั้นวางโดยตรงโดยไม่ต้องมีวัสดุอะไรมาคั่น บางคนเอาเหรียญไปรอง เสียงจะจัด เบสบาง ถ้าเป็นของนุ่ม ๆ เช่นพรมชิ้นเล็ก ๆ หรือแผ่นยางเสียงจะนุ่ม ขาดไดนามิก ยกเว้นที่เขาออกแบบมาให้ใช้ร่วมกันตั้งแต่แรก แต่ก็ควรทดลองว่าใช้หรือไม่ใช้ แบบไหนท่านชอบมากกว่า

6. การจัดสมดุลเสียงให้กับซิสเต็ม

ชั้นวางหรือพื้นผิวที่วางเครื่องเสียงก็ควรมีความมั่นคงแข็งแรงด้วยเช่นกัน เพื่อให้ตัวรองทำหน้าที่ของมันได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และหากเป็นไปได้ ควรวางบนพื้นผิวที่เป็นวัสดุประเภทไม้ หรือวัสดุที่มีการแดมป์เพื่อลดการก้องกำธรในระดับหนึ่ง เช่น ขาชั้นวางที่เติมทราย จะช่วยไม่ทำให้เสียงเจิดจ้าหรือสว่างมากเกินไป เพราะโดยธรรมชาติของตัวรองเครื่อง มักทำให้น้ำเสียงมีความใส เคลียร์ขึ้น ขจัดม่านหมอกที่ปกคลุมตัวเสียง เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว หากไปวางบนชั้นกระจกหรืออะครีลิก ที่ให้โทนเสียงไปทางสว่าง อาจส่งเสริมย่านกลางแหลมมากไปจนเสียสมดุล สองพวกหลังนี่บางทีการวางลงบนชั้นวางโดยตรงจะให้ผลลัพท์โดยรวมออกมาน่าฟังกว่า (ย่านกลางต่ำไม่หาย)

จริง ๆ เรื่องการใช้อุปกรณ์รองเครื่อง มันมีรายละเอียดการจูนเสียงในระดับลึก ๆ ให้ลองเล่นกันอีกพอสมควร เอาไว้ว่าง ๆ จะรวบรวมมาเล่าสู่กันฟังในโอกาสต่อไป หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้นักเล่นหลาย ๆ คนมีกิจกรรมยามว่างกับชุดเครื่องเสียงสุดที่รัก ไว้แก้เบื่อสู้ช่วง Covid-19 กำลังระบาดแบบนี้เพิ่มอีกหนึ่งอย่างครับ


Exit mobile version