“ มนต์เสน่ห์แห่งหลอดสุญญากาศ ”
“ bluebird u11 ”
www.audio-teams.com, e-mail ; p.bluebirdu11@gmail.com
เมื่อเครื่องเสียงประเภทหลอดสุญญากาศยังไม่หายจากวงการเครื่องเสียง แน่นอนว่า ผู้ผลิตเครื่องเสียงหลอดสุญญากาศ ยังคงพัฒนาอยู่ต่อไป
หลายต่อหลายครั้งที่ได้รับข้อมูลจากผู้ผลิตเครื่องเสียงประเภทโซลิดสเตทว่า เครื่องเสียงประเภทหลอดสุญญากาศได้ตายไปจากโลกนี้แล้ว บางครั้งผมอดนึกไม่ได้จริงๆ ว่า คำกล่าวจากผู้ผลิตเครื่องเสียงประเภทโซลิดสเตทบางรายนั้น ทำนายหรือคาดการมาจากอะไร
เนื่องจากปัจจุบัน เครื่องเสียงประเภทหลอดสุญญากาศ ยังมีบริษัทชั้นนำของโลกในระดับซูเปอร์ไฮเอ็นด์ที่ยังเดินหน้าพัฒนาและผลิตไปต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าวัตถุดิบประเภทหลอดสุญญากาศในโลกใบนี้จะเหลือผู้ผลิตน้อยลงก็ตาม แต่การที่เหลือน้อยรายดังกล่าว ไม่ใช่ตัวบ่งบอกว่า หลอดสุญญากาศจะสูญพันธุ์ไปอย่างเร็ววัน เพราะผู้ผลิตรายหลายก็ยังคงนำเทคโนโลยีการผลิตหลอดสุญญากาศในอดีตมาปรับปรุงหาวิธีการลดจุดด้อยของตัวหลอดเอง อีกทั้งยังมีผู้ผลิตบางรายดั้งเดิมที่เก็บสะสมหลอดในอดีตไว้เป็นจำนวนมาก วงการเครื่องเสียงจึงยังคงมีผู้ผลิตและผู้นิยมชมชอบเครื่องเสียงประเภทหลอดสุญญากาศอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว
ด้วยคุณสมบัติของหลอดสุญญากาศ เมื่อประกอบเข้าเป็นเครื่องเสียงแล้ว แม้ค่าการวัดจากเครื่องมือ อาจให้ตัวเลขไม่ดีงามนัก แต่ผลจากค่าวัดทางไฟฟ้าหรือเสียงรบกวนจากการทำงานของหลอดนี้เอง กลับสร้างฮาร์โมนิกในรูปแบบที่เครื่องเสียงแบบโซลิดสเตทให้ไม่ได้ ทำให้กลุ่มนักฟังที่ชื่นชอบเครื่องเสียงหลอดสุญญากาศ จึงไม่เปลี่ยนใจไปคบหาเครื่องเสียงประเภทโซลิดสเตท พฤติกรรมการใช้งานและการเล่นลักษณะนี้ จึงคล้ายกับกลุ่มที่นิยมชมชอบเครื่องเล่นแผ่นเสียงและเครื่องเล่นซีดีที่ยังมิอาจเปลี่ยนใจไปคบหาดิจิตอล ไฮเรสโซลูชั่นทั้งหลาย
หากพูดถึงผู้ผลิตเครื่องสียงหลอดจากประเทศอเมริกาอันโด่งดังในระดับไฮเอ็นด์และซูเปอร์ไฮเอนด์ที่มีจุดหมายในการผลิตเครื่องเสียงในรูปแบบหลอดสุญญากาศนั้น นับนิ้วดูคงมีไม่ครบถึงสิบนิ้วแม่มือแน่นอน บ้างก็ผลิตเครื่องเสียงทั้งแบบหลอดสุญญากาศและแบบโซลิดสเตท บ้างก็ผลิตแบบไฮบริจ ส่วนยี่ห้อที่มุ่งมั่นออกแบบพร้อมผลิตเครื่องเสียงประเภทสุญญากาศอย่าง Conrad Johnson นั้น ยังเดินหน้าผลิตเครื่องเสียงประเภทหลอดสุญญากาศต่อไป
Conrad Johnson หรือที่เรียกกันย่อๆ ติดปากว่า CJ ในบ้านเราสร้างชื่อเสียงไว้ดีเยี่ยมทีเดียว วางตัวเป็นเครื่องเสียงระดับไฮเอ็นด์ตั้งแต่วางขายในประเทศไทย มีผลงานวางจำหน่ายมากรุ่นและสร้างชื่อเสียงไว้ในรูปแบบปรีแอมป์ + เพาเวอร์แอมป์ ส่วนอินทีเกรทแอมป์นั้น เคยวางจำหน่ายและเป็นดาวค้างฟ้าเพียงไม่กี่รุ่นในบ้านเรา ในครั้งนี้ Conrad Johnson ได้วางตลาดอินทีเกรทแอมป์รุ่นใหม่อีกครั้งในรหัสรุ่น CAV 45 เป็นอินทีเกรทแอมป์ที่ผมขอยืมมาใช้งานในครั้งนี้ ส่วนประวัติต่างๆ ของ CJ สามารถอ่านได้ในเว็บไซต์ของผู้ผลิต
รูปลักษณ์และการใช้งาน
Conrad Johnson CAV 45 ออกแบบเครื่องตามสไตล์ Conrad Johnson ดั้งเดิม คือหน้าปัทสีทองและมีปุ่มสั่งงานวางไว้ข้างใดข้างหนึ่ง มองเห็นครั้งแรกก็สามารถระบุลงไปได้ทันทีว่านี่คือเครื่องเสียงจาก Conrad Johnson ผู้ผลิตเครื่องเสียงหลอดสุญญากาศจากอเมริกา สำหรับ CAV 45 นั้น ได้ถอดแบบอัตลักษณ์ดังกล่าวไว้ครบถ้วนทีเดียวเชียว
เริ่มจากด้านหน้าของแผงหน้าปัท ใช้อะลูมิเนียมแผ่นชุบสีทองด้านไม่เงาแวววาว กึ่งกลางของตัวแผงหน้าปัทสกรีนตัวอักษรสีดำยี่ห้อ Conrad Johnson ไว้เด่นชัด ด้านขวาของแผงหน้าปัท ติดตั้งปุ่มหมุนขนาดเท่ากันสองปุ่ม ปุ่มแรกสำหรับตำแหน่งเลือกอินพุท โดยกำหนดอินพุทไว้สามช่อง คือ 1-3 ตามลำดับ ปุ่มนี้หมุนได้สามตำแหน่งแล้วต้องหมุนกลับ สกรีนตัวอักษรไว้ชัดเจน ถัดมาเป็นปุ่ม เพิ่ม-ลด ระดับเสียง สกรีนตัวอักษร Volume สีดำไว้เด่นชัด ทั้งสองปุ่มนี้ทำมาร์คขีดยาวที่ด้านหน้าของปุ่มไว้สำหรับชี้ตำแหน่ง โดยที่ปุ่มเลือกอินพุทยังมีเส้นรับที่แผงหน้าปัท ส่วนปุ่มวอลลุ่มนั้น ไม่มีสเกลใดสกรีนไว้ ใช้การหมุนในตำแหน่งต่ำสุดไว้และเพิ่มระดับหมุนไปตามเข็มนาฬิกาตามต้องการ
ด้านซ้ายสุดของแผงหน้าปัทสีทองนี้ ติดตั้งสวิทช์เปิด-ปิดไฟเข้าเครื่อง ซึ่งมีความใหญ่โตและแข็งแรงมากทีเดียว แผงหน้าปัทชิ้นนี้ติดตั้งเข้ากับตัวเครื่องสีดำด้วยโบลท์หัวหกเหลี่ยมฝังลงลึกข้างละสองตัว เมื่อมองตรงเข้าที่หน้าปัทของเครื่องจะมองเห็นหลอดสุญญากาศที่ติดตั้งไว้ ในกรณีเครื่องใหม่ ยังไม่ใส่หลอดสุญญากาศ เราจะมองในแนวตรงลึกเข้าไปพบหม้อแปลงด้านเอาท์พุททั้งหมด 3 ลูกขนาดใหญ่ แต่ถ้าหากประกอบอุปกรณ์ให้ครบถ้วนแล้ว CAV 45 มีชุดตะแกรงครอบหลอดสุญญากาศ ตะแกรงให้ความแข็งแรงและชุบสีดำทนความร้อน ในการใช้งานจริง การไม่ใส่อาจมีประเด็นบางเด็นที่ให้ผลเชิงบวกมากกว่า
เมื่อมองเข้าไปดูด้านบนของเครื่อง ออกแบบช่องใส่หลอดสุญญากาศด้านซีกขวาสองหลอดและด้านซีกซ้ายสองหลอด กำกับตัวเลขช่อง V5,V7 – V4,V6 ตามลำดับ ช่องเสียงข้างต้นเป็นช่องเสียบหลอดเพาเวอร์เอาท์พุททั้งหมดสี่หลอด โดย Conrad Johnsom เลือกใช้หลอด Mullard เบอร์ EL 34 ทั้งสี่หลอด และมีการจูนเสียงโดยระบุหลอดที่แมทช์ชิ่งกันให้ตรงกับแท่นเครื่องที่จะใส่เข้าไป บนแท่นเครื่องใกล้ๆกับช่องเสียบหลอดเพาเวอร์นั้น ทุกช่องเสียบจะออกแบบให้เจาะรูและติดตั้งสวิทช์ Bias Adjust พร้อมทั้งดวงไฟสีแดงควบคุมทุกตำแหน่งของ Socket หลอดเอาท์พุท สำหรับอินทีเกรทแอมป์เครื่องนี้ ผู้ผลิตหรือผู้จัดจำหน่ายได้ปรับจูนมาให้เรียบร้อยแล้ว หากจะทำการปรับไบอัสกระแสไฟของหลอดใหม่ ให้อ่านจากคู่มือการปรับตั้ง โดยตัวเครื่องมีเครื่องมือปรับตั้งมาให้เป็นอุปกรณ์มาตรฐานด้วย
ในด้านกึ่งกลางของแท่นเครื่อง ระหว่างหลอดเพาเวอร์ทั้งข้างซ้ายและข้างขวา ออกแบบตำแหน่งสำหรับใส่หลอดขนาดเล็กกว่า 3 หลอด หลอดทั้งสามหลอดมีหน้าที่การทำงานแตกต่างหน้าที่กัน โดยวางตำแหน่ง SOCKET ทั้งสามหลอดในรูปสามเหลี่ยม โดยกำหนดช่องเสียบหลอด V1-V3 ไว้ ซึ่งตัวแรกระบุเป็น V1 และด้านบนรูปสามเหลี่ยมเป็น V2-V3 ตามลำดับ ตัวหลอดจากผู้ผลิตได้จูนและกำกับแต่ละตำแหน่งไว้ชัดเจน หลอดขนาดเล็กชุดนี้สำหรับ V1 เลือกใช้หลอดเบอร์ 6922 ของ Eletroharmonic ส่วนหลอด V2-V3 นั้นเลือกใช้หลอดเบอร์ 5965 ซึ่งใส่กล่องสีขาวมาโดยไม่มีรายละเอียดใด จับต้องได้ว่าเป็นหลอดจากอเมริกา จากที่สกรีนไว้ที่หลอด ด้านบนแท่นบริเวณช่องเสียบหลอดชุดนี้ สกรีนตัวอักษรสีขาวซึ่งระบุวิธีการปรับไบอัสกระแสของหลอดเอาท์พุทไว้เป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งในคู่มือก็ระบุวิธีการปรับไบอัสกระแสให้กับหลอดเอาท์พุทไว้เช่นกัน
แท่นด้านบนของเครื่องชุบสีดำสนิทในหลายๆ ตำแหน่งติดตั้งสกรูสำหรับยึดแผงวงจรจากด้านในเรียงรายไว้หลายตัว ถัดมาแถวด้านหลังเครื่องเป็นตำแหน่งติดตั้งหัวใจสำคัญของอินทีเกรทแอมป์หลอด ออกแบบให้วางทรานฟอร์เมอร์ประเภท EI ที่มีจุดเด่นเรื่องความหวานและอิ่มของเสียงไว้ทั้งหมดสามตัว โดยแยกออกเป็นเอาท์พุททรานฟอร์เมอร์ซีกด้านซ้ายและซีกด้านขวา และอินพุททรานฟอร์เมอร์ตรงกึ่งกลาง เสื้อด้านนอกของทรานฟอร์เมอร์ชุบสีดำเช่นเดียวกับแท่น ซึ่งดูแล้วทรานฟอร์เมอร์เป็นงานประเภททำมือ เพราะพิจารณาจากกายภาพภายนอก ไม่น่าจะเกิดจากการผลิตด้วยเครื่องจักรใดๆ ระหว่างเอาท์พุททรานฟอร์เมอร์ทั้งซีกซ้ายและซีกขวานั้น ติดตั้งหลอดไฟแสดงสถานะฟิวส์สีแดงไว้ข้างละหนึ่งดวง
ด้านหลังของตัวเครื่องเป็นศูนย์รวมของการเชื่อมต่อ ทั้งภาพอินพุทเพาเวอร์ซัพพลายและสายเชื่อมต่อสัญญาณและสายเชื่อมต่อลำโพง เริ่มจากช่องเสียบสายไฟฟ้าเข้าเครื่อง IEC แบบสามขาตัวนำ ติดตั้งไว้ซีกซ้ายของเครื่อง โดยขั้วเสียบนี้มีกระบอกฟิวส์แบบหลอดฝังอยู่ด้านใต้ขั้วเสียบ พร้อมทั้งระบุแรงเคลื่อนของกระแสไฟฟ้าที่ 220-240 โวลต์ ถัดมาด้านซ้ายสุดเป็นขั้วเชื่อมต่อสายลำโพง ตัวขั้วชุบทองเงาแวววาวและใช้งานได้ถึงห้าทิศทาง ตรงกึ่งกลางพอดิบพอดีเป็นตำแหน่งคำเตือนและเพลทระบุยี่ห้อพร้อมตอกรุ่นและเบอร์ของเครื่องไว้ชัดเจน ถัดมาด้านขวามือเป็นขั้วลำโพงอีกหนึ่งชุด และสุดท้ายด้านขวาสุดของเครื่อง เป็นตำแหน่งขั้วเชื่อมต่ออินพุทแบบอันบาลานซ์ ติดตั้งตามแนวดิ่งทั้งสามแชนแนล ขั้วทั้งสามชุดนี้ชุบทองเงาแวววาวและดูแข็งแรงแน่นหนามาก
เมื่อตะแคงเครื่องเพื่อดูใต้เครื่อง พบว่าใต้เครื่องนั้นเจาะช่องระบายความร้อนช่วงท่อนหน้าและช่วงท่อนหลังตามแนวขวางของเครื่องไว้เพื่อระบายความร้อน เมื่อมองลอดเข้าไป พบแผงวงจรสีเขียวเต็มพื้นที่พร้อมทั้งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อีกหลายตัว แสดงว่าอินทีเกรทแอมป์เครื่องนี้ใช้การออกแบบๆ ลงปริ้น ไม่ใช้วิธีฮาร์ดวายร์ ด้านมุมของแท่นเครื่องด้านล่างนี้ ติดตั้งขายางรองรับเครื่องไว้ทั้งหมดสี่ตัว ซึ่งรองรับน้ำหนักของเครื่องทั้งหมดได้ดี
Conrad Johnson CAV 45 ทำงานในโหมด Ultralinear ให้กำลังขับที่ 45 วัตต์ต่อข้าง (2 x 45 วัตต์) ที่ความต้านทานปกติ 4 โอห์ม โดยรองรับการใช้งานกับลำโพงได้ทั้ง 4 โอห์มและ 8 โอห์มโดยไม่มีปัญหาใดๆ หลอดเพาเวอร์เบอร์ EL34 4 หลอด (Mullard) หลอดภาคปรี 5965 2 หลอด 6922 1 หลอด (Electro harmonix) ตอบสนองความถี่ที่ 30 เฮิรตช์ถึง 15 กิโลเฮิรตช์ อัตราสัญญาณต่อเสียงรบกวน 96 เดซิเบล ความไวขาเข้า 0.35 โวลต์ ค่าความต้านทานขาเข้า 100 กิโลโอห์ม ต้องการแรงเคลื่อน 220-240 โวลต์ที่ 50/60 เฮิรตช์ ฟิวส์ภาคเอาท์พุทแบบเซรามิคชนิด Fast Blow ขนาด 5 X 20 มิลลิเมตร 800 มิลลิแอมป์
Conrad Johnson CAV 45 มีขนาดและสัดส่วน กว้าง 441 สูง 170 ลึก 340 มิลลิเมตร น้ำหนักตัวเครื่อง 19 กิโลกรัม บรรจุมาในกล่องกระดาษสีน้ำตาล สกรีนข้างกล่องชัดเจน พร้อมทั้งแยกตัวหลอดสุญญากาศออกจากเครื่องและใส่กล่องไว้อีกชั้นเพื่อป้องกันการเสียหาย นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย บริษัท Audio Excellence จำกัด โทร 0-2631-5375-6
ชุดและอุปกรณ์อ้างอิง
Conrad Johnson CAV 45 เครื่องนี้เป็นเครื่องใหม่เอี่ยมแกะกล่อง อาจไม่เคยลองใช้งาน ด้วยกายภาพภายนอกที่บ่งบอกให้เป็นเช่นนั้น อีกทั้งร่องรอยการแกะออกมาดูแทบไม่เห็นร่องรอยใดๆ นับว่าต้องใช้เวลาอีกนานพอควรกว่าเครื่องจะผ่านพ้นระยะการเบิร์นอิน เครื่องเสียงที่ร่วมใช้งานอ้างอิงประกอบด้วยเครื่องเสียงหลักๆ สองชุดดังนี้
ชุดแรกประกอบด้วยเครื่องเล่น CD / DAC MBL Corona : C31, อินทีเกรทแอมป์เป้าหมาย Conrad Johnson : CAV 45, ลำโพง Totem Acoustic : Model One Signature ป้ายสีเงินโลโก้สีแดงรุ่นแรก, ลำโพงวางขาตั้ง Monitor Audio : Studio 2, ลำโพง Wharfedale : Denton 85th Anniversary Limited Edition, ลำโพง XAV : Pratiott prototype (Tweeter TDL), จัดวางบนขาตั้ง Focus Audio สูงจากพื้นรวมเดือยแหลม 24 นิ้ว, ขาตั้ง Partington Super Dreadnought สูง 24 นิ้ว สีแกรไฟต์ ด้านบนตู้ลำโพงวางก้อนอิทธิเจทับไว้ตู้ละหนึ่งก้อน
สายสัญญาณอะนาลอกจาก CD ไปอินทีเกรทแอมป์ Cardas Golden Reference (RCA) ท่อหดเทาตัวหนังสือสีทองยาว 1 เมตร, สายลำโพง Cardas Cross รุ่นเก่าสีเขียว Bi-wire ขั้วต่อจากโรงงาน ยาว 3 เมตร, สายไฟเอซีเครื่องเล่นซีดี JPS INWALL Power Cord สีแดง เข้าขั้วตัวผู้ Wattgate 330 ขั้วท้าย Wattgate 350 รุ่นเก่า, สายไฟเอซี Hovland Main Line Power Cord เข้าขั้วตัวผู้ Wattgate 330 ขั้วท้าย Wattgate 350 รุ่นเก่าเสียบเข้าที่อินทีเกรทแอมป์ โดยสายไฟของเครื่องเล่นซีดีและอินทีเกรทแอมป์ต่อเข้าปลั๊กลอยอมฤตรุ่นพิเศษ Wattgate แบบหกช่องเสียบ (ที่ระลึกครบรอบ ๙ ปี www.audio-teams.com เจ.เจ. ปลั๊ก) รองใต้ปลั๊กด้วย Acoustic Revive TB-38H จากปลั๊กลอยต่อด้วยสายไฟ Cardas Golden Reference Power Cord รุ่นดั้งเดิมท่อหดเทายาว 2 เมตร เข้าปลั๊กผนัง Acoustic Revive Plug (Special Plug) อีกช่องเสียบสายไฟใช้งานเครื่อง Acoustic Revive RD-3
ชุดที่สองประกอบด้วย เครื่องเล่นแผ่นเสียง Roksan : Radius 5 พร้อมหัวเข็มและอาร์มของ Roksan, โฟโน Project : THE Phono BOX, เครื่องเล่น CD ARCAM : FMJ CD23 dCS Ring DAC plus HDCD, อินทีเกรทแอมป์เป้าหมาย Conrad Johnson : CAV 45, ลำโพงวางขาตั้ง Totem Acoustic : Model One Signature ป้ายสีเงินโลโก้สีแดงรุ่นแรก, ลำโพง Wharfedale : Denton 85th Anniversary Limited Edition, ลำโพง Monitor Audio : Studio 2, ลำโพงวางขาตั้ง XAV : Patiott prototype(Tweeter TDL) วางบนขาตั้ง Totem Acoustic T4S ขนาด 24 นิ้ว ไม่ได้กรอกทรายทุกชนิด ด้านบนตู้ลำโพงวางก้อนอิทธิเจทับไว้ตู้ละหนึ่งก้อน
สายสัญญาณอะนาลอกจาก CD ไปอินทีเกรทแอมป์ Cardas Golden Reference (RCA) ท่อหดเทาตัวหนังสือสีทองยาว 1 เมตร, สายลำโพง Cardas Cross รุ่นเก่าสีเขียว Bi-wire ขั้วต่อจากโรงงาน ยาว 3 เมตร, สายไฟเอซีเครื่องเล่นซีดี JPS Inwall Power Cord เข้าขั้ว Wattgate ทองรุ่นเก่าทั้งด้านขั้วตัวผู้และขั้วตัวเมียยาว 2.1 เมตร, สายไฟเอซี Hovland Main Line Power Cord เข้าขั้วตัวผู้ Wattgate 330 ขั้วท้าย Wattgate 350 รุ่นเก่าเสียบเข้าที่อินทีเกรทแอมป์ โดยสายไฟของเครื่องเล่นซีดีและอินทีเกรทแอมป์ต่อเข้าปลั๊กลอยหิมพานต์ แบบหกช่องเสียบ (ที่ระลึกครบรอบ ๙ ปี www.audio-teams.com เจ.เจ. ปลั๊ก) รองใต้ปลั๊กด้วย Acoustic Revive TB-38H จากปลั๊กลอยต่อด้วยสายไฟ Cardas Golden Reference Power Cord รุ่นดั้งเดิมท่อหดเทายาว 2 เมตร เข้าปลั๊กผนัง Wattgate Audio : 381 Classic รุ่นเก่า อีกช่องเสียบสายไฟใช้งานเครื่อง Acoustic Revive RD-3 ด้านท้ายสายไฟเอซีทั้งหมดรองไว้ด้วยอุปกรณ์รองสาย Acoustic Revive PSA-100 ทุกจุดทุกเครื่อง พร้อมทั้งต่ออุปกรณ์จัดการระบบกราวด์ Acoustic Revive RGC-24 ไว้ที่อินทีเกรทแอมป์
เครื่องเล่นแผ่นเสียงจัดวางบนชั้นวาง Solid Tech : Rack of silence regular 1 + แผ่นไม้ TARGET AUDIO B1 รองใต้เครื่องเล่นแผ่นเสียงด้วยไดนาฟุตสามลูก โดยเอาด้านสีขาวหงายขึ้น เครื่องเล่นซีดี จัดวางบนชั้นวาง Target Audio : B1 + แผ่นไม้แท้, อินทีเกรทแอมป์วางไว้บนชั้นวาง Solid Tech : Rack of silence regular 1 + แผ่นไม้ Solid Tech แท้, ด้านบนของเครื่องบริเวณทรานฟอร์เมอร์วางก้อนอิทธิเจทับไว้หนึ่งก้อน และบริเวณโวลลุ่มวางก้อนอิทธิเจรุ่นดั้งเดิมไว้หนึ่งก้อน พยายามแยกสายต่างๆ ให้ห่างออกจากกัน และยกสายสัญญาณด้วยก้อนอิทธิเจ (ที่ระลึกครบรอบ ๙ ปี www.audio-teams.com) สายลำโพงรองไว้ด้วยตัวรองสาย Cable Insulater Acoustic Revive RCI-3H ข้างละสองตัว และรองดัวยตัวรองสาย Solid Tech ข้างละสองตัว ส่วนสายไฟเอซีทั้งหมดยกให้ลอยจากพื้นห้องด้วยบล็อคไม้ Cardas ในระบบไฟเอซีและขั้วต่อสายสัญญาณระหว่างเครื่องรวมถึงขั้วด้านท้ายของอินทีเกรทแอมป์ จูนไว้ด้วย Acoustic Revive : QR8 ทั้งหมดแปดจุดแปดตัว
ภายในห้องฟังใช้อุปกรณ์สะท้อนเสียง (แผงดิฟฟิวเซอร์) ของ Handcraft Acoustic 1 ชุด มีทั้งหมดสี่แผงและปรับแต่งอะคูสติกเบื้องต้นด้วยอุปกรณ์ปรับแต่ง ASC Sound Panel ทั้งหมดสี่คู่ โดยวางไว้ด้านหลังลำโพงสองคู่ ด้านข้างลำโพงสองคู่ ด้านหลังลำโพงปรับแต่งด้วยจิกซอว์ของ HIFI Club หนึ่งคู่ ใกล้กันจูนด้วยรูมจูนของ Michel Green 1 คู่ (สีเทา) รูมจูน Michel Green อีกหนึ่งคู่วางจูนไว้ด้านหลังห้อง (สีขาว) จูนเสียงโดยวาง Dyna Foot 3 ลูก ไว้ตรงกึ่งกลางของแผงดิฟฟิวเซอร์แผงกลางด้านหลังลำโพง 1 ลูก และวางไว้ข้างซ้ายและข้างขวาอย่างละ 1 ลูก แผงหลังจุดนั่งฟังวางทิปโท เจ.เจ. จูนเสียงด้านบนแผงดิฟฟิวเซอร์ทั้งสามตัว โดยวางไว้ข้างซ้าย,ขวาและกึ่งกลางอย่างละหนึ่งตัวเอาด้านปลายแหลมชี้ขึ้นฟ้า มีอุปกรณ์ปรับความถี่ ABC ของออดิโอคอนซัลแตนซ์วางไว้กึ่งกลางแผงหลังอีกที ส่วนแผงด้านข้างทั้งสองแผงจูนเสียงด้วย Dragon Foot (By เดอะหั่ง แห่ง HIFI HOUSE) ลูกใหญ่ตรงกึ่งกลางแผงละ 1 ลูก และวางเครื่องกำจัดคลื่นรบกวน Acoustic Revive RR-888 ไว้ด้านบนกึ่งกลางแผงดิฟฟิวเซอร์ด้านหลังลำโพง เป็นตำแหน่งที่ดีสำหรับห้องฟังห้องนี้
ขนาดของห้องฟังโดยประมาณ กว้าง 3.8 ยาว 6.5 และสูง 2.4 เมตร ผนังด้านข้างเป็นอิฐมอญฉาบเรียบด้วยปูนฉาบทาปิดผิวหน้าด้วยสีน้ำ พื้นไม้เข้าลิ้นวางทับหน้าด้วยพรมบริเวณจากหน้าลำโพงถึงจุดนั่งฟัง นั่งฟังด้วยเก้าอี้ผ้าที่มีความสูงพอดีกับหัวไหล่ โครงเก้าอี้เป็นไม้และใช้วัสดุเป็นผ้ารองนั่งกับแผงพนักพิงหลัง นั่งฟังห่างจากลำโพง 2.4 เมตร โทอินลำโพงไม่เกิน 20 องศา โดยประมาณ (เกือบทุกคู่) พร้อมทั้งวางก้อนอิทธิเจรุ่นฉลองครบรอบ 9 ปี เว็บไซด์ออดิโอทีมดอทคอมทับด้านบนของตู้ลำโพงไว้ตู้ละ 1 ก้อน
ผลการลองฟัง
Conrad Johnson CAV 45 เป็นอินทีเกรทแอมป์หลอดที่ใหม่มาก ผมค่อยๆ บรรจงแกะออกและตรวจดูสภาพด้วยความระมัดระวังและตรวจสอบอย่างละเอียด พร้อมทั้งตรวจสอบหลอดสุญญากาศที่แยกให้มาด้วย ที่กล่องบรรจุหลอด ระบุเลขของหลอดแต่ละตัวว่าเป็นหลอด V ไหน เนื่องจากการผลิตและจูนเสียงขั้นสุดท้ายก่อนออกจำหน่ายนั้น หลอดแต่ละหลอดจะต้องอยู่ในตำแหน่งสุดท้ายของการจูนเสียงและปรับไบแอสกระแสให้กับหลอด ดังนั้น ผู้ใช้งานจำเป็นต้องเสียบหลอดให้ตรงกับ ช่องเสียบหลอดที่กำหนดไว้ ส่วนการปรับไบแอสกระแสของหลอดนั้น แนะนำให้ผู้จำหน่ายตรวจสอบก่อนส่งมอบและปรับจูนให้เรียบร้อยในรูปแบบที่ผู้เล่นสามารถนำไปใช้งานได้เลย
เมื่อตรวจสอบเรียบร้อยแล้ว ผมค่อยๆ ใส่หลอดแต่ละตัวเข้าไปในซ็อคเก็ตรับหลอด ควรให้ขาหลอดตรงกับช่องรับหลอดจึงจะเสียบเข้าไป หากฝืนเสียบโดยที่ขาหลอดไม่ตรงกับตำแหน่งช่องรับหลอด จะทำให้เครื่องเสียหายทันทีที่เปิดใช้งาน เมื่อประกอบหลอดเข้าไปถูกต้องครบถ้วนแล้ว ควรนำเครื่องต่อร่วมเข้ากับชุดใช้งาน โดยมีทั้งสัญญาณอินพุทเข้าและโหลดลำโพงขาออก ทั้งหมดนี้ต้องดำเนินการเชื่อมต่อให้เรียบร้อยก่อนเปิดเครื่อง เมื่อเปิดเครื่องใช้งาน ผู้ผลิตแนะนำระยะเวลาการใช้งานหลังจากการเปิด 15 นาที ตัวเครื่องจะถึงอุณภูมิการใช้งานปกติ แต่มิได้หมายความว่าการเปิดตั้งแต่วินาทีแรกจะไม่สามารถใช้งานได้ ในความเป็นจริงแล้ว วินาทีแรกของการเปิดเครื่อง ตัวเครื่องเริ่มทำงานและใช้งานได้เลย เพียงแต่รออุณภูมิของเครื่องตามข้อแนะนำเท่านั้น คล้ายๆ กับการติดเครื่องรถยนต์ที่ควรรอให้ถึงอุณภูมิทำงาน ประสิทธิภาพของเครื่องจะถือว่าสมบูรณ์ที่สุด
สำหรับทุกครั้งที่เริ่มใช้งาน ผมอุ่นเครื่องตามเวลาที่ผู้ผลิตแนะนำเสมอ นั่นเป็นช่วงที่เครื่องพร้อมใช้งาน แต่ในความเป็นจริงหากผ่านพ้นไปในระดับ 20 นาทีขึ้นไปแล้ว ตัวเครื่องจะนิ่งสนิท พร้อมทุกท่วงทำนองกันเลยทีเดียวเชียว สำหรับช่วงหนึ่งนาทีแรกของการใช้งานนั้น น้ำเสียงโดยรวมยังสดใสและให้รายละเอียดอย่างน่าพอใจไม่น้อย ไม่มีอาการขุ่นมัวของฉากหลังและเนื้อเสียงแม้แต่น้อย เป็นน้ำเสียงแรกที่น่าชื่นชมมาก ซึ่งผิดจากการคาดคะเนว่าเครื่องเสียงหลอดในช่วงแรกจะขาดพละกำลังและเนื้อเสียง สำหรับ Conrad Johnson CAV 45 สร้างความพอใจตั้งแต่แรกสัมผัสกันเลยเชียว
จากการใช้งานตั้งแต่ชั่วโมงแรกไปถึงชั่วโมงที่ยี่สิบ น้ำเสียงอันไพเราะตั้งแต่แรกยังปลดปล่อยรายละเอียดที่สุภาพมากขึ้นทุกครั้ง มีเนื้อเสียงเพิ่มเติมขึ้นมาเล็กน้อย สมดุลเสียงเริ่มเข้าที่มากยิ่งขึ้น ไม่เน้นบวมหนาอย่างที่หลายท่านให้นิยามกับเครื่องเสียงหลอดยี่ห้อนี้ หางเสียงทอดตัวไปไกลและพลิ้วไหวละเอียดสุภาพมาก ให้จังหวะพอดิบพอดีไม่เร่งให้รุกเร้าหรืออืดย้วยเพื่อเรียกหาบรรยากาศและช่องว่างช่องไฟทั้งหลาย ยังมีบุคลิกในแนวเครื่องหลอดอย่างภาคภูมิและให้เสน่ห์ยากที่จะมีใครเหมือน การเบิร์นอินด้วยการฟังเพลงพร้อมสลับกับการเบิร์นอินด้วยแผ่นเบิร์นอินระดับโลกของ Purist Audio Design Rev-B จึงดำเนินไปพร้อมๆ กับการใช้งาน
ในช่วงเบิร์นอิน Conrad Johnson CAV 45 ใช้งานโดยไม่ครอบตะแกรงที่ให้มา ก่อนหน้านี้ ได้ลองใช้งานแบบครอบตะแกรงกับไม่ครอบตะแกรง ซึ่งหลายๆ ประเด็นของการไม่ใช้ตะแกรงครอบมีจุดเด่นมากกว่า จึงไม่ใช้ตะแกรงครอบตลอดระยะเวลาการฟังและการใช้งาน สำหรับประเด็นการใช้งานตะแกรงครอบหลอดนั้น เป็นการทดสอบการระบายความร้อนของเครื่อง หากผู้ใช้งานนำมาใช้งานโดยใส่ตะแกรงนี้ไว้ตลอดการใช้งาน ความร้อนของตัวหลอด/จะส่งผลถึงความเสียหายของอุปกรณ์อื่นหรือไม่ และเครื่องยังสามารถใช้งานโดยไม่ตัดระบบหรือไม่ แค่เหตุผลเดียวเท่านั้น
เมื่อช่วงเวลาผ่านพ้นมาราวหนึ่งร้อยห้าสิบชั่วโมงเศษ ทุกอย่างเข้าที่ถึงที่สุด ผมเชื่อว่า Conrad Johnson CAV 45 พร้อมแล้วสำหรับการขึ้นแท่นชี้แจงบุคลิกของตนและองค์รวมทั้งหมดของเครื่อง โดยเริ่มจากการกำหนดสัดส่วนรูปวงความสูงต่ำได้ดีเยี่ยม พร้อมทั้งตรึงตำแหน่งชิ้นดนตรีทั้งหมดไว้แน่นสนิท ในช่วงที่สวิงเสียงอย่างฉับพลันตอบสนองขึ้นไปได้ดีและรักษารูปวงพร้อมตำแหน่งไว้ให้มั่นคงไม่ลดรูปวงและสัดส่วนลง ความสูงจากเครื่องเป่าประเภทแซกโซโฟนม้วนเสียงลงจนถึงพื้นแล้วปลดปล่อยให้ล่องลอยไปจรดเพดาน ให้เสียงเข้มข้นเล็กน้อยและย้ำเน้นประกายเสียงย่านเสียงแหลมต่อเนื่องไปจรดหางเสียง เป็นการเสนอออกมาด้วยความละเอียด สุภาพ และกังวานใสไร้ม่านหมอก พื้นเสียงมีความสะอาดมาก อัลบั้ม [Arne Domnerus : Antiphone Blues / proprius PRCD 7744] ถ่ายทอดแรงปะทะในจังหวะแรกที่กระแทกลมหายใจเป่าออกมาเหมาะสม ย้ำเน้นให้สมดุลกลมกลืนไปตลอดท่วงทำนอง
พิจารณาเรื่องรูปวง ด้านกว้างและด้านลึกขยายออกไปให้มีความสมดุลกันทั้งสองด้าน โดยด้านลึกให้แถวแรกวางระดับลดหลั่นจากหน้าลำโพงไปหนึ่งแถวและขยายด้านกว้างให้เหยียดออกจนชิดขอบแผงดิฟฟิวเซอร์ด้านข้าง ส่วนลำดับแถวต่อๆ ไปเว้นระยะให้มีความห่างจากแถวแรกโดยคงรักษาระดับความห่างในแต่ละแถว ตามสัดส่วนความห่างของแถวดนตรี จากแถวที่สองไปยันแถวสุดท้ายของวงด้านกว้างค่อยๆ ลดระดับลงเป็นสัดส่วนกับด้านลึก รูปวงที่ได้สวยงามไม่น้อยโดยให้ระยะความลึกด้านหลังลึกเข้าไปสุดโถงแบบไม่ต้องพินิจ อัลบั้ม [POSTCARDS : The Turtle Creek Chorale / RR-61CD] บ่งชี้คำกล่าวข้างต้นได้ดี เมื่อพิจารณาองค์รวมทั้งสามด้านแล้ว การกำเนิดเสียงในรูปแบบสามมิติฉายออกมาได้โดดเด่น
การจำแนกแยกแยะรายละเอียดของแถวดนตรีจากอัลบั้มร้องประสานเสียงประเภทเพลงสวด [Now the Green Blade Riseth / proprius PRCD 9093] จำแนกแยกแยะออกมาได้ดีเยี่ยม ด้วยความห่างระหว่างแถวดนตรีแต่ละแถวทำให้จำแนกได้เด่นชัด ซึ่งชี้ประเด็นลงไปว่าเสียงที่ปลดปล่อยออกมาเป็นเสียงจากนักร้องชาย นักร้องหญิงและเด็ก ในแถวหลังๆ ยังคงรายละเอียดให้สัมผัสได้ดี ไม่มีความพร่ามัวหรือเสียงเบลอ ตัวเสียงเกลี้ยงเกลาเด่นชัด เสียงทั้งหมดไม่พุ่งแยงหูในช่วงที่เร่งโวลลุ่มให้สูงขึ้น มีบรรยากาศรายล้อมทั่วทุกอณู เกรนเสียงละเอียด ฟังได้อรรถรสของความใสผสมกับเนื้อเสียงที่สมดุลและต่อเนื่องของเสียงทั้งหมด จึงไม่มีความเบื่อหน่ายและความเครียดใดๆ ในการรับฟัง
พิจารณาความกังวานของเสียงเปียโน ให้ความกังวานและย้ำเน้นรายละเอียดของตัวเสียงให้เด่นชัด บรรยากาศรอบๆ ตัวเสียงมีให้มามากเพียงพอที่จะส่งเสริมให้เพลงร้องเด่นชัด ย้ำเน้นหนักเบาบนพื้นฐานความสดใส ตัวเสียงสะอาดเกลี้ยงเกลา สัมผัสได้ไม่ยากนักกับอัลบั้ม [ART FOR THE EAR / Burmester CD III] เสริมเติมกับจังหวะแรกของเครื่องดนตรีที่ปะทะออกมา ให้แรงปะทะของเสียงแรกกระทบที่เด่นชัดไม่เป็นรองเครื่องประเภทโซลิดสเตท หลังจากจังหวะแรกกระทบแล้ว มวลเสียงทั้งหมดควบแน่นกลมกลึง และปล่อยให้หางเสียงทอดตัวตามจังหวะเวลาจึงค่อยๆ จางหายไปอย่างราบรื่น
กับเครื่องสายเครื่องสีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นไวโอลิน กีตาร์ที่นำเสนอจาก [ART FOR THE EAR / Burmester CD III] ถ่ายทอดออกมาด้วยความชัดใสให้ความกังวานดีเยี่ยม ให้มวลเสียงแหลมสมดุลกับย่านเสียงกลางพร้อมเติมฐานเสียงให้สมดุลเสียงยอดเยี่ยม หางเสียงทอดตัวไปไกลและพุ่งทะยานรวดเร็วต่อเนื่อง ให้ลีลาในการนำเสนอแบบตลอดท่วงทำนอง เสียงการบดขยี้ไวโอลิน ตัวเสียงแยกแยะอิสระต่อกันและหางเสียงไม่ซ้อนทับกัน มีรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ นำเสนออยู่ต่อเนื่อง สัมผัสรายละเอียดของแต่ละเสียงได้ดี การจำแนกรายละเอียดไม่เป็นรองเครื่องประเภทโซลิดแม้แต่น้อย นำเสนอให้มีจังหวะจะโคนตามทำนองโดยไม่มีการรั้งรอ ยิ่งแนวทางการบันทึกสดๆจากอัลบั้ม [The Fi / Analogue Production SAMPLER] นี้ตอบสนองความสด จังหวะจะโคน ความคึกคักเพลิดเพลินได้ตลอดท่วงทำนองได้ดีทีเดียว
เสียงแหลมทั้งหมดจากอัลบั้ม [ART FOR THE EAR / Burmester CD II] ให้ความชัดเจนและต่อเนื่อง ตัวเสียงชัดใสพร้อมความกังวานของเสียงรายล้อมอยู่ในย่านเสียงแหลมดีเยี่ยม บางแทร็คให้จังหวะเวลารุกเร้ารวดเร็ว (แทร็คที่ห้าอัลบั้มเดียวกัน) มีการจัดระเบียบในการนำเสนอและถ่ายทอดรายละเอียดของชิ้นดนตรีต่างๆ ให้แยกอิสระต่อกัน หางเสียงแต่ละตัวไม่ซ้อนทับบดบังกัน กำหนดช่องว่างช่องไฟให้ได้สัดส่วนที่เหมาะสมไม่ชิดกัน พื้นเสียงทั้งหมดสะอาด เสียงที่ถูกถ่ายทอดออกมาเน้นสมดุลเสียงอย่างเยี่ยมยอดเสมอ พร้อมความใสเคลียร์ของบรรยากาศรายล้อม
แนวเพลงขับร้องจากนักร้องรุ่นใหญ่อัลบั้มยอดนิยม [Carol Kidd : ALL MY TOMORROWS/ALOI Record] เสียงขับร้องให้มวลเสียงใหญ่โตตามสเกลของคนขับร้อง รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เด่นชัด ให้ความกังวานพร้อมบรรยากาศรายล้อมที่สัมผัสได้อยู่ตลอดเวลา เสียงจากพื้นหลังแยกแยะได้ดีเยี่ยม ช่วงขับร้องในจังหวะโหนเสียงสูงขึ้นไปทำได้ต่อเนื่องไร้อาการสะดุดจนสุดหางเสียง บรรยากาศรอบตัวเสียงเคล้าคลออยู่ตลอดท่วงทำนอง โดยแบ่งความสมดุลระหว่างบรรยากาศที่ว่านี้กับตัวเสียงให้เสนอออกมาสมดุลกัน ย่านเสียงแหลมตอนกลางไปยันเสียงแหลมสูงสุดจำแนกรายละเอียดออกมาได้ดี เกรนเสียงละเอียด เน้นย่านเสียงกลางไปจรดเสียงแหลมสูงสุดให้สดใสชัดเจน ซึ่งความสดใสและความชัดเจนนี้อยู่บนพื้นฐานอันเอกอุของสมดุลเสียง ในระดับความดังปกติ
อีกหนึ่งเสียงขับร้องของนักร้องหญิงจากอัลบั้ม [CLAIR MARLO : LET IT GO Sheffield Lab CD29] เสียงขับร้องมีขนาดของเสียงสมดุลตามสัดส่วนเสกล เน้นให้ชัดถ้อยชัดคำ บรรยากาศรอบตัวเสียงขับร้องสัมผัสได้ดีเช่นเดิม ตอบสนองจังหวะดนตรีที่ขับร้องออกมาด้วยความเพลิดเพลินและความสดใสในการขับร้อง ควบคุมน้ำหนักเสียงในแต่ละย่านได้ดี ตอบสนองสัญญาณฉับพลันต่อเนื่องได้ทันท่วงทีพร้อมตรึงตำแหน่งไว้ให้แน่นสนิท รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ในระหว่างแถวมีความเด่นชัดและเพียบพร้อมด้วยรายละเอียดที่จับต้องได้อยู่ต่อเนื่อง เสียงขับร้องกระจ่างชัดเจนและคงไว้ด้วยบรรยากาศรอบตัวเสียงขับร้องตลอดท่วงทำนอง
ข้ามฟากมาฝั่งของเสียงขับร้องของนักร้องชาย ในแทร็คที่เก้าของอัลบั้ม [TEST CD5 / OPUS 3 CD20000] ตัวเสียงขับร้องชัดใสกระจ่าง เสกลของเสียงเครื่องดนตรีสมดุลกัน ตัวเสียงทอดตัวไปได้ไกลจึงเก็บหางเสียงตามจังหวะเวลา เสียงขับร้องพอมีบรรยากาศรายล้อมอยู่ต่อเนื่อง การกำหนดลมหายใจเข้าออกที่แผ่วเบาถ่ายทอดออกมาด้วยความชัดเจน ให้รายละเอียดปลีกย่อยออกมามากและครอบคลุม กำหนดเสียงแผ่วเบาและสวิงเสียงดังขึ้นทำได้ดี ให้ไดนามิกส์คอนทราสต์เด่นชัด บ่งบอกบุคลิกในรูปแบบของเครื่องหลอดที่มีแนวทางไม่ต่างจากเครื่องโซลิดเท่าใดนัก
อีกอัลบั้มของเสียงขับร้องจากนักร้องชาย [ART FOR THE EAR / Burmester CD III] ให้มวลพอดิบพอดี การร้องประสานเสียงแยกแยะกันอิสระและไม่มีอาการล้ำหน้าเกินเสียงหลัก ระดับเสียงของนักร้องทั้งหมดกำหนดไว้ในรูปวงอันสวยงาม หางเสียงของการขับร้องจางหายไปด้วยความราบรื่น เสียงสไลด์กีตาร์หรือรูดสายกีต้าร์นำเสนอออกมาได้เด่นชัดและมีลีลาโดยย้ำเน้นความหนักเบา ความอ่อนแก่ของการเล่นกีตาร์ ให้ความเพลิดเพลินในจังหวะการผ่อนหนักเบานี้ เข้าขามากกับแนวทางการเล่นสด รายละเอียดของเสียงในแถวถัดไปยังรักษาระดับความดังได้เด่นชัด ยิ่งเป็นส่วนที่ลึกเข้าไปจนสุดโถงยังสัมผัสได้ดี
กับเสียงดับเบิ้ลเบสของอัลบั้ม [THE RAVEN / Rebecca Pidgeon Chesky Records JD115] ให้มวลเสียงสมดุล การเล่นดับเบิ้ลเบสสอดคล้องกับเสียงขับร้องกลมกลืนกันไร้รอยต่อของย่านเสียงกลางทุ้มกับย่านความถี่เสียงกลางแหลม มีหัวโน๊ตที่กระชับพอเหมาะ ขนาดทรวดทรงเสียงสมดุลกลมกลืน เสียงเดินเบสแต่ละเส้นให้จังหวะสอดคล้องกับเสียงเปียโนและเครื่องเคาะ หางเสียงแต่ละตัวที่มีขนาดใหญ่โตตามการบันทึกแยกแยะเป็นอิสระต่อกัน ช่องว่างช่องไฟเด่นชัดไม่ซ้อนทับบดบังกัน จังหวะตัวโน๊ตเงียบสนิทก็นำเสนอได้ดีมาก พื้นเสียงทั้งหมดสะอาดจำแนกแยกแยะเสียงต่างๆ ให้หลุดลอยออกจากพื้นเสียงได้ดีเยี่ยม
การตอบสนองช่วงอัดฉีดกระแสขณะที่ลำโพงกินกระแสและลดโหลดให้ต่ำลงลง Conrad Johnson CAV 45 แม้จะมีกำลังขับไม่สูงมากนัก แต่สามารถจ่ายกระแสให้กับลำโพงได้ต่อเนื่อง เสียงกลองใบใหญ่ของอัลบั้ม [Rain Forest Dream / SAYDISC CD-SDL384] จังหวะแรกกระทบที่หวดกลองลงไปกลมกลึงควบแน่นพอประมาณ ควบคุมกรวยลำโพงไม่ให้สั่นค้างทำได้พอเหมาะ ทุกครั้งที่หวดกลองลงไปเสียงอื่นยังคงตรึงไว้แต่อาจย่นย่อความเด่นชัดของแถวหลังๆลงบ้าง ไม่มีอาการหุบเข้าของเวทีเสียง การหวดไม้กลองในจังหวะแรกพอเหมาะไม่ย้ำเน้นให้แรงปะทะแรกดุดันเท่าไหร่นัก เสียงทุ้มที่ได้จึงย้ำเน้นหัวโน๊ตที่ดีมาก เมื่อสิ้นสุดการหวดไม้กลองลงไปตัวเสียงควบแน่นกลมกลึงและมีการแผ่ขยายตัวเสียงดังกล่าวพร้อมให้บรรยากาศความกังวานรอบตัวเสียงกลองนี้ออกมาดีทีเดียว
เสียงกลองขนาดใหญ่จาก [Ultimate Reference CD/WILSON AUDIO WA8008] เสียงกลองที่ได้เป็นเสียงจากกลองที่ขึงมาตึงเล็กน้อย ให้เสียงสะท้อนจากเสียงแรกกระทบออกมาพอเหมาะ เสียงทุ้มไม่โด่งล้ำหน้าย่านเสียงใด คงไว้ด้วยสมดุลเสียงย่านเสียงทุ้มนี้กับเสียงย่านอื่นๆ ได้ดีเช่นเดิม เน้นหัวโน๊ตให้ฉับไวเล็กน้อย ให้ความเป็นดนตรีอยู่ต่อเนื่องและฟังได้ยาวนานมากกว่าความเฉื่อยช้า ด้วยกำลังขับที่ให้มาขับดันลำโพงวางขาตั้งขนาดเล็กที่ไม่กินวัตต์มากเกินไปได้อย่างเพียงพอ การขับดันลำโพงที่ไม่โหดจนเกินไปจึงไม่พบปัญหาในการใช้งาน ยิ่งเป็นเสียงทุ้มจากเหล่าเครื่องดนตรีไม้ มีทั้งเสียงแรกกระทบและเสียงสะท้อน จำแนกออกมาได้โดดเด่น อัลบั้ม [TakeDake With Neptune : ASIAN ROOTS / Denon LC8723] เป็นตัวบ่งบอกประเด็นข้างต้นได้ดี ทำให้สนุกสนานจากการฟังและไม่เกิดอาการล้าหู ทั้งยังให้ความเพลิดเพลินในทุกจังหวะที่นำเสนอออกมาทั้งอัลบั้ม
นอกเหนือจากเสียงทุ้มของเครื่องดนตรีไม้แล้ว จังหวะของเครื่องดนตรีเหล่านั้นในอัลบั้มเดิม [Take’Dake’ with Neptune / AISIAN ROOTS DENON USA] ตอบสนองได้ทันท่วงทีตามจังหวะ การเคาะระนาดไม้ผสมกับจังหวะกลองและเครื่องเป่าให้จังหวะต่อเนื่องตอบสนองได้ดี พร้อมจำแนกแต่ละประเภทของเครื่องดนตรีออกมาได้โดดเด่น มีเสียงสะท้อนกลับจากการเคาะ การเป่า ยิ่งเป็นเสียงหนังกลองที่สะท้อนกลับมาให้ความชัดใส ซึ่งความโดดเด่นเหล่านี้หาได้ไม่ง่ายนักกับอินทีเกรทแอมป์หลอดสุญญากาศธรรมดาทั่วไป เป็นการออกแบบที่ผสมผสานระหว่างเสียงจากเครื่องหลอดที่จูนเสียงให้ตอบสนองกับเสียงยุคใหม่ได้ดีอีกด้วย
ในแนวเพลงคลาสสิกวงใหญ่ กับการจำแนกแยกแยะแต่ละแถวเป็นอิสระต่อกันในลำดับแรกแล้ว การวางชิ้นดนตรีนับร้อยให้มีตำแหน่งและตรึงไว้แน่นสนิททำได้เหมาะสม ตอบสนองแนวการฟังเพลงประเภทนี้ได้ดีกว่าเครื่องหลอดสุญญากาศทั่วไป อีกทั้งจำแนกแยกแยะรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ออกมาอีกมาก อัลบั้ม [THE SYMPHONIC SOUND STAGE D / CD3502] สรุปรวมหลายประเด็นไว้อย่างชัดแจ้ง นำเสนอออกมาได้สมดุลทั้งด้านกว้าง ด้านลึก และด้านสูง ด้วยสเกลเสียงที่มีขนาดสมดุลทั้งสามด้านส่งผลให้เครื่องดนตรีนับร้อยชิ้นรักษาความเป็นอิสระต่อกัน สมดุลเสียงยอดเยี่ยมตลอดการนำเสนอ
บทสรุป
Conrad Johnson CAV 45 เป็นอินทีเกรทแอมป์หลอดทำงานในโหมดวงจร Ultralinear ซึ่งให้กำลังขับในระดับ 25 วัตต์ต่อข้าง เหมาะสมกับลำโพงที่มีขนาดไม่ใหญ่ สามารถใช้กับลำโพงไดนามิกทั่วไปได้ บางคู่มีความไวต่ำและสลับซับซ้อนยังขับดันออกมาให้น่าพอใจไม่น้อย การใช้งานก็เรียบง่ายแบบประเภทไม่ต้องปรับแต่งอะไรมากมาย สวยงามตามแบบฉบับ CJ
จากการลองฟังและใช้งานจริง แนวเพลงขับร้องให้ลีลาและท่วงทำนองได้ดีเยี่ยม อีกทั้งยังให้ความกระจ่างใส โดดเด่นมากกับสมดุลเสียงอันยอดเยี่ยม ไม่เอนเอียงไปทางสดสว่างหรือขุ่นทึบจนบอดี้ใหญ่บวมใดๆ เป็นการจูนเสียงที่ยอดเยี่ยมมากในยุทธจักรเครื่องเสียงหลอดไฮเอ็นด์ การจับคู่กับลำโพงไม่กินวัตต์ทั้งหลาย จะสามารถเล่นได้ทุกแนวโดยไม่ต้องกังวลใดๆ ยิ่งเป็นดนตรีน้อยชิ้นยิ่งโดดเด่นเหลือคณา
ในทำนองเดียวกัน เป็นความยากลำบากไม่น้อย หากจะนำอินทีเกรทแอมป์หลอดวัตต์ไม่สูงมากนัก ไปขับลำโพงขนาดใหญ่และเล่นเพลงแนวขาร็อคและพวกคลาสสิกทั้งหลาย อีกทั้งเร่งโวลลุ่มให้ดังในห้องฟังที่ใหญ่โตมากเกินไป แน่นอนว่าเสียงขับร้องและย่านเสียงแหลมที่ให้ความละเอียด พื้นเสียงสะอาดนั้นยังคงนำเสนอออกมาได้ดีเช่นเดิม ส่วนเสียงย่านทุ้มต้นและทุ้มลึกอาจจะส่งถ่ายให้ครบถ้วนนั้นเป็นไปยากลำบากเช่นกัน เสมือนคุณได้ใช้เครื่องยนต์ขนาดเล็กขับดันรถยนต์ที่มีน้ำหนักระดับสามตันขึ้นไป ยิ่งคุณพยายามเร่งโวลลุ่มให้สูงเกินระดับเที่ยงวัน คุณจะได้ยินแต่เสียงด้านกลางและสูงเพิ่มขึ้น เสมือนรถเร่งสุดคันเร่งแต่ไม่สามารถเพิ่มความเร็วได้
จากคำกล่าวข้างต้น มิใช่จะบ่งบอกว่าอินทีเกรทแอมป์เครื่องนี้ไม่ดี แต่เป็นการใช้งานที่ต้องจับคู่ให้เหมาะให้ควร หากนำมาจับคู่กับลำโพงวางหิ้งทั้งหลาย อีกทั้งขนาดห้องฟังอยู่ในระดับเล็กไม่เกิน 28 ตารางเมตร คุณจะได้สัมผัสอินทีเกรทแอมป์หลอดที่นำเสนอสมดุลเสียงได้เยี่ยมยอดและให้ความราบรื่นของเสียงอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งจำแนกทุกอักขระออกมาให้สัมผัสได้ง่ายดาย ไม่นำเสนอสิ่งที่ทำให้เกิดความรำคาญแม้แต่ครั้งเดียว อีกทั้งบรรยากาศในแต่ละแถวดนตรีนั้นเพียบพร้อมสมบูรณ์มากทีเดียว โถงด้านหลังยังเสนอชิ้นดนตรีให้เด่นชัด ไม่พร่ามัว
นอกเหนือจากนั้น ผมยอมรับในเรื่องจังหวะจะโคน รายละเอียด การย้ำเน้นหนักเบา อิมแพ็กต์แรกกระทบที่ทำได้โดดเด่นไม่น้อยหน้าเครื่องโซลิด ความนวลเนียนของเนื้อเสียงโดดเด่นดีเยี่ยม ด้วยราคาจำหน่ายกับบุคลิกของเครื่องที่ถ่ายทอดออกมา ประกอบกับงานตัวถังด้านวิศวกรรมที่ปราณีตพอควร ใช้งานง่ายในรูปแบบบริสุทธิ์นิยม เหล่านี้เองที่ Conrad Johnson CAV 45 อินทีเกรทอมป์หลอดไฮเอ็นด์จากอเมริกาแท้ๆ ควรค่าแก่การใช้งาน
ไม่ต้องคิดมาก หากเสียงขับร้องเป็นปัจจัยหลักในการฟังเพลงของท่าน Conrad Johnson CAV 45 เป็นอินทีเกรทแอมป์หลอดในพอศอนี้ที่ควรฟัง ก่อนที่จะไม่มีใครผลิตอินทีเกรทแอมป์ไฮเอ็นด์ดั้งเดิมออกมาให้ครอบครอง !!!
– รูปลักษณ์ 5 ดาว
– ความสะดวก 4 ½ ดาว
– คุณภาพเสียง 5 ดาว
– ประสิทธิภาพ 4 ½ ดาว
– ความคุ้มค่า 4 ½ ดาว
– คะแนนโดยรวม 4 ½ ดาว
———————————————————————————————–
หมายเหตุ : ขอขอบคุณ บริษัท Audio Excellence จำกัด โทร 0-2631-5375-6 ที่เอื้อเฟื้ออินทีเกรทแอมป์หลอดฯ Conrad Johnson CAV 45 สำหรับการลองฟังในครั้งนี้