What HI-FI? Thailand

อยากเล่นไวนิลยุคนี้ จัดชุดอย่างไร ไม่ให้งบบานปลาย (1)

Mongkol Oumroengsri

ในยุคสมัยที่อะไรๆ ดูจะต้องรวดเร็วฉับไว ทันอกทันใจไปซะทุกอย่าง การเล่นเครื่องเสียงดิจิทัลดูจะเบ่งบานเป็นที่ถูกอกถูกใจคนเจนเอ๊กซ์ เฉพาะอย่างยิ่งสตรีมมิ่งที่กลายเป็นสมัยนิยม แต่ยังมีชนกลุ่มน้อยในกลุ่มนักเล่นเครื่องเสียงที่ยังยึดติดอยู่กับมนต์เสน่ห์แห่งความเป็นแอนาลอค (analogue โดยเฉพาะแผ่นเสียงที่พูดก็พูดเถอะนะครับว่า ไม่น่าเชื่อว่า จะกลับฟื้นคืนชีพมาเป็นหอกข้างแคร่กับอุปกรณ์ดิจิทัลสารพัดอย่าง มิใช่แค่แผ่นซีดีอย่างยุคก่อนโน้น ตอนที่แผ่นซีดีสอยแผ่นเสียงร่วงจากบัลลังก์ไปตอนช่วงปลายยุค 80

แผ่นเสียงนับเป็นหนึ่งในซอฟต์แวร์ที่มีตัวตน จับต้องได้ ไม่ต่างจากแผ่นซีดี จะซื้อหามาเก็บสะสมโดยไม่ฟังก็ยังได้ ไม่เน่าเสีย – บุบสลายหรือเสื่อมสูญ แผ่นเสียงบางแผ่นกลายเป็นของหายาก เพราะเหลืออยู่จำนวนน้อย หรือได้รับความนิยมมาก จนมีมูลค่าสูงขึ้นตามหลักอุปสงค์อุปทาน …การเล่นแผ่นเสียงจึงดูจะได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ จากคนทั่วโลก แม้แต่คนที่รักชอบอยู่กับความทันยุคทันสมัยในโลกดิจิทัล ก็ยังพูดคุยกันถึงเรื่องของการเล่นแผ่นเสียง

หากย้อนกลับไปในช่วงก่อนการเล่นแผ่นเสียงล่มสลายตอนปลายยุค 80 …พูดไปคงไม่ผิดนักที่นักเล่นเครื่องเสียงต้องมีเครื่องเล่นแผ่นเสียง หรือ Turntable จัดอยู่ในซิสเต็ม บางคนอาจมีมากกว่าหนึ่งเครื่อง บางคนอาจมีแค่หนึ่งเครื่องแต่ติดตั้งหลายโทนอาร์ม นักเล่นเครื่องเสียงแทบทุกบ้านในสมัยนั้น จะต้องมีเครื่องเล่นแผ่นเสียงไว้ใช้งานกัน มิใช่แค่วางโชว์ประดับบ้าน บางคนถึงขนาดมีเครื่องเทปรีล หรือ เทปคาสเซ็ตเอาไว้ถ่ายบันทึกเพลงโปรดที่ชื่นชอบเก็บไว้รวมไว้เป็นชุด การเล่นเครื่องเสียงสมัยก่อนนู้นจึงทั้งสนุกและได้ทักษะ เพราะการจะถ่ายบันทึกเพลงโปรดลงเทปนั้น ขั้นแรกต้องทำการเซตเครื่องเล่นแผ่นเสียงให้ถูกต้อง จนได้เสียงดีงามมีความไพเราะ นักเล่นเครื่องเสียงในยุคนั้นจึงมีทักษะสามารถทำการเซตเครื่องเล่นแผ่นเสียงได้กันแทบทุกคน

ในความเป็นจริง การเซตเครื่องเล่นแผ่นเสียงจึงมิใช่เรื่องยาก จนถึงขนาดจำเป็นต้องหามืออาชีพมาทำการปรับตั้งให้ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม เป็นที่ร่ำลือในหมู่ผู้คิดอยากจะเล่นเครื่องเล่นแผ่นเสียง อาจถึงขั้นขยาด-ถอดใจไปเลยก็มี ทั้งๆ ที่การเซตเครื่องเล่นแผ่นเสียงเพื่อการรับฟังนั้นมิได้ยุ่งยากซับซ้อนอะไรเลย และอาจไม่ต้องถึงขั้นพึ่งพาผู้เชี่ยวชาญมาปรับตั้งให้ด้วยซ้ำ ถ้าคุณมีความตั้งใจแน่วแน่ อย่าไปกลัวในสิ่งที่ยังไม่เคยทำ ขอให้คุณมั่นใจในตนเองเพียงพอ รับรองว่า จะสนุกกับการปรับเซตเครื่องเล่นแผ่นเสียงด้วยซ้ำ

Photo by Krisp Cut on Pexels.com

อย่างที่จ่าหัวไว้ว่า …อยากเล่นไวนิลยุคนี้ จัดชุดอย่างไร ไม่ให้งบบานปลาย… บทความนี้จะชี้ทางให้คุณๆ ที่สนใจอยากจะเล่นแผ่นเสียงได้ทราบถึงแนวทางการจัดชุดที่ไม่ชักพาไปเข้ารกเข้าพกจนผลาญงบบานปลาย และรับรองว่า ได้เสียงดีๆ มารับฟัง เพลิดเพลินใจ ไม่มีวีน / แต่ครั้นจะจู่ๆจ่าๆก็ว่ากันด้วยงบประมาณสำหรับการจัดชุด คงไม่เหมาะนัก น่าจะได้ชี้แจงกันก่อนเป็นตอนแรก เพื่อให้ทราบว่า เครื่องเล่นแผ่นเสียงมีส่วนใดที่ควรทำความรู้จัก หรือควรได้รับความใส่ใจ รวมถึงว่า มีส่วนใดที่สามารถปรับตั้ง-เปลี่ยนแปลงได้บ้าง เพื่อนำไปสู่การใช้ประโยชน์ได้สูงสุด

ทั้งนี้เครื่องเล่นแผ่นเสียงที่ผลิตจำหน่ายกันในยุคปัจจุบัน ส่วนใหญ่ได้รับการออกแบบและสรรค์สร้างเพื่อตอบโจทย์ ผู้ที่กลัว หรือ ไม่กล้าทำการปรับตั้งด้วยตนเอง การใช้งานจึงถูกเน้นให้ง่ายเท่าที่จะเป็นได้ การปรับเซตจึงมักเสร็จสิ้นมาจากโรงงานให้พร้อมใช้งาน ซึ่งก็โอเคระดับหนึ่ง เพราะให้เสียงรับฟังได้ แต่บางครั้ง-บางเครื่องอาจได้รับความกระทบกระเทือนจากสภาวการณ์ขนส่ง ส่งผลให้การปรับตั้งต่างๆ คลาดเคลื่อนไป หากได้ทำการปรับเซตให้ถูกต้องตรงตามค่ากำหนด (สเปคฯ) นอกจากจะทำให้มั่นใจได้ในสมรรถนะการใช้งาน ยังอาจช่วยให้ได้มาซึ่งคุณภาพเสียงที่ดีขึ้นกว่าการปรับตั้งสำเร็จจากโรงงานก็เป็นได้

ความเป็นเครื่องเล่นแผ่นเสียงจะประกอบไปด้วยส่วนประกอบหลัก 3 ส่วนสำคัญ

“แท่นเครื่อง” ซึ่งเปรียบเสมือน chassis ของรถยนต์ที่ทุกอย่างจะติดตั้งอยู่บนแท่นเครื่องนี้ โดยที่แท่นเครื่องก็จะมีฐานหมุน หรือ platter ซึ่งนอกจากจะเป็นตัวรองรับแผ่นเสียงที่จะเล่น ยังต้องทำหน้าที่ขับหมุนด้วยความเร็วคงที่ หรือยอมให้มีความคลาดเคลื่อนของความเร็วขับหมุน (ที่โดยหลักสากล นับกันเป็นรอบต่อนาที หรือ round per minute หรือย่อๆ ว่า RPM) อย่างที่เรียกกันว่า wow&flutter ได้บ้างนิดหน่อย เครื่องเล่นแผ่นเสียงที่ออกแบบระบบขับหมุนมาดี ค่าที่วัดเป็นเปอร์เซ็นต์ของ wow&flutter ก็จะต่ำมากๆ แสดงว่า ค่าความเร็วรอบมีความแม่นยำสูง – เร็วไปกว่า หรือว่าช้าไปกว่าค่ามาตรฐานน้อยมากๆ นั่นเอง

ซึ่งก็เป็นที่ยอมรับกันว่า ระบบขับหมุนแบบ Direct Drive ที่ออกแบบมาดีนั้น จะให้ค่า wow&flutter ที่ต่ำกว่าระบบขับหมุนแบบ Belt Drive มากทีเดียว เนื่องเพราะไม่มีค่าความยึดหยุ่นของสานพานขับหมุน (belt) มาสร้างความคลาดเคลื่อนของรอบหมุนขณะใช้งาน เครื่องเล่นแผ่นเสียงระบบ Direct Drive ที่ดีพอประมาณจึงมักมีราคาสูงกว่าระบบ Belt Drive โดยทั่วไป ยกเว้นเครื่องเล่นแผ่นเสียงที่ออกแบบซับซ้อน หรือพิถีพิถันโดยเฉพาะด้วยระบบขวางกั้น หรือ ลดแรงสั่นสะเทือนอย่างดี ก็อาจจะมีราคาที่สูงมากขึ้นกว่าธรรมดา ไม่ว่าจะเป็นระบบขับหมุนแบบใดก็ตาม

เครื่องเล่นแผ่นเสียงบางเครื่องในปัจจุบันก็มิได้มีระบบขวางกั้น หรือ ลดแรงสั่นสะเทือนอย่างที่เรียกกันว่า suspension เนื่องเพราะใช้หลักการทางฟิสิกส์ว่าด้วย วัสดุต่างชนิดกันย่อมส่งต่อพลังงานแรงสั่นสะเทือนได้ต่างกัน ดังนั้นการนำเนื้อวัสดุต่างชนิดกันมาซ้อน หรือ ผนึกให้ติดกัน ย่อมส่งผลลดทอนแรงสั่นสะเทือนให้น้อยลง จนบางทีให้ผลดีกว่าการมี suspension เสียด้วยซ้ำ เพราะการปรับจูน suspension นั้นมักเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความยืดหยุ่นของตัวสปริง ที่ต้องมีหลายตัวทำงานร่วมกัน อย่างน้อยก็ต้องมีสปริง 3 จุด การปรับตั้งค่าสปริงแต่ละจุดให้ทำงานประสานกันอย่างพอเหมาะพอเจาะจึงนับว่า ยุ่งยาก และมีค่าใช้จ่ายสูง เพราะต้องถี่ถ้วนในการปรับตั้ง และยังต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญอีกด้วย

“โทนอาร์ม” (tonearm) เป็นอีกส่วนสำคัญที่มักจะถูกติดตั้งอยู่บนแท่นเครื่อง เพื่อให้มั่นใจว่า อยู่บนระนาบเดียวกับฐานหมุน (platter) ทั้งนี้ก็เพราะว่า โทนอาร์มนั้นคืออุปกรณ์กลางที่มีส่วนสำคัญ สำหรับทั้งการติดตั้งหัวเข็ม และยังต้องสอดประสานกับระดับสูง-ต่ำของฐานหมุน ถ้าหากติดตั้งโทนอาร์ม-สูงเกินไป การติดตั้งหัวเข็มก็จะทำให้ “หัวทิ่ม” เวลาเล่นบนแผ่นเสียง และถ้าหากติดตั้งโทนอาร์ม-ต่ำเกินไป การติดตั้งหัวเข็มก็จะทำให้ “หัวเชิด” เวลาเล่นบนแผ่นเสียง ซึ่งส่งผลกระทบต่อเสียงที่รับฟัง ไม่ว่าจะในกรณีใดๆ ดังนั้นการติดตั้งโทนอาร์มให้ถูกต้อง มีระดับที่เหมาะเจาะเหมาะสมกับฐานหมุน ก็ย่อมส่งผลต่อคุณภาพเสียงอย่างพอดิบพอดี ไม่มีขาดไม่มีเกิน

“หัวเข็ม” (cartridge) แม้จะเปรียบได้กับหัวใจของการเล่นแผ่นเสียง และก็จะอยู่บนแท่นเครื่องนั่นแหละ แต่ก็ต้องติดตั้ง-ใช้งานร่วมกับโทนอาร์ม ดังนั้นหัวเข็มและโทนอาร์มจึงต้องมีความเหมาะสมซึ่งกันและกัน จึงจะให้ผลการใช้งานที่ดี เสียงที่รับฟังก็จะมีคุณภาพตามไปด้วย บางครั้งการเปลี่ยนหัวเข็มโดยไม่คำนึงถึงความเหมาะเจาะกับโทนอาร์ม จึงมักกลายเป็นฝันร้ายที่ไม่กลายเป็นดี

…หลักการของโทนอาร์มกับหัวเข็มที่ระบุไว้ชัดเจน และต้องจดจำให้ขึ้นใจก็คือ โทนอาร์มมวลหนัก (high mass) จำเป็นต้องใช้งานร่วมกับหัวเข็มประเภท low compliance / โทนอาร์มมวลเบา (low mass) จำเป็นต้องใช้งานร่วมกับหัวเข็มประเภท high compliance …แล้วอะไรล่ะคือ โทนอาร์มมวลหนัก – โทนอาร์มมวลเบา …แล้วอะไรเล่าคือ หัวเข็มประเภท low compliance – หัวเข็มประเภท high compliance

ตามตำราว่าไว้ โทนอาร์มที่มีค่ามวลเคลื่อนที่ (moving mass) เกินกว่า 25 กรัมขึ้นไป จัดเป็นโทนอาร์มประเภท มวลหนัก (high mass) ส่วนหัวเข็มที่มีค่า compliance ตามสเปคฯอยู่ที่ 12 x l0ˉ6 หรือต่ำกว่านี้ จัดเป็นหัวเข็มประเภท low compliance และถ้าอยู่ที่ 13 x l0ˉ6 หรือสูงกว่านี้ จะจัดเป็นหัวเข็มประเภท high compliance แต่หากสูงเกินกว่า 25 x l0ˉ6 ก็จะถือว่า very high compliance

แต่เนื่องจากเครื่องเล่นแผ่นเสียงในปัจจุบัน มักได้รับการออกแบบมาอย่างเสร็จสรรพ ให้เหมาะกับนักเล่นมือใหม่ ซึ่งยังไม่คุ้นชิน หรือ ไร้ประสบการณ์การปรับตั้งใดๆ เครื่องเล่นแผ่นเสียงส่วนใหญ่จึงมักได้รับการติดตั้งหัวเข็มที่ผ่านการเลือกเฟ้นให้เหมาะเจาะกับโทนอาร์ม โดยไม่จำเป็นต้องคิดคำนึงถึงเรื่องของ mass กับ compliance ที่ต้องสัมพันธ์กัน มีเพียงแค่การปรับตั้งค่าแรงกดหัวเข็ม หรือ tracking force เท่านั้นที่ควรได้รับการใส่ใจ แม้จะได้รับการติดตั้งมาจากโรงงาน

โดยปกติทั่วไป หัวเข็มเล่นแผ่นเสียงส่วนใหญ่ในปัจจุบัน แทบพูดได้ว่า ออกแบบมาให้เหมาะเจาะกับโทนอาร์มมวลเบาจนถึงมวลกลาง โดยมักจะกำหนดค่าแรงกดหัวเข็มเอาไว้ไม่เกิน 2.5 กรัม รูปทรงของปลายหัวเข็ม อย่างที่เรียกกันว่า styli หรือ stylus นั้นมีหลายลักษณะ แบบพื้นฐานเลยนั้น ก็จะเป็นแบบปลายกลม หรือ conical, แบบที่พัฒนาขึ้นมาและถือกันว่า ให้รายละเอียดเสียงดีกว่าแบบปลายกลม ก็คือ แบบปลายเป็นวงรี หรือ elliptical แต่ถ้าระบุว่า เป็นปลายเข็มแบบ shibata นั่นแสดงว่า เป็นรูปทรงปลายหัวเข็มที่พัฒนาให้ดีขึ้นยิ่งกว่าแบบวงรี โดยเลียนแบบลักษณะของปลายหัวเข็มตัดแผ่นเสียง หรือ cutting head stylus จึงให้รายละเอียดเสียงได้ครบถ้วนที่สุด แต่ก็จำเป็นต้องพิถีพิถันการติดตั้งหัวเข็มประเภทนี้ด้วยเช่นกัน

หัวเข็มเล่นแผ่นเสียงยังแบ่งออกเป็น 3 ประเภทใหญ่

นั่นคือ หัวเข็มแบบแม่เหล็กเคลื่อนที่ หรือ Moving Magnet (MM); หัวเข็มแบบคอยล์เคลื่อนที่ หรือ Moving Coil (MC) และ หัวเข็มแบบ Moving Iron (MI) ซึ่งพัฒนาต่อยอดจากหัวเข็มแบบ MM โดยจะมีวัสดุเหนี่ยวนำเล็กๆ ติดตั้งอยู่ที่ก้านเข็ม แล้วส่งลักษณะการเคลื่อนไหวไปเหนี่ยวนำกับขดลวด ก่อให้เกิดเป็นแรงเคลื่อนไฟฟ้า ตามสัญญาณเสียงบนร่องแผ่นเสียง ในขณะที่หัวเข็มแบบ MC จะมีชุดขดลวดจิ๋วติดตั้งอยู่ที่ก้านเข็ม ท่ามกลางระบบแม่เหล็กขนาดเล็ก ที่จะก่อให้เกิดการเหนี่ยวนำกลายเป็นแรงเคลื่อนไฟฟ้าเพียงไม่กี่ไมโครโวลต์ ตามสัญญาณเสียงบนร่องแผ่นเสียง เมื่อปลายหัวเข็มเคลื่อนที่ไปตามร่องแผ่นเสียง แต่ด้วยความที่มีชุดขดลวดจิ๋วติดตั้งอยู่ที่ก้านเข็ม ทำให้หัวเข็มแบบ MC มิอาจถอดเปลี่ยนหัวเข็มได้อย่างหัวเข็มแบบ MM

หัวเข็มแบบ Moving Iron (MI)

ถ้าจะว่าไป หัวเข็มแบบ MI จึงให้ความคล่องตัวในการเคลื่อนไหวไปตามสัญญาณเสียงบนร่องแผ่นเสียงได้ดีกว่าหัวเข็มแบบ MM เนื่องด้วยความเบาของมวลวัสดุเหนี่ยวนำเล็กๆ ที่ติดอยู่ที่ก้านเข็ม แทนที่ชุดแม่เหล็กเคลื่อนที่ ซึ่งมีมวลที่มากกว่านั่นเอง แต่ทว่า แม้จะมีข้อดี – หัวเข็มแบบ MI กลับไม่ค่อยเป็นที่นิยมมากเท่ากับหัวเข็มแบบ MM ทั้งๆ ที่ก็ถอดเปลี่ยนส่วนปลายหัวเข็ม (stylus) ได้ไม่ต่างกัน หัวเข็มแบบ MM จึงมักเป็นหัวเข็มที่ได้รับการติดตั้งมาควบคู่กับโทนอาร์ม ให้พร้อมสรรพการใช้งานจากโรงงาน ซึ่งขอแนะนำให้ทำการปรับตั้งค่าแรงกดหัวเข็มนี้ไว้ระหว่าง 1.5-1.8 หรือว่า ไม่ควรเกิน 2.0 กรัม นับว่า น่าจะเหมาะสมกับการปรับตั้งค่าแรงกดหัวเข็มสำหรับเครื่องเล่นแผ่นเสียงในปัจจุบัน

สรุป

ถ้าจะเริ่มเล่นแผ่นเสียงก็คงต้องซื้อเครื่องเล่นแผ่นเสียง ซึ่งเครื่องเล่นแผ่นเสียงในปัจจุบันมักได้รับการติดตั้งและปรับตั้งเสร็จสรรพจากโรงงาน บางเครื่องสามารถให้ผู้ใช้ปรับตั้งเพิ่มเติมได้ อย่างเช่น ค่าแรงกดหัวเข็ม เพื่อให้หัวเข็มนั้นทำหน้าที่ในการเกาะร่องแผ่นเสียงได้อย่างเหมาะสม และเก็บเกี่ยวเอารายละเอียดต่างๆ จากร่องแผ่นเสียงได้อย่างที่ควรจะเป็น ส่วนการปรับตั้งโทนอาร์มนั้น บางเครื่องคงไม่สามารถกระทำได้ เนื่องเพราะติดตั้งมาจากโรงงานแบบตายตัว สำหรับการปรับเลือกค่าความเร็วรอบหมุน 33 1/3 RPM หรือว่า 45 RPM

โดยอนุมานทั่วไปนั้น ถ้าเป็นแผ่นเสียง LP ขนาด 12 นิ้วก็มักจะเป็นสปีด 33 1/3 RPM หากเป็นแผ่นเสียง single ขนาด 7 นิ้ว ก็มักจะเป็นสปีด 45 RPM แต่ก็มีบ้างบางแผ่นที่จัดทำเป็นพิเศษ แผ่นเสียง LP ขนาด 12 นิ้วก็จะเป็นสปีด 45 RPM เพื่อให้มีคุณภาพเสียงที่ดีขึ้นจากค่าความเร็วรอบที่สูงขึ้น

ดังนั้นจึงต้องขอให้ดูตามที่ระบุอยู่บนปกแผ่นเสียง หรือว่าบนลาเบลจะชัวร์ที่สุด การเลือกเล่นแผ่นเสียงที่ค่าความเร็วรอบหมุน ไม่ตรงกับค่าที่ระบุไว้สำหรับแผ่นเสียงนั้นๆ นอกจากจะทำให้การรับฟังได้เสียงที่ผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริงแล้ว ยังนับเป็นการทำร้ายแผ่นเสียงแผ่นนั้นโดยทางอ้อมอีกด้วย

ในตอนต่อไป จะได้ว่าถึงอุปกรณ์ใช้งานที่เกี่ยวข้องกับเครื่องเล่นแผ่นเสียง อย่างเช่น ปรีแอมป์, อินติเกรตแอมป์ และ/หรือ โฟโน แอมป์ ว่า ต้องมีอะไรเป็นพิเศษไหม, จำเป็นแค่ไหน และส่งผลอย่างไร สำหรับการเล่นแผ่นเสียง


Exit mobile version