พงษ์ชัย ไทยวรรณศรี
เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๙ ผมได้จัดให้มีการเข้าค่ายเชิงปฏิบัติการเพื่ออบรมครูสอนศิลปะและนักเรียน เพื่อวาดภาพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙
โดยเชิญวิทยากร ซึ่งเป็นศิษย์เก่า และอาจารย์ “เพาะช่าง” (ปัจจุบัน คือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ วิทยาลัยเพาะช่าง) มาให้ความรู้และเทคนิคเกี่ยวกับการเขียนภาพ โดยผู้เข้าอบรมจะมาร่วมกันวาดภาพของในหลวงรัชกาลที่ ๙ จำนวน ๕๙ ภาพ ภาพแต่ละมีความสูง ๒ เมตร ยาว ๑.๔๐ เมตร เมื่อเสร็จแล้วจะนำมาต่อกันซึ่งมีความยาวประมาณ ๑๕๐ เมตร โดยจะติดไว้ที่รั้วศาลากลางจังหวัดพิจิตรหลังเก่า เพื่อให้ประชาชนได้ชมและเรียนรู้พระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ และพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ ที่มีต่อพสกนิกรชาวไทย
วิทยากรที่ผมเชิญมา คือ อาจารย์กมล ทัพคัลไลย นักแต่งเพลงชื่อดังซึ่งอดีตท่านเป็นอาจารย์ที่เพาะช่าง
อาจารย์อนุสรณ์ ลังกาจิตต์ หรือ จ้อ นินจา ศิลปินผู้มากด้วยความสามารถ และอาจารย์อุตสาห์ ไวยศรีแสง อาจารย์สาขาจิตรกรรม
มีโอกาสทำงานกับศิษย์เก่า อาจารย์และนักศึกษาจาก “เพาะช่าง” ทำให้ครูศิลปะ และนักเรียนจังหวัดพิจิตร ที่เข้าร่วมโครงการได้รับความรู้และเทคนิคในการวาดภาพ ทำให้สามารถวาดภาพในหลวง รัชกาลที่ ๙ ได้อย่างวิจิตรงดงาม สมความตั้งใจ
ตลอดระยะเวลาที่ทำงานด้วยกันด้วยความสุข สนุกสนาน ผมได้ทราบเรื่องราวของศิษย์เก่าเพาะช่างที่ประสบความสำเร็จ เป็นที่รู้จักชื่นชมของสังคมไทย
เช่น อดีตนายกรัฐมนตรี ชวน หลีกภัย
ที่น่าแปลกก็คือ ศิษย์เก่าเพาะช่างหลายท่าน กลายเป็น “คนดัง” ในวงเพลงและดนตรี
อาจารย์จ้อ นินจา เขียนชื่อท่านเหล่านั้นให้ผม และแนะนำให้เขียนถึง ศิษย์เก่าเพาะช่าง ที่ประสบความสำเร็จทางด้านนี้ เช่น
๑. สมยศ ทัศนพันธุ์
๒. สุเทพ วงศ์กำแหง (ศิลปินแห่งชาติ)
๓. สมเศียร พานทอง หรือ ชาย เมืองสิงห์ (ศิลปินแห่งชาติ)
๔. สิทธิพร อมรพันธ์ (นักร้อง, นักดนตรีวงดิอิมพอสซิเบิ้ล)
๕. อำนาจ สีมา (นักร้อง, นักดนตรี, หัวหน้าวงรอยัลสไปรท์ส)
๖. อนุสรณ์ จังกาจิตต์ หรือ จ้อ นินจา (นักร้อง, นักแสดง)
๗. อนุศักดิ์ จังกาจิตต์ หรือ ซ่าส์หมาว้อ (นักร้อง, นักแสดง)
๘. รัก รักพงษ์ หรือ พระโพธิรักษ์ (ประพันธ์เพลง)
๙. ธนิษ ธนโกเศฐ (นักร้อง, นักประพันธ์เพลง)
๑๐. วสันต์ โชติกุล (นักร้อง, นักดนตรี, น้องชายอัสนี)
๑๑. ประสิทธิ์ ชำนาญไพร (นักดนตรี, นักเรียบเรียงเสียงประสาน)
๑๒. วิดไฮเปอร์ (นักร้อง, นักดนตรี, นักประพันธ์เพลง)
๑๓. กมล ทัพคัลไลย (นักดนตรี, นักประพันธ์เพลง)
๑๔. ปริพนธ์ วัฒนขำ หรือใฝ สันติภาพ (นักร้อง, นักดนตรี)
๑๕. หมึก ทานตะวัน (นักร้อง, นักดนตรี)
๑๖. เสรี กลางสาทร หรือ อุอ๊ะ อมตะ (นักร้อง, นักดนตรี, เพลงตาผุยชุมแพ, ซี่โครงบุญมา)
ผมจึงเกิดความคิดที่จะเขียนถึง นักร้อง นักแต่งเพลง นักดนตรี และผู้ที่เกี่ยวข้องในวงการเพลงที่เป็นศิษย์เก่าเพาะช่าง โดยจะเริ่มจากนักร้องก่อน
ขอเริ่มจากนักร้องที่ผมชื่นชอบและประทับใจที่สุดก่อน นั่นคือสุเทพ วงศ์กำแหง
ผมชื่นชอบเพลงไทยสากล (ลูกกรุง) น้ำเสียงของสุเทพ วงศ์กำแหง เมื่อได้พบความ “งดงามไพเราะ” จากเพลงซึ่งเป็นเสียงของ สุเทพ วงศ์กำแหง
ยุคนั้น เป็นยุคปลายๆ ของเพลงลูกกรุงและเริ่มยุคต้นๆ ของเพลงที่เรียกว่า เพลงสตริง อย่าง
วงแกรนด์เอ็กซ์, รอยัลสไปรท์ส, พีเอ็มไฟร์, ชาตรี ฯลฯ
จากนั้นเสียงที่ทุ่มนุ่มเป็นธรรมชาติ มิได้ดัดจริต เสแสร้ง ซึ่งเป็นเสียงแบบผู้ชายไทยแท้ๆ ประกอบกับเพลงดนตรีที่มีคุณภาพ ซึ่งเกิดความพิถีพิถันในการสร้างสรรค์ของครูเพลงที่ยึดมั่นอยู่บนศิลปะ ทั้งคีตศิลป์ และวรรณศิลป์ บวกกับความรับผิดชอบต่อสังคม และขนบธรรมเนียมประเพณีไทย
เพลงของ สุเทพ วงศ์กำแหง จึงเป็นเพลงที่มีคุณภาพ ซึ่งเวลาได้พิสูจน์ให้เห็นกว่าหกสิบปีในชีวิตแห่งเสียงเพลง วันนี้ สุเทพ วงศ์กำแหง ยังมีคอนเสิร์ต และมีเพลงที่บันทึกเสียงใหม่ออกมาให้แฟนเพลงชื่นหัวใจอย่างสม่ำเสมอ
ด้วยฝีมือการร้องเพลงอย่างมืออาชีพและนิสัยใจคอ ความประพฤติ ตลอดจนการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในสังคม
สุเทพ วงศ์กำแหง อ่อนโยน สุภาพ เรียบร้อยกับคนทุกคน แต่ในความนุ่มนวลนี้แฝงด้วยอุดมการณ์แห่งความรักประชาชน รักความถูกต้อง ไม่ก้มหัวให้แก่เผด็จการ
เคยไปเยือนแผ่นดินใหญ่ของจีนแดง จนถูกสาด “สีแดง” ในยุคเผด็จการ เคยเป็น ๑ ใน ๑๐๐ ที่เรียกร้อง รัฐธรรมนูญ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๖
เคยร่วมก่อตั้งพรรคการเมือง ที่มุ่งหวังช่วยคนยากจน อย่างพรรคพลังใหม่
เคยเล่นการเมือง จนได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ถึง ๒ สมัย จนมาถึงยุคเงินเป็นใหญ่ สุเทพ วงศ์กำแหง จึงต้องพ่ายแพ้ทางการเมืองให้แก่อำนาจเงิน
ด้วยความสามารถในวิชาชีพตลอดจนการประพฤติปฏิบัติตน ทำให้คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติประกาศให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขา ศิลปะการแสดง (เพลงไทยสากลขับร้อง) ประจำปี พ.ศ. ๒๕๓๔
ซึ่งคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้ประกาศเกียรติคุณ ว่า
“ นายสุเทพ วงศ์กำแหง เกิดเมื่อวันที่ ๑๒ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๗๗ ที่จังหวัดนครราชสีมา ปัจจุบันอายุ ๕๙ ปี เป็นศิลปินนักร้องเพลงไทยสากล ที่มีผลงานดีเด่นทั้งในและนอกประเทศเป็นเวลาต่อเนื่องกันมากกว่า ๔๐ ปี มีผลงานขับร้องที่ประจักษ์ชัดเจนในความสามารถอันสูงส่ง ได้พัฒนาวิธีการขับร้องเพลงไทยสากลอย่างไพเราะ และทวีความงดงามในศิลปะแขนงนี้ยิ่งขึ้นเป็นลำดับ เป็นผู้ตั้งใจทำงานอย่างต่อเนื่องจนปรากฏผลงานเพลงมากมาย เช่น ขับร้องเพลงประกอบในภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ เพลงไทยสากลทั่วไป เพลงพระราชนิพนธ์ในรัชกาลปัจจุบัน เพลงอันเกี่ยวด้วยพระศาสนาและจริยธรรม ตลอดจนได้ใช้ความสามารถในเชิงศิลปะสร้างสรรค์อำนวยคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติเสมอมา ทั้งได้ถ่ายทอดความรู้ความสามารถแก่ศิษย์เป็นจำนวนมาก จากความสามารถอันสูงส่งดังกล่าวยังผลให้นายสุเทพ วงศ์กำแหงได้รับพระราชทานรางวัลแผ่นเสียงทองคำ ไม่น้อยกว่า 4 ครั้ง รางวัลเสาอากาศทองคำในฐานะนักร้องยอดเยี่ยม 2 ครั้ง และรางวัลอื่นๆ อีกมากปัจจุบันนายสุเทพ วงศ์กำแหง ยังบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติเป็นเอนกประการ คุณงามความดีที่ได้กระทำอย่างต่อเนื่องมานี้เป็นที่ชื่นชมชัดเจนในหมู่ประชาชนคนไทยโดยทั่วไป
นายสุเทพ วงศ์กำแหง จึงได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (เพลงไทยสากล – ขับร้อง)”
ผลงานการขับร้องเพลงบันทึกเสียงของท่านมีมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ยุคแผ่นครั่ง ประมาณปี พ.ศ. ๒๔๙๔ ยุคที่ร้องเพลงได้ไพเราะที่สุดจากแผ่นเสียงแบบโมโนของ บริษัท กมลสุโกศล และห้างแผ่นเสียงคาเธ่ย์ตรามงกุฎ ประมาณปี พ.ศ. ๒๕๐๐ มาถึงยุคแผ่นเสียงสเตอรีโอ ที่สุเทพ วงศ์กำแหง ได้พัฒนาการขับร้องได้อย่างสมบูรณ์ขีดสุด กับบริษัทเมโทรแผ่นเสียง บริษัท กรุงไทยแผ่นเสียง ฯลฯ มาจนยุคแผ่นซีดี สุเทพ วงศ์ วงศ์กำแหง ก็ยังมีผลงานขับร้องบันทึกเสียงใหม่กับ บริษัท นิธิทัศน์โปรโมชั่น จำกัด, บริษัท โรส วีดีโอ จำกัด, บริษัท อามิโก้สตูดิโอ จำกัด อีกหลายครั้ง ประมาณปี พ.ศ. ๒๕๔๘ สุเทพ วงศ์กำแหง ได้ขับร้องเพลง หรีดรัก และ ลืมรัก ในชุด “ผลงานชิ้นเอก สุเทพ วงศ์กำแหง” บริษัท โรส วิดีโอ จำกัด จัดทำเมื่อต้นปี พ.ศ. ๒๕๔๘ ผมได้ซีชุดนี้ (๒ แผ่น) จาก มือของ สุเทพ วงศ์กำแหง เมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๔๘
ล่าสุด สุเทพ วงศ์กำแหง ได้ออกผลงานกับบริษัท พลนิกรกิมหงวน ในอัลบั้มชุด “วันสบายๆ กับมิตรต่างวัย” เมื่อเดือนกันยายน ๒๕๕๖ งานทางด้านคอนเสิร์ต ท่านก็ยังขึ้นเวทีอยู่เป็นประจำ ครั้งล่าสุดที่ผมได้ไปฟังเสียงท่าน คือคอนเสิร์ต “๗๗ ปี เพลงรักนักแต่งเพลง กมล ทัพคัลไลย” เมื่อวันที่ ๑๗ เมษายน ๒๕๕๙ เสียงของ สุเทพ วงศ์กำแหง ในวัย ๘๒ ปี ก็ยังทุ้มนุ่มนวล ไพเราะ
ผมไปค้นเอกสาร ที่ท่านเขียนถึงชีวิตซึ่งเกี่ยวพันกับโรงเรียนเพาะช่าง จึงขออนุญาตนำมาลงไว้ดังนี้
จากหนังสือ “เฉือนจนหมดหัวใจ” สำนักพิมพ์ประพันธ์สาสน์จัดพิมพ์ เมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๒๐ ตอน “แด่คุณครูด้วยความเสียใจ”
“เมื่อใดก็ตาม
หากผมได้มีโอกาสกลับไปเยี่ยมเยือนถิ่นกำเนิดแล้วนึกถึงสิ่งเก่าๆ อันเป็นความหลัง ชั่วขณะนั้น ผมมักจะรู้สึกว่า เฟืองแห่งจักรกลชีวิตหยุดพักการทำงานลงชั่วคราว พอมีเวลาได้พักผ่อนและรำลึกถึงภาพที่ผ่านมาแล้วกลายเป็นความทรงจำอันไม่มีวันจะลบเลือนทุกครั้งไป
ตรงจุดเล็กๆ จุดหนึ่งในแผนที่ประเทศไทยแถวพื้นภาคอีสาน ซึ่งเป็นเพียงอำเภอเล็ก ๆ อำเภอหนึ่งของจังหวัดนครราชสีมา มีชื่อเรียกสั้นๆ ว่า “สีคิ้ว”
ณ ที่แห่งนี้มีทั้งให้และฝากผมไว้เหลือคณานับ เริ่มตั้งแต่ความอดทนไปจนถึงวิชาความรู้ที่ผมได้นำติดตัวมาต่อสู้ชีวิตให้ยืนอยู่อย่างมั่นใจตราบทุกวันนี้
คุณคงทายไม่ผิด เพราะผู้ให้ที่ผมจะเอ่ยถึงต่อไปนี้ก็คือ
“ครู” ในจำนวนหลายๆ ท่านที่เฝ้าเพียรกล่อมเกลาผมมานั้น ต่างก็มุ่งหวังให้ลูกศิษย์ลูกหามีชีวิตอนาคตสดใสเหมือนกันทุกท่าน
แต่มีอยู่ท่านหนึ่ง ได้เปลี่ยนความมุ่งหมายในแนวชีวิตผมไปได้อย่างแสนแปลกและมหัศจรรย์
น้อยคนที่จะทราบว่าท่านมาจากไหน ?
ส่วนเด็กบ้านนอกอย่างผม ทราบแต่เพียงท่านพูดสำเนียงชาวกรุงชัดเจนและเสียงดัง ถึงผิวของท่านจะมีสีไหม้เกรียมผิดกับชาวกรุงเทพ ฯ ที่ผมเคยพบเห็นมาก่อนเท่านั้นและสิ่งผิดปกติอีกสิ่งหนึ่ง ที่แววตาท่านซ่อนความกรุณาไว้มากมาย
ท่านเริ่มต้นสอนให้ผมรู้จักกับเส้นตรงละเส้นโค้งต่างๆ ของสิ่งของรอบๆ ตัว เริ่มแนะให้รู้จักใช้สีสัน ให้รู้จักความประณีตละเอียดอ่อนด้วยมือและนิ้วทั้งห้า
ท่านเอาใจใส่ต่อผมเป็นพิเศษ ไม่เคยขัดข้องต่อการขอร้องให้แนะนำการเขียนบางอย่างที่ยังไม่เข้าใจ
ผมรู้สึกสนุกสนานและดื่มด่ำกับธรรมชาติอย่างหลงใหล ใจจดใจจ่อต่อการจำลองภาพสดสวยเหล่านั้นลงในกระดาษสีขาวบริสุทธิ์อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน แอบภาคภูมิใจในความสามารถของตนเอง แถมยังเฝ้าหวังไว้ว่า สักวันหนึ่งข้างหน้า ผมคงจะเป็นช่างเขียนที่มีอนาคตแจ่มใส
ด้วยแรงผลักดันอย่างแข็งกล้าจากท่าน และด้วยแรงสนับสนุนจากน้าสาวซึ่งเป็นครูเช่นกัน ทำให้ผมละทิ้งท่านเข้ากรุงเทพ ฯ เพื่อปะติดปะต่อวิชาที่ท่านเริ่มต้นให้จากที่นี่เข้าแหล่งกลางที่ท่านเองก็เคยศึกษาก่อนแล้วนมนาน
ไปสู่ “เพาะช่าง” ศูนย์รวมแห่งศิลปะอันเก่าแก่…
มีวิชาให้เลือกเรียนเกือบทุกแขนง ตั้งแต่ ช่างเขียน ช่างไม้ แกะสลักไปจนถึงช่างแกะโลหะมีพระวิษณุกรรมผู้ทรงดิ่งอยู่ในหัตถ์ซ้าย มีเครื่องปฏิมาอยู่ในหัตถ์ขวา เป็นสัญลักษณ์ไว้เป็นสิ่งบูชาสักการะของบรรดาเหล่าช่างทั้งมวล
ผมฝึกร่ำเรียนด้วยใจอันแน่วแน่ โดยปณิธานเดิมที่ได้รับปากมาจากครูคนแรก จนสำเร็จในที่สุด …
… ครูคงไม่รู้ดอกว่า ครูสอนให้มันเป็นช่างเขียน แต่มันกลับไปหากินทางร้องเพลง คนละทางกัน”
หนังสือ “เฉือนออกมาจากหัวใจ” พิมพ์ที่โรงพิมพ์พิฆเณศ พ.ศ. ๒๕๑๖ ตอน “การชดเชย”
“… สมัยที่ผมยังเป็นนักเรียนช่างเชียนอยู่ที่โรงเรียนเพาะช่างนั้น พวกเพื่อนๆ ผมรู้ดีว่าผมบ้าร้องเพลงขนาดหนัก เพลงอะไรใหม่มาเป็นไม่ได้ทีเดียว เที่ยววิ่งตะรอน ๆ หาเนื้อมาจดลงสมุดแล้วก็ต่อกันร้องกัน จนกว่าจะร้องได้ ไม่เลือกละว่าจะเป็นเพลงไทยหรือเพลงฝรั่งขอให้เพลงนั้นฮิตเป็นใช้ได้
เพลงที่ฮิตๆ สมัยนั้น ส่วนมากเป็น 6 เพลงของพี่วินัย จุลบุษปะ และเพลงของพี่มัณฑนา โมรากุล ถ้าเพลงฝรั่งละก้อ ต้องเป็นของ โจสแตฟฝอร์ด หรือ บิงครอสบี้ร้อง เพื่อนคู่หูของผมคนหนึ่งชื่อสุข ชัดรัตน์เป็นคนหาเนื้อสำหรับเพลงไทย ส่วนเพลงฝรั่งเจ้าเพื่อนรูปร่างผอมสูงโย่งโก๊ะเป็นไม้เสียบผีชื่อ เชิงเทียร อินทรทูต เป็นคนหา วันๆ ร้องแต่เพลง เขียนรูปก็ร้องจนเพื่อนร่วมชั้นรำคาญ
ระยะนั้นเป็นระยะที่โรงเรียนเพาะช่างกำลังเด่นจากละครเรื่อง “กามนิต” ซึ่งจัดโดยคณะครูและนักเรียนเก่า คนดูแน่นขจัดจนถึงกับต้องเสริมที่นั่ง บรรดาผู้แสดงก็ล้วนแต่ผู้มีชื่อเสียงเช่น ครูเหม เวชกร, ครูเจือ จักษุรักษ์, ครูปรุง แสงฟู สมขาย ตัณกำเนิด และใครต่อใครอีกมากมายจำกันไม่หวาดไหว
รวมความกันแล้วว่า โรงเรียนเพาะช่างกำลังมีชื่อเสียงดี นักเรียนเพาะช่างก็รู้สึกโก้ไปด้วย พวกที่คลั่งละครก็คลั่งกันไป พวกที่คลั่งเพลงอย่างผมและเพื่อนจึงไม่มีใครว่าอะไร เพราะมองไปทางไหนก็มีแต่คนชอบเรื่องบันเทิงทั้งนั้น
ด้วยเหตุที่ผมเล่ามาข้างต้น โรงเรียนเพาะช่างจึงมีวงดนตรีของโรงเรียนซึ่งจัดโดยนักเรียนรุ่นพี่ๆ ครูที่สอนก็ไม่ขัดข้อง กลับสนับสนุนโดยอาจจะเป็นเพราะครูเองก็ชอบอยู่แล้วเหมือนกัน
“โปรดติดตามตอนต่อไป”