What HI-FI? Thailand

สายสัญญาณ สายลำโพง สายไฟ ให้ความสำคัญอะไรก่อน

ช.ชิดชล

     เริ่มเล่นเครื่องเสียง เมื่อซื้ออุปกรณ์หลักมาครบ ทั้งเครื่องเล่นต้นทาง แอมป์ภาคขยายและลำโพง สิ่งต่อไปที่ต้องพิจารณาจัดซื้อหาคือ สายต่างๆ เพื่อให้ชุดเครื่องเสียงนั้น ใช้งานได้ แล้วจะซื้อสายอะไรก่อน หรือจะให้ความสำคัญกับสายอะไรก่อน โดยที่สายอื่นๆรองลงมานั้น ใช้ของแถมหรือถูกๆแต่มีคุณภาพที่เหมาะสมได้มาตรฐานไปก่อนได้ บทความนี้มีคำตอบครับ

ทำไมไม่เปลี่ยนหรือให้ความสำคัญกับสายไฟก่อน

     นักเล่นหลายท่านมักมีคำถามว่า หากสายไฟมีคุณภาพที่ไม่ดี ไฟเข้าเครื่องจะดีได้อย่างไร คลื่นรบกวนก็จะเข้ามาในเครื่องได้ กระแสไฟไม่เพียงพอต่อการทำงานของตัวเครื่อง โดยเฉพาะภาคขยายที่กำลังขับสูงๆ ส่งผลต่อบุคลิกเสียง แต่ท่านต้องไม่ลืมว่า สายไฟมีมาตรฐานในการใช้งานต่อทั้งกระแสและแรงดัน หากใช้งานอย่างเหมาะสม คุณภาพตามมาตรฐาน เครื่องเสียงก็สามารถทำงานได้ ตามที่ผู้ผลิตออกแบบมา ภาคขยายวัตต์ก็ไม่ได้ลดน้อยถอยลง หรือสัญญาณขาออกก็ไม่ได้ลดความแรงลง หรือความละเอียดในการถอดรหัสเข้าสัญญาณ ก็ไม่ได้ลดความละเอียดลงแต่อย่างใด

     รวมถึงภายในเครื่อง หากไม่ได้เป็นเครื่องระดับซุปเปอร์ไฮเอนด์ ขั้วต่อภายใน สวิทซ์ปิดเปิด ขั้วกระบอกฟิวส์ ลูกฟิวส์ หรือแม้กระทั่งสายไฟที่เชื่อมต่อไปยังหม้อแปลงไฟฟ้า ผู้ผลิตก็เลือกใช้ธรรมดาในแบบมีมาตรฐาน มีความทนทาน เคลือบป้องกันอ๊อกไซด์ ไม่ถึงกับใช้สายระดับตัวนำความบริสุทธิ์พิเศษ หรือเทคโนโลยีที่ตีเกลียวล้ำลึกพิสดาร ที่สำคัญ ขนาดก็เป็นไปตามมาตรฐานความต้องการของวงจรภายใน ไม่ได้ใหญ่โตขนาดรองรับกระแสไฟฟ้าข้ามจังหวัด

     จึงเป็นเหตุผลว่า เปลี่ยนสายไฟคุณภาพดีเข้าไปกับเครื่องธรรมดา เห็นผลน้อยกว่าเครื่องที่ภายในใช้อุปกรณ์คัดเกรด”

    ตอกย้ำกันที่หากเป็นนักเล่นสมัย 20-30 ปีก่อน เครื่องเสียงที่ท่านนำมาฟังเพลงเกือบทั้งหมด มีสายไฟติดตัวเครื่องนะครับ ไม่ได้มีท้ายแบบ IEC ที่สามารถเปลี่ยนสายไฟได้เหมือนสมัยนี้ แล้วทำไมเขายังฟังเพลงกันมาได้ ฟังกันได้อย่างไพเราะ มีความสุขกับชุดเครื่องเสียงนั้นๆได้ ก็เพราะเขามีมาตรฐานของเขานั่นเอง

     หากจะเปลี่ยนสายไฟ ให้มีคุณภาพตัวนำที่ดีขึ้น มีเทคโนโลยีอันส่งผลต่อการใช้งาน หรือตัวสายและขั้วปลั๊กมีคุณภาพที่ดีขึ้นนั้น เปลี่ยนได้และเป็นเรื่องที่สมควรเป็นอย่างยิ่ง เพราะสายไฟช่วยส่งผลด้าน พละกำลัง เนื้อเสียง น้ำหนักเสียง บางครั้งรวมไปถึงรายละเอียด แม้วัดทางตัวเลขด้วยเครื่องวัด อาจไม่มีความเปลี่ยนแปลงในระดับสำคัญ แต่หูมนุษย์สามารถรับฟัง รับรู้ความเปลี่ยนแปลงได้ ขอให้เลือกเปลี่ยนในคุณภาพที่เหมาะสมกับชุดเครื่องเสียง และเปลี่ยนหลังจากที่มีสายสัญญาณคุณภาพที่ดีแล้ว

     การเลือกใช้สายไฟที่คุณภาพเหมาะสมกับตัวเครื่องแล้ว ความยาวก็เป็นสิ่งที่ควรใส่ใจด้วย เพราะหากสายสั้นกว่า 1.5 เมตร คุณภาพและบุคลิกเสียงก็จะปรากฏน้อย หากต้องการปรุงแต่งในด้านนี้กับชุดเครื่องเสียง ขณะเดียวกับสายไฟที่ยาวกว่า 2.5 เมตรและคุณภาพไม่ดีพอ จะเพิ่มความต้านทานให้กระแสไฟ กลายเป็นความเฉื่อยหรือส่งผลต่อบุคลิกเสียง การเลือกเปลี่ยนก็ให้ความสำคัญกับสายที่อยู่ติดเครื่องเสียงก่อนเป็นลำดับต้น จากนั้นค่อยเปลี่ยนสายที่ไกลออกไปเช่น สายที่มาเข้าปลั๊กลอย หรือสายเมนจากแผงคุมไฟฟ้าภายในบ้าน เพราะสายที่ใกล้จะส่งผลต่อบุคลิกเสียงมากกว่าสายที่ไกลออกไป เหตุผลนี้เอง สายจากการไฟฟ้าถึงบ้านเราจึงไม่ส่งผลต่อเสียงมากนัก

สายลำโพงก็มีความสำคัญแต่ไม่ควรเป็นลำดับต้น

     สายลำโพงควรให้ความสำคัญรองลงมาจากสายสัญญาณ เพราะกระแสและแรงดันที่ส่งภายในสายลำโพงนั้น มีระดับที่สูงกว่าที่วิ่งในสายสัญญาณ(แต่ยังต่ำว่าในสายไฟมาก) สายลำโพงจึงเป็น HI-LEVEL ส่วนสายสัญญาณจึงเป็น LOW-LEVEL สายลำโพงมีความสำคัญเพราะนำเอาสิ่งที่รวมมาจากต้นทาง ผ่านการขยาย ก่อนออกไปที่ลำโพง อันจะแปลงพลังไฟฟ้าให้เป็นพลังกลและเกิดเสียงให้เราฟัง สายลำโพงจึงมีบุคลิกที่สามารถปรุงแต่ง ส่งผลโดยตรงต่อเสียงทั้งระบบ มาตรฐานของสายลำโพงมีแค่ขนาดตัวนำควรมีความเหมาะสมกับกำลังขับ เช่น กำลังขับที่สูงต้องการสายที่มีตัวนำขนาดใหญ่กว่า ค่าความเหนี่ยวนำ ค่าความต้านทานและค่าความเก็บประจุ มีผลต่อรูปแบบและชนิดของวงจรภาคขยาย คุณภาพของตัวนำและความยาวก็ส่งผลต่อบุคลิกเสียง

     แม้สายลำโพงที่อยู่ภายในเครื่องจะไม่ได้เน้นที่คุณภาพดีมากนัก แต่ก็มีระยะที่สั้นและภาคขยายที่ดีมักใช้ขั้วต่อสายลำโพงที่ดี อันส่งผลต่อคุณภาพรายละเอียดเสียงที่ไม่ตกหล่น การเปลี่ยนสายลำโพงให้มีคุณภาพดีขึ้นจึงเป็นเรื่องที่เหมาะสมและสมควรทำ สามารถปรุงแต่ง ปรับจูนเสียงให้กับชุดเครื่องเสียงได้ โดยเปลี่ยนหลังจากที่สายสัญญาณมีคุณภาพที่ดีและเหมาะสมแล้ว ในเบื้องต้นหากยังไม่มีสายลำโพง สามารถใช้สายไฟไทยยาซากิชนิด VCT มาใช้แทนสายลำโพงไปก่อนได้ เพราะมีขนาดให้เลือกตามความเหมาะสมและตัวนำภายในพอใช้ได้

สายสัญญาณสำคัญที่สุด ควรเปลี่ยนหรือเน้นคุณภาพก่อน

    สัญญาณขาออกจากเครื่องเล่นต้นทาง หรือแม้แต่ปรีแอมป์ ต่อให้เป็นสัญญาณแบบบาลานซ์ ที่ให้แรงดันสูงกว่าแบบอันบาลานซ์ สัญญาณเหล่านั้นก็ยังเป็นแบบ LOW-LEVEL เป็นสัญญาณที่ไม่มีความแรงเพียงพอที่จะส่งไปไกลๆ หรือแรงพอที่จะไม่ลดทอนลงด้วยระยะทางหรือคลื่นรบกวน เอาเป็นว่า สัญญาณเหล่านี้ที่กล่าวมา อ่อนไหวต่อคลื่นรบกวน ต้องการตัวนำที่มีคุณภาพดี ค่าความต้านทานต่ำ ให้สัญญาณส่งผ่านไปยังปลายทางได้สะดวก ไม่ลดทอนหรือขาดตกหล่น ด้วยเหตุผลดังกล่าว สายสัญญาณไม่ควรใช้ความยาวที่มากเกินไป หากเลือกได้ให้ใช้สายลำโพงที่ยาวกว่าทดแทนในการจัดวางชุดเครื่องเสียง ความยาวของสายสัญญาณที่เหมาะสมจะอยู่ที่ 1-2 เมตร หากเลือกได้ก็ให้ใช้สายสัญญาณแบบบาลานซ์ดีกว่าเพราะให้สัญญาณขาออกที่แรง อันส่งผลต่อคุณภาพเสียง แม้ปลายทางจะต้องถูกแปลงกลับมาเป็นอันบาลานซ์ก็ตาม ก็ยังได้ผลที่ดีกว่าใช้สายแบบอันบาลานซ์

    สายสัญญาณควรเลือกที่มีตัวนำคุณภาพดี ขนาดตัวนำที่เหมาะสม มีการป้องกันคลื่นรบกวนที่ดี มีขั้วต่อที่แข็งแรงแน่นหนาและป้องการการเกิดอ๊อกไซด์ แต่การเลือกใช้สายสัญญาณที่สูงเกินกว่าอุปกรณ์หลัก โดยเฉพาะคุณภาพที่แตกต่างกันเกินไปมาก อาจจะดูไม่คุ้มค่านัก(ยกเว้นเลือกใช้ดีๆไว้รออัพเกรดระบบ) เพราะสายที่คุณภาพสูงเกินกว่าคุณภาพตัวเครื่องเสียงไปมากนั้น ก็มักไปติดขัดหรือมีความต้านทานตรง ขั้วต่อสายและสายภายในที่เชื่อมโยงจากแผงวงจรหลัก

     สายสัญญาณที่ยาวเกินไปยังส่งให้สิ่งรบกวนต่างๆไม่ว่าจะเป็น สายด้วยกันเองทับซ้อนกัน หรือแรงสั่นสะเทือน เข้ามารบกวนต่อสัญญาณภายในสาย และสายที่ยาวเกินไปจะมีค่าความต้านทานและค่าเก็บประจุที่สูงขึ้นแล้ว ยังมีโอกาสที่สายนั้นจะทำหน้าที่เป็นเสาอากาศ รับคลื่นระบบกวนพวกความถี่สูงเข้ามาในระบบเสียงด้วย

     ฉะนั้นสายสัญญาณมีความสำคัญที่สุด ควรเปลี่ยนก่อนเป็นอันดับแรก ให้ความสำคัญและเลือกใช้อย่างเหมาะสมกับระบบเครื่องเสียง โดยที่สายอื่นๆนั้น ใช้อย่างมีมาตรฐานไปก่อน แล้วค่อยเปลี่ยนในลำดับต่อไป การเลือกใช้สายที่มีคุณภาพดีทั้งระบบ เป็นเรื่องที่ดีและเหมาะสม ควรค่าแก่การเปลี่ยนแน่นอน แต่ต้องลำดับความสำคัญและเลือกคุณภาพให้เหมาะสม เพื่อประสิทธิภาพการทำงานของชุดเครื่องเสียง การฟังเพลงอย่างมีความสุข และการไม่หลงทิศหลงทางในการเล่นเครื่องเสียงครับ


Exit mobile version