สัมภาษณ์ คุณ เมธา เทพชาตรี ผู้บริหารใหญ่ของ Hi-Style Hi-Fi
…50-60 ปีที่ผ่านมา ละแวกหลังวังบูรพาในสมัยนั้นได้ชื่อว่าเป็นแดนสวรรค์ของคนรัก-เล่นเครื่องเสียง (ยังไม่มีคำว่า โฮมเธียเตอร์อุบัติขึ้นมาเลยด้วยซ้ำ !!) เพราะมีห้างร้านจำหน่ายสินค้าทางด้านนี้เปิดกิจการอยู่หนาแน่น ทั้งเครื่องมือหนึ่งและมือสอง รวมถึงแอคเซสซอรี่แปลกๆใหม่ๆสารพัดอย่าง ใครต้องการอยากจะหาผลิตภัณฑ์หรืออุปกรณ์อะไรก็มักจะมุ่งตรงไปที่หลังวังบูรพากัน ที่สำคัญ “ย่านวังบูรพา” ยังเป็นที่ตั้งของบริษัทเก่าแก่ซึ่งดำเนินกิจการทางด้านผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องเสียงแบรนด์ดังหลายต่อหลายแบรนด์ด้วยกันมายาวนานมากนับเป็นบริษัทแรกๆของเมืองไทยเลยก็ว่าได้ จนพูดได้ว่า เป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกวงการเครื่องเสียงในบ้านเรานั่นคือ Standard Thailand ก่อนที่จะกลายมาเป็น MRZ Standard ในตอนหลัง โดยมี “คุณปกรณ์ เทพชาตรี” เป็นผู้ก่อตั้งกิจการมาตั้งแต่ช่วงปีพ.ศ.2505
แบรนด์เนมเครื่องเสียงยอดนิยมในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นKlipsch,Marantz, NHTและJamo(รวมทั้งอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าสารพัดอย่างอีกหลายต่อหลายแบรนด์) ล้วนผ่านการบุกเบิก-ปลุกปั้นทำตลาดจาก “คุณปกรณ์ เทพชาตรี” มาแล้วทั้งสิ้นในอดีต ภายใต้นโยบายการจัดจำหน่ายที่ไม่เอาเปรียบทั้งคู่ค้าและลูกค้า จนทั่วทั้งวงการล้วนให้ความเคารพ-นับถือ และยกย่อง-ยอมรับในตัวคุณปกรณ์ เทพชาตรี …ถึงแม้ว่าท่านจะลาจากโลกใบนี้ไปแล้วเมื่อช่วงปีกว่าๆที่ผ่านมาในวัยชราภาพ
ปัจจุบันคุณเมธา เทพชาตรี ได้เข้ามารับช่วงต่อกิจการจากคุณปกรณ์ เทพชาตรี-ผู้เป็นบิดาและพลิกผันรูปแบบการดำเนินงานมาสู่ความเป็น ‘Retailer’ อย่างเต็มตัว ในลักษณะของ Hi-Fi Store โดยเฉพาะ ภายใต้ชื่อ“Hi-Style Hi-Fi”บนห้างสรรพสินค้ามีระดับกระจายอยู่ทั่วกรุงเทพฯ …มาดูกันซิว่า “คุณเมธา เทพชาตรี” มองเห็นอะไรล่วงหน้าหรือว่ามีแนวคิดก้าวหน้าอย่างไร จึงได้ปรับเปลี่ยนแนวทางการดำเนินธุรกิจในลักษณะที่ต้องยอมรับว่า หลายคนก็ยังไม่คาดคิด…แบบนี้
What Hi-Fi? :รบกวนคุณเมธา ช่วยบอกเล่าถึงประวัติความเป็นมา และความแตกต่างในเรื่องของวิสัยทัศน์สำหรับHi-Style Hi-Fiเมื่อเทียบกับคู่แข่งเจ้าอื่นในตลาดเครื่องเสียงครับ?
คุณเมธา :คงต้องขออนุญาตเท้าความกลับไปไกลหน่อยตั้งแต่สมัยเมื่อ 53 ปีก่อนตอนที่คุณพ่อของผม(ปกรณ์ เทพชาตรี) เริ่มก่อตั้งธุรกิจนี้ขึ้นมา แรกเริ่มเดิมทีท่านก็ใช้ชื่อบริษัทว่าStandard Thailandทำเกี่ยวกับการนำเข้าและเป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องเสียง หลังจากนั้นจึงได้ปรับเปลี่ยนมาเป็น ‘MRZ Standard’ที่หลายๆ คน คงคุ้นเคยกันดี…ซึ่งในยุคนั้นต้องยอมรับว่า ตัวแทนจำหน่ายและนำเข้าสินค้าทางด้านนี้ยังมีน้อยมาก จึงทำให้สามารถดำเนินธุรกิจไปได้อย่างดี แต่ก็แลกกับสิ่งที่ทางเราต้องแบกรับเอาไว้ ก็คือ การดูแลร้านค้าและตัวแทนจำหน่ายทั้งประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้าและเครื่องเสียงมากถึงกว่า 200 ร้านทั่วประเทศ
นอกจากนั้นก็จะมีพนักงานแต่ละฝ่ายแยกย่อยลงไปอีก อาทิ เช่น เซลส์, บัญชี รวมทั้งงานบริการหลังการขายอีกด้วย ขณะเดียวกันนั้นทางเราเองก็ยังต้องทำหน้าที่หลักอีกส่วนหนึ่งควบคู่กันนั่นคือ การติดต่อกับต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการสั่งสินค้าเข้ามา หรือการส่งของลูกค้ากลับไปซ่อม ย่อมทำให้งานส่วนนั้นมันตึงมือพอควรยิ่งเมื่อเจอกับสถานการณ์ของตลาดด้านเครื่องเสียงที่เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงเช่นปัจจุบัน ทั้งในเรื่องของตัวแทนจำหน่ายที่มีมากขึ้นหลากหลายเจ้า ประกอบกับยุคโลกาภิวัฒน์ที่ลูกค้าสามารถเสพสื่อหาข้อมูลสินค้าได้ด้วยตัวเอง ขนาดที่เรียกได้ว่า ทุกคนสามารถสั่งสินค้าเข้ามาจำหน่ายก็ว่าได้…
บังเอิญประจวบเหมาะกับว่าเมื่อ 5 ปีที่แล้วคุณพ่อผมก็เกษียณจากงานตรงจุดนี้พอดี เนื่องจากว่าท่านอายุมากแล้ว ซึ่งหลังจากปรึกษากันในครอบครัวทางเราจึงมองว่า ควรจะมีการปรับเปลี่ยนธุรกิจให้เข้ากับแนวทางการตลาดในปัจจุบันที่มีลักษณะเป็น Modern Tradeมากขึ้น ดังนั้นจึงเล็งเห็นว่าน่าจะผันตัวเองมาเป็น “ร้านค้าปลีก”หรือRetailer Storeเพื่อเพิ่มความหลากหลายของแบรนด์สินค้าที่ไม่จำเป็นต้องผูกติดกับเจ้าไหนเจ้าเดียวอีกต่อไป พร้อมทั้งปลดภาระบางส่วนที่เคยแบกรับอยู่ในอดีตออกไปด้วย
ทั้งหมดทั้งมวลที่เราตัดสินใจทำแบบนี้ได้ ก็เนื่องมาจากความที่ “เรา” ไว้ใจในตัวบุคลากรของบริษัท รวมไปถึงมั่นใจในความรู้และประสบการณ์ของเราที่สั่งสมมาในตลาดว่าไม่เป็นสองรองใคร เราจึงร่วมกันตัดสินใจเลือกที่จะปรับเปลี่ยนการดำเนินงานมาเป็นรูปแบบนี้ อีกทั้งโชว์รูมของเราที่มีอยู่5 สาขา (สยาม พารากอน, พาราไดซ์ปาร์ค, เซ็นทรัลเวิลด์ และเซ็นทรัลแจ้งวัฒนะ รวมทั้งที่วังบูรพา ซึ่งเป็น Head Office ด้วย)ก็พร้อมจะปรับเปลี่ยนแนวทางได้ไม่ยากในตอนนั้น
What Hi-Fi? : ทำไมถึงเลือกที่จะใช้ชื่อ “Hi-Style Hi-Fi” ครับ?
คุณเมธา :ที่มาของชื่อ“Hi-Style Hi-Fi”นั้น ก็มาจากชื่อวารสารที่ทางเราเคยทำแจกให้แก่สมาชิก ซึ่งมีทั้งที่เป็นลูกค้าของเราและผู้สนใจทั่วไป สมัยที่เป็น MRZ Standard ครั้นเมื่อได้โมเดลธุรกิจเรียบร้อยดังเช่นในปัจจุบันก็เลยหยิบยกชื่อเก่าของวารสารที่ได้เคยทำไว้นั้น ซึ่งผมเป็นคนตั้งชื่อเองกลับมาใช้อีกครั้ง โดยต้องการสื่อความหมายถึง Lifestyle ของคนที่นิยมเล่นเครื่องเสียงว่าเป็นคนมี Classและรสนิยมมีระดับ-อะไรทำนองนั้น
What Hi-Fi? :ทำไมคุณเมธา ถึงเลือกที่จะเปิดร้านHi-Style Hi-Fi สาขาแรกที่พาราไดซ์ปาร์คหรือเสรีเซ็นเตอร์ในอดีตก่อนเป็นแห่งแรก หลังจากนั้นจึงได้ขยายสาขาที่อื่นเพิ่มเติมครับ?
คุณเมธา :ย้อนกลับไปประมาณ 10 ปีที่แล้ว…มันเริ่มที่จะมีจุดบางจุดที่เรามองว่าช่องทางการตลาด หรือช่องทางการขายมันเริ่มลดน้อยถอยลงทุกที เลยพยายามที่จะแก้ปัญหาและตีโจทย์ตรงนี้ให้แตก เพราะดีลเลอร์เริ่มน้อยลง สวนทางกับสินค้าของเราที่เพิ่มมากขึ้น โดยมองว่าบางทีเราอาจจะต้องมีโชว์รูมเป็นของตัวเอง เพื่อขยายช่องทาง ปรากฏว่า ในช่วงนั้น “เสรีเซ็นเตอร์”เพิ่งเปิดขึ้นมาใหม่ ค่าเช่าก็ยังไม่สูงมากนัก เนื่องเพราะอยู่นอกเมือง ที่สำคัญอยู่ใกล้บ้านผม (หัวเราะ) เลยลองทำร้านขึ้นมาดู…โดยไม่ได้หวังว่าจะทำกำไรจากจุดนี้เป็นหลัก แต่ปรากฏว่ายอดขายกลับไปได้พอเลี้ยงตัวเองอยู่ได้
พอต่อมาเป็นช่วงเวลาเดียวกับศูนย์การค้าสยามพารากอนกำลังจะเปิดพอดีเลยมีการชักชวนให้ทางเราไปเปิดร้าน เพราะเห็นโชว์รูมของเรามีสินค้าและคอนเซ็ปต์ตรงตามความต้องการพอดี เมื่อทางเราพิจารณาเรื่องทำเลดูแล้ว มองว่าเป็นโอกาสดีเช่นเดียวกันก็เลยตัดสินใจเปิด Hi-Style Hi-Fi สาขาสองขึ้นที่ “ศูนย์การค้าสยามพารากอน” ถัดมาอีก 2-3 ปี ก็ขยายสาขาที่สามไปยัง “เซ็นทรัลเวิลด์” และสาขาที่สี่ ณ “เซ็นทรัล แจ้งวัฒนะ” ดังเช่นในปัจจุบันครับ ซึ่งก็ถือว่าเรามีสาขาเยอะมากในตอนนั้นในฐานะของบริษัทผู้นำเข้า
What Hi-Fi? :ปัจจุบันHi-Style Hi-Fi จัดจำหน่ายสินค้าแบรนด์ดังอยู่มากมาย เคยรู้สึกลำบากใจบ้างไหมครับ ในการบริหารงาน และมีวิธีการจัดการด้านการขายอย่างไร?
คุณเมธา :ครั้งนี้นับเป็นโอกาสที่ดีที่ผมจะได้อธิบายถึงนโยบายในการดำเนินงานของ Hi-Style Hi-Fi ก็คือว่า หลังจากที่ “MRZ Standard” ได้เปลี่ยนตัวเองมาเป็น “ร้านค้าปลีก” หรือเป็น“ผู้จำหน่าย” อย่างเดียว สิ่งแรกที่เราทำ ก็คือ การยกเลิกการเป็นผู้นำเข้าสินค้าแบรนด์ต่างๆ ที่เราถือกรรมสิทธิ์อยู่ทั้งหมด เพื่อสร้างความสบายใจของลูกค้าเจ้าใหม่ๆ ที่จะเข้ามาร่วมดำเนินธุรกิจนี้ร่วมกันว่าจะไม่มีการเชียร์เจ้าไหนออกนอกหน้า ด้วยที่เราต้องการที่จะเป็นแค่ช่องทาง หรืออีกนัยยะหนึ่งก็คือ เราทำหน้าที่เป็นประตูเชื่อมระหว่างผู้ผลิตไปสู่ผู้บริโภคเพียงเท่านั้น…
โดยจากจุดเริ่มในตอนนั้นมาถึงตอนนี้เราเองก็ได้รับไว้วางใจจากผู้ผลิตในวงการเครื่องเสียงกว่า 40 แบรนด์ด้วยกัน ยิ่งไปกว่านั้นหากสังเกตดีๆ ก็จะเห็นว่า สินค้าแบรนด์ใหญ่ๆ ก็อยู่กับเราเกือบทั้งหมด ซึ่งหากจะมีสินค้าบางตัวที่เราเป็นผู้นำเข้าเองนั้น ก็จะเป็นแค่ในหมวด Accessories เล็กๆ น้อยๆ เท่านั้นเอง…นอกจากนี้โชว์รูมของเรา ก็ลงทุนไปสูงมากพอสมควร โดยเฉพาะในเรื่องของห้องฟังที่เราได้กำหนดให้มีมาตรฐานเดียวกันหมดในทุกสาขา ซึ่งก็จะถูกเน้นที่ขนาด 5*9 เมตรตั้งแต่เริ่มแรก และออกแบบทั้งหมดด้วยตัวผมเองที่อาศัยความรู้ด้านสถาปนิกและประสบการณ์ผสมผสานเข้าด้วยกัน เพื่อช่วยให้การนำเสนอสินค้าของแต่ละแบรนด์ที่เลือกเราเป็นผู้จัดจำหน่าย โชว์ประสิทธิภาพได้สูงสุดอย่างที่เราตั้งใจไว้
What Hi-Fi? :ปฏิเสธไม่ได้ว่าการที่คุณเมธา ต้องมารับหน้าที่บริหารบริษัทต่อจากคุณพ่อ-ปกรณ์ เทพชาตรี-ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างสูงในอดีตนั้น นับเป็นโจทย์ที่ยาก จึงอยากทราบถึงแนวคิดของคุณเมธาว่า ทำไมถึงเลือกที่จะปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินงานมาเป็น Hi-Style Hi-Fi ในทุกวันนี้?มองเห็นถึงสิ่งใดที่นำพามาสู่จุดเปลี่ยนครับ?
คุณเมธา :ผมต้องขอยอมรับตามตรงว่าในสมัยที่ คุณพ่อและคุณแม่ (ปกรณ์ –เพชรรัตน์ เทพชาตรี) ดำเนินธุรกิจมาตั้งแต่เดิมนั้น ท่านทั้งสองได้วางระบบไว้ได้ดีมากอยู่แล้ว โดยใช้หลักการในการดำเนินธุรกิจแบบ “ไม่มีศัตรู มีแต่คู่ค้า”คือ ดูแลตัวแทนจำหน่าย รวมไปถึงลูกค้าแบบครอบครัวแบบพี่น้อง เลยทำให้ท่านไม่มีปัญหาและศัตรูในการดำเนินธุรกิจเลย…เมื่อถึงในยุคของผม ตลาดเครื่องเสียงก็มีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาดังเหตุผลที่ผมกล่าวไว้ข้างต้น ดังนั้นผมจึงคิดว่าเราไม่สามารถรอให้ลูกค้าเข้ามาหาเราเพียงฝ่ายเดียว ก็เลยเลือกที่จะปรับแนวทางมาเป็นเชิง “รุก” ด้วยการทำโชว์รูม ที่อำนวยความสะดวกให้ลูกค้าในหลายๆอย่าง ทั้งที่จอดรถและเข้าถึงได้ง่าย อยู่ในทำเลที่เหมาะสม บางทีคุณผู้ชาย อาจจะมาห้างเพื่อดูเครื่องเสียง คุณผู้หญิงก็มีตัวเลือกที่จะไปเดินช็อปปิ่งฆ่าเวลา รวมไปถึงลูกค้าขาจรที่เป็นนักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมเยียนประเทศไทยด้วย ความพร้อมของโชว์รูมเราก็มีบริการอย่างเต็มที่ เฉกเช่นเดียวกับความหลากหลายของตัวผลิตภัณฑ์มากมาย หลายระดับราคาที่พร้อมนำเสนอ ประกอบกับการใช้สื่อออนไลน์ และโซเชี่ยล มีเดีย หลายๆ ช่องทางของเราเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าในทุกรูปแบบ ในทุกเรื่องอย่างกว้างๆที่เราคำนึงถึง ไม่ได้จำกัดลูกค้าที่เป็นนักเล่นเครื่องเสียง เพียงกลุ่มเดียวอีกต่อไป ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นประสบการณ์ที่สั่งสมมาตั้งแต่สมัยคุณพ่อและคุณแม่ของผมเริ่มทำธุรกิจในตอนต้นครับ
What Hi-Fi? :นโยบายหรือข้อคิดที่คุณเมธา ยึดถือและสืบทอดมาจากคุณพ่อ คืออะไรครับ?
คุณเมธา :“ไม่มีศัตรู มีแต่คู่ค้า” และ “ความซื่อสัตย์ต่อลูกค้า” เป็นหลักสำคัญที่ผมใช้ในการดำเนินธุรกิจ เพราะผมเข้าใจวงการเครื่องเสียงว่า แต่ละบริษัทย่อมมีแนวทางแตกต่างกันออกไป อย่างไรก็ตามผมมองว่าการพึ่งพาอาศัยกัน เป็นสิ่งที่ดีที่สุด ไม่มีการโจมตีกัน ไม่สร้างศัตรู คอยพึ่งพาช่วยเหลือซึ่งกันและกัน จะเป็นสิ่งที่ทำให้ตลาดนี้เดินต่อไปได้เรื่อยๆ นอกจากนี้หลังจากปรับเปลี่ยนรูปแบบมาเป็น “ผู้จำหน่าย” อย่างเดียวแล้ว…ทาง Hi-Style Hi-Fi ก็จะเน้นเป็นพิเศษในเรื่องของ Service Mind สำหรับตอบสนองความต้องการและคอยดูแลลูกค้าให้ดีที่สุดอยู่เสมอ ซึ่งคนที่จะมีตรงนี้ได้ต้องมีความรักในการทำงานด้านงานขายและมีใจรักในงานบริการควบคู่ไปด้วยกัน
What Hi-Fi? :ขออนุญาตนะครับ– โมเดลในการทำธุรกิจในลักษณะที่เป็นแบบOutletหรือ “ร้านค้าปลีก”นี้ คุณเมธาได้รับแนวทางมาจากประสบการณ์ที่พบเห็นในต่างประเทศรึเปล่าครับ?
คุณเมธา :ก็มีส่วนบ้างครับ…แต่ก็ต้องมองด้วยว่าการตลาดแบบนี้ในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น เอเชีย, ยุโรป หรือ อเมริกา นั้น…เขาทำมานานกว่าเรา มีรูปแบบหลากหลายกว่าเราเยอะแยะมากมาย แถมรากฐานเขาวางมายาวนาน ส่วนของประเทศไทยนั้นธุรกิจแบบนี้ ถือว่ามีน้อยเจ้ามากที่จะทำแบบนี้ ยอมรับตามตรงว่า ตอนแรกผมคิดไว้ว่า น่าจะใช้เวลานานเป็นสิบๆ ปี ที่จะทำให้ Hi-Style Hi-Fi เป็นที่รู้จักในวงกว้าง แต่ปรากฏว่ากระแสตอบรับในช่วง 3 ปีหลังจากเริ่มทำมานี่ดีพอสมควร …เร็วเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้แต่แรก ซึ่งเราก็จะพยายามสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้ามากยิ่งๆ ขึ้นไป เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือในการบริการของเราในสายตาของลูกค้าว่า เขาจะได้รับความคุ้มค่าในราคาที่เหมาะสม
What Hi-Fi? :ปัจจุบันแนวโน้มของการเล่น “แผ่นเสียง” จากทั่วโลก นับวันจะยิ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ ไม่ทราบว่าคุณ เมธา มีความคิดเห็นอย่างไรบ้างเกี่ยวกับเรื่องนี้ ในฐานะที่มีสินค้าสอดรับกับผลิตภัณฑ์นี้อยู่อย่างหลากหลายครับ?
คุณเมธา :ส่วนตัวผมมองว่า “แผ่นเสียง”เป็น “ศิลปวัตถุ”คือ วัตถุที่ตัวมันเองก็เป็นศิลปะแล้ว ข้างในตัวมันก็ยังบรรจุศิลปะอีกแขนงหนึ่งเอาไว้อีกทอดหนึ่ง ซึ่งก็คือ ดนตรีหรือเสียงเพลง นอกจากนั้นเสน่ห์ของเสียงที่เป็น “อะนาล็อก” แท้ๆ อันเป็นจุดเด่นที่นักเล่นหลายยุคหลายสมัยติดอกติดใจกัน ก็เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ไม่สามารถเลียนแบบได้ โดยถ้าหากเอาประสบการณ์ของตนเองเป็นที่ตั้ง คงต้องย้อนไปเมื่อสมัย 50 ปีก่อนโน้น…ตอนที่ทาง “Standard Thailand” นำเครื่องเล่นแผ่นเสียงยี่ห้อGarrardเข้ามาขาย…แล้วก็เป็นที่น่าแปลกใจว่าในปัจจุบันนี้ก็ยังคงมีคนเล่นเพลงในฟอร์แมทนี้กันอยู่ แม้ว่าเวลาจะผ่านมานานมากแล้ว
ดังคำกล่าวที่ว่า “Vinyl never die” ไม่ว่าโลกจะพัฒนาเทคโนโลยีไปไกลเท่าไหร่ ฟอร์แมทนี้ก็มักจะย้อนกลับมาให้เห็นอยู่เสมอๆ เหมือนกับว่ามันเป็น “ศิลปวัตถุ” ที่มีแรงดึงดูดให้คนหันมาสนใจมัน ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปเนิ่นนานเพียงใดก็ตาม ในทางกลับกันแง่ของการตลาด “แผ่นเสียง” คงจะไม่เป็นปรากฏการณ์แบบ “Big Boom” เนื่องด้วยปัจจัยของราคาที่เป็นกำแพงกั้นอยู่นั่นเอง แต่หากคนที่ชอบในเรื่องของ “ศิลปะ” ก็คงมองว่าราคามันเหมาะสมและคุ้มค่าที่จะจ่าย เพื่อแลกกับมัน ซึ่งถ้าหากหันไปมองไฟล์เพลงดิจิตอลที่กำลังเติบโตขึ้น…ผมมองว่ามันเป็น “สื่อข้อมูลไฟฟ้า” ที่วันใดวันหนึ่งในอนาคต วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของมนุษย์ อาจจะทำให้มันมีคุณภาพเท่าเทียมแผ่นเสียงได้ แต่ข้อด้อยของมัน คือ การที่ไม่มีตัวตนและจับต้องไม่ได้ ที่สำคัญที่สุด คือ“วิทยาศาสตร์ก็ไม่สามารถสร้างงานศิลปะขึ้นมาได้”
What Hi-Fi? :แล้วในส่วนของโลกดิจิตอลอย่างไฟล์เพลงระดับ“High Resolution”คุณ เมธา มีความคิดเห็นอย่างไรกับฟอร์แมทนี้ที่กำลังมาแรงเช่นกันครับ?
คุณเมธา :ผมมองว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ทางเราต้องใส่ใจเป็นพิเศษ เนื่องจากตลาด “High Resolution” นั้นเป็นฟอร์แมทแบบดิจิตอลที่มีการพัฒนาไปรวดเร็วมาก เรียกได้ว่า ก้าวหน้ากันแบบวันต่อวันเลยทีเดียว ดังนั้นนโยบายของเราที่ออกมาเพื่อดูแลลูกค้าในจุดนี้ คือ “Go digital with Hi-Style Hi-Fi”จุดประสงค์ที่ทำในส่วนนี้ขึ้นมา ก็เพื่อให้ข้อมูลที่เป็นความจริงเกี่ยวกับตัวสินค้าในด้านนี้ให้กับลูกค้า พร้อมกับพยายามไล่ตามโลกดิจิตอลให้ทันอย่างเร็วที่สุด ด้วยการนำเสนอสินค้าที่ใหม่ที่สุดในขณะนั้นให้กับลูกค้าได้ทดลอง ได้สัมผัส รวมไปถึงการให้กำลังใจต่อลูกค้าเพื่อเพลิดเพลินไปกับการไล่ตามผลิตภัณฑ์ในหมวดนี้ด้วย ไม่ใช่คอยแต่กังวลว่า ซื้อไปวันนี้พรุ่งนี้จะตกรุ่นซะแล้ว อะไรอย่างนั้นก็จะหมดสนุกกัน
What Hi-Fi? :ปัจจุบันโลกของวงการเครื่องเสียงระดับ Hi-End มีแบรนด์ใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย พร้อมกับเลือกใช้การตลาดทำราคาเป็นจุดขาย “แบบแข่งกันแพง” คุณ เมธา มีความคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ครับ?
คุณเมธา :ผมมองว่าเรื่องนี้เป็น “ความชอบส่วนบุคคล” ไม่มีผิดไม่มีถูก เพราะว่า รสนิยมของแต่ละบุคคลย่อมแตกต่างกันออกไป ถ้าเขายินดีจ่ายในราคาที่สูง เพื่อแลกกับสินค้าแบรนด์ที่เขาชอบหรือคลั่งไคล้ นั่นเป็นสิ่งที่เขาตัดสินใจแล้ว เขาคงคิดมาดีแล้ว ซึ่งถ้าเขามีรายได้พอที่จะใช้ลำโพงตัวละล้าน โดยไม่กระทบต่อฐานะของเขา ก็เป็นสิทธิ์ของเขาโดยชอบธรรม เหมือนกับบางคนที่เขาชื่นชอบรถซูเปอร์คาร์ ไม่ว่าจะเป็น เฟอร์รารี่, แลมโบกินี่, พอร์ช หรือ จากัวร์ ถ้าเขาคิดจะซื้อมาใช้ แต่กลับมีรายได้แค่ระดับแสน ก็คงเป็นสิ่งที่เกินตัวไปหน่อย…หากมองในอีกมุมหนึ่ง ยกตัวอย่างเช่น สุภาพสตรีบางคนที่นิยมใช้กระเป๋าแบรนด์เนม บางทีคุณภาพกระเป๋าอาจจะไม่ได้โดดเด่นกว่ายี่ห้ออื่นทั่วไปเท่าใดนัก ทั้งๆ ที่ราคาแตกต่างกันเป็นแสนๆ ปัจจัยหลักที่ผู้หญิงยอมจ่ายแพงกว่า ย่อมเป็น “การซื้อแบรนด์” เช่นเดียวกับโลกเครื่องเสียงที่แต่ละยี่ห้อนั้นก็มี “ราคาแบรนด์” ที่แตกต่างกัน
What Hi-Fi? :ปัจจุบันสภาพการณ์เศรษฐกิจในบ้านเราจัดว่าซบเซาในช่วงนี้ ในมุมมองของคุณ เมธา คิดว่าจะเป็นแบบนี้ไปอีกนานไหมครับ แล้วมีแผนการรับมือกับสภาวะนี้อย่างไรบ้าง?
คุณเมธา :ส่วนตัวผมเลือกที่จะมองในแง่ดีไว้ก่อนว่า ตามธรรมชาติหากมีจุดลง ก็ต้องมีจุดขึ้นหรือฟื้นตัวได้เช่นเดียวกัน ดังนั้นการเตรียมการณ์ของผม คือ การออกโปรโมชั่น กระตุ้นให้ลูกค้า เลือกที่จะจับจ่ายใช้สอยให้เพิ่มมากขึ้น ในอีกทางหนึ่งก็ต้องมองเผื่ออนาคตเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวเช่นกัน โดย ณ จุดนั้น ต้องมองถึงผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่จะวางขายต่อไป ซึ่งความจริงแล้วผมมองว่าการฟังเพลงเป็นปัจจัยหนึ่งในการใช้ชีวิตของคนเราไปแล้ว ไม่ว่าจะฟังผ่านสมาร์ทโฟน หรือลำโพง ดังนั้นตลาดนี้ต้องกระเตื้องไปในทางที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน
What Hi-Fi? :ในอีกไม่นานประเทศไทยก็จะเปิดตลาดเข้าสู่ AEC ไม่ทราบว่าคุณ เมธา มีการเตรียมการณ์อย่างไรไว้บ้างครับ?
คุณเมธา :ความจริงแล้วผมมองว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวแล้วนะครับ สำหรับตลาด AEC ซึ่งก็ได้มีการพูดคุยกันบ้างกับคนในวงการเครื่องเสียง ส่วนตัวแล้วผมเลือกที่จะมองในแง่ดีที่ว่าเป็นการขยายตลาดเดิมของเราที่มีแค่ 60 ล้านคนทั่วประเทศไทย เป็น 500 กว่าล้านคนทั่วภูมิภาคอาเซียน ดังนั้นเราจึงต้องหาวิธีการและนโยบายที่ดีที่เหมาะสมในการดำเนินธุรกิจของเราในโอกาสนี้ ไม่ใช่ว่าจะไปมัวนั่งกลัวในการแข่งขันมันก็ไม่ถูก แล้วที่สำคัญที่สุด ก็คือ เราควรจะมองเป็นมหภาคในเรื่องของตลาดนี้ เพราะว่า นโยบายที่ออกมาทุกประเทศย่อมต้องการให้เกิดผลดีด้วยกันทั้งนั้น ไม่มีสมาชิกประเทศใดที่คิดว่าจะเกิดผลแย่ต่อประเทศตัวเองอย่างแน่นอนครับ มั่นใจได้…
What Hi-Fi? :แบรนด์ใดบ้างที่จัดว่าเป็น Top 5 ของ Hi-Style Hi-Fi?
คุณเมธา :คำถามนี้จัดว่าตอบยากที่สุด…แต่ตามจริงแล้วทุกๆ แบรนด์ที่เราจัดจำหน่ายให้อยู่ ก็ไม่ได้มียอดขายที่แตกต่างกันมากนัก…ซึ่งก็เป็นไปตามนโยบายที่เราต้องการครับดังนั้นความโดดเด่นในเรื่องนี้จึงไม่สามารถจัดลำดับออกมาได้
What Hi-Fi? :แล้วสินค้าแบรนด์ใดที่คุณ เมธา ชื่นชอบเป็นการส่วนตัวครับ ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพเสียง หรือเทคโนโลยี?
คุณเมธา :ส่วนตัวแล้วผมเป็นคนประทับใจสินค้าในประเภทที่ออกมารองรับมัลติมีเดีย…ไม่ว่าจะเป็น AV Receiver ที่รองรับระบบเสียงที่หลากหลาย หรือลำโพงที่มีความ Flexible มากๆ ทั้งเล่นแบบไร้สาย หรือเป็นที่ชาร์จแบตฯได้ในตัว แม้แต่เชื่อมต่ออินเตอร์เนต เพื่อ Streaming หรือ Download ข้อมูลต่างๆ ก็ตาม โดยผมมองว่าในส่วนนี้เป็นข้อดีของผู้บริโภคที่ได้รับประโยชน์จากนวัตกรรมเหล่านี้ที่พัฒนาขึ้น เพราะว่าการจ่ายเงิน 1 หมื่นบาทสมัยนี้แลกกับสินค้า 1 ตัว มันได้อะไรเยอะขึ้นกว่าแต่ก่อนมากมายในเรื่องของฟังก์ชั่นการใช้งานที่หลากหลาย ส่วนสินค้าเฉพาะกลุ่ม เช่น ลำโพง 2 แชนแนล ก็มีการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อพัฒนาคุณภาพเสียงที่ดีขึ้นเช่นกัน
What Hi-Fi? :Hi-Style Hi-Fiในอนาคตข้างหน้า…คุณ เมธา วางแผนไว้อย่างไรบ้างครับ?
คุณเมธา :ก็คงเป็นตามนโยบายเดิมที่วางไว้ คือ เน้นความหลากหลายของสินค้า…ทางด้านฝั่งดิจิตอลเราก็จะเน้นตามสโลแกนของเราอย่าง “Go digital with Hi-Style Hi-Fi” ส่วนผู้ที่นิยมด้านการฟังเครื่องเสียง 2 แชนแนลแบบดั้งเดิม เราก็ไม่ได้ทิ้งไป ยังคงมีการซัพพอร์ทอยู่เช่นเดิม แต่ทางเราก็ต้องเน้นเทรนด์ตลาดเป็นหลัก ดังนั้นดิจิตอล ก็ยังคงจะเป็นกระแสหลักของทางร้าน ซึ่งก็ต้องใช้บุคลากรขององค์กร คอยติดตามและเลือกเทรนด์สินค้ามาวางจำหน่าย ว่ากันโดยรวมก็คือ ยังไม่มีการตัดส่วนไหนออกไป แต่คงต้องอิง “กระแส” หรือเทรนด์เป็นหลักครับ
What Hi-Fi? :พอจะแย้มข้อมูลเกี่ยวกับสาขาใหม่ได้บ้างไหมครับ?
คุณเมธา :ในเรื่องของการขยายสาขา เพื่อเข้าถึงผู้บริโภคให้มากขึ้นนั้น เป็นแนวทางหลักในการดำเนินงานของเราอยู่แล้ว ซึ่งในเรื่องนี้ก็ต้องคำนึงถึงหลายๆ ประเด็นที่ต้องเอื้ออำนวยด้วย ทั้งในเรื่อง ภาวะเศรษฐกิจ, ทำเล-ที่ตั้ง, เวลาที่เหมาะสม และโอกาสอำนวยอย่างไรก็ตามก็มีกระแสเรียกร้องมาบ้างตามต่างจังหวัด หรือหัวเมืองใหญ่ๆ ที่อยากให้ Hi-Style Hi-Fiไปตั้งสาขา อาทิเช่น เชียงใหม่, พัทยา และ หาดใหญ่ ในจุดนี้ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าปลื้มใจสำหรับบริษัทเราที่ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากลูกค้า ซึ่ง ณ ตอนนี้ “หาดใหญ่” นับว่าเข้ามาอยู่ในใจในการเลือกที่จะเปิดเป็นสาขาใหม่ครับ
What Hi-Fi? :มีความคิดที่จะถือแบรนด์สินค้าใดสินค้าหนึ่งมาเพื่อจัดจำหน่ายเองโดยตรงไหมครับ?
คุณเมธา :อันนี้ตอบได้อย่างชัดเจนเลยว่าทาง Hi-Style Hi-Fiไม่มีนโยบายที่จะเป็น “ตัวแทนจำหน่าย” ของสินค้าใดสินค้าหนึ่ง ตราบใดที่เรายังมีนโยบายในธุรกิจค้าปลีกครับ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต แม้ว่าจะมีสินค้าหลายๆ แบรนด์ที่ติดต่อเราเข้ามาก็ตาม ทั้งหมดนี้เราตั้งใจทำเพื่อความสบายใจของคู่ค้ากับเราในทุกๆแบรนด์ อย่างไรก็ตามในส่วนของ Accessories ปลีกย่อย ก็อาจจะมีที่ถืออยู่บ้าง แต่เราไม่ได้เน้นในการทำกำไรในจุดนี้เป็นหลัก ในทางกลับกันเรากลับเน้นที่จะใช้อุปกรณ์เสริมเหล่านี้ สำหรับอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าภายในร้านมากกว่า
What Hi-Fi? :สุดท้ายนี้อยากให้ฝากอะไรถึงผู้อ่านและลูกค้าของร้าน Hi-Style Hi-Fi สักเล็กน้อยครับ?
คุณเมธา :ผมก็อยากจะขอฝากร้าน Hi-Style Hi-Fi ไว้เป็นตัวเลือก…สำหรับผู้บริโภคที่มีความสนใจในสินค้าประเภท Hi-Fi และ Home Theatre ซึ่งบางทีชื่อร้านอาจจะยังฟังดูไม่คุ้นหู เหมือนเป็นร้านใหม่ แต่ความจริงก็เหมือนกับที่เราได้คุยกันไปข้างต้นเรื่องประวัติความเป็นมา ว่าที่จริงแล้วเรามีประสบการณ์ในวงการณ์นี้มากว่า 50 ปี ซึ่งนั่นก็คงจะเพียงพอที่จะทำให้ลูกค้าเชื่อถือและไว้วางใจได้ในสินค้าและบริการของเราครับ
What HI-FI? :ขอบคุณมากครับ…สวัสดี