DAWN NATHONG
![](http://whathifi.whatgroupmag.com/wp-content/uploads/2019/11/73238408_155126175732533_3853160009013657600_o-1024x768.jpg)
ได้มีโอกาสไปฟังบรรยายการเปิดตัวสินค้าใหม่ของ Nordost ที่ทางบริษัท Deco2000 จัดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ โดยมี Mr. Bjorn Bengtsson วิทยากรขาประจำจาก Nordost ร่วมกับคุณกฤตแห่ง Deco2000 ซึ่งคราวนี้คุณ Bjorn นำของเล่นใหม่มาโชว์ด้วยกัน 2 อย่าง นั่นคือ QPOINT และ QSOURCE ซึ่งเป็นสินค้าใหม่ที่อยู่ในกลุ่ม QRT ซีรีส์ของ Nordost
![](http://whathifi.whatgroupmag.com/wp-content/uploads/2019/11/73162353_155126072399210_503760712762392576_o-1024x768.jpg)
ช่วงต้นของการบรรยายคุณ Bjorn เริ่มอธิบายถึงวัตถุประสงค์ในการออกแบบ QPOINT เพื่อมาขจัดปัญหาของ Electromechanical เรโซแนนท์ ที่เกิดขึ้นกับอุปกรณ์ภายในเครื่องเสียง
โดยคุณ Bjorn อธิบายว่าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็น โซลิดสเตท แอมป์หลอด แหล่งโปรแกรมดิจิตอลหรืออนาล็อก แม้กระทั่งเน็ตเวิร์คของลำโพง อะไรก็ตามที่มีแผงวงจร เมื่อป้อนไฟ DC เข้าไปผ่านอุปกรณ์เหล่านั้น เช่น คาปาซิเตอร์, รีซีสเตอร์, ทรานซีสเตอร์ จะเกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า Electromechanical เรโซแนนท์ขึ้น ซึ่งแรงสั่นระดับไมโครของอุปกรณ์แต่ละชิ้นบนแผงวงจร ก็จะมีความถี่เฉพาะของตัวเองต่างแทรกสอดเข้ามากวน กลายเป็นน้อยส์หรือคัลเลอร์ส่วนเกินที่ปนเปื้อนเข้าไปในน้ำเสียง
![](http://whathifi.whatgroupmag.com/wp-content/uploads/2019/11/74647566_155126339065850_9091345004168740864_o-1024x768.jpg)
QPOINT ของ Nordost จะทำหน้าที่เหมือนเป็นคอนคัคเตอร์ เข้ามาจัดการกับเรโซแนนท์ของอุปกรณ์บนแผงวงจร ให้มีความถี่ที่สอดคล้องหรือซิงโครไนซ์ไปในทิศทางเดียวกันซะ ด้วยค่าความถี่คงที่สองโหมดให้เลือก ซึ่งทาง Nordorst วิจัยมาแล้วว่าให้ผลลัพท์ทางเสียงดีที่สุดกับทุกอุปกรณ์ โดยการนำ QPOINT ไปวางใกล้กับบริเวณแผงบอร์ดวงจร หันด้านสีดำเข้าหาเครื่อง
![](http://whathifi.whatgroupmag.com/wp-content/uploads/2019/11/IMG_20191030_160508-1024x768.jpg)
จากการทดลอง คุณ Bjorn วาง QPOINT ลงบนอุปกรณ์ทีละชิ้น พร้อมทั้งปิด-เปิดการทำงานเพื่อเปรียบเทียบผล (QPOINT ต้องใช้ไฟเลี้ยงจากอะแด็ปเตอร์ 5V) หลังเปิดสวิตช์ต้องให้เวลา QPOINT จัดการซิงโครไนซ์ความถี่สักเล็กน้อยราว 10-15 วินาที ผลลัพท์ที่ได้จากการใช้ QPOINT คือ ความสะอาดของน้ำเสียงที่เพิ่มขึ้น รับรู้ได้ถึงรายละเอียด และน้ำหนักการย้ำเน้นของตัวโน้ตที่ชัดเจนขึ้นในทุกย่านความถี่
ซึ่งคุณ Bjorn บอกว่า QPOINT จะไม่เข้าไปเปลี่ยนแปลงบุคลิกเสียงเดิมของซิสเต็มเลย เสียงที่เราได้ยินจึงเป็นที่แท้จริงตามแต่ศักยภาพของซิสเต็มจะให้ได้ ส่วนของตำแหน่งการติดตั้งนั้นไม่ตายตัวขอให้ใกล้กับแผงวงจรของอุปกรณ์เท่านั้นพอ แต่ที่ได้ผลลัพท์น่าพอใจมากที่สุดจากผลการรีวิวของผู้ใช้จริงคือควรเริ่มต้นที่ DAC หรือปรีแอมป์ก่อน
ส่วนความแตกต่างระหว่างสองโหมดย่านความถี่ที่ Nordost ทำมานั้น (Mode 1 สีฟ้า, Mode 2 สีเขียว) ผู้เขียนชอบ Mode 1 มากกว่าเพราะให้โฟกัสที่ชัดเจน ช่องว่างช่องไฟโปร่งสะอาด ในขณะที่ Mode 2 ความใสสะอาดดูจะลดลงไป แต่เนื้อเสียงอิ่มหนากว่าเล็กน้อย ซึ่งท่านสามารถปรับจูนให้เหมาะสมได้อย่างอิสระตามรสนิยม
![](http://whathifi.whatgroupmag.com/wp-content/uploads/2019/11/74607652_155126495732501_536057741546881024_o-1024x768.jpg)
![](http://whathifi.whatgroupmag.com/wp-content/uploads/2019/11/73358301_155126709065813_7067407499187453952_o-1024x768.jpg)
และด้วยความที่ QPOINT จำต้องใช้ไฟเลี้ยง DC จากอะแดปเตอร์ กระนั้นเลย Nordost จึงทำอุปกรณ์จ่ายไฟ DC ลิเนียร์เพาเวอร์ซัพพลายขึ้นมาด้วยนามว่า QSOURCE เพื่อเสริมประสิทธิภาพของตัว QPOINT ให้ดียิ่งขึ้นไปอีก เท่าที่ลองฟังช่วยให้เสียงเนียนสงัดขึ้น แต่ราคา QSOURCE ก็เอาเรื่องอยู่ จะซื้อมาใช้กับ QPOINT อย่างเดียวดูจะไม่คุ้ม (เสียบ QSOURCE ได้ 4 ตัว) Nordost เลยแถมช่องจ่ายไฟ DC แบบปรับแรงดันได้มาอีกสองช่อง (9V, 12V, 19V และ 24V) สำหรับใช้อัพเกรดอุปกรณ์ อาทิเช่น DAC, Roon Nucleus, เน็ตเวิร์คสวิตช์ มาให้เท่ากับท่านได้ลิเนียร์เพาเวอร์ซัพพลายระดับไฮเอ็นด์มาด้วย
QPOINT ราคา 30,000 บาท
QSOURCE ราคา 100,000 บาท
![](http://whathifi.whatgroupmag.com/wp-content/uploads/2019/11/IMG_20191030_160611-1024x768.jpg)
ปล. สาย DC ไม่ได้แถมมากับ QSOURCE ราคาตกเส้นละ 10,000 – 14,000 บาท แนะนำว่าลองหาร้านทำสาย DC ใช้เองไปก่อนก็ได้ อยากสุดค่อยมาซื้อสาย DC ของ Nordost เพื่ออัพเกรดทีหลัง