รีวิว QUAD: QII-Classic Mono Block

0

สานตำนานแอมป์หลอดคลาสสิค

Test Repot ดร นาทอง

หากพูดถึงบริษัท QUAD Electroacoustics Ltd. นอกจากลำโพงอิเล็กโตรสแตติกในตำนานอย่างตระกูล ESL แล้ว อีกอย่างหนึ่งที่ยังอยู่ในความทรงจำของนักเล่นรุ่นเก๋าหลายคนคงหนีไม่พ้นแอมปลิฟายเออร์หลอดสูญญากาศซึ่งเริ่มผลิตมาตั้งแต่ช่วงปี 1948 โดย Peter J. Walker ผู้ก่อตั้งบริษัท

หลักปรัชญาการออกแบบของปีเตอร์คือการใช้ภาคขยายสัญญาณแบบสองสเตจแทนสเตจเดียว เพื่อให้ได้ระดับความแรงของสัญญาณเอาท์พุตสูงและมีค่าความผิดเพี้ยนที่ต่ำ โดยช่วงแรกนั้น QUAD เริ่มผลิตแอมปลิฟายเออร์ซีรี่ยส์ QA12 ให้กับ BBC เพื่อใช้ในสถานีวิทยุ ต่อมาในช่วงยุค 50s จึงได้เริ่มสายการผลิตแอมปลิฟายเออร์ในระดับแมสโปรดัคท์รุ่นแรก ได้แก่คอนโทรลปรีแอมป์รุ่น QC 22 ที่ออกแบบมาเพื่อใช้งานร่วมกับเพาเวอร์แอมป์โมโนบล็อกรุ่น QUAD II

ซึ่งถือได้ว่าเป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับวงการออกแบบแอมปลิฟายเออร์ในยุคนั้น โดยมีการใช้เทคนิค Cathode coupling ในทางเดินสัญญานก่อนออกไปยังหม้อแปลงเอาท์พุตเพื่อลดความผิดเพี้ยนเชิงฮาร์โมนิคเป็นครั้งแรก ทำให้แอมป์ QUAD II มีประสิทธิภาพที่ยอดเยี่ยมเป็นที่ยอมรับของนักเล่นอย่างแพร่หลาย และถูกผลิตเพื่อจำหน่ายต่อเนื่องโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงวงจรเลยมาเป็นเวลายาวนานถึง 18 ปี

        ผ่านมากว่าห้าสิบปี แอมป์ QUAD II ได้ถูกนำมาปัดฝุ่นและผลิตใหม่อีกครั้งในชื่อ QII Classic แม้ในคราวนี้จะย้ายมาอยู่บ้านใหม่กับกลุ่มทุนใหญ่อย่าง IAG Group แล้ว รูปลักษณ์และดีไซน์ของ QII Classic ก็แทบไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากเวอร์ชั่นแรกมากนัก มีเพียงการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์บางชิ้นไปบ้างตามยุคสมัยเท่าที่จำเป็น อาทิ คาปาซิเตอร์, ฉนวนกันความร้อน, ขั้วต่อสายลำโพง, ขั้วเสียบสายไฟแบบ IEC แต่พื้นฐานวงจรยังคงยึดตามแบบฉบับดั้งเดิมของ Peter J. Walker เอาไว้ทุกประการ

รายละเอียดที่น่าสนใจ

QII Classic ตัวที่นำมาทดสอบนี้เป็นเวอร์ชั่นใหม่สี Lancaster Grey เป็นแอมป์หลอดโมโนบล็อกกำลังขับ 15 วัตต์ต่อแชนแนลที่ 8 โอห์ม วงจรแบบพุช-พูล ทำงานในโหมดไตรโอด Class A ขยายสัญญาณแบบสองสเตจ ภาคอินพุตสเตจใช้หลอดเบอร์ EF86 สองหลอด ส่วนภาคเอาท์พุตสเตจใช้หลอดเบอร์ KT-66 สองหลอด และใช้หลอดเรียงกระแสเบอร์ GZ34 ในภาคจ่ายไฟ (เวอร์ชั่นดั้งเดิมจะใช้เบอร์ GZ32)

งานประกอบถือว่ายอดเยี่ยม เก็บงานได้อย่างเรียบร้อยสวยงามแข็งแรงแน่นหนา ตัวถังและตระแกรงเหล็กทำจากโลหะเนื้อดี มีความหนาพอสมควรทำผิวสีเทาออกด้าน ให้ความรู้สึกเวลาสัมผัสที่ดี แม้น้ำหนักของเอาท์พุตทรานส์ฟอร์เมอร์จะค่อนข้างมาก แต่ด้วยลักษณะตัวถังที่หน้าแคบลึกและมีขนาดตัวที่ไม่ใหญ่นักทำให้สามารถขนย้ายและจัดวางบนชั้นวางตัวเดียวกันได้อย่างไม่ลำบาก ในส่วนของการใช้งาน QII Classic ไม่จำเป็นต้องปรับไบอัสใด ๆ ให้วุ่นวาย เพียงแค่เชื่อมต่อสายเสียบปลั๊ก เปิดสวิตช์อุ่นเครื่องเสร็จก็พร้อมใช้งานได้ทันที

การติดตั้งเข้าระบบ

หลังจากเชื่อมต่อสายสัญญาณและสายต่าง ๆ เข้ากับ QII Classic เรียบร้อยแล้ว ข้อปฏิบัติที่ควรทำคือหลังเปิดสวิตช์แล้วให้อุ่นเครื่องทิ้งไว้สัก 15 นาทีก่อนการใช้งานทุกครั้ง เนื่องจากแอมป์หลอดต้องการเวลาสักเล็กน้อยเพื่อให้อุณภูมิของหลอดสูงขึ้นจนถึงในระดับที่ทำงานได้อย่างถูกต้อง เป็นการช่วยยืดอายุการทำงานของหลอดและป้องกันอันตรายต่อลำโพงด้วยอีกทางหนึ่ง ชั่วโมงแรก ๆ ของการใช้งานโทนเสียงจะติดทึบเล็กน้อย เมื่อทำการเบิร์นอินด้วยการฟังเพลงตามปกติวันละ 3-4 ชั่วโมง จนรวมระยะเวลาได้ราว 50 ชั่วโมง โทนเสียงก็เปิดโปร่งขึ้นตามลำดับ

        เมื่อทราบว่าสินค้าที่ถูกส่งมาทดสอบคือแอมป์ QII Classic แต่ไม่มีปรีแอมป์รุ่น QC Twenty Four ติดมาด้วย ผู้เขียนค่อนข้างกังวลเล็กน้อยเพราะปรีแอมป์ที่มีอยู่ในขณะนั้นมีเพียงภาคปรีเอาท์ของอินทิเกรตแอมป์ Bryston B-60 เพียงตัวเดียว จากประสบการณ์ที่เคยผ่านมาไม่ค่อยได้เจอปรีแอมป์โซลิคสเตทที่สามารถจับคู่กับแอมป์หลอดได้ลงตัวสักเท่าไรนัก

การทดลองนำมาใช้งานร่วมกันผลก็เป็นดังคาด แม้ว่าสมดุลเสียงจะดูไม่มีอะไรผิดปกติมากนักแต่ในด้านของไดนามิกดูเรียบเรื่อยจนเกินไป ฟังแล้วรู้สึกว่าขาดความตื่นตัวไปพอสมควร มีความรู้สึกว่ายิ่งเปิดดังยิ่งรู้สึกอันตื้อ ผู้เขียนพยายามหาตัวช่วยทั้งสายไฟ สายสัญญาณ แต่โดยรวมก็ยังไม่ถึงจุดที่พอใจ แต่ก็ยังถือเป็นโชคดี ที่ก่อนหน้านั้นผู้เขียนได้ทำการทดสอบเครื่องเล่นซีดี Quad Artera Play ไปหมาด ๆ นึกขึ้นได้ว่าสามารถนำมาใช้งานเป็นปรีแอมป์ได้อีกทางหนึ่ง จึงไม่รอช้านำ Artera Play ติดตั้งเข้าระบบทันที

        อาจจะด้วยความที่เป็นสินค้าจากบริษัทเดียวกัน น้ำเสียงและรายละเอียดจึงมีความเข้ากันอย่างเหมาะเจาะ ถึงแม้ผู้เขียนจะไม่มีโอกาสได้เปรียบเทียบกับปรีแอมป์หลอด QC Twenty Four ก็ตาม แต่เสียงที่ผ่านมากระทบโสตประสาทในตอนนี้ก็ฟันธงได้เลยว่ามีความเหมาะสมที่จะนำมาใช้งานร่วมกันได้เป็นอย่างดีทีเดียว อย่างน้อยไดนามิกก็ไม่ส่ออาการอั้นตื้อและปลดปล่อยได้อย่างอิสระในทุกช่วงระดับความดังมากกว่าตอนใช้ภาคปรีแอมป์ของ Bryston B-60 อย่างชัดเจน

เมื่อคัดท้ายด้วยสายสัญญาณเพื่อเสริมความสมบูรณ์ของน้ำเสียงให้มากขึ้นอีกเล็กน้อยทุกอย่างก็ลงตัว ส่วนที่เชื่อมต่อจาก Artera Play ไปยัง QII Classic เป็นสาย Tara Labs TL-101 ส่วนสายไฟเอซีเป็นที่น่าเสียดายผู้เขียนไม่มีสายที่เหมือนกันสองเส้นจึงไม่มีโอกาสได้ทดลอง แต่จากการใช้งานสายไฟเอซีทีแถมมาก็ไม่รู้สึกว่ามีความผิดปกติของน้ำเสียงแต่อย่างใด จึงใช้สายไฟเอซีมาตรฐานที่แถมมากับตัวเครื่องตลอดการทดสอบ

        หมายเหตุ – ในบททดสอบคราวนี้ แม้ว่าผู้เขียนจะทดลองจับคู่ QII Classic กับภาคปรีของ Artera Play แล้วมีความลงตัว แต่สำหรับท่านที่สนใจ QII Classic จริง ๆ แนะนำให้ทดลองฟังกับปรีแอมป์หลอดก่อนเป็นอันดับแรก โดยเฉพาะหากเป็นรุ่น QC Twenty Four ที่ออกแบบมาเข้าคู่กัน ผู้เขียนเชื่อว่าการจับคู่กับปรีแอมป์หลอดด้วยกัน น่าจะได้เห็นประสิทธิภาพที่แท้จริงของ QII Classic โดยเฉพาะย่านกลางแหลมที่มีความน่าฟังมากยิ่งขึ้นกว่านี้อีกไม่มากก็น้อย

ผลการลองฟัง

        ต้องบอกเลยว่า QII Classic ให้สีสันของความเป็นหลอดที่มีกลิ่นอายของแอมป์วินเทจเจืออยู่พอสมควร ทั้งความอิ่มหวาน ความเข้มข้นของเนื้อเสียง ความลื่นไหล จนเรียกได้ว่ามีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ชัดเจนเลยทีเดียว ไม่เน้นที่ความโปร่งใสทะลุทะลวงแต่อบอวลไปด้วยมวลบรรยากาศที่เข้มข้น น่าจะถูกใจนักฟังรุ่นเก๋าหลายๆคน ได้ไม่ยาก ในขณะเดียวกัน ใช่ว่าน้ำเสียงจะเหมือนกับเครื่องวินเทจไปเสียทีเดียว

ด้วยความที่ QII Classic ถูกสร้างขึ้นใหม่ในยุคพอศอนี้ อุปกรณ์บางชิ้นได้ถูกอัพเกรดประสิทธิภาพให้ดีขึ้นกว่าในอดีต อานิสงค์เหล่านี้ ทำให้ QII Classic มีความสงัดของพื้นเสียงและไดนามิกโดดเด่นขึ้นมาในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน มีระดับสัญญาณรบกวนที่ต่ำ ทำให้สามารถสัมผัสถึงความสะอาดของน้ำเสียงได้ไม่แพ้แอมป์หลอดไฮเอ็นด์รุ่นใหม่ ๆ

พละกำลังในการขับขานลำโพงนั้นหากดูจากตัวเลข 15 วัตต์ก็ถือว่าไม่สูงนัก แต่ในความเป็นจริงเมื่อทดลองใช้งานร่วมกับลำโพงความไวค่อนไปทางต่ำอย่าง NHT 1.5 ซึ่งมีระดับความไวอยู่ที่ 85 ดีบี กลับไม่พบปัญหาอาการขับไม่ออกแต่อย่างใด ได้ยินเสียงทุ้มแน่นเป็นลูกน้อง ๆ ใช้เพาเวอร์แอมป์โซลิตสเตทร้อยวัตต์ขับเลยทีเดียว

แต่ประสบการณ์ที่ผ่านเคยจับคู่ลำโพง NHT 1.5 กับแอมป์หลอดอื่น ๆ ก็ไปกันได้ดีเช่นเดียวกัน ดังนั้นขอแนะนำว่าควรเลือกลำโพงที่มีความไวค่อนไปทางปานกลางถึงสูงและมีค่าความต้านทานเฉลี่ยอยู่ที่ 8 โอห์ม ก็น่าจะใช้งานร่วมกับ QII Classic ได้อย่างเหมาะสม

        ย่านเสียงแหลมของ QII Classic มีความเข้มข้นอิ่มเนื้อ แต่ในขณะเดียวกันก็มีประกายเสียงไม่อับทึบและมีมวลบรรยากาศรอบตัวเสียงที่ชัดเจน ทำให้มีความน่าฟังเป็นพิเศษ หางเสียงทอดตัวและจางหายในเวลาที่เหมาะสม เก็บตัวได้ดีไม่ฟุ้ง มีแรงปะทะหัวเสียงที่ดี ไม่ใช้สไตล์เสียงแหลมบางพลิ้วแน่นอน ผู้เขียนคิดว่าเสียงแหลมแบบนี้ถ้าได้จับคู่กับลำโพงที่ใช้ทวีตเตอร์แบบริบบ้อนน่าจะเข้ากันได้ดีเป็นปี่เป็นขลุ่ย หรือลำโพงที่ใช้ทวีตเตอร์โดมโลหะก็ไปกันได้ดี (NHT 1.5 ก็เช่นกัน)

รายละเอียดหยุมหยิมช่วงปลายแหลมนี่ถือว่ามีสเน่ห์จริง ๆ โทนเสียงแหลมแบบนี้ไม่ว่าจะฟังกับเพลงแนวไหนก็ดูจะไพเราะไปเสียหมด ถือว่าผู้ผลิตจูนเสียงมาได้เก่งจริง ๆ สามารถเฉลี่ยความเข้มข้นของเนื้อเสียงและรายละเอียดได้อย่างลงตัว ผู้เขียนคิดว่าสไตล์เสียงแหลมแบบนี้ค่อนข้างจะฟังแล้วติดหูได้ง่าย และสามารถรับฟังต่อเนื่องได้นานไม่ล้าหู นอกจากนี้เกรนเสียงที่เนียนไม่หยาบกระด้างและมีความสะอาดสะอ้าน ก็ยิ่งเสริมความไพเราะน่าฟังขึ้นไปอีกเป็นทวีคูณ  Meet Me In London – Antonio Forcione & Sabina Sciubba [naimcd021]

        แน่นอนว่าเมื่อย่านเสียงแหลมปูทางมาแนวทางนี้ หากย่านเสียงกลางบอบบางไร้เนื้อหนังคงจะดูพิลึกอยู่เหมือนกัน ย่านเสียงกลางของ QII Classic ใช้คำว่าอิ่มหวานได้เลย มีความต่อเนื่องกลมกลืนกับย่านเสียงแหลมแบบไร้รอยต่อ เสียงร้องชายและหญิงมีพลังและมีฐานเสียงรองรับ แล้วมีความเป็นสามมิติ มีทรวดทรงที่ชัดเจน ให้อิมเมจของเสียงร้องที่มีขนาดใหญ่กว่าปกติเล็กน้อย ฟังแล้วได้อารมณ์คล้ายฟังเสียงร้องจากลำโพงฮอร์นใหญ่ ๆ อยู่กลาย ๆ ถือว่าเป็นสีสันที่ดูลงตัวกับกลิ่นอายแบบวินเทจ

หากจะเทียบชั้นกับแอมป์โซลิดสเตทคลาสเอระดับพระกาฬที่เคยผ่านหูมา ต้องขอบอกว่าอาจจะอ่อนด้านความชัดคมของโฟกัสไปบ้าง เนื่องจาก QII Classic จะให้โฟกัสที่ผ่อนคลายกว่า เสมือนกับการดูภาพถ่ายที่ได้จากกล้องฟิลม์ แต่นอกเหนือจากนั้นก็ทำได้ในระดับที่หายใจรดต้นคอ ทั้งในแง่ของรายละเอียดและความต่อเนื่องลื่นไหล การให้รายละเอียดค่อนข้างมีความเป็นธรรมชาติสูง สามารถรับรู้ถึงรายละเอียดหยุมหยิมได้อย่างครบถ้วนทุกเม็ดแต่ไม่โยนออกมาหาคนฟังให้รู้สึกสะดุดหูมากเกินไปเลย

ถ่ายทอดน้ำหนักดัง-ค่อยและการไต่ระดับเสียงได้อย่างมีชั้นเชิงและถูกที่ถูกทาง ทำให้สามารถรับรู้ถึงการถ่ายทอดอารมณ์ทั้งการเล่นและการร้องของนักดนตรีออกมาได้ลึกซึ้งมากเป็นพิเศษ Holly Cole Trio – Don’t Smoke In Bed [CDP 0777 7 81198 2 1]

        คนตัดสินใจซื้อแอมป์หลอดไตรโอดกำลังขับไม่สูงราคาแสนต้น ๆ ได้ ส่วนใหญ่มักจะมีความนิยมชมชอบในการเสพดนตรีแนวบรรเลงคลาสสิค แจ็ส หรือแนวขับร้องที่เน้นความไพเพราะเสียเป็นส่วนใหญ่ หรือแม้แต่แนวเพลงร็อคยุคเก่าก็พอไหว ขึ้นอยู่กับการแม็ทชิ่งลำโพงที่ใช้เป็นสำคัญ และเป็นที่เข้าใจกันอยู่แล้วว่าแอมป์ประเภทนี้มักจะไม่ค่อยเหมาะที่จะนำมาฟังกับแนวเพลงดนตรีสมัยใหม่ที่ใช้ซาวด์แบบสังเคราะห์ มีจังหวะเร็ว ๆ หรือหนักหน่วง เพราะต้องการความกระชับ ฉับไว และการควบคุมการขยับของไดร์เวอร์ที่เด็ดขาด แอมป์หลอดวัตต์ต่ำที่มีค่าแดมปิ้งแฟ็คเตอร์ไม่สูง จึงไม่สามารถตอบโจทย์ได้อย่างตรงจุดเท่าใดนัก สังเกตว่าเวลาฟังแล้วจะรู้สึกว่าขาดความคึกคักตื่นตัวไปสักหน่อย

QII Classic ก็นับได้ว่าอยู่ในข่ายที่กล่าวมาเช่นกัน แต่ก็ไม่ใช่เสียทั้งหมด แม้ย่านเสียงทุ้มหัวเสียงจะติดนุ่ม แต่ก็มีความควบแน่นของมวลเสียงสามารถดีดเสียงทุ้มเป็นลูกออกมาจากลำโพงได้ เรียกได้ว่าทั้งนุ่มและแน่น  มีจังหวะจะโคนที่กระชับเมื่อเทียบกับแอมป์หลอดที่เคยฟังมาส่วนใหญ่ สปีดกลาง ๆ ไม่ถึงกับฉับไวแต่ก็ไม่อืดอาดจนรุ่มร่าม อีกทั้งยังลงได้ลึกและสามารถควบคุมการทอดหางเสียงเอาไว้ได้ดีกว่าที่คาด ถือว่าหากนำไปฟังดนตรีที่มีจังหวะเร็ว ๆ และมีความสลับซับซ้อนของเครื่องดนตรีหลายชิ้น ก็ยังแยกแยะเสียงต่าง ๆ ออกมาได้ชัดเจนไม่มั่วหรือสับสน ทำให้ไม่สูญเสียอรรถรสความเพลิดเพลินจนเกินไป Repercussion Unit – In Need Again [CMP CD 31]

กับเสียงเครื่องดนตรีอะคูสติกส์นั้นไม่มีปัญหา ฟังเสียงเดินเบสเห็นเป็นเส้นสายชัดเจน เสียงหวดหนังกลองมีรายละเอียดที่ครบถ้วน ให้ลักษณะเสียงที่แตกต่างกันไปของเครื่องดนตรีหรือทิมเบอร์ที่ดี สามารถฟังแยกแยะลักษณะเสียงเฉพาะตัวของเครื่องดนตรีที่มีลักษณะคล้ายกันออกมาได้อย่างชัดเจน มีฮาร์โมนิกของเสียงที่เข้มข้น ย่านทุ้มต้นสอดรับกับย่านกลางต่ำได้อย่างกลมกลืนและไล่ระดับไปหาย่านทุ้มต่ำได้อย่างราบรื่น ควบคุมย่านเสียงทุ้มได้มั่นคงและนิ่ง แต่อาจจะอ่อนน้ำหนักการย้ำเน้นและความหนักหน่วงไปบ้างเล็กน้อย Janis Ian – Breaking Silence [Morgan Creek 2959-20023-2]

        QII Classic ให้เวทีเสียงที่ใหญ่โตอลังการแผ่ขยายออกไปรอบด้านได้มากจริง ๆ ทั้งด้านกว้างด้านลึกแม้กระทั่งเวทีเสียงด้านสูง ทั้งยังตรึงตำแหน่งของชิ้นดนตรีได้มั่นคง อิมเมจชิ้นดนตรีต่าง ๆ มีความกลมเป็นรูปทรง มีความเป็นสามมิติที่ดีไม่แบนเป็นหน้ากระดาน อย่างที่กล่าวมาข้างต้นว่า QII Classic ไม่เน้นความใสในเวทีเสียงแบบทะลุทะลวง แต่ให้ความอบอวลของบรรยากาศเข้ามาทดแทน ยิ่งถ้าได้ฟังกับอัลบั้มที่บันทึกมาแบบบันทึกสดจะเข้ากันดีเป็นพิเศษและเห็นจินตภาพได้ชัดเจน

อย่างในแทร็ค Glinka: Russlan and Ludmilla, overture – The Moscow Philharmonic [Sheffield Lab 10037-2] นำเสนอความโอ่อ่าของเวทีเสียงและมวลบรรยากาศความเป็นโถงออกมาให้รับรู้ได้ดีมาก สัมผัสถึงความกระหึ่มกว้างเร้าใจของเครื่องดนตรีในวงเวลาโหมประโคมขึ้นพร้อมกัน หรือแม้แต่ในช่วงเวลาที่เล่นอย่างแผ่วเบาก็มีช่องว่างช่องไฟที่ตัดกันชัดเจนทำให้เกิดความรู้สึกน่าติดตาม มีไดนามิกที่ปลดปล่อยอย่างอิสระ เวลาสวิงเสียงไม่รู้สึกว่าอั้นตื้อแม้จะเล่นในระดับโวลุ่มสูง ๆ

จากที่ผู้เขียนได้มีโอกาสชมการแสดงสดของวงออเครสตร้ามาบ้าง ทำให้รู้ว่าการน้ำเสียงและบรรยากาศที่ถ่ายทอดออกมาโดย QII Classic นั้นให้ความรู้สึกและอารมณ์ร่วมในการรับฟังคล้ายกับตอนนั่งไปฟังในคอนเสิร์ทฮอลล์ได้ไม่เลวเลย

สรุป

        หากเราเข้าใจธรรมชาติและข้อจำกัดของแอมป์หลอด การเลือกเฟ้นหาซิสเต็มและลำโพงที่เหมาะสมเพื่อให้แอมป์สำแดงประสิทธิภาพที่แท้จริงออกมาได้ก็ถือว่าเป็นศิลปะของการเล่นเครื่องเสียงอีกอย่างหนึ่ง QII Classic จัดอยู่ในประเภทของแอมป์ที่ให้สีสันความน่าฟังของบทเพลงเป็นสำคัญ เน้นความผ่อนคลาย ถ่ายทอดอารมณ์และความเป็นดนตรีได้โดดเด่น มากกว่าที่จะเป็นมอนิเตอร์ถ่ายทอดความเที่ยงตรงและแสดงข้อบกพร่องในแต่ละอัลบั้มออกมาอย่างชัดเจน

เหมาะกับผู้ที่ต้องการเสพความงดงามของดนตรีเผื่อความรื่นรมย์อย่างแท้จริง โดยเฉพาะกับแนวเพลงขับร้อง ป็อบ แจ๊ส อะคูสติกส์หรือแนวเพลงคลาสสิคก็ไปกันได้ดี โดยเฉพาะอัลบั้มที่บันทึกกันแบบเล่นสดจะโชว์ย่านกลางแหลมที่มีเสน่ห์เฉพาะตัวชวนฟังออกมาได้ดีเป็นพิเศษ หรือกับใครที่ชื่นชอบแนวเสียงแบบวินเทจนี่คือแอมป์ที่อยากให้มาลองฟังเพื่อเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกด้วยเช่นกัน

อุปกรณ์ร่วมทดสอบ

  • แหล่งโปรแกรม – PC, เน็ตเวิร์คเพลเยอร์พกพา Chord: Mojo + Poly, เครื่องเล่นไฟล์พกพา iBasso: DX80, เครื่องเล่นซีดี Quad: Artera Play
  • แอมปลิฟายเออร์อินทิเกรทแอมป์ Bryston: B-60, เพาเวอร์แอมป์ NAD: 216THX
  • ลำโพงลำโพงวางหิ้ง NHT: 1.5, ลำโพงวางหิ้ง Mission: QX-2
  • สายเชื่อมต่อสายดิจิทัล USB Furutech: Formula 2, สายดิจิทัลโคแอ็คเชี่ยล QED: Qunex SR75, สายสัญญาณอนาล็อก Tchernov: Special XS, สายสัญญาณอนาล็อกTaralabs: TL-101, สายไฟเอซี Shunyata: Python VX, สายไฟเอซี Cardas: Crosslink 1s, สายไฟเอซี Kimber: Powerkord, สายลำโพงSupra: Ply 3.4
  • อุปกรณ์เสริมปลั๊กผนัง PS Audio: Power Port Premiere (Audiophile Grade), ปลั๊กกรองไฟ Clef: Power Bridge 8 (เปลี่ยนปลั๊กเป็น Wattgate 381), ตัวกรองไฟ X-filter, ตัวกรองน้อยส์ Audio Prism: Quite Line mkIII, ตัวกรองน้อยส์ Audio Quest: Jitter Bug, ผลึกควอตซ์ Acoustic Revive: QR-8, ตัวอุดปลั๊ก Isoclean, ขาตั้งลำโพง Atacama: HMS 1, ชั้นวางเครื่องเสียง Audio Arts

รายละเอียดด้านเทคนิค

  • Input Sensitivity         775mV RMS
  • Power Output 15W RMS
  • Output Impedence   8 Ohms
  • THD @ 700Hz            0.8% @ 12W
  • Residual Hum and Noise    Better than -90dB
  • Frequency Response          10H – 20kHz (± 0.2dB)
  • Damping Factor       11.75 @ 700Hz (referred to 8 Ohms)
  • Valves            2 x EF86, 2 x KT66, 1 x GZ34
  • Dimensions (W x H x D)       335 x 121 x 171mm
  • Weight            8.3kg

ขอขอบคุณ Audio Absolute โทร. 02-489-8954 ที่เอื้อเฟื้อสินค้าสำหรับการทดสอบ