DAWN NATHONG
![](http://whathifi.whatgroupmag.com/wp-content/uploads/2019/08/Micromega-M-One-100-Scratch-resistant-finish-1024x683.jpg)
เมื่อวงการเครื่องเสียงไฮเอ็นด์หันมาให้ความสำคัญกับวงจรภาคขยายแบบคลาสดีหรือสวิทชิ่งแอมป์กันมากขึ้น เนื่องจากมีข้อดีหลายประการทั้งในเรื่องขนาดที่สามารถออกแบบตัวเครื่องให้เล็กลงและมีน้ำหนักเบา ปราศจากความร้อนสะสมในขณะทำงานและบริโภคพลังงานต่ำ สามารถสร้างกำลังขับได้สูง แต่หากออกแบบไม่ดีก็อาจเกิดปัญหาโดยเฉพาะในย่านความถี่สูงทำให้เสียงเกร็งแข็งไม่น่าฟัง ในขณะเดียวกันวงจรขยายแบบคลาส AB ซึ่งนิยมใช้ในแอมป์ส่วนใหญ่มานานก็ให้คุณภาพเสียงเป็นที่ยอมรับในตลาดมานานแล้ว แต่ก็มีขนาดวงจรและน้ำหนักภาคจ่ายไฟที่มากกว่ารวมถึงต้องมีการจัดการเรื่องการระบายความร้อนให้ดี ทาง Micromega มองเห็นข้อดี-ข้อเสียของวงจรทั้งสองแบบและได้นำแนวคิดมาสร้างเป็นซี่รียส์ M-One ที่ดึงเอาจุดเด่นของทั้งดิจิตอลเทคโนโลยีและอนาล็อกแอมป์มาผสมผสานรวมกัน
เทคโนโลยีที่น่าสนใจ
รุ่น M-100 ที่นำมาทดสอบในครั้งนี้มีกำลังขับอยู่ที่ 2 x 100 วัตต์ต่อเนื่องที่ 8 โอห์ม และสามารถเพิ่มกำลังขับเป็น 2 x 150 วัตต์ที่ 4 โอห์ม ในส่วนของตัวถังเครื่องนั้นสกัดจากอะลูมินัมก้อนเดียว ทำให้มีความแกร่งสูงและป้องกันสัญญาณรบกวนได้ดี ออกแบบมาให้สามารถจัดวางบนชั้นหรือแขวนยึดติดผนังได้ โดยจะมีจอแสดงผลอยู่ทั้งสองด้านบริเวณส่วนหน้าของเครื่อง เอกสารข้อมูลด้านเทคนิคของ M-100 นั้นยาวเหยียดทีเดียว จึงขอเลือกเฉพาะส่วนที่น่าสนใจมานำเสนอไว้พอสังเขป
M.C.F (Micromega Custom Finish)
![](http://whathifi.whatgroupmag.com/wp-content/uploads/2019/08/mcf-site.jpg)
ระบบเลือกเลือกเฉดสีของตัวเตรื่องให้เหมาะกับการตกแต่งภายในห้องได้ ซึ่งมีให้เลือกกว่าร้อยเฉดสีหรือแม้กระทั่งลวดลายพื้นผิวบนตัวเครื่องก็สามารถสั่งทำเป็นพิเศษได้เช่นกัน ถ้าใครสนใจลองสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมจากทางตัวแทนจำหน่ายดูครับ
M.A.R.S (Micromega Acoustic Room System)
![](http://whathifi.whatgroupmag.com/wp-content/uploads/2019/08/micromega-mars-system.jpg)
ฟังก์ชั่นปรับแก้ไขสภาพอคูสติกส์ของห้องที่เรียกสั้น ๆ ว่า M.A.R.S ปกติเรามักจะพบฟังก์ชั่นคล้าย ๆ กันอยู่ในเอวีรีซีฟเวอร์เสียมากกว่า ถือว่า Micromega น่าจะเป็นเพียงไม่กี่แบรนด์ที่บรรจุฟังก์ชั่นนี้ลงในอินทิเกรตแอมป์ หลักการก็คือใช้ไมโครโฟนเชื่อมต่อกับ M-100 แล้วนำไปไมค์ไปตั้งตรงตำแหน่งนั่งฟังเพื่อวัดค่า จากนั้นซอฟท์แวร์ในตัว M-100 จะนำเอาค่าความถี่ตอบสนองจากลำโพงที่ไมค์วัดได้ทั้งค่าการซับ-สะท้อน หรือเรโซแนนท์ที่เกิดภายในห้องมาแก้ไขให้เหมาะสม โดยจะมี Preset ให้เลือกสองแบบคือ “Room EQ1” ที่เน้นความราบเรียบการตอบสนองย่านความถี่ (Frequency response) และ “Room EQ2” จะเพิ่มในส่วนของการตอบสนองสัญญาณเสียงกระทบ (Impulse) เข้ามาด้วย ฟังก์ชั่นนี้มีจำหน่ายแยกเป็นออฟชั่นเสริมต่างหาก
แอปสั่งงานผ่านสมาร์ทโพนหรือแทปเล็ต
![](http://whathifi.whatgroupmag.com/wp-content/uploads/2019/08/IMG_2460-768x1024.png)
![](http://whathifi.whatgroupmag.com/wp-content/uploads/2019/08/m100.jpg)
แอป “Micromega” มีให้ดาวน์โหลดทั้ง iOS และ Android ใช้สั่งงานแทนรีโมทคอนโทรลและรองรับการใช้งาน Internet Radio รวมถึง Audio Server ผ่านโปรแกรมที่รองรับ เช่น Jriver หรือ Foobar2000 (ตัวผู้เขียนใช้โปรแกรม Universal Media Server บน PC เพื่อทำเป็น NAS ก็สามารถมองเห็นในแอปและทำงานร่วมกับ M-100 ได้อย่างราบรื่น) รองรับ Cloud Service อย่าง TIDAL หรือวิธีที่ง่ายกว่านั้นคือการเล่นผ่านฟังก์ชั่นบูลทูธนั่นเอง ซึ่งภาครับสัญญาณบลูทูธแบบ 4.0 aptX ในตัวของ M-100 นั้นมีคุณภาพสูงมาก ฟังแล้วให้คุณภาพเสียงใกล้เคียงกับการเล่นผ่านการสตรีมมิ่งประเภทอื่นมากทีเดียว
การเชื่อมต่อที่ครอบคลุมทุกระดับการใช้งาน
M-100 นั้นนอกจากจะให้ช่องดิจิตอลอินพุตมาอย่างครบถ้วนมากที่สุดเท่าเคยได้ทดสอบเครื่องเสียงมา ยังใช้อุปกรณ์ที่มีคุณภาพสูงลิบแถมรองรับความละเอียดของสัญญาณได้ครอบคลุมทุกระดับ จะเรียก M-100 ว่าเป็น Digital Hub ที่สมบูรณ์แบบก็ว่าได้
![](http://whathifi.whatgroupmag.com/wp-content/uploads/2019/08/screen-shot-2017-01-19-at-105546-am-1.jpg)
- ช่อง USB ออดิโอ 2.0 แบบ 32 บิตสำหรับสัญญาณ PCM, DSD, DSD/DoP รองรับ DSP XMOS แยกอิสระจากอุปกรณ์ประมวลผลภายในเครื่อง
- ช่องโคแอ็คเชี่ยล SPDIF รองรับ 32 bit/768KHz ซึ่งมีหม้อแปลงแยกอิสระ
- มีโมดูลบลูทูธแบบ AptX ที่สามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ได้พร้อมกันสูงสุดถึง 8 ชิ้น
- ช่อง I2S แบบ HDMI สำหรับอุปกรณ์ในอนาคตอย่างเช่น Wireless point to point หรืออุปกรณ์เน็ตเวิร์คอื่น ๆ
- ช่อง Ethernet พอร์ตสำหรับเชื่อมต่อเน็ตเวิร์คเพื่อใช้งาน Micromega app รองรับทั้ง UPnP – DLNA ตัวแอพสามารถใช้งานเป็นรีโมทคอนโทรลสั่งงาน NAS, Digital Radio และสตรีมมิ่ง
- ช่องต่ออนาล็อคอินพุตแบบอันบาล้านซ์และบาล้านซ์
- ภาคโฟโนสเตจแบบ MM และ MC
- ช่องต่อโลว์-พาสตัดความถี่ 400 เฮิร์ตสำหรับใช้งานร่วมกับแอ็คทีฟซัพวูฟเฟอร์
วงจรภาคดิจิตอลและอนาล็อคคุณภาพสูง
M-100 จัดการทำงานของสัญญาณดิจิตอลด้วย CPLD (Complex Programmable Logic Device) ซึ่งเปรียบได้กับมันสมองของ M100 ช่วยจัดการความถี่สัญญาณนาฬิกาที่ความถี่ 45.1584MHz (สำหรับแซมปลิ้งเรต 44.1KHz) และความถี่ 49.1520MHz (สำหรับแซมปลิ้งเรต 48KHz) ให้มีการรบกวนทางเฟสต่ำสุด ใช้ชิพถอดรหัสเสียงคุณภาพสูง AKM AK4490EQ รองรับไฟล์ฟอร์แมตความละเอียดสูงสุดถึง PCM 32 bit / 768 KHz และ DSD 11.2 MHz นั่นทีเดียวใช้ดิจิตอลโวลุ่มความละเอียดระดับ 32 บิตที่ควบคุมการทำงานด้วยโปรเซสเซอร์ SHARC จาก Analog Device
![](http://whathifi.whatgroupmag.com/wp-content/uploads/2019/08/Micromega-M-One-M-100-Noir_Vi2_1200-1024x682.jpg)
ใช้เทคโนโลยีวงจรภาคจ่ายไฟสวิตชิ่งแบบ Resonance Power Supplies หรือเรียกสั้น ๆ ว่า LLC ที่มีความเร็วสูงและทำงานบนความถี่ที่สูงที่เหนือกว่าย่านความถี่เสียงปกติถึง 6 เท่า ตัดปัญหาสัญญาณไปรบกวนภาคขยายอย่างเด็ดขาด โดยใน M-100 จะใช้ภาคจ่ายไฟ LLC ถึงสองชุดสำหรับแต่ละแชนแนลทำงานแบบดับเบิ้ล-โมโน ซึ่งหมายความว่าทั้งสองแชนแนลจะทำงานเป็นอิสระต่อกัน สามารถให้กำลังขับได้สูงถึง 300 วัตต์ต่อเนื่อง (เทียบเท่ากับการใช้หม้อแปลงขนาด 300 VA สองลูกที่มีน้ำหนักกว่า 8 กิโลกรัมเลยทีเดียว) น้ำหนักเครื่องของ M-100 จึงเบาเพียง 9 กิโลกรัมและสามารถติดตั้งบนผนังได้อย่างสบาย
![](http://whathifi.whatgroupmag.com/wp-content/uploads/2019/08/Micromega-M-One-M-100-inside_big-1024x682.jpg)
ในส่วนภาคขยายเป็นวงจรอนาล็อค Class AB แบบบาล้านซ์ตลอดช่วง ซึ่งทาง Micromega เชื่อมั่นว่าให้คาแร็คเตอร์เสียงและคุณภาพเหนือกว่าวงจร Class D ที่มีตัวแปรอันอาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพเสียงได้มากกว่า โดยทาง Micromega ออกแบบการระบายความร้อนด้วยการใช้อุโมค์ลมซ่อนอยู่ภายในมีพัดลมขนาดเล็กที่จะทำงานเมื่ออุณหภูมิเครื่องสูง (เสียงพัดลมเงียบดีมากหมดห่วงเรื่องเสียงรบกวน)
แกะกล่อง
![](http://whathifi.whatgroupmag.com/wp-content/uploads/2019/08/unbox-1024x683.jpg)
แว่บแรกที่เห็นตัวเครื่องนั้นเข้าใจว่าเป็นดิจิตอลแอมป์อย่างไม่ต้องสงสัยเพราะรูปทรงเพรียวบางกะทัดรัดดีเหลือเกินแถมยังไม่เห็นครีบระบายความร้อนเลยซักนิด มีเพียงช่องระบายความร้อนเล็ก ๆ บริเวณข้างตัวถังทั้งสองด้าน บอดี้รูปทรงสี่เหลี่ยมดีไซน์ดูเรียบง่ายสไตล์ โมเดิร์นเข้ากับการตกแต่งบ้านได้อย่างกลมกลืน ปุ่มคอนโทรลและสวิตช์ปิดเปิดจะถูกซ่อนไว้บนหน้าจอแสดงผล ด้านท้ายเครื่องอัดแน่นไปด้วยช่องอินพุตสัญญาณทั้งดิจิตอลและอนาล็อคครบครัน ดูค่อนข้างจะเบียดเสียดกันเล็กน้อยแต่ก็ไม่มีปัญหากับการเชื่อมต่อสายขนาดใหญ่ ช่องอินพุตต่าง ๆ จะมีสติ๊กเกอร์บอกตำแหน่งติดไว้อยู่ด้านใต้เครื่อง (เวลาต่อสายแนะนำให้ดูภาพจากคู่มือแทนเพื่อความสะดวก) เหตุที่เป็นแบบนี้เพราะต้องการออกแบบให้ตัวถังมีความแบนบางที่สุดเพื่อให้เหมาะกับการติดตั้งบนผนังด้วย ขารองเครื่องเป็นเดือยแหลมขนาดจิ๋วทั้งสี่มุม เครื่องรุ่นที่นำมาทดสอบเป็นสีพิเศษ “Electric Orange” ซึ่งราคาจะสูงกว่าสีมาตรฐานอย่างสีดำและเงิน พร้อมรีโมทคอนโทรล
ติดตั้งเข้าระบบ
การใช้งานอุปกรณ์เครื่องเสียงประเภทดิจิตอลสิ่งสำคัญคือควรตรวจสอบเฟิร์มแวร์ในเครื่อง (ถ้ามี) ว่าเป็นเวอร์ชั่นล่าสุดแล้วหรือยัง ควรทำการอัพเดตเฟิร์มแวร์ทั้งหมดให้เป็นเวอร์ชั่นล่าสุดเสียก่อนเพื่อให้อุปกรณ์ทำงานได้อย่างสมบูรณ์แบบที่สุด หากท่านไม่สะดวกลองปรึกษาทางตัวแทนจำหน่าย ส่วนเฟิร์มแวร์อัพเดตของ M-100 นั้นให้เข้าไปดาวน์โหลดได้จาก http://micromega.com/en/products/mone-range/ เลือกหัวข้อ “M-One Updates” ซึ่งเมื่อดาวน์โหลดมาแล้วจะมีไฟล์ทั้งหมด 3 ไฟล์รวมทั้งขั้นตอนการอัพเดตโดยละเอียดดังนี้
- M-One Firmware : V44 สำหรับ M-100
- M-One Module Reseau Firmware : NMR V1.20 สำหรับโมดูลเน็ตเวิร์ค
- M-One USB module : V6C9 ลงในคอมพิวเตอร์สำหรับการเชื่อมต่อทางช่อง USB
(เครื่องที่ได้รับมาทดสอบยังไม่ได้มีการอัพเดตเฟิร์มแวร์แต่อย่างใด ผู้เขียนจึงทำการอัพเดตเฟิร์มแวร์จนเป็นเวอร์ชั่นล่าสุดให้เรียบร้อยก่อนการทดสอบ)
![](http://whathifi.whatgroupmag.com/wp-content/uploads/2019/08/IMG_2461-768x1024.png)
ส่วนการเชื่อมต่อเน็ตเวิร์คของ M-100 ต้องอาศัยช่อง Ethernet ท้ายเครื่องเชื่อมต่อสาย LAN เข้าสู่ตัว Wi-Fi Router จากนั้นทำการเปิดใช้งานแอป Micromega บนมือถือหรือแทปเล็ตจะแสดงชื่อเครื่องที่เชื่อมต่อกับเน็ตเวิร์คขึ้นมา จากนั้นคลิกที่ชื่อเครื่องก็สามารถคอนโทรล M-100 ได้ทันที
![](http://whathifi.whatgroupmag.com/wp-content/uploads/2019/08/micromega-m-one-1.jpg)
จากการทดลองเชื่อมต่อแบบบาล้านซ์และอันบาล้านซ์พบว่ามีคุณภาพใกล้เคียงกัน ช่องต่อบาล้านซ์จะมีความสงัดของพื้นเสียงดีกว่าเล็กน้อยแต่การเชื่อมต่ออันบาล้านซ์ก็ดูจะมีความต่อเนื่องลื่นไหลดีกว่าเล็กน้อยเช่นกัน ในการทดสอบจะเน้นไปที่การใช้งานผ่านช่องอันบาล้านซ์เป็นหลัก สิ่งที่น่าสนใจคือ M100 มีฟังก์ชั่นชดเชยความไวอินพุตของสัญญาณทั้งดิจิตอลและอนาล็อคอยู่ในเมนูของเครื่องชื่อหัวข้อ “SENS” ซึ่งเราสามารถชดเชยระดับความดังของต้นทางได้อีกบวกหรือลบ 6 dB (ปรับแยกได้ทุกช่องอินพุต) ตรงนี้ดีมาก ๆ อย่างเช่นการเชื่อมต่อแบบอันบาล้านซ์สัญญาณจะเบากว่าบาล้านซ์อยู่ประมาณ 6 dB ก็สามารถใช้ฟังก์ชั่นนี้ชดเชยได้ทันที แถมการปรับชดเชยด้วยฟังก์ชั่นนี้ไม่ส่งผลเสียงต่อคุณภาพเสียงอีกด้วยน่าประทับใจมาก
ในส่วนสายไฟเอซีนั้นการเลือกใช้สายไฟเอซีคุณภาพดีส่งผลต่อคุณภาพเสียงของ M100 พอสมควร หากเป็นไปได้ก็ควรอัพเกรดใช้สายไฟคุณภาพดีแทนสายที่ติดมากับเครื่อง อย่างผู้เขียนใช้สายไฟเอซี MIT-Z-Cord ก็เห็นหน้าเห็นหลังแล้ว
ผลการลองฟัง
![](http://whathifi.whatgroupmag.com/wp-content/uploads/2019/08/11115micromega.jpg)
ส่วนตัวผู้เขียนได้ใช้เครื่องเล่นซีดี Micromega Stage 2 มาก่อนเพราะติดใจในความพริ้วและลื่นไหลแบบหาตัวจับยากในระดับราคาเดียวกัน เมื่อได้ทดลองฟัง M100 ก็พบว่าเครื่องเสียงจากดนแดนฝรั่งเศษนี้มีกลิ่นอายของบุคลิกเสียงที่คล้ายคลึงกันอยู่บ้างส่วน แม้จะเป็นผลิตภัณฑ์คนละรุ่นและถูกสร้างมาห่างกันเกินกว่าสิบปีแล้วก็ตาม อันแรกสิ่งที่สัมผัสได้คือความแนบเนียนในการนำเสนอรายละเอียดและความสะอาดของพื้นเสียงที่เหนือชั้นกว่าเครื่องในราคาต่ำกว่าอย่างเห็นได้ชัด รายละเอียดของเสียงนั้นเหมือนกับถูกนำเสนอออกมาอย่างเป็นขั้นเป็นตอนมีลำดับขั้นและชั้นเชิงที่ปราณีตบรรจง รวมถึงพื้นเสียงที่มีความใสสะอาดไร้ม่านหมอกรบกวนทำให้รายละเอียดยิบย่อยเหล่านั้นมีความชัดเจนดีมาก ความสะอาดของเนื้อเสียงพาลให้ให้คิดถึงแอมป์ดิจิตอลชั้นดี แต่ M-100 จะเจือความอบอุ่นเอาไว้มากกว่า เนื้อเสียงมีความเนียนละเอียดไร้ความแข็งกระด้างอย่างสิ้นเชิง มิติเวทีเสียงมีความเป็นสามมิติตื้นลึกลดหลั่นกันไปไม่แบนเป็นหน้ากระดาน ช่องว่างช่องไฟระหว่างชิ้นดนตรีสามารถแยกแยะออกมาได้ดีและตรึงตำแหน่งของชิ้นดนตรีในเวทีเสียงได้นิ่งไม่สับสนตีรวนกันเอง [Test CD 5 / Opus 3 – PCM 16/44.1] ไม่ว่าจะเล่นในระดับความดังสูงหรือแผ่วเบาคุณสมบัติที่กล่าวมาก็ยังคงแสดงออกมาให้สัมผัสได้อย่างชัดเจน
โทนัลบาล้านซ์หรือสมดุลเสียงของ M100 มีความราบเรียบดีมากฟังแล้วไม่รู้สึกว่าหนักไปทางทุ้มหรือแหลมมากเกินไป ถือว่าค่อนข้างมีความเป็นกลางหรือมีโทนเสียงแบบมอร์นิเตอร์ดีทีเดียว สังเกตว่าเราจะสามารถจับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนสายสัญญาณ สายไฟเอซี หรืออุปกรณ์ที่ใช้ร่วมกันในระบบได้อย่างง่ายดาย แสดงให้เห็นว่า M100 ไม่ค่อยมีบุคลิกเสียงส่วนตัวมากเท่าไรนัก แต่ในคณะเดียวกันก็ยังคงรักษาความอิ่มแน่นของตัวเสียงทั้งทุ้มกลางแหลม รวมทั้งความต่อเนื่องลื่นไหลและความพริ้วไหวของปลายเสียงเอาไว้ได้อย่างน่าฟัง [Rain Forest Dream / Joji Hirota – PCM 16/44.1]
จุดเด่นอีกอย่างของ M100 คือการให้ช่วงไดนามิกคอนทราสต์หรือความดัง-เบาของเสียงที่หลากหลายได้อย่างยอดเยี่ยม สามารถรับรู้การเปลี่ยนแปลงระดับเสียงได้อย่างชัดเจนไม่ว่าในช่วงดังหรือเบา ก่อให้เกิดความไพเราะเพราะพริ้งของบทเพลง โดยเฉพาะเสียงของนักร้องที่ออดอ้อนเจือความหวานละเมียด ส่งผลให้เรารู้สึกมีอารมณ์ร่วมไปกับเสียงดนตรีได้เป็นอย่างดี [The Look of Love / Grace Mahya – FLAC 16/44.1] กับบางอัลบั้มสามารถเก็บรายละเอียดของเสียงแผ่วเบาต่าง ๆ ได้หมดจดอย่างที่ไม่เคยได้ยินมาก่อน [AMANDA / Amanda McBroom – PCM 16/44.1] จุดนี้ค่อนข้างโดดเด่นกว่าแอมป์หลาย ๆ ตัวที่เคยได้ฟังมา
![](http://whathifi.whatgroupmag.com/wp-content/uploads/2019/08/e9c85735-739b-4db6-b72a-9aef9d588cc1660620.jpg)
ในแง่ของกำลังขับนั้น M100 สามารถขับลำโพงอย่าง Canton Vento 830.2 ออกมาได้เป็นอย่างดี แทบไม่ต่างกับการใช้ชุดปรี-เพาเวอร์ แม้ลำโพง Vento 830.2 ค่อนข้างกินวัตต์พอสมควร แต่ M100 ก็ยังสามารถรีดประสิทธิภาพของลำโพงออกมาได้เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่าเกินคาดสำหรับอินทิเกรตแอมป์ มีกำลังสำรองที่ดีเวลาเสียงโหมขึ้นดังพร้อม ๆ กันอย่างเพลงซิมโฟนีออเครสตร้า [Malcolm Arnold, London Philharmonic Orchestra / Arnold: Overtures – FLAC 16/44.1] ก็ไม่รู้สึกว่ามีอาอารป้อแป้หรืออ่อนแรงแต่อย่างใด ให้ชิ้นดนตรีหลุดลอยออกมาจากตู้ลำโพงได้ดีและตริ่งตำแหน่งได้นิ่งสนิท ปราศจากความอั้นตื้อแม้เล่นในระดับความดังสูง (เมื่อเทียบกับชุดปรี-เพาเวอร์จะให้ความโอ่อ่าของเวทีเสียงและโฟกัสรวมทั้งย่านความถี่ต่ำ ๆ ที่ดีกว่า M100 เล็กน้อย) เมื่อลองจับคู่กับลำโพงความไวต่ำอย่าง NHT 1.5 นั้นขับได้อย่างสบาย ๆ ให้เสียงหลุดตู้และเบสมาเป็นลูก ๆ เลยทีเดียว (อาจจะด้วย NHT 1.5 มีความต้านทานที่ไม่ซับซ้อนเท่าไรนัก)
สำหรับคนที่ใช้ M100 แนะนำว่าให้จับคู่กับลำโพงความไวสูงสักนิดดูจะเหมาะสมกันที่สุด แต่หากใช้ลำโพงตั้งพื้นหรือลำโพงที่มีโหลดซับซ้อนกว่านี้การขยับไปเล่นรุ่น M150 ที่ให้กำลังขับสูงและมีกำลังสำรองดีกว่าก็ดูจะเป็นทางเลือกที่น่าสนใจเช่นกัน เสียดาย M100 ให้ภาคปรีเอ้าท์มาเฉพาะแบบบาล้านซ์เลยไม่ได้มีโอกาสทดสอบร่วมกับเพาเวอร์แอป์ NAD 216THX ดู แต่เชื่อว่าสามารถนำมาใช้เป็นปรีแอมป์ชั้นดีได้แน่นอน
ภาคดิจิตอลอินพุตคุณภาพสูง
การทดลองฟังเสียงจากช่องดิจิตอลอินพุตของ M100 ตลอดช่วงการทดสอบไม่ส่อแสดงอาการแห้งแล้งหรือเกร็งแข็งของเสียงออกมาให้เห็นเลย แสดงให้เห็นว่าวงจร CPLD จัดการกับสัญญาณดิจิตอลเหล่านั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นไฟล์ความละเอียดระดับไหนก็สามารถขุดคุ้ยเอารายละเอียดเสียงทั้งหมดของต้นฉบับออกมาได้อย่างสมบูรณ์แบบโดยปราศจากความเพี้ยนส่วนเกิน ภาค DAC ในตัว M100 นั้นมีคุณภาพดีมากให้โทนเสียงราบเรียบเป็นกลาง มีความสงัดของพิ้นเสียงที่ดี เนื้อเสียงอิ่มแน่นแต่ไม่อวบหนาจนขาดรายละเอียด ให้รายละเอียดหยุมหยิมได้อย่างเป็นธรรมชาติไม่เน้นเด่นออกมาเกินหน้าเกินตา เจือความอบอุ่นนุ่มนวลของเสียงติดปลายนวมมาเล็ก ๆ ทำให้รู้สึกฟังสบายและไม่ล้าหู ที่สำคัญให้ความอิ่มแน่นมีน้ำหนักของฐานเสียงและย่านเสียงต่ำได้ดี แนวเสียงแบบนี้น่าจะเป็นที่ถูกหูคนฟังส่วนใหญ่ค่อนข้างตอบสนองแนวเพลงได้หลากหลาย
![](http://whathifi.whatgroupmag.com/wp-content/uploads/2019/08/m-one-remote-reflect-1024x386-1-1024x386.jpg)
ส่วนในส่วนการฟังไฟลเพลงไฮ-เรส (โดยเฉพาะไฟล์ DSD ) ผ่านช่อง USB หรือ Ethernet นั้นก็แสดงประสิทธิภาพของไดนามิก ความเนียนสะอาด และรายะเอียดยิบย่อยที่เป็นธรรมชาติของไฟล์ DSD ออกมาได้เป็นอย่างดี ผู้เขียนใช้สาย USB กับสาย LAN เกรดทั่ว ๆ ไปก็ยังสัมผัสได้ นี่ถ้าได้สายออดิโอเกรดคงจะเห็นอะไรอีกเยอะ [Soft Lights & Sweet Music / Gerry Mulligan, Scott Hamilton – DSD64], [The Eagles / Hotel California – DSD64]
ทดลองนำไปใช้ชมภาพยนตร์ผ่านการเชื่อมต่อทางช่องออพติคอลอินพุต ปรากฏว่าได้อรรถรสดีมาก แม้จะเป็นแค่เสียง PCM มิกซ์ดาว์นสองแชนแนล แต่การถ่ายถอดรายละเอียดเล็ก ๆ น้อยของเอ็ฟเฟกต์ต่าง ๆ อย่างมีชั้นเชิงรวมถึงการถ่ายทอดน้ำเสียงในบทสนทนาของตัวละครต่าง ๆ ได้อย่างเข้าถึงในอารมณ์นั้น หาฟังได้ยากเหลือเกินจากแอมป์เอวีรีซีฟเวอร์ทั่ว ๆ ไปซึ่งส่วนใหญ่มักจะเน้นไปที่ความคมชัดของสนามเสียงและความหนักแน่นเร้าใจ แค่นี้ก็ทำให้การชมภาพยนตร์ได้รสชาดและเพลิดเพลินดีไม่ใช่น้อยเลย (โดยเฉพาะหนังแนวดราม่าหรือซีรียส์ทั้งหลาย)
ภาคเฮดโฟนแอมป์ระดับไฮเอ็นด์
![](http://whathifi.whatgroupmag.com/wp-content/uploads/2019/08/170215.Micromega6.jpg)
ปกติแล้วผู้เขียนไม่ค่อยให้ความสนใจกับช่องหูฟังที่ติดมากับอินทิเกรตแอมป์เท่าไรนัก เพราะโดยส่วนมากคุณภาพแค่พอฟังได้ซะเป็นส่วนมาก แต่ได้หลังจากได้ลองภาคหูฟังของ M-100 แล้วยอมรับว่าอึ้งไม่ไช่น้อยเพราะคุณภาพมันราวกับแอมป์หูฟังตั้งโตะชั้นดีจริง ๆ แสดงว่าทาง Micromega ต้องพิถีพิถันกับวงจรภาคหูฟังมากพอควร คุณภาพเสียงนั้นถอดแบบมาจากตัวอินทิเกรตแอมป์แทบทั้งหมด ทั้งความสะอาดเนียนละเมียดของตัวเสียง ความกลมเกลี้ยงกระชับแน่นมีน้ำหนัก แยกมิติเลเยอร์ของดนตรีได้เด็ดขาด และมีพื้นเสียงที่เงียบสงัดเอามาก ๆ ผู้เขียนปรับชดเชยความดังขึ้นไปอีก 6 dB ทดลองกับหูฟังแบบฟูลไซส์และแบบอินเอียร์ก็ไม่ได้ยินเสียงรบกวนเล็ดรอดออกมาให้ได้ยินเลยแม้แต่นิดเดียว มีพละกำลังที่สามารถขับหูฟังได้คุณภาพเต็มร้อยเปอร์เซนต์ เชื่อว่าคุณภาพจากช่องหูฟังของ M-100 นั้นไม่เป็นรองแอมป์หูฟังแบบตั้งโต๊ะระดับต่ำแสนสักกี่มากน้อย
และหากต้องการอัพเกรดภาคหูฟังของ M-100 ให้เหนือชั้นขึ้นไปอีก ทาง Micromega ก็มีจำหน่ายออพชั่นเสริมเป็นฟังก์ชั่น Binaural Listening ที่สร้างมิติของหูฟังให้เสมือนกับการรับฟังจากลำโพงบ้านจริง ๆ (รายละเอียดสอบถามได้ทางผู้จัดจำหน่าย)
สรุป
ไม่บ่อยนักที่จะได้เจอเครื่องเสียงประเภท All-in-one ซึ่งให้ประสิทธิภาพของแต่ละฟังก์ชั่นนั้นดุจเดียวกับเครื่องแบบแยกชิ้นชั้นดี ในงบประมาณราวสองแสนบาทอาจจะดูสูงแต่หากคำนวณคร่าว ๆ ว่าท่านจะได้อินทิเกรตแอมป์พร้อม DAC แบบไฮ-เรสที่รองรับไฟล์ความละเอียดสูงได้ทุกระดับ รวมทั้งเน็ตเวิร์คเพลเยอร์ แถมด้วยแอมป์หูฟังระดับไฮเอ็นด์ในตัวด้วยละก็ การใช้เงินไปซื้อแบบแยกชิ้นเพื่อให้ได้คุณภาพใกล้เคียงกันดูจะใช้งบสูงกว่าพอควร เพราะอย่าลืมเผื่อสำหรับค่าสายสัญญานต่าง ๆ ด้วย อีกทั้งประหยัดพื้นที่ในการจัดวาง เหมาะสำหรับท่านที่ชอบความเรียบง่ายสะดวกสบายแต่ให้คุณภาพเสียงระดับไฮเอ็นด์ รวมถึงดีไซน์ที่กลมกลืนกับการตกแต่งบ้านได้ จับกับลำโพงคุณภาพดีสักคู่เท่านี้ความสุขก็อยู่แค่ปลายนิ้วแล้ว
อุปกรณ์ร่วมทดสอบ
- แหล่งโปรแกรม: เครื่องเล่นซีดี Cayin SC 100 CD, แอมป์พกพา Chord Mojo, เครื่องเล่นไฟล์พกพา iBasso DX80, iPad Mini, PC (NAS)
- แอมป์: อินทิเกรตแอมป์ NAD C368, เพาเวอร์แอมป์ NAD 216THX
- ลำโพง: Canton Vento 830.2, NHT 1.5
- สายเชื่อมต่อ: สายดิจิตอล USB Furutech Formula 2, สายสัญญาณอนาล็อก Tchernov Special XS, สายสัญญาณอนาล็อกTaralabs TL-101, สายไฟเอซี Shunyata Python VX, สายไฟเอซี MIT-Z-Cord, สายลำโพงSupra Ply 3.4
- อุปกรณ์เสริม: ปลั๊กผนัง PS Audio Power Port Premiere (Audiophile Grade), ปลั๊กกรองไฟ Clef Power Bridge 8 (เปลี่ยนปลั๊กเป็น Wattgate 381), ตัวกรองไฟ X-filter, ตัวกรองน้อยส์ Audio Prism Quite Line mkIII, ตัวกรองน้อยส์ Audio Quest Jitter Bug, ผลึกควอตซ์ Acoustic Revive QR-8, ขาตั้งลำโพง Atacama HMS 1, ชั้นวางเครื่องเสียง Audio Arts
รายละเอียดเชิงเทคนิค
- ขนาด : กว้าง : 430 mm ลึก : 350 mm สูง (รวมสไปค์) : 56 mm
- น้ำหนัก : 9 kg
- บริโภคพลังงาน : 140W
- กำลังขับ : 2 x 100W ที่ 8Ohms, 2 x 200W ที่ 4Ohms
- อัตราส่วนเสียงต่อสัญญาณรบกวน (S/N Ratio): 106 dB(A) Balanced analog input : 103 dB(A) Unbalanced analog input : 100 dB(A) Phono MM input : Higher than 75 dB(A)
- ความต้านทานขาออก : @250Hz under 8 Ohms 15mΩ
- แดมปิ้งแฟ็คเตอร์ : > 500
- ค่าความเพี้ยนรวม : THD, 8 Ohms, 63 Hz : under 0,001% THD, 8 Ohms, 1 kHz : under 0,005% THD, 8 Ohms, 10 kHz : under 0,05% THD, 4 Ohms, 63 Hz : under 0,001% THD, 4 Ohms, 1 kHz : under 0,01% THD, 4 Ohms, 10 kHz : under 0,07%
- การรบกวนข้ามแชนแนล (Crosstalk) : 1kHz under 96dB, 10kHz under 80dB
- ความไวขาเข้า : Phono MM, 47 kOhms 12 mVRMS Phono MC, 110 Ohms 1,2 mVRMS Analogue : 1,4 VRMS Balanced : 1,7 VRMS
ขอขอบคุณ CH HOME MEDIA โทร. 094-461-4152 ที่เอื้อเฟื้อสินค้สำหรับการทดสอบในครั้งนี้