รีวิว KEF R7 ตอบโจทย์ห้องทุกไซส์ด้วยพิสุทธิ์แห่งเสียงดนตรี

0

Dawn Nathong

KEF R7 เป็นลำโพงตั้งพื้นขนาดกลาง รุ่นรองท็อปของอนุกรม R ซีรียส์ แทรกอยู่อยู่ระหว่างรุ่น R11 ตัวท็อปและ R5 รุ่นตั้งพื้นตัวเล็กสุด ข้อดีคือขนาดของลำโพงที่กำลังเหมาะไม่เล็กหรือใหญ่มากเกินไป สามารถจัดวางได้ทั้งห้องขนาดใหญ่และห้องที่มีขนาดเล็ก

แม้ว่าอนุกรมนี้จะเปิดตัวออกมาได้ระยะหนึ่งแล้ว ยังไม่ได้ใช้ Metamaterial Absorption Technology (MAT™) แต่เทคโนโลยีด้านอื่น ๆ เช่น ไดร์เวอร์ หรือโครงส้รางตู้ ก็ยังคงสดใหม่เช่นเดียวกับ KEF อนุกรมล่าสุด เพราะถูกรีดีไซน์ใหม่มาจนเรียกว่า ‘ตกผลึก’ เข้าใกล้จุดสมบูรณ์มากที่สุดอนุกรมนึงของบริษัท สำหรับพิกัดราคาแถวแสนกลาง ๆ ขยับจากนี้ไปก็จะเข้าสู่ระดับไฮเอ็นด์ไปเลยอย่าง Reference Meta ซีรียส์ที่ราคาขยับไปหลายช่วงตัว ซึ่ง R7 เองก็แชร์เทคโนโลยีต่าง ๆ มาจากอนุกรมนี้หลายประการ

UniQ driver array

ไฮไลต์อันดับแรกที่ต้องพูดถึงก็คือ Uni-Q ไดร์เวอร์อาร์เรย์ ซึ่งพัฒนามาเป็นเจนเนอเรชั่นที่ 12 แล้ว เรียกว่านี่คือตัวบ่งบอกซาวด์ซิกเนเจอร์ของแบรนด์ KEF เลยก็ว่าได้ คอนเซ็ปต์คือให้ทุกเสียงออกมาจากจุดกำเนิดเดียวกันมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ หรือมีความเป็น point source มากที่สุด โดยนำทวีตเตอร์ไปฝังตัวอยู่ที่ตรงกลางของวูฟเฟอร์ในแนวแกนเดียวกันเลย ไม่ใช่ลอยอยู่เหนือวูฟเฟอร์เหมือนดอกลำโพง coaxial ปกติ โดยโครงสร้างของไดร์เวอร์ Uni-Q 12th Gen ตรงรอยต่อแคบ ๆ ระหว่างทวีตเตอร์และโคนเบส/มิดเรนจ์ จะเสริมวัสดุแดมปิ้งเพื่อขจัดเรโซแนนท์ที่เกิดขึ้นทำให้ได้ความสมูท ความโปร่งใส และรายละเอียดย่านแหลมที่ดียิ่งขึ้น

ทวีตเตอร์เป็นโดมอลูมิเนียมขนาด 1 นิ้ว ตอบสนองความถี่สูงได้ถึง 50kHz รอบโดมจะมีครีบใบพัด Tangerine Waveguide ช่วยกระจายเสียงให้เป็นมุมกว้าง ส่วนไดร์เวอร์เบส/มิดเรนจ์เป็นกรวย magnesium/aluminum alloy ขนาด 5 นิ้ว ซึ่งไดอะแฟรมของเบส/มิดเรนจ์ และ trim ring รอบ Uni-Q ไดร์เวอร์ จะทำหน้าที่เหมือนเวฟไกด์ให้กับทวีตเตอร์ไปในตัว นี่คือนวัตกรรมของ KEF ที่เรียกว่า Shadow Flare ซึ่งช่วยลดเอฟเฟคเสียงสะท้อนกวนจากเหลี่ยมมุมตู้ลำโพง (diffraction effects) ที่เกิดจากการติดตั้งทวีตเตอร์บนแผงหน้าตู้ลำโพงตามปกติ ส่งผลให้เสียงโปร่ง สะอาดชัดเจนขึ้น

Hybrid Aluminium Bass Driver

ส่วนวูฟเฟอร์ย่านต่ำสองตัวติดตั้งอยู่ด้านบนและล่างของไดร์เวอร์ Uni-Q ตัวกรวยเป็น hybrid aluminium (กรวยกระดาษเคลือบผิวอลูมิเนียม) แบบโดมเว้า ขนาด 6.5 นิ้ว ที่ถูกปรับปรุงทั้งด้านความแกร่ง ฉับไวและช่วงชักที่ลึก ให้ความเพี้ยนต่ำ

โครงส้รางภายในตู้ของ KEF R ซีรียส์

ออกแบบลำโพงเป็นระบบสามทาง จุดตัดครอสโอเวอร์ 400Hz, 2.9kHz มิติของตัวตู้ สูง กว้าง ลึก : 1,062 x 200 x 383.5 mm ท่อระบายเสียงเบสด้านหลังสองตำแหน่งบน-ล่าง ออกแบบมาลดเรโซแนนท์ส่วนเกินย่านเสียงกลางและย่านต่ำ การคาดโครงคร่าวภายในตู้ใช้ระบบ Constrained Layer Damping ที่พัฒนามาจากที่ใช้ในรุ่น LS50 โครงคร่าวภายในจะไม่ได้ยึดเข้ากับผนังตู้โดยตรง แต่มีการเสริมด้วย damping pads ซึ่งส่งผลดีเยี่ยมในการช่วยสลายแรงสั่นสะเทือนส่วนเกิน

ขั้วต่อด้านหลังลำโพงเป็นไบดิ้งโพสต์แบบไบวายร์ มีปุ่มหมุนสำหรับปรับตัวจั๊มเปอร์ที่ซ่อนอยู่ภายในตู้ หากหมุนไปทางขวาจนสุดจะเป็นการเชื่อมจั๊มเปอร์กับขั้วลำโพงชุด HF และ LF เพื่อต่อสายลำโพงซิงเกิ้ลไวร์ แต่หากบิดมาทางซ้ายจนสุดจะเป็นการยกจั๊มเปอร์ออก สำหรับในกรณีต่องการต่อสายลำโพงไบไวร์

HIGHLIGHT

  • ดอกกลางแหลม Uni-Q 12th gen กรวย magnesium/aluminum
  • ดอกทุ้มโดมเว้า กรวย hybrid aluminium ขนาด 6.5” คู่
  • เรียงไดร์เวอร์แบบ D’Appolito กระจายเสียงแนวดิ่งแบบสมมาตร
  • ระบบ 3 ทาง, bass reflex
  • ขั้วต่อสายลำโพงไบไวร์ พร้อมปุ่มหมุนจั๊มเปอร์
  • มีชุดขาตั้งพร้อมสไปค์, จานรอง มาให้ในกล่อง
  • หน้ากาก microfiber grilles ยึดด้วยแม่เหล็ก
  • ตู้มีให้เลือก 3 สี Black Gloss, White Gloss, Walnut (ไม่มีในบ้านเรา)

PERFORMANCE

  • ความถี่ตอบสนอง 48Hz-28kHz (±3dB), 33Hz-50kHz (-6dB)
  • ความต้านทาน 8 โอห์ม (ต่ำสุด 3.2 โอห์ม)
  • ความดังสูงสุด 111 dB
  • แนะนำกำลังขับ 15-250 วัตต์
  • ความไว 88 dB

การเซ็ตอัพ

ในกล่องของ R7 จะแถมเซ็ตขาตั้งพร้อมสไปค์รองและจานรองมาด้วย แนะนำให้ประกอบขาตั้งเข้ากับลำโพงทั้งสี่มุมให้เรียบร้อยเสียก่อน จากนั้นใส่สไปค์เข้าไป (ยังไม่ต้องขันน็อตล็อคสไปค์ตัวเล็ก ๆ ที่อยู่ด้านข้าง เมื่อเซ้ตตำแหน่งลำโพงและปรับตั้งระดับน้ำเรียบร้อยแล้ว กรณีเป็นพื้นพรมไม่ต้องใส่จานรองสไปค์เพื่อให้ลำโพงวางได้อย่างมั่นคงที่สุด แต่ในกรณีพื้นกระเบื้องหรือพื้นไม้ควรใส่จานรองสไปค์จะช่วยให้ยึดกับพื้นได้นิ่งสนิท

ผู้เขียนเลือกใช้การต่อสายลำโพงแบบซิงเกิ้ลไวร์ เพราะต้องการเน้นความกลมกลืนของเสียงจากไดร์เวอร์ทั้งสองชุดให้มากที่สุด จึงทำการบิดปุ่มลิ้งจั้มเปอร์ด้านหลังตามเข็มนาฬิกาจนสุดเพื่อเชื่อมจั้มเปอร์ระหว่างขั้วต่อสายลำโพง HF และ LF เบื้องต้นทดลองเสียงสายลำโพงบวกลบเข้าที่ชุด LF ก่อนปรากฏว่าดุลน้ำเสียงค่อนไปทางทุ้มมากไปขาดประกายหางเสียง จึงทดลองสลับการเสียบสายในหลายรูปแบบ มาลงตัวที่การเสียบสายลำโพงขั้วบวกเข้าที่ HF และสายลำโพงขั้วลบเข้าที่ LF น้ำเสียงทั้งสามย่านออกมาสมดุลลงตัวที่สุดสำหรับในซิสเต็มนี้

สำหรับการเซ็ตอัพตำแหน่งลำโพงภายในห้องทดสอบลำโพงจะวางห่างกันราว 1.75 เมตร ห่างผนังหลังออกมาราว 1.40 เมตร โทอินลำโพงเข้าหาตำแหน่งนั่งฟังเล็กน้อย จุดนั่งฟังห่างออกมาประมาณ 2.5 เมตร จากการทดลองปรับตำแหน่งของลำโพงเดินหน้าถอยหลังเพื่อหาตำแหน่งที่ตอบสนองย่านทุ้มได้ราบเรียบที่สุดในห้อง พบว่าเมื่อขยับลำโพงหนีผนังหลังออกมามากกว่าปกติแล้วยังพบว่ามีอาการย่านทุ้มต้น ๆ ขึ้นไปกวนเสียงกลางต่ำอยู่เล็กน้อยไม่หาย คาดว่าปริมาตรของห้องฟังไม่เพียงพอสำหรับปริมาณความถี่ต่ำของ R7 จึงทำให้เกิดอาการดังกล่าว ผู้เขียนจึงนำโฟมอุดที่แถมมาในกล่องลำโพงอุดเข้าที่เบสพอร์ตด้านล่างดูปรากฎว่าไม่มีผลกับย่านเสียงกลาง จึงย้ายมาอุดที่เบสพอร์ตด้านบนแทน อาการเสียงทุ้มกวนก็หายไปในทันที ได้ความใสกระจ่าง และรายละเอียดอย่างที่ควรจะเป็นกลับมา

ลำโพงคู่นี้ต้องการแอมป์ที่กำลังขับถึง ๆ สักหน่อยถึงจะพลักดันอิมเมจชิ้นดนตรีออกมาดีดเด้งเริงร่าเป็นอิสระได้ ผู้เขียนทดสอบด้วยอินทิเกรตแอมป์ Class D กำลัง 100 วัตต์ที่ 8 โอห์ม ไม่สามารถขับลำโพงตัวนี้ได้ เนื้อเสียงบางและขาดไดนามิกไปพอสมควร เบื้องต้นลองจับคู่กับอินทิเกรตแอมป์ Accuphase E-5000 (ราคา 390,000 บาท) ซึ่งเป็น Class AB กำลังขับสูงถึง 240 วัตต์ที่โหลด 8 โอห์ม ก็สามารถขับลำโพงคู่นี้ได้อย่างไร้ข้อกังขา อิเมจเสียงหลุดลอยจากตู้แบบสบาย ๆ ปลายแหลมพลิ้วละเอียด เสียงร้องติดหวานมีพลัง รวมถึงย่านทุ้มที่แน่นเข้ม ทิ้งตัวลงย่านต่ำได้อย่างราบรื่นและมั่นคง แต่เรื่องของโทนเสียงจะมีความนวลเนียนและสุภาพมากขึ้น ออกไปทางฟังสบายไม่โฉ่งฉ่าง ซึ่งหากใครชอบแนวขับร้องหรือชอบดนตรีที่ไม่ดุดันนักก็ถือว่ามีความลงตัว

กระนั้นเลยราคาของอินทิเกรตแอมป์ก็ดูจะสูงเกินราคาลำโพงไปหลายเท่า เลยขอจับคู่ใหม่ให้สมน้ำสมเนื้อ ผู้เขียนได้ทดลองเปลี่ยนมาใช้อินทิเกรตแอมป์ Tone Winner รุ่น AD-2PRO (พิกัดราคา 7-8 หมื่นบาท) กำลังขับ 200 วัตต์ที่โหลด 8 โอห์ม (ปรับการทำงานเป็น Class A โหมด) ก็ขับ R7 ออกมาได้หลุดลอยเช่นเดียวกัน แม้ว่าความต่อเนื่องลื่นไหล เกรนเสียงจะไม่เนียนละเอียดเท่า Accuphase แต่ในเรื่องความไดนามิกที่มีความจะแจ้ง ตื่นตัว กระฉับกระเฉงมากขึ้น รวมถึงโทนเสียงที่ลดความเอาใจหูลง สด จริงจังมากขึ้น ก็ชดเชยกันได้เป็นอย่างดี น้ำเสียงโดยรวมที่ได้ยิน ก็น้อง ๆ การขับด้วยอินทิเกรตแอมป์ฝั่งยุโรปหรืออเมริการาคาสูงกว่านี้

หมายเหตุ สำหรับท่านที่จะเล่น R7 ไม่ว่าจะใช้ในชุดฟังเพลงสองแชนแนลหรือชุดโฮมซีเนมา ขอให้ลงทุนกับแอมป์วัตต์สูงไว้ก่อนสัก 150 – 200 วัตต์ต่อแชนแนลจะให้ผลลัพท์ออกมาคุ้มค่าน่าพอใจที่สุด อย่าประหยัดแอมป์กับลำโพงคู่นี้ ไม่เช่นนั้นแนะนำให้ขยับลงไปเล่นรุ่นบุ๊คเชลฟ์อย่าง R3 จะเหมาะสมกว่า

เสียง

จุดเด่นอันดับแรกของลำโพงคู่นี้เมื่อปรับเซ็ตจนลงตัวคือความสะอาดของน้ำเสียงตลอดย่านทุ้มกลางแหลมที่โดดเด่น พร้อมด้วยความละเอียด ละเมียดละมัย และความนุ่นนวลผสานกันอย่างพอเหมาะ ใครที่ชอบรายละเอียดหยุมหยิม เล็ก ๆ น้อย ๆ ลำโพงคู่นี้ก็ให้ได้น่าประทับใจ แม้จะไม่ถึงขั้นเจาะลงไประดับขุมขนแบบลำโพงไฮเอ็นด์ที่ใช้ทวีตเตอร์โดมเบอริลเลียมระดับเทพ ๆ ก็ตาม โดยรวมก็ยังทำได้อย่างน่าประทับใจ ในพิกัดราคานี้ไม่ด้อยกว่าใครแน่นอน เรียกว่าคุณภาพขยับขึ้นมาจากอนุกรม Q ชัดเจนมาก ในแง่ความใสและรายละเอียด เนื้อเสียงที่ละเมียด การแจกแจงแยกแยะโครงสร้างฮาร์โมนิกเสียงที่ซับซ้อนออกมาให้ได้ยินได้ดีกว่า

ย่านปลายแหลมเปิดโปร่งและมีความพลิ้วกังวาน หางเสียงทอดตัวอ้อยอิ่งและจางหายไปในเวลาที่เหมาะสม ฟังแล้วไม่ห้วนสั้นหรือสั่นค้างลากยาวเกินเหตุจนฟังแล้วเหมือนปลายแหลมละเอียดเป็นฝอยมากเกินไป แถมยังให้ทรวดทรงที่กระชับแน่น ดีดตัวออกมาเป็นเม็ด ๆ ไม่คลุมเครื่อแม้แต่น้อย สอดรับกับน่านเสียงกลางที่ใสกระจ่าง มีทรวดทรงเป็นสามมิติ มวลเสียงแน่นกระชับดี ไม่ติดบาง รวมถึงมีความสดผสานความนุ่มนวลและต่อเนื่องลื่นไหลกำลังดี ออกไปทางฟังสบายแต่มีรายละเอียดครบชัด ไม่พุ่งล้ำหน้าออกมาจนเด่นเกินเสียงย่านอื่น

ส่วนย่านทุ้มหลังจูนปริมาณเสียงต่ำที่เบสพอร์ตแล้ว ให้ความต่อเนื่องสอดรับกับย่านกลางแหลมได้แบบราบรื่นและสมูทมาก ฟังรวม ๆ แล้วดุจเสียงทั้งหมดออกมาจากไดร์เวอร์ตัวเดียวกัน ไล่ระดับจากย่านทุ้มไปแหลมได้อย่างรายบรื่นไม่สะดุด รวมถึงให้ความใสสะอาดของย่านทุ้มได้ดี ไปในทิศทางเดียวกันกับย่านกลางแหลม แต่จะมีความนุ่มนวลเจืออยู่มากกว่าเล็กน้อย หัวเสียงจะไม่คมแน่นกระชับเด็ดขาด ตึงเปรี๊ยแบบสุด ๆ มีความผ่อนปรนลงมาสักหน่อย แต่ก็ให้น้ำหนักการย้ำเน้นและให้มวลพลังงานย่านทุ้มลึกออกมาได้ดี สัมผัสถึงฐานเบสที่เรี่ยพื้นมาเป็นระลอก ๆ ได้ไม่เลว

มิติเวทีเสียงไม่เสียชื่อ KEF แน่นอน ใครที่ชอบมิติของลำโพงบุ๊คเชลฟ์ตัวดังอย่าง LS50 ลำโพงตั้งพื้นตัวนี้ก็ให้มิติเสียงได้ไปในทิศทางเดียวกัน โฟกัสอาจจะไม่จับวางเป๊ะชัดแจ๋วเท่า แต่ความสมบูรณ์ของเวทีเสียงมีความโอ่อ่าและเต็มบรรยากาศมากกว่า ทั้งด้านสูงกว้างลึก ตรึงตำแหน่งอิมเมจชิ้นดนตรีได้นิ่งสนิทไม่วูบวาบ อานิสงค์จากความแกร่งและสลายเรโซแนนท์ส่วนเกินได้ดีของโครงสร้างตู้ อันนี้สำคัญเพราะเวลานำไปชมซาวด์แทร็คภาพยนตร์จะยิ่งเสริมความชัดเจนเวลาทิศทางของเสียงมีการแพนไปมา ทำให้ฟังแล้วไม่สับสน ทีเด็ดคือระดับความสูงต่ำ มันให้ความชัดเจนได้น่าทึ่งทีเดียว

ลองฟังแทร็ค “Vaquero” จากอัลบั้ม Test CD 5 Opus 3 [HDCD] ดูจะอธิบายได้ดี เสียงเขย่ากระพรวนช่วงเริ่มจะอยู่ต่ำลงมาเกือบเรี่ยพื้นทางฝั่งซ้ายของลำโพง ในขณะที่เสียงดนตรีอื่น ๆ ลอยสูงต่ำลดหลั่นกันไป และแสดงตำแหน่งด้านลึกได้ชัดเจนดีมาก ทั้งหมดถูกเชื่อมโยงด้วยแอมเบี๊ยนจากการบันทึก จนเป็นรูปวงเหมือนเราได้รับฟังการบรรเลงสดในห้อง เรียกว่า R7 สามารถถ่ายทอดคุณงามความดีของอัลบั้มนี้ออกมาได้หลายภาคส่วน

สรุป

ลำโพง KEF R7 เหมาะสำหรับนักเล่นที่ต้องการความเต็มอิ่มของเสียง เบสที่ทรงพลังลงได้ลึก ความโอ่อ่าของมิติเวทีเสียงแบบลำโพงตั้งพื้น ในขณะเดียวกันก็ต้องให้ความสะอาด ชัดใส มีชีวิตชีวาแบบลำโพงเล็กชั้นดีไปด้วยพร้อมกัน ลำโพงคู่นี้ก็นับว่าเป็นส่วนผสมที่ทำออกมาได้กลมกล่อมลงตัวในพิกัดราคานี้ ฟังเพลงได้หลากหลายแนว กับแนวดนตรีหนัก ๆ ไดนามิกอาจจะติดสุภาพผ่อนปรนไปบ้าง แต่ก็ไม่ใช่ประเด็น เพราะหากจะครบเครื่องกว่านี้ คงต้องขยับงบประมาณไปอีกสัก 2 เท่าตัว สิ่งสำคัญคือต้องการแอมป์กำลังขับสูง เพื่อขับเน้นคุณภาพเนื้อแท้ของลำโพงออกมาได้อย่างเต็มพิกัด หากท่านมีแอมป์ที่เหมาะสม ไม่ว่าจะใช้งานในห้องขนาดใหญ่หรือเล็ก ลำโพงคู่นี้ก็พร้อมจะตอบแทนด้วยรายละเอียดของเสียงดนตรีที่งดงามกลับมาได้อย่างน่าประทับใจ


ขอขอบคุณ Vgadz โทร. 02 692 5216 ที่เอื้อเฟื้อสินค้าสำหรับการทดสอบในครั้งนี้