What HI-FI? Thailand

รีวิว KEF LSX II

Dawn Nathong

ระบบลำโพงคอมแพ็คไร้สาย ครบ จบในคู่เดียว!

KEF LS 50 Wireless II เป็นหนึ่งในลำโพงแบบไร้สายสุดฮอตจากจากเกาะอังกฤษ ที่นักเล่นให้ความสนใจมากที่สุดรุ่นหนึ่งในตลาดวันนี้ เพราะยกเอาลำโพงบุ๊คเชลฟ์รุ่นดังที่กลายเป็นดาวค้างฟ้าของวงการไปแล้วอย่าง LS 50 มาอัพเกรดและเสริมฟีเจอร์ด้านไวร์เลสสตรีมมิ่งเข้าไป ส่วน  KEF LSX II ตัวนี้จะวางตำแหน่งเป็นรุ่นน้อง ที่มีขนาดเล็กกว่าแต่อัดแน่นด้วยเทคโนโลยีแบบเดียวกัน เหมาะสำหรับการใช้งานแบบเดสก์ท็อปหรือจัดวางภายห้องที่ไม่ต้องการพื้นที่มากนัก (5-40 ตารางเมตร) และมีการปรับปรุงโดยอัพเกรดด้านซอฟท์แวร์ใหม่ทั้งหมดด้วยแพลตฟอร์มสตรีมมิงไร้สาย W2 รวมทั้งมีพอร์ตเชื่อมต่อ HDMI สำหรับเชื่อมต่อทีวีและ USB-C เพื่อให้ตอบโจทย์ของผู้ใช้งานมากขึ้นจากรุ่น LSX เวอร์ชั่นแรกที่เปิดตัวมาได้ 3-4 ปี

LSX II เปิดตัวมาด้วยราคา 55,900 บาทต่อคู่ สูงกว่ารุ่น LSX เดิมประมาณ 6 พันบาท มีสีให้เลือก Carbon Black, Mineral White, Cobalt Blue, Lava Red รวมถึงสีพิเศษ Soundwave ที่ออกแบบโดยดีไซน์เนอร์ดัง ทเรนซ์ คอนราน (ราคาเท่ากัน) มีออพชั่นเสริมเป็นขาตั้งอะลูมิเนียมระดับพรีเมี่ยม LSX S1 Floor Stand ความสูงประมาณ 27 นิ้ว ราคา 14,900 บาทต่อคู่ และ LSX B1 Wall ขาแบบติดผนังราคา 9,900 บาทต่อคู่

นอกจากนี้ถ้าใครอยากจะเพิ่มคุณภาพเสียงแบบฟูลเรนจ์ครบย่านความถี่ ทาง KEF ก็ได้ออกแบบ LSX II ให้ใช้งานร่วมกับ KC62 ซับวูฟเฟอร์ 1,000 วัตต์ไซส์คอมแพ็คเท่าลูกฟุตบอล แต่ให้พลังเสียงต่ำลึกถึง 11Hz (-3dB) ได้อย่างลงตัว

ความน่าสนใจ

หมายเหตุ สำหรับคุณสมบัติ Roon Ready ต้องอดใจรอนิดนึง เพราะกำลังอยู่ในขั้นตอนขอ Roon Ready certified จากบริษัท ซึ่งคาดการณ์ว่าจะได้ภายในปีนี้

รูปลักษณ์และดีไซน์

หากดูภายนอกโดยรวม LSX II ยังคงดีไซน์แบบเดียวกับรุ่นก่อนและออกแบบโดย Michael Young อินดัสเชี่ยล ดีไซเนอร์ชาวอังกฤษคนเดิม รุ่นที่ผู้เขียนนำมาทดสอบเป็นสี Lava Red ตู้ผิวแบบไฮกลอส สัดส่วน 240 × 155 × 180 มม. (สูง x กว้าง x ลึก) ไดร์เวอร์อาร์เรย์ยังคงเป็น Uni-Q เจนเนอเรชั่น 11 เหมือนเดิมและยังไม่มีการใช้ MAT (Metamaterial Absorption Technology) เหมือนรุ่นพี่ ดอกตรงกลางเป็นทวีตเตอร์โดมอลูมิเนียมขนาด 0.75 นิ้ว ส่วนเบส/มิดเรนจ์เป็นกรวยอัลลอยด์ วัสดุทำจากแม็กนีเซียม/อลูมิเนียมขนาด 4.5 นิ้ว มีวงแหวน LED indicator เล็ก ๆ ระบุสถานะการทำงานด้วยโค้ดสีต่าง ๆ อยู่บริเวณด้านล่างดอกลำโพง

ภายในลำโพงแต่ละข้าง จะใช้เพาเวอร์แอมป์แบบคลาสดีกำลังขับ 100 วัตต์ (รวมเป็น 200 วัตต์) โดยแยกขับส่วนทวีตเตอร์ 30 วัตต์และเบส/มิดเรนจ์ 70 วัตต์ ทั้งหมดถูกควบคุมการทำงานด้วยคัสต้อม DSP ประสิทธิภาพสูงที่ KEF เรียกว่า Music Integrity Engine จัดการเรื่องของ ฟิลเตอร์ความถี่ครอสโอเวอร์ (Long Tap FIR ฟิลเตอร์), การปรับแต่ง Phase Correction, ปรับแต่งเสียงเบส และการปรับแต่งอิควอไลเซอร์

ส่วนการสั่งงานระบบจะใช้แพลตฟอร์มไร้สาย W2 ที่ทาง KEF ออกแบบเอง ซึ่งได้เปิดตัวครั้งแรกในลำโพงไร้สายรุ่นใหญ่กว่าอย่าง LS50 Wireless II และลำโพงตั้งพื้นไร้สายล่าสุดอย่าง LS60 Wireless II ทำงานร่วมกับแอปฯ KEF Connect ในการสั่งงานและควบคุมลำโพง เปิดโอกาสให้ผู้ใช้สามารถสตรีมเพลงจาก Qobuz, TIDAL, Deezer, Amazon Music, สถานีวิทยุอินเทอร์เน็ต และพอดแคสต์ สามารถใช้งานเทคโนโลยี Apple AirPlay 2 และ Google Chromecast เพื่อสตรีมเสียงจากอุปกรณ์ที่เข้ากันได้

รายละเอียดพอร์ตเชื่อมต่อด้านหลังของ LSX II

ช่องเชื่อมต่อจะอยู่ด้านหลังของลำโพงทั้งหมด โดยดิจิทัลอินพุตแต่ละช่องจะมีความสามารถในการรองรับความละเอียดสูงสุดดังนี้ Network สูงสุด 384kHz/24bit, Optical สูงสุด 96kHz/24bit,  USB Type C สูงสุด 192kHz/24bit, HDMI สูงสุด 1.411Mbps PCM

อุปกรณ์ที่อยู่ภายในกล่อง

KEF Connect

แอปคอนโทรลสำหรับควบคุมและสั่งการ KEF LSX II มีให้ดาวน์โหลดทั้งบน iOS และ Android เมื่อติดตั้งแอปบนสมาร์ทโฟนหรือแทปเล็ตแล้ว เพียงเชื่อมต่อเน็ตเวิร์กด้วยไวไฟ จากนั้นก็เริ่มทำการเซ็ตอัพลำโพงได้เลย โดยตัวแอปจะค้นหาลำโพงให้เราและทำการเชื่อมต่อโดยอัตโนมัติ รวมถึงทำการอัพเดตเฟิร์มแวร์ให้เป็นเวอร์ชั่นล่าสุดทันที โดยเฟิร์มแวร์เวอร์ชั่นที่ผู้เขียนใช้ขณะทำการทดสอบคือเวอร์ชั่น 1.2 (วันที่ 22-Aug-2022)

ภายเมนูของแอปก็จะมีเมนูการปรับแต่งต่าง ๆ ทั้งการควบคุมสั่งงานพื้นฐาน, บริการสตรีมมิ่ง Spotify / Tidal / Amazon Music / Qobuz / Deezer / QQ Music, การปรับ EQ Setting ซึ่งมี Preset ให้เลือกทั้ง Mode ปกติและแบบ Expert Mode ที่สามารถเลือกปรับปรับแต่งเพื่อชดเชยย่านเสียง Bass และย่าน Treble ให้เหมาะสมกับสภาพการจัดวางในรูปแบบต่าง ๆ นอกจากนี้ยังมีโหมดเลือกปรับแต่ง high-pass, low-pass, gain ในกรณีที่เชื่อมต่อกับซับวูฟเฟอร์ เช่นรุ่น KC62 หรือ KF92 รวมถึงไวร์เลสซับวูฟเฟอร์อะแดปเตอร์รุ่น KW1

หัวข้อปรับแต่งทั้งหมดในเมนู EQ Setting (Expert Mode)

การเซ็ตอัพ

มีข้อสังเกตบางประการสำหรับการเซ็ตอัพ KEF LSX II เพื่อให้ได้คุณภาพเสียงที่ดีที่สุด อันดับแรกคือ การวางลำโพงแชนแนลซ้ายและขวาให้ถูกต้องเสียก่อน โดยให้ลำโพงข้างที่ระบุตัวหนังสือด้านหลังว่า ‘Primary’ เป็นแชนแนลขวา และลำโพงข้างที่ระบุตัวหนังสือด้านหลังว่า ‘Secondary’ เป็นแชนแนลซ้าย จริงอยู่ที่ในเมนูเซ็ตอัพของแอป “KEF Connect” สามารถสลับข้างลำโพงให้ตัวใดตัวหนึ่งเป็น ‘Primary’ ได้ แต่ตรงส่วนของเมนูปรับบาล้านซ์ซ้าย-ขวาจะไม่เปลี่ยนตาม ดังนั้นจำเป็นต้องวางลำโพงแต่ละแชนแนลให้ถูกต้อง ส่วนการจับคู่ระหว่างลำโพงทั้งสองข้างหากใช้งานแบบไร้สายให้กดปุ่ม “P/S Pairing” ที่ด้านหลังลำโพง แต่หากเชื่อมต่อระหว่างลำโพงด้วยสาย LAN RJ45 ก็จะเชื่อมต่อกันโดยอัตโนมัติ

ระดับของความสูงลำโพงจากพื้น ในกรณีเซ็ตอัพ LSX II บนขาตั้ง ควรมีความสูงไม่ต่ำกว่า 27 นิ้วหรือเท่ากับความสูงของขาตั้งสำเร็จ LSX S1 จะให้คุณภาพเสียงสมบูรณ์ที่สุดเพราะระดับความสูงของไดร์เวอร์จะอยู่ในระดับหูเวลานั่งฟังพอดี หากวางบนขาตั้งความสูงต่ำกว่านี้สุ้มเสียงจะขาดความเปิดโปร่งและย่านทุ้มจะขึ้นมากวนย่านกลางแหลม หรือหากจัดวางบนโต๊ะหรือชั้นวางก็ควรจะมีระดับความสูงที่ใกล้เคียง 27 นิ้วเอาไว้ก่อนจะดีที่สุด จากนั้นหากฟังแล้วยังไม่ลงตัว ค่อยทำการปรับแต่งเพิ่มเติมในเมนู EQ Setting บนแอปอีกที ซึ่งเท่าที่ผู้เขียนลองฟังดูหากวางตำแหน่งความสูงของลำโพงไว้ที่ 27 นิ้วแล้วแทบไม่จำเป็นต้องปรับแต่งอะไรเพิ่มเติมอีกเลย ยกเว้นฟังแล้วรู้สึกว่าย่านเสียงแหลมหรือทุ้ม ไม่ได้สมดุลกับย่านเสียงกลาง เช่นทุ้มโด่งหรือเสียงแหลมมีปริมาณมากเกินไป จึงค่อยเข้าไปทำการปรับแต่งเพิ่มเติมที่เมนู EQ Setting ซึ่งสามารถทำการเซฟ preset เก็บไว้ได้หลายอัน

อีกเรื่องที่สำคัญคือเรื่องของ “กราวด์” เนื่องจาก LSX II มีภาคขยายคลาสดี 100 วัตต์บิ้วต์อินอยู่ภายในลำโพงทั้งสองข้างและช่องเสียบสายไฟเอซีที่ท้ายลำโพงเป็นแบบ C6 (มีกราวด์) และสายไฟที่แถมมาจะเป็นแบบ C5 ที่ใช้งานคู่กัน ตัวหัวปลั๊กจะเป็นขากลมแบบยุโรป Type F (Schuko) ซึ่งตัวขากราวด์จะไม่ได้เป็นแท่งยื่นออกมา เวลาเอามาใช้งานร่วมกับเต้ารับแบบ US ส่วนใหญ่ในบ้านเรา จะมีไฟรั่ว (เอาไขขวงวัดไฟแตะที่ชิ้นส่วนโลหะมีไฟสว่าง) เนื่องจากกราวด์ไม่ต่อถึงกัน ในกรณีนี้แนะนำอย่างยิ่งว่า ควรหาอะแดปเตอร์แปลงปลั๊กไฟปลั๊กยุโรป/เยอรมันไปเป็นปลั๊กอเมริกา 3 ขามาใช้ เพื่อให้กราวด์ถึงกัน หรือไม่อย่างนั้นก็ควรเสียบใช้งานกับเต้ารับแบบ Schuko เพื่อความปลอดภัยและได้คุณภาพเสียงตามที่ผู้ผลิตออกแบบมา

ตัวลำโพงมีควาสามารถในการรองรับไฟล์ความละเอียดสูงสุด PCM 24-bit/384kHz และ DSD256 แต่ในกระบวนการทำงานจริง Native Playback ของลำโพงคู่นี้สูงสุดอยู่ที่ 24-bit/192kHz โดยไฟล์ทั้งหมดที่เข้ามาไม่ว่าจะแซมปลิ้งเรตเท่าไร ก็จะถูก DSP ภายใน LSX II คอนเวิร์ตให้เป็น PCM 48kHz/24bit เมื่อเชื่อมต่อเน็ตเวิร์กแบบไร้สายผ่าน Wi-Fi หรือ PCM 192kHz/24bit เมื่อเชื่อมต่อเน็ตเวิร์กผ่านสาย LAN โดยอัตโนมัติ ส่วนในกรณีของการเล่น MQA (อ้างอิงจาก KEF LS50 Wireless II) บน TIDAL ด้วย Roon จะสามารถดีโค้ดและเรนเดอร์ MQA ได้แบบสุดซอยตามแซมปลิ้งเรตที่แพ็คมา (MQA Authentication) เช่น MQA Studio 352.8kHz

เสียง

ความประทับใจแรกของ LSX II คือให้เสียงได้สะอาดและเปิดกว้างเอามาก ๆ เลยทีเดียวหากเทียบกับลำโพงแอคทีฟไร้สายในพิกัดราคานี้ เวทีเสียงหลุดตู้ลอยออกไปจากลำโพงอย่างชัดเจนแถมให้ขนาดชิ้นดนตรีที่สมส่วนไม่ได้เล็กตามขนาดตู้เลย สนามเสียงที่แผ่กว้างขนาดนี้ทำให้ไม่จำกัดว่าต้องนั่งที่ตำแหน่งตรงกลางตลอดเวลาถึงจะได้ยินเสียงครบความถี่ ตรงนี้ถือว่าเป็นจุดเด่นของอาร์เรย์ไดร์เวอร์ Uni-Q อยู่แล้วที่ให้จุด Sweet spot ที่กว้างขวางเป็นพิเศษ เรียกว่านั่งฟังตรงไหนก็จะได้ยินโทนัลบาล้านซ์ของเสียงที่มีความสมดุลกันทั้งย่านทุ้ม-กลาง-แหลม ทำให้เหมาะกับการใช้งานในลักษณะลำโพงไลฟ์สไตล์ แต่ในขณะเดียวกันก็สามารถถ่ายทอดรายละเอียดเสียงเล็ก ๆ น้อย ๆ ออกมาได้ละเอียดชัดเจน มีความใสที่แจ่มแจ้งไม่คลุมเครือแบบลำโพงฟังเพลงชั้นดี เรียกว่าตอบโจทย์ทั้งการฟังแบบมิวสิคเลิฟเวอร์ หรือจะฟังแบบจริงจัง จับรายละเอียดของการบันทึกเสียงก็สามารถทำได้ทั้งสองแบบในอัตราส่วนที่น่าพึงพอใจ

ขอแค่เพียงจัดว่างระดับความสูงให้พอเหมาะตามที่ผู้เขียนระบุเอาไว้แล้วท่านจะพบว่าเสียงจากลำโพงคู่เล็ก ๆ นี้น่าทึ่งและทรงพลังเอาเรื่องเลยทีเดียว แม้เบสลึกจะอ่อนแรงและโรลออฟเร็วไปหน่อยก็คงจะว่าไม่ได้ เพราะเป็นไปตามขนาดปริมาตรตัวตู้ แต่รับรองว่าเบสต้นจนถึงมิดเบสนั้นอิ่มแน่นไม่ขาดแคลนแน่นอน ปริมาณเสียงย่านต่ำนั้นเพียงพอต่อการฟังเพลงทั่วไปในห้องขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ๆ ได้สบาย ๆ ยกเว้นหากเอาไปใช้งานในห้องขนาดใหญ่การเสริมด้วยแอคทีฟซับวูฟเฟอร์ดี ๆ อย่าง KC62 ก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ เพราะย่านกลางแหลมของ LSX II ทำได้ดีมากแล้ว หากแบ่งเบาภาระย่านต่ำไปให้ซับวูฟเฟอร์ด้วยการปรับตั้งจุดตัดความถี่ในเมนู KEF connect ก็จะยิ่งทำให้ย่านกลางแหลมสะอาดขึ้นและได้รายละเอียดเสียงย่านความถี่ต่ำจากซับวูฟเฟอร์เข้ามาเสริมย่านกลางแหลมด้วย ก็จะกลายเป็นซิสเต็มฟังเพลงและชมภาพยนตร์แบบ 2.1 แชนแนลชั้นเยี่ยมเลยทีเดียว

การตอบสนองย่านความถี่ของลำโพงนั้นรองรับไฮเรสได้อยุ่แล้ว เวลาทดลองเล่นไฟล์ไฮเรสแซมปลิ้งเรตสูงเกิน 192kHz และ DSD ถึงจะมีการ downsampling ลงมา ก็ยังถ่ายทอดไดนามิกเสียงที่สวิงได้กว้างกว่าการเล่นไฟล์ 16-bit / 44.1kHz ออกมาอย่างชัดเจนแจ่มแจ๋ว โดยที่ตัวลำโพงไม่มีอาการสะทกสะท้าน ต่อให้ฟังในระดับความดังที่สูงพอสมควร แสดงให้เห็นถึงการออกแบบทั้งตัวไดร์เวอร์, โครงสร้างตู้ที่ “ถึง” จริง ๆ ให้ความแกร่งและนิ่ง ไร้การสั่นกวนโดยสิ้นเชิงตลอดการรับฟัง ได้ยินเสียงแท้ ๆ ที่ออกจากตัวไดร์เวอร์ ส่วนการฟัง MQA ผู้เขียนทดลองฟังจาก TIDAL บนแอป KEF Connect (เนื่องจาก LSX II อยู่ระหว่างการขอ Roon Ready certified) ก็สามารถถอด MQA ออกได้สุดซอยเช่นกัน แถมให้คุณภาพเสียงดีมากอย่างน่าแปลกใจ เพราะปกติถ้าจะฟัง MQA แล้วรู้สึกว้าว ส่วนใหญ่ต้องเล่นเครื่องระดับไฮเอ็นด์เท่านั้น แต่ LSX II กลับแสดงความดีงามของ MQA ออกมาได้อย่างโดดเด่นเกินหน้าเกินตาเพื่อนพ้องไปพอสมควร ยังกับว่ามีการไฟน์จูนมาโดยเฉพาะอย่างไรอย่างนั้น

สำหรับการนำ LSX II ไปใช้งานร่วมกับทีวี ถ้าเป็น LSX รุ่นเก่าก็ต้องเชื่อมต่อผ่านสายออปติคอลเท่านั้น แต่คราวนี้ใส่พอร์ตเชื่อมต่อ HDMI ARC มาให้ด้วย แอบเสียดายเล็ก ๆ ที่ไม่ยอมให้พอร์ตเชื่อมต่อ eARC มาเหมือนรุ่นพี่ทั้ง LS50 Wireless II และ LS60 Wireless (ต้องปรับ HDMI setting ที่ทีวีเป็น PCM) โดยรวมยกระดับคุณภาพเสียงจากการชมซาวด์แทร็คภาพยนต์ โดยเฉพาะเรื่องของมิติเสียงที่เปิดกว้าง มีความชัดเจนในการแยกแยะรายละเอียด รวมถึงพลังเสียง ดีขึ้นกว่าการฟังเสียงจากลำโพงทีวี รวมถึงซาวด์บาร์ระดับเริ่มต้นด้วย

สรุป

ค่าตัว 55,900 บาท กับการใช้งานครบเครื่องแบบออล-อิน-วัน และน้ำเสียงในระดับนี้ ต้องบอกว่าเป็นการยากที่จะจัดซิสเต็มเครื่องเสียงแยกชิ้นในงบประมาณเท่า ๆ กัน (แหล่งโปรแกรม + แอมปลิฟายเออร์ + ลำโพง) ออกมาได้สมบูรณ์เท่ากับ KEF LSX II นี่เป็นอีกหนึ่งบทพิสูนจ์ว่าเทคโนโลยีนั้น ทำให้เรามีอุปกรณ์เครื่องเสียงที่เป็นได้ทั้งเฟอร์นิเจอร์ตบแต่งบ้านและซิสเต็มเครื่องเสียงชั้นดีที่มีคุณภาพระดับไฮไฟ ตอบโจทย์การฟังเพลงสตรีมมิ่งยุคนี้ได้อย่างลงตัว ผู้เขียนขอยกให้ KEF LSX II เป็นลำโพงไร้สาย “top-tier” อีกหนึ่งรุ่นของกลุ่มลำโพงไร้สายพิกัดราคาเดียวกัน

ขอขอบคุณ Vgadz โทร. 02 692 5216 ที่เอื้อเฟื้อสินค้าสำหรับการทดสอบในครั้งนี้


Exit mobile version