Mongkol Oumroengsri
Jeff Rowland’s History
Jeff Rowland Design Group ก่อตั้งขึ้นในสหรัฐอเมริกาในช่วงต้นทศวรรษ 1990 จากจุดเริ่มต้นไปสู่เส้นทางของเทคโนโลยีล้ำสมัย และวิศวกรรมเสียงที่เป็นนวัตกรรมใหม่ ในฐานะหนึ่งในบริษัทไฮ-ไฟแห่งแรกที่มุ่งมั่นในภาคขยายเสียงแบบ Class D ทั้งนี้ Jeff Rowland ได้สร้างชื่อเสียงจนได้รับการยกย่องอย่างรวดเร็ว สำหรับส่วนประกอบที่หรูหรา อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ประดิษฐ์ขึ้นอย่างสวยงาม กระทั่งเป็นเครื่องหมายการค้าของ Jeff Rowland ด้วยรูปลักษณ์ที่แสดงถึงความมุ่งมั่นและความทุ่มเท จากการออกแบบภายในสะท้อนสู่ภายนอก ณ ปัจจุบันของ Jeff Rowland จึงโดดเด่นในรูปลักษณ์ของอะลูมิเนียมที่เปล่งประกายสวยงาม สะดุดตาและนับเป็นซิกเนเจอร์ของแบรนด์ ซึ่งประดิษฐ์ขึ้นโดยใช้วัสดุเกรดอากาศยาน (aircraft grade material)
Thomas Holm ถือเป็นพันธมิตรในด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D partner) ของ Jeff Rowland จากบริษัทสัญชาติเดนมาร์ก Holm Acoustics เป็นผู้จัดการโครงการ รับผิดชอบในส่วนท้ายสุดของความเป็น Jeff Rowland …มีไม่กี่แบรนด์ในแวดวงที่ค่อนข้างโดดเด่นเหมือนกับ Jeff Rowland Design Group ซึ่งมีประวัติยาวนานถึงกว่า 31 ปี อันมีชื่อเสียงทั้งในด้านศิลปะและในทางวิศวกรรมที่นำไปสู่ประสิทธิภาพเสียงอันยอดเยี่ยม Jeff Rowland ถือเป็นผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เครื่องเสียง และเป็นผู้นำในนวัตกรรมทางเทคโนโลยีระดับไฮ-เอ็นด์อย่างแท้จริง ส่วนประกอบแต่ละชิ้นถูกสร้างขึ้นอย่างไร้ที่ติ แลดูงามสง่า และยังเป็นที่จดจำได้ในทันที
Jeff Rowland นับว่าแตกต่างจากบริษัทผู้ผลิตเครื่องเสียงระดับไฮ-เอ็นด์เช่นทั่วไป Jeff Rowland ไม่ได้มุ่งเน้นที่จะเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง หรือนำเสนอการออกแบบในราคาที่ไม่แพงนัก แต่เน้นหนักกับความใส่ใจอย่างพิถีพิถันในการออกแบบผลิตภัณฑ์ทุกๆ รุ่นทุกๆ ชิ้น โดยให้ความสนใจกับรายละเอียดอย่างดีที่สุดในบางส่วนที่นักออกแบบคนอื่นๆ มักมองข้ามไป เช่น รูปทรงของเส้นลวด (geometry of wire) พื้นผิวของจุดเชื่อมต่อ (surfaces of connections) รวมทั้งคุณสมบัติทางเสียงจากสูตรผสมการบัดกรีต่างๆ (different solder formulations)
ดังนั้นบริษัทจึงไม่ได้นำเสนอผลิตภัณฑ์ที่หลายหลาก โดยให้ความสำคัญกับแนวทางคุณภาพมากกว่าปริมาณ ทั้งนี้ทั้งนั้นJeff Rowland ได้เคยกล่าวว่า “I design basically for myself. I’m not concerned if something’s going to be accepted by the market or not. I know that if it thrills me inside, then it will thrill someone else.” อันแปลความได้ว่า “ผมออกแบบพื้นฐานสำหรับตัวเอง ผมไม่กังวลว่าตลาดจะยอมรับบางสิ่งบางอย่างนั้นหรือไม่ ผมรู้ว่าถ้ามันทำให้ตัวเองตื่นเต้นจากข้างใน นั่นก็จะทำให้คนอื่นตื่นเต้นไปด้วยเช่นกัน” ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไป นักฟังจำนวนมากทั่วโลกมักจะเห็นด้วยกับปรัชญาการออกแบบของ Jeff Rowland
ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ของ Jeff Rowland ประกอบด้วย preamplifiers, amplifiers, integrated amplifiers และ DAC ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนสร้างขึ้นใน Colorado Springs, CO, USA. …โดยในส่วนของ Integrated Amplifier นั้น Jeff Rowland สร้างสรรค์ไว้ 2 รุ่นด้วยกัน อันได้แก่ DAEMON และ CONTINUUM S2 ที่นับจากนี้ What Hi-Fi ? Thailand ขอนำเสนอรีวิว “CONTINUUM S2” ด้วยความภูมิใจยิ่งนักครับ
คุณลักษณ์
เบื้องลึกนั้น Continuum S2 เป็นการรวมเอาวงจรปรีแอมป์ ‘Capri S2’ ผนวกเข้ากับวงจรภาคขยายแบบ Class D ที่ให้กำลังขับสูงถึง 400 วัตต์ต่อข้างที่ 8 โอห์ม (800 วัตต์ต่อข้างที่ 4 โอห์ม) ไว้ในแชสซีส์เดียว ภายใต้รูปลักษณ์งามสง่าตามแบบฉบับของ Jeff Rowland Design Group ที่ขึ้นรูปตัวแท่นเครื่องด้วยบล็อกอะลูมิเนียม 6061-T6 เกรดเดียวกับวัสดุอากาศยาน จึงปราศจากปัญหาการรบกวนจาก RFI และ EMI
ภายในของ Continuum S2 นั้นโดดเด่นด้วย Twin ultra- high efficiency power conversion modules ที่นอกจากจะให้กำลังขับสูงถึง 400 วัตต์ต่อข้างแล้ว ยังสามารถจ่ายกระแสได้สูงถึง 40 แอมแปร์ (peak current) เลยทีเดียว ทำงานควบคู่กับภาคจ่ายไฟแบบ switch mode power supplies (SMPS) อันทรงประสิทธิภาพ ควบคุมการทำงานด้วยความเร็วสูงและเงียบสนิท ช่วยให้มั่นใจได้ถึงประสิทธิภาพที่สม่ำเสมอภายใต้ทุกสภาวะการทำงาน พร้อมด้วย Balanced input and output topology จรดออกสู่ขั้วลำโพงของ Cardas เพื่อการควบคุมลำโพงได้อย่างเหมาะสม
อุปกรณ์ภายในทุกชิ้น ล้วนผ่านการคัดสรรอย่างพิถีพิถัน อาทิเช่น ตัวต้านทานแบบ Thin Film Resistors ชนิดฟิล์มบาง 0.1% ซึ่งตัวต้านทานแบบนี้เป็นที่ยอมรับกันว่า มีสัญญาณรบกวนต่ำ สำหรับสัญญาณรบกวนออันเนื่องจากความร้อนที่ต่ำมาก (low thermal noise) ในส่วนของแผงวงจรยังเป็นแบบ 4 ชั้น (Four Layer Circuit Board) เพื่อให้สามารถต่อลงกราวด์อิมพีแดนซ์ต่ำอย่างต่อเนื่อง ไม่ขาดช่วง ผ่านการออกแบบอย่างความระมัดระวังเพื่อลดความยาวเส้นทางสัญญาณ และขนาดของชิ้นส่วนประกอบต่างๆ
Continuum S2 ติดตั้งช่องเสียบอินพุต/เอ๊าต์พุตมาให้ทั้งแบบ Balanced (XLR) และ Unbalanced (RCA)
ทั้งนี้ในส่วนของ balanced output stages นั้นมาพร้อมกับแผงตัวเก็บประจุเอาต์พุตขนาดใหญ่ที่เพิ่มความเร็วชั่วขณะ (transient speed) ได้อย่างฉับพลันทันใด ให้เสียงทีเปี่ยมพลัง เพียบพร้อมในไดนามิก และความสดใส โปร่งกระจ่าง ทั้งนี้นอกจากจะครบครันด้วยอินเทอร์เฟซอินพุต/เอาท์พุตมาตรฐานแล้ว Continuum S2ยังเพิ่มความยืดหยุ่นการใช้งานด้วยการ์ด DAC ที่เป็นอุปกรณ์เสริม หรือโฟโนสเตจที่ออกแบบใหม่ทั้งหมด โดยให้การครอบคลุมช่วงความถี่ตอบสนองตั้งแต่ 5 Hz – 70 kHz / -3 dB ค่าความผิดเพี้ยนน้อยกว่า 0.05% ตลอดช่วงความถี่ 20 Hz – 20 kHz
ที่สำคัญ Continuum S2 ให้การปรับระดับความดังเสียงที่แม่นยำ ด้วยการใช้ Dual rate volume control อันประกอบด้วยตัวเข้ารหัสแบบออปติคัลที่ไม่มีเสียงรบกวนใดๆ ซึ่งจะคงความแม่นยำ และความสมดุลของการปรับตั้งไว้ตลอดอายุการใช้งาน โดยสามารถปรับระดับเสียงได้ตั้งแต่ 0dB ถึง 99.5dB จากปุ่มปรับระดับเสียงที่แผงด้านหน้า และจากรีโมทคอนโทรล 9 ฟังก์ชั่น ตัวควบคุมระดับเสียงจะปรับระดับความดังทีละ 1.5dB สำหรับการหมุนอย่างรวดเร็ว และสามารถปรับอย่างละเอียดได้ทีละ 0.5dB สำหรับการหมุนอย่างค่อยเป็นค่อยไป
Continuum S2 มีรีโมท คอนโทรลมาให้ด้วย โดยเป็นแบบ 6 ฟังก์ชัน พร้อมปุ่มเลือกอินพุตแต่ละชุด ปุ่มควบคุมระดับความดังเสียง การปิดเสียงชั่วขณะ (mute) และความสมดุลของช่องสัญญาณเสียง (balance) ในขณะที่สวิตช์เปิด/ปิดการทำงานที่อยู่บนแผงด้านหลังเครื่องนั้นเป็นแบบ Rocker switch ทำงานควบคู่กับรีเลย์ตัวจับเวลา (timer relay) ทำการเปิด Continuum S2 อย่างเงียบๆ เพื่อรับพลังงานเต็มที่พร้อมต่อการทำงาน หลังจากเสถียรภาพของวงจรสมบูรณ์เต็มประสิทธิภาพ
Specifications
Output Power @ 8 ohms | Continuous RMS 400 watts, both channels driven |
Output Power @ 4 ohms | Continuous RMS 800 watts, both channels driven |
Frequency Response | 5 Hz – 70 kHz, -3 dB @ 8 ohms |
THD & Noise | < 0.05%, 20 Hz – 20 kHz |
Inputs | 2 pair Balanced (XLR), 2 pair Unbalanced (RCA) / 1 pair Unbalanced (RCA), Unity Gain (Bypass) |
Outputs | 1 pair Balanced (XLR), 1 pair Unbalanced (RCA) / 1 pair CE-Approved Speaker Wire Clamp |
Power Supply | Switch Mode (SMPS) and universal AC input voltage |
Amplifier Weight | 35 lbs / 15.9 kg |
Amplifier Dimensions | (H) x (W) x D) 5.3” x 15.5” x 15.0” (135mm x 394mm x 380mm) |
ผลการรับฟัง
ขอชี้แจงสักนิดนะครับว่า นี่เป็นการเดินทางมาฟังเทสต์นอกสถานที่ โดยได้ใช้โชว์รูมของบริษัท Innovative Audio Video (IAV) ละแวกหัวลำโพง ที่พื้นที่ภายในได้ซ่อนห้องฟังซึ่งมีสภาพปรับแต่งอะคูสติกอย่างดีเอาไว้ (ขนาดกว้าง 4.93 ม., ยาว 7.75 ม. และสูง 2.79 ม.) และครั้งนี้เป็นการรับฟังร่วมกับลำโพง Canton: Reference 3K จากการขับขานด้วย “Continuum S2”
ซึ่งด้วยกำลังขับที่สูงมากถึง 400 วัตต์ RMS ทำให้ “Continuum S2” เรียกได้ว่า สามารถขับเคลื่อนลำโพงแทบทุกชนิดในท้องตลาด ไม่ว่าภาระโหลดจะซับซ้อนแค่ไหนก็ตาม “Continuum S2” นั้นใช้เทคโนโลยีแอมปลิฟายเออร์ Class D ซึ่งคุณอาจไม่ทราบว่า Jeff Rowland ใช้เทคโนโลยี Class D มาตั้งแต่ปี 2002 แม้แต่แอมป์รุ่นเรือธงของ Jeff Rowland ก็ยังทำงานใน Class D ด้วยเช่นกัน
จากการรับฟัง “Continuum S2” สามารถขับขาน Canton: Reference 2K ได้อย่างน่าประทับใจ ทั้งทางด้านการส่งมอบลักษณะเสียงที่ปลดปล่อย ความเปิดโปร่ง-โล่งกระจ่าง ควบคู่ความสดใส-สะอาด และแจ่มชัด รวมไปถึงความกระชับ-ฉับไวในท่วงท่า ให้การควบคุมจังหวะจะโคนของดนตรีได้ดี มีไดนามิกเสียงอันฉับพลัน มีความไหลลื่นต่อเนื่อง และกลมกลืนกลมกล่อมอย่างน่าฟัง ทั้งยังให้ความรู้สึกคึกคัก กระฉับกระเฉง รวมถึงน้ำหนักเสียงที่หนักแน่นทรงพลัง ให้เรี่ยวแรงกระทบปะทะ และการทิ้งทอดตัวของเสียงต่ำอันลึกล้ำ-ดื่มด่ำอย่างน่าทึ่ง
“Continuum S2 + Reference 2K” สามารถส่งมอบเสียงเพลงและดนตรีที่มีความสมจริงเป็นอย่างมาก – เป็น “ความสมจริง” ที่ให้พลังงาน (energy) ทางเสียงอย่างที่เราๆ ท่านๆ จักได้รับจากในธรรมชาติของเสียงนั้นๆ นี่จึงนับเป็นความโดดเด่นในศักยภาพการทำงานของ “Continuum S2” ภายใต้เทคโนโลยี Class D ที่ Jeff Rowland ได้ออกแบบไว้อย่างดีมากๆ
สุ้มเสียงของ “Continuum S2” ให้ลักษณะเสียงเยี่ยงการทำงานแบบวงจร Class A นั่นเลยเชียว ทว่ามีประสิทธิภาพอย่างเหนือชั้นยิ่งกว่า Class A” และยังไร้ซึ่งอุณหภูมิความร้อนสูงจัดในขณะทำงาน แตกต่างจากแอมป์คลาส เอ โดยทั่วไป …ช่วงย่านเสียงกลาง/ต่ำที่รับฟังจึงมีความสดใสและฉับไว ซึ่งเมื่อรับฟังจากเพลงร้อง (vocal) โอ้ว…ช่างเป็นเป็นเสียงร้องที่มีวิญญาณมีตัวมีตนของคนเราจริงๆ เสมือนเปล่งออกมาจากปากจากลำคออย่างมีลมหายใจ (breathing) เข้าได้ถึงห้วงอารมณ์ของการขับร้อง ชิ้นดนตรีต่างๆ ที่เรียงรายตำแหน่งแห่งที่ ถอยลึกไล่ลำดับเข้าไปเป็นชั้นๆ (layered) ในขณะที่ช่วงย่านความถี่สูงนั้นก็มีความพละพลิ้ว และให้รายละเอียดได้ระยิบระยับ โดยไร้ซึ่งความกระด้าง ระคายหู ทั้งยังเป็นเสียงสูงที่เปี่ยมในพลังงาน มิใช่เป็นแค่เสียงจางๆ อันไร้ซึ่งความรู้สึกสมจริง ฟังแล้วน่าประทับใจมาก
“Continuum S2 + Reference 2K” ทำให้รับรู้ได้ถึงสารพัดเสียงสอดแทรกต่างๆ ที่ถูกบ่งบอกออกมาจะแจ้ง สดสะอาด และแจ่มชัด ระบุตำแหน่งที่มาของเสียงนั้นๆ ได้อย่างมีตัวมีตน พร้อมด้วยรายละเอียดต่างๆ ที่มีความครบชัด ระบุตำแหน่งแห่งที่ของเสียง สามารถรับรู้การแยกแยะแถว-ชั้นของเสียง พร้อมด้วยความอบอวลในมวลบรรยากาศ (airy) ซึ่งเมื่อรับฟังจากแนวเพลงการแสดงสด “Continuum S2 + Reference 2K” จะส่งมอบบรรยากาศของฮอลล์ หรือสถานที่แสดงสดนั้นให้ได้อึ้งเชียวเลยครับ – รับรู้ถึงความโอฬารของสถานที่บันทึกเสียง พร้อมด้วยความกังวานของเสียงช่วยให้การรับฟังมีความอบอวลของมวลบรรยากาศอย่างสมจริงในเหตุการณ์ที่รับฟัง เสียงปรบมือของผู้ชมในคอนเสริ์ต ฮอลล์ให้ความรู้สึกอันปลาบปลื้มใจ
“Continuum S2 + Reference 2K” ให้สนามเสียงที่แผ่กว้าง-แยกแยะแถวชั้น-ตำแหน่งเสียงที่ไม่ซ้อนทับกัน และไม่มีเสียงใดๆที่ล้ำหน้าเกินกว่าแนวตำแหน่งตั้งวางลำโพงออกมา (ลักษณะที่เรียกว่า laid back) แม้กระทั่งการบรรเลงออร์เคสตร้าวงใหญ่ที่ประโคม-คำรนอย่างแผดสนั่น “Continuum S2 + Reference 2K” จะยังคงส่งมอบเสียงที่มีมิติ มีตัวตน มีห้วงอารมณ์ความรู้สึกของดนตรี มีความเป็นธรรมชาติของเสียงแต่ละเสียงที่บังเกิดขึ้นมาอย่างมีชีวิตชีวาสมจริงสมจัง ความอลังการของวงออร์เคสตร้าถูกถ่ายทอดออกมากว้างใหญ่จนจรดผนังห้องด้านข้าง ส่วนความลึกนั้นราวทะลุเลยผนังหลังห้องฟังออกไปเลยจริงๆ ในขณะที่มิติความสูงนั้นบ่งบอกออกมาได้เยี่ยมยอด
“Continuum S2 + Reference 2K” บ่งบอกออกมาถึงเสียงที่สะท้อนย้อนกลับจากผนังห้องบันทึกเสียงกลายเป็นเสียงแอมเบี้ยนซ์ของบรรยากาศได้อย่างสมจริงสมจัง ให้แยกแยะรายละเอียดที่แทรกซ้อนออกมาได้ชัดแจ้ง สัมผัสได้ถึงตำแหน่งแห่งที่ของเสียงนั้นๆ พร้อมทั้งปริมณฑลของเสียงแต่ละเสียงที่มีมวลอากาศแผ่กระจายรายรอบ – เสียงเครื่องเคาะจังหวะสารพัดอย่างเป็นเสียงที่ “ผุดโผล่” ขึ้นมาอย่างฉับไว กระทั่งเสียงแส้ที่กวาดไปบนผิวฉาบนั้น ทำเอาขนลุกเกรียวเลยทีเดียว การบ่งบอกสภาพอิมเมจในซาวด์สเตจอันแผ่กว้างก็ดีมากๆ พร้อมด้วยสเกลเสียงอันสมจริง -เล็กเป็นเล็ก -ใหญ่เป็นใหญ่
“Continuum S2 + Reference 2K” ให้การตอบสนองช่วงย่านความถี่เสียงต่ำที่ลงไปได้ลึกล้ำ อิ่มใหญ่ และเข้มข้นควบคู่กัน ทำให้เรา-ท่านสามารถจับจังหวะจะโคนของการเดินเบสได้อย่างชัดแจ้ง กระฉับกระเฉง ควบคุมวรรค-ตอนได้อย่างรวดเร็ว-แม่นยำ ทั้งยังจำแนกแยกแยะลักษณะความต่างกันของเสียงเบสได้อย่างน่าทึ่ง รวมถึงความทรงพลัง-หนักหน่วงในแรงกระแทกกระทั้น มีเรี่ยวแรงปะทะอันเด็ดขาด ฟังได้ซะใจมันส์ในอารมณ์มากจริงๆ
สำหรับ Canton: Reference 2K นั้นมีศักดิ์ศรีเป็นลำโพงรุ่นรองท้อปของ Reference 1K ที่เป็นระดับ flagship ทั้งนี้ Reference 2K นับเป็นรุ่นใหม่ล่าสุดจาก Canton โดยมีเทคโนโลยีที่แทบไม่ต่างจาก Reference 1K บรรจุไว้ในตัว ภายใต้ขนาดมิติตัวตู้ กว้าง 30.5 ซ.ม.xสูง 127 ซ.ม.xลึก 59 ซ.ม. น้ำหนักตัว 71 กก. ได้รับการออกแบบให้เป็นลำโพงตู้เปิด (Bass-reflex) แบบ 3-ทาง สามารถให้การตอบสนองความถี่เสียงในช่วงตั้งแต่ 18-40,000 เฮิรตซ์ ด้วยระดับค่าความไวเสียง 90 ดีบี กำหนดจุดตัดแบ่งช่วงความถี่ไว้ที่ 180 / 400 / 2,800 เฮิรตซ์
ตัวขับเสียงความถี่ต่ำ (วูฟเฟอร์) ขนาด 219 ม.ม. (8.6 นิ้ว) จำนวน 3 ตัวทำงานควบคู่กัน ตัวกรวย(cone) เป็นวัสดุ ceramic tungsten พร้อมขอบยึดรอบตัวกรวยแบบ Wave Surround technology (ลิขสิทธิ์เฉพาะของ CANTON) ในขณะที่ตัวขับเสียงกลาง (มิดเรนจ์) มีขนาด 174 ม.ม. (6.8 นิ้ว) จำนวน 1 ตัว ซึ่งตัวกรวย (cone) เป็นวัสดุ ceramic tungsten พร้อมขอบยึดรอบตัวกรวยแบบ Wave Surround technology เช่นเดียวกับวูฟเฟอร์
สำหรับ ceramic tungsten technology ที่ CANTON พัฒนาขึ้นมานี้มีโครงสร้างหลักเป็นวัสดุเซรามิก (ceramic structure) ที่มีอนุภาคของทังสเตน (tungsten particles) แทรกตัวอยู่ ส่งผลให้ตัวกรวย ceramic tungsten นี้ดียิ่งกว่าตัวกรวยที่เป็นวัสดุอะลูมิเนียม ทั้งในแง่ของเบาต่อน้ำหนักมวล และ internal damping ดังนั้น CANTON จึงเลือกที่จะใช้ทั้งวูฟเฟอร์และมิดเรนจ์ที่ตัวกรวยเป็นแบบ ceramic tungsten นี้ จึงเป็นที่แน่นอนว่า ช่วงย่านเสียงความถี่ต่ำและช่วงย่านความถี่สูงย่อมจะมีความกลมกลืนกัน ให้ความราบเรียบระรื่นต่อเนื่องเป็นเนื้อเดียวกัน
ในส่วนของตัวขับเสียงสูง (ทวีตเตอร์) นั้นเป็นแบบ aluminiumoxyd ceramic dome ขนาด 25 ม.ม. (1 นิ้ว) ค่าความต้านทานอยู่ระหว่าง 4-8 โอห์ม อัตรากำลังขับที่เหมาะสม 300 วัตต์ สามารถรองรับอัตรากำลังขับได้สูงสุด 600 วัตต์ พร้อมด้วยคุณลักษณ์พิเศษเฉพาะตัวที่ผู้ใช้สามารถเลือกระดับความเข้มของเสียง ช่วงความถี่เสียงกลางได้ 3 ระดับ (-1.5dB; 0dB; +1.5dB) และช่วงความถี่สูงได้อีก 3 ระดับ (-1.5dB; 0dB; +1.5dB)ติดตั้งอยู่ที่ด้านหลังตัวตู้ พร้อมด้วยขั้วเสียบต่อสายลำโพงแบบgold plated bi-wiring/bi-amping screw clamp terminalsส่วนแผงหน้ากากลำโพง (fabric grill) ยึดติดด้วยระบบแม่เหล็ก (magnetic mount) ทำให้เวลาถอดหน้ากากออกแล้วเห็นเป็นแผงหน้าลำโพงสวยงามชวนมอง
ทางด้านตัวตู้ลำโพงนั้น ทาง CANTON ระบุว่า เป็นแบบ Solid cabinet design ด้วยการใช้วัสดุ multi-layer laminate คุณภาพสูงที่มีความหนาถึง 50 ม.ม. อีกทั้งผนังตัวตู้ด้านข้างยังได้รับการขึ้นรูปให้มีลักษณะเรียวโค้ง (curved baffle) ส่งผลให้ได้มาซึ่งรูปทรงตัวตู้ในลักษณะของ bow shape อันแข็งแกร่ง นอกจากนี้ยังได้รับการคาดโครงคร่าวภายในตัวตู้อย่างพิถีพิถันตรงตำแหน่งที่สำคัญๆ ทำให้ตัวตู้มีความเสถียรสูงและน้ำหนักมากทีเดียว
ระบบการทำงานตัวตู้ที่สูงเมตรกว่าๆ ของ Reference 2K ยังแปลกแตกต่างไปจากระบบลำโพงแบบตู้เปิด หรือ bass-reflex โดยทั่วไป แม้ว่าจะเป็นระบบการทำงานตัวตู้แบบ bass-reflex ที่เหมือนจะไม่มีอะไรซับซ้อนก็ตามที โดยแทนที่ “ท่อเปิด” ระบายเสียงเบสของ Reference 2K จะติดตั้งอยู่ทางด้านหน้าตัวตู้ (front-ported) หรือว่า ด้านหลังตัวตู้ (rear-ported) เช่นที่เคยคุ้นกัน กลับถูกนำไปติดตั้งไว้ทางด้านล่างของตัวตู้ ในลักษณะที่ CANTON นั้นเรียกได้ว่า Bass-Guide® bass reflex system โดยมีส่วนแท่นฐานวางลำโพง หรือ plinth ทำหน้าที่เป็นส่วนควบคุมทิศทางการเคลื่อนตัวของมวลอากาศที่บริเวณปลายปากท่อเปิดนี้อย่างมีประสิทธิภาพ
Reference 2K จึงสามารถหาตำแหน่งตั้งวางได้ง่ายขึ้น หากจำเป็นจะต้องตั้งวางชิดผนังหรือเข้าใกล้มุมห้องก็ไม่ส่งผลกระทบมากนัก แต่หากสามารถหาตำแหน่งตั้งวางที่อยู่ห่างผนังทุกด้านได้ก็สมควรกระทำ… ที่สำคัญ CANTON ยังได้ทำการพัฒนาสายนำสัญญาณที่ให้สำหรับการเดินสายภายในเชื่อมต่อจากขั้วเสียบต่อสายลำโพงไปยังแผงวงจรตัดกรอง/แบ่งช่วงความถี่เสียง และจากแผงวงจรตัดกรอง/แบ่งช่วงความถี่เสียงไปยังตัวขับเสียงต่างๆ สำหรับ Reference 2Kโดยเฉพาะ ด้วยการใช้ special core ที่มีโครงสร้างตัวสายเป็นแบบ six twisted individual conductors เพื่อการนำพาสัญญาณที่ครบถ้วน และราบเรียบต่อเนื่อง
สรุปส่งท้าย
Jeff Rowland: Continuum S2 ทำหน้าที่ขับขาน Canton: Reference 2K ส่งมอบสุ้มเสียงออกมาได้อย่างครบเครื่อง – ทั้งเรื่อง “แรงปะทะ”(impact) – “น้ำหนัก” (weight) และ “ความไหลลื่น”(dynamic) พร้อมๆ กับความประทับใจในลักษณะเสียงที่เนียน ละเอียด สดใส ควบคู่ความฉับพลันทันใด ทั้งยังให้ความโดดเด่นในด้านการถ่ายทอดสภาพบรรยากาศเสียงได้อย่างสมจริง เหมาะสมตามขนาดสถานที่ที่ทำการบันทึกเสียงนั้น เสียงทุกเสียงมีมวลอากาศทอดตัวเป็นอณูเสียงแผ่ขยายเป็นความกังวาน ไร้ซึ่งความจัดจ้านใดๆ มีแต่ความพละพลิ้ว เนียนนุ่ม ละมุนละไม ฟังกันเพลินได้นานเท่านาน ยิ่งฟังก็ยิ่งเพลิน จนลืมเวลาที่ผันผ่านไปในการรับฟัง…
ขอขอบคุณ บริษัท Innovative Audio Video จำกัด ที่เอื้อเฟือ Jeff Rowland: Continuum S2 และ Canton: Reference 2K ในการรับฟังครั้งนี้