Dawn Nathong
ไฮเอ็นด์เน็ตเวิร์กมิวสิคเพลเยอร์จากนอร์เวย์
ECM 1 MKII เป็นเครื่องเน็ตเวิร์กมิวสิคเพลเยอร์ระดับไฮเอ็นด์จากนอร์เวย์ ในอนุกรม Classic Line ซึ่งรุ่นนี้นับเป็นเจนเนอเรชั่นที่สาม จุดแข็งของแบรนด์นี้คืองานผลิตระดับพรีเมี่ยม ปราณีตทุกขั้นตอน เพราะมีโรงงานผลิตแบบ in-house ทุกขั้นตอนทั้งหมดเองอยู่ที่ Tau เมือง Stavanger ไม่ว่าจะเป็นด้านฮาร์ดแวร์หรือซอฟท์แวร์ ทำให้ผลิตภันฑ์ทุกชิ้นมีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวชัดเจนแบบ Made in Norway 100% ซึ่งบอกเลยว่าชิ้นงานที่ออกมานั้นมีมาตรฐานการผลิตที่สูงมาก หากได้สัมผัสตัวจริงและรับฟังเสียงก็จะรับรู้ได้ทันที
หากใครเป็นนักเล่นตัวจริง น่าจะทราบดีอยู่แล้วว่า Electrocompaniet นั้นเป็นแบรนด์เครื่องเสียงเก่าแก่อายุกว่า 40 ปี และไม่ได้มีองค์ความรู้ชั้นยอดในการผลิตแอมป์โซลิดสเตทแต่เพียงอย่างเดียว แต่ในด้านของแหล่งโปรแกรมดิจิทัลก็โดดเด่นไม่แพ้กัน โดยเฉพาะซีดีเพลเยอร์ท็อปโหลดดิ้งรุ่นอ้างอิงอย่างรุ่น EMC 1 ที่ได้รับการยอมรับจากสื่อต่างประเทศหลายสำนัก สำหรับ ECM 1 MKII ก็เดินรอยทางเดียวกัน โดยเฉพาะภาค DAC ในตัวและภาคแอนะล็อกเอาต์พุตอันยอดเยี่ยม
ถ้ามองในมุมของฟังก์ชั่นการใช้งานต้องบอกว่านี่คือไฮเอ็นด์ DAC ที่มีความสามารถในการเป็นเน็ตเวิร์กมิวสิคเพลเยอร์ได้ด้วยจะเหมาะสมกว่า เพราะ ECM 1 MKII นั้นเรียกว่าเน้นเฉพาะฟังก์ชั่นการใช้งานหลัก เรียบง่าย และเน้นคุณภาพเสียงแบบเนื้อๆ ตามสไตล์เครื่องโซนยุโรป ไม่มีช่อง USB ออดิโออินพุตมาให้ ซึ่งบอกเลยว่าไม่ใช่ประเด็น เพราะการต่อด้วยสาย LAN ให้คุณภาพที่ดีกว่า (มีปัญหาเรื่องจิตเตอร์น้อยกว่า) พิจารณาฟังก์ชั่นใช้งานหลัก ๆ ถือว่าเพียงพอต่อการใช้งานทั่วไป ทั้งในแง่การเป็น DAC และเน็ตเวิร์กมิวสิคเพลเยอร์
ฟีเจอร์ที่น่าสนใจของ ECM 1 MKII
- ภาค Reference DAC ใช้ชิป Cirrus Logic หนึ่งตัวต่อแชนแนล
- รองรับความละเอียด 24-bit / 192kHz (อัพแซมปลิ้งในตัว)
- เอาต์พุตสเตจแบบ Completely Symmetrical
- Tidal Connect / Spotify Connect / AirPlay 2 / DLNA / Bluetooth
- รองรับ Roon Ready
- แอปคอนโทรล EC Play (มี Qobuz / TIDAL ในตัว)
- Docking ใส่ฮาร์ดดิส 3.5” / 2.5” ในตัว
- ช่อง USB เล่นไฟล์จาก Flash Drive หรือ External HDD
- ช่อง SPDIF เอาต์พุตแบบ Coaxial รองรับ 192 kHz, 24 bit
- ช่องดิจิทัลอินพุต Toslink, Coaxial รองรับ 192 kHz, 24 bit
- ขารอง Soundcare® SuperSpikes สามจุด
- มีรีโมทคอนโทรล
รูปลักษณ์และดีไซน์
แฟน Electrocompaniet น่าจะคุ้นเคยกันดีกับดีไซน์ของแบรนด์นี้ที่เน้นความสง่าและเรียบง่าย แผงหน้าเครื่องเป็นอะคริลิคเกรดดีเนื้อหนาใสเห็นพื้นหลังสีดำตัดกับปุ่มและน็อตสีทอง ฝั่งซ้ายเป็นจอแสดงผลและช่องรับสัญญาณรีโมท ฝั่งขวาเป็นปุ่มคอนโทรลสี่ปุ่ม ตรงกลางเป็นปุ่ม Standby ถัดมาทางขวาเป็นไฟ LED indecator แสดงสถานะการทำงาน ตัวถังเป็นโลหะเนื้อดี หนา ไม่ก้องกำธร มีขารองกันสะเทือนอย่างดีสามจุด โดยรวมมีการจัดการเรื่องของแรงสั่นสะเทือนเป็นอย่างดี
ส่วนภายในมีการจัดวางเลย์เอาต์แยกบอร์ดวงจรต่าง ๆ เป็นสัดส่วนระหว่างดิจิทัลและแอนะล็อก โดยแผงวงจรทั้งหมดจะจัดวางอยู่ครึ่งหลังของตัวเครื่อง เว้นส่วนหน้าไว้สำหรับ Slot ใส่ฮาร์ดดิสก์ โดยต้องขันสกรูเพื่อเปิดฝาใต้เครื่อง (แนะนำเป็นฮาร์ดดิสแบบ SSD จะได้ไม่สั่นกวนตอนทำงาน) มีหม้อแปลงเทอรอยด์ขนาดเขื่องวางค่อนมาทางฝั่งภาคจ่ายไฟด้านซ้าย ส่วนบอร์ดภาคแอนะล็อกเอาต์พุตที่อยู่ฝั่งขวาจะเป็นฟูลลี่บาล้านซ์ completely symmetrical แยกอุปกรณ์ของแชนแนลซ้าย-ขวาอิสระจากกัน มีแหล่งจ่ายไฟของตัวเองเพื่อลด crosstalk หรือสัญญาณรบกวนระหว่างวงจร
ขั้นตอนการเซ็ตอัพ
การเซ็ตอัพ ECM 1 MKII เข้ากับวง LAN ในบ้านนั้นง่ายดายมาก ซึ่งสามารถทำได้ทั้งการต่อสาย LAN และเชื่อมต่อด้วย Wi-Fi แต่ผู้เขียนขอแนะนำอย่างหนักแน่นว่าควรใช้การต่อสาย LAN เพราะให้คุณภาพเสียงที่ดีกว่าชัดเจน อันดับแรกต้องเชื่อมต่อกับ Router โดยการลากสาย LAN มาเข้าที่ช่อง Ethernet ท้ายเครื่อง ECM 1 MKII จากนั้นเปิดแอป EC Play บนมือถือแล้วเลือก “Setup a new system” ทำตามขั้นตอนไปทีละสเต็ปเป็นอันเสร็จพิธี รวมถึงเช็คอัพเดตเฟิร์มแวร์ล่าสุด
จากนั้นเข้ามาในส่วนของเมนู Speaker & Outputs จะมีเมนูปรับแต่งส่วนของ Audio และ Outputs แนะนำให้ปรับตามนี้
Audio
- Volume Normalization “Disable”
- Gapless Playback “Disable”
Outputs
- S/PDIF “Disable”
ส่วนของ Outputs S/PDIF (สามารถเลือกค่าแซมปลิ้งเรตได้) ในกรณีที่ไม่ได้ใช้งาน ECM 1 MKII เป็นสตรีมเมอร์ไปต่อกับแด็คภายนอกให้ปิดฟังก์ชั่นนี้ไว้จะได้คุณภาพเสียงที่ดีขึ้นอีกเล็กน้อย ซึ่งเท่าที่ผู้เขียนทดลองเชื่อมต่อกับแด็คภายนอก หากไม่ได้เป็นแด็คที่มีราคาค่าตัวสูงกว่า ECM 1 MKII (ระดับสองแสนบาทขึ้นไป) แล้วไม่มีความจำเป็นต้องใช้เลย เพราะคุณภาพแด็คในตัวของ ECM 1 MKII นั้นดีมาก ๆ อยู่แล้วทั้งเรื่องของเนื้อเสียง หรือมิติเวทีเสียง
การใช้งานร่วมกับซอฟท์แวร์ Roon
ECM 1 MKII มีคุณสมบัติเป็น Roon Ready (พารามิเตอร์ต่าง ๆ มีการปรับแต่งร่วมกันกับวิศวกรของ Roon) เมื่อใช้งานร่วมกัน จะสามารถมองเห็น ECM 1 MKII ที่อยู่บนเน็ตเวิร์กเป็น End point ตรงเอาต์พุตปลายทาง นอกนี้ยังแสดงขั้นตอนการทำงานทั้งหมดใน Signal path ของ Roon อย่างละเอียด ซึ่งกรณีของ ECM 1 MKII จะมีความพิเศษตรงที่ Signal path จะระบุคำว่า “Enhanced” แทนที่จะเป็น “Lossless” ตามปกติ เนื่องจากว่าในตัว ECM 1 MKII มีกระบวนการทำ Sampling rate conversion สัญญาณอินพุตที่เข้ามาทั้งหมดเป็น 24bit / 192kHz โดยอัตโนมัตินั่นเอง
ในกรณีของการเล่นไฟล์ DSD บนซอฟท์แวร์ Roon ตรง Signal path จะระบุเป็น “High quality” เนื่องจากมีกระบวนการแปลงไฟล์เป็น 352.8kHz PCM และทำ Sample rate / Bit depth conversion ก่อนส่งมายัง ECM 1 MKII เพื่อทำอัพแซมปลิ้งเป็น 192kHz อีกที ในอีกทางหนึ่งหากไฟล์ต้นฉบับเป็น 24bit / 192kHz อยู่แล้ว ตรง Signal path จะระบุเป็น “Lossless” แทนและส่งตรงไปยัง ECM 1 MKII โดยไม่มีการอัพแซมปลิ้งใด ๆ อีก
ต้องบอกก่อนว่า Electrocompaiet ใช้ Upsampling Technology มานานแล้ว รวมถึงซีดีเพลเยอร์รุ่นเรือธงในปัจจุบันอย่าง EMC 1 MKV Reference เท่าที่ผู้เขียนทดลองฟัง กระบวนการทำอัพแซมปลิ้งของ ECM 1 MKII นั้นมีคุณภาพที่สูงลิบ กับหลากหลายเพลงที่คุ้นเคย ไม่สัมผัสถึงความผิดแปร่งของเสียงใด ๆ เลย เนื้อเสียงมีความเนียนละเอียด อบอุ่นฟังสบายมีมวลบรรยากาศ ที่เด่นชัดคือมิติเวทีเสียงให้โฟกัสที่ชัดใส ไม่รู้สึกถึงเงาเสียงฟุ้ง ๆ หรือเนื้อเสียงหยาบกระด้างแบบการทำอัพแซมปลิ้งด้วยซอฟท์แวร์ราคาถูก
การใช้งาน TIDAL Connect
อีกหนึ่งฟีเจอร์เด็ดที่เพิ่มเติมเข้ามาหลังอัพเดตเฟิร์มแวร์ล่าสุด ทำให้การเล่น TIDAL นั้นได้อย่างสะดวกและลัดตรงที่สุด เหมาะกับใครที่เล่น TIDAL เป็นหลักและไม่มีซอฟท์แวร์ Roon สามารถเปิดแอพ TIDAL บนมือถือหรือแท็ปเลตแล้วกดเล่นเพลงได้เลย (ใช้อินเตอร์เฟสของแอป TIDAL โดยตรง) ซึ่งก็เป็นการเล่นแบบ Bit Perfect ไม่ลดทอนคุณภาพ รวมถึงสามารถเล่น MQA แบบ First unfold จากแอป TIDAL ได้เลยด้วย ข้อดีอีกอย่างคืออินเตอร์เฟสบนแอปของ TIDAL เองนั้นละเอียดและใช้งานสะดวกกว่าบนแอป EC Play
ผลการลองฟัง
เซ็ตอัพหลักในการทดสอบนี้ผู้เขียนจะใช้งาน ECM 1 MKII ร่วมกับซอฟท์แวร์ Roon สตรีมเพลงจาก NAS และ TIDAL มาเล่น สลับกับการเชื่อมต่อ External HDD Toshiba ขนาด 1TB (มีไฟล์เพลงริปจากซีดี) เข้ากับ ECM 1 MKII แล้วเล่นไฟล์เพลงด้วยแอป EC Play เป็นหลัก
เล่นไฟล์เพลงจาก External HDD ผ่านช่อง USB ด้านหลังของ ECM 1 MKII
สตรีม TIDAL บนแอป EC Play
ECM 1 MKII โดดเด่นในเรื่องของเนื้อเสียงที่ดีมาก แตกต่างจากเครื่องระดับกลาง ๆ อย่างเห็นได้ชัด ให้ความรู้สึกในการฟังไฟล์เพลงดิจิทัลที่ละเมียด ละเอียดอ่อน ได้ดีเป็นพิเศษ นี่ถือเป็นบุคลิกเสียงอันโดดเด่นของแบรนด์ Electrocompaneit มาช้านาน แตกต่างกันที่ครั้งนี้ได้ยินจากเครื่องเล่นดิจิทัลไม่ใช่แอมปลิฟายเออร์เหมือนที่ผ่านมา ลืมคำว่าการเล่นไฟล์ดิจิทัลนั้นมีความแข็งกระด้างไม่น่าฟังไปได้เลย ทำให้สามารถสัมผัสถึงรายละเอียดของเสียงที่เต็มไปด้วยความสะอาด เกลี้ยงเกลา ไร้สากเสี้ยน ฟังเพลินจนลืมเวลาทีเดียว
นอกจากนี้ยังให้พละกำลังแฝง แรงอัดฉีดของเสียงที่ดีมาก สเกลเสียงใหญ่สมจริง ถ่ายทอดน้ำหนักการย้ำเน้นอ่อนแก่ที่ชัดเจน แสดงให้เห็นถึงสัญญาณเอาต์พุตที่มีคุณภาพ ไดนามิกเปิดกว้าง มีการสวิงเสียงที่ไร้การอั้นตื้อและฉับไว รองรับกับซิสเต็มใหญ่ ๆ ได้อย่างสบาย ยิ่งต่อด้วยสายบาล้านซ์ XLR ก็ยิ่งตอกย้ำคุณสมบัตินี้ให้ชัดเจนยิ่งขึ้นไปอีกระดับ ขอย้ำอย่างหนักแน่นว่าหากใช้ Electrocompaniet ท่านควรจะใช้การเชื่อมต่อระบบบาล้าซ์ XLR จึงจะได้ประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งหลายเครื่องนั้นบางครั้งการต่อสายอันบาล้านซ์กลับให้น้ำเสียงที่น่าฟังกว่า แต่ไม่ใช่กับ ECM 1 MKII เพราะจะได้ความสงัดของพื้นเสียงที่มากขึ้น จนเผยให้เห็นการไล่ระดับไดนามิกคอนทราสต์ที่ซอยละเอียดยิบย่อยต่อเนื่องกันไปไม่มีสะดุด ฟังแล้วชวนให้เร่งโวลุ่มสูงขึ้นไปได้อีก 1-2 สเต็ปจากระดับความดังที่คุ้นเคย น้ำเสียงยังคงนิ่งสนิท ไม่พุ่งล้ำมาด้านหน้า สัมผัสรายละเอียดของเสียงดนตรีได้อย่างเพลิดเพลิน เวทีเสียงขยายตัวและเปิดโล่งทั้งด้านกว้างและลึก ให้คุณภาพเสียงดีกว่าการต่อสายอันบาลานซ์ แบบไม่ต้องเสียเวลาสลับฟัง
ถ้ามองแบบภาพรวม ECM 1 MKII ให้โทนเสียงที่สุขุม อบอุ่น แต่แฝงด้วยรายละเอียดหยุมหยิมอันยอดเยี่ยม (แบบไม่โชว์ออฟ) และพลังอัดฉีดที่ไม่ป้อแป้อ่อนแรง มีความใสทะลุถึงชิ้นดนตรีและความสงัดของพื้นเสียงสูงมาก ทำให้อิมเมจชิ้นดนตรีนั้นถูกขับเน้นให้ลอยเป็นสามมิติอยู่ภายในเวทีเสียงอย่างเด่นชัด ปลายแหลมพลิ้วสะอาด ไม่กระด้าง สอดรับกับย่านเสียงกลางที่มีความเนียนชัดเจน มีลีลา มีไดนามิก ฮาร์โมนิกของเสียงที่สมบูรณ์ ทุ้มมีความอบอุ่นสไตล์แอนะล็อก คือมีมวลเสียงที่เข้มข้น หนักแน่น แต่ฟังสบายไม่รุกเร้าจนอึดอัด และสุดท้ายคือเป็นเครื่องเน็ตเวิร์กมิวสิคเพลเยอร์ที่เอามาฟังเพลงไทยได้อย่างไพเราะ ด้วยคุณสมบัติทั้งหมดที่กล่าวมา เนื่องจากเพลงไทยสากลหลายอัลบั้ม มักจะบันทึกเสียงมาด้วยเกนที่แรง รวมถึงมีการใส่ Compress Mix ที่มากจนเกินไป ทำให้ไดนามิกเร้นจ์แคบและเสียงคมแข็ง เมื่อนำมาเล่นผ่าน ECM 1 MKII แล้วกลับเพิ่มพูนความนุ่มเนียนมากขึ้นอีกพอควร นอกจากเรื่องของฮาร์แวร์ที่ดีแล้ว Upsampling Technology ก็ช่วยเกลี่ยรูปสัญญาณคลื่นไซน์ (Sine wave) ให้ยิ่งละเอียดและมีความสมูทต่อเนื่องมากขึ้น ทำให้เวลาฟังแล้วสบายหู เกิดความผ่อนคลาย
อัลบั้มบางส่วนที่ใช้ทดสอบ
- Audiophile Female Voices 4 – Various Artists
- Geography – Tom Misch
- Sound of China – Zhao Cong
- TAS 1997 – Various Artists
- บ้าหอบฟาง 30th Anniversary Remastered – อัสนี วสันต์
- หัวควายปากหมา ประสาเพลง 2 (Live) – คาราบาว
สรุป
หากท่านเป็นนักเล่นที่ต้องการเสพสุนทรียะของดนตรี เน้นเรื่องของน้ำเสียงเป็นหลักมากกว่าสเปกที่หวือหวา คงจะไม่เกินเลยหากบอกว่า Electrocompaniet ECM 1 MKII เป็นเครื่องเล่นเน็ตเวิร์กมิวสิคเพลเยอร์ที่ให้น้ำเสียงเข้าใกล้ความเป็นแอนะล็อกได้อย่างโดดเด่นมากที่สุดเครื่องหนึ่งในงบประมาณไม่เกิน 2 แสนบาท รวมถึงนักเล่นที่จะจริงจังกับการเล่นมิวสิคสตรีมมิ่ง ซื้อแล้วไม่อยากเปลี่ยนเครื่องบ่อย ๆ และต้องการอะไรที่ง่าย ๆ ไม่ซับซ้อน ชิ้นเดียวจบ ได้คุณภาพระดับไฮเอ็นด์ ยิ่งถ้าซิสเต็มที่ใช้ต่อสายแบบบาล้านซ์แท้อยู่แล้วด้วยละก็ หาโอกาสลองฟังให้ได้สักครั้งครับ
ขอขอบคุณ Bulldog Audio โทร. 081-454-0078 ที่เอื่อเฟื้อสินค้าเพื่อการทดลองฟังในครั้งนี้