DAWN NATHONG
ทุกวันนี้ ผู้เขียนได้รับคำถามเกี่ยวกับการเล่นเน็ตเวิร์คออดิโอของนักเล่นหลายท่านอยู่เนือง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่ หลายท่านก็มักจะมีซิสเต็มฟังเพลงของตัวเอง และมีความพึงพอใจกับคุณภาพเสียงซิสเต็มของตนเองกันอยู่แล้ว เพียงแต่กระแสสตรีมมิ่งมิวสิคที่ถาโถมเข้ามา ก็เลยอยากจะลองสัมผัสการเล่นสตรีมมิ่งมิวสิคดูบ้าง เป็นการเปลี่ยนบรรยากาศ แต่ปัญหาอย่างหนึ่ง ก็คือ นักเล่นที่มีอุปกรณ์แยกชิ้นอยู่ในระบบเป็น DAC คุณภาพสูง ซึ่งให้เสียงที่ดีถูกใจอยู่แล้ว อยากจะใช้ประโยชน์จากอุปกรณ์ที่มีอยู่ได้อย่างคุ้มค่าควรทำอย่างไร
ทางเลือกหนึ่ง คือการหาคอมพิวเตอร์สักเครื่องเข้ามาใช้เล่นไฟล์ ก่อนป้อนส่งต่อไปยัง ดิจิทัลอินพุตของ DAC ทางช่อง USB (ถ้ามี) ก่อนส่งต่อไปยังภาคแอมปลิฟายเออร์ขยายสัญญาณเสียงสู่ลำโพง แต่วิธีนี้ ก็ต้องแลกมาด้วยน้อยส์หรือสัญญาณรบกวนมหาศาล อันเกิดขึ้นจากตัวคอมพิวเตอร์เอง ไม่ว่าจะเป็นสัญญาณรบกวนความถี่สูงอันเกิดจากภาคจ่ายไฟแบบสวิตชิ่งที่ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อใช้กับการฟังเพลงโดยตรง หรือกระทั่งขั้นตอนการประมวลผลในภาคต่าง ๆ ของคอมพิวเตอร์ที่มีส่วนในการสร้างสัญญาณรบกวนขึ้นมา ทำให้การฟังสตรีมมิ่งมิวสิคไม่น่าอภิรมณ์เท่าที่ควรจะเป็น
เรียกว่าการจะใช้คอมพิวเตอร์มาฟังเพลงให้ได้คุณภาพเสียง ชนิดฟังเอาเรื่องได้แบบจริงจัง มีความน่าฟังแบบเครื่องเสียงจริง ๆ ไม่แบน แข็งกระด้าง ต้องใช้ทั้งความรู้เชิงลึกในการปรับแต่งเกินความสามารถของยูสเซอร์ทั่วไป รวมทั้งงบประมาณอัพเกรดอุปกรณ์ที่ว่ากันจริง ๆ แล้ว สูงกว่าเน็ตเวิร์คเพลเยอร์หลาย ๆ รุ่นเสียด้วยซ้ำ และสุดท้ายท้ายสุด ผลลัพท์ก็อาจไม่ได้ดังใจนัก
หากเป็นแบบนั้นจะดีกว่าไหม ถ้ามีอุปกรณ์ที่สามารถทำให้ DAC ที่มีอยู่แล้ว แม้จะเป็น DAC รุ่นเก่าก็ตาม สามารถใช้งานเหมือนกับเป็นเน็ตเวิร์คเพลเยอร์ได้จริง ๆ แถมยังให้เสียงจากการฟังสตรีมมิ่งมีคุณภาพดุจการฟังเพลงจากแหล่งโปรแกรมชั้นดี dCS Network Bridge ที่ผู้เขียนจะมารีวิวในคราวนี้ คือหนึ่งในตัวเลือกที่น่าสนใจไม่น้อย
เน็ตเวิร์คออดิโอโซลูชั่นระดับไฮเอ็นด์
dCS Network Bridge พูดง่าย ๆ มันก็คือดิจิทัลออดิโอทรานสปอร์ตที่ไม่มีภาค DAC เข้ามาเกี่ยวข้อง ทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมระหว่างแหล่งเก็บข้อมูลไฟล์เพลงดิจิทัล อาทิ NAS, USB ไดร์ฟ รวมถึงคอนเท้นต์บริการสตรีมมิ่งมิวสิคออนไลน์ อย่างเช่น TIDAL, Spotify หรือ Deezer ก่อนส่งต่อไปยังภาค DAC ภายนอก เท่ากับว่าสำหรับท่านที่มี DAC คุณภาพสูงอยู่แล้ว ก็สามารถนำมาใช้งานร่วมกับ dCS Network Bridge ได้ทันที ด้วยการเชื่อมต่อจากช่อง S/PDIF เอาท์พุตแบบโคแอ็กเชี่ยล ซึ่งสามารถรองรับไฟล์ความละเอียดได้ถึงระดับ DSD64 เลยทีเดียว (ปกติทั่วไปจะรองรับได้สูงสุดแค่ PCM 24/192) หรือสำหรับท่านที่มี DAC ของ dCS อยู่แล้ว ก็สามารถเชื่อมต่อผ่านช่อง Dual – AES ที่ถูกออกแบบมาให้ใช้งานร่วมกันได้เลย
รายละเอียดที่น่าสนใจ
dCS Network Bridge ถูกออกแบบและผลิตที่โรงงานของบริษัท Data Conversion Systems ในสหราชอาณาจักรด้วยมาตรฐานระดับสูงสุด เช่นเดียวกับเครื่องรุ่นเรือธง ตัวถังผลิตจากอลูมิเนียบเกรดอากาศยาน ที่ช่วยลดแรงสั่นสะเทือนและป้องกันสนามแม่เหล็กไปในตัว มีการใช้ภาคจ่ายไฟแยกหลายภาคสำหรับวงจรส่วนที่อ่อนไหวง่าย เช่นวงจร Clock ออกจากวงจรภาคประมวลผล รวมถึงมีการใช้ Auto Clocking System ประสิทธิภาพสูงแบบเดียวกับอนุกรม Vivaldi และ Rossini ซึ่งช่วยลดจิตเตอร์ในระบบลงได้อย่างมีนัยะสำคัญ
เหนืออื่นใด สิ่งที่ทำให้ dCS Network Bridge จัดการกับข้อมูลดิจิทัลได้อย่างถูกต้องแม่นยำและมีประสิทธิภาพสูงสุด นั่นคือการออกแบบหัวใจหลักของวงจรซึ่งอยู่บนพื้นฐานของ แพลตฟอร์ม FPGA ทำให้วิศวกรสามารถเขียนคำสั่งอัลกอริธึ่มที่ใช้ในการทำงานต่าง ๆ ได้อย่างอิสระ และมีความเฉพาะตัว เพื่อให้เหมาะสมกับการนำมาใช้เพื่อฟังเพลงได้อย่างเต็มพิกัด ทำให้ขั้นตอนการ Process ต่าง ๆ มีประสิทธิภาพที่สูงกว่าการใช้คอมพิวเตอร์หรือเน็ตเวิร์คเพลเยอร์ทั่วไปมาก
ฟังก์ชั่นหลักที่น่าสนใจ
- ออกแบบบนพื้นฐาน FPGA
- รองรับการเล่นไฟล์ผ่าน UPnP, asynchronous USB และ Apple Airplay
- รองรับสตรีมมิ่งเซอร์วิส รวมทั้ง TIDAL และ Spotify Connect
- รองรับ Roon ready
- มีฟังก์ชั่น Down-sampling แบบคุณภาพสูงให้เข้ากับ DAC รุ่นเก่า
- มีระบบ Auto clocking เพื่อลดจิตเตอร์
- ภาคจ่ายไฟแบบ Multi-stage Power Regulation แยกสำหรับวงจรดิจิทัลและ Clock
- อัพเดตเฟิร์มแวร์เพื่ออัพเกรดฟังชั่นการทำงานและประสิทธิภาพได้
- มี MQA Core Decoder ในตัว
dCS Mosaic
ความสมบูรณ์แบบของการเล่นสตรีมมิ่งมิวสิคจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากขาดแอพลิเคชั่นหรือซอฟท์แวร์ที่จะใช้สั่งงานในการเล่น รวมถึงจัดการกับคลังข้อมูลเพลงที่เก็ยไว้ในฮาร์ดดิส หรือบนบริการสตรีมมิ่งแบบออนไลน์ ซึ่งโดยปกติแล้วผู้ผลิตแต่ละรายก็จะมีแอพลิเคชั่นเป็นของตัวเอง ให้ผู้ซื้อได้ดาวน์โหลดได้ฟรีมาใช้บนมือถือหรือแท็ปเล็ต รวมถึง dCS ก็เช่นเดียวกัน
แต่สิ่งที่ทำให้ dCS Mosaic แตกต่างจากแอพเล่นเพลงทั่ว ๆ ไปนั้น คือการออกแบบการทำงานออกเป็นสองส่วน นั่นคือ dCS Mosaic Control app ทีใช้เป็นตัวควบคุมการเล่นบนมือถือหรือแท็ปเล็ต ที่รองรับทั้ง iOS และ Android มาทำงานร่วมกับ dCS Mosaic Processor ซึ่งเป็นฮาร์ดแวร์ที่อยู่ใน dCS Network Bridge เพื่อการเล่นกลับทุก ๆ แพลตฟอร์มได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการเล่นสตรีมมิ่ง UPnP, Deezer, Qobuz, TIDAL, Roon, Spotify, Airplay, internet radio, podcasts รวมถึงการเล่นไฟล์เพลงด้วย USB storage
โดยแอพ dCS Mosaic ขณะที่ผู้เขียนทดสอบอยู่นี้เป็นเวอร์ชั่นแรกที่ถูกปล่อยออกมาในเดือนพฤษภาคม นั่นคือเวอร์ชั่น 1.0 และช่วงระหว่างการทดสอบ มีอัพเดตเฟิร์มแวร์ในส่วนซอฟท์แวร์และฮาร์ดแวร์ปล่อยออกมาเป็นเวอร์ชั่นล่าสุด 1.0.1 ซึ่งผู้เขียนก็ทำการอัพเดตผ่านมือถือเอาไว้แล้วเป็นที่เรียบร้อย
การติดตั้งและเซ็ตอัพ
จุดประสงค์ในการทดสอบครั้งนี้ ผู้เขียนจะเน้นไปที่การนำ dCS Network Bridge มาใช้งานร่วมกับ DAC ภายนอกที่ไม่ใช่ของ dCS เองเป็นหลัก โดยใช้การเชื่อมต่อผ่านช่อง SPDIF แบบ Coaxcial ซึ่งรองรับการส่งผ่านข้อมูลได้ถึงระดับ PCM 24bit / 192 kHz และ DSD64 (DoP) เข้ากับ DAC ภายนอก แต่ถ้าใช้งานร่วมกับ DAC ของ dCS เอง จะสามารถใช้ช่องเชื่อมต่อดิจิทัลเอาท์แบบ Dual AES/EBU เพื่อรองรับการส่งผ่านข้อมูลระดับ PCM 384 kHz และ DSD128 (DoP) ได้
ข้อสังเกตอย่างหนึ่ง หลายท่านอาจสงสัยว่า เหตุใดทาง dCS ถึงไม่ติดตั้งช่องดิจิทัลเอาท์พุตออดิโอแบบ USB มาให้ด้วยเสียเลย จะได้ใช้งานกับ DAC รุ่นใหม่ที่มีช่อง USB อินพุตได้ด้วย ซึ่งประเด็นนี้ในต่างประเทศเองก็มีคำถามด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งทางวิศวกรของ dCS ได้ให้คำตอบเอาไว้ในฟอรั่มของ Roon ว่า แรกเริ่มเดิมที ทางบริษัทเองก็พยายามพัฒนาฟังก์ชั่น USB Audio เอาท์พุตลงใน dCS Network Bridge แต่ด้วยปัญหาด้านเทคนิคบางประการ ทำให้คุณภาพเสียงที่ได้นั้นต่ำกว่ามาตรฐานที่ dCS กำหนด ดังนั้นแล้ว ด้วยความที่คอนเซ็ปต์ของบริษัทนั้นยึดมาตรฐานของคุณภาพระดับสูงสุด จึงได้ตัดสินใจยกเลิกการพัฒนาและนำเอาฟังก์ชั่นนี้ออกไปนั่นเอง
เท่าที่ผู้เขียนทดสอบด้วยการเชื่อมต่อผ่านช่อง SPDIF ด้วยสายดิจิทัล Coaxcial แบบ RCA ผ่าน DAC พกพา Chord Mojo รวมทั้งภาค DAC ของ Cambridge EDGE A และ Parasound HINT6 ล้วนให้คุณภาพที่สูงเลยทีเดียว ไม่ต่างจากการเชื่อมต่อด้วยสาย USB แบบปกติ รวมถึงรองรับการส่งผ่านข้อมูลได้ถึงความละเอียดระดับ PCM 24bit / 192 kHz และ DSD64 (DoP) ซึ่งก็เพียงพอต่อการรับฟังไฮเรสไฟล์ส่วนใหญ่แล้ว
เซ็ตอัพ dCS Mosaic
หลังจากเชื่อมต่อสายสัญญาณดิจิทัลเข้ากับ DAC แล้ว ให้ทำการเชื่อมต่อ dCS Network Bridge เข้ากับเครื่อข่ายเน็ตเวิร์คในบ้าน ในกรณีนี้ผู้เขียนแนะนำว่าให้ใช้การเชื่อมต่อด้วย Ethernet LAN หรือสาย RJ45 จะให้ความสเถียรในการเชื่อมต่อและได้คุณภาพเสียงสุงสุด ต่างจากการใช้สัญญาณ WiFi มาก (แอพตอบสนองได้รวดเร็วกว่าด้วย) หลังจากนั้นเปิดแอพ dCS Mosaic บนมือถือ ตัวแอพจะทำการค้นหาอุปกรณ์จนเจอโดยอัตโนมัติในเวลาไม่กี่วินาที หากไม่เจอลองตรวจสอบว่าสัญญาณ WiFi ของมือถืออยู่ในวง LAN เดียวกันหรือไม่
สำหรับหน้าอินเตอร์เฟสระหว่างบนมือถือและแท็ปเลตก็จะมีความแตกต่างกันไปเล็กน้อย รวมถึงเมนูในส่วนของการ Setting ก็จะมีเมนูการปรับได้มากน้อยต่างกันขึ้นอยุ่กับอุปกรณ์ที่นำมาเชื่อมต่อ กรณีของผู้เขียนที่เชื่อมต่อแอพ Mosaic กับ dCS Network Bridge ก็จะมีหน้า Setting พารามิเตอร์ในส่วนของ dCS Network Bridge ขึ้นมาให้ หรือในกรณีที่เชื่อมต่อแอพ dCS Mosaic กับ DAC หรืออุปกรณ์อื่นที่เป็นของ dCS จะสามารถเข้าถึงหน้า Setting ของอุปกรณ์นั้นได้อย่างละเอียด
โดยพื้นฐานในการเล่นสตรีมมิ่งในหน้าเมนูหลักของ dCS Mosaic จะรองรับแหล่งโปรแกรมต้นทางดังต่อไปนี้
- UPnP
- USB (เชื่อมต่อกับ Storage ภายนอกผ่านช่อง USB)
- Deezer Hi-Fi
- Qobuz
- TIDAL
- Internet radio
- Podcasts
สำหรับบริการสตรีมมิ่งต่าง ๆ ท่านก็เพียงนำ User Name และ Password ที่ได้สมัครสมาชิกไว้มาป้อนลงไปก็สามารถใช้งานได้ทันที และนอกจากนี้ dCS Network Bridge เอง ก็ยังรองรับแหล่งโปรแกรมสตรีมมิ่งโดยไม่จำเป็นต้องอาศัยแอพ dCS Mosaic ผ่าน AirPlay, Spotify Connect และ Roon ได้อีกด้วย
ผลการลองฟัง
หลังจากนำ dCS Network Bridge มาใช้เป็นทรานสปอร์ตแทนคอมพิวเตอร์ที่ผู้เขียนทำเป็นมิวสิคเซิฟเวอร์ใช้อยู่ในระบบ ซึ่งมีการ Optimize ทั้งด้านซอฟท์แวร์และฮาร์ดแวร์เพื่อการฟังเพลงไปหลายภาคส่วน ผนวกเข้ากับโปรแกรมเล่นไฟล์เพลงคุณภาพสูงอย่าง Roon ด้วยแล้ว ก็เรียกว่าใช้ฟังเพลงได้คุณภาพสูง ไม่หนีการใช้เน็ตเวิร์คเพลเยอร์ระดับกลางสักกี่มากน้อย แต่หลังจากสลับมาใช้ dCS Network Bridge สิ่งแรกที่รับรู้ได้ทันที นั่นคือ ความเงียบสงัดของพื้นเสียงที่เพิ่มพูนขึ้นไปอีกระดับ แบบไม่ต้องกลับไปเทียบกันให้เสียเวลาเลย
ถามว่าความสงัดของเสียงนั้นอยู่ในระดับไหน ผู้เขียนขอเปรียบเทียบกับการใช้คอมพิวเตอร์ทั่วไปมาต่อเข้ากับ USB DAC/AMP สักตัวเป็นฟร้อนต์เอ็นด์เพื่อใช้งานกับหูฟัง แล้วท่านนำฟร้อนต์เอ็นด์เดียวกันนั้น ไปลองต่อกับแอมปลิฟายเออร์ขยายเสียงออกสู่ลำโพงดู ท่านจะรับรู้ได้ทันทีว่าเมื่อผ่านการขยายสัญญาณมาก ๆ ออกสู่ลำโพงแล้ว จะได้ยินสัญญาณรบกวนที่เป็นแบคกราวด์น้อยส์เพิ่มขึ้นมากมาย ฟังแล้วจะรู้สึกว่าอิมเมจตัวเสียงมีเงาฟุ้ง ๆ ไม่คมชัดและมีความแบน ขาดมิติ เนื้อเสียงกระด้างฟังไม่สบายหูเมากกว่าตอนฟังจากหูฟัง
แต่กลับ dCS Network Bridge นั้น เมื่อต่อเข้ากับแอมป์ขยายเสียงออกลำโพงแล้ว กลับให้ความสงัดเงียบของพื้นเสียงที่อยู่ในระดับเหนือกว่าตอนฟังผ่านหูฟังมากเหลือเกิน รวมทั้งตอนใช้ Chord Mojo เป็น DAC/AMP ร่วมกับกับหูฟัง ก็ให้ความสงัดเงียบระดับเดียวกับเครื่องเล่นไฟล์พกพา (DAP) ระดับไฮเอ็นด์เลยทีเดียว
เหตุที่เป็นเช่นนั้น ส่วนหนึ่งก็เพราะเทคนิคการออกแบบขั้นสูงที่วิศวกรจาก dCS คิดค้นขึ้นดังกล่าวข้างต้น และอีกอย่าง คือข้อดีของการใช้เน็ตเวิร์คทรานสปอร์ต อย่าลืมว่าระบบดิจิทัลนั้นค่อนข้างอ่อนไหวต่อการรบกวนต่าง ๆ การที่สามารถแยกภาคดีทูเอคอนเวอร์เตอร์ออกมาภายนอกได้ ทำให้เป็นอิสระจากการรบกวนภายในกันเองได้มากที่สุด ทั้งภาควงจรประมวลผลวงจรภาคเน็ตเวิร์ค รวมถึงระบบไฟ ไม่เหมือนเครื่องรวมชิ้นอย่างเน็ตเวิรคเพลเยอร์ ที่วงจรทั้งหมดรวมอยู่ในตัวถังเดียวกัน และเกิดการรบกวนได้ง่ายกว่า
เนื้อเสียงจากการเล่นไฟล์เพลงผ่านแอพ dCS Mosaic มีความสะอาดเกลี้ยงเกลาสูงมาก ไม่หลงเหลือความแบนแข็งกระด้างแบบดิจิทัลอยู่เลย มีทั้งความนิ่มนวล และความอิ่มฉ่ำของเสียงแบบที่ไม่ค่อยจะได้ยินจากการฟังสตรีมมิ่งมิวสิคสักเท่าไรนัก ถ้าหลับตาฟังเนื้อเสียงแบบนี้นึกว่าฟังจากเครื่องเล่นซีดีหรือ SACD ไฮเอ็นด์ระดับบน ๆ สักรุ่น อิมเมจตัวเสียงมีความกลมกลึง และเด่นลอยจากฉากหลังออกมาได้ดีมาก มีช่องว่างช่องไฟที่สงัด ใสสะอาด ปราศจากเงาเสียงส่วนเกินฟุ้งรอบตัวเสียงหลัก ทำให้สามารถฟังเก็บรายระเอียดบางเบาในส่วนของบรรยากาศรายล้อมรอบตัวเสียงได้ทุกเม็ดแบบไม่มีตกหล่น แน่นอนว่าในแง่การถ่ายทอดไดนามิกทั้งหนักเบา ก็ล้วนรับฟังได้อย่างกระจ่างแจ้งชัดเจนขึ้นไปอีกระดับเป็นเงาตามตัว
dCS Network Bridge น่าจะเป็นดิจิทัลทรานสปอร์ต ที่สามารถรีดเร้นศักยภาพของ DAC ที่นำมาใช้งานร่วมกันออกมาได้อย่างเต็มพิกัดมากที่สุดตัวหนึ่งเท่าที่ผู้เขียนเคยฟังมา มันทำให้ DAC / AMP ตัวเล็ก ๆ อย่าง Chord Mojo นั้นเสียงดีขึ้นอีกไปอีกหลายภาคส่วน จนอดแปลกใจไม่ได้ ยิ่งนำไปใช้งานร่วมกับ DAC ที่มีคุณภาพสูงขึ้น เช่นภาค DAC ในอินทิเกรตแอมป์ Cambridge EDGE A ระดับสองแสนบาท คุณภาพก็ยิ่งทะยานขึ้นไปอีกหลายเท่า เมื่อเทียบกับการใช้คอมพิวเตอร์ตัวเก่งของผู้เขียนเป็นทรานสปอร์ต
ในขณะที่การทดลองเล่นบริการสตรีมมิ่งมิวสิคออนไลน์ยอดนิยมอย่าง TIDAL เองก็สร้างความประทับใจได้ไม่น้อย เรียกว่าใครที่ดูแคลนการฟังเพลงสตรีมมิ่งมิวสิคเอาไว้อาจต้องเปลี่ยนใจเมื่อมาฟังผ่านแอพ dCS Mosaic บน dCS Network Bridge เพราะมันสามารถจัดการกับข้อมูลดิจิทัลที่ส่งผ่านระบบเน็ตเวิร์คมาได้อย่างยอดเยี่ยมจริง ๆ พูดตรง ๆ ว่าคุณภาพเสียงแทบไม่แตกต่างกับการฟังเพลงจากไฟล์บนฮาร์ดดิสโดยตรงเลยสักนิด ยิ่งกับอัลบั้มที่บันทึกเสียงมาในฟอร์แม็ต MQA หลาย ๆ อัลบั้มนั้นให้รายละเอียดและน้ำเสียงที่น่าทึ่งเอามาก ๆ แสดงความยอดเยี่ยมของฟอร์แมต MQA ออกมาได้อย่างชัดเจน
เข้าใจว่า ภาค MQA Core Decoder ที่ให้มานั้นต้องมีการทำงานร่วมกับฮาร์ดแวร์ภายในเครื่องได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และคืนรูป (Unfold) ขั้นแรกเป็นไฟล์ MQA Core ความละเอียด 88.2kHz หรือ 96kHz ออกมาได้อย่างสมบูรณ์แบบตามที่สตูดิโอบันทึกมา และเมื่อนำไปใช้งานร่วมกับอุปกรณ์ของ dCS ที่มี MQA Encoder ในตัวก็สามารถคืนรูปขั้นที่สองเพื่อเล่นไฟล์ MQA ที่ระดับความละเอียดสูง เช่น 192 kHz หรือ 352.8 kHz ได้ตามแต่มาสเตอร์จะบันทึกมา (น่าเสียดายที่ผู้เขียนไม่มี MQA DAC มาทดสอบในช่วงนั้น)
Roon กับ dCS Mosaic ต่างกันอย่างไร?
นี่เป็นความคิดแรก ๆ ที่ผุดขึ้นในหัวหลังทราบว่า dCS เปิดตัวแอพ Mosaic เพราะทราบข้อมูลเบื้องต้นจากทางคุณกฤตแห่ง Deco 2000 ว่าแอพตัวนี้ ทางบริษัท dCS ตั้งใจทำขึ้นมาเพื่อเน้นด้านคุณภาพเสียงมาก่อนเป็นอันดับหนึ่ง และอินเตอร์เฟสความสวยงามจะเป็นเรื่องรองลงมา ในขณะที่ Roon นั้นนอกจากด้านตุณภาพเสียงแล้ว ยังเน้นด้านการใช้งานที่ง่ายและมีความสวยงาม รวมถึงมีฟังก์ชั่นการปรับแต่งที่หลากหลายกว่ามาก
แต่ทั้งสองมีส่วนร่วมอย่างหนึ่งที่คล้ายกัน คือออกแบบการทำงาน ให้อาศัยทั้งซอฟท์แวร์และฮารด์แวร์ผสมผสานกัน เพียงแต่ Roon จะออกแบบส่วนประมวลผลหรือ Roon Core มาให้สามารถใช้งานร่วมกับคอมพิวเตอร์ทั่วไป แต่ส่วนประมวลผลของ dCS Mosaic นั้นจะถูกติดตั้งมาในอุปกรณ์ของค่าย dCS เท่านั้น ทำให้การเปรียบเทียบมีตัวแปรเพิ่มอีกหนึ่งคือคุณภาพของคอมพิวเตอร์ที่ใช้เป็น Roon Core นั่นเอง ดังนั้นหลังคืนเครื่อง ผู้เขียนจึงติดต่อเพื่อเข้าไปฟัง dCS Network Bridge ที่ต่อแบบเต็มระบบกับ dCS Rossini Player ที่โชว์รูม Deco2000 เพื่อฟังสรุปผลให้ชัดเจนอีกครั้งหนึ่ง
เมื่อเทียบกันหมัดต่อหมัด โดยใช้การสตรีมเพลงผ่าน TIDAL ด้วยแอพ dCS Mosaic จะให้รายละเอียดหยุมหยิมและความชัดเจน และความใสเปิดโปร่งที่ดีกว่าการฟังผ่านแอพ Roon เล็กน้อย ในขณะที่ Roon เองจะเหมือนเจือความอบอุ่นนุ่มนวลเข้าไปในเนื้อเสียงนิดหน่อย ทำให้มีสีสันความน่าฟัง แต่สำหรับบางคน ก็อาจรู้สึกว่าขาดความสดกระจ่างแจ้งไปเล็กน้อยเช่นเดียวกัน
มองภาพรวมทั้งหมดหักลบฟังก์ชั่นใช้งาน และความสวยงามของอินเตอร์เฟสแล้ว ผู้เขียนขอให้เรื่องเสียง Mosaic เฉือนชนะ Roon แค่ปลายจมูก ส่วนเรื่องฟังก์ชั่นการใช้งานที่หลากหลาย ง่ายต่อการใช้งาน โดยเฉพาะการจัดการกับคลังเพลงจำนวนมหาศาลรวมกับความสวยงามของอินเตอร์เฟสแล้ว Roon ยังคงหาคู่แข่งเปรียบเทียบได้ยาก แต่ก็ต้องแลกมาด้วยค่า Licence แบบรายปี หรือแบบตลอดชีพ ส่วนแอพ dCS Mosaic นั้นโหลดฟรี
สรุป
dCS Network Bridge เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง สำหรับนักเล่นที่ต้องการอัพเกรดซิสเต็มเดิมที่มี DAC คุณภาพดีอยู่แล้วไม่ว่าจะเป็นรุ่นเก่าหรือใหม่ ให้เล่นระบบเน็ตเวิร์คสำหรับสตรีมมิ่งมิวสิคได้แบบคุณภาพเสียงสูงสุดของอุปกรณ์ และเหมาะสำหรับคนที่ยังคาใจว่าการเล่นสตรีมมิ่งมิวสิคในปัจจุบันนี้ให้คุณภาพเสียงไปถึงระดับใดแล้ว มาพร้อมกับแอพฟังเพลงคุณภาพสูงอย่าง dCS Mosaic เมื่อพิจารณาราคาค่าตัวเทียบกับการลงทุนกับมิวสิคเซิฟเวอร์แล้ว ก็ดูจะเป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจไม่น้อย
อุปกรณ์ร่วมทดสอบ
- แหล่งโปรแกรม – PC + Roon, dCS Network Bridge, เครื่องเล่นซีดี Micromega Stage 2
- ภาคขยาย – อินทิเกรทแอมป์ Bryston: B-60, เพาเวอร์แอมป์ NAD: 216THX
- ลำโพง – ลำโพงวางหิ้ง Totem Signature One, Canton Vento 836, KEF Q Compact
- สายเชื่อมต่อ – สายดิจิทัล USB Furutech: Formula 2, สายดิจิทัลโคแอ็คเชี่ยล QED: Qunex SR75, สายสัญญาณอนาล็อก Tchernov Special XS, สายสัญญาณอนาล็อก Taralabs: TL-101, สายไฟเอซี Shunyata: Python VX, Cardas: Crosslink 1s, Kimber: Powerkord, Audience AU 24 SX, สายลำโพง Furukawa FS-2T30F, PAD: Aqueous Aureus
- อุปกรณ์เสริม – ปลั๊กผนัง PS Audio: Power Port Premiere (Audiophile Grade), ปลั๊กกรองไฟ Clef: Power Bridge 8 (เปลี่ยนปลั๊กเป็น Wattgate 381), ตัวกรองไฟ X-filter, ตัวกรองน้อยส์ Audio Prism: Quite Line mkIII, ตัวกรองน้อยส์ Audio Quest: Jitter Bug, iFi Audio: iDefender 3.0, ผลึกควอตซ์ Acoustic Revive: QR-8, ตัวอุดปลั๊ก Isoclean, บานาน่าปลั๊ก Monster X-Terminator, ขาตั้งลำโพง Atacama: HMS 1, ชั้นวางเครื่องเสียง Audio Art
รายละเอียดเชิงเทคนิค
dCS Network Bridge
- Type Network Bridge
- Colour Silver or black
- Dimensions 360mm/14.2” wide x 245mm/9.65” deep x 67mm/2.65” high. Allow extra depth for cable connectors.
- Weight 4.6kg/10.2lbs.
- Digital Inputs Network interface on an RJ45 Gigabit Ethernet connector – Acts as a UPnP™ renderer operating in asynchronous mode, streaming digital music from a NAS or local computer over a standard Ethernet network, decoding all major formats. Network accept data streamed from an iPod, iPhone or iPad via Apple AirPlay™. Music can be streamed from the internet via Spotify Connect™ or Tidal™, the Network Bridge is Roon™ ready. USB 2.0 high speed interface on type A connector operating in asynchronous mode, streams digital music from external drive.
- Digital Outputs 2x AES/EBU on 3-pin male XLR connectors, each outputs PCM at up to 24 bit 192kS/s or DSD/64 in DoP format. Used as a Dual AES pair, the interface outputs PCM at up to 384kS/s, DSD/64 & DSD/128 in DoP format. 1x SPDIF on 1x RCA Phono connector, outputs PCM at up to 24 bit 192kS/s or DSD/64 in DoP format. 1x SDIF-2 interface on 2x BNC connectors, outputs PCM at up to 24 bit 96kS/s or SDIF-2 DSD/64.
- Wordclock I/Oworldclock Io 2x Word Clock Inputs on 2x BNC connectors, accept standard word clock at 44.1, 48, 88.2, 96, 176.4 or 192kHz. The data rate can be the same as the clock rate or an exact multiple of the clock rate. Sensitive to TTL levels. Word Clock Output on 1x BNC connector, carries Word Clock at the same frequency as the data rate up to 96kHz.
- File Formats FLAC, AIFF & WAV – up to 24 bit PCM at 44.1, 48, 88.2, 96, 176.4, 192, 352.8 or 384kS/s. ALAC – up to 24 bit PCM at 44.1, 48, 88.2, 96, 176.4 & 192kS/s. AAC, MP3, WMA & OGG – up to 24 bit PCM at 44.1 or 48kS/s. DFF, DSF & DoP – DSD/64 & DSD/128. Apple AirPlay – 44.1 or 48kS/s.
- Conversions User-selectable down-sampling to match legacy DACs: – 176.4 & 352.8 > 24/176.4 or 24/88.2 – 192 & 384 > 24/192 or 24/96 – DSD/64 & DSD/128 > 24/176.4 or 24/88.2 This feature is set by the Network Bridge App.
- Software Updates Download and update functionality available via the Network Bridge App.
- Local Control dCS Network Bridge App for Unit Configuration and Music Playback or UPnP compatible control app.
- Power Supply Factory set to either 100-120, 220-240V AC, 50/60Hz.
- Power Consumption 6.5W typical, 50W maximum.