รีวิว Audiobyte: Hydra.Vox / Zap ดีทูเอคอนเวอร์เตอร์ 1-bit FPGA

0

Dawn Nathong

เมื่อดิจิทัลออดิโอขยับใกล้โลกแอนะล็อกมากกว่าที่เคย

เคยคิดไหมว่าวันหนึ่งเราจะฟังไฟล์เพลงดิจิทัลแล้วรู้สึกว่าเสียงมันมีความน่าฟังได้เหมือนอย่างกับการฟังจากเครื่องเล่นแผ่นเสียงหรือแม้แต่โอเพ่นรีล? ผู้เขียนเชื่อว่าเทคโนโลยีดิจิทัลออดิโอทุกวันนี้ทำให้เราเข้าใกล้จุดนั้นมากขึ้น ในราคาที่เข้าใกล้โลกแห่งความจริงขึ้นเรื่อย ๆ…

Thinking in Digital

“AUDIOBYTE” เป็นแบรนด์ย่อยของ Rockna Electronics บริษัทผู้ผลิตเครื่องเสียงระดับไฮเอ็นด์จากซูซาวา ประเทศโรมาเนีย ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1999 ออกแบบและผลิตสินค้าในโรงงานของตัวเองหมดทุกขั้นตอน ผู้ก่อตั้งคือ Nicolae Jitariu พ่อมดดิจิทัล หนึ่งในผู้กำหนดทิศทางของวงการดิจิทัลออดิโอ มีองค์ความรู้เฉพาะตัวที่ลึกซึ้ง แถมยังเป็นดีไซน์เนอร์ให้หลายแบรนด์ดัง ทั้งจากสหรัฐอเมริกาและสวิตเซอร์แลนด์ อาทิ PS Audio, Wadia, MSB Technology, และ Goldmund รวมถึงเป็นผู้ริเริ่มนำพอร์ตเชื่อมต่อแบบ I2S มาใช้ในการส่งผ่านสัญญาณดิจิทัลออดิโอระหว่างอุปกรณ์เครื่องเสียงเป็นรายแรก ๆ (Audiobyte มีดิจิทัลอินเทอร์เฟสพร้อม I2S เอาต์พุตรุ่นแรก Hydra X ออกวางจำหน่ายประมาณปี 2013)

ขณะที่แบรนด์พี่อย่าง Rockna มุ่งสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพสูงสุดแบบไร้ซึ่งการประนีประนอม แนวทางของ Audiobyte นั้นเหมือนการ Spin-off ออกมา มุ่งไปที่การลดช่องว่างระหว่างคอมพิวเตอร์กับไฮเอ็นด์ออดิโอลงให้เหลือน้อยที่สุด และต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ตามกระแส แค่คำว่า “ดี” เฉยๆ นั้นยังไม่พอ Jitariu ให้ความสำคัญกับการทำ listening test และการทดสอบวัดค่า ทีมงานต้องทำการทดสอบ ปรับจูน แม้กระทั่งสร้างโซลูชั่นใหม่ขึ้นมาใหม่เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ผลิตภัณฑ์ถูกสร้างขึ้นด้วยเทคโนโลยีที่เป็นกรรมสิทธิ์ของ Audiobyte ทั้งหมด ซึ่งนอกจากการใช้ฮาร์ดแวร์ได้เกิดประโยชน์สูงสุดแล้ว ยังใช้เทคโนโลยี Field Programmable Gate Array (FPGA) ซึ่งเป็นซิลิคอนชิปที่เขียนโค้ดคำสั่งลงไปได้เอง เพื่อกำหนดการทำงานของฮาร์ดแวร์ได้อย่างอิสระ รวมถึงสามารถอัปเดตเฟิร์มแวร์ให้สดใหม่ได้ตลอดเวลา สุดท้ายคือมีระดับราคาค่าตัวที่เรียกว่าจับต้องได้ง่ายขึ้น

ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ของ Audiobyte มีอยุ่ด้วยกันสามรุ่นได้แก่ Hydra.Vox ดีทูเอคอนเวอร์เตอร์, Hydra.Zap เพาเวอร์ซัพพลาย, และล่าสุดที่เพิ่งเริ่มวางตลาดและกำลังจะเข้ามาในบ้านเราคือ Hydra.Hub ดิจิทัลออดิโอทรานสปอร์ต ทั้งหมดถูกออกแบบมาให้ใช้งานร่วมกันเป็นระบบเพื่อประสิทธิภาพสูงสุด (สามารถนำมา stack ซ้อนกันสามชิ้นได้)

รูปลักษณ์

ทั้ง Vox และ Zap มาในตัวถังขนาดกะทัดรัด แผงหน้าเป็นอะลูมิเนียมหนา 1cm พร้อมแผงฮีตซิ้งค์หนา 1.3cm ประกบด้านซ้ายขวาเต็มตลอดแนวความลึกของเครื่อง บ่งบอกถึงการเตรียมรับมือพลังงานความร้อนที่จะแผ่ออกมาได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ความหนาของตัวถังยังช่วยป้องกันสัญาณรบกวน การวางเครื่องซ้อนกันไม่มีปัญหาเรื่องการระบายความร้อนขณะใช้งานเป็นเวลานานแต่อย่างใด (แต่ควรจัดวางในที่อากาศถ่ายเทได้ดีและไม่ควรมีอะไรทับด้านบาฝาเครื่องอีก) แผงหน้าตรงกลางติดตั้งหน้าจอแสดงผล LCD แบบทัชสกรีน การปิด-เปิดเครื่องก็ใช้นิ้วแตะที่จอเอาเลย ที่ฝั่งขวาของ Vox จะมีช่องเสียบหูฟัง 6.35mm (1/4”)

เชื่อมต่อระหว่างกันด้วยสาย DIN แบบ 8 pin (Digital) และ 5 pin (Analog) ความยาวประมาณ 50 เซนติเมตร เมื่อพลิกดูด้านใต้เครื่องจะมีขารองเป็นอลูมิเนียมกลึงพร้อมยางโอริง ช่องเชื่อมต่อด้านหลังของ Vox นอกจากช่องเสียบไฟ DC สองชุด ก็จะมีช่องแอนะล็อกเอาต์พุตแบบบาล้านซ์ XLR หนึ่งชุดและ อันบาล้านซ์ RCA หนึ่งชุด ทั้งสองช่องให้ความแรงสัญญาณเอาต์พุตเท่ากันคือ 3.8V (peak) ส่วนดิจิทัลอินพุตมีช่อง S/PDIF แบบโคแอกเชี่ยล รองรับแซมปลิ้งเรตสูงสุด 192kHz/24-bit และ DSD64 และช่อง I2S (LVDS) กับ USB จะรองรับแซมปลิ้งเรตสูงสุด 768kHz/32-bit และ DSD512

หมายเหตุ ทั้งสองรุ่นไม่มีรีโมทคอนโทรล แต่ใช้การควบคุมผ่านหน้าจอทัชสกรีนหรือสั่งงานผ่านแอปคอนโทรลได้ทั้ง iOS/Android สามารถเข้าไปดาวน์โหลดจากเว็บสโตร์ได้เลย ชื่อว่า “Audiobyte Hydra Remote”

Hydra.Vox

นี่คือดีทูเอคอนเวอร์เตอร์มีความเฉพาะตัวมากที่สุดรุ่นหนึ่งของวงการ ไม่มีชิปแด็คในตัว เพราะดีไซน์ให้เป็น 1-bit FPGA DAC แบบเพียว 100% โดย Nicolae Jitariu เขียนโค้ดขึ้นทั้งหมดตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ Vox ใช้การประมวลผลสัญญาณบนข้อมูลออดิโอที่มีความละเอียด 35 บิต สัญญาณดิจิทัลทุกแซมปลิ้งเรตที่เข้ามาจะถูกอัพแซมปลิ้งให้เป็น 705.6kHz หรือ 768kHz แล้วใช้ FIR ฟิลเตอร์ 32-tap กรองสัญญาณรบกวน จากนั้นส่งข้อมูล (512 fs x 35 bit) ไปยัง Delta-Sigma modulator มอดูเลตสัญญาณให้เป็น DSD512 ก่อนส่งแปลงเป็นสัญญาณแอนะล็อก

ซึ่งขั้นตอนการแปลงสัญญาณ 1-bit เป็นระดับฮาร์ดแวร์ล้วน ๆ ไม่ใช่การแปลงด้วยซอฟท์แวร์ อาศัยชิป FPGA Xilinx 7-series ที่ใช้การประมวลผลแบบ 68-bit ด้วย DSP จำนวน 80 คอร์ทำงานที่ความเร็ว 200 MHz ซึ่งมีพลังเหลือเฟือจะรองรับคำสั่งโค้ดอัลกอริทึมที่ซับซ้อนและการทำงานอัตราสุ่มสัญญาณสูง ๆ เพื่อคงความโปร่งใสของเสียงเอาไว้ให้ได้มากที่สุด

คุณภาพของสัญญาณนาฬิกาก็มีความสำคัญต่อการแปลงสัญญาณ DSD เป็นอย่างมาก ต้องใช้ระบบ clock ที่มีความเที่ยงตรงแบบสุด ๆ ลำพังการหยิบเอา clock ความแม่นยำสูงมาใช้เฉย ๆ ยังไม่เพียงพอในการลดจิตเตอร์ ดังนั้น Jitariu จึงดีไซน์ระบบ clock ขึ้นมาใหม่เรียกว่า “Femtovox Clock System” อาศัย digital phase-locked-loop (DPLL) ที่รวมเข้ากับสถาปัตยกรรมลดจิตเตอร์ เพื่อสร้างสัญญาณนาฬิกาความแม่นยำสูงขึ้นมาใหม่ ดีไซน์แบบนี้ ทำให้ไม่จำเป็นต้องใช้วิธีการแปลงสัญญาณแซมปลิ้งเรต Asynchronous แบบเดิม ๆ

มีการดีไซน์ระบบ Phase Correction ของตัวเอง เพื่อให้เฟสของสัญญาณแอนะล็อกออกมาถูกต้องสมบูรณ์ที่สุด ในแอนะล็อกโดเมนนั้น การใช้ฟิลเตอร์แบบใดก็ตาม เฟสสัญญาณจะเกิดความเพี้ยนไม่มากก็น้อย (phase delay) ซึ่งกระทบต่อคุณภาพเสียง เพื่อขจัดปัญหานี้ จึงมีการออกแบบดิจิทัลฟิลเตอร์ภายใน FPGA ที่ให้การตอบสนองทางเฟสแบบ “mirrored” หักล้างเฟสสัญญาณที่ผิดเพี้ยนซึ่งเกิดในแอนะล็อกโดเมนได้อย่างสิ้นเชิง ผลลัพท์คือได้การตอบสนองทางเฟสที่สมบูรณ์แบบครอบคลุมตลอดย่านความถี่เสียง

ส่วนของฮาร์ดแวร์อื่น ๆ ภาคแอนะล็อกบัฟเฟอร์สเตจ เลือกใช้อุปกรณ์ทรานซิสเตอร์ไบโพล่าร์แบบโลว์น้อยส์แยกเป็นตัว ๆ ให้สัญญาณเอาต์พุตที่มีค่าความเพี้ยนและน้อยส์ฟลอร์ในระดับต่ำสุด ถ้าสังเกตดูจะมีวงจรบัฟเฟอร์สเตจอยู่ถึง 4 แผง (ฟูลลี่บาล้านซ์) มีดิจิทัลโวลุ่มคอนโทรลแบบ 32-bit ปรับได้ -127.5dB (min) – 0dB (max) สามารถต่อตรงเข้าเพาเวอร์แอมป์ได้เลย รวมถึงภาคเฮดโฟนแอมป์ก็ออกแบบโดยใช้ทรานซิสเตอร์แบบไบโพล่าร์แยกเป็นตัว ๆ เช่นกัน กำลังขับ 3 วัตต์ที่ค่าความต้านทาน 16 โอห์ม ความแรงสัญญาณเอาต์พุต 9V (peak)

Hydra.Zap

ภาคจ่ายไฟแยกแบบอัลตร้าโลว์น้อยส์ คืออีกหนึ่งหัวใจสำคัญของคุณภาพเสียง เพื่อป้อนไฟดีซีที่สะอาดบริสุทธิ์และปลอดสัญญาณรบกวน รองรับการจ่ายไฟให้ทั้งกับ Hydra.Vox และ Hydra.Hub จึงต้องมีการออกแบบภาคจ่ายไฟที่โอเวอร์สเปคมาก ๆ บ่งบอกถึงความใส่ใจกับคุณภาพของภาคจ่ายไฟเป็นอย่างสูง โดยแยกภาคจ่ายไฟภาคดิจิทัลและแอนะล็อกจากกันดังนี้

ภาคดิจิทัล

  • Digital (5V DC/2A) หนึ่งชุด (จ่ายไฟให้ FPGA ผ่านซุปเปอร์คาปาซิเตอร์)
  • Reference (7V DC/0.5A) หนึ่งชุด (จ่ายไฟ reference voltage ให้ clock)

ภาคแอนะล็อก

  • Analog (10.5V-20V DC/0.5A) แบบ Symmetrical สองชุด กรณีต่อใช้งานกับ Vox จะปรับได้ 16.5V-19.5V DC/0.5A (จ่ายไฟให้ภาคแอนะล็อกเอาต์พุต / เฮดโฟนแอมป์)

หมายเหตุ กรณีใช้งานร่วมกับ Hydra.Vox ภาคแอนะล็อก แนะนำให้ตั้งไว้ที่ช่วง ±18V DC เป็นค่ามาตรฐาน (ผู้เขียนตั้งไว้ที่ 18.1V DC) ตรงนี้จะเป็นค่าไฟเลี้ยงมาตรฐานสำหรับวงจรภาคแอนะล็อกเอาต์พุตและเฮดโฟนแอมปลิฟายเออร์

เท่ากับว่า Hydra.Zap มีภาคจ่ายไฟทั้งหมดสี่ชุด ควบคุมการทำงานด้วยไมโครโปรเซสเซอร์ นอกจากหม้อแปลงเทอรอยด์ขนาดเขื่องสองลูกแล้ว ภาคจ่ายไฟของดิจิทัลนั้นยังใช้ชุดตัวเก็บประจุขนาด “มหึมา” ถึง 2 x 310 ฟารัด หรือเท่ากับ 2 x 310,000,000 ไมโครฟารัด! นั่นมากกว่าในภาคจ่ายไฟของอินทิเกรตแอมป์หรือเพาเวอร์แอมป์หลายตัวเลยทีเดียว ในกรณีเพิ่งเปิดใช้งาน ระบบจะมีการชาร์จไฟเข้าให้เต็มความจุ 100% เสียก่อน จึงจะเริ่มทำงาน (ดูจากจอแสดงผล)

การเซ็ตอัพและติดตั้ง

การปรับแต่งและตั้งค่าทั้งหมดสามารถทำได้ผ่านหน้าจอเมนูของทั้ง Vox และ Zap ซึ่งใช้งานง่ายมาก ใช้นิ้วจิ้มกดเอาได้เลย ผู้เขียนตรวจสอบเฟิร์มแวร์ที่ติดมากับ Vox มีชื่อว่า “Bullet” (Ver 1.39) เป็นเฟิร์มแวร์มาตรฐานจากโรงงาน นอกจากยังมีการออกแบบเฟิร์มแวร์ไว้อีกสองเวอร์ชั่นให้ดาวน์โหลดชื่อว่า “Rocket” และ “Torpedo” ซึ่งในเวปไซต์ผู้ผลิตระบุไว้ว่าสามารถอัพเดตเพื่อปรับบุคลิกเสียงให้ตรงกับรสนิยมผู้ใช้งานได้ (ต้องเข้าไปทำการ Register ผลิตภัณฑ์ก่อน)

ผู้เขียนทำการจัดวางเครื่องซ้อนกัน เชื่อมต่อสายเพาเวอร์ซัพพลาย DIN ที่แถมมาในกล่องทั้งสองเส้น โดยสาย DIN 5 pin เสียบเข้าที่ช่องหมายเลข 1 (Analog PS) และสาย DIN 8 pin เสียบเข้าที่ช่องหมายเลข 3 (Digital PS) ซึ่งต้องเช็คหัว-ท้ายให้ถูกต้อง ค่อยๆ หมุนให้ร่องบากตรงกันแล้วค่อย ๆ ออกแรงกดเข้าไป จากนั้นหมุนเกลียวล็อกให้แนบสนิท ไม่เช่นนั้นเมื่อท่านเปิด Zap แล้ว Vox อาจไม่ทำงานดังนั้นจึงควรตรวจสอบการเชื่อมต่อสาย DIN ทั้ง 2 เส้นให้ถูกต้อง

เซ็ตอัพหลัก ๆ คือใช้ Roon Core บนคอมพิวเตอร์เป็นศูนย์กลางการเล่นไฟล์เพลงจาก NAS และ TIDAL ผ่านสาย LAN CAT 7 มายัง Roon Bridge (Volumio 3) เชื่อมต่อกับ Hydra.Vox ด้วยสาย USB 2.0 ต่อสายแอนะล็อก RCA ไปยังชุดเครื่องเสียง

ในการใช้งานแบบฟังเพลงกับชุดเครื่องเสียง ผู้เขียนจะใช้โหมด DSD pure path โดยเข้าเมนู DSD Settings เลือก DSD Direct “On” เป็นการบายพาสภาคประมวลผลภายใน ตัดการทำงานของดิจิทัลโวลุ่มและภาคเฮดโฟนเอาต์พุตออกไป แต่ในกรณีจะใช้ Vox เป็นปรีแอมป์หรือหูฟังให้ปิดฟังก์ชั่นนี้ก่อน ส่วน PCM Settings เลือก Phase Response “Linear” ซึ่งเมื่อฟังเทียบกับ “Minimum” และ “Hybrid” แล้วน้ำเสียงออกมาลงตัวกับซิสเต็มที่ใช้มากที่สุด ซึ่งตรงนี้ท่านสามารถลองปรับเลือกเองให้ตรงกับรสนิยมส่วนตัวได้

ผู้เขียนเปรียบเทียบการต่อสายแอนะล็อกแบบบาล้านซ์ XLR เทียบกับอันบาล้านซ์ RCA พบว่ามีความแตกต่างกันไม่มากนัก แบบบาล้านซ์จะได้ความสงัดดีกว่าเล็กน้อย แสดงว่าสัญญาณเอาต์พุตที่ขับออกมามีคุณภาพสูงมากและไม่มีเอฟเฟคกับสายสัญญาณที่ใช้ร่วมกันมากนัก ในกรณีที่ไม่ได้ต้องการลากสายสัญญาณยาว ๆ ก็เลือกใช้สายอันบาล้านซ์แทนได้เลย เกนของเสียงออกมาเท่า ๆ กัน

หมายเหตุ ในการแกะกล่องใช้งานครั้งแรก หลังจากเชื่อมต่อ Vox และ Zap เข้าด้วยกันแล้ว เมื่อเปิดการทำงานของ Zap จะต้องรอให้ชุดซุปเปอร์คาปาซิเตอร์ชาร์จไฟเข้าจนเต็ม ดูที่ตัวเลข Cap Charge บนหน้าจอของ Zap ขึ้น 100% แนะนำให้ทิ้งไว้ยาว ๆ สัก 15-20 นาที ส่วนการใช้งานครั้งต่อไปนั้นเปิดใช้งานได้ตามปกติ  

เสียง

เสน่ห์อย่างหนึ่งของ DAC ที่ใช้เทคโนโลยี FPGA คือบุคลิกเสียงที่มีความเป็นเอกลักษณ์เพาะตัวสูง เนื่องจากดีไซน์เนอร์เป็นผู้ที่กำหนดการทำงานของกระบวนการแปลงสัญญาณดิจิทัลออกมาเป็นแอนะล็อกตั้งแต่ต้นจนจบ ใครที่คุ้นเคยกับดิจิทัลฟร้อนด์เอ็นด์ซึ่งแปลงสัญญาณแบบ Sigma-Delta PCM DAC หรือ R-2R Ladder DAC จะพบว่าน้ำเสียงของ Hydra.Vox นั้นไม่เข้าข่ายทั้งสองประการ แต่เหมือนกับเป็นการผสานเอา “จุดเด่น” ของทั้งสองเทคนิคไว้ด้วยกัน

อันดับแรกคือเรื่องของรายละเอียดที่ทำได้น่าทึ่งมาก! มันให้ความชัดเจนของเสียงอย่างยอดเยี่ยมตลอดย่านความถี่เสียง ซึ่งรายละเอียดที่ว่านี้เจาะลึงลงไปถึงเทกซ์เจอร์ของดนตรีกันอย่างแจ่มแจ้งเลยทีเดียว เทกซ์เจอร์ในที่นี้หมายถึงโครงสร้างของเสียงดนตรีที่ซ้อนทับกันอยู่ เวลาฟังจะสามารถรับรู้ได้ถึงความหนาความบางของเสียงจากเครื่องดนตรีแต่ละเสียงที่แตกต่างกัน รวมทั้งให้ลักษณะพื้นผิว ฮาร์โมนิกของเครื่องดนตรีต่าง ๆ ออกมาได้อย่างโดดเด่น จนดึงให้เราตั้งใจฟังและคล้อยตามอารมณ์ของบทเพลงต่าง ๆ ได้ง่ายดายยิ่งขึ้น ซึ่งคุณสมบัตินี้มักจะพบ DAC ระดับท็อปของวงการซะมากกว่า

สองคือเรื่องของไดนามิก ไม่ว่าจะเป็น Dynamic Transient หรือ Dynamic Contrast อันนี้ก็เป็นอะไรที่น่าประทับใจมาก ระดับความดังต่าง ๆ ของเสียงที่ Vox ถ่ายทอดออกมามีความนิ่งและมั่นคงสูง และไม่รู้สึกว่าสปีดของเสียงเร็วเกินไปหรือถูกดึงให้เนิบช้าจนขาดความสมจริง แรกฟังอาจจะรู้สึกว่าไดนามิกของเสียงออกไปทางเรียบ ๆ ไม่คึกคักฉับไวปรู๊ดปร้าดแบบ DAC ส่วนใหญ่ แต่พอฟังไปสักพักจะรับรู้ได้ว่าจังหวะจะโคนของเสียงดนตรีที่ออกมามันช่างถูกที่ถูกเวลาเสียเหลือเกิน ไม่ใช่ดังแบบโพล่ง ๆ ออกมา แต่มันมีการร้อยเรียงระดับความดังตั้งแต่หัวเสียงยันหางเสียง ออกมาได้อย่างเป็นระบบระเบียบและถูกควบคุมช่วงเวลาเอาไว้ได้อย่างเหมาะเจาะ ทั้งความฉับพลันหรือความต่อเนื่องลื่นไหล ให้อารมณ์คล้ายกับการฟังอัลบั้มเดียวกันจากเทปบนเครื่องโอเพ่นรีลหรือแผ่นไวนิลบนเครื่องเล่นแผ่นเสียงชั้นดีมากกว่าฟังไฟล์ดิจิทัล เราจะรู้สึกว่าจังหวะของเพลงมีความถูกต้องเป็นธรรมชาติและมีความไพเราะชวนฟังมากกว่า

โทนเสียงของ Vox ไม่เน้นการปรุงแต่ง มีความโปร่งใสแบบทะลุทะลวงจนได้ยินเลเยอร์ของดนตรีที่ซ้อนกันเป็นชั้น ๆ ในขณะเดียวกันก็ให้ความต่อเนื่องและกลมกลืนของเสียงในทุกย่านความถี่ ฟังแล้วรับรู้ถึงความเป็นเนื้อเดียวกันไม่สะดุดหู มวลเสียงเข้มข้น ให้เฟสของเสียงที่มีความแม่นยำ โฟกัสชัดเป๊ะและนิ่ง จนขับเน้นให้อิมเมจของเสียงลอยออกมาเป็นทรวดทรงแบบสามมิติ ไม่หลงเหลือความเป็นดิจิตอลที่แบนราบหรือแข็งกระด้างอยู่เลย ลองฟังอัลบั้มที่มีเสียงโซโลเปียโนดูมันให้ทั้งเนื้อเสียง ความกังวานและฮาร์โมนิกออกมาได้อย่างสมบูรณ์แบบ มีน้ำหนักเสียง ความใสกระจ่าง ติดตามลีลาการเล่น หนัก-เบา-ช้า-เร็ว ได้ชัดเจนทุกเม็ดแบบ “ไร้ขอบ” ให้อิมเมจของเสียงเปียโนที่กลมกลึง ใหญ่โตโอ่อ่า ที่สำคัญคือระบุตำแหน่งของเปียโนได้ชัดเจนมากทั้งความสูงและความลึก Nojima plays Liszt [Reference Recordings]

กับอัลบั้มที่ฟังมาไม่รู้กี่ร้อยรอบ ก็ยังทำให้ต้องตื่นใจตื่นหูไปกับรายละเอียดที่ไม่เคยได้ยินชัดเจนเท่านี้มาก่อน HIStory: Past, Present and Future, Book I [Epic] ของราชาเพลงป็อป Michael Jackson แทร็ค Billie Jean ท่วงทำนองเสียงกลองกับเบสไลน์อันเป็นเอกลักษณ์ที่ผ่านการมิกซ์โดย Bruce Swedien ซาวด์เอ็นจิเนียร์ระดับปรมาจารย์ เปิดเผยความยอดเยี่ยมออกมาได้หมดจดในทุกรายละเอียด

จากช่วงวินาทีแรก ๆ จะมีเสียงของไฮแฮทใส่ Reverb ล้อกับเสียงกลอง ถ้าฟังกับซิสเต็มทั่วไปจะรู้สึกว่าเสียงออกไปทางจัดพุ่งและคมแข็ง จนเสียงกลองกับไฮแฮทจะกลืนกันไป แต่ Vox นั้นทำให้เห็นว่า เสียงทั้งสองถูกตั้งใจมิกซ์มาให้ซ้อนทับกันเพื่อสร้างเสียงกลองที่เป็นลักษณะเฉพาะตัวกับเพลงนี้เท่านั้น และเมื่อไลน์เบสดังขึ้น ผู้เขียนถึงกับตบเข่าฉาดเลยทีเดียว เพราะมันทั้งอิ่มแน่นและดีดเด้งผสานความนุ่มนวล ได้ยินเสียงสั่นของสายเบสตามมาอย่างชัดเจนทุกเม็ด เป็นเทกซ์เจอร์ของดนตรีที่ส่งเสริมกันอย่างเรียบง่ายแต่ลงตัว ซึ่ง Vox นำเสนอจุดนี้ออกมาได้อย่าง เข้าถึงอารมณ์ คุณจะไม่แปลกใจเลยว่า ทำไมเพลงนี้ถึงขึ้นหิ้งและติดหูคนฟังทั่วโลก

ส่วนการเล่นไฟล์ DSD ก็ออกมายอดเยี่ยมไม่แพ้กัน และเป็น DAC อีกหนึ่งรุ่นที่ดึงประสิทธิภาพของไฟล์ DSD ออกมาใช้ได้อย่างโดดเด่น ให้ไดนามิกสวิงได้กว้างและกระฉับกระเฉง ให้ความโปร่งใสกระจ่างอย่างเต็มที่ ซึ่งดีทูเอคอนเวอร์เตอร์บางตัวเวลาเล่นกับไฟล์ DSD เสียงจะติดหม่นนิด ๆ ไดนามิกของเสียงฟังแล้วรู้สึกราบเรียบเกินไปหน่อย แต่อาการดังกล่าวไม่เกิดกับ Vox แม้แต่น้อย

Hydra.Vox จัดการเรื่องของการประมวลผลสัญญาณ PCM ได้อย่างแม่นยำ และแปลงออกมาเป็นไฟล์ DSD ได้อย่างมีคุณภาพ เสียงออกมาดีกว่าการ convert ด้วยซอฟท์แวร์อย่างชัดเจน หรือกรณีการฟัง TIDAL แล้วถอด MQA ด้วย core decoder บนตัวแอปออกมาเป็นแซมปลิ้งเรต 88.2kHz หรือ 96kHz ส่งไปให้ Vox รับหน้าที่ต่อ ก็ได้คุณภาพเสียงแบบเนื้อ ๆ เน้น ๆ น่าพอใจ ถ้าจะเทียบคุณภาพเสียงกับดีทูเอคอนเวอร์เตอร์ที่มี MQA Full decoder ในตัวว่าอันไหนดีกว่า คงต้องเทียบในพิกัดราคาสองแสนบาทถึงจะสมน้ำสมเนื้อ เพราะ MQA DAC ที่ผู้เขียนมีอยู่สู้ไม่ได้ทุกประการ

อัลบั้มบางส่วนที่ใช้ทดสอบ

  • Famous Blue Raincoat 20th Anniversary Edition | Jennifer Warnes
  • Crime Of The Century (Deluxe) | Supertramp
  • In Need Again | Repercussion Unit
  • Whipped Cream & Other Delights | Herb Alpert & the Tijuana Brass
  • Nojima plays Liszt | Franz Liszt / Minoru Nojima
  • HIStory: Past, Present and Future, Book I | Michael Jackson

สรุป

พูดง่าย ๆ ว่า Audiobyte Hydra.Vox / Zap ทำให้เรารับรู้อารมณ์ของบทเพลงได้ดีจนถึงระดับที่จินตนาการต่อได้ว่าซาวด์เอ็นจิเนียร์เขาต้องการสื่อสารอะไรออกมานั่นทีเดียวเชียว เป็น DAC ที่ทำให้คุณอยากมีเวลานั่งฟังเพลงมากขึ้นกว่าเดิมอีกนิดและก็อีกนิดต่อไปไม่รู้จบ นี่เป็นคุณสมบัติอย่างนึงที่พบเจอไม่บ่อยนักกับดิจิตอลออดิโอนั่นคือ “ความสุข” ในการฟังเพลง ขอย้ำอย่างหนักแน่นว่า “ต้อง” หาโอกาสทดลองฟังให้ได้สักครั้ง ก่อนตัดสินใจจ่ายเงินซื้อ DAC สักตัวในงบประมาณไม่เกินสองแสนบาท ขอคาราวะ Nicolae Jitariu ให้เป็นอาร์ตตัวพ่อของวงการดิจิทัลออดิโอไปเลย highly recommend ครับ!

ราคา 

180,000 บาท (Hydra.Vox พร้อม Hydra.Zap)


สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที

Bulldog Audio

โทร. 081-454-0078

Facebook: Bulldog Audio