Mongkol Oumroengsri
…ทุกวันนี้ พูดได้ว่า ความนิยมในการเล่นแผ่นเสียงนั้นได้หวนกลับคืนมาอีกครั้ง แม้ว่าจะยังไม่ใกล้เคียงกับ “ยุคทอง” ของการเล่นแผ่นเสียงเมื่อครั้งช่วงปี 70-80 ก็ตามที ทว่าสำหรับคนที่ผูกพันมากับการเล่นแผ่นเสียงก็ย่อมต้องออกอาการดีใจเป็นของธรรมดา แต่ถ้าจะพูดไปแนวทางการเล่นแผ่นเสียงในยุคปัจจุบัน ก็นับว่าแตกต่างจากเมื่อครั้งกระนู้นค่อนข้างมากอยู่พอสมควร ทั้งจากตัวเครื่องเล่นแผ่นเสียงที่มีเทคโนโลยีสมัยใหม่ใส่ลงไป เพื่อเพิ่มจุดขายให้สามารถเล่นแผ่นเสียงได้ง่ายดายขึ้น สะดวกสบายขึ้น อย่างเช่น การมีวงจรภาคขยายสัญญาณหัวเข็ม หรือที่เรียกกันว่า phono stage ผนวกรวมอยู่ในตัวเสร็จสรรพ และบางเครื่องยังอาจจะมีวงจรแปลงสัญญาณแอนาล็อกไปเป็นข้อมูลดิจิทัล อย่างที่เรียกกันว่า A/D Converter จ่ายออกทางช่องเสียบ USB เพื่อเอื้ออำนวยให้ผู้ใช้นำข้อมูลดิจิทัลนี้ไปใช้งานตามยุคสมัยได้ต่อไป
อีกทั้งถ้าจะพูดไป ปรีแอมป์หรืออินติเกรตแอมป์ยุคหลังปี’90 หรือหลังจากช่วงที่การเล่นแผ่นเสียงเสื่อมถอยความนิยมลงก็ล้วนเป็นว่า มีแต่ภาคขยายสัญญาณแรง หรือว่า Line Stage กันโดยถ้วนหน้า ทำให้ใครที่คิดจะเล่นแผ่นเสียงก็จำเป็นต้องมี Phono Amplifier เพิ่มเติมเข้ามาเพื่อทำหน้าที่ขยายสัญญาณหัวเข็ม จากที่มีระดับความแรงสัญญาณเพียงแค่ไม่มีกี่มิลลิโวลต์สำหรับหัวเข็มแบบ MM และ ไม่กี่ไมโครโวลต์สำหรับหัวเข็มแบบ MC ให้มีค่าความแรงสัญญาณในระดับที่เป็นโวลต์ ใกล้เคียงกับ Line Level เฉกเช่นสัญญาณที่มาจากเครื่องเล่นซีดี, เครื่องเล่นเทป และสตรีมมิ่งต่างๆ
ซึ่งหากย้อนไปสู่แวดวงเครื่องเสียงในช่วงก่อนหน้ายุคดิจิทัล เครื่องเล่นแผ่นเสียงนั้นจัดอยู่ในฐานะความเป็นแหล่งสัญญาณอ้างอิงที่นิยมใช้กันมาก ซึ่งในยุคนั้นก็มีความชื่นชอบในการใช้อุปกรณ์ประเภทปรีแอมป์ (Preamplifier) เข้ามารับช่วงต่อในการขยายสัญญาณจากหัวเข็มประเภทต่างๆ เนื่องเพราะปรีแอมป์ (รวมถึงอินติเกรตแอมป์) ในยุคสมัยนั้นล้วนได้รับการออกแบบให้มี phono stage เสร็จสรรพอยู่ในตัว …หากจะพูดไป ในยุคสมัยนั้นการออกแบบ phono stage สำหรับปรีแอมป์ และอินติเกรตแอมป์ถือเป็นเรื่องของการแข่งขันกันอย่างมาก จนอาจกล่าวได้ว่า ปัจจัยราคาหนึ่งในสามของปรีแอมป์นั้นเป็นเรื่องของ phono stage นี่เอง
ซึ่งหากเป็นหัวเข็มประเภท MM ก็ต่อตรงเข้าสู่ภาค Phono ของปรีแอมป์นั้นได้เลย แต่หากเป็นหัวเข็มประเภท MC ที่มักจะมีค่าเอ๊าต์พุทต่ำกว่าหัวเข็ม MM นับเป็นสิบเท่า-ร้อยเท่าก็จักต้องมีวงจรประเภท Head Amp หรืออุปกรณ์ Step-Up Transformer (SUT) เข้ามารับภาระ “ยกระดับ” ค่าความแรงสัญญาณที่สุดแสนน้อยนิดนั้นให้มากขึ้น-สูงขึ้น จนถึงระดับที่สามารถป้อนเข้าสู่ภาค Phono ของปรีแอมป์ โดยที่ต้องยังคงสามารถรักษาสภาพอัตราส่วนค่าสัญญาณต่อเสียงรบกวน หรือ S/N Ratio ไว้ให้อยู่ในระดับที่ดีเพียงพอต่อการรับฟัง
ดังนั้นความเป็นปรีแอมป์ในช่วงยุคแอนาล็อกสำหรับรองรับเครื่องเล่นแผ่นเสียงจึงถือเป็นสิ่งสำคัญ และนับเป็นเรื่องสุดยากและท้าทายยิ่งนักสำหรับนักเล่น-ผู้ฟังในการเลือกเฟ้นปรีแอมป์ที่จะเอามาใช้งานในซิสเต็ม ซึ่งตัวเลือกก็มักจะขึ้นอยู่กับทักษะ-ฝีมือของผู้ออกแบบในแนวทางเฉพาะตัวของแต่ละสำนักเป็นสำคัญ …
YAMAHA เจ้าของวลี “Natural Sound” ที่สะท้อนถึงความมุ่งเน้นในความเป็นบริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์เครื่องเสียงที่พร้อมส่งมอบ “ความเป็นธรรมชาติในสรรพเสียงที่รับฟัง” ได้เคยมีปรีแอมป์อย่างน้อย 1 รุ่นที่สามารถก้าวถึงขั้นความเป็นที่ยอมรับกันในระดับ Reference Preamplifier ประดับไว้ในวงการ ด้วยการมีภาค Phono ที่นับชั้นได้ว่าเป็นหนึ่งในตองอู นั่นก็คือรุ่น “C-2a”
YAMAHA แรกออกจำหน่าย “C-2a” ในปีค.ศ.1978 ด้วยรูปลักษณ์ตัวเครื่องสีดำ แบนบางสะดุดตากว่าเครื่องเคราใดๆในยุคนั้น ภายใต้ขนาดมิติตัวเครื่อง (กว้าง) 435× (สูง) 72× (ลึก) 320 ม.ม. น้ำหนักสุทธิ 7.9 กก. โดยได้รับการพัฒนา-ยกระดับศักยภาพการใช้งานขึ้นมาจากรุ่น “C-2” ด้วยการบรรจุอุปกรณ์ทันสมัยใหม่สุดในยุคนั้นอันเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนา อุปกรณ์ที่ใช้ชื่อว่า noise High-gm Dual FET (ซึ่งในวงการต่างทราบกันดีว่า Yamaha นั้นมีศักยภาพมากขนาดไหนในการพัฒนา ICs chip ของตนเอง)
โครงสร้างพื้นฐานของวงจรการทำงานเป็นไปในลักษณะที่เรียกว่า equalizer amplifier ด้วยการเป็น tone control amplifier ที่มีความแม่นยำ-เที่ยงตรงสูง ซึ่งได้รับการบรรจุไว้ซึ่ง head amplifier ที่มีวงจรลดทอนสัญญาณรบกวนแทรกซ้อนทางกระแสไฟฟ้าสำหรับหัวเข็ม MC อย่างเป็นการเฉพาะ โดยวงจรทั้งหมดล้วนเป็นแบบ push-pull DC amplifier ที่ได้รับการคัดสรรเกรดอุปกรณ์ที่ใช้เป็นอย่างดี อาทิ metal-film resistor และ polypropylene capacitor ที่มีค่าเบี่ยงเบนเพียงแค่ 1 %
เฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของ MC head amplifier นั้นได้รับการออกแบบไว้เป็น 4-stage cascode complimentary push pull circuit ที่ Yamaha ได้พัฒนาขึ้นมาล่าสุดในเวลานั้น (สามารถให้ค่า S/N ratio ได้สูงถึง 78 ดีบีเลยทีเดียว) ซึ่งมุ่งเน้นเป็นพิเศษให้รองรับได้กับค่า load resistance และค่า load capacity ของหัวเข็มได้อย่างกว้างขวาง และ สามารถปรับค่าได้ตามสเปกฯที่ระบุไว้สำหรับแต่ละหัวเข็มได้อย่างใกล้เคียงที่ สุด โดยปรับเลือกได้จาก 3 ค่าความต้านทาน :- 47, 68 100 กิโลโอห์ม (PHONO 1) เพื่อให้ได้มาซึ่ง “ความเหมาะสม” ที่ดีที่สุดอย่างที่เรียกกันว่า “matched” อย่างแท้จริง ในขณะที่หัวเข็มแบบ MM นั้นกำหนดค่าตายตัวอยู่ที่ 47 กิโลโอห์ม (PHONO 2)
แผงวงจรทั้งหมดของ C-2a มีความหนา 70μ โดยแทร็ค หรือ ทางเดินสัญญาณนั้นเป็น ทองแดงบริสุทธิ์ (pure copper) เพื่อให้มีค่าความต้านทานต่ำสุด ไม่ไปต้านทานการไหลของกระแสสัญญาณ และยังถูกออกแบบไว้ให้มีเส้นทางเดินของสัญญาณที่ตรงที่สุด-สั้นที่สุด เพื่อลดการชักนำทางสัญญาณรบกวนแทรกซ้อน ส่วนวงจรภาคเอ๊าต์พุทนั้นเป็นลักษณะของ pure complimentary OCL circuit (output capacitor-less) ที่ใช้ทรานซิสเตอร์ขับตรง โดยจงใจให้มีค่าความต้านทานขาออกที่ต่ำ การไหลของกระแสสัญญาณจะได้ราบเรียบระรื่นให้ความครบถ้วนทุกย่านความถี่ เสียงอย่างสมานเสมอและกว้างขวาง
เมื่อแรกจำหน่ายนั้น C-2a มีราคา 170,000 เยน ทว่าทุกวันนี้ในเว็บไซต์มีการประกาศซื้อ/ขาย C-2a สภาพดี เดิมๆจากผู้ใช้มือแรก ในราคานับพันยูโร ซึ่งสูงกว่าราคาดั้งเดิมมากมายนัก นับเป็นประจักษ์พยานพิสูจน์ได้ถึงสมรรถนะอันน่าสนใจที่ซ่อนไว้ในตัวของ Control amplifier ที่ได้ชื่อว่า “Reference Preamplifier” จาก Yamaha
Type | Control amplifier |
Input sensitivity/impedance | Phono1 MM: 2.5mV/47kΩ, 68kΩ and 100kΩ Phono1 MC: 100μV/50Ω Phono2 MM: 2.5mV/47kΩ Aux, Tuner and Tape PB1/2: 150mV/47kΩ |
Cartridge load | 100kΩ, 68kΩ, 47kΩ and 100Ω |
Maximum permissible input | Phono1 MC: Above 10mV (20kHz, 0.03%) Phono1/2 MM: Above 350mV (1kHz, 0.01%) Aux, Tuner and Tape PB1/2: Above 30V (Volume -34dB) |
Rated output/impedance/installed capacity | Pre out1/2: Above 2V/250Ω/15V Rec out1/2: Above 150mV/100Ω/20V |
Frequency characteristic | Phono1/2 MM: 20Hz – 20kHz 0±0.2dB (RIAA) Phono1 MC: 20Hz – 20kHz 0±0.3dB (RIAA) Aux, Tuner and Tape PB1/2: 10Hz – 100kHz +0 -0.2dB |
All the harmonic distortion factors (20Hz – 20kHz) | Phono1/2 MM: 0.003% or less Phono1 MC: 0.01% or less Aux, Tuner and Tape PB1/2: 0.003% or less |
Harmonic distortion factor (20Hz – 20kHz At HP-IB 2 – 10 following sum totals) | Phono MM→Rec out (1.5V): 0.0007% or less Aux, Tuner and Tape1/2→Pre out: 0.0007% or less |
Cross modulation distortion factor | Aux, Tuner and Tape PB1/2: 0.003% or less (10V output) |
signal-noise ratio (IHF-A network) | Phono1/2 MM: Above 92dB Phono1 MC: Above 78dB Aux, Tuner and Tape PB1/2: Above 103dB |
Residual noise | Below 0.03μV |
Channel separation (1kHz and Volume max) | Phono1/2 MM: Above 90dB Phono1 MC: Above 78dB Aux, Tuner and Tape PB1/2: Above 90dB |
Function separation (1kHz and Volume max) | Phono1/2 MM→Tuner: Above 90dB Tuner→Phono1/2 MM: Above 95dB Aux→Tuner: Above 90dB |
Tone control quality | Turn over frequency Bass: 350Hz Treble: 3.5kHz Maximum variable width Bass: ±10dB (20Hz) Treble: ±10dB (50kHz) |
Sub sonic filter | 15Hz and 12dB/oct |
Audio muting | -20dB |
Use semiconductor | FET: 5 Semiconductor: 101 Zener diode: 10 Diode: 32 |
Electric power consumption | 36W |