What HI-FI? Thailand

ย้อนรอย ตำนานปลั๊กบล็อกไม้ครบรอบเวปออดิโอทีม

ช.ชิดชล

สวัสดีครับ ทุกท่าน

คืนอันเงียบแต่ไม่เหงา เคล้าเสียงเพลงที่ฟังจาก You Tube ก็สามารถมอบความสุข อรรถรสของบทเพลง รวมถึงรายละเอียดต่างๆ ที่รับฟังได้ถึงความไหลลื่น ต่อเนื่อง นับว่าเป็นความสุนทรีย์ อีกทางหนึ่งเลยนะครับ

ย้อนเวลากลับไปวันหนึ่ง

เสียงโทรศัพท์ดังขึ้น !!!…… ผมดูชื่อแล้วรับโทรศัพท์

” สวัสดีครับ อาจารย์ “

” เอ้อ ชัยวัฒน์ วันนี้ว่างไหม เข้ามาหาผมหน่อย “

” ว่างครับผม ผมเข้าไปช่วงบ่ายๆ นะครับ “

เมื่อเข้าไปพบอาจารย์ธนกฤต(จงจินต์) เสรีรักษ์ ตามที่นัดหมายไว้แล้ว อาจารย์ก็ให้ดูสายไฟเส้นหนึ่ง ที่ที่หัวเป็น Marinco ท้ายเป็น Schurter ตัวสายเป็น CARDAS รุ่นเก่ามาก จำไม่ได้แล้ว แต่ภายในมีตัวนำหลายเส้น

อาจารย์บอกว่า นายทำสายเป็นไหม เอาไปทำให้ผมหน่อย ให้เปลี่ยนท้ายสายไฟจาก Schurter ให้เป็น Marinco พร้อมบอกว่า ให้ใช้ L ตัวนำกี่เส้น N ตัวนำกี่เส้น GROUND กี่เส้น ผมบอกว่า… ได้ครับ ผมชอบทำครับ

กลับมาถึงบ้านจัดแจงแกะท้ายออก แล้วตัดตัวนำให้เรียบร้อยเท่ากัน จากนั้นก็นั่งขูดตัวนำที่เป็นทองแดง เพราะสาย Cadas จะมีฉนวนที่เป็นนำยาบางๆเคลือบเอาไว้ หากไม่ขูดออก ตัวสายจะไม่นำไฟฟ้า ผมขูดโดยการ ปัดผิวเบาๆด้วยคมของมีดคัตเตอร์ ไปในทางเดียวกันกัน ไม่ขูดย้อนไปมา เมื่อขูดเสร็จ ก็บัดกรีด้วยตะกั่ว WBT โดยได้คุมความร้อนของหัวแรง ไม่ให้ร้อนจนสุด โดยใช้ตัวหรี่ไฟช่วย จัดการเข้าสายปลั๊กเสร็จ ผมก็ใช้ไขขวงตัวโปรด ขันนอตแน่นพอดีมือ โดยน้ำหนักในการขัน ไม่เท่ากัน โดยให้ L และ GROUND แน่นมากหน่อย ขณะที่ N แน่นแบบพอดีมือ เสร็จแล้วก็นำกลับไปให้อาจารย์

ตอนนำไปให้ก็จะเล่าถึงวิธีการทำ อาจารย์ก็รับสายไฟเส้นนั้นไปแล้วบอกว่า ขอบใจ แค่นั้น

———

หลังจากนั้นประมาณเกือบๆสัปดาห์ อาจารย์โทรมาคุยบอกว่า ชัยวัฒน์ ผมจะทำปลั๊กบล็อกไม้ครบรอบเวป ออดิโอทีม นายว่างไหม มาช่วยผมทำหน่อย …. ผมตอบไปด้วยความดีใจว่า ยินดีครับอาจารย์ เรื่องแบบนี้ผมชอบครับ

วันนี้ผมมานึกขึ้นได้ว่า การให้สายเอามาเปลี่ยนหัวนั้น เป็นการลองดู ทดลองดูว่า เด็กคนหนึ่ง จะสามารถทำงานที่สำคัญได้หรือไม่……

ปลั๊กบล็อกไม้ครบรอบเวปออดิโอทีม ทุกตัว ทุกรุ่น จึงผ่านมือผมมาทั้งหมด ทุกขั้นตอนการผลิต ไม่ว่าจะเป็นการตัดสาย ขูดสาย บัดกรี เข้าหางปลา เข้าขั้ว IEC ขั้นนอตหางปลาเข้ากับตัวปลั๊ก ขันนอตปลั๊กเข้ากับบล็อกไม้ การเลือกคุณภาพของนอตที่ใช้ คุณภาพหางปลา น้ำหนักการขัน แม้กระทั่ง ไขควงที่ใช้ขัน กรอกทราย Atacama ลองฟัง จูนเสียง(ทำร่วมกับอาจารย์) ยกเว้นการยิงเลเซอร์ที่ตัวบล็อกไม้เท่านั้น

จากที่เคยเป็นคนชอบทำอะไรเกี่ยวกับเครื่องเสียงเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว งานครั้งนั้น ทำให้ผมมีความรู้และทักษะขึ้นอีกมากมาย ปลั๊กบล็อกไม้ครบรอบเวปออดิโอทีม จะเป็นอย่างไร มีหลักการอย่างไร มีรายละเอียดอย่างไร อันส่งผลต่อเสียงทั้งหมด…..

———

ผมรู้แค่ว่า ตั้งใจทำให้สำเร็จ ในส่วนงานที่ได้รับมอบหมายให้ทำ ด้วยความรู้ความสามารถที่มี และประกอบกับอาจารย์ที่ได้สอนสั่ง

การทำปลั๊กครบรอบเวปออดิโอทีม ปลั๊กลอยนี้ ภาคสุดท้ายมีหลายส่วน หลายท่านที่มีส่วนร่วมในการทำ การลองฟัง(ส่วนใหญ่มาจากชมรมออดิโอทีม) รวมถึงการปรับจูนเสียงขั้นตอนสุดท้าย คืออาจารย์ธนกฤตครับผม

ในส่วนของผมนั้น หน้าที่หลักคือ การทำสาย เข้าหัวหางปลา เดินสายภายใน ขันนอต เชื่อมต่อ เรียกว่า เป็นงานหลักที่เกี่ยวกับปลั๊ก(ภายใน)ทั้งหมดครับ โดยทุกขั้นตอนนั้น ผมได้เรียนแจ้งให้อาจารย์ทราบ และตรวจสอบเสมอๆครับผม

มาที่วัสดุอุปกรณ์คร่าวๆกันก่อน สายที่ใช้ภายในคือสายโมของ CARDAS นะครับ ใช้แค่ 2 ขนาด คือ 11.5awg และอีกขนาดที่เล็กหน่อย ประมาณ18 หรือ 20 ผมไม่มั่นใจครับ หางปลาตอนแรกจะใช้รุ่น ตะขอของ Monster แต่อาจารย์ฟังตัวทดลองแล้ว เสียงหนาและช้าไป แม้จะเข้าขั้วได้ดีก็ตาม จึงใช้หางปลา T.Lug ธรรมดา แต่เป็นล็อตเก่าๆ ที่ทองแดงยังสีเข้ม เท่านั้นเองครับ มีการปิดทับด้วยทองคำเปลว ส่วนเต้ารับใช้ของ ACME(ปิดทองคำเปลว) ตัว IEC ใช้ของ Furutech เคลือบทอง นอตทองเหลือง (ส่วนประกอบหลักๆยังมีอธิบายไว้ที่เวปออดิโอทีมครับ https://bit.ly/3eWsXrD

สายโม ใช้การขูดด้วยมือ ด้วยคัตเตอร์คุณภาพดี ขูดไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ได้ขูดสลับไปมานะครับ และเปลี่ยนใบมีด(หักทิ้ง) ทุกชุดของการทำครับ จากนั้นไล้ตะกั่ว WBT บางๆ ก่อนไปเข้าหางปลา ด้วยคีมย้ำแบบไฮดรอลิค และไล้ตะกั่วบางๆที่ปลายสายกับกางปลาอีกเล็กน้อย การบัดกรีสายกับ IEC ก็เช่นกัน ใช้ตะกั่วแต่น้อย แต่เชื่อมติดตลอดขานะครับ ไม่ใช่แตะกันนิดเดียว

การเดินสาย อาจารย์ให้ความสำคัญกับสาย L มากกว่า เดินให้สุดที่สุด โดไม่หักงอนสายจนเกินไป ตรงนี้ทำยากมากๆๆๆ เดินสายต่อเนื่องไปจากเต้ารับตัวแรกไปถึงตัวสุดท้าย สายกราวด์ก็เช่นกัน สั้นที่สุด แต่จะเพิ่มสายโมเส้นเล็กอีกเส้น ไว้ตรงสายกราวด์ครับ ส่วนสาย N นั้น อาจารย์บอกว่า ไม่ตัองสั้นที่สุด ให้มีความยาวสักหน่อยได้ จึงใช้เต้ารับตัวแรกเป็นต้นทาง เดินย้อนกลับไปที่เต้ารับตัวสุดท้าย แล้วกลับไปเข้า IEC

ย้ำเพียงว่า สายทุกเส้น ของทุกขั้ว ต้องตัดให้เท่ากัน ปอกสายเท่าๆกัน โดยมีสายไฟ Acoustic Revive ทำเป็นตัวลิงค์ของเต้ารับทั้ง 2 ขั้ว ส่วนการขั้นนอตนั้น ให้ขันแน่นมากๆในขั้ว L และ กราวด์ แต่ให้ผ่อนแค่ตึงมือในขั้ว N ครับ ส่วนการขันเต้ารับยึดกับตัวบล็อกไม้ ให้ขันแน่นพอแค่ตึงมือนะครับ

ความแน่นของการขันนอต มีผลต่อการเดินของกระแสไฟ แน่นไปเสียงสั้น หลวมไปเสียงไม่มีกำลัง และมีอันตรายได้ครับ อาจารย์ยังบอกว่า การเข้าสาย การเดินสายแบบทิศทางเดียวกันนั้น มีความสำคัญมาก เวลาทำจึงต้องมีปากกาทำตำแหน่งไว้ทุกจุดครับ

อาจารย์ท่านมีความละเอียดสูงมาก ประสบการณ์ในการลองฟัง ลองเล่นอุปกรณ์เสริมก็มาก ท่านแนะนำและนำมาใช้กับการทำปลั๊กลอยครับผม

บทความนี้ ขอระลึกถึง พระคุณของครูอาจารย์ที่ได้สอนสั่ง ด้วยความเคารพอย่างสูงครับ

ปล. รูปในบทความ เป็นตัวที่ทำเล่นๆกันนะครับ รูปปลั๊กลอยออดิโอทีม หายไปกับฮาร์ดดิสตัวเก่าที่พังแล้วครับผม


Exit mobile version