ไมตรี ทรัพย์อเนกสันติ
Monitor Audio MR-Center (FRONT)
เรื่องของเรื่องคือ ผมมองๆ ลำโพงเซ็นเตอร์ที่มากับชุดโฮมเธียเตอร์ทั้งหลายแล้วก็เกิดความคิดว่า ทำไมไม่เอามาทำเป็นลำโพงคู่หน้าเสียเลย คือ ปกติพวกลำโพงเซ็นเตอร์เขาจะมีดอกแหลมอยู่ตรงกลาง 1 ดอก (นึกถึงตู้ลำโพงวางนอนนะครับ) และดอกกลางทุ้มขนาดเท่ากันเหมือนๆ กันอีก 2 ดอก ประกบข้างซ้าย, ขวาของ ดอกแหลม ซ้าย 1 ดอก ขวา 1 ดอก (ราว 1 ตู้ 3 ดอก เป็นดอกกลางทุ้ม/ดอกแหลม/ดอกกลางทุ้ม)
ผมก็มาหวลคิดถึง ข้อดีของลำโพงที่ให้เสียงทุกความถี่เสียงมาจากจุดเดียวกัน เรียก POINT SOURCE ใครที่ได้ฟังลำโพง POINT SOURCE ดีๆ จะแทบกลับไปฟังลำโพงปกติที่จุดกำเนิดเสียงแหลมมาจากอีกที่หนึ่ง (จากดอกแหลม) จุดกำเนิดเสียงกลางทุ้ม (ดอกทุ้ม) มาจากอีกที่ แม้จะอยู่ชิดกัน ไม่ได้อีกเลย (เช่น ลำโพง KEF ตระกูล Q, ลำโพง TANNOY รุ่นเก่าๆ ที่ใช้กรวย DUAL CONCENTRIC, ลำโพงรถ COAXIAL)
ถ้าเป็นลำโพงบ้านรุ่นแพงๆ จนถึงรุ่นเรือธง หลายยี่ห้อก็จัดวางดอกลำโพงแบบไล่บน, ล่าง คือ ดอกบนสุดทุ้ม ถัดลงมาดอกกลาง แล้วก็ดอกแหลม (ในระดับหู) แล้วก็ไล่ลงไปอีกเป็นดอกกลาง แล้วก็ดอกทุ้มล่างสุด จะเห็นว่าใช้ดอกทุ้ม 2, กลาง 2, แหลม 1 เสียงทุ้มมาจากบนและล่างพร้อมกันก็จะปรากฏดุจมาจากกลางตู้ (ก็คือที่ตำแหน่งดอกแหลม) เสียงกลางมาจากบนและล่างพร้อมๆกัน เช่นกัน ก็จะปรากฏดุจมาจากตำแหน่งกลางตู้ (ก็คือที่ตำแหน่งดอกแหลมเหมือนกัน) ผลคือ ดุจทุกเสียงทุ้ม, กลาง, แหลม มาจากจุดกำเนิดเดียวกัน (กลางตู้) เป็น POINT SOURCE
ย้อนกลับมาดูลำโพงเซ็นเตอร์ MR-Center ของเราก็ทำไมเราไม่จับมันวางตั้งและเพิ่มเซ็นเตอร์อย่างเดียวกันอีก 1 ตู้ เราก็จะได้ชุดลำโพงสเตอรีโอ 1 คู่ ที่เป็นลำโพง POINT SOURCE ได้เลย และที่สำคัญลำโพงเซ็นเตอร์ที่ไม่ใช่ยี่ห้อซุปเปอร์ไฮเอนด์มักมีราคาไม่แพงนัก อย่างของ Monitor Audio ที่ผมนำมาทดสอบครั้งนี้ราคาแค่ตู้ละ 6,800 บาท (2 ตู้ เป็น 1 คู่ ก็แค่ 13,600 บาท) ไม่เลวนะ ทำเป็นลำโพงวางหิ้ง แถม POINT SOURCE ด้วย ในวงเงินแค่หมื่นต้นๆ (ลำโพงวางหิ้ง POINT SOURCE ยังไม่เคยมีใครทำขาย) จึงน่าสนใจและท้าทายมิใช่น้อย ถ้าจะนำมาทดสอบด้วยแนวคิด ดังกล่าวนี้
ผมคงไม่ร่ายยาวถึงเทคโนโลยีของเขามากมาย เพราะเคยทดสอบลำโพงค่ายนี้มาหลายคู่ แม้จะไม่ติดๆ กัน เมื่อปีที่แล้วก็ทดสอบลำโพง 2 ทางวางหิ้ง ตระกูลเดียวกันนี้มาแล้ว (ผมน่าชื่นชมมากได้ข่าวว่าขายกันแบบสั่งเข้ามาไม่ทัน คือ MR-2)
ลำโพงเซ็นเตอร์ MR Center เป็นลำโพงตู้ปิด (ไม่ใช่ตู้เปิดเหมือนรุ่นอื่นในตระกูลเดียวกันนี้) ดอกลำโพงเสียงแหลมโดมทอง C-CAM 1 นิ้ว (โดมอะลูมิเนียมเคลือบด้วยผงเซรามิก) เหมือนรุ่นอื่นๆ ในตระกูลนี้ (1 ดอก), ดอกลำโพงกลางทุ้มกรวย MMP (โปลี่ควมโพซิท) ขนาด 5.5 นิ้ว 2 ดอก ระบบ 2 ทาง 3 ดอก (ดอกกลางทุ้มทั้งสองคงต่อขนานกันอยู่)
ตอบสนองความถี่เสียงได้ 60 Hz ~ 30 kHz โดยมีความไว 91 dB SPL/W/M ก็ถือว่าไม่กินวัตต์อะไรเลย ความต้านทาน 6 โอห์ม ก็ไม่น่ากังวลในการหาแอมป์มาขับ แถมทนกำลังขับได้ถึง 120 1W.RMS (ต่อเนื่อง) ดีกว่า วางหิ้งทั่วไปที่มีดอกกลางทุ้มแค่ 1 ตัว ขนาดตู้เมื่อเรานำมาวางตั้งแทนที่จะวางนอน ความสูงก็จะกลับเป็น 460 มม. และหน้ากว้างกลับเป็น 165 มม. ด้านลึกเหมือนเดิม 165 มม. น้ำหนัก 6.2 กก. ตัวตู้
การทดสอบ
จากเครื่องเล่น OPPO BDP- 105 (ปรับปรุงภาคจ่ายไฟโดย PERFECT POWER และยกกราวด์ลอย) สายไฟ AC ยกจากอินทีเกรทแอมป์ Mark Levinson No.383 (โดยของ Mark ใช้สายไฟ AC NORDOST รุ่นเล็กสุด) สายไฟ AC ทั้ง 2 กับของจอ LCD FULL HD, TOSIBA 24 นิ้ว (สาย CHORD) ต่อผ่านตัวกรองไฟ PHD POWER STATION (มีการทำระบบระบาย EDDY CURRENT ลงดินด้วย) สายไฟ AC เข้า PHD ใช้ FURUKAWA CB-10 (3 เส้น ทิศไป-กลับ ถูกต้อง ขั้วไฟถูกต้อง) หัว WATTGATE (ตัวผู้/เมีย) เข้าเต้าเสียบ MONITOR ACOUSTIC สีเทารุ่นท้อปที่กำแพง OPPO 105 วางบนแท่นรอง TOMBO SPPS-1 ขา MAGIC SPIKE บน OPPO มีแผ่นอาเกตขนาด 5 ฝ่ามือ มีแท่งควอตซ์วางบน 1 แท่น (รวมๆ 3 แท่ง) แท่งออบซีเดียน 1 แท่ง, ก้อนกลม ออบซีเดียน 1 โครงควอตซ์พีระมิดสูง 1 ศอก วางครอบทั้งหมดอีกที อะมิทิส 2 ฝ่ามือ วางบนขวามือ ตัวลดแรงสะเทือน EQUITOP บนแผ่นอาเกต ชิดมาด้านหน้าตรงกับลิ้นชักใส่แผ่น (ตัวนี้ช่วยเยอะ)
สายเสียง MADRIGAL CZ-GEL 2 (บาลานซ์) จาก OPPO 105 ไปเข้าอินทีเกรทแอมป์ MARK LEVINSON No.383 (100 W.RMS/CH ที่ 8 โอห์ม, 200 W.RMS/CH ที่ 4 โอห์ม เป็นบาลานซ์แอมป์แท้ตั้งแต่เข้าถึงออก) ออกสายลำโพง FURUKAWA S-2 หัว WBT (หางปลาด้านแอมป์, บานานาด้านลำโพง) ไปยังลำโพง MONITOR AUDIO MR-Center ที่วางตั้งและวางอยู่บนขาตั้ง TARGET 24 HJ เอียงลำโพง (TOE IN) จูนจนได้มิติเสียงตรงกลางโฟกัส มีทรวดทรงและหลุดลอยออกมาที่สุด (ถ้าจูนตรง, Absolute Phase ถูกจะหลุดกระเด็นออกมาและดังขึ้นได้จริงๆ) ยกสายลำโพงหนีพื้นห้องด้วยตั้งกระดาษพิมพ์ดีดใหม่ (ไม่มีซอง) สูง 1 คืบ ทับบนสายอีก 2 รีบ (1 คืบ) สายไฟ, สายเสียง ยกลอยในอากาศด้วย เส้นเอ็นห้อยจากคานตึกที่เพดานห้อง
สายภาพ MONSTER HD 2000 (ย้อนทิศ) จาก OPPO ไปจอ LCD มีก้อนทัวมาลีนวางตามปลั๊กไฟ, หลังเครื่องแถวๆ สายไฟ AC เข้าเครื่องอยู่ในห้อง 7 ก้อน (ที่ข้างขวาเท้าขวา 1 ก้อน) ก้อนอะมิทิสขนาด 6 ฝ่ามือ ขวาของ OPPO ห่างออกไปครึ่งเมตร กล่องตัวอย่างก้อนควอซ์ (12 ก้อนจิ๋ว) ของ JUDY HALLS 5 กล่อง (กลางห้อง 1, หลังที่นั่งฟัง 4) ทุกกล่องหมุนหาทิศทาง (รวมทั้งก้อนแร่ต่างๆ ที่กล่าวมาแล้วด้วย)
ลำโพงซ้าย, ขวา วางห่างกัน 2 เมตร ห่างจากจุดนั่งฟัง 3.6 เมตร ห้องฟังกว้างประมาณ 3.85 เมตร ลึก 9 เมตร สูง 2·5 เมตร พื้นปูน-พรมกำแพงมีฟองน้ำเก็บเสียง SONEX (รุ่นสีขาว เมลารีน จากเยอรมัน) มีของมากพอควรในห้อง (แผ่น, หนังสือ) ไม่ก้องแน่
ไม่มี WiFi/LAN ในห้อง (นอกจากที่รั่วจากภายนอกประมาณ 6 คลื่น) ไม่มีจอ LCD ใหญ่ๆ ใกล้เครื่องเสียง, ไม่มีรีโมทอื่นใดในห้อง (แม้แต่รีโมทแอร์) นอกจากของ OPPO, ไม่มี PC/โน้ตบุ๊ก/มือถือ/โทรไร้สายบ้าน/VDO เกมส์/กล้องดิจิตอล/นาฬิกาไฟฟ้า (ตั้งโต๊ะ/ข้อมือ) ปรับแอร์ 24 องศา C, ลม LOW ปัดไปลงหลังลำโพง
สายทุกเส้นไม่แตะต้องกันทุกเครื่องฟังทดสอบเฟสไฟ ฟังทดสอบทิศทางสายมีกระบอกกรองไฟ PHD 2 ในห้องลอง 3 กระบอก นอกห้องที่แผงไฟเข้าห้องอีก 2 กระบอกแม่เหล็กปรับไฟ HFC MC-0.5 (ตัวนี้ดีมาก) ลำโพงที่นำมาทดสอบแกะกล่องใหม่เอี่ยมผมนำมาเปิดเพลงเบิร์นอินอยู่ประมาณ 40 ชั่วโมง
ผลการฟัง CD
1.MR-Center (MRC) ให้เสียงทุ้มอ่อนไปหน่อย แม้ดูจากสเปคระบุลงได้ถึง 60 Hz แต่คิดว่า จริงๆน่าจะลงได้ไม่ต่ำกว่า 80 Hz เนื่องจากเป็นลำโพงตู้ปิดทุ้มอาจลงได้ต่ำถึง 60 Hz จริง แต่ขาดน้ำหนัก แถวๆ 60 Hz~80 Hz ทำให้ปริมาณทุ้มเหมือนน้อยไปหน่อย (น้อยกว่า รุ่น MR-2 วางหิ้งที่ผมเคยทดสอบไปแล้ว) เป็นไปได้ว่าผู้ออกแบบไม่หวังจะได้ทุ้มจากท่อระบายอากาศมาช่วย (อย่าง MR-2) เพื่อรักษาให้กลางต่ำถึงสูง ชัดเจน สะอาดหมดจดที่สุด เพราะคาดว่า คนที่นำ MR-Center ไปฟังเสียงหนังก็มีทุ้มจากคู่หน้า, คู่หลัง, แถมซับแอกทีฟมาเสริมช่วยอยู่แล้ว
การอ่อนทุ้มทำให้ความอบอุ่นหวานของ MRC ลดลง น้ำหนักเสียงอ่อน อ่อนแก่ลดลง เหมือนดังเสมอๆ กันพอควร ไม่ตูมตามเต็มที่เท่าที่ควรในบางครั้ง แต่ไม่ใช่การกดการสวิงเสียงไว้แน่นอน
ผมคิดว่า เนื่องจาก MRC ก็ราคาไม่แพงมาก (2 ตู้/1 คู่ ก็แค่ประมาณ 13,600 บาท) ก็น่าจะลองเจาะรูกลมเอาท่อมาสวมในตำแหน่งเจาะ, ขนาดท่อความยาวท่อ ดูจากรุ่น MR-2 ก็ได้ สัก 2 ท่อ (เหมือนฟัง MR-2 2 ตู้พร้อมๆ กัน) ถ้าไม่ดีก็แค่เอาแผ่นไม้ MDF มาปิดกัน แต่คิดว่าทุ้มน่าจะหนัก, มันส์ขึ้น (ไปหาร้านติดตั้งเครื่องเสียงรถยนต์ใหญ่ๆ อย่าง RUCKET SOUND, UDC, MIRAGE (ศรีนครินทร์) เขาน่าจะมีสว่านแบบหัวเจาะรูกลมได้…อย่าลืมถอดดอกลำโพงและใยแก้วออกก่อนนะครับ ครอสไม่เป็นไร เอาที่ดูดฝุ่นดูดที่หลังได้
อย่างไรก็ตาม เสียงจากเปียโน, ดับเบิลเบสก็ยังดูสมจริงไม่ออกผอมบาง เสียงตีกลองใหญ่ก็ยังพอรู้ว่ามันใหญ่ขาดแต่น้ำหนัก, แรงกระแทก ประทะ สะท้าน เท่านั้น
แต่พอได้แผ่น CD ที่ “ถึง” อย่างแผ่น SACD AYA (ของแท้) ทุ้มเอาเรื่องเลย ที่แน่ๆ ลงลึกขนาดขากางเกงไหวปลายแหลมของ MRC ออกจะล้ำหน้าไปนิดๆ เหมือนเขาจงใจให้เสียงพูด (จากหนัง) ออกชัดๆ พุ่งๆ แต่ถ้าไม่ใช่หูชอบเสียงหวานมากๆ ก็พอยอมรับกันได้หรือเรานั่งฟังอย่างให้แหลม อยู่ในระนาบเดียวกับหูนัก ก็น่าจะลงตัวได้ กลางออกเข้ม, สด ตามปลายแหลม แต่ก็ออกสดดี ดูหนังลงตัวมากๆ เลย
2.ให้รายละเอียดได้ดี อาจไม่ขนาดหยุมหยิมทุกเส้นขน แต่ก็ไม่เบลอ, คลุมเครือ แยกแยะว่าอะไรเป็นอะไรได้ดี
ตรงนี้แหละที่พิสูจน์ (อีกครั้ง) ว่าการทำ POINT SOURCE ให้ผลดีขึ้นจริง แต่ละเสียงมีความเป็นชิ้นเป็นอัน เป็นเม็ดๆ ได้จะแจ้งเสถียรขึ้น แม้ช่วงดนตรีหลายๆ ชิ้นตะเบ็งกันออกมา ก็ยังรักษาแยกแยะได้ดีกว่าปกติด้วยการเป็น “เม็ดๆ” ที่ดีขึ้นนั่นเอง แม้แต่เสียงที่อยู่ลึกไปหลังเวที ปกติจะเกือบจมเลือนหายก็กลับยังสังเกตว่ามีอยู่ได้ (จากความเป็นเม็ดๆ นั่นเอง) นอกจากนั้น เสียงกังวานที่วิ่งไปหลังเวทีก็มีตัวตนดีขึ้น ไม่ใช่ฟุ้งฝอยหาขอบเขตไม่ได้
ผมคิดว่า ถ้าได้จัดการอะไรๆ ภายในตู้ให้ถูกต้อง ไม่ว่าการบัดกรีสายลำโพงแทนที่จะใช้หัวเสียบ, ฟังทดสอบทิศทางสายภายใน, ทิศทางชิ้นส่วนอุปกรณ์บนแผงวงจร ถ้าทำได้ผมมั่นใจว่า แนวการดัดแปลงเป็น POINT SOURCE จากลำโพงเซ็นเตอร์นี้ จะดีแบบว่าตาค้างได้ง่ายๆ
3.การที่ผมวาง MRC ตั้งตรงไม่วางนอนก็เพื่อให้มุมกระจายเสียงแนวนอนกว้างที่สุด MR-Center ให้เวทีเสียงได้กว้างเอาเรื่องทีเดียว แม้จะไม่ขนาดโอบมาซ้ายหลัง, ขวาหลังของผมได้ แต่ด้านสูงต่ำก็ทำได้ดีกับเพลงที่ 10 จากแผ่น RHYTHM BASKET, A Tasket, A Tisket A child’s (Brent Lewis) ที่เสียงวิ่งกันอยู่ที่เพดานห้องทั้งห้อง รวมทั้งเหนือศีรษะผมเป็นบางครั้ง (แต่กับเพลง 7 กลับทำได้แค่ระดับลำโพง)
MR-Center ให้ทรวดทรงเสียงได้ค่อนข้างโอเคเลย ทำให้เสียงพายวักน้ำเสียงผิวน้ำกระเพื่อมของเพลง 4 จาก RHYTHM BASKET เช่นกัน ได้ยินเม็ดคลื่นล้นหลามมากที่สุด เต็มที่สุด ทั้งแผ่นน้ำมากเท่าทุกครั้งที่ฟังแผ่นนี้มา
เสียงกรุ้งกริ้งจากการเคาะสามเหลี่ยม (TRIANGLE) ต้นเพลงที่ 5 ของแผ่น The Alto VOL.1 (TOP Music) ทำได้กรุ้งกริ้ง สด พลิ้ว ระยิบ มีทรวดทรง (เรื่องทรวดทรงนิ่งและชัดเท่า MR-2)
4.ความเป็นดนตรี MONITOR AUDIO เขาไม่ยอมเสียชื่อด้านนี้อยู่แล้ว MRC จังยังคงความเป็นดนตรี, น่าฟัง ทั้งเสียงดนตรี เสียงร้อง คอดว่า ถ้าได้เบิร์นอินสัก 100 ชั่งโมง น่าจะหวานเนียนกว่านี้ แต่แค่นี้ (40 ชม.) ผมก็ว่าโอเครับได้แล้วนะ (คล้ายๆ กับว่าความเป็น POINT SOURCE มันขี้ฟ้องขึ้น ฟ้องว่า ตอนนี้ไฟ AC บ้านตกน่ะ, มีสัญญาณขยะกวนอยู่นะ ฯลฯ)
5.ล่าสุด หลังจากผ่านการใช้งาน 48 ชั่วโมง ผมว่าเสียงเริ่มผ่อนคลายขึ้น ทุ้มลึกเริ่มสังเกตชัดขึ้น ใครจะฟัง MR-Center จริงจังจึงอยากให้ใจเย็นๆ เปิดเพลง (ผมไม่แนะนำให้เปิดแผ่นเบิร์นอินที่ใช้สัญญาณเสียงซ่าแช่ตลอดนะครับ ต่อไปเสียงจะทึบขุ่นเหมือนไปสร้างตะกอนหรือบุคลิกเสียงขึ้นมา) ไปเรื่อยๆ หาเพลงที่ความถี่เสียงทุ้ม (ขอหนัก), กลาง, แหลม ครบ ยิ่งเปิดดัง เบิร์นอินจะยิ่งใช้เวลาน้อยลง คิดว่า สัก 80 ชั่วโมงขึ้นไป MR-Center จะเข้าที่ทางกว่านี้อีกทุ้มน่าจะเอาเรื่องขึ้นเรื่อยๆ (เป็นสันดานของลำโพงตู้ปิดอยู่แล้ว)
ผลการดูหนัง
อย่างที่ผมเคยแนะนำใครเล่นเครื่องบลู-เรย์ (ทั้งแผ่นบลู-เรย์, DVD) ให้เลือกเสียงอะนาลอกออกเป็น LT, RT เครื่องจะนำเสียงรอบทิศ 5.1 จากแผ่น มาผ่านวงจรเข้ารหัส (น่าจะเป็น Dolby Surround Matrix) รวมสัญญาณ หน้า, หลัง, กลาง, ซับ เป็นหน้ารวม (LT, RT) 2 CH ให้เราต่อออก (ทางช่อง 2 CH STEREO ออกลำโพง 2 CH หน้าคู่เดียวสมองจะทำการแยกเป็นเสียงเซอราวด์เองได้ ครบทั้งหน้า, หลัง, เซ็นเตอร์ (แม้แต่ Dolby ATMOS หรือ dtsX) โดยไม่ต้องมีตัว (วงจร) ถอดรอบทิศใดๆ ขอแต่คุณต้อง TOE IN ลำโพงให้ถูกต้องที่สุดไว้ก่อนและติดตั้งชุดไม่ผิดพลาด
ปกติเมื่อสลับมาดูหนัง เรามักต้องเร่งโวลลุ่มแอมป์ขึ้นอีกสัก 20~25 เปอร์เซ็นต์
MR-Center ให้เสียงหนังได้ดีผิดคาดการเป็น POINT SOURCE ทำให้เสียงอะไรที่อยู่ลึกๆ ห่างออกไปจะแจ้งชัดเจน เป็นตัวตนขึ้น จากเมื่อก่อนออกเบลอๆ ไม่ค่อยสังเกตเห็น (ได้ยิน) พูดง่ายๆ เสียงประกอบต่างๆ ในฉากชัดจับประเด็นได้ดีขึ้น มีฉากหนึ่งตลกมาก เพิ่งได้ยินว่า พอผู้ช่วยนางเอกนั่งลงบนเก้าอี้มีเสียงลมปี้ดป้าดออกมาจากเบาะเก้าอี้จนเธอต้องทำหน้าบอกว่า ไม่ใช่ตดนะเว้ย
นอกจากนั้น ตำแหน่งกำเนิดเสียงกับภาพก็สอดคล้องตรงกันชัดเจนขึ้น (The Ghost Buster ตอนล่าสุด) เสียงอะไรหล่นถล่มลงมาจากเพดานก็ชัดขึ้น บรรยากาศ (เวทีเสียง) แผ่กว้างออกไปทุกทิศมากขึ้น เสียงอ่อน-แก่ แยกแยะดีขึ้น โดยรวมๆ เหมือนดังขึ้นคือ Dynamic Range กว้างขึ้น, Dynamic Contrast ดีขึ้น การโยนเสียง หน้า-หลัง ชัดขึ้น เสียงจากตำแหน่งหนึ่งไปอีกตำแหน่งหนึ่งต่อเนื่องไม่ขาดหายเป็นบางช่วง
เสียงต่ำ พอได้เลยละ บึ้ม, ตูมตาม, ไดโนเสาร์กระทืบเท้า, เสียงระเบิด ฯลฯ โอเคเลย อาจไม่สนั่นคับห้อง แต่มีแน่ (อย่างที่กล่าว ถ้าเบิร์นอินกว่านี้ ตรงนี้ดีขึ้นแน่ๆ)
สรุป เรื่องการดูหนัง…เยี่ยมชวนสนุก ชวนติดตามอย่างยิ่ง
สรุป
เป็นการนำลำโพงเซ็นเตอร์มาพลิกแพลง ทำเป็นลำโพงหน้า (ใช้เซ็นเตอร์ เบิ้ล 2 ตู้ วางตั้ง) เพื่อเข้าถึง POINT SOURCE อย่างได้ผล (ไม่วางนอน เพราะตำแหน่งนั่งฟังจะแคบจำกัดมาก ด้วยมุมกระจายเสียงที่แคบกว่าการวางตั้งมาก) ไม่ว่าลำโพงเซ็นเตอร์จะเป็นยี่ห้ออะไรก็น่าจะเอามาพลิกแพลงทำได้หมด ขอแต่ติดตั้งดอกลำโพงทั้ง 3 ในลักษณะเดียวกันกับ MR-Center นี้ก็พอ อีกอย่างคือ อายุการใช้งานตู้ซ้าย, ขวาต้องเท่ากันด้วยนะครับ (สำคัญ)
ด้วยงบประมาณของ MONITOR AUDIO MR Center 2 ตู้ อยู่ที่ 13,600 บาท/2 ตู้ ที่ดีทั้งการนำมาดูหนัง, ฟังเพลงความใจที่สูงขึ้น 2 dB, รับกำลังขับได้มากขึ้นมาก (2 ดอก กลางทุ้ม) ถือว่าเป็นการเล่นอย่างเข้าท่าที่สุด ลองดูนะครับ คุณจะติดกับสไตล์เสียง, มิติของลำโพง POINT SOURCE แน่ๆ !